ประวัติหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง ฯ จ.สกลนคร

ประวัติหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง ฯ จ.สกลนคร

ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย

ท่านกำเนิดในสกุลแก่นแก้ว บิดาชื่อคำด้วง มารดาชื่อ จันทร์ เพียแก่นท้าว เป็นปู่ นับถือพุทธศาสนา เกิดวันพฤหัสบดี เดือนยี่ ปีมะแม ตรงกับวันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๑๓ ณ บ้านคำบง ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน ๗ คน ท่านเป็นบุตรคนหัวปี ท่านเป็นคนร่างเล็ก ผิวดำแดง แข็งแรงว่องไว สติปัญญาดี มาแต่กำเนิด ฉลาด เป็นผู้ว่านอนสอนง่าย ได้เรียนอักษรสมัยในสำนักของอา คือ เรียนอักษรไทยน้อย อักษรไทย อักษรธรรม และอักษรขอม อ่านออกเขียนได้ นับว่าท่านเรียนได้รวดเร็ว เพราะมีความทรงจำดี และขยันหมั่นเพียร ชอบการเล่าเรียน ชีวิตสมณะ

การแสวงหาธรรม และปฏิปทา

เมื่อหลวงปู่มั่นอายุได้ ๑๕ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรในสำนักบ้านคำบง ใครเป็นบรรพชาจารย์ไม่ปรากฏ ครั้นบวชแล้วได้ศึกษา หาความรู้ ทางพระศาสนามีสวดมนต์ และพระสูตรต่าง ๆ ในสำนักบรรพชาจารย์ จดจำได้รวดเร็ว อาจารย์เมตตาปราณีมาก เพราะเอาใจใส่ในการเรียนดี ประพฤติปฏิบัติเรียบร้อย เป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้ เมื่อท่านอายุได้ ๑๗ บิดาขอร้องให้ลาสิกขาเพื่อช่วย การงานทางบ้าน ท่านได้ลาสิกขาออกไปช่วยงานบิดามารดา เต็มความสามารถ ท่านเล่าว่า เมื่อลาสิกขาไปแล้ว ยังคิดที่จะบวชอีกอยู่เสมอไม่เคยลืมเลย คงเป็นเพราะอุปนิสัย ในทางบวช มาแต่ก่อนหนหนึ่ง อีกอย่างหนึ่ง เพราะติดใจในคำสั่งของยายว่า เจ้าต้องบวชให้ยาย เพราะยายก็ได้เลี้ยงเจ้ายาก คำสั่งของยายนี้ คอยสะกิดใจอยู่เสมอ

ครั้นอายุหลวงปู่มั่นได้ ๒๒ ปี ท่านเล่าว่า มีความอยากบวชเป็นกำลัง จึงอำลาบิดามารดาบวช ท่านทั้งสองก็อนุมัติตามประสงค์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านได้ศึกษาในสำนัก ท่านอาจารย์เสาร์ กันตสีลเถระ วัดเลียบ จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับอุปสมบทกรรม เป็นภิกษุภาวะในพระพุทธศาสนา ณ วัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม) อำเภอเมือง ฯ จังหวัดอุบลราชธานี พระอริยกวี (อ่อน) เป็นพระอุปัชฌายะ มี พระครูสีทา ชยเสโน เป็นพระกรรมวาจารย์ และ พระครูประจักษ์อุบลคุณ (สุ่ย) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๖ พระอุปัชฌายะ ขนานนาม มคธ ให้ว่า ภูริทตโต เสร็จ อุปสมบทกรรมแล้ว ได้กลับมาสำนักศึกษาวิปัสสนาธุระ กับพระอาจารย์เสาร์ กันตสีลเถระ ณ วัดเลียบ ต่อไป

เมื่อแรกอุปสมบท หลวงปู่มั่น พำนักอยู่วัดเลียบ เมืองอุบล เป็นปกติ ออกไปอาศัยอยู่วัดบูรพาราม เมืองอุบลบ้างเป็นครั้งคราว ในระหว่างนั้น ได้ศึกษาข้อปฏิบัติเบื้องต้น อันเป็นส่วนแห่งพระวินัยคือ อาจาระ ความประพฤติมารยาท อาจริยวัตร และอุปัชฌายวัตร ปฏิบัติได้เรียบร้อยดี จนเป็นที่ไว้วางใจของพระอุปัชฌายาจารย์ และได้ศึกษาข้อปฏิบัติอบรมจิตใจ คือ เดินจงกลม นั่งสมาธิ สมาทาน ธุดงควัตร ต่าง ๆ

ในสมัยต่อมา ได้แสวงหาวิเวก บำเพ็ญสมณธรรมในที่ต่าง ๆ ตามราวป่า ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง หุบเขา ซอกห้วย ธารเขา เงื้อมเขาท้องถ้ำ เรือนว่าง ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงบ้าง ฝั่งขวาแม่น้ำโขงบ้าง แล้วลงไปศึกษากับนักปราชญ์ในกรุงเทพฯ จำพรรษาอยู่ที่ วัดปทุมวนาราม หมั่นไปสดับธรรมเทศนา กับเจ้าพระคุณพระอุบาลี (สิริจันทเถระ จันทร์) ๓ พรรษา แล้วออกแสวงหาวิเวกในถิ่นภาคกลาง คือ ถ้ำสาริกา เขาใหญ่ นครนายก ถ้ำไผ่ขวาง เขาพระงาม แล ถ้ำสิงโต ลพบุรี จนได้รับความรู้แจ่มแจ้ง ในพระธรรมวินัย สิ้นความสงสัย ในสัตถุศาสนา จึงกลับมาภาคอิสาน ทำการอบรมสั่งสอน สมถวิปัสสนา แก่สหธรรมิก และอุบาสก อุบาสิกา ต่อไป มีผู้เลื่อมใสพอใจปฏิบัติมากขึ้น โดยลำดับ มีศิษยานุศิษย์แพร่หลาย กระจายทั่วภาคอิสาน

ในกาลต่อมา ได้ลงไปพักจำพรรษาที่วัดปทุมวนาราม กรุงเทพ ฯ อีก ๑ พรรษา แล้วไปเชียงใหม่กับ เจ้าพระคุณอุบาลีฯ (สิริจันทรเถระ จันทร์) จำพรรษา วัดเจดีย์หลวง ๑ พรรษาแล้วออกไปพักตามที่วิเวก ต่าง ๆ ในเขตภาคเหนือหลายแห่ง เพื่อสงเคราะห์สาธุชนในที่นั้น ๆ นานถึง ๑๑ ปี จึงได้กลับมา จังหวัดอุบลราชธานี พักจำพรรษาอยู่ที่ วัดโนนนิเวศน์ เพื่ออนุเคราะห์สาธุชนในที่นั้น ๒ พรรษา แล้วมาอยู่ในเขตจังหวัดสกลนคร จำพรรษาที่ วัดป่าบ้านนามน ตำบลตองขอบ อำเภอเมืองสกลนคร (ปัจจุบัน คือ อำเภอ โคกศรีสุพรรณ) ๓ พรรษาจำพรรษาที่ วัดหนองผือ ตำบลนาใจ อำเภอเมืองพรรณานิคม ๕ พรรษา เพื่อสงเคราะห์สาธุชนในถิ่นนั้น มีผู้สนใจในธรรมปฏิบัติ ได้ติดตามศึกษาอบรมจิตใจมากมาย มีศิษยานิศิษย์มากหลาย ยังเกียรติคุณของท่าน ให้ฟุ้งเฟื่องเลื่องลือไป

ธุดงควัตร ที่ท่านถือปฏิบัติ เป็นอาจิณ ๔ ประการ

๑. ปังสุกุลิกังคธุดงค์ ถือนุ่งห่มผ้าบังสกุล จนกระทั่งวัยชรา จึงได้ใช้ คหบดีจีวรบ้าง เพื่ออนุเคราห์แก่ผู้ศรัทธานำมาถวาย
๒. บิณฑบาติกังคธุดงค์ คือภิกขาจารยวัตร เที่ยวบิณฑบาตมาฉันเป็นนิตย์ แม้อาพาธ ไปในละแวกบ้านไม่ได้ ก็บิณฑบาตในเขตวัด บนโรงฉัน จนกระทั้งอาพาธ ลุกไม่ได้ในปัจฉิมสมัยจึงงดบิณฑบาต
๓. เอกปัตติกังคธุดงค์ คือฉันในบาต ใช้ภาชนะใบเดียว เป็นนิตย์ จนกระทั่งถึงสมัยอาพาธในปัจฉิมสมัย จึงงด
๔. เอกาสนิกังคธุดงค์ ถือฉันหนเดียวเป็นนิตย์ ตลอดเวลาแม้อาพาธหนัก ในปัจฉิมสมัย ก็มิได้เลิกละ ส่วนธุดงควัตรนอกนี้ ได้ถือปฏิบัติเป็นครั้งคราว ที่นับว่าปฏิบัติได้มาก ก็คือ อรัญญิกกังคธุดงค์ คืออยู่เสนา สนะป่า ห่างบ้านประมาณ ๒๕ เส้น หลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ตามสมณวิสัย

เมื่อถึงวัยชรา จึงอยู่ในเสนาสนะป่าห่างจากบ้านพอสมควร ซึ่งพอเหมาะกับกำลัง ที่จะภิกขาจาร บิณฑบาต เป็นที่ ๆ ปราศจากเสียงอื้ออึง ประชาชนเคารพยำเกรง ไม่รบกวน นัยว่า ในสมัยที่ท่านยังแข็งแรง ได้ออกจาริกโดดเดี่ยวแสวงวิเวกไปในป่าดงพงลึก จนสุดวิสสัยที่ศิษยานุศิษย์จะติดตามไปถึงได้ก็มี เช่นคราวที่ไปอยู่ภาคเหนือ เป็นต้น ท่านไปวิเวกบนเขาสูง อันเป็นที่อยู่ของพวก มูเซอร์ยังชาวมูเซอร์ที่พูดไม่รู้เรื่องกัน ให้บังเกิดศรัทธาในพระพุทธศาสนาได้

ธรรมโอวาท คำที่เป็นคติ อันท่านอาจารย์กล่าวอยู่บ่อย ๆ ที่เป็นหลักวินิจฉัยความดีที่ทำด้วย กาย วาจา ใจ แก่ศิษยานุศิษย์ ดังนี้

๑. ดีใดไม่มีโทษ ดีนั้นนับว่าเป็นเลิศ
๒. ได้สมบัติทั้งปวง ไม่ประเสริฐเท่าได้ตน เพราะตัวตนเป็นที่เกิดแห่งสมบัติทั้งปวง

เมื่อท่านอธิบาย ตจปัญจกกรรมฐาน จบลง มักจะกล่าวเตือนเป็นคำกลอนว่าแก้ให้ตกเน้อ แก้บ่ตก คาพกจ้าไว้ แก้บ่ได้ แขวนคอต่องแต่ง แก้บ่พ้น คาก้นย่างยาย คาย่างยาย เวียนตายเวียนเกิด เวียนเอากำเนิดในภพทั้งสาม ภพทั้งสามเป็นเฮือน เจ้าอยู่ ดังนี้

เมื่อคราวท่านเทศนาสั่งสอนพระภิกษุ ผู้เป็นสานุศิษย์ ถือลัทธิฉันเจให้เข้าใจในทางถูก และเลิกลัทธินั้น ครั้นจบลงแล้วได้กล่าวเป็นคติขึ้นว่า เหลือแต่เว้าบ่เห็น บ่อนเบาหนัก เดินบ่ไปตามทาง สิถึกดงเสือฮ้ายดังนี้แล การบำเพ็ญสมาธิ เอาแต่เพียงเป็นบาทของวิปัสนา คือ การพิจารณาก็พอแล้ว ส่วนการจะอยู่ในวิหารธรรมนั้น ก็ให้กำหนดรู้ ถ้าใครกลัวตาย เพราะบทบาททางความเพียร ผู้นั้น จะกลับมาตายอีก หลายภพหลายชาติ ไม่อาจนับได้ ส่วนผู้ใดไม่กลัวตาย ผู้นั้นจะตัดภพชาติให้น้อยลง ถึงกับไม่มีภพชาติเหลืออยู่ และผู้นั้นแล จะเป็นผู้ไม่กลับหลังมาหาทุกข์อีก ธรรมะเรียนมาจากธรรมชาติ เห็นความเกิดแปรปรวนของสังขาร ประกอบด้วยไตรลักษณ์ ปัจฉิมโอวาทของ พระพุทธเจ้าโดยแท้ ๆ ถ้าเข้าใจในโอวาทปาฏิโมกข์ ท่านพระอาจารย์มั่นแสดงโดยยึดหลักธรรมชาติของศิลธรรม ทางด้านการปฏิบัติ เพื่อเตือนนักปฏิบัติทั้งหลายท่าน แสดงเอาแต่ใจความว่า….

การไม่ทำบาปทั้งปวงหนึ่ง การยังกุศล คือ ความฉลาดให้ถึงพร้อมหนึ่ง

การชำระจิตใจของตนให้ผ่องแผ้วหนึ่ง…. นี้แล คือ คำสอนทั้งหลายของพระพุทธเจ้า การไม่ทำบาป… ถ้าทางการไม่ทำ แต่ทางวาจายังทำอยู่ ถ้าทางวาจาไม่ทำ แต่ทางใจก็ทำ สั่งสมบาปตลอดวัน จนถึงเวลาหลับ พอตื่นจากหลับ ก็เริ่มสั่งสมบาปต่อไปจนถึงขณะหลับอีก เป็นทำนองนี้ โดยมิได้สนใจว่า ตัวทำบาป หรือสั่งสมบาปเลย แม้กระนั้น ยังหวังใจอยู่ว่า ตนมีศิลธรรม และคอยแต่เอาความบริสุทธิ์ จากความมีศิลธรรม ที่ยังเหลือแต่ชื่อเท่านั้น ฉะนั้น จึงไม่เจอความบริสุทธิ์ กลับเจอแต่ความเศร้าหมอง ความวุ่นวายในใจตลอดเวลา ทั้งนี้เพราะ ตนแสวงหาสิ่งนั้น ก็ต้องเจอสิ่งนั้น ถ้าไม่เจอสิ่งนั้น จะให้เจออะไรเล่า เพราะเป็นของที่มีอยู่ ในโลกสมมุติอย่างสมบูรณ์

ปัจฉิมบท

ในวัยชรา นับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นต้นมา ท่านหลวงปู่มั่นมาอยู่ที่จังหวัดสกลนคร เปลี่ยนอิริยาบทไปตามสถานที่วิเวก ผาสุกวิหารหลายแห่งคือ ณ เสนาสนะป่า บ้านนามน ตำบลตองโขบ อำเภอเมือง ฯ (ปัจจุบัย เป็นอำเภอ โคกศรีสุพรรณ) บ้าง ที่ใกล้ ๆ แถวนั้นบ้าง ครั้น พ.ศ. ๒๔๘๗ จึงย้ายไปอยู่เสนาสนะป่าบ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร จนถึงปีสุดท้ายของชีวิต

ตลอดเวลา ๘ ปี ในวัยชรานี้ ท่านได้เอาธุระ อบรมสั่งสอน ศิษยานุศิษย์ทางสมถ วิปัสสนาเป็นอันมาก ได้มีการเทศนาอบรมจิตใจศิษยานุศิษย์เป็นประจำวัน ศิษย์ผู้ใกล้ชิด ได้บันทึกธรรมเทศนาของท่านไว้ และได้รวบรวมพิมพ์ขึ้นเผยแพร่ แล้วให้ชื่อว่า มุตโตทัย

ครั้นมาถึงปี พ.ศ.๒๔๙๒ ซึ่งเป็นปีที่ท่านมีอายุย่างขึ้น ๘๐ ปี ท่านเริ่มอาพาธเป็นไข้ ศิษย์ผู้อยู่ใกล้ชิด ได้เอาธุระรักษาพยาบาล ไปตามกำลังความสามารถ อาพาธก็สงบไปบ้างเป็นครั้งคราว แต่แล้วก็กำเริบขึ้นอีก เป็นเช่นนี้เรื่อยมาจนจวนออกพรรษา อาพาธก็กำเริบมากขึ้น ข่าวนี้ได้กระจายไปโดยรวดเร็ว พอออกพรรษาศิษยานุศิษย์ผู้อยู่ไกล ต่างก็ทยอยกันเข้ามาปรนนิบัติพยาบาล ได้เชิญหมอแผนปัจจุบันมาตรวจ และรักษา แล้วนำมาที่เสนาสนะป่าบ้านภู่ อำเภอพรรณานิคม เพื่อสะดวกแก่ผู้รักษา และ ศิษยานุศิษย์ ก็มาเยี่ยมพยาบาลอาการอาพาธ มีแต่ทรงกับทรุด โดยลำดับ

ครั้นเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒ ได้นำท่านมาถึงวัดป่าสุทธาวาส ท่านก็ถึงแก่มรณภาพด้วยอาการสงบ เมื่อเวลา ๐๒.๒๓ น. ของวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ศกเดียวกัน ท่ามกลางศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย มีเจ้าพระคุณ พระธรรมเจดีย์เป็นต้น สิริชนมายุของท่านอาจารย์ได้ ๗๙ ปี ๙ เดือน ๒๑ วัน รวม ๕๖ พรรษา

การบำเพ็ญประโยชน์ ของท่านหลวงปู่มั่น ประมวลในหลัก ๒ ประการดังนี้

๑. ประโยชน์ชาติ ท่านหลวงปู่ ได้เอาธุระเทศนาอบรมสั่งสอนศิลธรรมอันดีงาม แก่ประชาชนพลเมือง ของทุกชาติ ในทุก ๆ ถิ่น ที่ท่านได้สัญจรไป คือ ภาคกลางบางส่วน ภาคเหนือเกือบทั่วทุกจังหวัด ภาคอิสานเกือบทั่วทุกจังหวัด ไม่กล่าวสอนให้เป็นปฏิปักษ์ ต่อการปกครองของประเทศ ทำให้พลเมืองของชาติ ผู้ได้รับคำสั่งสอน เป็นคนมีศิลธรรมดี มีสัมมาอาชีพง่ายแก่การปกครอง ของ ผู้ปกครองชือว่า ได้บำเพ็ญประโยชน์แก่ชาติ ตามควรแก่สมณวิสัย
๒. ประโยชน์ศาสนา ท่านหลวงปู่ ได้บรรพชา และอุปสมบทเข้ามาในพระพุทธศาสนานี้ ด้วยความเชื่อ และความเลื่อมใสจริง ๆ ครั้นบวชแล้ว ก็ได้ เอาธุระทางพระพุทธศาสนาด้วยความอุตสาหะพากเพียรจริง ๆ ไม่ทอดธุระในการบำเพ็ญ สมณธรรม

หลวงปู่มั่น ท่านปฏิบัติธุดงควัตรเคร่งครัดถึง ๔ ประการดังกล่าวแล้ว ในเบื้องต้น ได้ดำรงรักษาสมณกิจไว้มิให้เสื่อมสูญได้นำหมู่คณะ ฟื้นฟูปฏิบัติพระธรรมวินัย ได้ถูกต้องตามพุทธบัญญัติ และพระพุทธโอวาท หมั่นอนุศาสน์สั่งสอนศิษยานุศิษย์ ให้ฉลาดอาจหาญในการฝึกฝนอบรมจิตใจตามหลักการสมถวิปัสสนา อันเป็นสมเด็จพระบรมศาสดาได้ตรัสสอนไว้ เป็นผู้มีนำใจเด็ดเดี่ยวอดทนไม่หวั่นไหวต่อ โลกธรรม แม้จะถูกกระทบกระทั่งด้วยโลกธรรมอย่างไร ก็มิได้แปรเปลี่ยนไปตาม ความมั่นอยู่ในธรรมวินัย ตามที่พระบรมศาสดาประกาศแล้วตลอดมาทำตัวให้เป็น ทิฏฐานุคติ แก่ศิษยานุศิษย์เป็นอย่างดี ท่านได้จาริกไปตามสถานที่วิเวกต่าง ๆ คือ บางส่วนของภาคกลาง เกือบทั่วทุกจังหวัด ในภาคเหนือ เกือบทุกจังหวัด ของภาคอิสานและแถมบางส่วนของต่างประเทศอีกด้วย นอกจากเพื่อวิเวกในส่วนตนแล้ว ท่านมุ่งไปเพื่อสงเคราะห์ผู้มีอุปนิสัยในถิ่นนั้น ๆ ด้วย ผู้ได้รับสงเคราะห์ ด้วยธรรมจากท่านแล้ว ย่อมกล่าวไว้ด้วยความภูมิใจว่า ไม่เสียทีที่ได้เกิดมาเป็น

มนุษย์ พบพระพุทธศาสนา

ส่วนหน้าที่ในวงการคณะสงฆ์ ท่านหลวงปู่ ได้รับพระกรุณาจากพระสังฆราชเจ้าในฐานะเจ้าคณะใหญ่ คณะธรรมยุตติกา ให้เป็นพระอุปัชฌายะ ในคณะธรรมยุตติกา ตั้งแต่อยู่จังหวัดเชียงใหม่ และได้รับแต่งตั้งเป็น พระครูวินัยธรฐานานุกรม ของ เจ้าพระคุณพระอุบาลี ฯ (สิริจันทรเถระจันทร์) ท่านก็ได้ทำหน้าที่นั้นโดยเรียบร้อย ตลอดเวลาที่ยังอยู่เชียงใหม่ ครั้นจากเชียงใหม่มาแล้ว ท่านก็งดหน้าที่นั้น โดยอ้างว่าแก่ชราแล้ว ขออยู่ตามสบาย

งานศาสนาในด้านวิปัสสนาธุระ นับว่า ท่านได้ทำเต็มสติกำลัง ยังศิษยานุศิษย์ ทั้งบรรพชิต และคฤหัสถ์ ให้อาจหาญรื่นเริงในสัมมาปฏิบัติ ตลอดมา นับแต่พรรษาที่ ๒๓ จนถึงพรรษาที่๕๙ อันเป็นปีสุดท้ายแห่งชีวิตของท่าน อาจกล่าวได้ ด้วยความภาคภูมิใจว่า ท่านเป็นพระเถระ ที่มีเกียรติคุณ เด่นที่สุดในด้านวิปัสสนาธุระรูปหนึ่ง ในยุคปัจจุบัน

http://www.meemodo.com/POOMAHN.html

. . . . . . .