สุบินนิมิตของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

300px-AjahnMun-Disciples

หลวงปู่ชอบ ฐานสโม (ซ้ายสุด) และศิษย์พระภิกษุสายวัดป่า (จากซ้าย: หลวงปู่ขาว อนาลโย, หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร และหลวงปู่บุญเพ็ง เขมาภิรโต) เป็นรูปที่คนทั่วไปเข้าใจผิดว่าองค์แรกคือ หลวงปู่มั่น และองค์สุดท้ายคือหลวงตามหาบัว
เป็นเรื่องเล่าของหลวงปู่มั่นเกี่ยวกับสุบินและนิมิตต่างๆ ในสมาธิที่ท่านเห็น ซึ่งได้ความเพลิดเพลินที่แฝงธรรมอยู่ด้วย

ณ ที่วัดเลียบเมืองอุบล หลวงปู่มั่นได้เพียรปฏิบัติภาวนามาอย่างไม่ลดละ การดำเนินจิตของท่านมีความก้าวหน้ามาโดยลำดับ มีนิมิตที่น่าสนใจสองครั้ง ครั้งแรก หลวงปู่เล่าว่าคืนหนึ่ง เราได้หลับไปแล้วแต่การหลับของเราขณะนั้นเหมือนจะตื่น เพราะเราต้องกำหนดจิตให้มีสติไว้เสมอ ท่านรู้สึกว่าฝันไปว่าเดินออกจากบ้านเข้าสู่ป่าที่รกชัฏ พบต้นไม้ใหญ่ชื่อต้นชาด ถูกโค่นล้มอยู่กับพื้น กิ่งก้านผุพังแล้ว ท่านขึ้นไปยืนบนขอนต้นชาด มองไปข้างหน้าเห็นทุ่งกว้าง ทันใดมีม้าขาวมาหยุดอยู่ใกล้ๆ ท่านขึ้นไปนั่งบนหลังม้า แล้วม้าก็วิ่งผ่านทุ่งไปจนสุดพบตู้พระไตรปิฎกตั้งตระหง่านอยู่ ท่านไม่ได้เปิดตู้ดูแล้วรู้สึกตัวตื่น

ท่านได้ทบทวนเรื่องที่ฝัน เกิดความรู้สึกมั่นใจในการปฏิบัติภาวนาของท่าน ภายหลังท่านได้ทำนายเหตุการณ์ที่ฝันให้ฟังว่า ที่ออกจากบ้านก็คือออกจากเพศฆราวาส ไปพบป่าชัฏแสดงว่ายังไปไม่ถูกทางจริงจึงต้องลำบากหนัก ที่ท่านได้ขึ้นไปบนขอนไม้ชาดที่ผุแล้วแสดงว่าชาตินี้อาจเป็นชาติสุดท้ายของท่าน เหมือนต้นชาดนั้นย่อมไม่สามารถงอกได้อีกแล้วท่านต้องแสวงหาต่อไป ทุ่งโล่งหมายถึงแนวทางที่ถูกต้องเป็นทางที่ไม่ลำบากนัก การได้ขี่ม้าขาวหมายถึงการเดินทางไปสู่ความบริสุทธิ์ได้อย่างรวดเร็ว การพบตู้พระไตรปิฎกแต่ไม่ได้เปิดดูก็คือท่านคงไม่ถึงปฏิสัมภิทาญาณถ้าได้เปิดดูก็คงแตกฉานกว่านี้ เพียงได้ความรู้ถึงปฏิสัมภิทานุศาสน์สามารถสอนผู้อื่นได้เพียงบางส่วนเท่านั้น

หลวงปู่ได้เร่งความเพียรหนักขึ้นได้เปลี่ยนวิธีการคือพอจิตดำเนินถึงขั้นสงบนิ่งแล้วแต่ไม่หยุดที่ความสงบนิ่งเหมือนแต่ก่อน ยกกายขึ้นพิจารณาเรียกว่ากายคตาสติ โดยกำหนดจิตเข้าสู่กายทุกส่วนทั้งยืน เดิน นั่ง นอน ให้จิตจดจ่อที่กายตลอดเวลาพิจารณาให้เป็นอสุภะจนเกิดความเบื่อหน่าย (นิพพิทาญาณ) บางครั้ง ขณะเดินจงกรมอยู่ปรากฏเดินลุยอยู่ข้างศพก็มี เหตุการณ์เช่นนี้ปรากฏขึ้นเป็นเดือน ท่านว่าปรากฏปัญญาขึ้นมาบ้าง ไม่เหมือนทำจิตให้สงบอยู่อย่างเดียวเหมือนที่ผ่านมาซึ่งได้แต่ความสุข ความอิ่มใจเฉยๆ ยิ่งกว่านั้นยังเกิดความหวั่นไหวไปตามกิเลสอยู่ แต่การปฏิบัติในคราวหลังนี้ความรู้สึกหวั่นไหวได้ชะงักลง จึงปลงใจว่าน่าจะไปถูกทาง

นิมิตครั้งที่สอง เกิดขึ้นจากการปฏิบัติในช่วงต่อมา ได้เกิดนิมิตในสมาธิติดต่อกันอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาถึง 3 เดือน วันหนึ่งหลวงปู่เกิดนิมิตในสมาธิว่า เห็นคนตายนอนอยู่ห่างจากตัวท่านราวหนึ่งศอก มีสุนัขกำลังกัดทึ้งซากศพ ดึงไส้ออกมาเคี้ยวกินอยู่ ท่านจึงกำหนดพิจารณาดูซากศพทุกส่วน กำหนดขยายส่วนต่างๆ ขึ้นพิจารณาจนเห็นเด่นชัด สามารถกำหนดขยายหรือย่อส่วนได้ตามต้องการ (เรียกว่าปฏิภาคนิมิต) ยิ่งพิจารณาไปจิตก็ยิ่งสว่างไสวปรากฏดวงแก้วขึ้นมา แล้วทิ้งการกำหนดอสุภะ มากำหนดเอาเฉพาะดวงแก้วเป็นอารมณ์

วาระต่อไปได้ปรากฏนิมิตเป็นภูเขาอยู่ข้างหน้า ท่านกำหนดจิตขึ้นไปดูเห็นมีห้าชั้น เดินขึ้นไปจนถึงชั้นที่ 5 พบบันไดแก้วแล้วหยุดอยู่ที่นั่น ไปต่อไม่ได้จึงเดินทางกลับ ท่านได้พบว่าท่านได้สะพายดาบและใส่รองเท้าวิเศษไปด้วยในทุกครั้งที่เกิดนิมิต ในครั้งต่อไปเมื่อทำสมาธิ ก็เกิดนิมิตและดำเนินไปเหมือนเดิม เดินไปถึงที่เดิมเห็นกำแพงแก้วเปิดประตูเดินเข้าไป พบพระนั่งสมาธิอยู่ 2 – 3 องค์ ท่านเดินต่อไปจนถึงหน้าผาสูงชัน เดินต่อไปไม่ได้จึงกลับทางเดิม

ในครั้งต่อๆ ไป การทำสมาธิก็ดำเนินไปในแนวเดิมไปพบเห็นสิ่งต่างๆต่อไปเรื่อยๆ ครั้งหนึ่งได้สวนทางกับท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท วัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ) ท่านเจ้าคุณกล่าวเป็นภาษาบาลีว่า “อฏฺฐงฺคิโก มคฺโค” แล้วก็เดินไป นิมิตในสมาธิเกิดต่อเนื่องกันไปนานถึง 3 เดือน จนไปถึงที่สุดไม่มีนิมิตอะไรต่อไปอีกแล้ว มีแต่ความสุขสงบเหลือที่จะประมาณได้จนท่านเองสำคัญว่า “ตนของตนถึงความบริสุทธิ์แน่จริง หมดจากกิเลสแล้ว”

หลวงปู่ได้ยกประสบการณ์ในครั้งนั้นมาเป็นตัวอย่างสั่งสอนศิษย์ว่า “ระวังอย่าได้ไปหลงนิมิตเช่นนี้เพราะมันวิเศษจริงๆ ผู้ปฏิบัติทางจิตชอบจะมาติดอยู่เพียงแค่นี้ แล้วสำคัญตนผิด….เราเองก็เป็นมาแล้วและมันก็น่าจะหลงใหล เพราะเป็นสิ่งอัศจรรย์มาก ที่เรียกว่าวิปัสสนูปกิเลส ก็คือความเป็นเช่นนี้”

หลังจากที่หลวงปู่รู้ตัวว่าหลงไปตามนิมิตต่างๆแล้ว ท่านกับมากำหนดกายคตา จิตได้เข้าฐาน ปรากฏว่าได้เลิกหนังของตนออกหมดแล้วแหวะในกายพิจารณาทบทวนในร่างกายอย่างละเอียดแล้วพักจิต (มิใช่พิจารณากายไปโดยไม่หยุดพัก) ขณะที่พักก็รู้ว่าปัญญาได้เกิดขึ้นพอควร มีอาการไม่ตื่นเต้น ไม่หวั่นไหว จึงได้เปล่งอุทานว่า “นี่แหละจึงจัดว่ารวมถูก เพราะไม่ใช่จิตรวมสงบแล้วก็อยู่เฉยที่สงบนั้น ต้องสงบแล้วพิจารณาอยู่ในกัมมัฏฐาน คืออยู่ในการพิจารณาดูตัวทุกข์คือกายนี้เป็นตัวทุกข์และให้เห็นทุกข์อยู่ จึงจะได้ชื่อว่าดำเนินจิตอยู่ในองค์มรรค ฯลฯ เราจะต้องตรวจค้นให้รู้จริงเห็นจริงอยู่ที่กายกับจิตเท่านั้น จึงจะถูกอริยมรรคปฏิปทา”

มีครั้งหนึ่ง ปรากฏในนิมิตว่าร่างกายของท่านแตกออกเป็นสองภาค ท่านกำหนดจิตให้นิ่งจนเกิดความสังเวชสลดใจเห็นทุกข์ของการเวียนว่ายตายเกิด จึงถือเอาหลักที่ทำมาเป็นการเริ่มต้นเพราะมั่นใจว่าปฏิบัติถูกต้อง เป็นทางดำเนินจิตของท่านต่อไป

การปฏิบัติภาวนาในช่วงที่อยู่วัดเลียบแม้จะก้าวหน้าไปโดยลำดับแต่หลวงปู่มั่นตระหนักว่า “ยังไปได้ไม่ไกลเท่าไหร่” ท่านจึงได้ออกธุดงค์เข้าป่าเพียงลำพังองค์เดียวไปทางนครราชสีมาเข้าดงพญาเย็น แสวงวิเวกไปเรื่อยๆ จนถึงบริเวณน้ำตกสาริกา จังหวัดนครนายกเป็นป่าทึบเต็มไปด้วยสิงสาราสัตว์ เป็นสถานที่น่าประหลาดสำหรับพระธุดงค์ หลวงปู่มุ่งหน้าสู่ถ้ำไผ่ขวาง ชาวบ้านได้ทัดทานไว้เนื่องจากมีพระธุดงค์ไปมรณภาพที่ถ้ำแห่งนั้นถึง 6 องค์แล้ว แต่หลวงปู่ตอบชาวบ้านว่า “ขอให้อาตมาเป็นองค์ที่ 7 ก็แล้วกัน”

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านมีความเด็ดเดี่ยวปฏิบัติธรรมมุ่งมั่นไม่กลัวตาย หากแต่กลัวกิเลสที่ย่ำยีจิตใจให้รุ่มร้อนมากกว่า ถ้ำแห่งนั้นเป็นถ้ำที่ไม่ใหญ่โตนัก มีต้นไม้ขึ้นปกคลุมหนาแน่น บรรยากาศน่าสะพรึงกลัว ยิ่งตอนพลบค่ำยิ่งวังเวง แต่หลวงปู่ท่านเคยชินกับสภาพเช่นนั้นมากแล้ว จึงไม่มีอะไรทำให้จิตใจของท่านหวั่นไหวได้หลังจากจัดแจงสถานที่และเดินดูรอบๆบริเวณแล้ว พอค่ำลงสนิทท่านก็เริ่มบำเพ็ญภาวนาโดยนั่งสมาธิตลอดคืน ปรากฏว่าสว่างไสวไปหมดนับเป็นนิมิตที่ดียิ่ง

รุ่งขึ้นเช้าหลวงปู่ก็ออกบิณฑบาตที่หมู่บ้านไร่นั้น หลังจากฉันแล้ว ท่านก็พักกลางวันไปสักหนึ่งชั่วโมง พอลุกขึ้นรู้สึกตัวหนักไปหมด หนำซ้ำเกิดท้องร่วงอย่างแรง เมื่อสังเกตดูอุจจาระพบว่าอาหารที่ฉันเข้าไปไม่ย่อยเลย ข้าวสุกยังเป็นเม็ด อาหารที่ทานเข้าไปยังอยู่ในสภาพเดิม ท่านจึงเข้าใจว่าพระองค์ก่อนๆ ที่มรณภาพไปก็คงเป็นเพราะเหตุนี้เองได้รำพึงกับตัวเองว่า “เราก็เห็นจะตายแน่เหมือนพระเหล่านั้น”

หลวงปู่ได้หาที่น่าหวาดเสียวที่สุด เห็นว่าริมปากเหวเหมาะที่สุดที่จะนั่งบำเพ็ญเพียร ท่านตั้งใจแน่วแน่ว่า “หากจะตายขอตายตรงนี้ ขอให้ร่างกายหล่นลงไปในเหวนี้จะได้ไม่ต้องเป็นที่วุ่นวายเดือดร้อนแก่ใครๆ”

ตั้งแต่บัดนั้นหลวงปู่ได้ตั้งปฏิธานแน่วแน่ว่า “ถ้าไม่รู้แจ้ง เห็นจริงก็จะไม่ลุกจากที่นั่งนี้เป็นอันขาด” หลวงปู่ได้นั่งสมาธิ ณ จุดนั้นติดต่อกันเป็นเวลา 3 วัน 3 คืนโดยไม่ลืมตาเลย ท่านเริ่มกำหนดจิตต่อจากที่เคยดำเนินมาครั้งหลังสุด ได้เกิดการสว่างไสวดุจกลางวัน ความผ่องใสของจิตสามารถเห็นทุกสิ่งทุกอย่างตามต้องการ แม้จะกำหนดดูเม็ดทรายก็เห็นอย่างชัดเจนทุกเม็ด แม้จะพิจารณาทุกอย่างที่ผ่านมาก็แจ้งประจักษ์ขึ้นมาในปัจจุบันหมด

ในขณะที่จิตของท่านดำเนินไปอย่างได้ผล ก็ปรากฏเห็นเป็นลูกสุนัขกำลังกินนมแม่ ท่านได้พิจารณาไคร่ครวญดูว่าทำไมจึงมีนิมิตมาปน ทั้งๆ ที่จิตของท่านเลยขั้นนิมิตแล้ว เมื่อกำหนดจิตพิจารณาก็เกิดญาณรู้ขึ้นว่า “ลูกสุนัขนั้นก็คือตัวเราเอง เราเคยเกิดเป็นสุนัขอยู่ตรงนี้มานับอัตภาพไม่ถ้วน เวียนเกิดเวียนตายเป็นสุนัขหลายชาติ”

เมื่อพิจารณาโดยละเอียดได้ความว่า ภพ คือความยินดีในอัตภาพของตน สุนัขก็ยินดีในอัตภาพของมัน จึงต้องวนเวียนอยู่ในภพของมันตลอดไป

เมื่อหลวงปู่ทราบความเป็นไปในอดีตชาติของท่านก็เกิดความสลดจิตเป็นอย่างมาก ความสว่างไสวในจิตของท่านยังคงเจิดจ้าอยู่ แต่ทำไมยังมีการห่วงหน้าพะวงหลังอยู่ ไม่สามารถพิจารณาธรรมให้ยิ่งขึ้นไปได้เมื่อตรวจสอบดูก็พบความจริงที่ท่านไม่เคยทราบมาก่อน นั่นคือ “การปรารถนาพระสัมมาสัมโพธิญาณ” ของท่าน ซึ่งมีในสมัยพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันนี้เอง แล้วเมื่อไรจะได้ถึงคิวเป็นพระพุทธเจ้าตามความปรารถนา”

หลวงปู่ได้พิจารณาถึงภพชาติในอดีต ปรากฏว่า ท่านเคยมีตำแหน่งเสนาบดีเมืองกุรุรัฐ (กรุงเดลฮีในปัจจุบัน) พระพุทธเจ้าได้ไปแสดงธรรมโปรดชาวกุรุรัฐ พระองค์ทรงแสดงมหาสติปัฏฐานสูตร หลวงปู่ซึ่งเป็นเสนาบดีในชาตินั้นก็ได้เจริญสติปัฏฐาน แล้วยกจิตขึ้นอธิษฐานว่า “ขอให้ข้าพเจ้าได้เป็นพระพุทธเจ้า เช่นพระองค์เถิด” ได้ความว่าหลวงปู่ได้ปรารภโพธิญาณมาตั้งแต่บัดนั้น ซึ่งเป็นเหตุให้ท่านต้องชะงักในการพิจารณาอริยสัจเพื่อทำจิตให้หลุดพ้นได้ ต้องสร้างบารมีเป็นพระโพธิสัตว์ไปอีกชั่วกัปชั่วกัลป์ ถ้าไม่ปล่อยวางความปรารถนานั้น

หลังจากได้ใคร่ครวญสิ่งต่างๆ แล้ว หลวงปู่รู้สึกสลดใจที่เคยเกิดเป็นสุนัขนับอัตภาพไม่ถ้วน และยังต้องเวียนว่ายตายเกิดเพื่อสร้างบารมีไปอีกนานแสนนาน ท่านจึงได้หยุดการปรารถนาพระโพธิญาณ แล้วตั้งใจเพื่อการบรรลุธรรมในชาติปัจจุบัน

และในปี พ.ศ. 2481 หลวงปู่ได้นิมิตว่า “ได้เดินไปตามทางซึ่งโล่งเตียน สะอาด มีพระภิกษุสามเณรเดินตามไปเป็นจำนวนมาก ดูเป็นแถวยาวเหยียด เมื่อเดินไป เดินไปปรากฏว่าพระภิกษุ สามเณรเหล่านั้น ทั้งพระเถระผู้ใหญ่และผู้น้อย ต่างก็เดินไปคนละทาง บ้างก็แยกไปทางซ้าย บ้างก็แยกไปทางขวา บ้างก็ล้ำหน้าเดินไปอย่างไม่เกรงใจ ดูพลุกพล่านไป”

หลวงปู่ได้อธิบายนิมิตของท่านว่า “ในการต่อไปข้างหน้า จะมีผู้นิยมทำกรรมฐานภาวนากันมากขึ้น กับจะมีการตั้งตนเป็นอาจารย์สอนกรรมฐานภาวนากันมากจะมีทั้งมีคุณภาพและไม่มีคุณภาพ คือต่างก็จะสอนไปตามความเข้าใจของตน จนถึงกับนำเอาการตั้งตนเป็นอาจารย์สอนกรรมฐานภาวนามาบังหน้า แล้วก็ดำเนินการไม่บริสุทธิ์ด้วยประการต่างๆ ผลที่เกิดขึ้นจึงไม่ดีเท่าที่ควร” “แต่บางพวกก็ดี เพราะยังเดินตามเราอยู่ นี่มิได้หมายความว่าเราเป็นผู้วิเศษ แต่การดำเนินการของเรานั้น ได้ทำไปโดยความบริสุทธิ์ใจมุ่งเพื่อความพ้นทุกข์ โดยปฏิปทานี้ ก็ทำให้ได้ผลทั้งตนเองและศิษยานุศิษย์ตลอดมา การที่ต่างคนต่างตั้งตนเป็นอาจารย์นั้น ย่อมทำให้เสียผลเพราะทำให้เกิดความลังเลแก่ผู้จะเข้ามาเรียนกรรมฐานภาวนาว่าจะถือเอาอาจารย์ไหนจึงจะถูก”

ขอขอบคุณ http://th.wikipedia.org

. . . . . . .