จิตตานุปัสสนา สมเด็จพระญาณสังวร

จิตตานุปัสสนา

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก

บัดนี้ จักแสดงธรรมะ เป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

อันจิตใจนี้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดของบุคคล เป็นต้นเหตุหรือต้นทางของความดีความชั่วทุกอย่าง ของสุขทุกข์ทั้งปวง ตลอดถึงของมรรคผลนิพพาน และของความสิ้นทุกข์ด้วยประการทั้งปวง แต่จิตใจนี้ที่ยังมิได้อบรม ย่อมดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย รักษายากห้ามยาก เหมือนดั่งที่ทุกๆ คนย่อมได้ประสบอยู่ ซึ่งจิตใจของตนเองอันมีลักษณะดังกล่าว พระบรมศาสดาได้ทรงแสดงลักษณะของจิตใจที่ยังมิได้รับอบรมไว้ดังกล่าวนั้น แต่ก็ได้ทรงแสดงต่อไปอีกว่า บุคคลผู้ทรงปัญญาย่อมปฏิบัติกระทำจิตของตนให้ตรงได้ เหมือนอย่างนายช่างศรดัดลูกศร และได้ทรงแสดงต่อไปอีกว่าจิตย่อมดิ้นรน แม้ว่าผู้ปฏิบัติจะยกจิตขึ้นสู่กรรมฐาน คือสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ก็ยังเป็นเหมือนอย่างปลาที่จับยกขึ้นจากที่อยู่คือน้ำ วางไว้บนบก ปลานั้นก็ย่อมดิ้นรนเพื่อที่จะลงไปสู่น้ำ จิตก็เป็นเช่นนั้น แม้ว่าจะยกจิตขึ้นจากอารมณ์อันเป็นบ่วงของมาร ซึ่งเป็นที่อยู่ของจิตอันยังมิได้รับอบรม ขึ้นสู่กรรมฐานดังกล่าว เพื่อละบ่วงของมารนั้น ก็ย่อมดิ้นรนเช่นนั้น แต่ก็ได้ตรัสแล้วว่าผู้ทรงปัญญาย่อมทำจิตของตนให้ตรงได้ เหมือนอย่างช่างศรดัดลูกศร เพราะแม้ว่าจิตขณะที่ยกขึ้นสู่กรรมฐาน ยังดิ้นรนอยู่ แต่เมื่อมีความเพียร มีความรู้ตัว มีสติที่ระลึกได้อยู่ และคอยกำจัดความยินดีความยินร้าย หากมีธรรมะเหล่านี้ค้ำจุนอยู่ในที่สุดก็จะทำจิตให้สงบได้ เหมือนอย่างปลาที่จับยกขึ้นมาจากน้ำวางไว้บนบก แม้ทีแรกปลาจะดิ้น แต่เมื่อเหนื่อยแรงเข้าก็จะหยุดดิ้นไปโดยลำดับ จนถึงนิ่งสงบ จิตก็เป็นเช่นนั้น

บ่วงของมาร

การที่ยกจิตขึ้นสู่กรรมฐานนั้นก็เพื่อ ละบ่วงของมาร อันบ่วงของมารนั้นก็ได้แก่อารมณ์ และกิเลสซึ่งตั้งอยู่บนอารมณ์ที่ปรากฏ ก็เป็นกองกิเลสที่เรียกว่านิวรณ์ อันเป็นกิเลสที่กลุ้มกลัดอยู่ในจิต หรือที่เรียกว่าทำจิตให้กลัดกลุ้ม จิตที่กลัดกลุ้มต่างๆ ก็เพราะมีนิวรณ์นี้เอง อันแปลว่าเป็นเครื่องห้ามเครื่องกั้น คือกั้นจิตไว้ ห้ามจิตไว้มิให้สงบ และปิดทางของปัญญา ทำให้เป็นผู้มีใจบอด คือมีใจที่ไม่รู้ตามเป็นจริง เป็นใจที่หลงถือเอาผิดต่างๆ เพราะฉะนั้น อารมณ์และกิเลสเหล่านี้จึงเรียกว่าบ่วงของมาร คือมารเหวี่ยงบ่วงอันได้แก่อารมณ์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของกิเลสเข้ามาสู่จิต และมารก็เข้าสู่จิต ทรงจิตเอาไว้ คือซึมซาบอยู่ในจิต พิจารณาดูก็จะเห็นได้ว่าบ่วงของมารนั้นได้แก่อารมณ์ คือเรื่องต่างๆ ที่เข้ามาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางมนะคือใจ จิตที่มิได้อบรมย่อมรับบ่วงของมารเข้ามาคล้องเอาไว้ คือรับเข้ามาเป็นสัญโญชน์ ผูกจิตไว้ ประกอบจิตไว้ และมารก็เข้ามากับบ่วงที่เหวี่ยงเข้ามาคล้องใจไว้นั้น จึงปรากฏเป็นตัวกิเลสกองราคะหรือโลภะบ้าง กองโทสะบ้าง กองโมหะคือความหลงบ้าง หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าตัณหาความดิ้นรนทะยานไปต่างๆ อันมีลักษณะดังกล่าวมาข้างต้น ว่าจิตที่มิได้รับการอบรมย่อมดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย ความดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายนั้น ก็ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายไปในอารมณ์ ตามที่ใคร่ที่ปรารถนา จึงเรียกว่ากามตัณหาบ้าง ภวตัณหาบ้าง อยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ ทะยานไปก็เป็นกามตัณหา อยากเป็นนั่นเป็นนี่ ทะยานไปก็เป็นภวตัณหา และเมื่อประสบความขัดข้อง ก็ดิ้นรนทะยานไปเพื่อไม่ให้เป็นนั่นเป็นนี่ ในสิ่งที่ไม่อยากจะได้ ไม่อยากจะเป็น ตลอดจนถึงในบุคคลและสิ่งที่ขัดขวางต่อการที่จะได้ต่อการที่จะเป็นทั้งปวง ก็เป็นความดิ้นรนทะยานไปเพื่อทำลายล้างนั้นเอง ก็เป็นวิภวตัณหา เหล่านี้คือมาร ซึ่งเข้ามากับบ่วงของมารอันได้แก่บรรดาอารมณ์ทั้งหลายดังที่กล่าวมานั้น เพราะฉะนั้น จิตนี้จึงเป็นจิตที่ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย รักษายากห้ามยาก แต่เมื่อผู้ทรงปัญญามาปฏิบัติทำจิตให้ตรง ก็คือให้สงบ และให้ดำเนินไปตรงทาง ด้วยการปฏิบัติในสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน โดยตรงก็เพื่อจะละบ่วงของมารพร้อมทั้งมารโดยที่กล่าวนั้น

สมาธิสงบบ่วงมาร

โดยที่จิตซึ่งปฏิบัติในกรรมฐานดังกล่าวย่อมได้สมาธิ ได้ปัญญา ตลอดจนถึงได้ศีลเป็นพื้นฐาน ได้สมาธิก็เพื่ออบรมปัญญา เพราะเมื่อได้สมาธินั้นก็จะสงบจากอารมณ์ซึ่งเป็นบ่วงของมาร พร้อมทั้งตัวมารคือบรรดากิเลสตัณหาดังกล่าว ซึ่งเรียกว่านิวรณ์บ้าง เรียกว่าเป็นเครื่องทำจิตให้กลุ้มกลัดปล้นจิตบ้าง และเมื่อจิตสงบได้ดั่งนี้ก็จะเป็นจิตที่ผุดผ่อง เป็นจิตที่สงบ เป็นจิตที่ประกอบด้วยอุเบกขาคือความเป็นกลาง ไม่กระสับกระส่าย ลำเอียงไปด้วยความชอบความชังความหลงทั้งหลาย จึงเป็นจิตที่อ่อนควรแก่การงาน เมื่อน้อมจิตนี้ไปเพื่อจะรู้ในเรื่องอะไร ก็ย่อมจะรู้ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ผู้มีปัญญาจึงสามารถทำจิตให้ตรงได้ ที่เปรียบเหมือนอย่างช่างศรดัดลูกศรดังกล่าวแล้ว สามารถที่จะทำจิตให้สงบไม่ดิ้นรน เหมือนปลาที่ยกขึ้นมาวางบนบกใหม่ๆ ที่ดิ้นรนไปเพื่อจะลงน้ำ และจิตที่ดิ้นรนไปนั้นก็ดิ้นรนไปเพื่อจะลงไปสู่น้ำคือบ่วงมารนั่นเอง เพราะฉะนั้น เมื่อจิตมีความสงบ มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา จึงเป็นจิตที่ชื่อว่าได้รับอบรม ย่อมไม่ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย ไม่รักษายากไม่ห้ามยาก คือรักษาง่ายห้ามง่าย

ปัจจัยให้เกิดกิเลสตัณหา

การปฏิบัติในสติปัฏฐานมาตั้งแต่ขั้นกายานุปัสสนา ก็เป็นการปฏิบัติเพื่อละบ่วงของมาร ทำให้จิตสงบขึ้น ผ่องใสขึ้น และเมื่อมาปฏิบัติต่อไปในเวทนานุปัสสนา กำหนดรู้เวทนาที่บังเกิดขึ้น ทั้งอย่างหยาบอย่างละเอียด หรือที่เรียกว่าภายในภายนอก ตลอดจนถึงกำหนดเห็นเกิดเห็นดับของเวทนา เวทนาก็ไม่ปรุงจิต เพราะว่าบ่วงของมารที่เรียกว่าอารมณ์นั้นก็แยกออกได้ว่า เป็นอารมณ์ที่เป็นส่วนกาย คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ตลอดจนถึงเรื่องของรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะเหล่านั้น ซึ่งมารโยนเข้ามาจากภายนอก เข้ามาทางตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจ ครั้นเมื่อจิตรับอารมณ์ก็ย่อมเกิดเวทนาขึ้นเป็นสุขเป็นทุกข์ เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข เมื่อเป็นสุขเวทนาก็เป็นที่ตั้งของราคะหรือโลภะ ทุกข์เวทนาก็เป็นที่ตั้งของโทสะ อทุกขมสุขเวทนา เวทนาที่เป็นกลางๆ ก็เป็นที่ตั้งของโมหะ เพราะฉะนั้น ตัวเวทนานี้เองซึ่งนับเนื่องอยู่ในขันธ์ ๕ นี่แหละ จึงเป็นปัจจัยสำคัญ เป็นหัวต่อของกิเลสดังที่ตรัสไว้ในปฏิจจสมุปบาท กำหนดเห็นเกิดเห็นดับ มีสติมิให้เวทนามาปรุงจิตได้ ก็เป็นอันว่าเป็นการป้องกันกิเลสตัณหามิให้บังเกิดขึ้น อารมณ์เข้ามาทำให้เกิดเวทนา เกิดแล้วก็ดับไป ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดกิเลสตัณหา เมื่อเป็นดั่งนี้จิตก็สงบได้ เป็นอุเบกขาคือเป็นกลางได้ และเป็นจิตที่ปภัสสรคือผุดผ่อง เป็นจิตที่อ่อน เป็นจิตที่ควรแก่การงาน คือควรแก่ที่จะปฏิบัติทางปัญญาให้สะดวกขึ้นต่อไป

จิตตานุปัสสนา

เมื่อเป็นดั่งนี้จึงถึงขั้นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ที่ตรัสสอนให้ทำสติรู้ทั่วถึงจิต จิตที่ได้อบรมมาแล้วในขั้นกายในขั้นเวทนาเป็นจิตที่สงบ อารมณ์ไม่เข้ามาเป็นปัจจัยให้เกิดกิเลสตัณหา แต่ว่าจิตที่เครียดเกินไป ขาดความสุขเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง ก็อาจจะเป็นจิตที่หดหู่ไปได้ เป็นจิตที่ไม่ผาสุก รู้สึกหดหู่ เมื่อเป็นดั่งนี้ก็ต้องปฏิบัติทำจิตให้บังเทิง โดยที่พิจารณาปฏิบัติให้จิตได้ปีติได้สุข แต่ว่าไม่ให้ปีติไม่ให้สุขนั้นมาปรุงจิตให้เป็นกิเลส แต่ให้จิตได้ปีติได้สุข เหมือนอย่างที่ปฏิบัติทำให้ร่างกายได้รับความผาสุกจากปัจจัยเครื่องอาศัย คือที่อยู่อาศัย ผ้านุ่งห่ม อาหาร หยูกยาแก้ไข้เป็นต้น แม้พระอรหันตสาวกทั้งหลาย พระพุทธเจ้าเอง ก็ต้องทรงอาศัยปัจจัย ๔ นี้ เพื่อให้ร่างกายมีความผาสุก จิตก็เช่นเดียวกันต้องอาศัยปัจจัยที่ทำให้ผาสุก ที่ให้เกิดปีติสุขจากสมาธิ เพราะสมาธินั้นทำให้ได้ปีติได้สุข จากวิปัสสนาก็ทำให้ได้ปีติได้สุขเช่นเดียวกัน แต่ละเอียดกว่า ก็ให้มีปีติมีสุขนี้หล่อเลี้ยง แต่ไม่ให้ปีติให้สุขนี้มาเป็นเครื่องย้อมใจให้ติดให้ยินดี ให้จิตบันเทิง จึงตรัสสอนให้ทำสติทำจิตให้บันเทิง ต่อจากนั้นก็ตรัสสอนให้มีสติทำจิตให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิยิ่งขึ้น จิตก็ย่อมจะได้ ความสงบยิ่งขึ้น ความปภัสสรคือผุดผ่องยิ่งขึ้น อุเบกขาคือความที่มีจิตเป็นกลางวางได้ยิ่งขึ้น คือวางความยินดีความยินร้าย วางอารมณ์ วางกิเลสทั้งหลายได้ยิ่งขึ้น และก็ให้ปฏิบัติทำสติคอยเปลื้องจิตไว้ด้วย มิให้ติดอยู่ในสมาธิด้วย มีอารมณ์อะไรเข้ามาก็ต้องคอยเปลื้องออกไป คือต้องคอยระมัดระวังบ่วงของมาร ที่คอยจ้องอยู่ ที่จะโยนบ่วงเข้ามาเกี่ยวจิต ต้องคอยเปลื้องจิตไว้ไม่ให้บ่วงของมารเข้ามาเกี่ยวได้ ไม่ให้บังเกิดกิเลสดึงเอาไปได้ ดั่งนี้ ก็เป็นอันว่าได้ปฏิบัติทำสติรู้ทั่วถึงจิตของตน ปฏิบัติคอยรักษาจิตให้มีความบันเทิงชื่นบาน ปฏิบัติทำจิตให้ตั้งมั่นยิ่งขึ้น และปฏิบัติคอยเปลื้องจิตดังกล่าว ปฏิบัติดั่งนี้หายใจเข้าหายใจออกอยู่ ก็เป็นอันปฏิบัติในอานาปานสติในขั้นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

https://sites.google.com/site/smartdhamma/part3_sangarat_anapa

. . . . . . .