ประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต พรหมรังสี ) วัดระฆังโฆษิตาราม

ประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต พรหมรังสี ) วัดระฆังโฆษิตาราม

ประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พรหมรสี)

สมเด็จพระพุฒาจารย์โต (โต พรหมรังสี) ท่านคือพระอริยสงฆ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ยาวนานถึง 5 รัชสมัย นับตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชถึงสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมระยะเวลาชีวิตของสมเด็จโต ๘๔ ปี อยู่ในร่มกาสาวพักตร์ ๗๓ พรรษา

รัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ผู้ก่อตั้งราชวงศ์จักรีเสด็จขึ้นครองราช ในวันที่ ๖ เมษายน ๒๓๒๕ สวรรคตในวันที่ ๗ กันยายน ๒๓๕๒ รวมระยะเวลาการปกครองแผ่นดินสยาม ๒๗ ปี

สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี กำเนิดเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๓๓๑ มารดาชื่อนางเกศ *บางแห่งว่าชื่อนางงุด บิดาไม่ปรากฏนาม ตาชื่อนายผล ยายชื่อนางลา เป็นชาวเมืองกำแพงเพชร เมื่อแรกเกิดได้ชื่อว่า”บุญเรือง” ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น โต ได้นำถูกไปถวายให้เป็นบุตรบุญธรรมของพระอาจารย์แก้ว แห่งวัดบางขุนพรหม

พ.ศ.๒๓๓๗ อายุ ๖ ขวบ ถูกนำตัวไปถวายเป็นลูกศิษย์ของพระครูใหญ่ เจ้าอาวาสวัดใหญ่ แห่งเมืองพิจิตร ปัจจุบันคือวัดนครชุม ขณะนั้นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ ๑ คือสมเด็จพระสังฆราช สี เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตารามได้สิ้นพระชนม์ในปีเดียวกัน คือ พ.ศ.๒๓๓๗ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงแต่งตั้งสมเด็จพระพนรัต(สุก) เจ้าอาวาสวัดพระศรีสรรเพรญ(ปัจจุบันคือวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์) ขึ้นมาครองสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๒ แล้วแต่งตั้งสมเด็จพระพนรัต(นาค) ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม เป็นองค์ต่อไป

พ.ศ.๒๓๔๓ อายุ๑๒ ขวบได้บวชเป็นสามเณรที่วัดใหญ่นั่นเอง พระครูใหญ่เป็นพระอุปัชฌาย์ อยู่ศึกษาพระคัมภีร์ปริยัติธรรมและวิทยาคมต่างๆ จนถึง พ.ศ.๒๓๔๕

พ.ศ.๒๓๔๕ อายุย่างเข้า ๑๕ ปี เดินทางไปเรียนพระปริยัติธรรมชั้นสูงกับพระครูเจ้าคณะจังหวัด วัดเมืองไชยนาทบุรี ๒ ปี

พ.ศ.๒๓๔๗ อายุย่างเข้า ๑๗ ปี ได้กลับมาพำนักกับพระพระอาจารย์อรัญญิก (แก้ว) ที่วัดบางขุนพรหมอีกครั้งหนึ่ง พระอาจารย์ช่วยสงเคราะห์ให้เล่าเรียนศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักราชบัณฑิต ด้วยการมอบให้เป็นศิษย์พระโหราธิบดี และพระวิเชียร ซึ่งผู้ที่ให้ความอุปการะสามเณรโตที่สำคัญมี ๗ ท่าน คือพระโหราธิบดี พระวิเชียร เสมียนตราด้วง ขุนพรหมเสนา ปลัดกรมนุส เสมียนบุญและพระกระแส

พ.ศ.๒๓๔๘ สามเณรโต อายุ ๑๘ ปีบริบูรณ์ พระโหราธิบดี พระวิเชียร และพระเสมียนตราด้วง นำสามเณรโตไปถวายตัวกับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร(ต่อมาคือราชกาลที่ ๒) ทรงโปรดรับไว้และให้สามเณรหลวง ทรงโปรดรับไว้และให้เป็นสามเณรหลวง เข้าพำนักที่ตำหนักในวัดมหาธาตุฯเรียนปริยัติธรรมกับสมเด็จพระพนรัต (นาค) โดยคืนก่อนการนำสามเณรโตเข้าไปฝากนั้น สมเด็จพระพนรัต (นาค) ฝันเห็นช้างเผือกเข้ามากินหนังสือพระไตรปิฎกจนหมดตู้ ซึ่งหมายถึงจะมีผู้มีบุญญาธิการมีความสามารถมาเรียนพระปริยัติธรรมกับพระคุณนั่นเอง

พ.ศ. ๒๓๔๙ สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ได้รับโปรดเกล้าขึ้นมาเป็นสมเด็จฯกรมพระราชวังบวรสถานมงคล แทนสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (พระราชอนุชา) ที่ได้สวรรคตไปตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๔๖ ในวาระพิเศษนี่เอง ได้ทรงพระราชทานเรือกราบกันยาหลังคากระแชงให้แก่สามเณรโตใช้เป็นพาหนะเดินทางไปเทศน์ยังที่ต่างๆ

พ.ศ. ๒๓๕๐ ในเดือน ๕ นั่นเอง สามเณรโตมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้อุปสมบทสามเณรโตเป็นนาคหลวงที่วัดตะไกรเมืองพิษณุโลก โดยมอบให้พระโหราธิบดีและเสมียนตราด้วงเป็นผู้แทนพระองค์ สมเด็จพระพนรัต (นาค) เป็นพรอุปัชณาย์ พระอาจารย์แก้ว วัดบางขุนพรหม เป็นพระกรรมวาจาจารย์พระอธิการวัดตะไกรเป็นพระอนุสาวนาจารย์พระภิกษุโต ได้รับฉายาว่า “พรหมรํสี”(พรหมรังสี) แปลว่า ผู้มีรัศมีประดุจพรหม

ต่อมา พระภิกษุโต พรหมรังสี เดินทางกลับพำนักที่กุฏิในคณะตำหนักวัดมหาธาตุยุวราชรังรังสฤษฎิ์ และสมเด็จฯ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลโปรดเรียกว่า “มหาโต” แต่นั้นมาสาธุชนทั้งหลายเรียกขานกันว่า “พระมหาโต”

พ.ศ. ๒๓๕๐ เป็นต้นมา พระมหาโตทำหน้าที่สอนพระปริยัติธรรมช่วยสมเด็จพระสังฆราช (สุก) ที่วัดระฆังโฆสิตารามในตอนบ่าย ส่วนตอนเช้าช่วยพระอาจารย์แก้วสอนนักธรรมแก่พระภิกษุและสามเณรจนถึงเวลาเพลที่วัดบางขุนพรหม

พ.ศ. ๒๓๕๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จสวรรคต จากนั้นสมเด็จฯกรมพระราชวังบวรสถานมงคลได้เสด็จขึ้นครองราชย์

รัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จขึ้นครองราชสมบัติในวัดที่ ๗ กันยากัน ปีพุทธศักราช ๒๓๕๒ เสด็จสวรรคตในวัดที่ ๒๑ กันยากัน ปีพุทธศักราช ๒๓๖๗ รวมระยะเวลาปกครองแผ่นดินสยาม ๑๕ ปี

พระมหาโต แม้จะมีความรู้มาก แต่ไม่ยอมเข้าสอบเป็นพระเปรียญ มุ่งปฏิบัติในธุดงควัตรและวิปัสสนาธุระในแนวที่สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ได้ปฏิบัติมาก่อน

พ.ศ. ๒๓๕๘ พระมหาโตกราบลาอาจารย์ คือสมเด็จพระสังฆราช (สุก) และพระอาจารย์แก้ว เพื่อออกธุดงค์ไปศึกษาวิปัสสนาธุระและกฤตยาคมกับเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียง คือ อาจารย์คง วัดพิตเพียน (ปัจจุบันคือวัดกุฎีทอง) อยู่ที่อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นอาจารย์ทางวิชาคงกระพัน

พ.ศ.๒๓๕๙ สมเด็จพระสังฆราช (สุก) สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงโปรดเกล้าฯสถาปนาสมเด็จนพรัต (มี) แห่งวัดราชบูรณะราชวิหาร (วัดเลียบ) ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๓ และโปรดเกล้าฯให้ไปประทับที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์

พ.ศ.๒๓๖๐ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฏ ได้เสด็จออกผนวชเป็นสามเณรที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมเด็จพระสังฆราช (มี) เป็นพระอุปัชณาย์ ทรงประทับที่พระตำหนักใหม่ในวัดมหาธาตุฯ สมเด็จพระสังฆราช (มี) มอบให้พระมหาโตเป็นพระพี่เลี้ยง เป็นครูสอนอักษาขอม และคัมภีร์มูลกัจจารย์ ทรงศึกษาเป็นเวลา ๗ เดือนก็ลาสิขา

พ.ศ.๒๓๖๒ สมเด็จพระสังฆราช (มี) สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระญาณสังวร (สุก) ไก่เถื่อน แห่งวัดราชสิทธาราม (เดิมชื่อวัดพลับ) ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๔ ในปี พ.ศ.๒๓๖๓

พระมหาโต จึงถือโอกาสนี้จำพรรษานอกวัดตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๖๒ กับพระอาจารย์แสง ในป่าเป็นป่าโปร่ง ป่าดงดิบ ที่เต็มไปด้วยสิงห์ เสือ กระทิง แรด ช้างป่า และงูใหญ่ ได้เรียนรู้วิธีเดินย่นระยะทาง รู้จักว่านยารักษาโรค เรียนรู้วิชาคงกระพันชาตรี รู้แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ รู้อนุภาพดินโป่ง ดินในกลางเมืองซึ่งต่อมาความรู้เหล่านี้ นำมาผสมผงวิเศษคำสวดมนต์ที่มีคุณวิเศษ สร้าง “พระสมเด็จ” ในภายหลัง

พ.ศ.๒๓๖๕ สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ไก่เถื่อน สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงโปรดเกล้าฯสถาปนาสมเด็จพระพนรัต (ด่อน) แห่งวัดสระเกศฯ สถาปนาสมเด็จพระพนรัต (ด่อน) แห่งวัดพระเกศฯ ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๕ ในปีเดียวกัน

พ.ศ.๒๓๖๗ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎ ทรงออกผนวชอีกครั้งเป็นพระภิกษุ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) เป็นพระอุปัชณาย์ ได้รับฉายาว่า “วชิรญาโณ” ทรงประทับที่พระตำหนักใหม่ในวัดหมาธาตุฯประทับเพียง ๓ วัน ก็ทรงย้ายไปประทับที่ตำหนักวัดสมอราย (ปัจจุบันคือวัดราชาธิวาสราชวรวิหาร) เพื่อทรงศึกษาวิปัสสนาธุระตามพระราชประเพณี ประทับได้เพียง ๑๐ วัน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้เสด็จสวรรคต พระภิกษุเจ้าฟ้าไม่ยอมออกจากสมณเพศ เพื่อให้พระเชษฐาองค์ใหญ่ซึ่งไม่ได้เป็นเจ้าฟ้า คือ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ขึ้นเสวยราชย์ต่อไป

รัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ในวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ปีพุทธศักราช ๒๓๖๗ เสด็จสวรรคตในวันที่ ๒ เมษายน ปีพุทธศักราช ๒๓๙๔ รวมระยะเวลา ปกครองแผ่นดินสยาม ๒๗ ปี

พระมหาโตขณะนั้นธุดงค์อยู่ตามป่าเขาลำเนาไพร ถูกสมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) เรียกตัวกลับมาเป็น “พระพี่เลี้ยงพระภิกษุ เจ้าฟ้ามงกุฎ” และช่วยสอนพระปริยัติธรรม

พ.ศ.๒๓๗๒ พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎวชิรญาโณ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น “พระราชคณะ” พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎจึงทูลลาสมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) กลับไปประทับที่วัดราชาธิวาสฯ พระองค์ได้ตั้ง “พระธรรมยุตินิกาย” ขึ้นอีกนิกายหนึ่ง ซึ่งเดิมมีแต่ “มหานิกาย”

พ.ศ.๒๓๘๕ โยมมารดาถึงแก่อนิจกรรมพระมหาโตได้นำเงินส่วนที่เหลือจากงานณาปนกิจโยมมารดา มาสร้างพระพุทธรูปปางไสยาสน์องค์ใหญ่ที่วัดสะตือ ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดนพระนครศรีอยุธยา ยาว ๕๐ เมตร

ในปีเดียวกัน สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) ได้สิ้นพระชนม์

พ.ศ.๒๓๘๖ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระพนรัต (นาค) แห่งวัดราชบูรณะฯ ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๖ แต่มิได้ไปอยู่วัดมหาธาตุฯ ตามประเพณี ด้วยกำลังบูรณะอยู่ ต่อมาสมเด็จพระสังฆราช พระพนรัต (นาค) ได้สิ้นพระชนม์ ใน ปี พ.ศ. ๒๓๙๒

พ.ศ.๒๓๙๒ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส (พระองค์เจ้าวาสุกรี ในรัชกาลที่๑) แห่งวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหารขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๗

พ.ศ.๒๓๙๔ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระองค์ไม่ได้แต่งตั้งผู้ใดเป็นองค์ราชทายาท ดังนั้นพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎวชิรญาโณ ขณะนั้นมีพระชนมายุ ๔๗ พรรษา ทรงผนวชมาได้ ๒๗ พรรษา จำต้องลาสิกขาเพื่อขึ้นเสวยราชย์ต่อไป

รัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ในวันที่ ๒ เมษายน ปีพุทธศักราช ๒๓๙๔ เสด็จสวรรคตในวันที่ ๑ ตุลาคม ปีพุทธศักราช ๒๔๑๑ รวมระยะเวลาปกครองแผ่นดินสยาม ๑๗ ปี

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่ ได้ทรงโปรดให้เรียกตัวพระมหาโตมารับสมณศักดิ์ พระมหาโตหลบสมณศักดิ์ ออกธุดงค์ หลบเจ้าหน้าที่บ้านเมือง เป็นเวลา ๑ ปีเต็ม ทำให้พระสงฆ์องค์เจ้าทั้งหลายต้องเดือดร้อน เพราะถูกเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจับไปเค้นให้เป็นพระมหาโต ข้าราชบริพารเมื่อหาไม่พบก็พากันเดือดเนื้อร้อนในไปหมด

พ.ศ.๒๓๙๕ พระมหาโตจึงเดินทางเข้ามาเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและยอมรับการโปรดเกล้าฯสถาปนาให้เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ในตำแหน่งที่”พระธรรมกิติฯ” เมื่อวัดที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๓๙๕ เป็นเจ้าอาวาสครองวัดระฆังโฆสิตาราม ขณะนั้นพระมหาโต อายุ ๖๕ ปี

พ.ศ.๒๓๙๖ สมเด็จพระสังฆราช พระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสสิ้นพระชนม์ ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงโปรดเกล้าฯสถาปนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ (พระองค์เจ้าฤกษ์) แห่งวัดบวรนิเวศวิหาร ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๘ ในปีเดียวกัน คือ พ.ศ.๒๓๙๖

พ.ศ.๒๓๙๙ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ถวายสมณศักดิ์พระธรรมกิติฯ (มหาโต) เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่สูงขึ้นที่ “พระเทพกวีฯ”

พ.ศ.๒๔๐๗ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สน) แห่งวัดสระเกศฯ มรณภาพ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯถวายสมณศักดิ์พระเทพกวีฯ (โต) ขึ้นเป็น “สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)” เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์องค์ที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ในปีเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้ “ขรัวโต” ไปแสดงธรรมโปรดนักองด้วง เจ้าแผ่นดินเขมรและข้าราชบริพารทั้งหลายของพระองค์ ไทยทานที่ได้รับมาครั้งนี้ “ขรัวโต” เอาไปแลกเป็นเงินแล้วนำเงินทั้งหมดมาสร้างพระพุทธรูปปางสมาธิองค์ใหญ่ ที่วัดไชโยวรวิหาร จ.อ่างทอง ชาวบ้านนิยมเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “หลวงพ่อโต”

พ.ศ.๒๔๑๐ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯได้เริ่มก่อสร้างพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ที่วัดบางขุนพรหม

พ.ศ.๒๔๑๑ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับพระยุพราช สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ กับข้าราชบริพารเสด็จไปดูสุริยุปราคาเต็มดวง (ตามที่ได้ทรงคำนวณเอาไว้) ที่บ้าหว้ากอ ตำบลคลองวาฬ อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ขณะเสด็จกลับ ทรงพระประชวรเป็นไข้ป่า (มาลาเรีย) อย่างหนักทรงกลับมาประทับอยู่ในพระมหาราชวังได้ไม่นาน ในวันที่ ๑ ตุลาคม ปีพุทธศักราช ๒๔๑๑ เสด็จสวรรคต พระชนมพรรษาขณะนั้น ๖๕ พรรษา

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ ก็ทรงประชวรด้วยไข้ป่าเช่นเดียวกัน ในขณะพระบิดาสวรรคตนั้นพระองค์ยังทรงประชวรอยู่ พระองค์มีพระชันษา ๑๕ ปีเศษ ต้องขึ้นเสวยราชย์ต่อจากพระบิดา ดังนั้นจึงมีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จนกว่าจะบรรลุนิติภาวะ ๒๐ พรรษาบริบูรณ์

ขณะนั้นสมเด็จพระพุฒาจารย์โต อายุ ๘๐ ปี

รัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ในวันที่ ๑๑ พฤษจิกายน ปีพุทธศักราช ๒๔๑๑ โดยมีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ไปจนถึงปีพุทธศักราช ๒๔๑๖ จึงจะครองราชย์ได้อย่างสมบูรณ์

ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (เมื่อทรงหายประชวรแล้ว) วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๑๑ นั้น สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โตพรหมรังสี) ได้แสดงพระธรรมเทศนาว่าด้วยเรื่อง “ทศพิธราชธรรม” และ “จักรวรรดิวัตร” ในงานพระราชพิธีด้วย

พ.ศ.๒๔๑๓ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จโตขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ยกเป็นพระมหาเถรกิตติมศักดิ์ ไม่ต้องรับการนิมนต์ไปเทศน์ในพระราชวัง ตำหนัก และที่ต่างๆด้วยชราภาพมากแล้ว ขอให้สถาปนาหม่อมเจ้าพระพุทธบาทปิลันทน์ เปรียญ ๗ (ม.จ.ทัดเสนีย์วงศ์ ในกรมสมเด็จพระราชวังหลัง) ขึ้นเป็นพระราชาคณะ เป็นรองเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม ทำหน้าที่บัญชาการวัดระฆังฯ ทั้งหมด แทนสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)

พ.ศ.๒๔๑๕ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ได้สิ้นชีพิตักษัย (มรณภาพ) ในศาลาใหญ่ วัดบางขุนพรหม วันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ ๒๔๑๕ สิริรวม อายุ ๘๔ ปี

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานน้ำสรงศพ ไตรครอง ผ้าขาว เย็บถุง โกศไม้สิบสอง กลองชนะอภิรมย์ สนมซ้าย ฝีพาย เรือตั้งบรรทุกศพ ส่งมายังวัดระฆังโฆสิตาราม ตั้งโกศบนฐานเบญจา ๒ ชั้น มีอภิรมย์ ๖ คัน กลองชนะ ๒๔ จ่าปีจ่ากลองพร้อมสวดพระอภิธรรม จากนั้นก็พระราชทานเพลิงศพที่เมรุปูน วัดอรุณราชวรารามมหาวิหาร

ในระหว่างประกอบพิธีศพนั้น พระธรรมถาวรราชาคณะ (ช้าง) เป็นพระครูปลัดสัมพิพัฒน์ ได้ตักพระสมเด็จแจกเป็นของชำร่วยแก่บรรดาพระสงฆ์ สาธุชนทั้งหลายที่มาในงานศพกันอย่างถ้วนหน้า ทุกคน ทุกวันจนถึงวันพระราชทานเพลิงศพ และแจกต่อมาอีกหลายปี จนพระเครื่องใช้ไปทั้งหมด ๕ กระถางมังกร

ขอขอบคุณ : http://www.zoonphra.com/shop/catalog.php?storeno=c009&idp=1121

. . . . . . .