หลัก ๓ ประการในการปฏิบัติสำหรับฆราวาส — หลวงปู่เทศก์

หลัก ๓ ประการในการปฏิบัติสำหรับฆราวาส — หลวงปู่เทศก์

หลักไตรสิกขาสำหรับฆราวาส
พระราชนิโรธรังสี (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี)

หลัก ๓ ประการในการปฏิบัติสำหรับฆราวาส ที่นำไปสู่สวรรค์ และโมกขธรรมคือ

๑. ทำทาน ๒. รักษาศีล ๓. ภาวนา

๑.ทำทาน

ทาน คือ การให้ ให้วัสดุสิ่งของ โดยไม่หวังผลตอบแทน ต้องสละความตระหนี่เหนียวแน่น ในใจของตนก่อน จึงให้ทาน
หลักของทาน ต้องมี ศรัทธา ความเชื่อมั่นว่า บาปมีบุญมีจริง ทำทานแล้วได้บุญ
ผลของทาน
ขณะทำ มีความอิ่มอกอิ่มใจ เป็นสุข นั่นคือตัวบุญ จิตใจเบิกบาน ขึ้นสวรรค์ ตรงนั้น
ภายหลังทำ จิตใจเบิกบาน อิ่มอยู่ในใจ ระลึกขึ้นได้เมื่อใดก็มีความสุข
ลำดับต่อไป เมื่อทำทานอยู่เป็นนิจ ก็มีจิตใจใสสว่าง มีเมตตาและอยากทำความ ดีให้ยิ่งขึ้นไป

๒. รักษาศีล

ศีล คือ เจตนา งดเว้นความชั่วจากโทษนั้น ๆ ตามข้อห้ามในศีล ๕ ศีล ๘ เป็นต้น
หลักของศีล – มีความเชื่อมั่นในกรรมและผลของกรรม
– มีความละอายต่อบาป และเกรงกลัวบาปอยู่ในใจ

ผลของศีล เบื้องต้น มีสติ คอยระมัดระวัง ละเว้นความชั่วทางกาย ทางวาจา เป็นผู้สำรวม สงบ มีเมตตา ต่อเพื่อนมนุษย์ และสัตว์ ทั้งปวงหมด
ลำดับต่อไป เมื่องดเว้นความชั่วนั้น ๆ ได้แล้ว ก็มีความยินดี พอใจ อิ่มใจใน ความดีของตน จิตใจเยือกเย็นหนักแน่น เป็นสุขสงบ มีหิริโอตัปปะ

๓. ภาวนา

ภาวนา คือ การตั้ง สติ ควบคุม จิต อยู่ทุกอิริยาบถ เหมือนแม่ดูแลรักษาลูกอ่อน
หลักของการภาวนา คือ การสละ จาคะ อารมณ์ต่าง ๆ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต ทำให้จิตมืดมิด ได้แก่ ความโลภ ความโกรธ ความหลง พยายามทำใจให้เป็นกลาง วางเฉย ปล่อยวางหมดทุกสิ่งทุกประการ ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต ลงปัจจุบัน

ผลของการภาวนา เบื้องต้น เมื่อจิตสงบ มีความสุขสงบอย่างแท้จริง มีความสบาย เบากาย เบาจิต จิตใจแจ่มใสเบิกบาน เป็นจิตควรแก่การงาน
ลำดับต่อไป เมื่อจิตใจสงบมั่นคงแล้ว เห็นจิตของตนเอง คิดดี คิดชั่ว คิดอย่างไรเห็นหมด เห็นโทษของสิ่งเหล่านั้นแล้ว ละวางความชั่วได้ นี่เป็นปัญญา
ลำดับสูง ปัญญาวิปัสนา มันเกิดเองเป็นเอง จิตลงถึงสภาวธรรม เห็นทุกสิ่งตามความเป็นจริง เป็นอนัตตา เป็นอนิจจัง และทุกขัง เห็นแจ้งชัดด้วยใจตนเอง ไม่ใช่เป็นโดยคิดคาดคะเนเอา

ที่มา วงล้อแห่งธรรม

ขอบคุณข้อมูล : http://muangput.com/webboard/index.php/topic,65.0.html

. . . . . . .