สถานปฏิบัติธรรม-มณฑป หลวงพ่อเกษมเขมโก(สำนักสงฆ์สุสานไตรลักษณ์) จังหวัดลำปาง

สถานปฏิบัติธรรม-มณฑป หลวงพ่อเกษมเขมโก(สำนักสงฆ์สุสานไตรลักษณ์) จังหวัดลำปาง

เมืองลำปางแห่งนี้เคยมีพระอาจารย์เกจิชื่อดัง ที่มีชื่อเสียงในด้านต่างๆ ถึงแม้ว่าท่านจะล่วงลับไปแล้วแต่ชื่อเสียงของท่านก็ยังคงอยู่ ประจำเมืองนครลำปางแห่งนี้อยู่ไม่เสื่อมคลาย พระอาจารย์ท่านนั้นคือ หลวงพ่อเกษมเขมโก ท่านมีนามเดิมว่า เกษม มณีอรุณ เกิดเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2455 ณ บ้านท่าเก๊าม่วง ริมแม่น้ำวัง อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ท่านเป็นบุตรของเจ้าน้อยหนู และเจ้าแม่จ้อน ณ ลำปาง

หลวงพ่อเกษมเขมโก ท่านมรณภาพเมื่อ พ.ศ.2538 และเก็บศพไว้ที่สำนักสงฆ์สุสานไตรลักษณ์ ในปัจจุบันสถานปฏิบัติธรรม-มณฑป หลวงพ่อเกษม เขมโก สำนักสุสานไตรลักษณ์ ตั้งอยู่ชานเมืองลำปาง ตามทางสายลำปาง-แจ้ห่มประมาณ 1 กิโลเมตร ไปเส้นทางเดียวกับวัดเจดีย์ซาวหลัง แต่ถึงก่อนประมาณ 500 เมตร เมื่อไปถึงจะพบรูปปั้นหลวงพ่อเกษมขนาดใหญ่ที่สังเกตเห็นได้จากถนน ภายในบริเวณมีมณฑปลักษณะเป็นอาคารทรงไทยประยุกต์ มีรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งของหลวงพ่อเกษม เขมโก เกจิอาจารย์ซึ่งมีผู้เคารพนับถือเป็นจำนวนมาก นั่งขัดสมาธิขนาดเท่ารูปจริง เพื่อให้ประชาชนเคารพสักการะ และบริเวณหน้ามณฑปมีสถานที่เช่าพระเครื่อง ส่วนกุฏิของหลวงพ่อเกษมอยู่ด้านข้างมณฑป

ประวัติของหลวงพ่อเกษมเขมโก ชีวิตช่วงก่อนบวชได้เรียนที่โรงเรียนบุญทวงศ์อนุกูล จนจบชั้นประถมปีที่ 5 การศึกษาสามัญ ปี พ.ศ. 2466 แล้วบรรพชาเป็นครั้งแรก โดยการบวชหน้าไฟ อายุได้ 12 ปี เมื่ออายุได้ 15 ปี บรรพชาเป็นสามเณรจำพรรษาที่วัดบุญยืน จนกระทั่งอายุได้ 21 ปีจึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อ พ.ศ. 2475 โดยท่านเจ้าคุณพระธรรมจินดานายก เจ้าคณะจังหวัดลำปาง เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากการอุปสมบทแล้ว ท่านได้เข้าเรียนภาษาบาลีและปริยัติธรรมจากสำนักวัดศรีล้อม วัดบุญวาทย์วิหาร วัดเชตวันและวัดเชียงราย ในจังหวัดลำปาง ท่านสอบได้นักธรรมเอก ในพ.ศ.2479 ขณะนั้นอายุได้ 24 ปี และได้เรียนวิปัสสนากรรมฐานกับครูบาแก่น (พระอุบล สุมโน) อดีตเจ้าอาวาสวัดประตูป่อง ลำปาง ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดบุญยืนจนถึง พ.ศ. 2492 จึงได้ยื่นใบลาออกจากเจ้าอาวาส เพราะหลวงพ่อเกษมชอบความวิเวก จึงอาศัยอยู่ที่ศาลาวังทาน จากนั้นจึงย้ายไปอยู่ที่ป่าช้าแม่อาง แล้วกลับมาบำเพ็ญภาวนาที่ป่าช้าศาลาวังทานได้พรรษาหนึ่งก็ไปอยู่ป่าช้าบ้านนาป้อและกลับมาอยู่ประตูม่าห์ (ประตูม้า-สุสานไตรลักษณ์ปัจจุบัน) ท่านอยู่ประตูม่าห์ในระยะหนึ่ง เจ้าคุณวัดเชียงรายได้มานิมนต์ให้ไปอยู่ที่วัดม่อนพยาแช่เพื่อนั่งหนักบูรณปฏิสังขรณ์ศาสนวัตถุ การพัฒนาวัดต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก จึงได้มีการจัดทำเหรียญของท่านให้สาธารณชนบูชา เสนาสนะต่างๆ ที่สร้างด้วยเงินบูชาวัตถุมงคลของหลวงพ่อเกษม มีจำนวนมาก เช่น กุฏิสงฆ์หอฉัน ห้องน้ำ-ส้วม แท็งก์เก็บน้ำฝน ศาลาจักรีวังสานุสรณ์ฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ห้องเก็บของกำแพงกั้นดินข้างห้วยและใน พ.ศ.2529 ได้จัดตั้งมูลนิธิการศึกษาหลวงพ่อเกษมเขมโก เพื่อช่วยเหลือเด็กในด้านการศึกษา

นอกจากนี้จังหวัดลำปางยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกมากมาย ให้นักท่องเที่ยวได้มาเที่ยวชม อาทิเช่น รถม้าลำปาง, วัดพระแก้วดอนเต้า, ถนนคนเดินกาดกองต้า, เขื่อนกิ่วลม, วัดพระธาตุเสด็จ, วัดศรีรองเมือง, วัดศาลาลอย, วัดพระธาตุลำปางหลวง, วัดพระธาตุตจองปิง, วัดเสลารัตนปัพพตาราม, ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย, ตลาดทุ่งเกวียน, สวนป่าทุ่งเกวียน, อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล, วัดปงยางคก, เหมืองลิกไนต์, ศาลเจ้าพ่อประตูผา, อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท, บ้านจ้างหลวง, ศาลเจ้าพ่อประตูผา, อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท, บ้านจ้างหลวง, อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน, เทศกาลดอกเสี้ยวบานบ้านป่าเหมี้ยง, อุทยานแห่งชาติดอยหลวง

การเดินทาง บนถนนสายลำปาง-แจ้ห่ม ประมาณ 1 กิโลเมตร เส้นทางเดียวกับวัดเจดีย์ซาวหลัง (จากตัวเมืองลำปางข้ามสะพานรัษฎาภิเศก ตรงไปถึงสี่แยกโรงฆ่าสัตว์ เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 1035) แต่อยู่ถึงก่อนประมาณ 500 เมตร เมื่อไปถึงจะพบรูปปั้นหลวงพ่อเกษมขนาดใหญ่ที่สังเกตเห็นได้จากถนน

http://www.dooasia.com/trips/detail.php?id=289

. . . . . . .