ท่านพุทธทาสภิกขุ
เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมยินดีสำหรับชาวไทยและชาวพุทธทุกคนที่องค์การยูเนสโกยกย่องท่าน
พุทธทาสภิกขุเป็นบุคคลสำคัญของโลก จากการประชุมสมัยสามัญขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือองค์การยูเนสโก ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 3-21 ต.ค. 2548 และจะมีการจัดงานฉลอง 100 ปี ชาตกาลของท่าน ในวันที่ 27 พ.ค. 2549 จากปี 2505 ถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีบุคคลที่ได้รับประกาศยกย่องมาแล้ว 17 ราย ซึ่งท่านธรรมโกษาจารย์หรือ ท่านพุทธทาส เป็นรายที่ 18 ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ให้เหตุผลว่า การที่องค์การยูเนสโกยกย่องท่านพุทธทาสภิกขุเป็นบุคคลสำคัญของโลกนั้น เพราะผลงานของท่านที่ได้ตั้งปณิธานไว้ 3 ข้อ คือ
1. ให้ศาสนิกชนไม่ว่าศาสนาใดก็ตามเข้าถึงความหมายอันลึกซึ้งแห่งศาสนาของตน
2. ท่านตั้งใจว่าจะทำความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนา อันนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะทุกศาสนาต้องอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ
3. ดึงเพื่อนมนุษย์ออกจากวัตถุนิยม เราอยู่ในโลกของวัตถุนิยม แต่เราจะต้องรู้เท่าทันไม่ถูกมอมเมาด้วยกิเลสและตัณหาที่ไม่สามารถยับยั้งชั่งใจได้ (มติชน 23 ต.ค. 2548 หน้า 13)
ผมไม่ขอกล่าวถึงประวัติของท่าน เพราะมีปรากฏแพร่หลายทั่วไป แต่ขอนำข้อเขียนของ
ศ.นพ.ประเวศ วะสี ที่ท่านได้กล่าวถึงเอกลักษณ์ของท่านพุทธทาสไว้ดังนี้
“เอกลักษณ์ของท่านพุทธทาสภิกขุ เจ้าของสำนักสวนโมกข์พลาราม ประมวลพอสังเขป ดังนี้ 1. สมองดี 2. ไม่เชื่อง่าย 3. ปฏิเสธวัตถุนิยม 4. พุทธจริต 5. มีอิทธิบาท 4 สูง 6. มีความสนใจและสามารถในการสื่อมาก 7. ชอบใช้ปัญญาเจาะลึก มีรายละเอียดโดยย่อดังนี้
1. สมองดี มนุษย์มีสมองแตกต่างกันมาก ตั้งแต่พูดจาไม่ค่อยรู้เรื่อง สมองทึบ ช่วยตัวเองไม่ได้ หรือปัญญาอ่อนไปจนถึงสมองดียิ่งกว่าคนอื่น ๆ อาทิ พระพุทธเจ้าไอนสไตน์ เป็นต้น ท่านพุทธทาสมีผลงานมาก ดีกว่าคนธรรมดาทั่วไป หาคนที่สร้างงานอย่างท่านได้ยากมาก จึงนับว่าเป็นคนมีสมองดี ด.ช.เงื้อม หรือเงื่อม พานิช ได้รับพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมที่ทำให้สมองดี
2. ไม่เชื่อง่าย คนส่วนใหญ่ถูกทำให้เชื่อง่าย ด้วยลักษณะของการเลี้ยงดูในครอบครัว การศึกษา กฎหมาย และวัฒนธรรม ซึ่งมีประโยชน์ในการทำให้หมู่คณะทำอะไรเหมือน ๆ กัน เพื่อการเกาะกลุ่มและต่อสู้ แต่มีโทษ คือขาดปัญญาที่จะแก้ปัญหาเพราะขาดความคิดริเริ่มใหม่ ๆ
ท่านพุทธทาสเรียนเพียง ม.3 เรียนเปรียญธรรมได้ประโยค 3 แล้ว ปฏิเสธที่จะเรียนต่อและมีชีวิตแบบพระในเมือง ได้ออกไปอยู่ป่า ปฏิเสธการประกอบพิธีกรรม ต่าง ๆ ไม่เชื่อคำสอนแบบดาษดื่น ไม่เชื่อว่าสิ่งที่บันทึกไว้ในพระไตรปิฎกจะเป็นพุทธวจนะทั้งหมด ไม่เชื่อว่าคัมภีร์ที่สำคัญ อาทิ วิสุทธิมรรคจะถูกต้องไปทั้งหมด นี่เป็นเคล็ดที่สำคัญที่ทำให้ท่านบรรลุปัญญาอย่างเอกอุ ถ้าเชื่อง่ายทำตามกันไปเรื่อย ๆ ก็เหมือนเดิม พระพุทธองค์ทรงสอนเรื่องกาลามสูตรที่มิให้เชื่อง่าย เพราะเหตุ 10 ประการคือ
1. อย่าเชื่อเพราะทำตามกันมา
2. อย่าเชื่อเพราะทำสืบ ๆ กันมา
3. อย่าเชื่อเพราะว่าได้ยินมา
4. อย่าเชื่อเพราะอ้างปิฎก
5. อย่าเชื่อเพราะนึกเดาเอา
6. อย่าเชื่อเพราะคาดคะเน
7. อย่าเชื่อเพราะตรึกตรองตามอาการ
8. อย่าเชื่อเพราะถูกตามลัทธิของตน
9. อย่าเชื่อเพราะผู้พูดควรเชื่อได้
10. อย่าเชื่อเพราะผู้พูดเป็นครูของเรา
ท่านพุทธทาสเป็นผู้ประยุกต์ใช้กาลามสูตรดีอย่างยิ่งผู้หนึ่ง
3. ปฏิเสธวัตถุนิยม ท่านปฏิเสธลาภยศและการเสพติดทางวัตถุไปอยู่ป่า กินอยู่อย่างง่าย ๆ ท่านจะเน้นเรื่อง “กินข้าวจานแมว อาบน้ำในคู เป็นอยู่เหมือนตายแล้ว” จึงทำให้ท่านได้สัมผัสกับธรรมชาติ มีเวลาคิดค้น ศึกษามาก “ลานหินโค้ง” ที่สวนโมกข์เป็นสถานที่อเนกประสงค์ พระนั่งฉันกับพื้นทราย ญาติโยมนั่งตามพื้นตามโคนต้นไม้ ท่านกล่าวเสมอว่า “พระพุทธเจ้าประสูติที่พื้นดิน (สวนลุมพินี) ตรัสรู้ที่พื้นดิน (ใต้ต้นโพธิ์) และปรินิพพานที่พื้นดิน (ระหว่างต้นรังคู่) โบสถ์ของสวนโมกข์ไม่มีอาคารเป็นที่กลางแจ้ง มีผู้สร้างห้องน้ำถวายท่านไม่ใช้ ท่านสรงน้ำในโอ่งข้างนอก และนอนที่แคร่เล็ก ๆ ปณิธานอย่างหนึ่งของท่านคือ “นำเพื่อนมนุษย์ออกจากวัตถุนิยม” เป็นวิธีการช่วยให้คนพ้นทุกข์ได้ง่าย
4. พุทธจริต ท่านพุทธทาสชอบศึกษาค้นคว้าเรื่องต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง ทั้งพระไตรปิฎก คำสอนมหานิกายศาสนาอื่น ๆ วิทยาศาสตร์และเรื่องสังคมต่าง ๆ ทำให้ท่านมีความรู้กว้างขวางเชื่อมโยง ท่านสามารถแสดงธรรมที่สอดคล้องกับชีวิตและสังคมได้ทุกแง่มุม
ปัญหาของพระส่วนใหญ่ คือ ไม่สามารถสื่อความหมายกับชาวบ้านได้ จึงทำให้ชาวบ้านเฉพาะคนหนุ่ม-สาวไม่เข้าวัด ไม่สนใจพระ คงนับถือศาสนา กราบไหว้พระในพิธีกรรมต่าง ๆ เท่านั้น อาทิ ขึ้นบ้านใหม่ แต่งงาน สวดศพ เป็นต้น มิได้ประโยชน์จากพุทธธรรมจริง ๆ จึงทำให้สังคมวุ่นวาย มีอบายมุขและสิ่งเสพติดมาก
5. มีอิทธิบาท 4 สูง คนทั่วไปมีอิทธิบาท 4 ไม่ค่อยสูงจึงพัฒนายาก แต่ท่านพุทธทาสนั้นต่างจากคนทั่วไป ท่านมีความขยันขันแข็งมาก ท่านศึกษาค้นคว้า เขียน แสดงธรรม ฯลฯ มีผลงาน มีหนังสือ เทศน์มากยิ่งกว่าพุทธสาวกใด ๆ ศาลาธรรมโฆษณ์ที่สวนโมกข์พลารามมีหนังสือของท่านที่เขียนเต็มทั้งหลัง ท่านสอนตั้งแต่ชาวบ้านจนถึงผู้พิพากษา
ผมขอเตือนความทรงจำว่า อิทธิบาท 4 คือ คุณธรรมที่นำสู่ความสำเร็จ ซึ่งประกอบด้วย
5.1 ฉันทะ พอใจ ใฝ่ใจรักจะทำในสิ่งนั้น รักในงาน
5.2 วิริยะ ความเพียร ขยันหมั่นประกอบในสิ่งนั้น ขยันทำงาน ขยันเรียนด้วยความพยายาม เข้มแข็ง อดทน ไม่ท้อถอย
5.3 จิตตะ ความคิดตั้งจิตเอาใจจดจ่อ ฝักใฝ่ในงานสิ่งนั้น ไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่าน เลื่อนลอย
5.4 วิมังสา ความไตร่ตรอง ทดลอง หมั่นใช้ปัญญาใคร่ครวญ
หาเหตุผล ตรวจสอบงานที่ทำ โดยรวม คือ มีการวางแผน วัดผล คิดค้นวิธีการแก้ไขปรับปรุง เป็นต้น
6. มีความสนใจและความสามารถในการถ่ายทอด พระบางรูปมีธรรมะสูง มีความรู้มากแต่ถ่ายทอดอบรมคนไม่เป็นดังคำเรียกว่า “อรหันต์แห้ง” บรรยายธรรม คนนั่งฟังหลับหมด แต่ท่านพุทธทาสสนใจในการถ่ายทอดธรรมะมาก ท่านเขียนหนังสืออ่านง่าย (บางเล่มสำหรับผม) จึงทำให้ธรรมะจากสวนโมกข์กระจายไปโดยรวดเร็ว พระที่สวนโมกข์เชี่ยวชาญทั้งอัดเทป ถอดเทป ท่านสร้างโรงมหรสพทางวิญญาณ มีรูปปั้น รูปวาดเป็นปริศนาธรรม
7. ชอบใช้ปัญญาเจาะลึก ท่านพุทธทาสศึกษาตรวจสอบและพบหลักธรรมที่ลึกซึ้งอันยากต่อการเข้าใจ ซึ่งไม่ค่อยมีผู้ใดนำมาพูดกันเลย ฟังอยู่เหมือน “เพชรในตม” แต่ท่านได้นำสิ่งเหล่านี้มาสอน อาทิ อิทัปปัจจยตาและตถตา และเมื่อตรวจสอบปฏิจจสมุปบาทตามคัมภีร์วิสุทธิมรรค ซึ่งรจนาโดยพระพุทธโฆษาจารย์ ชาวอินเดียอันพระภิกษุใช้ในการศึกษากันมาช้านานนั้น น่าจะไม่ถูกต้อง
โลกปัจจุบันเป็นยุคสมัยของอารยะธรรมตะวันตกมีอิทธิพลครอบครอง เพราะมีนักวิทยาศาสตร์ นักปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่จำนวนมากค้นพบกฎเกณฑ์หลักการต่าง ๆ อันก่อให้เกิดวิวัฒนาการสร้างแต่ความเจริญรุ่งเรืองทางด้านวัตถุ โลกจึงเกิดวิกฤติการอย่างรุนแรง ทั้งในการเมือง เศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อม แล้วทำให้มนุษย์มีความเห็นแก่ตัวสูง จิตใจเป็นทาสของวัตถุนิยม จึงทำให้สังคมเดือดร้อนกันทั่วโลก แสดงให้เห็นว่าอารยะธรรมสมัยใหม่ของชาติตะวันตกนั้นมีความผิดพลาด เพราะนักปราชญ์ตะวันตกทั้งหลายมุ่งค้นคว้าวิจัย ศึกษาแต่ปัจจัยภายนอก จึงไม่พบหลักธรรมอันเป็นเอกเหมือนที่พระพุทธเจ้าทรงพบ เมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว ที่มุ่งพัฒนาจิตใจภายในเป็นหลัก
หลักธรรมของพระพุทธเจ้าว่าด้วยธรรมชาติของสรรพสิ่งทั้งหลาย ไม่ว่าเล็ก ใหญ่ จับต้องได้ ท่านทรงประกาศว่า สรรพสิ่งทั้งหลายเป็นอนิจจัง คือล้วนเปลี่ยนแปลงไม่คงที่ ถ้าคงที่ (นิจจัง) เป็นลักษณะตายตัว มันจะไม่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน แต่ละสิ่งแต่ละอย่างจะทรงตัวอยู่โดยโดด ๆ แต่เพราะสรรพสิ่งทั้งหลายล้วนเปลี่ยนแปลง (อนิจจัง) มันจึงเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันเป็นปัจจยาการต่อกัน ที่เรียกว่าอิทัปปัจจยตา (อิทะ = นี้, ปัจจยตา = เป็นปัจจัยให้เกิด) อาทิ มีดวงอาทิตย์จึงมีแสงแดด มีแสงแดดจึงมีความร้อน มีความร้อน และน้ำจึงมีไอน้ำ ฯลฯ เป็นต้น
การทำงานคือ การปฏิบัติธรรม ท่านพุทธทาสเป็นนักปลุกระดม อะไรที่ท่านเห็นว่าสำคัญท่านจะพูดย้ำเสมอ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อให้คนจำแล้วนำไปปฏิบัติ อาทิ ในเรื่องตัวกูของกู คือภาวะที่จิตเกิดรู้สึกในความมีตัวกูของกูขึ้น คือถ้ามีตัวกู ของกูมาก ก็ทุกข์มาก มีตัวกู ของกูน้อยก็ทุกข์น้อย ไม่มีตัวกู ของกูเลย ก็ไม่ทุกข์เลย ไม่มีตัวกูของกูชั่วคราว ก็ไม่ทุกข์ (นิพพาน) ชั่วคราว ไม่มีตัวกูของกูถาวร ก็ไม่มีความทุกข์หรือนิพพานถาวร
การทำงานคือการปฏิบัติธรรม โดยเป็นการทำงานด้วยความไม่ยึดมั่นถือมั่น อาทิ
ยึดมั่นว่าความเห็นของเราเท่านั้นที่ถูก
ยึดมั่นว่าเราเก่งกว่าคนอื่น
ยึดมั่นว่างานของเราสำคัญกว่าของคนอื่น
ยึดมั่นว่าเราจะต้องได้รับผลตอบแทนด้วยเงิน ขึ้นขั้น หรือเกียรติยศ ชื่อเสียงดีกว่าคนอื่น ฯลฯ เป็นต้น
ท่านพุทธทาสสอนว่าอย่าไปยึดมั่นแม้ในความดีต้องอยู่เหนือดี เหนือชั่ว เช่น ท่านพูดเสมอว่า “ทำดีดี” มิใช่ทำดีต้องได้ดี ทั้งนี้เพราะการทำดีนั้นดี แต่ผลจะเป็นอย่างไรที่จะเกิดขึ้นไม่ต้องไปคาดหวังเพราะเจตนาเราทำดีแล้วก็ดี แต่คนเรามักคิดและหวังว่าทำดีแล้วต้องได้ดี จึงทำให้เสียใจ หากผลเกิดตรงข้าม ท่านจึงเน้นเสมอว่าการทำงานคือการปฏิบัติธรรม ธรรมะคือการทำหน้าที่ต้องทำงานด้วยความสุข มีความสนุกด้วยการทำงาน ถ้าใครพบศิลปะการทำงานให้มีความสุขจะมีชีวิตที่ประเสริฐ เพราะคนไทยเรามักทำงานด้วยความทุกข์ ความสุขอยู่ที่อบายมุข สังคมเราจึงวุ่นวาย ทุกหน่วยงานจึงมีปัญหาเกิดความขัดแย้งกันบ่อย ๆ ในหน่วยงานราชการ ฉะนั้นการฝึกคนให้รู้จักทำงานด้วยความสุข จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นยิ่งในการพัฒนาประเทศ นี่ต้องนึกถึงพระคุณของท่านพุทธทาส
ท่านพุทธทาส มักเน้นถึงปัญญาต้องมาก่อน เพราะถ้าคนมีปัญญาก็ย่อมมีศีลและสมาธิอยู่ในตัว โดยท่านอ้างถึงมรรค 8 ว่า เริ่มด้วยสัมมาทิฐิ ซึ่งเป็นปัญญา ท่านพุทธทาสได้สร้างคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อสังคมไทยและโลก คำสอนของท่านทำให้เชื่อมโยงเรื่องต่าง ๆ ทั้งทางโลกและทางธรรม ทางศาสนาและวิทยาศาสตร์ อาทิ ท่านได้กล่าวถึงประชาธิปไตยของประชาชน เพื่อประชาชน โดยประชาชนนั้น ใช้ได้เฉพาะประชาชนที่มีธรรมเท่านั้น ถ้าประชาชนไม่มีธรรม มันก็กลายเป็นประชาธิปไตยตายเท่านั้นเอง ดังนั้น ต้องหว่านพืชธรรมก่อนพืชประชาธิปไตย เพื่อลดหรือป้องกันความเห็นแก่ตัว ถ้าเห็นแก่ตัวก็มีแต่ประชาธิปตายโดยไม่รู้สึกตัว ความไม่เห็นแก่ตัวจึงเป็นรากฐานของประชาธิปไตย ประชาธิปไตยแท้จึงมีแต่ความไม่เห็นแก่ตัว ซึ่งเป็นของมีได้ยากสำหรับปุถุชนสมัยนี้
ที่บูชาวัตถุ
ในคู่มือมนุษย์ท่านได้สรุปว่า พุทธศาสนา คือ วิชาและระเบียบปฏิบัติเพื่อให้รู้จักสิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวงมีสภาพตามที่เป็นจริง คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ไม่ใช่ตัวตนหรือของตัว แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของความยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธีปฏิบัติ เรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือตัดความยึดมั่นถือมั่นนั้นเสีย อุปาทานความยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึดคือ ขันธ์ 5 ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
เมื่อรู้จักขันธ์ทั้ง 5 ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไรติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า “เป็นอยู่ชอบ” คือ ให้วันคืนเต็มไปด้วยความปิติปราโมทย์ อันเกิดจากการกระทำที่ดีงาม ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อย ๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย คลายความอยาก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฎิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มีความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือ ความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้
“ลักษณะทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ในพระรูปอื่น ๆ ก็มีบ้างบางข้อ มากน้อยต่างกัน แต่ที่มีครบทั้ง 7 ประการ และมีมากอย่างท่านพุทธทาสภิกขุนั้น หาได้ยากยิ่ง เอกลักษณ์ดังกล่าวรวมกันทำให้เกิดเป็น “ท่านพุทธทาส” อย่างที่ท่านเป็น สมควรแล้วที่ท่านเป็นบุคคลสำคัญของโลก
คุณงามความดีของท่านมีมาก สุดที่จะเขียนบรรยายได้ เจตนาของผมเพียงเพื่อต้องการให้พุทธศาสนิกชนได้ทราบว่าท่านมีความสำคัญมากแก่วงการพุทธศาสนาไทยและของโลก องค์การยูเนสโกจึงได้ยกย่องท่าน หากผิดพลาดประการใดก็กราบขออภัยด้วย ยินดีน้อมรับคำติเสมอ ครับ
รายชื่อคนไทยผู้ที่ยูเนสโกได้ยกย่องตั้งแต่ปี 2505-2548 มีดังนี้
ที่ รายชื่อ
1 สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
2 สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์
3 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
4 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
5 หลวงสุนทรโวหาร หรือสุนทรภู่
6 พระยาอนุมานราชธน
7 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
8 พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์
9 สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
10 การสถาปนาเมืองเชียงใหม่
11 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
12 สมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี
13 ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์
14 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
15 หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล
16 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
17 นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา)
18 ท่านพุทธทาสภิกขุ
องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) มีสมาชิก 189 ประเทศ เปิดให้สมาชิกเสนอชื่อบุคคลสำคัญ ผู้มีงานดีเด่น และเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ครบหลักเกณฑ์ทุก 50 ปี 100 ปี 150 ปี และ 200 ปี ในด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ หรือสื่อมวลชน ซึ่งควรจะได้รับการพิจารณาจัดไว้เป็นรายการสำคัญของโลก ซึ่งเป็นการเชิดชูเกียรติคุณของบุคคลและเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในอดีต และมีความโดดเด่นที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นแบบอย่างอันดีงามในด้านต่าง ๆ โดยจะเสนอชื่อหรือเหตุการณ์ได้ทุก 2 ปี
ที่มา
1. สวนโมกข์ ธรรมกาย สันติอโศก 2530 ศ.น.พ.ประเวศ วะสี หมอชาวบ้าน
2. คู่มือมนุษย์ ชุดตุลาการิกธรรม อบรมผู้พิพากษา ปี 2499 ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ ย่อและเรียบเรียงโดย อ.ปุ่น จงประเสริฐ
3. ส.ค.ส 2539 พระธรรมโกศาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ)
4. หนังสือพิมพ์มติชน รายวัน 28 พ.ย. 2546 หน้า 24
โดย…ผศ. นาม ศิริเสถียร
http://brainbank.nesdb.go.th/tabid/222/articleType/ArticleView/articleId/279/.aspx