สมณศักดิ์ (สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)

สมณศักดิ์ (สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)

พ.ศ.๒๔๙๐ พระชนมายุได้ ๓๔ พรรษา เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะ ชั้นสามัญที่ พระโศภนคณาภรณ์ (มีความหมายว่าผู้เป็นอาภรณ์ หรือเครื่องประดับของหมู่คณะอันงาม) ซึ่งเป็นราชทินนามา ที่ตั้งขึ้นใหม่สำหรับพระราชทาน แก่เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ เป็นรูปแรก

พ.ศ.๒๔๙๕ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชในราชทินนามเดิม

พ.ศ.๒๔๙๘ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพในราชทินนามเดิม

พ.ศ.๒๔๙๙ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมในราชทินนามที่ พระธรรมวราภรณ์ (มีความหมายว่า ผู้มีธรรมเป็นอาภรณ์คือเครื่องประดับอันประเสริฐ) ซึ่งเป็นราชทินนามที่ตั้งขึ้นใหม่สำหรับพระราชทาน แก่เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ เป็นรูปแรกเช่นกัน

พ.ศ.๒๕๐๔ ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นราชาคณะชั้นเจ้าคณะรอง (คือรองเจ้าคณะใหญ่ หรือรองสมเด็จพระราชาคณะ) ที่ พระสาสนโสภณ (มีความหมายว่า ผู้งามในพระศาสนา หรือผู้ยัง พระศาสนาให้งาม)

พ.ศ.๒๕๑๕ ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระญาณสังวร (มีความหมายว่า ผู้สำรวมในญาณคือความรู้) ซึ่งเป็นราชทินนามที่พระบาทสมเด็จ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ทรงโปรดให้ตั้งขึ้นใหม่สำหรับพระราชทานสถาปนา พระญาณสังวร (สุก) พระราชาคณะฝ่ายวิปัสสนาเป็นสมเด็จพระราชา คณะเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.๒๓๕๙ ตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระญาณสังวร จึงเป็นตำแหน่งพิเศษ ที่โปรดพระราชทานสถาปนาแก่พระเถระผู้ทรงคุณทางวิปัสสนาธุระเท่านั้น ฉะนั้น นับแต่สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช เมื่อ พ.ศ.๒๓๖๓ แล้วตำแหน่งที่สมเด็จพระญาณสังวรก็ไม่ทรงโปรด พระราชทานสถาปนาแก่พระเถระรูปใดอีกเลย กระทั่ง พ.ศ. ๒๕๑๕ นับเป็นเวลา ๑๕๒ ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน จึงทรงโปรดให้สถาปนาเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ในตำแหน่งที่สมเด็จพระญาณสังวร เป็นรูปที่ ๒ อันเป็นการแสดงให้เป็นที่ปรากฏว่า เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงเป็นพระเถระผู้ทรงคุณทาง วิปัสสนาธุระที่สมควรแก่ราชทินนามตำแหน่งนี้

พ.ศ.๒๕๓๒ ได้รับพระราชทานสถานาขึ้นเป็น สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในราชทินนามเดิมคือ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช แทนราชทินนามสำหรับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชที่ถือเป็นพระเพณีปฏิบัติกันมาคือ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ ทั้งนี้ก็เพื่อให้พระเกียรติคุณทางวิปัสสนาธุระของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ยังเป็นที่ปรากฏอยู่สืบไป แม้เมื่อทรงได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชแล้ว

เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกที่มิได้ทรงเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ แต่ทรงได้รับพระราชทานสถาปนาในราชทินนามพิเศษ ต่างไปจากสมเด็จ พระสังฆราชพระองค์อื่น ๆ ที่ล้วนได้รับพระราชทาน สถาปนาในราชทินนามสำหรับตำแหน่งคือ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ ทุกพระองค์ (สำหรับสมเด็จพระสังฆราชที่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์นั้น มีพระนามเฉพาะ ๆ แต่ละพระองค์ไป)

ชีวิตในมัชฌิมวัยของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ นั้น เป็นช่วงชีวิตแห่งการทำงานและสร้างผลงาน ซึ่งอาจประมวลกล่าว ได้เป็นด้าน ๆ คือ ด้านการศึกษา ด้านการปกครอง ด้านการสั่งสอนเผยแผ่ ด้านการก่อสร้างปฏิสังขรณ์ และด้านการ สาธารณสงเคราะห์

http://www.watbowon.com/index_main.htm

. . . . . . .