พบพระบรมสารีริกธาตุ และสมบัติของพระนางเจ้าจามเทวี
วีรกษัตรีย์แห่งนครหริภุญชัย
เมื่อครูบาเจ้าชุ่ม ได้จัดที่พำนักเรียบร้อยแล้ว ก็เริ่มงานบูรณะองค์พระเจดีย์ทันที โดยมีศรัทธาชาวบ้านมาร่วมด้วยเต็มกำลัง ในขณะที่ดำเนินการขุดวางฐานรากขององค์พระเจดีย์ใหม่ ท่านได้พบศิลาจารึกมีใจความว่า “องค์พระเจดีย์นี้พระนางจามเทวีเป็นผู้สร้าง และจะมีพระสงฆ์ 3 รูป มาบูรณะต่อเติม” ครูบาเจ้าชุ่มได้สอบถามชาวบ้านดูได้ความว่า ในอดีตได้มีพระมาบูรณะพระเจดีย์นี้แล้ว 2 องค์ ท่านครูบาเจ้าชุ่มเป็นองค์ที่ 3
หลังจากนั้น ชาวบ้านจึงได้ทำการขุดลงไปใต้ฐานพระเจดีย์ ได้พบไหซองใบใหญ่หนึ่งใบ ปิดปากอย่างแน่นหนา ครูบาเจ้าชุ่มจึงสั่งให้ชาวบ้านนำขึ้นมาเก็บไว้ก่อน แล้วจึงเชิญกำนันผู้ใหญ่บ้านหนองหล่มมาร่วมเป็นสักขีพยานในการเปิดออกดู ปรากฏว่าภายในมีแต่เบี้ย (เงินโบราณ) ทั้งนั้น ครูบาชุ่มจึงได้สั่งให้ปิดปากไหตามเดิม
เมื่อทำการขุดต่อไปอีก ได้พบผอบทองคำ ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า พระพุทธรูป และของมีค่า แก้วแหวนเงินทองต่างๆ อีกมากมาย เมื่อก่อฐานพระเจดีย์เสร็จแล้ว ท่านครูบาเจ้าชุ่มได้บอกชาวบ้านให้เทปูนซีเมนต์ปิดทับฝังทุกอย่างไว้ตามเดิมให้แน่นหนา การบูรณะครั้งนี้ใช้เวลา 3 เดือนเศษจึงแล้วเสร็จ จากนั้นท่านได้ให้ชาวบ้านสร้างศาลาขึ้น 1 หลังในบริเวณเดียวกับองค์พระบรมธาตุเจดีย์ด้วย
อาจจะด้วยวิสัยแห่งความเป็นพุทธภูมิมาแต่ดั้งเดิม ครูบาเจ้าชุ่มจึงทำประโยชน์ไว้ในร่มเงาแห่งพระพุทธศาสนาอย่างถึงที่สุด แม้จะละวางภารกิจบางประการแล้ว แต่ภารกิจเพื่อพระพุทธศาสนา ท่านมิอาจวางเฉยได้ แม้ตั้งใจเดินธุดงค์ไปยังจุดหมายหนึ่ง แต่ก็อดมิได้ที่จะแผ่บารมี สร้าง-บูรณะ ศาสนสถานในระหว่างทาง ซึ่งเมื่อท่านดำเนินการสำเร็จลง ท่านก็ได้ละวาง โดยมอบหมายงานดูแลองค์พระบรมธาตุไว้แก่คณะกรรมการชาวบ้านต่อไป
การเดินทางในครั้งนี้ ท่านตั้งใจจะไปนมัสการพระบรมธาตุดอยตุง โดยเดินทางไปตามเส้นทางอำเภอเวียงป่าเป้า จึงได้เดินทางตัดเข้าสู่แนวป่าใหญ่อย่างเร่งรีบ หวังเดินทางให้ไกลที่สุดในวันนี้ ได้เท่าไหนก็เอา ทางใดผ่านหน้าผาใหญ่สูงชัน ไม่สามารถผ่านไปได้ ก็เดินตัดออกด้านข้างยึดแนวลำธารเป็นเส้นทางในการเดิน
ครั้งนี้มีสามเณรขอเดินทางไปด้วย 2 รูป และศรัทธาผ้าขาวอีก 1 คน โดยครูบาเจ้าชุ่มอนุญาตให้ติดตามไปด้วย แต่ขอให้ติดตามท่าน อย่าให้คลาดสายตา และสั่งสอนให้ผู้ติดตามเจริญพรหมวิหารสี่ แผ่เมตตาไปไม่มีประมาณ ไม่มีสิ้นสุด ให้แก่สัตว์โลกผู้เวียนว่ายตายเกิดด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น การเดินธุดงค์ในป่านั้น นอกจากต้องทำจิตใจสงบและเยือกเย็นแล้ว การภาวนาและสติก็สำคัญ ต้องมีสติสำรวมระวังอย่างรอบคอบ มิเช่นนั้นอาจพลั้งพลาดบาดเจ็บล้มตายได้ แต่ท่านเองได้มอบกายถวายชีวิตแด่องค์พระบรมครูแล้ว จึงไม่เสียดายในชีวิตนี้ ยอมตายในการทำความดีเพื่อพระพุทธศาสนาทุกเมื่อ ถือว่าได้แสดงความกตัญญูแด่องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์อย่างแท้จริง
http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/kb-choom-photigo/kb-choom-hist-01-01.htm