ตอน สิบสี่ อานาปานสติ ขั้นที่ สิบ

ตอน สิบสี่ อานาปานสติ ขั้นที่ สิบ

(การทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่งอยู่)

อุทเทสแห่งอานาปานสติขั้นที่สิบ หรือข้อที่สองแห่งจตุกกะที่สาม นั้นมีหัวข้อว่า “ภิกษุนั้น ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่งอยู่ จักหายใจเข้า ดังนี้ ; ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่งอยู่ จักหายใจออกดังนี้ (ปโมทยํ จิตฺตํ อสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ ;ปโมทยํ จิตฺตํ ปสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ.)

มีอธิบายโดยละเอียดดังต่อไปนี้ :- คำว่า ย่อมทำในบทศึกษา มีอธิบายอย่างเดียวกัน กับที่อธิบายมาแล้วในตอนก่อน. คำว่า ทำจิตให้ปราโมทย์ มีข้อควรวินิจฉัยคือ ทำให้ปราโมทย์เกิดขึ้นในขณะไหน และความปราโมทย์นั้นมีอยู่อย่างไร, ดังจะได้วินิจฉัยสืบไปดังต่อไปนี้ :

ความปราโมทย์โดยธรรม ในที่นี้ เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ย่อมทำให้เกิดขึ้นได้ในทุกขั้นแห่งอานาปานสติ เพราะฉะนั้นผู้ที่ลงมือปฏิบัติในขั้นนี้จะต้องพยายามทำให้เกิดความปราโมทย์ขึ้น ในทุกขั้นแห่งอานาปานสติ. เขาจักต้องย้อนไปปฏิบัติมาตั้งแต่อานาปานสติขั้นที่หนึ่งเป็นลำดับมา. จนกระทั่งถึงขั้นที่ ๙ พยายามทำความปราโมทย์ให้เกิดขึ้น ให้ปรากฏชัดในทุกขั้นและให้ประณีต หรือสูงขึ้นมาตามลำดับดุจกัน คือ :-

๑. เมื่อรู้ชัดความที่จิตเป็นเอกัคคตาไม่ฟุ้งซ่าน ด้วยอำนาจลมหายใจเข้าและออกยาว ทำความปราโมทย์ให้เกิดขึ้น ;
๒. เมื่อรู้ชัดความที่จิตเป็นเอกัคคตาไม่ฟุ้งซ่าน ด้วยอำนาจลมหายใจเข้าและออกสั้น ทำความปราโมทย์ให้เกิดขึ้น ;
๓. เมื่อรู้ชัดความที่จิตเป็นเอกัคคตาไม่ฟุ้งซ่าน ด้วยอำนาจความรู้พร้อมเฉพาะซึ่งลมทั้งปวง ทำความปราโมทย์ให้เกิดขึ้น ;
๔. เมื่อรู้ชัดความที่จิตเป็นเอกัคคตาไม่ฟุ้งซ่าน ด้วยอำนาจการทำกายสังขารให้รำงับอยู่ ทำความปราโมทย์ให้เกิดขึ้น ;
๕. เมื่อรู้ชัดความที่จิตเป็นเอกัคคตาไม่ฟุ้งซ่าน เพราะการรู้พร้อมเฉพาะซึ่งปีติ ทำความปราโมทย์ให้เกิดขึ้น ;
๖. เมื่อรู้ชัดความที่จิตเป็นเอกัคคตาไม่ฟุ้งซ่าน เพราะการรู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข ทำความปราโมทย์ให้เกิดขึ้น ;
๗. เมื่อรู้ชัดความที่จิตเป็นเอกัคคตาไม่ฟุ้งซ่าน เพราะการรู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร ทำความปราโมทย์ให้เกิดขึ้น ;
๘. เมื่อรู้ชัดความที่จิตเป็นเอกัคคตาไม่ฟุ้งซ่าน เพราะการทำจิตตสังขารให้รำงับอยู่ ทำความปราโมทย์ให้เกิดขึ้น ;
๙. เมื่อรู้ชัดความที่จิตเป็นเอกัคคตาไม่ฟุ้งซ่าน เพราะความเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิต ทำความปราโมทย์ให้เกิดขึ้น ;

เมื่อทำอยู่ดังนี้ ได้ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติอานาปานสติขั้นที่สิบ ซึ่งมีใจความสำคัญมุ่งหมายถึงการรู้จักทำ หรือสามารถทำจิตให้ปราโมทย์ขึ้นมาได้ในทุก ๆ ขั้น แล้วถือเอาความรู้สึกปราโมทย์นั้นเป็นอารมณ์สำหรับพิจารณา เพื่อเห็นลักษณะแห่งความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ และความเป็นอนัตตาแห่งจิตที่ปราโมทย์นั้นสืบต่อไป เหมือนดังที่ได้กล่าวแล้วในการพิจารณาปีติในอานาปานสติขั้นที่ห้า.

สำหรับการเกิดแห่งความปราโมทย์นั้น มีทางที่จะเกิดได้ต่าง ๆ กันตามแต่เหตุปัจจัย ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งปราโมทย์. สำหรับในกรณีแห่งการทำอานาปานสตินั้น อาจกล่าวได้ว่า :-

ในอานาปานสติขั้นที่หนึ่ง และขั้นที่สอง ปราโมทย์เกิดเพราะรู้สึกพอใจในการกระทำ หรือในโอกาสที่ได้กระทำตามคำสอนอันเป็นนิยยานิกธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นเบื้องต้น ; และสูงขึ้นมาก็คือ มีความปราโมทย์เพราะประสบความสำเร็จในการกำหนดลมหายใจเข้า – ออก ทั้งยาวและสั้นดังนี้เป็นต้น.

ในอานาปานสติขั้นที่สาม ย่อมเกิดความปราโมทย์ที่สูงขึ้นไปกว่านั้นแม้ไม่มากก็น้อย เพราะเหตุที่มีการกำหนดลมหายใจอย่างแยยคายยิ่งขึ้นไปกว่าเก่าดังที่ได้กล่าวแล้วโดยละเอียด ในอานาปานสติขั้นนั้น ซึ่งทำให้สัมปยุตตธรรมเช่นฉันทะเป็นต้น เป็นไปแรงกล้าขึ้น ปราโมทย์ย่อมเกิดขึ้นในลักษณะที่ประณีตกว่า หรือสูงกว่าตามสมควรแก่กรณี.

ในอานาปานสติขั้นที่สี่ การปฏิบัติดำเนินไปจนถึงขั้นที่เกิดฌาน ความปราโมทย์ในการกระทำของตน ก็สูงขึ้นไปตาม ด้วยอำนาจแห่งการที่ได้เสวยผลเป็นทิฏฐธรรมสุข โดยเหตุที่จิตเป็นเอกัคคตาไม่ถูกนิวรณ์รบกวนเลยเป็นต้น.

ในอานาปานสติขั้นที่ห้า มีการพิจารณาถึง ปีติที่เป็นองค์ฌานโดยตรงซึ่งหมายถึงความปราโมทย์โดยพฤตินัยอยู่ในตัว เป็นการแยกเอาตัวความปราโมทย์ออกมากำหนดและพิจารณาไปโดยเฉพาะ เป็นการเห็นตัวความปราโมทย์โดยชัดกว่าขั้นอื่น ๆ และกลายเป็นปราโมทย์ที่อิงอาศัยปัญญายิ่งขึ้น ในเมื่อมีการพิจารณาเวทนานั้น ๆ โดยลักษณะแห่งความไม่เที่ยง เป็นต้น.

ในอานาปานสติขั้นที่หก มีอาการคล้ายกันกับในขั้นที่ห้า เพราะเป็นการพิจารณาองค์ฌานด้วยกัน.

ในอานาปานสติขั้นที่เจ็ด ปราโมทย์สูงขึ้นไป เพราะมีความรู้เพิ่มขึ้นว่าเวทนานั้น ๆ เป็นเครื่องปรุงแต่งจิต ; ทำให้สามารถรู้เท่าทันเวทนา ซึ่งเป็นทางมาแห่งกิเลส คือตัณหาและอุปทาน เป็นต้น จนเห็นลู่ทางที่จะดับทุกข์ได้ยิ่งขึ้นไป ปราโมทย์ในธรรมจึงสูงขึ้นไปตาม.

ในอานาปานสติขั้นที่แปด ปราโมทย์เกิดมาจากความรู้สึกว่าตนสามารถทำจิตตสังขารให้อ่อนกำลังลงหรือให้รำงับไป ซึ่งเป็นความสามารถที่สูงยิ่งขึ้นไปอีก ทำให้เกิดความรู้สึกว่า การควบคุมกิเลสนั้นจักต้องอยู่ในกำมือของตนโดยแน่นอน.

สำหรับอานาปานสติขั้นที่เก้านั้น ปราโมทย์เกิดขึ้นเพราะบัดนี้เป็นผู้มีความรู้แจ่มแจ้งในเรื่องจิต และลักษณะอาการต่าง ๆ ของจิต เช่นที่เกิด ที่ดับ ที่ไปที่มา ของจิต จนถึงกับรู้สึกว่าการควบคุมจิตนั้นต้องอยู่ในกำมือของตนโดยแท้.

ส่วนในอานาปานสติขั้นที่สิบนี้ เป็นการประมวลมาซึ่งความปราโมทย์ทั้งหมดทุกชนิด มากำ หนดพิจารณาอยู่ และมีความปราโมทย์เฉพาะในข้อนี้ว่าบัดนี้ตนเป็นผู้สามารถบังคับจิตได้ตามความต้องการ ดังที่สามารถบังคับให้เกิดความปราโมทย์ อยู่ในขณะนี้ อย่างพลิกแพลงอย่างไรก็ได้ตามต้องการและกว้างขวางถึงที่สุด จึงเป็นจิตที่บังเทิงอยู่ด้วยความปราโมทย์ที่กว้างขวางและสูงสุดไปตามกัน.

ส่วนข้อที่ว่า ความปราโมทย์มีอยู่อย่างไร นั้น มีทางที่จะวินิจฉัย คือความปราโมทย์คืออะไร ? และมีทางที่จะแบ่งแยกปราโมทย์ได้กี่ทาง ?

เมื่อกล่าวโดยทางศัพทศาสตร์ ท่านระบุชื่อเหล่านี้ว่าเป็นชื่อของความปราโมทย์ คือ อาโมทนา = ความเบิกบาน, ปโมทนา = ความบันเทิงหรือปราโมทย์, หาโส = ความร่างเริงหรือหรรษา, ปหาโส = ความรื่นเริงอย่างยิ่งหรือความรื่นรมย์แห่งใจ, โอทคฺยํ = ความโสมนัสหรือความเย็นใจ, และอฺตตมนตา = ความปลื้มใจหรือความภูมิใจต่อตัวเองเป็นที่สุด ; อาการทั้งหมดนี้รวมเรียกว่าอาการของความปราโมทย์ในที่นี้. เมื่อกล่าวโดยเหตุทั่วไป ก็เหมือนกับกรณีของปีติและสุข กล่าวคือปราโมทย์นี้อาจจะเป็นเคหสิต คืออาศัยเรือนหรือกามก็ได้ ; หรือจะเป็นเนกขัมมสิต คืออาศัยธรรมโดยเฉพาะ คือความปราศจากกามก็ได้. แต่สำหรับในที่นี้นั้น เป็นที่เห็นได้ชัดเจนอยู่แล้วว่า เป็นปราโมทย์ที่อาศัยธรรมแท้ทุกขั้นแห่งอานาปานสติทีเดียว.

ผู้ศึกษาพึงสังเกตในข้อที่ชื่อเหมือนกันว่าปราโมทย์ ๆ แต่ตัวจริงนั้นอาจจะแตกต่างราวกับฟ้าและดิน เพราะวัตถุหรืออารมณ์แห่งการเกิดของปราโมทย์นั้นต่างกัน. ข้อที่ว่าปราโมทย์ในทางธรรม มีทางเกิดได้กี่ทาง นั้น เมื่อกล่าวตามหลักแห่งอานาปานสตินี้แล้ว ข้อเท็จจริงย่อมแสดงชัดอยู่แล้วว่า มีทางมา ๒ ทาง คือ ปราโมทย์ที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจของสมถะหรือสมาธิ นี้อย่างหนึ่ง ; และปราโมทย์ที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจของวิปัสสนาญาณหรือปัญญา นี้อีกอย่างหนึ่ง. ปราโมทย์ที่เกิดขึ้นด้วยอำ นาจของสมาธินั้น ที่เห็นได้ง่าย ๆ หรือโดยตรง ก็คือปีติที่เป็นองค์ฌานและความสุขที่เป็นองค์ฌานโดยตรง หรือความสุขที่ได้รับมาจากการที่จิตเป็นเอกัคคตาไม่ฟุ้งซ่านโดยทั่วไปทุกขณะ เรียกสั้น ๆ ว่า ความสุขที่เกิดจากฌาน นั่นเอง ; หรือแม้ที่สุดแต่ความพอใจอย่างปราโมทย์ที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจของสมถะหรือสมาธิ เพราะมีสมถะและสมาธิเป็นมูลฐาน. ส่วน ปราโมทย์ที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจของวิปัสสนาหรือปัญญา นั้นละเอียดยิ่งขึ้นไปกว่า สูงยิ่งขึ้นไปกว่า หรือมีคุณค่ายิ่งกว่า. ปราโมทย์ข้อนี้ได้แก่ความปราโมทย์ที่เกิดขึ้นในขณะที่พิจารณาปราโมทย์อันเป็นตัวเวทนานั่นเองหรือพิจารณาสังขารทั้งหลายทั้งปวงก็ตาม โดยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เห็นแจ้งในความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วเกิดความปราโมทย์ขึ้นมาเพราะเหตุที่รู้ว่า ได้เห็นธรรมลึกซึ้งลงไป. จัดเป็นความปราโมทย์ในธรรมแท้.

ขอย้อนไปเปรียบเทียบด้วยตัวอย่างของปีติให้เห็นได้ง่าย ๆ คือปีติในองค์ฌานเป็นปราโมทย์ด้วยอำนาจสมาธิ. ครั้นปีตินั้นถูกนำมาพิจารณาให้เห็นว่าเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เช่นเดียวกับเวทนาทั้งหลาย เกิดปีติขึ้นมาใหม่อีกชนิดหนึ่ง ด้วยอำนาจของปัญญานั้น เป็นปีติต่อธรรมหรือในธรรมแท้ยิ่งขึ้นไปอีก ; นี่เรียกว่าปีติที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจของปัญญา นับว่ามีอยู่เป็น ๒ อย่างด้วยกัน ดังนี้. สรุปให้สั้นที่สุด ก็ได้ความว่า ปราโมทย์อย่างที่หนึ่งเกิดอยู่ในขณะที่จิตเป็นสมาธิ ; ปราโมทย์อย่างที่สองเกิดอยู่ในขณะที่จิตประกอบด้วยปัญญา. ปราโมทย์ทั้งสองอย่างนี้ มีอยู่อย่างแรกซึมปนเปกันไปในอานาปานสติทุกขั้น. ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น อานปานสติในส่วนใดหรือขณะใดเป็นส่วนแห่งสมาธิ ปราโมทย์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นเป็นปราโมทย์ที่เกิดมาจากความเป็นสมาธิ ; อานาปานสติส่วนใดหรือระดับใด ที่เป็นส่วนของปัญญา หรือกำลังดำเนินไปด้วยอำนาจของปัญญาอยู่ ปราโมทย์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ก็จัดเป็นปราโมทย์ที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจของปัญญา ; ฉะนั้นเป็นอันกล่าวได้ว่า ปราโมทย์ที่ผู้ปฏิบัติได้ทำให้เกิดขึ้นโดยอาศัยอานาปานสติ ที่แล้วมาทั้ง ๙ ขั้น และกำลังจัดเป็นอานาปานสติขั้นที่สิบอยู่ในขณะนี้นั้น ก็ได้แก่ปราโมทย์ ๒ ประเภทนี้นั่นเอง หรือกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า หมายถึงแต่ปราโมทย์ ๒ ประเภทนี้ ซึ่งเป็นปราโมทย์อาศัยเนกขัมมะเท่านั้น หาได้หมายถึงปราโมทย์ที่เป็นเคหสิต คืออาศัยเรือนหรือกามแต่ประการใดไม่เลย.

สิ่งที่อยากจะแนะให้สังเกตอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ การฝึกอานาปานสติในขั้นที่สิบนี้ จัดว่าเป็นที่น่าสนุกหรือน่าพอใจยิ่งกว่าอื่นทั้งหมด เพราะถ้ากล่าวอย่างสำนวนโวหารธรรมดาก็คือ การเล่นกับความสุขนั่นเอง : เป็นการเล่นของบุคคลผู้มีความสุขที่เข้าไปสู่ความสุขอย่างนั้นอย่างนี้ ออกจากความสุขอย่างนี้แล้วเข้าไปสู่ความสุขอย่างโน้น ออกจากความสุขอย่างโน้น แล้วก็เข้าไปสู่ความสุขอย่างอื่นอีกต่อไป ไม่มีที่สิ้นสุดกับความสุข จึงถือว่าอานาปานสติในขั้นนี้เป็นจุดเด่นที่สุด, หรือเป็นเหมือนจุดเด่นที่สุดจุดหนึ่ง ในแถวแห่งอานาปานสติทั้งหลาย, แม้การปฏิบัติจะได้รับผลเพียงเท่านี้ ก็ยังกล่าวได้ว่าเข้าถึงธรรมรัตนะเป็นผู้ร่ำรวยด้วยเพชรพลอยของพระธรรม อย่างประมาณมิได้อยู่แล้ว : นับว่าควรแก่การสนใจและการปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง.

สิ่งที่จะต้องวินิจฉัยข้อสุดท้าย คือญาณและสติ ตลอดถึงธรรมอื่น ๆ จะเกิดขึ้นได้อย่างไรนั้น ส่วนใหญ่มีอธิบายอย่างเดียวกันกับในขั้นที่แล้วมา สำหรับส่วนที่จะต้องทำความเข้าใจเป็นพิเศษเฉพาะในขั้นนี้ก็คือ การกำหนดปราโมทย์ที่ตนได้ทำให้เกิดขึ้นทุกขั้นของอานาปานสติ โดยนัยดังที่กล่าวแล้ว ด้วยอำนาจของเอกัคคตาจิตที่ไม่ฟุ้งซ่าน นี้เรียกว่า สติ. การกำหนดติดตามดูปราโมทย์นั้นด้วยอำนาจของสติ จนเกิดการพิจารณาเห็นความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาสติกลายเป็นอนุปัสสนาญาณไป ; นี้เรียกว่า ญาณ. ผู้ปฏิบัติกำหนดและพิจารณาจิตซึ่งประกอบด้วยปราโมทย์ทั้งหลายด้วยสตินั้น ด้วยญาณนั้น การกระทำนี้ชื่อว่าจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานภาวนา ซึ่งจัดเป็นภาวนาที่สมบูรณ์ด้วยอรรถทั้งสี่ดังที่กล่าวแล้ว. ในขณะนั้นเป็นการสโมธานซึ่งธรรมทั้งหลาย ๒๙ ประการ พร้อมทั้งการรู้โคจรแทงตลอดสมัตถะ แห่งธรรมทั้งหลายเหล่านั้น ด้วยอำนาจของการกระทำที่แยบคาย มีอาการสิบหก มีการรู้ทั่วอยู่, กำหนดอยู่, รู้อยู่, เห็นอยู่,พิจารณาอยู่, อธิษฐานจิตอยู่ ฯลฯ เป็นลำดับ ๆ ไป จนกระทั่งถึงการทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ควรทำให้แจ้งอยู่ ; แต่ละขั้น ๆ เกี่ยวกับปราโมทย์นั้นโดยตรง ด้วยจิตที่เป็นเอกัคคตาไม่ฟุ้งซ่านอยู่ทุกลมหายใจเข้า – ออก ดังที่ได้อธิบายแล้วโดยละเอียดในอานาปานสติขั้นที่ห้านั้นแล้ว ไม่จำเป็นจะต้องกล่าวซ้ำในที่นี้.

การวินิจฉัยในอานาปานสติขั้นที่สิบ สิ้นสุดลงเพียงเท่านี้. ต่อไปนี้จะได้วินิจฉัยในอานาปานสติขั้นที่สิบเอ็ดสืบไป.

https://sites.google.com/site/smartdhamma/part14_anapanasat_buddhadhas

. . . . . . .