เมื่อหมดหน้าที่สอนนักธรรมแล้ว อาเสี้ยงก็เร่งเร้าให้ท่านพุทธทาสภิกขุเข้ากรุงเทพฯ อีกครั้ง โดยหวังให้หยิบพัดยศมหาเปรียญมาไว้เป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล ท่านพุทธทาสภิกขุจึงเข้ากรุงเทพฯ อีกคราวหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ. 2473 เมื่ออยู่กรุงเทพฯ ในครั้งนี้ ท่านพุทธทาสภิกขุคิดเพียงแต่จะมุ่งเรียนภาษาบาลีเท่านั้น และทิ้งเรื่องการลาสิกขาเอาไว้ก่อน แต่ท่านพุทธทาสภิกขุไม่ได้เข้าเรียนในช่วงกลางวัน เนื่องจากเห็นว่าเป็นการสอนที่อืดอาด ไม่ทันใจ จึงให้พระครูชยาภิวัฒน์ (กลั่น) สอนพิเศษในช่วงกลางคืน นอกจากการเรียนภาษาบาลีแล้ว ท่านพุทธทาสภิกขุยังสนใจในเรื่อง การท่องเที่ยว การถ่ายภาพ เครื่องพิมพ์ดีด เครื่องเล่นวิทยุ เครื่องเล่นแผ่นเสียง ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ ข่าวสารบ้านเมือง ทั้งยังติดตามงานเขียนของปัญญาชนทั้งหลายในสมั้ยนั้น ไม่ว่าจะเป็น ครูเทพ น.ม.ส. พระองค์วรรณฯ เสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป และหลวงวิจิตรวาทการ
เมื่อประกาศผลสอบปีแรก ปรากฏว่าท่านพุทธทาสภิกขุสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค และกลายเป็นพระมหาเงื่อม อินทปญฺโญ ในปีเดียวกันนี้เอง ท่านพุทธทาสภิกขุมีงานเขียนเป็นบทความขนาดสั้นชิ้นแรก ชื่อ ประโยชน์แห่งทาน ปรากฏอยู่ในหนังสือที่พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพพระครูโสภณเจตสิการาม (คง วิมาโล) พระอุปัชฌาย์ของท่านพุทธทาสภิกขุ และมีบทความขนาดยาวเรื่อง พระพุทธศาสนาสำหรับปุถุชน พิมพ์ในหนังสือที่ระลึกครบรอบโรงเรียนนักธรรม วัดพระบรมธาตุไชยา
ขอขอบคุณ http://th.wikipedia.org/