อวิชชา
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช
เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่พระสาสนโสภณ?(สุวฑฺฒโน)
บัดนี้ความรู้วิชาการต่าง ๆ ในโลกเจริญขึ้นมาก มนุษย์เราสามารถสร้างพาหนะนำตนไปถึงดวงจันทร์ได้?(เมื่อศกที่แล้วพ.ศ.?๒๕๑๒) ?
วิชาเหล่านี้เป็นวิชาทางโลก หรือวิชาภายนอก
ส่วนวิชาภายในหรือวิชชา คือความรู้สัจจะ?(ความจริง)?ภายในตนเองจะยังบกพร่องอยู่ทั่ว ๆ ไป จึงปรากฏว่า คนโดยมากแม้มีความรู้
ทางศิลปวิทยาต่าง ๆ มาก แต่ก็ยังขาดความรู้ในตนเอง ดังจะเรียกว่ายังมีอวิชชาที่แปลตามศัพท์ว่า?”ความไม่รู้”
“อวิชชา” ?ที่แปลว่าไม่รู้นี้ มิได้หมายความว่าไม่รู้อะไรเลย เหมือนอย่างก้อนดินก้อนหิน แต่หมายถึงรู้ อะไร ๆ เหมือนกัน แต่รู้ผิดจาก
ความจริง หรือรู้ไม่จริง ก็เท่ากับไม่รู้
เพราะที่เรียกว่า?”รู้ ๆ”?นั้น ควรเป็นรู้จริง?(รู้?+?จริง)?จึงจะชื่อว่ารู้ และเพื่อให้ชัดขึ้น จึงแปลแบบอธิบายว่า??ความไม่รู้ในสัจจะ คือความ
จริง หรือสภาพที่จริง กล่าวสั้นว่า ความไม่รู้จริง
และเมื่อกล่าวโดยทั่วไป ความรู้ที่ทุก ๆ คนมีอยู่ย่อมมีปริมาณจำกัด ส่วนที่ยังไม่รู้มีมากกว่านัก เช่น วิชาทางโลกมีอยู่มากมาย ทั้งเพิ่ม
ขึ้นและแก้ไขเปลี่ยนแปลงใหม่ขึ้นอยู่เสมอ แต่คนหนึ่ง ๆ อาจเรียนให้รู้ได้เพียงส่วนหนึ่ง ๆ เท่านั้น
บางคนแสดงว่า ยิ่งเรียนมากก็ยิ่งรู้สึกว่าตนเองยิ่งโง่ยิ่งไม่รู้ ฉะนั้นแม้ในเรื่องภายนอกทางโลก อวิชชา คือ ความไม่รู้ก็ยังมากกว่า
วิชชา คือ ความรู้ มากมายนัก แต่อวิชชาที่มีลักษณะดังนี้ไม่ใช่ข้อที่ประสงค์ในที่นี้
อวิชชาที่ประสงค์จะแสดง คือ ความไม่รู้ในสัจจะในตนเอง ดังเช่น
ความไม่รู้จักตนเอง??คือ??ความไม่รู้จักตนเองโดยฐานะต่าง ๆ เกี่ยวแก่ความรู้ความสามารถและตำแหน่งหน้าที่อันควรแก่ตน เป็นต้น
เป็นเหตุให้ขวนขวายจะได้ฐานะที่สูงกว่าที่ตนควรจะได้ หรือน้อยใจในเมื่อไม่ได้ฐานะที่คิดเอาเองว่าตนควรจะได้
หรือนินทาว่าร้ายผู้ใหญ่ว่ากดตนเป็นต้น ข้อนี้นับว่าเป็นอวิชชาอย่างหนึ่ง เป็นเครื่องปิดกั้นความเจริญของตนเอง เพราะเมื่อไม่รู้จักตน
ตามเป็นจริงก็ไม่อาจจะแก้ไขตนเองให้ดีขึ้นโดยทางที่ถูกได้
ความต้องการสมภาพในทางที่ผิด?สมภาพคือ ความเสมอกัน ต้องการให้ทุก ๆ คนเสมอกันไปหมด ไม่มีผู้ใหญ่ผู้น้อยในฐานะต่าง
ๆ ข้อนี้เป็นอวิชชาอย่างหนึ่งเป็นเครื่องทำลายตนเอง
เพราะทุก ๆ คนทำกรรมมาแล้วและกำลังทำกรรมอยู่ต่าง ๆ กัน จะให้เสมอกันได้อย่างไร เรื่องนี้มีนิทานเรื่องเปรตจัดระเบียบที่เล่ากัน
มาแต่ก่อนว่า มีเปรตตนหนึ่งสิงอาศัยอยู่ที่ศาลาพักแรม ของคนเดินทางไกลแห่งหนึ่ง เป็นเปรตที่ชอบสมภาพ
เมื่อมีคนมานอนพักในศาลาที่เรียงกันมากคน ขณะที่กำลังหลับสนิทในเวลาดึกสงัด เปรตได้มาตรวจทางด้านเท้า เห็นเท้าไม่เสมอกัน
ก็ฉุดเท้าของทุก ๆ คนให้ลงไปเท่ากัน ไปตรวจทางด้านศีรษะ เห็นไม่เท่ากันอีก ก็ฉุดศีรษะของทุก ๆ คนให้ขึ้นมาเท่ากัน
แล้วก็ลงไปตรวจทางเท้าอีกเห็นไม่เท่ากัน??ก็ดึงเท้าลงอีก ขึ้นไปทางศีรษะก็ดึงศีรษะขึ้นไปอีก ตกลงว่าเปรตจัดให้เท่ากันทั้งสองด้าน
ไม่ได้สักครั้ง และคนทั้งปวงที่นอนพักบนศาลานั้นก็ไม่เป็นอันได้หลับนอนโดยผาสุก
นอกจากนี้ ความวางตนคล้ายกับเสมอกัน ขาดคารวะในผู้ใหญ่ เช่นบุตรธิดาขาดคารวะและความเชื่อฟังในมารดาบิดา ถือว่าสมัยนี้
ต้องเป็นอิสระในการทำความคิดเห็นของตนเอง มารดาบิดามีความคิดเห็นของตนได้ บุตรธิดาก็มีได้เหมือนกัน
บางทีกลับเห็นว่ามารดาบิดามีความคิดเห็นไม่ทันสมัย บุตรธิดาอาจจะถูกบ้างก็ได้ แต่อาจจะผิดก็มาก เพราะวัยคะนองอาจจูงใจให้
คิดเห็นไปอย่างคะนอง ต่างจากมารดาบิดาส่วนมากที่มีความเห็นเป็นผู้ใหญ่แล้ว จึงเป็นอวิชชาอย่างหนึ่งที่พึงระมัดระวังให้มาก
ความแสดงออกในทางที่ผิด?เช่น การทำอะไรให้เป็นข่าวขึ้นในทางที่ผิดต่าง ๆ บางทีก็??ทำเฉพาะตนผู้เดียว บางทีก็ชักชวนกันทำ
เป็นหมู่เป็นคณะ เช่น ชักชวนกันยกพวกไปตีกันทำร้ายกัน
ทั้งที่รู้ว่าเป็นการกระทำที่ผิด แต่ก็ทำด้วยต้องการจะแสดงว่าเก่งกล้าสามารถ จัดว่าเป็นอวิชชาอีกอย่างหนึ่ง เพราะเป็นความเห็นและ
การกระทำที่ผิด แม้ว่าใครที่จะทำอย่างนั้นจะแย้ง
แต่เมื่อความสำนึกผิดชอบ แม้ที่เรียกว่าสามัญสำนึกเกิดขึ้นเมื่อใด จะมีความสำนึกผิดขึ้นได้เอง การกระทำที่ครูอาจารย์เจ้าหน้าที่ผู้
รักษากฎหมายว่าผิดและทั้งที่ผิดพระบรมราโชวาท ย่อมเป็นความผิดที่ไม่อาจแย้งได้
ความริษยาในความทำดีและในผลดีของผู้อื่น?เมื่อเห็นผู้อื่นทำความดี หรือเห็นเขาได้รับผลดีที่เกิดจากความดี ก็เกิดความริษยา
พูดติดเตียน หรือทำการขัดขวางตัดรอนเป็นอวิชชาอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นเครื่องทำลายโลกคือประชุมชน
เพราะทำให้จิตใจมืดมิดมองไม่เห็นสัจจะในความชั่วคือ ความริษยาของตนและในความดีของผู้ทำความดี แม้จะริษยาในความดีของ
เขาทั้งที่รู้ว่าเป็นความดีก็เป็นอวิชชาอยู่นั่นเอง
เหมือนอย่างถ่มน้ำลายรดฟ้า ทั้งที่รู้ว่าน้ำลายนั้นจะต้องตกมาเปื้อนตัวเอง ทำดั่งนั้นไม่เชื่อว่าทำอย่างรู้แต่ชื่อว่าทำทั้งรู้ คือทำทั้งรู้ว่า
ไม่ควรทำ การไม่ทำอย่างรู้ แต่ทำทั้งรู้เช่นนี้เป็นอวิชชาที่มีแต่ในคนพาล ไม่มีในบัณฑิต
ผู้ที่ริษยาในความทำดีของคนอื่นนั้น บางทีกลับไปยินดีในความทำชั่วตลอดถึงในผลของความชั่วไม่ดีของคนอื่นก็ยิ่งเป็นอวิชชา
หนักเข้าไปอีก เพราะเห็นความชั่วเป็นความดีไป นี้ก็เป็นอวิชชาที่มีแต่ในคนพาล ไม่มีในบัณฑิตเช่นกัน
ความเมาต่าง ๆ?อันความเมาทั้งที่เป็นความเมาเหล้า และเมาเพราะเหตุต่าง ๆ มี ความยกย่อง เป็นต้น เป็นอวิชชาทุกชนิด เพราะเมื่อ
เมาแล้ว ก็ทำให้ขาดปัญญาที่จะรู้สัจจะในสิ่งทั้งหลาย
เมาเหล้าเรียกว่าเป็นเมาทางกาย สร่างเมาอาจจะเร็ว กว่าเมาใจ คือ เมาในรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กายถูกต้อง และเรื่องที่ใจคิด ที่ชวน
ใจให้เมา เมาในเสียงที่พูดยกย่องเรียกว่าเมาในเสียงอย่างหนึ่ง
ใครก็ตามเมื่อเกิดเมาขึ้นแล้ว ก็จะไม่รู้เหตุผลตามที่เป็นจริง ไม่มีใครจะพูดตักเตือนในขณะที่เมาได้ จะพูดกันให้เกิดความเข้าใจได้ก็
ต่อเมื่อสร่างเมาแล้ว
ความหลง?คือ??ความขาดปัญญาในลักษณะต่าง ๆ จนถึงความถือเอาทางผิดด้วยความเข้าใจผิด และความงุนงงไม่พบทางออก
เหมือนอย่างคนหลงทาง คนเราเผลอสติเผลอปัญญาเสียเมื่อใด ความหลงก็เกิดขึ้นเมื่อนั้น
คนที่ถูกเขาหลอกลวงได้เพราะไปเชื่อในคำหลอกลวงของผู้หลอกลวง เรียกว่าเป็นคนหลงอย่างหนึ่ง คือ หลงเชื่อสิ่งที่หลอกลวงมิใช่
มีแต่คนภายนอก แต่เป็นความคิดเห็นหรือใจของตนเองก็มี จึงไม่ควรด่วนเชื่อใครหรือแม้ใจตนเองทันที
ควรใช้สติปัญญาให้เพียงพอ ถ้าสติปัญญาของตนไม่พอ ก็อาศัยผู้มีสติปัญญาผู้มีความปรารถนาดี ความปล่อยจิตใจให้ซึมเหงาง่วง
อ่อนแอเกียจคร้าน เก็บความสงสัยต่าง ๆ ไว้??ไม่คลี่คลายด้วยความพินิจพิจารณาโดยแยบคายก็เป็นความหลง
ความหลงนี้เป็นอวิชชาอีกอย่างหนึ่ง เป็นเครื่องปิดบังปัญญามิให้รู้เห็นในสัจจะแม้ที่น่าจะรู้เหมือนอย่างเส้นผมบังภูเขา
ความเห็นผิด?หรือที่เรียกเป็นคำศัพท์ว่า?มิจฉาทิฐิ?หมายถึงความเห็นผิดจากคลองธรรมอย่างแรง เช่นเห็นว่าการทำบาปทำบุญอะไร
ก็ไม่เป็นอันทำ คือไม่มีบาปไม่มีบุญ สักว่าเป็นกิริยาที่ทำเท่านั้น
ทำแล้วก็แล้วไปไม่เป็นบาปเป็นบุญอะไรที่จะสนองผลต่อไป เห็นว่าผลต่าง ๆ??เช่น ความสุขความทุกข์ที่ได้รับไม่มีเหตุ คือมิใช่เกิด
จากเหตุคือกรรม หรือเหตุอะไรอย่างอื่น แต่เกิดมีขึ้นตามคราวหรือตามแต่จะประจวบเหมาะ เห็นว่าไม่มีอะไร
เช่น มารดาบิดาไม่มีบุคคลเกิดสืบกันมาตามพืชพันธุ์ สมณพราหมณ์ไม่มี ผลของทานไม่มี โลกนี้โลกหน้าไม่มี เป็นต้น เป็นอวิชชา
เป็นโมหะอย่างแรง ความเห็นผิดอย่างนี้เมื่อดิ่งลงแล้วแก้ยาก ความเห็นผิดชนิดที่ถือเอาสุดโต่ง
เช่น โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด เป็นต้น ซึ่งไม่เป็นสัจจะและไม่เป็นประโยชน์ เป็นอวิชชาอีกอย่างหนึ่ง และความเห็นผิดจากอริยสัจจะ
คือ สัจจะของพระอริยะเป็นอวิชชาอย่างละเอียดที่มีเป็นพื้นอยู่ในสามัญชนทั่วไป
อวิชชาตามตัวอย่างที่กล่าวมานี้เป็นเพียงบางประการ ยังมีประการต่าง ๆ ของการกระทำที่แสดงออกมาจากอวิชชา อันจะพึงเรียกได้
ว่าเป็นอวิชชาอีกมากมาย ประมวลกล่าวรวมเข้าได้ในอวิชชา ๘ คือ
๑ ความไม่รู้ในทุกข์
๒ ความไม่รู้ในเหตุเกิดทุกข์
๓ ความไม่รู้ในความดับทุกข์
๔ ความไม่รู้ในทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์เรียกว่าสั้นว่ามรรค
๕ ความไม่รู้ในเงื่อนต้นหรือในอดีต
๖ ความไม่รู้ในเงื่อนปลายหรือในอนาคต
๗ ความไม่รู้ในทั้งเงื่อนต้นและเงื่อนปลาย หรือทั้งอดีตและอนาคต
๘ ความไม่รู้ในธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้น
ข้อ ๑ ความไม่รู้ในทุกข์?คำว่าทุกข์มีความหมาย ดังนี้
(๑) ความทุกข์?คือ ความไม่สบายกายไม่สบายใจ ที่ตรงกันข้ามกับสุข คือ ความสบายกายสบายใจ และหมายถึงวัตถุ คือสิ่งต่าง ๆ ที่
เป็นที่ตั้งคือเป็นที่ให้เกิดทุกข์ด้วย
(๒) ความไม่คงทน ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป?และหมายถึงสิ่งที่ไม่คงทนทุกอย่างด้วย แม้ทุกข์สุขในข้อ?(๑)?ก็นับว่าเป็นทุกข์ใน
ข้อนี้ ความไม่รู้ในทุกข์ก็คือความเห็นในทุกข์ว่าเป็นสุข หรือว่าไม่เป็นทุกข์
นึกดูว่า ทุกคนย่อมต้องการความสุข ไม่ต้องการความทุกข์ แต่ไฉนทุกคนจึงต้องพบกับความทุกข์ น้อยหรือมากอยู่ด้วยกัน บางคนดู
น่าจะมีความสุขมาก เพราะมีอำนาจมีทรัพย์มีบริวารมาก??แต่กลับมีความทุกข์มาก
บางคนดูน่าจะมีความทุกข์มาก เพราะไม่ค่อยจะมีอะไรเท่าไร แต่กลับมีสุขมาก ต้องกล่าวว่าเพราะมีอวิชชาข้อนี้เป็นประการแรก คือ
ไม่รู้ในทุกข์ จึงไปยึดถือเอาทุกข์ไว้มากมายเหมือนอย่างไปกำเอาไฟเข้าไว้ ไฟก็ไหม้มือให้ร้อน
อันที่จริงอำนาจทรัพย์บริวารเป็นต้น เป็นของกลาง ๆ ถ้าได้มาและใช้ไปในทางที่ถูกต้องก็จะเป็นคุณเกื้อกูลให้เกิดสุข แต่ถ้าได้มาและ
ไม่ใช้หรือใช้ไปในทางที่ผิดก็จะเป็นโทษก่อนให้เกิดทุกข์เดือดร้อน
จึงสรุปกล่าวได้ว่า ใครก็ตามที่แสวงหาให้ได้มาและเก็บไว้ หรือใช้ไปในที่ผิดนั้นแหละเรียกว่าไม่รู้ในทุกข์ เพราะเท่ากับแสวงหาทุกข์
ก่อนทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่ตน แต่เพราะไม่รู้ในทุกข์ก็อาจจะหลงคิดว่าเป็นสุข เท่ากับรู้สึกว่าเป็นสุขอยู่ในกองทุกข์ เหมือนอย่างแมลงเม่า
ที่โผเข้ากองไฟ
ข้อ ๒ ความไม่รู้ในเหตุเกิดทุกข์?คือ ไม่รู้ว่าข้อนี้เป็นเหตุแห่งทุกข์ ตลอดถึงไม่รู้ว่าข้อนี้เป็นเหตุแห่งสุขที่ตรงกันข้าม จึงไปดำเนิน
ในทางที่เป็นเหตุแห่งทุกข์ ถึงจะปรารถนาสุขแต่ไปดำเนินในทางแห่งทุกข์ก็จะไม่พบสุข จึงเป็นอวิชชา
อีกข้อหนึ่งคู่กับข้อที่ ๑ คือ ข้อที่ ๑ ไม่รู้ในผล ข้อที่ ๒ ไม่รู้ในเหตุ ทั้งสองข้อนี้รวมเป็นความไม่รู้ในสายทุกข์ อะไรเป็นเหตุแห่งทุกข์
อะไรเป็นเหตุแห่งสุข ทุก ๆ คน ย่อมจะคิดหาและย่อมจะพยายามกันอยู่แล้วที่จะปฏิบัติในเหตุแห่งสุขตามที่แต่ละคนเห็น
เช่น ผู้ที่เห็นว่าทรัพย์เป็นเหตุแห่งสุข ก็ขวนขวายเพื่อจะได้ทรัพย์มา ผู้ที่เป็นว่าสิ่งใดอื่นเป็นเหตุแห่งสุข ก็ขวนขวายเพื่อจะได้สิ่งนั้น
นอกจากนี้ เมื่อเห็นว่าการกระทำอันใดหรือทางใดเป็นเหตุแห่งสุข ก็ทำหรือดำเนินในทางนั้น นี้ก็เป็นเรื่องสามัญทั่วไป
แต่ก็น่าจะนึกเข้ามาถึงเหตุภายในที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ คือ ตรัสชี้ระบุว่า ตัณหา คือ ความทะยานอยากเป็นเหตุแห่งทุกข์ ทุจริต
คือ ความประพฤติชั่วทางกาย วาจา ใจ ต่าง ๆ สืบเนื่องมาจากตัณหาทั้งนั้น
ความประพฤติเบียดเบียนกันและกันตั้งแต่ส่วนน้อยจนถึงส่วนใหญ่จึงเกิดจากตัณหาของคนนี้แหละ ฉะนั้น เมื่อยังมีความทะยานอยาก
อยู่ตามธรรมดาของสามัญชน ก็ควรให้อยากไปในทางดี ห้ามความอยากในทางที่ผิด ก็จะลดความทุกข์ลงได้มาก
เพราะจะไม่ต้องไปประพฤติทุจริตต่าง ๆ ด้วยอำนาจของความทะยานอยาก ส่วนผู้ที่ห้ามความทะยานอยากในทางที่ผิดไม่ได้ ดังที่
เรียกว่าเป็นทาสของตัณหาต้องประพฤติทุจริตต่าง ๆ ก็ต้องประสบทุกข์เป็นผล
สิ่งที่ได้มานั้นจะเป็นทรัพย์หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งน้อยหรือมากเพียงไรก็ตาม ย่อมเป็นเหมือนเชื้อที่นำมาสุมไฟคือตัณหา ส่งเสริมไฟคือ
ตัณหาให้กองโตขึ้น กินเชื้อมากขึ้น
คิดดูให้ดีแล้ว จะเห็นว่าเท่ากับป้อนเชื้อให้แก่ไฟ ไม่มีประโยชน์อะไรที่แท้จริงแก่ชีวิต มีแต่ทุกข์โทษเดือดร้อน แต่ก็ยากที่จะมองเห็น
ตัณหาว่าเป็นเหตุแห่งทุกข์เพราะอวิชชามากำบังไว้
ข้อ ๓ ความไม่รู้ในความดับทุกข์?เมื่อยังดับไฟคือตัณหาไม่ได้ ยังป้อนเชื้อให้อยู่เสมอ คือยังทำอะไรไปตามความปรารถนา
ต้องการ ไม่เลือกว่าผิดหรือถูก ต้องการแต่จะให้ได้มาเท่านั้น ก็ยังไม่รู้จักความดับทุกข์
แม้จะเข้าใจว่ามีความสุข เช่น เมื่อได้อะไรมาก็เกิดความสุขโสมนัสเพราะสมปรารถนา และได้ใช้บำรุงความสุขต่าง ๆ แต่พิจารณาดู
ให้ดีแล้ว จะเห็นว่า ความสุขโสมนัสนั้นมีขึ้นประเดี๋ยวหนึ่ง
เช่นเดียวกับเมื่อนำเชื้อใส่ให้ไฟ ๆ ก็กินเชื้อ สว่างโพลงขึ้นครู่หนึ่งแล้วก็ลดความสว่างลงไปตามส่วนแห่งเชื้อที่หมดไป ต้องหาเชื้อ
ใหม่มาให้อีกจึงจะสว่างขึ้นอีก ความสุขโสมนัสก็เช่นนั้น เกิดขึ้นแล้วก็หายไปในเวลาไม่ช้านัก
สิ่งมีอยู่ก็เหมือนกองเถ้าถ่าน ไม่เป็นที่ต้องการของไฟตัณหา เพราะตัณหาต้องการของใหม่ ๆ อีก ส่วนประโยชน์การใช้สอยจริง ๆ
ของแต่ละคนมีไม่เท่าไร เช่น ข้าวที่บริโภค ก็มีปริมาณจำกัด เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย เป็นต้น ก็เช่นเดียวกัน
การแสวงหาเท่าที่ร่างกายต้องการบริโภค ดูก็ไม่เป็นภาระมากมายอะไรนัก แต่ที่เป็นภาระมากก็คือเพื่อให้เป็นที่พอใจ หรือเพื่อเสนอ
สนองตัณหาซึ่งไม่มีเวลาที่จะพอได้ จึงไม่มีโอกาสที่จะได้พบความสุขที่ถาวรที่เป็นความดับทุกข์ได้แท้จริง
อะไรเป็นความดับทุกข์ พระพุทธเจ้าตรัสชี้ระบุไว้ว่า คือความดับตัณหาเสีย เพราะตัณหาเป็นเหตุแห่งทุกข์ เมื่อดับเสียได้ก็เป็นความ
ดับทุกข์ คิดดูง่าย ๆ อย่างสามัญว่า เพียงดับตัณหาชนิดหยาบ ที่เป็นเหตุให้ทำทุจริตได้อย่างเดียว ก็ดับทุกข์ได้มากมาย
สามัญชนดับตัณหาได้เพียงเท่านี้ก็พอสมควร แต่เพราะอวิชชามากำบังจึงไม่รู้ในความดับทุกข์ว่าคือความดับตัณหาเสีย
ข้อ ๔ ไม่รู้ในทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์?เรียกสั้นว่ามรรค?ไม่รู้ในข้อนี้ย่อมเป็นเหตุให้ปฏิบัติไปในทางที่ผิดคือ ในทางก่อทุกข์
แทนที่จะเป็นทางดับทุกข์ พระพุทธเจ้าทรงชี้ระบุไว้ชัดเจนว่า ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์นั้น คือมรรคมีองค์ ๘
ได้แก่ สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ?(สองข้อนี้ย่อลงในปัญญาสิกขา)?สัมมาวาจา เจรจาชอบ สัมมากัมมัน
ตะ การงานชอบ สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ?(สามข้อนี้ย่อลงในศีลสิกขา)
สัมมาวายามะ เพียรพยายามชอบ สัมมาสติ ระลึกชอบ สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ?(สามข้อนี้ย่อลงในจิตตสิกขา)?เมื่อปฏิบัติในทางแห่ง
ตัณหา ซึ่งเป็นทางแห่งทุกข์ แม้จะปรารถนาความสิ้นทุกข์หรือความดับทุกข์ ก็ไม่อาจถึงได้
คนที่ต้องเป็นทุกข์เดือดร้อนต้องประพฤติทุจริตต่าง ๆ แม้จะมีอำนาจทรัพย์บริวาร เป็นต้น มากมายและแทนที่จะมีในทางที่เป็น
ประโยชน์กลับมีในทางที่เป็นโทษ เพราะปฏิบัติไปในทางแห่งตัณหา
เป็นผู้ลุอำนาจแห่งตัณหาหรือเป็นทาสแห่งตัณหานับว่าเป็นอวิชชา ในข้อนี้ซึ่งคู่กับข้อที่ ๓ ไม่รู้ในผล ข้อที่ ๔ ไม่รู้ในเหตุ ทั้งสองข้อนี้
รวมเป็นความไม่รู้ในสายดับทุกข์
ข้อ ๕ ความไม่รู้ในเงื่อนต้นหรือในอดีต
ข้อ ๖ ความไม่รู้ในเงื่อนปลายหรือในอนาคต
ข้อ ๗ ความไม่รู้ในทั้งเงื่อนต้นและเงื่อนปลายหรือ ทั้งอดีตและอนาคต
ข้อ ๘ ความไม่รู้ในธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้น
ทั้ง ๔ ข้อนี้อธิบายรวมกันว่า เหตุและผลทั้งสองสายดังกล่าวใน ๔ ข้อข้างต้นที่เกิดขึ้นเป็นไปอยู่ในทุก ๆ คน ย่อมมีเงื่อนที่จะจับขึ้นมา
พิจารณาให้รู้ได้ เมื่อจับเงื่อนได้ถูกก็จะรู้เหตุและผลได้ถูกต้อง
เงื่อนนั้นเมื่อกล่าวโดยย่อก็มี ๒ คือเงื่อนต้นแลเงื่อนปลาย ถ้าจะชี้ว่าอะไรเป็นเงื่อนเหล่านี้ ก็อาจชี้ได้ว่า ในสายทุกข์ ตัณหาเป็นเงื่อน
ต้นแห่งทุกข์ ส่วนทุกข์ที่เป็นผลเป็นเงื่อนปลาย และถ้าผลนั้นก่อตัณหาให้เกิดขึ้นอีก ผลนั้นก็เป็นเงื่อนต้นขึ้นอีก
เช่น ทรัพย์ที่ได้มาในทางที่ผิดด้วยตัณหา ได้มาแล้วก็เป็นเครื่องยั่วเพิ่มตัณหามากขึ้น ก็กลายเป็นเงื่อนต้นแห่งตัณหาขึ้นอีกได้ ใน
สายดับทุกข์ มรรคมีองค์ ๘ เป็นเงื่อนต้น ความดับทุกข์เป็นเงื่อนปลาย
และความดับทุก์อย่างหนึ่งเป็นเครื่องส่งเสริมให้ปฏบัติในทางดับทุกข์ยิ่งขึ้นไปก็กลายเป็นงื่อนต้นแห่งมรรคที่ยิ่งขึ้นไปได้อีกเหมือน
กัน หรือจะยกกาลเวลาขึ้นมาพิจารณา โดยกำหนดปัจจุบันเป็นหลักก็ได้
คือ จับเงื่อนต้นแต่อดีตสืบไปถึงเงื่อนปลายในอนาคต เหมือนกำลังเดินอยู่ในทางสายยาว ย่อมจะมีข้างหลังที่เดินมาแล้ว มีข้าง
หน้าที่จะเดินต่อไป ตกว่ามีทั้งข้างหลังข้างหน้าต่อไปกัน ฉะนั้นเมื่อไม่รู้ตามข้อ ๕,?๖,?๗ ก็จับเหตุจับผลจับหน้าจับหลังไม่ได้
อีกอย่างหนึ่ง เหตุผลดังกล่าวย่อมเกิดสืบเนื่องกันไปเป็นสาย เหมือนดังทางสายยาวดังกล่าว ทั้งเป็นทางวนเป็นวงกลม เพราะสิ่งที่
เป็นผลย่อมกลับเป็นเหตุ สิ่งที่เป็นเหตุก็กลับเป็นผล เวียนวนกันไปดังเช่นตัวอย่างที่ยกมาข้างต้น
นี้เรียกว่าธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้น ยกตัวอย่างโดยสรุปอีกข้อหนึ่ง คือ วัฏฏะ ที่แปลว่า วน ๓ ได้แก่ กิเลส กรรม วิบาก?(คือผล) ?กิเลสเป็น
เหตุให้ทำกรรม กรรมเป็นเหตุแห่งวิบาก และวิบากก็กลับเป็นเหตุแห่งกิเลสอีก
ก็จับเหตุผลที่เกิดเนื่องกันไปไม่ได้ สิ่งที่ปรากฏขึ้นทุก ๆ อย่าง กล่าวได้ว่าเป็นหตุผลที่เกิดสืบเนื่องกันไปเป็นสาย เช่นสิ่งที่ปรากฏขึ้นที่
เรียกว่าธรรมชาติ เช่น ฝนตก ซึ่งเป็นผลอย่างหนึ่ง ถ้าจะถามว่าอะไรเป็นเหตุให้ฝนตก
ก็พบเหตุผลที่สืบต่อกันไปหลายอย่างเป็นสายต่อเนื่องกัน เหตุผลเหล่านี้ถ้าไม่ต่อเนื่องกันขาดตอนกันเสีย ก็จะไม่เกิดผลที่นับว่าเป็น
เงื่อนปลายคือฝนตก สิ่งที่ปรากฏขึ้นเกี่ยวแก่ธรรมชาติและกรรมของคนประกอบกัน
เช่น ความยากจนของคนส่วนใหญ่ สิ่งที่ปรากฏขึ้นเกี่ยวแก่กรรมของคนโดยตรง เช่น โจรกรรมที่เพิ่มมากขึ้น ทุจริตต่าง ๆ การยกพวก
ตีกันของคนกลุ่มน้อยจนถึงสงครามระหว่างคนกลุ่มใหญ่
ย่อมมีเหตุผลที่สืบต่อกันไปหลายอย่าง ถ้าจับเหตุผลหน้าหลังเงื่อนต้นเงื่อนปลายแต่ละเงื่อนโดยเฉพาะ และที่รวมกันทั้งสองเงื่อน
และที่ต่อเนื่องกันไปเป็นสายไปตลอดสาย ทั้งสายเกิดสายดับ ย่อมสามารถจะแก้ไขได้ถูกต้อง
ถ้าจับเงื่อนทั้งปวงไม่ถูก เพราะไม่รู้ตั้งแต่ข้อ ๕ ถึงข้อ ๘ ก็เป็นอันไม่รู้เหตุผลทั้งสายเกิดทุกข์ ทั้งสายดับทุกข์ ดังกล่าวในข้อ ๑ ถึงข้อ
๔ จะสับสนวุ่นวายจับต้นชนปลายไม่ถูก จะมืดหน้ามืดหลัง จะมืดตลอดสาย จึงไม่อาจจะปฏิบัติเพื่อดับทุกข์เดือดร้อนทั้งปวงได้
สัจจะ คือ สภาพที่จริงดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นรวมลงใน ๘ ข้อนั้น ได้มีอยู่ในทุก ๆ คนนี้เอง เพราะทางแห่งชีวิตที่ทุก ๆ คนดำเนินอยู่
ทุกเวลา ถ้าไม่ดำเนินไปในทางทุกข์ก็ดำเนินไปในทางดับทุกข์
หรืออาจดำเนินไปในทางนี้บ้างทางนั้นบ้าง เป็นสัจจะที่มีอยู่ในตัวบุคคลเอง ถึงตนเองจะไม่รู้ว่าดำเนินไปในทางทุกข์ มีความร่าเริง
สนุกสนานไปในทางนั้นด้วยเข้าใจว่าเป็นทางสุข ก็คงเป็นทางทุกข์อยู่นั่นเอง
เป็นที่น่ากรุณาของผู้รู้ที่ดูอยู่ แต่แม้จะมีผู้กรุณาชี้บอกอยู่สักเท่าไร ดังเช่นพระพุทธเจ้าตรัสบอกทาง เหมือนดังทรงชูดวงประทีปในที่
มืด เพื่อให้ผู้มีจักษุจะได้มองเห็นรูปทั้งหลาย ถ้าตนเองไม่ยอมลืมจักษุขึ้นดู
ประทีปที่ท่านผู้มีเมตตาชูขึ้นให้มองเห็นสิ่งต่าง ๆ ในความมืดก็ไร้ประโยชน์ สำหรับผู้นั้น นี่แหละเรียกว่า?”อันธพาล”?ที่แปลว่าผู้เขลา
เหมือนอย่างบอด เป็นผู้มืดหน้ามืดหลังมืดมามืดไป
บุคคลเช่นนี้ย่อมไม่รู้จักตนเอง ต้องการสมภาพในทางที่ผิด แสดงออกในทางที่ผิด มีความริษยาในความทำดีและในผลดีของผู้อื่น
เป็นต้น แม้จะรักตนก็ทำตนเหมือนอย่างศัตรูของตนเองไม่ต้องกล่าวถึงผู้อื่น เป็นอันตรายแก่ส่วนรวม
ส่วนผู้ที่ยอมดูเข้ามาให้รู้สัจจะในตัวเองคือพยายามอบรมปัญญาในตนเองให้มากขึ้นตามทางที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้ คือศึกษา
ในวิชชาที่ตรงกันข้าม คือ
๑ ความรู้ในทุกข์
๒ ความรู้ในเหตุเกิดทุกข์
๓ ความรู้ในความดับทุกข์
๔ ความรู้ในทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ หรือ มรรค
๕ ความรู้ในเงื่อนต้นหรือในอดีต
๖ ความรู้ในเงื่อนปลายหรืออนาคต
๗ ความรู้ในทั้งเงื่อนต้นและเงื่อนปลาย หรือทั้งอดีตและอนาคต
๘ ความรู้ในธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้นตามความจริงที่มีอยู่ในตนนี้แหละ??
ก็ชื่อว่าได้ศึกษาเพื่อละอวิชชาในตนเอง จะเป็นผู้ที่รู้จักตนเอง จะไม่ต้องการสมภาพในทางที่ผิด จะไม่แสดงออกในทางที่ผิด จะไม่
ริษยาในความทำดีและในผลดีของผู้อื่น จะบรรเทาความเมา ความหลง จะมีความเห็นชอบตามคลองธรรม และตามสัจจะ
ดำรงตนอยู่ในฐานะใดฐานะหนึ่ง ที่เรียกว่า ต่ำหรือสูงในทางโลกก็ตาม จะเป็นผู้ที่ถือเอาและดำเนินทางถูกทางสว่างเสมอ ชื่อว่าเป็นผู้
ปฏิบัติเพื่อความสว่างหน้าสว่างหลังสว่างมาสว่างไป กระทั่งถึงสว่างตลอดสาย
อันอวิชชา คือ ความรู้สัจจะในตนเองนี้ ควรศึกษาอย่างยิ่งตามแนวที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ แม้ดังที่ยกมาอธิบายข้างต้น เมื่อ
ศึกษาจะได้ความรู้ที่สูงขึ้นไปอีกอย่างหนึ่ง เช่นเดียวกับสัจจะในภายนอก
เช่น ความรู้ตามที่มองเห็น ก็เห็นดวงอาทิตย์โคจรจากทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตก?(เรียกอาทิตย์โคจรรอบโลก)?ส่วนความรู้ที่เกิด
จากการศึกษแสดงว่าโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์กลับตรงกันข้าม
สัจจะในภายในก็เช่นเดียวกัน ความรู้ตามที่รู้อย่างผิวเผินว่าอย่างนี้อย่างนั้น แต่เมื่อศึกษาในวิชชาของพระพุทธเจ้า จะได้ความรู้อีก
อย่างหนึ่งที่กลับตรงกันข้าม และจักรู้ว่าความรู้เดิมเป็นอวิชชา คือ รู้ผิดเป็นความหลงเข้าใจผิดเห็นผิด
“โลกอันอวิชชา?คือ ความไม่รู้จริงปิดบังไว้แล้วจึงหลงดุจอยู่ในที่มืด เพราะความอยากมีประการต่าง ๆ??และความประมาทเลินเล่อ จึง
ไม่มีปัญญาเห็นปรากฏ จะมัวร่าเริง จะมัวบันเทิงอะไรกัน ในเมื่อโลกสันนิวาสนี้ถูกไฟกิเลสเผาให้ลุกโพลงอยู่เป็นนิตย์ ท่านทั้งหลาย
ถูกอวิชชาอันทำให้บอดมืดปกคลุมแล้ว เหตุไฉนจึงไม่แสวงหาดวงประทีปเล่า”
(พระพุทธภาษิตในโสฬสปัญหาและธรรมบท)
คัดลอกจากหนังสือชุดรวมธรรมะ
http://www.watpanonvivek.com/index.php/section-table/2012-07-14-12-23-28/2196-2010-05-14-16-45-27