สังฆราชสุก ไก่เถื่อน พระอาจารย์ของสมเด็จโต
สมัยเมื่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (พระอาจารย์โต พรหมรังสี) ท่านบวชเป็นพระภิกษุใหม่ ๆ ยังไม่มีสมณศักดิ์ใดๆ นั้น ท่านเรียนพระปริยัติจนแตกฉานที่วัดมหาธาตุ สนามหลวง โดยมีพระสังฆราชสุกไก่เถื่อน เป็นพระอาจารย์ วิธีการเรียนของท่านก็แปลกกว่าวิธีของพระภิกษุรูปใด ๆ นั่นคือ ท่านจะกำหนดล่วงหน้ามาว่า วันนี้ท่านจะเรียนจากหน้าไหนถึงหน้าไหนในหนังสือ พอมาถึงสำนักเรียน ก็จะเปิดหนังสือออกแล้วแปลไปเรื่อยโดยไม่ติดขัดจนจบหน้าที่กำหนดไว้ ต่อหน้าพระพักตร์สมเด็จพระสังฆราชสุกฯ พอจบท่านก็กราบแล้วกลับวัดระฆัง จนกระทั่งวันหนึ่ง สมเด็จพระสังฆราชสุก ฯ มีรับสั่งว่า “พอแล้ว หยุดเรียนเสียที คุณแตกฉานพอแล้ว” เจ้าอาวาสวัดระฆัง คือสมเด็จพระพุทธโกษาจารย์ (นาค) สงสัยเห็นภิกษุโต ไม่ข้ามไปเรียนที่วัดมหาธาตุอีก ท่านก็ร้อนใจข้ามฝั่งมาเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชสุกฯ เพื่อถามสาเหตุ สมเด็จพระสังฆราชสุกฯ มีรับสั่งว่า’ “ขรัวโต ลูกศิษย์เธอ เขามาแปลหนังสือให้ฉันฟัง เขาไม่ได้มาเรียนหนังสือกับฉันหรอก” นี่แสดงถึงภูมิปัญญาของสมเด็จโตฯ ว่าเลิศเพียงใด และเมื่อไม่ได้ข้ามฝั่งไปเรียนพระปริยัติแล้ว ท่านก็เรียนด้วยตัวเองของท่านเองโดยวิธีพิศดารคือ ตอนสายของทุกวัน หลังจากเสร็จกิจทำวัตรแล้ว ท่านจะถือหนังสือเข้าไปในพระอุโบสถวัดระฆัง ไปถึงก็วางหนังสือกับพื้น แล้วกราบพระประธาน ๓ ครั้ง จากนั้นก็หยิบหนังสือออกมากาง เปิดหน้าที่กำหนดไว้แล้วแปลเรื่อยไปจนจบ ท่านก็ปิดหนังสือก้มกราบพระประธาน ๓ ครั้ง แล้วกลับขึ้นกุฏิ ท่านแตกฉานในพระปริยัติอย่างยิ่ง แต่ท่านไม่เคยคิดเข้าสอบเอาเปรียญ แต่กลับมุ่งศึกษาทางด้านวิปัสสนาธุระ ซึ่งสมัยก่อนผู้ที่ศึกษาทางด้านนี้ก็มักจะมีชื่อเสียงทางด้านวิปัสสนาธุระ ที่เต็มไปด้วยคาถาอาคม มีอภินิหารมหัศจรรย์ที่แสดงออกด้วยอิทธิวัตถุมงคลเครื่องรางของขลัง ที่ท่านได้สร้างกันขึ้น
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีสมเด็จพระสังฆราชฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวาสถิตที่วัดมหาธาตุ จะแตกฉานทางด้านคันถธุระหรือทางด้านปริยัติ ส่วนฝ่ายซ้ายจะสถิต ณ วัดป่าแก้ว ซึ่งเชี่ยวชาญทางวิทยาคม มีเวทมนต์คาถาศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งสมัยนั้น มีเกจิอาจารย์สำคัญที่มีชื่อจารึกอยู่ในประวัติศาสตร์ อาทิ หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด สมเด็จพระวันรัต (วัดป่าแก้ว) ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นต้น
ซึ่งการศึกษาด้านวิปัสสนาธุระของพระภิกษุสงฆ์ไทยนั้น ได้สืบทอดมาจนถึงรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์ทรงโปรดส่งเสริมการศึกษาทางด้านนี้มาก (สายวิชชากรรมฐานมัชฌิมา แบบลำดับ) ได้เจริญรุ่งเรื่องที่สุดในสมัยรัชกาลที่ ๒ สมเด็จโตฯ ผู้สร้างพระเครื่องพระสมเด็จอันเลื่องลือยิ่งนักนั้น ท่านก็ได้ศึกษาด้านวิปัสสนาธุระมาอย่างเชี่ยวชาญ ท่านเก่งทั้งทางคันถธุระและวิปัสสนาธุระ เรียนพระปริยัติจนไม่มีอาจารย์สอนได้ และเก่งวิปัสสนา ซึ่งหาได้ยากยิ่งในพระภิกษุรูปเดียวกัน เพราะปกติทั่วไป มักจะเก่งคนละอย่าง ไม่มีพระภิกษุรูปใดที่เก่งทั้ง ๒ ด้านเฉกท่าน
พระอาจารย์ที่สอนวิทยาคมให้แก่สมเด็จโตฯ องค์แรก ตั้งแต่สมัยที่ท่านยังเป็นสามเณรอยู่ก็คือ พระอริญญิก (แก้ว) เจ้าอาวาสวัดอินทรวิหาร พระอาจารย์องค์ต่อมาคือ สมเด็จพระสังฆราชสุก ไก่เถื่อน ที่ท่านได้สมญานามนี้ เพราะท่านสามารถแผ่เมตตาจนกระทั่งไก่ป่าที่เปรียวและตื่นง่าย เชื่องเป็นไก่บ้านเข้ามาจิกข้าวที่ท่านเสกให้กินได้ สมัยนั้นสมเด็จพระสังฆราชสุก ไก่เถื่อน มีชื่อเสียงเลื่องลือมาก ท่านทรงเป็นพระกรรมวาจารย์ของ รัชกาลที่ ๒ และเป็นอุปัชฌาจารย์ของ รัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๔ เมื่อทรงผนวชเป็นสามเณรด้วย
ขอขอบคุณ : http://board.banrasdr.com/showthread.php?tid=21022