ธรรมบรรยาย นตฺถิ ปญฺญา สมาอาภาติ
เป็นธรรมะที่บรรยายโดยพระเทพสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม) ในโอกาสต่างๆ ที่ผ่านมาในอดีต
วันนี้จะได้แสดงพระธรรมเทศนา เรื่อง ปัญญาคาถา พรรณนาถึงปัญญา เพื่อประดับความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมแก่พุทธบริษัทสืบไป
คำว่าปัญญานั้น แปลว่า ความรู้แบ่งออกเป็นสองอย่าง คือ ๑.ปัญญาทางโลก ๒.ปัญญาทางธรรม ปัญญาทางโลก นั้นเป็นปัญญาสร้างโลก กับปัญญาทำลายโลก เช่น สร้างรถยนต์ รถไฟ เรือยนต์ เครื่องบิน สร้างของใช้สอยต่างๆ สร้างบ้านสร้างอาคาร ปรุงยาแก้โรค สร้างวิทยุโทรทัศน์ เป็นต้น เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ตัว ครอบครัว ประเทศชาติ ศาสนา และสร้างศาสตราวุธต่างๆ ตลอดจนสร้างระเบิดปรมาณู จรวด ดาวเทียม เป็นต้น เพื่อป้องกัน เพื่อทำลายกันโดยมุ่งหมายจะหาความสุขสวัสดีให้แก่ตัว ครอบครัว ประเทศชาติ ดังกล่าวมานั้น แต่ก็ต้องเบียดเบียนกันประหัตประหารกัน ตามปัญญาที่ตนได้ศึกษาเล่าเรียนมา ปัญญาอย่างนี้ทำให้คนมัวเมาประมาทหลงติดอยู่ในภพชาติไม่รู้จักสิ้นสุดยุติได้ จึงได้ชื่อว่าโลกิยปัญญา แปลว่าปัญญาที่ทำคนให้วนอยู่ในโลก
สรุปความว่า ปัญญาทางโลกนั้นเป็นเหมือนดาบสองคม คือให้ทั้งคุณและโทษ ส่วนปัญญาทางธรรมนั้นมีอยู่ ๕ อย่างคือ
1. ปัญญารู้จักทางไปอบายภูมิ ๔
2. ปัญญารู้จักทางไปมนุษย์
3. ปัญญารู้จักทางไปสวรรค์
4. ปัญญารู้จักทางไปพรหม
5. ปัญญารู้จักทางไปนิพพาน
ขยายความต่อไปนี้
๑. อบายภูมิ แปลว่า ภูมิต่ำ ภูมิเลว สัตว์เดรัจฉาน ทั้ง ๔ ภูมินี้ ความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นผู้นำไป คือ
ก. โดยส่วนมาก ความโลภ นำไปเป็น เปรต กับ อสุรกาย
ข. โดยส่วนมาก ความโกรธ นำไปเป็น สัตว์นรก
ค. โดยส่วนมาก ความหลง นำไปเป็น สัตว์เดรัจฉาน
๒. ทางไปมนุษย์นั้น ได้แก่ ศีล ๕ ผู้ใดมีศีล ๕ บริบูรณ์ ผู้นั้นชื่อว่า มนุษย์สภูโต แปลว่า เป็นคนเต็มคน ถ้าผู้ใดมีศีล ๕ บริบูรณ์แล้ว ยังได้แสวงหาบุญกุศลต่อไปอีก เช่น ให้ทาน ฟังธรรม เรียนธรรม ปฏิบัติธรรม เพื่อหวังผลอันไพบูลย์ยิ่งๆ ขึ้นไป ผู้นั้นชื่อว่า มนุษย์สเทโว แปลว่า มนุษย์เทวดา คือตัวเป็นคนแต่ใจเป็นเทวดา เพราะใจสูง ใจประเสริฐ ใจมีศีลมีธรรม ใจมีวัฒนธรรมอันสูง
๓. ทางไปสวรรค์นั้น ได้แก่ มหากุศล มีให้ทาน รักษาศีล ฟังธรรม เรียนธรรม ปฏิบัติธรรม สร้างโรงเรียน สร้างโรงพยาบาล สร้างโบสถ์ สร้างวิหาร สร้างศาลาการเปรียญ สร้างพระประธาน บวชลูกบวชหลาน บวชตัวเอง ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า เป็นต้น
๔. ทางไปพรหมนั้น ได้แก่ อารมณ์ของสมถกรรมฐาน ๔๐ อย่าง มีกสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อนุสสติ ๑๐ เป็นต้น พวกใดได้เจริญสมถกรรมฐานข้อใดข้อหนึ่ง เช่น เพ่งดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นต้น จนได้บรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ตลอดถึงอรูปฌาน เมื่อตายแล้ว ผู้นั้นย่อมได้ไปเกิดในพรหมโลก
ทางสายที่ ๑ ถึง สายที่ ๔ นี้ แม้พระพุทธเจ้าจะมาอุบัติตรัสในโลกก็ตาม ไม่มาตรัสก็ตามมีสอนกันอยู่ก่อนแล้ว เช่น อาฬารดาบส อุทกดาบส เป็นตัวอย่าง ผู้ที่จะพิสูจน์ได้ว่า อบายภูมิ ๔ มีจริงหรือไม่ สวรรค์มีจริงหรือไม่ พรหมโลกมีจริงหรือไม่ มรรคผล นิพพานมีจริงหรือไม่นั้น ต้องพิสูจน์ได้ด้วยการปฏิบัติ คือต้องเดินทางสายที่ ๔ ได้แก่ทางไปนิพพาน
๕. ทางไปนิพพานนั้น ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ หรือวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งเหมาะแก่บุคคลทุกเพศ ทุกชั้น ทุกวัย สำหรับนักเรียน ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ผู้มีเวลาน้อยก็ปฏิบัติได้ทั้งนั้น มีวิธีปฏิบัติย่อๆ ดังนี้คือ
ก่อนจะนอน ถ้ามีเวลาให้ไหว้พระเสียก่อน แล้วนั่งขัดสมาธิ หรือนั่งพับเพียบก็ได้ เวลาหายใจเข้าไปท้องพองออกมาให้ใช้สติตามดูอาการพองนั้น ตั้งแต่เริ่มพองจนสุดพองพร้อมกับภาวนาในใจว่า พองหนอ เวลาหายใจออกท้องแฟบท้องยุบเข้าไปให้ใช้สติตามดูอาการยุบนั้นตั้งแต่เริ่มยุบจนสุดยุบพร้อมกับภาวนาในใจว่า ยุบหนอ ให้ภาวนาในใจกลับไปกลับมาอยู่อย่างนี้วันละ ๕ นาที สัก ๗ วัน แม้เวลานอนก็ให้ว่า พองหนอ ยุบหนอ จนหลับไปด้วย
เมื่อภาวนาโดยทำนองนี้ครอบ ๗ วันที่หนึ่ง แล้วให้เพิ่มเวลาขึ้นอีกสัก ๕ นาที รวมเป็นวันละ ๑๐ นาที เมื่อครบ ๗ วันที่สองแล้ว ให้เพิ่มเวลาขึ้นอีกสัก ๕ นาที รวมเป็นวันละ ๑๕ นาที เมื่อครบ ๗ วันที่สามแล้ว ให้เพิ่มเวลาขึ้นอีกสัก ๕ นาที รวมเป็นวันละ ๒๐ นาที เมื่อครบ ๗ วันที่สี่แล้ว ให้เพิ่มเวลาขึ้นอีกสัก ๕ นาที รวมเป็นวันละ ๒๕ นาที เมื่อครบ ๗ วันที่ห้าแล้ว ให้เพิ่มเวลาขึ้นอีกสัก ๕ นาที รวมเป็นวันละ ๓๐ นาที แล้วให้ปฏิบัติอย่างนี้สืบไปเป็นกิจวัตร ถ้าได้มากกว่านี้ยิ่งเป็นการดี ถ้าใครปฏิบัติอย่างนี้ เรียกว่า เจริญสติปัฏฐาน ๔ คือเจริญวิปัสสนากรรมฐาน นั่นเอง
ทางนี้แหละเป็นทางสายเอก เป็นไปพร้อมเพื่อความบริสุทธิ์หมดจดของคนทั้งหลาย เพื่อล่วงความโศกเศร้าเสียใจปริเทวนาการต่างๆ เพื่อดับทุกข์ โทมนัส เพื่อดับกิเลสตัณหา ดับความเดือดร้อนนานาประการ เพื่อบรรลุมรรค ผล นิพพาน ดังพุทธบรรหารว่า
เอกายโน อยํ ภิกฺขเว มรรคโค สตฺตานํ วิสุทฺธิยา เป็นต้น แปลว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทางสายนี้เป็นทางสายเอก เป็นไปพร้อมเพื่อความบริสุทธิ์หมดจดของสัตว์ทั้งหลาย ดังนี้เป็นต้น
การปฏิบัติอย่างนี้ เป็นการบำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญา เช่น ขณะที่นั่งภาวนาว่า พองหนอ ยุบหนอ อยู่นั้นกายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ มโนกรรม ๓ บริสุทธิ์ดี จัดเป็นศีล
ใจไม่เผลอจากพองยุบคือใจอยู่กับรูปกับนาม เรียกว่า สมาธิ เมื่อเห็นพองยุบเห็นรูปนาม เห็นพระไตรลักษณ์ ตามความเป็นจริง ตลอดจนเห็นอริยสัจจธรรมทั้ง ๔ เรียกว่า ปัญญา
การปฏิบัติอย่างนี้ เป็นการปฏิบัติตามอัฏฐังคิกมรรคทั้ง ๘ อันเป็นมัชฌิมา ปฏิปทา คือทางสายกลาง กลางอยู่ที่รูปนาม กลางอยู่ที่พองยุบนั่นเอง เพราะศีล สมาธิ ปัญญา ได้รูปนามเป็นอารมณ์ ทางสายนี้มีปรากฏอยู่เฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้น
การปฏิบัติอย่างนี้ ชื่อว่าได้บูชาพระพุทธเจ้า ด้วยการปฏิบัติบูชา ซึ่งพระพุทธองค์ทรงยกย่องว่าเป็นการบูชาอย่างสูงที่สุดในพระพุทธศาสนา
เมื่อปฏิบัติถูกต้องตามทางสายนี้ จะได้ผลวิเศษ โดยย่อๆ เป็น ๔ อย่างคือ
1. จะได้ปัจจุบันธรรม
2. จะได้เห็นรูปนาม
3. จะได้เห็นพระไตรลักษณ์
4. จะได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน
ถ้าจะกล่าวโดยส่วนกลาง ผู้ปฏิบัติจะได้บรรลุ วิสุทธิมรรค ๗ มีศีลอันบริสุทธิ์หมดจด เป็นต้น
ถ้าจะกล่าวโดยส่วนพิสดาร ผู้ปฏิบัติจะได้บรรลุญาณ ๑๖ มีนามรูปปริเฉสญาณ คือปัญญากำหนดรู้รูปนาม เป็นต้น
เมื่อผ่านการปฏิบัติและได้ผลประจักษ์ชัดอย่างนี้แล้ว จึงจะพิสูจน์ได้ว่า บุญบาปมีจริง นรก สวรรค์ พรหมโลก มีจริง มรรค ผล นิพพาน มีจริงหายข้องใจสงสัยอย่างเด็ดขาด ถ้ายังไม่ผ่านอย่างนี้ ความสงสัยลังเลใจยังมีอยู่ เพราะวิจิกิจฉายังไม่สิ้นไป พระพุทธศาสนางามในเบื้องต้นด้วยศีล งามในท่ามกลางด้วยสมาธิ งามในที่สุดด้วยปัญญา งามในเบื้องต้นด้วยปริยัติ งามในท่านกลางด้วยปฏิบัติ งามในที่สุดด้วยปฏิเวธ มีเหตุผลต่อการพิสูจน์ เชิญเมธีชนพิสูจน์ได้ทุกเมื่อ เมื่อพิสูจน์แล้วจึงจะรู้ได้ว่าปัญญาเป็นแสงสว่างในโลกจริง คือส่องสว่างทั้งโลกนี้ ทั้งโลกหน้า จนกระทั่งถึงโลกุตระธรรมนำสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ ประสบสุขอันไพบูลย์ กล่าวคือ มรรค ผล นิพพาน ดังพุทธบรรหารว่า
นตฺถิ ปญฺญา สมาอาภาติ แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี
ซึ่งมีอรรถาธิบาย ดังที่ได้บรรยายมา ด้วยประการฉะนี้.
ขอบคุณข้อมูล : http://palipage.com/watam/piyapan4/K00053.htm