ท่านพุทธทาส ประวัติท่านพุทธทาสภิกขุ

พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินทปัญโญ) หรือรู้จักในนาม พุทธทาสภิกขุ (27 พฤษภาคม พ.ศ. 2449 — 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2536) เป็นชาวอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2449 เริ่มบวชเรียนเมื่ออายุได้ 20 ปี ที่วัดบ้านเกิด จากนั้นได้เข้ามาศึกษาพระธรรมวินัยต่อที่กรุงเทพมหานคร จนสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค แต่แล้วท่านพุทธทาสภิกขุก็พบว่าสังคมพระพุทธศาสนาแบบที่เป็นอยู่ในขณะนั้นแปดเปื้อนเบือนบิดไปมาก และไม่อาจทำให้เข้าถึงหัวใจของพระพุทธศาสนาได้เลย ท่านจึงตัดสินใจหันหลังกลับมาปฏิบัติธรรมที่อำเภอไชยา ซึ่งเป็นภูมิลำเนาเดิมของท่านอีกครั้ง พร้อมปวารณาตนเองเป็น พุทธทาส เนื่องจากต้องการถวายตัวรับใช้พระพุทธศาสนาให้ถึงที่สุด

ผลงานเด่นของทาสพุทธทาสคืองานหนังสือ อาทิ หนังสือพุทธธรรม, ตามรอยพระอรหันต์ และคู่มือมนุษย์ และเป็นสงฆ์ไทยรูปแรกที่บุกเบิกการใช้โสตทัศนูปกรณ์สมัยใหม่สำหรับการเผยแพร่ธรรมะ และท่านมีสหายธรรมคนสำคัญ คือ ปัญญานันทภิกขุ แห่งวัดชลประทานรังสฤษฎ์ และ ท่าน บ.ช. เขมาภิรัตน์

ท่านพุทธทาสภิกขุมีนามเดิมว่า เงื่อม พานิช เกิดเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 7 ปีมะเมีย หรือวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2449 ในสกุลของพ่อค้า ที่ตลาดพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ท่านพุทธทาสภิกขุเกิดในช่วงเวลาปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นพุมเรียงยังเป็นที่ตั้งของตัวเมืองไชยา หรือจังหวัดไชยา ก่อนที่จะกลายมาเป็นจังหวัดสุราษฎร์ธานีในปัจจุบัน

บิดาของท่านพุทธทาสภิกขุชื่อ เซี้ยง พานิช ประกอบอาชีพหลักคือการค้าขายของชำ บิดาของท่านพุทธทาสภิกขุมีเชื้อสายจีน เนื่องจากปู่ของท่านพุทธทาสภิกขุอพยพจากมณฑลฮกเกี้ยนในประเทศจีน มาเป็นช่างเขียนภาพสีบนกระจกที่เมืองไชยา ย่าของท่านพุทธทาสภิกขุชื่อส้มจีน ซึ่งเชื้อสายของย่าอพยพจากอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช มาอยู่เมืองไชยาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เดิมบิดาของท่านพุทธทาสภิกขุใช้แซ่โข่วหรือข่อ (หรือโค้ว ในสำเนียงแต้จิ๋ว) ต่อมาเมื่อมีพระราชบัญญัตินามสกุลในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทางราชการจึงเปลี่ยนนามสกุลของบิดาท่านเป็น พานิช เพราะตอนนั้นมีเพียงครอบครัวของท่านเท่านั้นที่ทำการค้าขาย

งานอดิเรกที่รักยิ่งของบิดาท่านพุทธทาสภิกขุคืองานด้านช่างไม้ โดยในเวลาว่าง บิดาของท่านพุทธทาสภิกขุจะทำการต่อเรือไม้เป็นอาชีพเสริม ซึ่งทำให้ท่านพุทธทาสภิกขุสนใจ และชอบในงานด้านนี้ไปด้วย แม้ที่สวนโมกขพลาราม งานไม้ส่วนใหญ่ก็เกิดจากการทำกันเองของคณะสงฆ์ นอกจากนี้ บิดาของท่านพุทธทาสภิกขุยังมีความสามารถในทางกวี ซึ่งความสามารถด้านนี้ส่งอิทธิพลต่อท่านพุทธทาสภิกขุเป็นอย่างมาก โดยผลงานธรรมะของท่านพุทธทาสภิกขุส่วนหนึ่งได้ประพันธ์ไว้ในรูปร้อยกรอง ซึ่งมีความไพเราะ และดึงดูดใจให้คนทั้งหลายเข้าถึงเนื้อหาธรรมะได้ง่ายขึ้น

มารดาของท่านพุทธทาสภิกขุชื่อ เคลื่อน พานิช เกิดที่อำเภอท่าฉาง ตาของท่านพุทธทาสภิกขุชื่อเล่ง มียศเป็นขุนสิทธิสาร ปกครองหัวเมืองกระแดะ หรืออำเภอกาญจนดิษฐ์ในปัจจุบัน ครอบครัวของตายายมีความมั่นคงในพระพุทธศาสนา และมีการปฏิบัติสมาธิภาวนากันภายในบ้านเรือน ทำให้มารดาของท่านพุทธทาสภิกขุใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนามาตั้งแต่เด็ก ซึ่งความศรัทธาในพระพุทธศาสนานี้ได้ส่งต่อมาที่บุตร และหล่อหลอมให้เด็กชายเงื่อม พานิช กลายเป็นท่านพุทธทาสภิกขุในเวลาต่อมา

ท่านพุทธทาสภิกขุมีน้องสองคน ซึ่งมีอายุห่างจากท่านพุทธทาสภิกขุ 3 ปี และ 6 ปี ตามลำดับ น้องคนโตเป็นชาย ชื่อ ยี่เกย พานิช ซึ่งภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น ธรรมทาส พานิช และได้เป็นกำลังหลักของคณะธรรมทานในการเผยแพร่พระพุทธศาสนา และสนองงานของท่านพุทธทาสภิกขุ ส่วนน้องสาวคนสุดท้องของท่านพุทธทาสภิกขุชื่อ กิมซ้อย พานิช ซึ่งภายหลังแต่งงานไปอยู่บ้านดอน[2] และใช้นามสกุลสามีว่า เหมะกุล

เมื่ออายุได้ 8 ขวบ บิดามารดาได้พาท่านพุทธทาสภิกขุไปฝากตัวเป็นเด็กวัดที่วัดพุมเรียง หรือวัดใหม่ ซึ่งเป็นวัดที่คนในสกุลพานิชเคยบวชสืบต่อกันมา โดยในสมัยก่อนที่จะมีโรงเรียนนั้น พ่อแม่มักจะให้ลูกชายได้อยู่ที่วัด เพื่อที่จะให้ได้รับการศึกษาขั้นต้นตามแบบโบราณ รวมทั้งจะได้มีการคุ้นเคยกับพระพุทธศาสนา และได้ฝึกหัดการอาชีพต่างๆ ท่านพุทธทาสภิกขุเล่าถึงชีวิตช่วงที่ตนเองอยู่วัดเอาไว้ว่า

ผมออกจากบ้านไปอยู่วัดเมื่ออายุ 8-9-10 เรียนหนังสือ ก ข ก กา กระทั่ง มูลบทบรรพกิจกันที่วัด อายุ 11 ปีได้เวลาไปโรงเรียนแล้วถึงกลับมาอยู่บ้าน สมัยก่อนมันเป็นธรรมเนียมเด็กชายต้องอยู่วัดกันทั้งนั้น แต่ละวัดมีเด็กเป็นฝูง จะไปอยู่วัดก็มีดอกไม้ธูปเทียนไปฝากตัวเป็นศิษย์พระ ทางวัดเขาก็จะมอบหน้าที่ให้อาจารย์องค์หนึ่งหรือสององค์ให้คอยดูแลเรื่องอาหารการกิน คอยควบคุมให้เด็กมันได้กินกันเป็นระเบียบเรียบร้อย แล้วให้มันได้เรียนหนังสือ ได้รับการอบรมอะไรบ้าง ในเรื่องไหว้พระสวดมนต์ เรื่องอุปัฏฐากพระ เป็นเวรผลัดกันตักน้ำ ขาดไม่ได้ ทำสวนครัวริมสระ ยกร่องปลูกมัน ทำกันทั้งนั้น อาหารนั้นข้าวก็ได้จากบิณฑบาต ส่วนแกงนี่ทางบ้านเขาจะส่งเป็นหม้อเขียว ๆ ของบ้านใครเด็กคนนั้นก็ไปเอามา หม้อแกงจึงมีมาก ข้าวก็พอฉัน แกงก็พอ บ้านพุมเรียง ข้าวปลามันอุดมสมบูรณ์ [3]

การได้อยู่วัดทำให้ความรู้เรื่องยาโบราณและยาสมุนไพรของท่านพุทธทาสภิกขุกว้างขวางขึ้น นอกจากนี้ท่านยังได้ถูกหัดให้ชกมวย เนื่องจากเมืองไชยาเป็นแหล่งมวยที่มีชื่อเสียง ส่วนการละเล่นของเด็กวัดก็เป็นการละเล่นทั่วไป มีการละเล่นหนึ่งที่เด็กวัดจะนั่งรวมกลุ่มแล้วผลัดกันเล่าเรื่อง ซึ่งต้องเล่าให้ดี มิฉะนั้นจะถูกติถูกค้าน เรื่องนี้ท่านพุทธทาสภิกขุเล่าไว้ว่า

คือพอมานั่งรวมกลุ่มกัน ไอ้เด็กคนที่เป็นหัวโจกหน่อย มันก็จะตั้งประเด็นขึ้น เช่น เอ้าวันนี้ เรามาพูดเรื่องหุงข้าว ใครจะเล่าก่อน ส่วนมากพวกที่อาสาก่อนมันก็จะเป็นพวกที่ฉลาดน้อยกว่าคนอื่น มันก็ต้องเล่าวิธีที่หุงข้าวว่าทำอย่างไร เด็กทั้งหลายก็คอยฟัง ถ้าคนเริ่มต้นมันเป็นคนโง่ๆ หน่อย มันอาจจะเริ่มต้นว่า “กูก็เอาข้าวสารใส่หม้อ ตั้งบนไฟ” เด็กนอกนั้นมันก็จะชวนกันค้านว่า “มึงยังไม่ได้เข้าไปในครัวสักที จะทำได้ยังไงล่ะ” อย่างนี้เป็นต้น หรืออาจจะมีสอดว่า “มึงยังไม่ได้ก่อไฟสักที” ถ้ามีช่องให้ซักค้านได้มาก ๆ มันก็ต้องให้คนอื่นเป็นคนเล่า เวลาถูกค้านได้ทีก็จะเฮกันที มันอาจจะละเอียดถึงขั้นว่ายังไม่ได้เปิดประตูแล้วจะเข้าไปในครัวได้อย่างไร หรือยังไม่ได้หยิบขันมันจะตักน้ำได้อย่างไร อย่างนี้เป็นต้น ในที่สุดมันจะต้องได้เล่าถึงขั้นตอนทุกขั้นตอน จนไม่มีอะไรบกพร่อง เหมือนกับการบรรยายของนักประพันธ์ละเอียดถี่ยิบไปหมด เพราะคนค้านมันมีมาก มันก็ค้านได้มาก มันเป็นการฝึกความละเอียดลออถี่ถ้วน ฝึกการใช้ลอจิก คนฉลาดมันมักจะเป็นคนเล่าคนหลังๆ ที่สามารถเล่าได้ละเอียดโดยไม่มีใครค้านได้[3]

เมื่ออายุได้ 11 ขวบ ท่านพุทธทาสภิกขุได้กลับมาอยู่ที่บ้าน และเข้าเรียนที่วัดโพธาราม หรือวัดเหนือ โรงเรียนในวัดนี้เป็นโรงเรียนแผนใหม่ ซึ่งใช้หลักสูตรที่ปรับปรุงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยในสมัยนั้นมีการเกณฑ์พระจากทั่วประเทศไปอบรมครูที่วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ ก่อนที่จะกลับมาสอนยังท้องถิ่นเดิมของตน ที่วัดโพธาราม มีครูที่ไปอบรมในครั้งนั้นชื่อครูวัลย์ จากนั้นก็สืบต่อมายัง ครูทับ สุวรรณ และท่านพุทธทาสภิกขุก็ได้เล่าเรียนกับครูผู้นี้

ท่านพุทธทาสภิกขุเรียนชั้นประถมที่วัดโพธาราม จากนั้นก็ย้ายมาเรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนสารภีอุทิศ ซึ่งอยู่ในตลาดไชยา ทำให้ท่านพุทธทาสภิกขุต้องจากบ้านที่พุมเรียงมาพักอยู่กับบิดา ซึ่งได้เปิดร้านค้าอีกแห่งเพื่อขายข้าวเปลือกที่ตลาดไชยานี้ บางครั้ง ท่านพุทธทาสภิกขุต้องรับหน้าที่ลำเลียงสินค้าจากบ้านที่ไชยาไปบ้านที่พุมเรียง เรื่องนี้ท่านพุทธทาสภิกขุกล่าวไว้ว่า

ขาย 2 ร้าน ต้องมีเกวียน ผมต้องขับเกวียนบ้าง ต้องเลี้ยงวัวบ้าง แต่เขาก็มีผู้ใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่เลี้ยงวัวขับเกวียนนะ แต่บางทีผมแทรกแซง นี่สนุกไปเลี้ยงวัวแถบทางรถไฟนี่สนุก รื้อก้อนหินทางรถไฟ หาจิ้งหรีดอยู่ใต้นั้น มันชุม ให้วัวกินหญ้าไปพลางอยู่ที่ทางรถไฟตรงที่เอียง ๆ ลงมา ความจริงเขาห้าม ผิดระเบียบ เราก็ทำไม่รู้ไม่ชี้ เพราะหญ้ามันมี วัวมันชอบกินหญ้าแถวนั้น บางทีมันก็ขึ้นไปกินข้างบนๆ ต้องไล่ลง เจ้าหน้าที่เขาจะดุ ถ้าเลี่ยงลงมาช้าๆ เขาไม่ดุ ถ้าผู้ใหญ่ที่เป็นคนเลี้ยงโดยตรงไม่ไป เราก็ดูให้จนเย็น หมดเวลาเขาจึงมารับเอากลับไป[3]

แต่แล้วบิดาของท่านพุทธทาสภิกขุก็ได้เสียชีวิตไปในช่วงที่ท่านพุทธทาสภิกขุเรียนหนังสืออยู่ชั้น ม. 3 เมื่อจบชั้น ม. 3 ท่านพุทธทาสภิกขุจึงต้องออกจากโรงเรียนมาช่วยมารดาทำการค้าขาย และส่งน้องชาย ซึ่งในขณะนั้นเป็นสามเณรยี่เกย ให้มีโอกาสได้เรียนที่โรงเรียนประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี

การช่วยทางบ้านเป็นงานที่หนัก แต่บางครั้งท่านพุทธทาสภิกขุก็พักผ่อนหย่อนใจด้วยการออกหาอาหารทะเล การเลี้ยงปลากัด และการฝึกดนตรี แม้มารดาของท่านจะถือว่าดนตรีเป็นของไม่ดีก็ตาม ในส่วนของการเลี้ยงปลากัดนั้น ท่านพุทธทาสภิกขุทำได้ดีถึงขนาดนักเลงปลากัดได้มาแอบขโมยเอาปลากัดของท่านไป ท่านพุทธทาสภิกขุพูดถึงเรื่องเหล่านี้เอาไว้ว่า

ผมไม่เพียงแต่ขายของ เป็นกรรมกรด้วย แบกของไปส่งตามบ้านเขา อย่างบ้านข้าราชการนี่เขาซื้อน้ำมันก๊าดปี๊บหนึ่งนี่ เราก็ต้องแบกไปส่งให้ ไม่มีลูกจ้าง ไม่มีรถรา มันก็ยุ่ง ทำงานหนักด้วย กระทั่งต้องผ่าฟืนทั้งหมดที่ใช้ในบ้าน อย่างโยมเขาซื้อไม้โกงกางมาทั้งลำเรือ เราต้องเลื่อยให้มันเป็นท่อน แล้วผ่าจนหมด จนเก็บไว้ใต้ถุนบ้านเสร็จ ผ่าไม้โกงกางนี่ก็สนุก มันกรอบ เอาขวานแตะมันกระเด็นออกไป หรือบางทีเอาขวานวางหงาย เอาไม้ซัดลงไปมันก็แตก มันก็สนุก…

บางเวลาขอยืมอวนที่โรงโป๊ะนั่นเอง เพื่อลากปลาตรงโรงโป๊ะ ลากขึ้นมาบนหาดทรายครั้งเดียวกินไม่ไหว มีครบ ปูม้าก็มี ปลาหมึกก็มี ปลาอะไรก็มี มีหลายอย่าง ปลาหมึกแบบกระดองแข็ง ที่เขาเอามาทำยาสีฟันผงหมึกก็มี ชนิดกระดองแข็งนะ เอามาต้มทั้งเป็นๆ มันกรอบไม่น่าเชื่อเลย กรอบเกือบเท่าลูกสาลี่กรอบ กรอบกร้วมเลย กินโดยไม่ต้องมีน้ำจิ้มก็อร่อย กินปลาหมึกกับกาแฟก็ยังได้…

ผมมีวิธีชนิดที่ทำให้ปลากัดเก่งไม่มีใครสู้ได้ ตัวไหนเลือกดูให้ดี ดูมันแข็งแรงอ้วนท้วนดี เอาใส่ลงในบ่อกลม ๆ แล้วเอาตัวเมียใส่ขวดแก้วผูกเชือกแล้วหย่อนลงไป พอไอ้ตัวผู้เห็น มันวิ่งเลย วิ่งรอบบ่อ มันยิ่งกว่าออกกำลัง ทำไป 3-4 วันเท่านั้นตัวก็ล่ำ ตาเขียว ครีบหนา กัดมือเอาเลยถ้าไปจับ อย่างนี้ถ้าเอาไปกัดชนะแน่ มีนักเลงปลากัดมาลักเอาของเราไป ผมมาเห็นเอ๊ะ ปลาตัวนี้หายไป ตัวอื่นมาแทน ผมถามว่าใครมาที่นี่ โยมบอกชื่อว่าคนนั้นๆ ซึ่งเป็นนักกัดปลาอาชีพ เขามาขโมยเปลี่ยนของเราไป เอาไปกัดแล้วชนะจริงๆ…

อีกอย่างที่ผมชอบเป็นชีวิตจิตใจ แต่ไม่มีโอกาสฝึกก็คือดนตรี มันชอบเอง นายธรรมทาสเขาไม่ชอบเลย รู้สึกจะเกลียดเสียด้วยซ้ำ แต่ผมนี้ชอบดนตรี ชอบเพลง อย่างเรียกว่าสุดเหวี่ยงเลย แต่โยมห้าม ไม่ให้เอาเครื่องดนตรีขึ้นไปบนเรือน ผมจึงไม่ค่อยได้หัด มีบ้านที่เขาหัด เราก็ลองไปดูไปหัด ผมชอบง่ายๆ ชอบขลุ่ย ชอบออแกนที่โยกด้วยมือ มันง่าย มันเป็นนิ้วเป็นโน้ต ถ้าเราร้องเพลงอะไรได้ เราก็ทำเสียงอย่างนั้นได้ แต่ฝึกไม่ได้ เพราะมันอยู่ที่โยม ต้องเอาไปคืนเจ้าของ[3]

ในสมัยก่อนที่ท่านพุทธทาสภิกขุจะมีอายุครบบวชนั้น วงการศาสนาท้องถิ่นในพุมเรียงกำลังตื่นเต้นกับการศึกษานักธรรม ซึ่งเป็นการศึกษาธรรมะแบบใหม่ที่พระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงดำริให้มีขึ้น ท่านพุทธทาสภิกขุในสมัยนั้นก็ค้นคว้าหาหนังสือนักธรรมตรี โท เอก รวมทั้งหนังสือพระอภิธรรมมาอ่าน แล้วอาศัยบ้านของตนเองเป็นเวทีสังกัจฉา คอยพูดคุยตอบโต้ปัญหาธรรมะกับผู้อื่นในละแวกเดียวกัน ซึ่งถึงแม้ท่านพุทธทาสภิกขุจะยังมีอายุน้อย แต่ก็เชี่ยวชาญและฉะฉานในข้อธรรมจนผู้ที่มาคุยด้วยต่างยอมรับ ในเรื่องนี้ท่านพุทธทาสภิกขุได้พูดเอาไว้ว่า

เรื่องคุยธรรมะนี่ ผมทำตัวเป็นอาจารย์ธรรมะกลายๆ ตอนเช้าก็มีคนมาคุยธรรมะ เราต้องโต้ต้องสู้ ข้าราชการคนหนึ่งเข้าอยู่ทางฝ่ายนี้ เขาก็ต้องเดินผ่านที่ร้าน เราไปทำงานยังที่ทำการ แล้วก็ยังมีคนอื่นอีก แถวๆ นั้นที่เป็นญาติๆ กัน ถ้าเห็นตาคนนี้มาเขาจะมาดักเย้าธรรมะกัน กว่าแกจะหลุดไปทำงานก็เป็นชั่วโมง แล้วก็มาที่บ้านเราด้วย ผมต้องซื้อหนังสือนักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก อภิธรรมอะไรนี่มาอ่าน ตอนนั้นเรายังเป็นเด็กกว่าเขาเพื่อน ส่วนใหญ่เขาคนแก่ทั้งนั้น แต่เรามักพูดได้ถูกกว่า เพราะเรามีหนังสืออ่าน เขามันพูดตามข้อสันนิษฐาน มันก็สนุกกับการได้พูดให้คนอื่นฟัง ถ้าว่ากันถึงการเรียนธรรมะ นี่มันเรียนมาก่อนบวช เมื่อบวชก็เกือบจะไม่ต้องเรียนอีกแล้ว ขนาดนักธรรมตรี เกือบจะไม่ต้องเรียนเพราะเคยอ่านมาโต้กันก่อน[3]

เกียรติคุณ ท่านพุทธทาส

ท่านพุทธทาสภิกขุได้รับสมณศักดิ์ตามลำดับ ดังนี้

พ.ศ. 2469     พระเงื่อม
พ.ศ. 2473     พระมหาเงื่อม
พ.ศ. 2489     พระครูอินทปัญญาจารย์
พ.ศ. 2493     พระอริยนันทมุนี พระราชาคณะชั้นสามัญ
พ.ศ. 2500     พระราชชัยกวี พระราชาคณะชั้นราช
พ.ศ. 2514     พระเทพวิสุทธิเมธี พระราชาคณะชั้นเทพ
พ.ศ. 2530     พระธรรมโกศาจารย์ พระราชาคณะชั้นธรรม

ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

ท่านพุทธทาสภิกขุได้รับการถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ในสาขาต่างๆ จากสถาบันต่างๆ ดังนี้

8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522     พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2528     อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาปรัชญาและศาสนา จากมหาวิทยาลัยศิลปากร
3 ธันวาคม พ.ศ. 2528     ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง
1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530     ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาครุศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
16 กรกฎาคม พ.ศ. 2530     ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาปรัชญา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2533     ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาพัฒนศึกษาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536     ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อื่นๆ

นอกจากสมณศักดิ์และปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แล้ว ท่านพุทธทาสภิกขุยังได้รับการยกย่องจากองค์กรต่างๆ ดังนี้

พ.ศ. 2508 หนังสือแก่นพุทธศาสน์ ได้รับรางวัลชนะเลิศ หนังสือดีประจำปี พ.ศ. 2508 จากองค์การยูเนสโก
พ.ศ. 2527 ได้รับคัดเลือกเป็นบุคคลทำประโยชน์ฝ่ายบรรพชิตเนื่องในโอกาสสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ได้รับรางวัลเป็นสัญลักษณ์เสาอโศก และเงินสดจำนวน 10,000 บาท
พ.ศ. 2537 คุรุสภาประกาศยกย่องเชิดชูว่าเป็นผู้ทำคุณประโยชน์อย่างสูงยิ่งต่อการศึกษาชาติ เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี กระทรวงศึกษาธิการ
20 ตุลาคม พ.ศ. 2548 องค์การยูเนสโก ประกาศยกย่องให้ท่านพุทธทาสภิกขุเป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านส่งเสริมขันติธรรม สันติธรรม วัฒนธรรม ความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีของมวลมนุษย์
พ.ศ. 2549 รัฐบาลไทย รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ ได้พร้อมใจกันจัดกิจกรรมทางธรรมะเนื่องในโอกาสรำลึกครบรอบ 100 ปี ชาตกาล ท่านพุทธทาสภิกขุ

ท่านพุทธทาสมีผลงานที่เรียบเรียงเป็นหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก อาทิเช่น (เรียงลำดับตามตัวอักษร)

แก่นพุทธศาสน์
คู่มือมนุษย์
ตัวกูของกู ฉบับย่อความ
ธรรมโฆษณ์ รายละเอียด
ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์
พระพุทธเจ้าสอนอะไร
พุทธประวัติจากพระโอษฐ์
ภาษาคน-ภาษาธรรม
หนังสือพิมพ์พุทธสาสนา
อิทัปปัจจยตา (100 หนังสือดีที่คนไทยควรอ่าน)

. . . . . . .