คำคม คำสอนหลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม วัดอัมพวัน

คำคม คำสอนหลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม วัดอัมพวัน

หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม พระราชทินนาม พระธรรมสิงหบุราจารย์ ภาวนาปฏิภาณโกศล โสภณธรรมานุสิฐ พิพัฒน์กิจสุนทร มหาคณิสสรบวรสังฆารามคามวาส ณ วัดอัมพวัน ท่านมีชื่อเสียงในด้าน กรรมฐาน สติปัฏฐาน ๔ ท่านมีลูกศิษย์มากมายที่มาเรียน มาศึกษาการนั่งกรรมฐานเพื่อแก้กรรม ในหมู่นักปฏิบัติธรรม เราว่าส่วนใหญ่ต้องรู้จัก “สำนักวิปัสสนากรรมฐาน วัดอัมพวัน” ชีวิตของคนเรานั้นมีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย บางคนหาทางออกได้ แต่สำหรับบางคนหาทางออกไม่ได้ กรรมฐานเป็นวิธีหนึ่งที่เราจะสามารถล่วงรู้กรรมในอดีตของเราได้ เราก็จะสามารถแก้กรรมที่เกิดขึ้นกับเราได้
“ถ้าท่านตั้งใจปฏิบัติธรรมโดย กินน้อย นอนน้อย พูดน้อย ทำความเพียรให้มากแล้ว
ไม่สนใจใครทั้งหมด ตัดปลิโพธิกังวลให้หมด (พะว้าพะวัง ห่วงโน้น ห่วงนี่ ห่วงนั่น)
ท่านจะไม่ขาดทุน”

คุณธรรมหรือธรรมของครู โดย หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม
“ของดีที่อาตมาจะแจกให้คือ คุณธรรมหรือธรรมของครู ขอให้นำไปใช้ติดตัวตลอดไป จะเกิดสิริมงคลแก่ชีวิตและครอบครัว
ประการแรก ถือเป็นต้นทุนที่ก่อร่างสร้างตัว นำกำไรมาให้มิขาดสาย รับประกันไม่มีขาดทุนแน่ สิ่งนั้นคือ ความเคารพต่อ วัตถุประสงค์ของการศึกษา การศึกษามีวัตถุประสงค์ที่แท้จริงอยู่ที่การปลูกฝังคุณธรรม เพราะคุณธรรมเท่านั้นที่จะปรับปรุง เปลี่ยนแปลงแก้ไขพฤติกรรมของคนได้
ประการที่สอง ครูต้องรักงานรักหน้าที่ บุคคลที่ทำงานด้วยความรัก ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความชอบ บุคคลที่ทำงานด้วยความรัก จะมีความสุขประสบความสำเร็จแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังมีความปลอดภัย มีชีวิตที่งดงามอีกด้วย
ประการที่สาม ครูต้องรู้จักควบคุมตัวเอง จะทำอะไรก็ให้สำนึกรู้ว่าทำอะไร หรืออย่างน้อยก็รู้จักเชื่อฟังกัน ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน ที่โรงเรียน ที่สโมสร หรือแม้ที่ประชุมก็ตาม เรื่องนี้เป็นเรื่องค่อนข้างยากสักหน่อยสำหรับคุณครู เพราะคุณครูมัวแต่ไปควบคุม เด็กเลยลืมควบคุมตัวเอง การควบคุมตัวเองนั้นทำได้ง่าย ๆ ทุกคนทำได้ทำง่ายได้ผลเร็ว วิธีทำก็คือเอาตัวระเบียบตัววินัยของครู เป็นหลัก แล้วปฏิบัติตาม ก็สามารถควบคุมตัวเองได้”
เรื่อง ธรรมของครู หนังสือกฏแห่งกรรม-ธรรมปฏิบัติ เล่ม ๑๕
ข้อคิดในวันขึ้นปีใหม่…หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม
ความจริงคำว่า “ปีเก่าและปีใหม่” เป็นพียงการสมมุติ
เพื่อให้มีสติจะได้ไม่ประมาทในวัยและชีวิต
ครั้งหนึ่งเราเคยสมมุติว่าเป็นปีใหม่
เราเคยมีความดีใจและมีความหวัง
และหลายคนคงจะไม่สมหวังในสิ่งที่หวังในปีเก่าที่จะผ่านไป
เมื่อไม่สมหวังในปีเก่าก็เลยฝากความหวังไว้กับปีใหม่ที่จะมาถึง
คิดและทำอย่างนี้ปีแล้วปีเล่า จัดว่าเป็นคนที่ประมาท
มีคำอยู่คำหนึ่งคือ คำว่า “เจริญวัย”
ซึ่งตามความเข้าใจของคนทั่วไปหมายถึง วัยเจริญขึ้น
โดยมุ่งถึงความเจริญงอกงาม
หรือพัฒนาการทางด้านร่างกาย
แต่ความจริง คำว่า “วัย” เป็นภาษาบาลี
แปลว่า “เสื่อมไป” เจริญวัยจึงหมายถึง ความเสื่อมเจริญ
หรือความเสื่อมเพิ่มขึ้น เช่น เจริญวัยได้ ๓๙ ปี
ก็หมายถึงสภาพร่างกายมีความเสื่อมไปเพิ่มขึ้น ๓๙ ปี
หรือมีวัย ๖๘ ปี ก็หมายถึงมีความเสื่อมไป ๖๘ ปี เป็นต้น
ซึ่งปีใหม่นั้นมันก็เกี่ยวข้องกับอายุหรือวัยของคนเรา
เพราะทำให้คนเรามีอายุหรือวัยเพิ่มขึ้นตามปีที่ผ่านไป
ชีวิตของคนแบ่งออกเป็น ๓ ระยะ
คือ ระยะต้น ระยะกลาง และระยะสุดท้าย
*ระยะต้นของชีวิต เรียกว่า “ปฐมวัย”
กำหนดตั้งแต่เกิดจนถึงอายุ ๒๕ ปี
*ระยะกลางของชีวิต เรียกว่า “มัชฌิมวัย”
นับตั้งแต่อายุ ๒๖ – ๕๐ ปี
*ระยะสุดท้ายของชีวิต เรียกว่า “ปัจฉิมวัย”
นับตั้งแต่อายุ ๕๑ ปีขึ้นไป
นักปราชญ์ท่านสอนคนเราให้พยายาม
สร้างประโยชน์แก่ตัวเองตามวัยทั้ง ๓ ดังนี้
๑. ปฐมวัย ให้รีบเร่งศึกษาหาความรู้ใส่ตัว
๒. มัชฌิมวัย ให้เร่งก่อสร้างตัวและสร้างฐานะเป็นหลักฐาน
๓. ปัจฉิมวัย ให้เร่งสร้างคุณงามความดี
คือทำบุญไว้ เพื่อเป็นเสบียงเครื่องเดินทางต่อไปของตน
และเป็นตัวอย่างแก่อนุชนคนรุ่นหลัง
ผู้ที่ไม่สร้างประโยชน์ตามวัย ย่อมเสียใจ
และเสียดายเมื่อผ่านพ้นจากวัยนั้น ๆ แล้ว
เช่น เป็นเด็กไม่สนใจในการศึกษา
เมื่อเติบโตขึ้นไม่มีวิชาความรู้เป็นเครื่องเลี้ยงชีวิต
ยามที่มีกำลังไม่รีบเร่งสร้างฐานะ
เมื่อหมดกำลังแล้วย่อมกลายเป็นคนอนาถา คือ ไม่มีที่พึ่ง
ถึงวัยใกล้ตายควรรีบเร่งทำบุญ
แต่กลับประมาทมัวเมาในเรื่องอื่น ๆ เสีย
จะต้องโศกเศร้าสงสารตัวเองเมื่อจวนจะสิ้นใจ
เรียกว่า “ปีเก่า” ก็กำลังจะผ่านพ้นไป ก่อน
ที่เราจะเรียกว่า “ปีใหม่” นั้น
ขอให้มาพิจารณาถึงปีที่ผ่านมาว่า
ตนเองได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันบ้าง
มีอะไรที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขบ้าง
โดยเฉพาะให้พิจารณาตัวเองว่าเป็นมนุษย์จำพวกไหน
ในมนุษย์ ๔ จำพวก คือ
๑. มนุสฺสเปโต ได้แก่ มนุษย์เปรต
หมายถึง คนที่มีร่างกายพิกลพิการมีอาการไม่ครบ ๓๒
ต้องขอทานเลี้ยงชีวิต เป็นอยู่ลำบากและอด ๆ อยาก ๆ
ซึ่งคล้ายกับลักษณะและความเป็นอยู่ของเปรต
๒. มนุสฺสติรจฺฉาโน ได้แก่ มนุษย์ดิรัจฉาน
หมายถึง คนที่มีร่างกายสมประกอบ มีอาการครบ ๓๒ มีกำลังเรี่ยวแรง
สติปัญญา แต่ไม่ทำการงานเลี้ยงชีพเอง
คอยแต่อาศัยผู้อื่นกินไปวัน ๆ มีพฤติกรรมเหมือนสัตว์เลี้ยง
๓. มนุสฺสเนรยิโก ได้แก่ มนุษย์สัตว์นรก
หมายถึง คนที่มีความประพฤติหยาบช้า
กระทำการทารุณเบียดเบียนฆ่าฟันผู้อื่น
หากินโดยโจรกรรม ฉ้อสงฆ์ บังศาสน์ ฉ้อราษฎร์ บังหลวง
ประกอบอาชีพไม่สุจริต
จนในที่สุดต้องติดคุกติดตะรางเหมือนสัตว์นรก
๔. มนุสฺสภูโต ได้แก่ มนุษย์แท้
หมายถึง คนที่มีความประพฤติดีงาม รักษาศีล ๕ โดยเคร่งครัด
ไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนและคนอื่น
๕. มนุสฺสเทโว ได้แก่ มนุษย์เทวดา
หมายถึง คนที่มีความประพฤติดีเยี่ยม มีหิริ คือความละอายต่อบาป
โอตตัปปะ คือความเกรงกลัวต่อบาป
ทั้งมีนิสัยบำเพ็ญทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา
ประพฤติตนดีเลิศคล้ายเทวดา
ข้อคิดที่อยากจะฝากไว้เนื่องในวันขึ้นปีใหม่นี้
เป็นข้อคิดอันดับสุดท้ายก็คือ
ข้อที่บุคคลควรพิจารณาอยู่เสมอ
พิจารณาอยู่บ่อย ๆ เพื่อทำใจให้ยอมรับความจริง
ที่มีอยู่ตามธรรมชาติที่ภาษาพระท่านเรียกว่า
อภิณหปัจจเวกขณะ มี ๕ คือ
๑.ควรพิจารณาทุก ๆ วันว่า
เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้
๒. ควรพิจารณาทุก ๆ วันว่า
เรามีความเจ็บเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไปได้
๓. ควรพิจารณาทุก ๆ วันว่า
เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้
๔. ควรพิจารณาทุก ๆ วันว่า
เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น
๕. ควรพิจารณาทุก ๆ วันว่า
เรามีกรรมเป็นของตัวเอง เราทำดีก็จะได้ดี ทำชั่วก็จะได้ชั่ว
คนเรานั้นโดยมากอายุไม่ถึง ๑๐๐ ปี
เมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องแก่ เจ็บ และตาย เป็นวัฏจักรอยู่อย่างนี้
ตราบใดที่ยังมีกิเลส ก็ต้องมีกรรม คือ การกระทำ
และมีวิบาก คือผลของการกระทำ
ตราบนั้นคนเราก็ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่อย่างนี้
และเมื่อเกิดมาแล้วสิ่งที่เราต้องพิจารณาก็คือ
ความแก่ ความเจ็บ และความตาย
โดยเฉพาะเรื่องของความแก่ เปลี่ยน พ.ศ.ใหม่ที
เราก็แก่ไปอีกปี นึก ๆ ดู ๑ ปี มี ๓๖๕ วัน นั้น
ช่างรวดเร็วเหมือนกับกาลเวลามันติดปีกจรวดบิน
บางทียังไม่ได้ทันทำอะไรเลย ก็หมดไปแล้วอีก ๑ ปี
เราก็แก่หรืออายุมากขึ้นอีก ๑ ปี
ผู้ที่อยู่ในปัจฉิมวัย คืออายุเลยเลข ๕ ไปแล้ว
จะรู้ถึงเรื่องนี้เป็นอย่างดี
จึงมีคำถามที่ถามกันเล่น ๆ ว่า
“อะไรเอ่ย? เรายิ่งหนี มันยิ่งตาม”
คำตอบ ก็คือ ความแก่
เพราะความแก่นั้นไม่มีใครต้องการหลายคนจึงพยายามวิ่งหนี
แต่จะหนีอย่างไร ก็ไม่มีทางหนีพ้นแต่อาจชะลอได้
คือ ชะลอไม่ให้แก่เร็วหรือแก่เกินวัย
เช่น เมื่อมีรอยตีนกาเกิดขึ้นบนใบหน้า
เมื่อเวลายิ้มก็หาเครื่องสำอาง
หรือเครื่องประเทืองผิวมาทา
ตรงบริเวณที่เกิดรอยตีนกาก็จะไม่ปรากฏชัด
คนสมัยก่อนท่านสอนไว้ดีมากในเรื่องของการชะลอความแก่
โดยการเป็นคนร่าเริง ยิ้มแย้มอยู่เสมอ
ถึงกับมีคำพูดว่า “ยิ้มวันละนิดจิตแจ่มใส”
คนที่ร่าเริง ยิ้มแย้มอยู่เสมอนั้น จะดูเป็นคนที่อ่อนกว่าวัย
หน้าไม่ทรยศเจ้าของ
ตรงกันข้ามกับคนที่เคร่งเครียด หน้าบึ้ง
จะดูเป็นคนที่แก่เกินวัย หน้าทรยศเจ้าของ
และมีคำถามที่ถามกันว่า “อะไรเอ่ย ? เรายิ่งตามมันยิ่งหนี”
คำตอบก็คือ ความหนุ่ม ความสาว
เพราะความเป็นหนุ่มเป็นสาวนั้น
ใคร ๆ ก็ปรารถนา แต่ความหนุ่ม ความสาวนั้น
เรายิ่งตาม มันก็ยิ่งหนี เราไปตามกาลเวลา
เพราะฉะนั้นจึงฝากไว้เป็นข้อคิดคือ
ควรพิจารณาถึงความเป็นจริงว่า
คนเรานั้นมีความแก่ ความเจ็บ และความตายเป็นธรรมดา
ไม่มีใครสามารถพ้นไปได้
คนเราจะต้องพลัดพรากจากของที่เรารัก ไม่วันใดก็วันหนึ่ง
และคนเรานั้นมีกรรมเป็นของตนเอง
ทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว
“การบูชาพระพรหม หมายความว่า ให้เราเจริญ พรหมวิหาร ๔ มีอยู่ในตัวเรา โดยเฉพาะคนที่เป็นผู้ใหญ่ ควรจะมีเป็นอย่างยิ่ง ได้แก่
เมตตา ปรารถนาให้เขามีความสุข ไมตรีจิต คิดรักใคร่กัน สงเคราะห์กัน
กรุณา ปรารถนาช่วยให้เขาพ้นทุกข์ หรือความคิดช่วยเหลือให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ ไม่เบียดเบียนกัน
มุทิตา ชื่นชมยินดี เมื่อเห็นเขาได้ดีมีความสุข มีความสำเร็จ มีก้าวหน้า (ตรงข้ามกับ อิสสา คือ ความริษยา)
อุเบกขา ความวางใจเป็นกลางและรู้จักวางเฉย เมื่อไม่สามารถช่วยได้หรือช่วยแล้วต้องเสียธรรม”
(ในข้อนี้หลวงพ่อจะระมัดระวังมาก ท่านจึงแนะนำให้ญาติโยมที่มีทุกข์ มีปัญหามาขอให้ช่วย ช่วยตัวเองก่อน ด้วยการเจริญกรรมฐาน และสวดมนต์ : ผู้รวบรวม)
คำสอน หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม หนังสือ “อนุสาสนีปาฏิหาริย์”
รวบรวมและเรียบเรียงโดย ชินวัฒก์ รัตนเสถียร
“ขอเจริญพร บางคนทำดีแต่ไม่ได้ดี เหมือนมีบุญแต่กรรมบัง กลับมาน้อยเนื้อต่ำใจ ท่านสาธุชนทั้งหลาย อย่าน้อยใจ ทำดีเข้าไว้ ท่องคาถานี้ไว้ ไม่สู้ไม่หนี ทำดีทุกวัน ท่องทุกวัน เดี๋ยวได้ดี
ทำดีไม่ได้ดี เหมือนมีกรรมมาบัง เพราะเหตุใด
ขอเจริญพร มีคติธรรมดังนี้ อย่าน้อยใจว่าไม่ได้ดี เพราะเหตุใด ทำไม่เสมอต้น เสมอปลาย มาแต่ชาติก่อนแล้ว”
คำสอนหลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม จากเรื่อง หลวงพ่อตอบปัญหาธรรมะในรายการโทรทัศน์ “ชีวิตไม่สิ้นหวัง” ในหัวข้อ ความสุข
หนังสือกฎแห่งกรรม-ธรรมปฏิบัติ เล่ม ๑๔
“คนยุคใหม่สมัยนี้ เราช่วยเขาได้มาก เขาจะรักเรามาก เราช่วยเขาได้น้อย เขาจะรักเราน้อย หาโอกาสช่วยใครไม่ได้ ใครเขาจะรักเราหรือ รักตัวเองให้มาก”
ที่มา: หนังสือ “อนุสาสนีปาฏิหาริย์”
รวบรวมและเรียบเรียงโดย ชินวัฒก์ รัตนเสถียร
“ถ้าเรามีสติดี มีกรรมฐาน ผีก็ไม่เข้า เจ้าก็ไม่ทรง ไปไหนก็ไม่ต้องกลัวคุณไสยที่ว่าเขาทำปล่อยมาตามลม จะไม่ถูกเลยนะ คนมีสตินี่จะไม่เข้า คนที่ไร้สติ ผีมันจะสิงกลายเป็นบ้าไป วิปริตผิดมนุษย์ไป จะไม่มีความสุข”
คำสอนหลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม
จากเรื่อง สวัสดีปีใหม่ หนังสือกฎแห่งกรรม-ธรรมปฏิบัติ เล่ม ๑๑
“เกิดเป็นคนต้องช่วยตนเสียก่อน แล้วกลับย้อนช่วยคนอื่นจึงจะได้ ต้องรู้จักฝึกหัดทั้งกายใจ จึงค่อยไปแนะคนอื่นให้ทำตาม คนเราเลือกเกิดเลือกตายไม่ได้ แต่เลือกสร้างความดีได้ เรามาสร้างความดี โดยการเดินจงกรม นั่งกรรมฐาน มาดูตัวเราเอง เพื่อที่จะได้อ่านตัวออก บอกตัวได้ ใช้ตัวเป็น เกิดปัญญาเอาไปใช้บริหารงานของเราตามหน้าที่และความรับผิดชอบ งานก็จะเจริญรุ่งเรือง”
คำสอน หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม
วัดอัมพวัน สิงห์บุรี
“ในยุคปัจจุบันนี้เราจะมีความสุขได้อย่างไร คำตอบก็คือ ต้องอาศัยหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เราพึ่งพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอกให้พึ่งพระธรรม เราพึ่งพระสงฆ์ พระสงฆ์ก็บอกให้พึ่งพระธรรม เราขอพึ่งพระธรรม พระธรรมบอกให้พึ่งตนเอง เป็นกฎธรรมชาติ เพราะการพึ่งพระธรรมนั้นต้องพึ่งตนเอง คืออัตตาหิ อัตตาโนนาโถ ตนแหละเป็นที่พึ่งของตน
พระธรรมบอกให้เราทำเอง ถ้าเราไม่ทำ พระธรรมก็ช่วยท่านไม่ได้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงอยู่อย่างมีที่พึ่งเถิด อย่าอยู่อย่างไม่มีที่พึ่งเลย เพราะศิษย์ที่อยู่อย่างไม่มีที่พึ่งย่อมมีความทุกข์
ที่พึ่งในพระพุทธศาสนาคือ พระธรรมคำสอน คือ ปฏิบัติธรรมนั่นเอง การปฏิบัติธรรมนี้ก็เพื่อต้องการที่พึ่ง ตนเป็นที่พึ่งของตนได้แน่นอน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์”
คำสอนหลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม
จากเรื่อง อยู่อย่างมีสุขในยุคปัจจุบัน หนังสือพุทโธโลยี
“ขอเจริญพรว่า ความขยันได้มาจากความขี้เกียจ กว่าจะขยันได้ ขี้เกียจมาก่อน ความสุขเราได้มาจากความทุกข์ ต้องมีความทุกข์ร้อนใจเหลือเกิน กว่าจะพบความสุขที่แน่นอนเช่นดังกล่าวแล้ว มันมีแต่ความทุกข์ระทมขมขื่น ต้องผ่านทุกข์ก่อนจึงจะพบความสุขที่แน่นอน
อาตมาผู้หนึ่งขี้เกียจที่สุด บัดนี้เราต้องฝืนใจ กว่าจะขยัน กว่าจะทำอะไรให้สำเร็จ ฝืนใจจนขยัน บัดนี้จะกลับไปขี้เกียจคงไม่ได้แล้ว ไม่ได้แน่
ถ้าโยมเคยขี้เกียจแล้ว ไม่ฝืนใจ ไม่ขยัน มันก็แค่นั้น ทำอย่างไรก็แค่นั้น ดีไม่ได้แน่นอน เหมือนหมากรุก ๖๔ ตา เดินตาเดียวอยู่ตลอดกาลเวลา จะดีได้อย่างไรเล่า”
คำสอนหลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม
จากเรื่อง สิ่งที่ได้จากการปฏิบัติกรรมฐาน หนังสือกฎแห่งกรรม-ธรรมปฏิบัติ เล่ม ๑๑
“ตรงนี้น่าคิด พิจารณาตัวเองเถิด ไม่มีใครเขาทำให้ท่านได้หรอก อาตมาก็ช่วยโยมไม่ได้หรอก เพียงแต่แนะแนวตามคำสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น แต่คำสอนของพระพุทธเจ้านั้น เราไม่ปฏิบัติก็ไม่เกิดประโยชน์อันใด จะชี้บอกมรรคมรรคาว่านี่ไปสวรรค์ นี่ไปนรก บอกได้เท่านี้ นี่ไปเป็นเปรต อสุรกาย นี่สัตว์เดรัจฉาน ไปสู่อบายมุข นี่ไปทางสู่ทางเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าไปทางนี้ ก้าวเสื่อมไปทางนั้น บอกหนทางได้เท่านี้ แผนที่มรรคมรรคา แต่เราจะเดินไปทางไหน แล้วแต่โยมชอบ”
คำสอนหลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม
จากเรื่อง ความเสื่อมและการหมดอายุขัย หนังสือกฎแห่งกรรม-ธรรมปฏิบัติ เล่ม ๑๒
“ผู้ใดก็ตามที่คุณแม่ยังมีชีวิตอยู่ ก็ให้กลับไปหาแม่ ไปกราบเท้าขอพรจากท่าน จะได้มั่งมีศรีสุข
ส่วนคนที่เคยทำไม่ดีไว้กับท่าน ก็นำเทียนแพไปกราบขออโหสิกรรม ล้างเท้าให้ท่านด้วย เป็นการขอขมาลาโทษ”
คำสอน หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม หนังสือ “อนุสาสนีปาฏิหาริย์”
รวบรวมและเรียบเรียงโดย ชินวัฒก์ รัตนเสถียร
“ชื่อที่พ่อแม่ตั้งให้เป็นมงคลนาม ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน เพราะชื่อเป็นเพียงนามสมมุติแทนตัวเรา
อย่างหลวงพ่อชื่อจรัญ ปู่ตั้งให้ หมอดูบอกเป็นกาลกิณี แต่ทำไมเจริญรุ่งเรือง ขอให้เชื่อพระพุทธเจ้า ทำดีได้ดี”
คำสอน หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม หนังสือ “อนุสาสนีปาฏิหาริย์”
รวบรวมและเรียบเรียงโดย ชินวัฒก์ รัตนเสถียร
“ตีสี่ เป็นเวลาที่สมองว่าง เหมาะที่จะสวดมนต์ไหว้พระ แผ่เมตตา ท่านที่เป็นนักเรียนนักศึกษา ควรลุกขึ้นมาอ่านหนังสือจะจำได้แม่น”
คำสอน หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม หนังสือ “อนุสาสนีปาฏิหาริย์”
รวบรวมและเรียบเรียงโดย ชินวัฒก์ รัตนเสถียร
“จงคิดอยู่เสมอว่าเรามีเวลาเหลืออยู่แค่วันนี้หรือชั่วโมงนี้ จะได้รีบกระทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ มิใช่มานั่งโกรธ นั่งเกลียดนั่งคิดริษยากัน เสียเวลาโดยเปล่าประโยขน์”
คำสอน หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม จากเฟซบุ้คหลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม วัดอัมพวัน
“บ้านหนึ่ง พ่อมีเมีย ๔ คน เมียหลวงบอกลูกว่า พ่อเจ้าไม่ดี ลูกก็ไปด่าพ่อ ว่าพ่อ แล้วมาบวชวัดนี้ บวชแล้วเดี๋ยวเป็นโน่นเป็นนี่ จนจะกลายเป็นโรคประสาท นี่แหละ บวชก็ไม่ได้ผล หลวงพ่อก็ให้ไปถอนคำพูด และขอสมาลาโทษกับพ่อเขาก่อน แล้วกลับมานั่งกรรมฐานจึงได้ผล”
(กรณีนี้ หลวงพ่อจะเตือนผู้เป็นลูกบ่อย ๆ ไม่ให้ว่าพ่อ แต่ให้เป็นเรื่องของแม่ที่จะแก้ปัญหานี้ ซึ่งหลวงพ่อสอนไว้แล้ว:ผู้รวบรวม)
คำสอน หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม หนังสือ “อนุสาสนีปาฏิหาริย์”
รวบรวมและเรียบเรียงโดย ชินวัฒก์ รัตนเสถียร
“ถ้าไม่มีความดี ไปพูดกับลูกลูกจะเชื่อไหม ถ้าลูกเขาไม่ชอบเรา เราพูดอย่างไรเขาก็ไม่เชื่อ ต้องทำให้เขาชอบเรา เขาก็รักพ่อแม่ด้วยมีสติสัมปชัญญะ พอเขารักเราแล้ว เราจะชี้นกเป็นนกเลย
สอนลูกบอกว่า หนูอย่าทำนะลูกนะ เขาจะเชื่อมากกว่าพูดคำหยาบ โกรธกำหนดตรงลิ้นปี่ กำหนดลมหายใจยาว ๆ ไว้…หายโกรธ ”
คำสอนหลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม
จากเรื่อง คิดไม่ออก…ปรึกษาพิเภก หนังสือพุทโธโลยี
“ขอฝากข้อคิดอีกนิดเดียว ไปไหน…ไปลา…มาไหว้, พบผู้หลักผู้ใหญ่…อ่อนน้อมถ่อมตน ปากหวาน ตัวอ่อน มือเป็นหงอน นอบน้อม กตัญญู เชิดชูระเบียบ จงเพียบด้วยวินัย จงตั้งใจศึกษา นำมาพ้นทุกข์เป็นสุขอนันต์ เป็นหลักฐานสำคัญ จงจำใส่ใจเอาไว้ใช้
ไปไหนพบคนเฒ่าคนแก่…น้อมเคารพไหว้ นอบน้อมต่อผู้ใหญ่ไว้ พบครูอาจารย์ต้องเคารพ นอบนบครูบาอาจารย์ ครูลัก ครูจำ ครูแนะ ครูนำ ครูพร่ำ ครูสอน อย่าลืม ถ้าลืมแล้วเราจะเรียนหนังสือไม่เก่ง
เวลาไปโรงเรียนกราบพ่อแม่ ๓ ครั้ง ตามประเพณีส่วนใหญ่เขากราบครั้งเดียว เรากราบถึงพระรัตนตรัยเลย…คุณพ่อ คุณแม่ พระพุทธเจ้า พระสงฆ์ เป็นพ่อแม่ของเราอย่างแน่นอน
ไปโรงเรียนก็ทำความเคารพครู กลับจากโรงเรียนก็ทำความเคารพพ่อแม่ กลับมาแล้วต้องรายงานพ่อแม่ บอกพ่อแม่ว่าลูกได้กลับมาแล้ว บัดนี้ลูกได้เรียนภาษาอังกฤษเก่ง เรียนวิทยาศาสตร์เก่ง เรียนวิชาการเก่ง นำมารายงาน…พ่อแม่จะได้ชื่นใจ
ขอจงเอาแบบอย่างที่ดีไปใช้ให้เป็นประโยชน์”
คำสอนหลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม
จากเรื่อง รักลูก หนังสือพุทโธโลยี

ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.dookorea.com/

. . . . . . .