ธุดงค์ผจญสัตว์ร้าย ยอมสละชีพได้เพื่อพระธรรม โดย หลวงปู่จันทา ถาวโร
เหตุการณ์เกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ อันเป็นพรรษาที่ ๔ ของท่าน
ในช่วงนอกพรรษาที่ ๔ นั้นหลวงปู่ได้ไปภาวนาตามป่าเขาที่ทุรกันดารหลายต่อหลายแห่ง
“สมัยนั้นป่าไม้ ภูเขา มันก็รกชัฏ สัตว์มันก็มีหลายประเภทหลายชนิด
นั่นแหละ เป็นเหตุให้เตรียมตัวพร้อมอยู่ทุกเมื่อ เตรียมตัวอยู่เสมอ เป็นเหตุให้ตื่นต่อความตายอยู่เสมอ”
หลวงปู่เล่าถึงสิ่งที่ครูบาอาจารย์ของท่านสอนไว้
“ถ้าไปอยู่ป่าเขาลำเนาไพรนั้น อย่านอน กลางวันก็อย่านอน กลางคืนก็อย่านอน
เดิน ยืน นั่ง ทำความเพียรอยู่อย่างนั้น ความสงบของจิตก็จะเกิดขึ้น
สงบเยือกเย็นดี มีอารมณ์เดียว เพราะสถานที่เหล่านั้นมันห่างไกลจากหมู่บ้าน”
ในเวลาต่อมาท่านได้ไปพักอยู่พร้อมกับภิกษุและสามเณร รวม ๓ รูป
ณ ดงผาลาด อำเภอเจริญศิลป์ จังหวัดสกลนคร ซึ่งห่างจากบ้านหนองแปนประมาณ ๒-๓ กิโลเมตร
“โยมเขาก็มาทำที่พักให้เป็นที่เตียนๆ แจ้งๆ ข้างหนึ่งก่ายกับพลาญหิน อีกข้างหนึ่งก่ายกับต้นสะแบง
สูงเพียงเอวเท่านั้นแหละ พระอีกองค์หนึ่งก็เข้าไปอยู่ใต้ร่มเม็ก
ต้นเม็ก มันมีใบหนาแน่น คลุมดี เสือมองไม่เห็นนะ ส่วนเณรก็เข้าไปทำที่พักอยู่ในป่ารก”
ในสมัยนั้นป่าดงยังทึบ มีต้นไม้หนาแน่น
“เสือก็มาก ช้างก็มาก ผีก็มาก แต่คนมีน้อย บ้านหนองแปนนั้นมันก็อยู่ติดกับดงนั่นแหละ”
ในเวลาเช้าท่านไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน แล้วฉันเพียงเล็กน้อยเพื่อให้ธาตุขันธ์อยู่ได้
“ก็พิจารณาฉันพอเป็นยาปนมัตถ์ ๕ คำเท่านั้น ข้าวเหนียวปั้นไว้เป็นคำๆ อาหารสิ่งอื่นก็ไม่เอา
เอาแต่น้ำพอเจือปนกับข้าว พอให้กลืนลงเท่านั้นแหละ พอยังชีวิตให้เป็นไปเท่านั้น”
นอกจากจะฉันภัตตาหารเพียงเล็กน้อยแล้ว หลวงปู่ยังตั้งสัจจะว่าจะไม่นอนอีกด้วย
“ถ้านอนแล้วเป็นอันตราย บางทีเสือมากินหรือช้างมาเหยียบ หรือหมีกัด หรืองูใหญ่มาทำร้าย
นั่นแหละ เพราะเห็นขี้ช้าง ขี้เสือ อยู่เต็มป่า ป่าไม้ก็แหลกกระจัดกระจาย เพราะช้างมันทำลาย”
การอยู่ในสถานที่ที่มีสัตว์ร้ายเช่นนี้ ย่อมก่อให้เกิดความกลัวอย่างยิ่ง
ทว่าท่านกลับมีความพอใจที่จะพำนัก ณ ที่แห่งนี้
“ครูบาอาจารย์ท่านก็สอนอย่างนั้น ที่ไหนที่มีเสือมาก ช้างมาก ผีมาก ต้องไปเจริญธรรมที่นั่น
เพราะอาศัยพวกนั้นเป็นครูสอน มันกลัวเสือ มันก็ไม่อยากนอน มันกลัวช้างก็ไม่อยากนอน
กลัวผีก็ไม่อยากนอน นั่นแหละ ได้ชื่อว่าพวกนั้นเป็นครูสอน ใจมันก็สดชื่น
เรื่องที่จะสัปหงกนั้น ไม่มีเสียแล้ว”
กิจวัตรประจำวันของท่านก็คือหลังจากฉันเช้าแล้วก็เดินจงกรมไปจนถึงเที่ยงวัน แล้วจึงหยุด
“หยุดแล้วก็ยืน ยืนแล้วก็นั่ง นั่งแล้วก็ยืน ยืนแล้วก็เดิน เปลี่ยนอิริยาบถอยู่อย่างนั้น
จนล่วงไปถึง ๖ โมงเย็น แล้วก็หยุด ลงไปอาบน้ำที่ห้วยหนองตะคอง ซึ่งไหลผ่านดงนั้น
เสือช้างมันก็ลงไปกินน้ำอยู่เสมอ มีรอยหมู รอยกวาง อยู่เต็มไปหมด”
หลังจากหนึ่งทุ่มไปแล้วหลวงปู่จะจุดไฟเพื่อป้องกันสัตว์ร้าย แต่ก็ไม่ได้ป้องกันได้หมดทุกชนิด
โดยเฉพาะเสือโคร่งและหมูป่าที่ถูกคนอื่นยิงบาดเจ็บมา จะทำอันตรายมนุษย์ที่มันเจอ
และเสือแม่ลูกอ่อนที่หิวอาหาร อาจทำร้ายมนุษย์เพื่อนำไปให้ลูกของมันกิน
ในตอนกลางคืนนั้นหลวงปู่มีเพียงสองอิริยาบถเท่านั้น คือ ยืนกับนั่ง
ออกไปเดินภายนอกกลดไม่ได้ เพราะอาจจะเจอเสือ
“นั่งแล้วก็ยืน ยืนจนเหนื่อยล้าแล้วก็นั่ง ทำอยู่อย่างนั้น ทีนี้ก็ไหว้พระสวดมนต์ หมดทุกบทนั่นแหละ
สวดเสร็จแล้วก็อุทิศส่วนบุญกุศลไปให้สรรพสัตว์ทุกถ้วนหน้า ทั้งใกล้และไกลนั้น
เสร็จแล้วก็ชำระใจให้ผ่องใส เมื่อชำระใจผ่องใสแล้ว ก็สอนตัวเอง ‘วันนี้ เรามาทำอะไร? มาตาย!…
ตายมี ๒ อย่างนะ อย่างที่ ๑ คือ เสือกิน ช้างฆ่า ผีกิน อย่างที่ ๒ ตายจากกิเลส
เออ… มึงต้องตายวันนี้ ฉะนั้น จงทำความเพียรเตรียมตัวตาย’ ”
แม้จะกลัวแสนกลัว แต่หลวงปู่นั่งทำความเพียรไปอย่างไม่ท้อถอย
จนประมาณ ๓-๔ ทุ่ม ก็ได้ยินเสียงเสือโคร่งลงไปกินน้ำในห้วยหนองตะคอง
“เสือโคร่งใหญ่มันมาแล้ว มันลงไปกินน้ำในตะคองแล้วก็ขึ้นมา เดินก้าวเท้าห่างๆ
เหยียบใบไม้ดังขว้าบ…ๆ…ๆ ห่างๆ นะ หายใจ ฮืดฮาด…ๆ…ๆ เหมือนกับแมวนั่นแหละ
เราอยู่ในมุ้งก็นึกว่ามันจะผ่านไปโน้น มันก็ไม่ไปนะ ย้อนกลับมาอีก มานั่งที่พลาญหินข้างกลดนั่นแหละ
ไม่ไกลหรอก อย่างไกลก็ ๓ วา เท่านั้นแหละ ตัวใหญ่ขนาดเท่าม้านั่นแหละ นี่เสือโคร่งใหญ่”
นอกจากเสือตัวนี้แล้วก็ยังมีตัวอื่นๆ อีกอยู่ไม่ไกลนัก รวมทั้งตัวที่อยู่ใกล้ๆ กลดของท่านก็ยังไม่ไปไหน
การอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเจอสัตว์ร้ายเช่นนี้ ทำให้เกิดความกลัวเป็นอย่างมาก
“ทีนี้จิตมันก็ไม่ไปไหน จิตก็เลยอยู่กับกาย เพราะกลัวเสือนั่นแหละ จะพิจารณาอะไร?”
หลวงปู่จึงพิจารณาว่า
“ ‘พุทโธตาย ธัมโมตาย สังโฆตาย ข้าพเจ้าเป็นคนตายแล้ว
ขอมอบกายถวายชีวิตบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เท่านั้น ไม่บูชาสิ่งอื่นในโลกนี้
บวชเป็นทาสของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์แล้ว ขอจงเป็นไปในธรรมะ
และขอจงรู้ธรรม เห็นธรรม พ้นทุกข์’ นั่นแหละ มอบกายถวายชีวิต วางตัวอ่อนน้อม”
ด้วยการพิจารณาเช่นนั้นก็ปรากฏผลเป็นที่น่าอนุโมทนายิ่ง
“ต่อแต่นั้นจิตมันก็ไม่ไปไหน ไม่นานจิตก็สงบรวมลงสู่ขั้นขณิกสมาธิ
ตอนแรกจิตสงบเฉียดๆ เย็นกาย เย็นจิต กายลหุตา กายเบา จิตลหุตา จิตเบา นั่นแหละ
เสียงเสือร้องก็ไม่ได้ยินเสียแล้ว ทีนี้ก็เลยพิจารณาธาตุขันธ์ ปีติเกิดขึ้น แสงสว่างเกิดขึ้น
พอธรรมทั้งหลายเหล่านั้นเกิดขึ้น ก็เลยเป็นกำลังของจิต ความกลัวตายนั้นก็เลยหายไป”
“ทีนี้พระธรรม ผู้รู้ ก็พูดขึ้นมาอีกว่า ‘เรื่องตายนั้นเป็นของธรรมดา จะล่วงพ้นไปไม่ได้
การแก่ เจ็บ ตาย นี้นั้นเป็นผล เกิดมาจากเหตุ คือ การเกิดนั่นแหละ
แต่แล้วก็จงยกกรรมเป็นที่พึ่ง ยกให้กรรมเป็นผู้ตัดสินว่าเราควรจะเป็นภักษาหารของเสือหรือไม่
ก็แล้วแต่กรรมดอก ถ้ากรรมควรที่จะได้ตายอย่างนี้ก็แล้วไป แต่ถ้ากรรมไม่มีก็ไม่ตายดอก จงวางเฉย’ ”
ความกลัวตายนับเป็นเรื่องธรรมดาของปุถุชนที่ยังห่วงใยในชีวิตของตน
แต่สำหรับนักปฏิบัติผู้มั่นคงในพระรัตนตรัยดังเช่นหลวงปู่จันทา ถาวโร นั้น
ท่านกลับมีความแน่วแน่ในการใช้สถานที่อันอยู่ได้ยาก เต็มไปด้วยอันตราย
ฉันภัตตาหารเพียงน้อยนิด มีเพียงอิริยาบถนั่ง ยืน เดิน โดยไม่นอน
เพื่อความก้าวหน้าในการปฏิบัติ โดยไม่ย่อท้อต่อความลำบากและไม่ได้ห่วงใยในชีวิตตนเอง
นับเป็นการยอม“สละชีพเพื่อบูชาธรรม” อย่างน่ายกย่อง
เป็นพระสุปฏิปันโนผู้ควรแก่การกราบบูชา และดำเนินตามปฏิปทาเพื่อความหลุดพ้นทั้งปวงสืบไป
ขอบคุณข้อมูลจาก : http://muangput.com/webboard/index.php/topic,857.0.html?PHPSESSID=qumilbnabtq0v0emi63rilp5b2