กรรมฐานโดยวิธีอานาปานัสสติภาวนา ตามแบบของท่านพุทธทาสภิกขุ

กรรมฐานโดยวิธีอานาปานัสสติภาวนา ตามแบบของท่านพุทธทาสภิกขุ

การฝึกจิตแบบอานาปานัสสติของท่านพุทธทาส แบ่งออกเป็นระยะๆ ดังนี้
ระยะที่หนึ่ง เพ่งลมหายใจเป็นอารมณ์ ลมหายใจมีลักษณะอย่างไร ให้เพ่งแน่วแน่อยู่ที่ลมหายใจเป็นอารมณ์ จนกระทั่งเกิดความสงบรำงับขึ้นเพราะการเพ่งนั้น เมื่อมีความสงบรำงับแล้ว จะเกิดความรู้สึกเป็นสุข เพราะความเป็นสมาธินั้น
ระยะที่สอง พิจารณาความรู้สึกที่เป็นสุข ให้มีความรู้สึกว่าความสุขที่เกิดขึ้นนี้ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อยู่ทุกลมหายใจเข้า-ออก
ระยะที่สาม การเพ่งดูจิต ให้เพ่งดูจิตในขณะที่ทำสมาธิภาวนานั้นว่าเป็นอย่างไร จิตที่ประกอบด้วยสุขเวทนาเป็นอย่างไร จิตมีตัวกูของกูหรือไม่มีตัวกูของกูเป็นอย่างไร พิจารณาทุกแง่มุม อยู่ทุกลมหายใจเข้า-ออก ขั้นนี้เรียกว่า ดูที่ตัวจิต
ระยะที่สี่ ให้พิจารณาดูที่ตัวความจริงที่แฝงแสดงให้เห็นอยู่ที่ทุกๆ สิ่ง โดยจะเป็นที่จิตหรือที่เวทนาหรือที่ลม ว่าความจริงมันเป็นอย่างไร ซึ่งจะพบความจริงว่า สิ่งทั้งปวงมีเหตุปัจจัยปรุงแต่งทั้งเหตุทั้งปัจจัยที่ปรุงแต่งและทั้งสิ่งที่ปรุงแต่งนั้น มีการเปลี่ยนแปลง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เมื่อเป็นเช่นนี้ จะเกิดความรู้สึกสลด สังเวช เกิดความเบื่อหน่าย ก็ให้ดูการที่จิตค่อยๆ ถอยออก ดูการที่ความรู้สึกโง่ รู้สึกหลง รู้สึกยึดถือนั้น ไม่อาจจะเกิดขึ้นมาอีก ดูความที่ตัวกูของกู ไม่อาจโผล่ขึ้นมาอีก ระยะนี้เรียกว่า ดูธรรม หรือดูธรรมะอยู่ที่ส่งทั้งปวงและอยู่ทุกลมหายใจเข้า-ออก
ระยะที่ห้า คือ พิจารณาที่จิต เมื่อดูอย่างนั้นย่อมมีความหน่าย คลายกำหนัด มีความปล่อยวาง

ระยะที่หก ดูความหลุด ความปล่อย ความดับ ความวางหรือความว่างว่ามีอยู่ตลอดกาล ตลอดเวลาหรือทุกหนทุกแห่งอย่างไร
กรรมวิธีทั้ง 6 ระยะดังกล่าวข้างต้น ท่านพุทธทาสภิกขุ ได้สรุปประมวลลงไว้ 4 ข้อ โดยระยะทั้ง 6 ดังกล่าวก็คือ สติปัฏฐาน 4 นั่นเอง ทั้งนี้ท่านอธิบายรายละเอียด ซึ่งสรุปและถอดความได้ดังนี้
อันดับแรก คือการดูที่ลมหายใจ ท่านพุทธทาสภิกขุ อธิบายว่า ลมหายใจในภาษาบาลีเรียกว่า “กาย” เรียกลมหายใจกับกายเป็นสิ่งเดียวกันเพราะว่า “กาย” หมายถึงฝ่ายรูปถูกหล่อเลี้ยงด้วยลมหายใจ ดังนั้น การดูลมหายใจก็คือ ดูกาย การดูกายหรือการดูลมหายใจนี้มีวิธีดู 4 ขั้นตอน คือ
-ดูลมหายใจยาว
-ดูลมหายใจสั้น
-ดูลมหายใจที่ปรุงแต่งร่างกาย
-ดูลมหายใจที่ปรุงแต่งร่างกายซึ่งค่อยๆ รำงับลงละเอียดลง
การดูลมหายใจโดย 4 ลักษณะนี้เรียกว่า “ดูกาย” หรือทำกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
อันดับที่สอง คือการดูเวทนา เวทนานี้หมายถึงความรู้สึก รู้สึกเป็นสุข เป็นสุขในสมาธิ ลมหายใจค่อยๆ ละเอียดอ่อนลง การดูเวทนา มีวิธีดู 4 ลักษณะ คือ
-ดูเวทนาที่เกิดขึ้นเป็นปีติคือ การพอใจในการกระทำที่กำลังกระทำอยู่
-ดูสุขที่เกิดขึ้น
-ดูปิติและสุขที่ปรุงแต่งจิต
-ดูปีติที่ปรุงแต่งจิตน้อยลงๆ จนไม่ปรุงแต่ง
ทั้ง 4 ลักษณะที่ดูนี้เรียกว่า “ดูเวทนา” การกระทำนี้เรียกว่า เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
อันดับที่สาม คือการดูจิตซึ่งมีลักษณะการดู 4 ลักษณะคือ
-ดูตัวจิตล้วนนั้นเป็นอย่างไร
-ดูจิตที่ปราโมทย์ ปีติ ว่าเป็นอย่างไร
-ดูจิตที่ถูกทำให้ตั้งมั่น ให้หยุด ให้สงบนั้นเป็นอย่างไร
-ดูจิตที่ถูกทำให้ปล่อยวางจากตัวกูของกู นิวรณ์ หรืออุปกิเลส ต่างๆ ว่าเป็นอย่างไร
การดูดังกล่าวเรียกว่า “ดูจิต” เรียกว่าจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
อันดับที่สี่ คือการดูธรรม ธรรมในที่นี้หมายถึง สัจธรรมหรือความจริง มีการดู 4 ลักษณะคือ
-เพ่งดูความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาหรือสุญญตาที่มีอยู่ในทุกสิ่ง
-ดูความเบื่อหน่ายคลายกำหนัด (วิราคะ) ที่จะเกิดตามมาจากการพิจารณาดูไตรลักษณ์
-ดูความไม่เกิดของความคิดปรุงแต่งกิเลสตัณหาตัวกูของกู (ดูนิโรธ)
-ดูความว่างที่สลัดถอนหมดในความเป็นตัวกูของกู (ปฏินัสสัคคะ)
ทั้ง 4 ลักษณะเรียกว่า การดูธรรม การกระทำนี้เรียกว่า เจริญธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในการดูทั้ง 4 หมวด หมวดละ 4 ลักษณะ ท่านพุทธทาสภิกขุ เรียกว่า “อานาปานัสสติ”

http://kaewariyah.com/index.php?option=com_content&view=article&id=109:4&catid=44:2010-05-08-09-40-18&Itemid=57

. . . . . . .