ตอน ยี่สิบสอง ผนวก ๒ – ว่าด้วยการตัดสัญโญชน์ ของอริยมรรคทั้ง ๔

ตอน ยี่สิบสอง ผนวก ๒ – ว่าด้วยการตัดสัญโญชน์ ของอริยมรรคทั้ง ๔

ทางที่สะดวกที่สุดสำหรับการศึกษานั้น ควรจะกำหนดมาจากการที่อริยมรรคทั้ง ๔ ตัดสัญโญชน์และอนุสัยนั้นโดยตรง แล้วพิจารณากันถึงลักษณะแห่งสัญโญชน์และอนุสัยนั้นโดยละเอียดจนเห็นได้ว่า ถ้าสิ่งเหล่านี้ ๆ หมดไปแล้วผลอะไรจะเกิดขึ้น ก็จะทราบคุณสมบัติแห่งวิมุตติสุขญาณเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี ดังต่อไปนี้ คือ :-
๑. โสดาปัตติมรรค

โสดาปัตติมรรค ย่อมตัดสัญโญชน์คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาส และย่อมตัดอนุสัยคือ ทิฏฐานุสัยและวิจิกิจฉานุสัย ถ้านับเรียงอย่างก็ถึง ๕ อย่าง หรือกล่าวได้ว่า มีวิมุตติสุขและวิมุตติสุขญาณ เกิดขึ้นได้ถึง ๕ อย่าง ข้อนี้เป็นไปได้ในเมื่อตีความของคำว่า สัญโญชน์และอนุสัยให้ต่างกัน จนกระทั่งเมื่อละได้แล้ว ย่อมเกิดผลเป็นความสุขต่างกันจริง ๆ เช่นสัญโญชน์หรืออนุสัยอันมีนามว่าวิจิกิจฉานั้น ถือว่ามีความหมายต่างกัน กล่าวคือวิจิกิจฉานุสัยหมายถึงวิจิกิจฉาที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน มีผลทำให้สันดานเศร้าหมอง ซึ่งเมื่อละได้แล้ว ทำให้สันดานบริสุทธิ์. ส่วนวิจิกิจฉาที่เป็นสัญโญชน์นั้น หมายถึงวิจิกิจฉาที่ทำหน้าที่ผูกพันสัตว์ไว้ในสังสารวัฏฏ์ คือการเวียนว่ายอยู่ในกองทุกข์ซึ่งเมื่อละได้แล้ว มีผลเกิดขึ้นคือ สัตว์หลุดพ้นจากความทุกข์ หรือจากวัฏฏสงสาร.ที่ทำให้เห็นความแตกต่างกันอยู่คือ ตัดอนุสัยได้ทำให้สันดานบริสุทธิ์ ตัดสัญโญชน์ได้ทำให้หลุดพ้นจากความทุกข์ แต่ความหมายอันแท้จริงของผลทั้ง ๒ อย่างนี้ก็คือความไม่มีทุกข์ หรือที่เรียกว่าวิมุตติสุขอย่างเดียวกันนั่นเอง.

ฉะนั้น ถ้าจะถือเอาโดยนัยอันละเอียดเช่นนี้ ก็ทำให้กล่าวอาการของวิมุตติสุขในขั้นโสดาปัตติมรรคนี้ได้โดยเจาะจงลงไปว่า วิมุตติสุขเกิดขึ้น ๓ อย่างแรก เพราะเครื่องผูกพันถูกตัดออกไป ๓ อย่างแล้ว คือสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส และวิมุตติสุขเกิดขึ้นอีก ๒ อย่าง เพราะสันดานของผู้นั้นถูกชำระให้หมดจดจากอนุสัย ๒ อย่าง คือ ทิฏฐานุสัย และวิจิกิจฉานุสัย.แต่ถ้ากล่าวโดยตรงกันข้าม ก็อาจกล่าวได้อีกเหมือนกันว่า กิเลสทั้ง๒ ประเภทนี้เป็นของอย่างเดียวกัน ชื่อเดียวกัน และสามารถทำหน้าที่พร้อมกันได้ถึง ๒ อย่างเป็นอย่างน้อย เช่นวิจิกิจฉานั่นเอง ในขณะที่นอนเนื่องอยู่ในสันดานก็ทำหน้าที่ผูกพันสัตว์ให้ติดอยู่ในสังสารวัฏฏ์ พร้อมกันไปในตัวในคราวเดียวกันไม่ใช่นอนอยู่เฉย ๆ โดยไม่ทำอะไร หรือไม่ได้เกิดผลอย่างใดขึ้น. ถ้าเป็นดังนี้ก็เป็นอันว่ากิเลสสัญโญชน์หรืออนุสัยนั้นเป็นอกุศลธรรมอย่างเดียว มีเพียงอย่างเดียว แล้วทำหน้าที่ได้หลาย ๆ อย่าง จนเป็นเหตุให้ได้ชื่อแตกต่างกันออกไป เช่นวิจิกิจฉาสัญโญชน์ วิจิกิจฉาอนุสัย และวิจิกิจฉานิวรณ์ ดังนี้เป็นต้น. ถ้าตัดวิจิกิจฉาตัวแท้ได้เด็ดขาดก็เป็นอันตัดวิจิกิจฉาได้ทุกชื่อ วิมุตติสุขเนื่องด้วยการตัดวิจิกิจฉาก็มีเพียงอย่างเดียว ไม่แยกเป็นสองเหมือนที่กล่าวโดยนัยแรก.นี่คือใจความสำคัญ ที่จะต้องสังเกตให้เห็นในคำกล่าว ที่อาจจะกล่าวได้ต่าง ๆ กัน จนทำให้เกิดการฟั่นเฝือขึ้นได้ เพราะเพียงแต่ใช้หลักเกณฑ์ในการกล่าวที่ต่างกันเท่านั้น ; เมื่อกล่าวโดยนัยหลังนี้ สัญโญชน์ที่เหลืออีกสองคือ สักกายทิฏฐิและสีลัพพตปรามาส ย่อมถูกสงเคราะห์เข้าในทิฏฐานุสัย เพราะทั้ง ๒ อย่างนั้นเป็นตัวความเห็นผิด หรือเป็นมิจฉาทิฏฐิประเภทเดียวกับทิฏฐานุสัยนั่นเอง. การตัดทิฏฐานุสัยเสียได้ จึงได้แก่การตัดสักกายทิฏฐิ และสีลัพพตปรามาสเสียได้ เรื่องจึงสั้นเข้ามาทุกที ๆ กล่าวคือโสดาปัตติมรรค ตัดกิเลสเพียง ๒ ประเภท คือตัดสัญโญชน์สามหรืออนุสัยสอง แล้วแต่เราจะมุ่งหมายกล่าวถึงกิเลสประเภทไหนนั้นต่างหาก. และเมื่อสัญโญชน์สามมีค่าเท่ากับอนุสัยสอง ก็เป็นอันกล่าวได้อีกว่าสัญโญชน์สามไม่ต้องกล่าวถึง ; โสดาปัตติมรรคคงตัดเพียงอนุสัยสองคือทิฏฐานุสัย ซึ่งเป็นมิจฉาทิฏฐิกลุ่มหนึ่งในอันดับแรก และวิจิกิจฉานุสัยซึ่งได้แก่ความลังเล ไม่แน่ใจในความรู้ในสรณะและในทางปฏิบัติที่ตนจะเลือกเอา ;ซึ่งสรุปความได้ว่า โสดาปัตติมรรคคงตัดเพียงของ ๒ อย่างคือ มิจฉาทิฏฐิขั้นต้นกับวิจิกิจฉาเท่านั้น ; และเมื่อกล่าวให้สรุปยิ่งไปกว่านั้นอีก ก็ยังกล่าวได้สืบไปว่ามิจฉาทิฏฐิกับวิจิกิจฉา ๒ อย่างนี้รวมกันเข้าก็คือโมหะ ในขั้นที่ทำให้บุคคลไม่รู้จักหนทางแห่งพระนิพพานในเบื้องต้นนั่นเอง. ฉะนั้น เป็นอันกล่าวได้ในที่สุดว่าโสดาปัตติมรรคตัดเพียงอย่างเดียว คือตัดเสียซึ่ง โมหะในขั้นที่ทำให้บุคคลดำเนินไม่ถูกทางแห่งพระนิพพาน ครั้นตัดได้แล้วทำบุคคลนั้นให้ดำเนินลงสู่ต้นทางของพระนิพพาน สมตามความหมายของคำว่า โสดาบัน ซึ่งแปลว่า ผู้ถึงกระแส คือถึงต้นทางแห่งพระนิพพาน นั่นเอง.

โดยนัยที่เปรียบเทียบกันมาแล้วนี้ ทำให้เห็นได้ว่า ถ้าเรามีความมุ่งหมายที่จะจำแนกและทำการจำแนกออกไปแล้วโสดาปัตติมรรคก็ตัดสัญโญชน์และอนุสัยได้ถึง ๕ อย่างและมีวิมุตติสุขเกิดขึ้นถึง ๕ ชนิด ; แต่ถ้าเรามีความมุ่งหมายจะทำการสงเคราะห์ คือย่นย่อและทำการย่นย่อแล้ว พระโสดาบันก็ตัดกิเลสเพียงหนึ่งคือ โมหะชนิดที่ทำให้คนเดินผิดทางของพระนิพพาน ดังที่กล่าวมาแล้วนั่นเองและวิมุตติสุขก็มีเพียงหนึ่ง กล่าวคือ วิมุตติสุขที่เกิดมาจากการเดินที่ถูกทาง หรือกำลังดำรงตนอยู่ในทางของพระนิพพาน ดังนี้ก็พอแล้ว. ฉะนั้น พึงเข้าใจว่าการที่ท่านจำแนกเป็น ๕ อย่างนั้น เป็นแต่เพียงมุ่งหมายกล่าวอย่างแยกแยะให้ละเอียดออกไปในทุกแง่ทุกมุม จากของเพียงอย่างเดียวเท่านั้น. ถ้าเข้าใจของท่านถูก ก็เป็นเครื่องเรืองปัญญา ถ้าเข้าใจผิดหรือเข้าใจไม่ได้ ก็ฟั่นเฝือเป็นธรรมดา. สัญโญชน์และอนุสัย ในขั้นที่โสดาปัตติมรรคจะพึงตัดพร้อมทั้งผลที่เกิดขึ้นจากการตัด มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ คือ :-

ก. สักกายทิฏฐิ คำนี้แปลว่า ความเห็นว่ามีกายของตน หรือมีกายชนิดที่เป็นของเที่ยงแท้ถาวร ทำนองที่เป็นอาตมัน คือเป็นตัวตนที่ไม่รู้จักสูญและไม่รู้จักเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้โดยง่ายที่สุด ถึงกับกลายเป็นสัญชาตญาณอันหนึ่งไป. จะถือว่าตัวตนนี้ไม่รู้จักดับสูญ หรือเพียงแต่ถือว่าขณะนี้ตนกำลังมีตนชนิดนั้นอยู่เป็นของตน จนตลอดชีวิตก็ตาม ล้วนแต่จัดว่าเป็นสักกายทิฏฐิในที่นี้ทั้งนั้น.ความเห็นข้อนี้โดยใจความสำคัญนั้น ตรงกันข้ามจากความเห็นที่ว่าสิ่งทั้งปวงมีเหตุมีปัจจัย และเป็นไปตามอำนาจของเหตุปัจจัย เช่นเกิดขึ้นก็เพราะมีเหตุ และดับไปก็เพราะเหตุดับ. ถ้าถือว่ามีการของตนเป็นของเที่ยงเสียแล้วก็ไม่มีเรื่องอะไรเกี่ยวกับการดับทุกข์ เพราะตนหรือกายของตนเป็นของเที่ยงหรือของสุขอยู่ในตัวเองแล้ว จะต้องไปปฏิบัติเพื่อนิพพานอีกทำไมกัน. ฉะนั้นความเห็นว่ามีตัวตนเป็นของเที่ยง จึงเป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิบัติเพื่อนิพพาน ซึ่งเป็นการปฏิบัติให้เห็นความที่สิ่งทั้งปวงว่างเปล่าจากตัวตน ไม่มีสิ่งใดที่ควรกล่าวว่าตัวตนหรือสักกายะก็ตาม เพราะฉะนั้น สักกายทิฏฐิจึงเป็นสิ่งที่ขัดขวางต่อเบื้องต้นของพรหมจรรย์ กล่าวคือ การปฏิบัติที่เป็นเพื่อนิพพานโดยตรง ;ต่อเมื่อเพิกถอนความเห็นผิดอันนี้เสียได้ ไปมีความเห็นถูกในทำนองที่ตรงกันข้ามคือเห็นว่าตัวตนไม่มี มีแต่ธรรมชาติธรรมดา ซึ่งไม่ใช่ตัวตนทั้งนั้น จึงจะเรียกว่ามีความเห็นที่อยู่ในร่องในรอย หรือในกระแสที่เองไปหาพระนิพพาน ที่เป็นของพุทธศาสนา. แม้ว่ายังละความยึดถือตัวตนหรือของตนไม่ได้โดยเด็ดขาด แต่ก็เห็นชัดว่า สิ่งทั้งปวงไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนจริง ๆ และกำลังพยายามทำลายความยึดถืออยู่ตลอดเวลา แม้เพียงเท่านี้ ก็ชื่อว่ามีการย่างเหยียบลงไปสู่ต้นทางแห่งนิพพานได้.ฉะนั้น การละสักกายทิฏฐิ จึงเป็นการละมิจฉาทิฏฐิ หรือละโมหะชนิดที่ทำให้บุคคลอย่างเหยียบลงในร่องรอยของหนทางแห่งนิพพานไม่ได้ประการหนึ่ง ;ถ้าละเสียได้ ก็ถือว่าเป็นความดีงามหรือความสุข หรือความหลุดพ้นในทางที่ถูกตามหลักแห่งพุทธศาสนาได้ประการหนึ่ง. เมื่อเรียกว่าสักกายทิฏฐิ ก็จัดเป็นสัญโญชน์ ซึ่งแปลว่าเครื่องผูกพัน เมื่อเรียกว่าทิฏฐานุสัย ก็จัดเป็นอนุสัยซึ่งแปลว่า สิ่งเป็นเครื่องนอนเนื่องในสันดาน : ต่างกันสักว่าชื่อเท่านั้น.

ข. วิจิกิจฉา แปลว่า ความลังเล หมายถึงมิจฉาทิฏฐิยังมีอยู่มากเกินไป สัมมาทิฏฐิยังมีไม่มากพอ จึงทำให้ไม่แน่ใจต่อการปฏิบัติที่ถูกต้อง คือ ที่เป็นไปเพื่อนิพพานโดยตรง ; และความลังเลนี้ ขยายตัวออกไปได้ในทุก ๆ สิ่งที่เกี่ยวกับการปฏิบัติเพื่อนิพพาน ตามแต่เราจะเพ่งเล็งไปยังอะไร หรือเรียกว่าอะไรเช่นลังเลต่อวิชชาความรู้หรือสัจจะความจริง ที่เรียกว่าสัจจธรรม หรือหลักธรรมที่ตนจะยึดถือว่าเป็นของจริงหรือของถูก ; หรือมีความลังเลในสิ่งที่ตนจะยึดถือเอาเป็นที่พึ่ง เป็นสรณะ เช่น ลังเลต่อการถือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพราะความไม่ไว้ใจว่าจะเป็นที่พึ่งได้จริง ทั้งที่เห็นเขาพากันถืออยู่ และตนได้สมัครถือไปตามเขาแล้วก็ตาม ; รวมทั้งการลังเลต่อการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าต่อสิ่งซึ่งพระองค์ทรงนำมาสอน ซึ่งเมื่อรวมใจความแล้วก็คือลังเลต่อการปฏิบัติเพื่อนิพพาน ว่าจะไม่เป็นทางดับทุกข์ได้จริง กล่าวโดยเจาะจงก็คือลังเลว่าอริยมรรคนั้น จักไม่ตัดกิเลสได้จริง จึงไม่สมัครที่จะเดินตามทางแห่งอริยมรรค. ถ้าความรู้สึกอย่างนี้ยังมีอยู่ ก็เป็นอนกล่าวได้ว่า เจตสิกธรรมที่เป็นอกุศลชนิดที่นอนเนื่องอยู่ในสันดานที่บัญญัติชื่อเรียกว่าวิจิกิจฉานั้นยังคงมีอยู่ในสันดานพร้อมอยู่เสมอที่จะปรุงแต่งจิตให้มีความคิดไปทางลังเล โดยอาการดังที่กล่าวแล้วข้างต้น. ความรู้สึกตามสัญชาติญาณของสัตว์ ย่อมเอียงไปในกามและภพ คือความเป็น ตามที่ตนอยากจะเป็นอยู่เป็นประจำ หรือเรียกว่าเป็นนิสัย ; เมื่อได้ยินได้ฟังหรือได้รับความรู้ความคิดอันใหม่ ซึ่งเป็นไปในทางที่จะไถ่ถอนเสียซึ่งกามและภพ ก็มีความลังเลยากที่จะยอมรับเอาข้อปฏิบัติเหล่านั้นได้ ; ฉะนั้นวิจิกิจฉาจึงเป็นมิจฉาทิฏฐิหรือโมหะประเภทที่กีดกันสัตว์ ไม่ให้ย่างเหยียบลงสู่ร่องรอยของหนทางแห่งนิพพาน อีกอย่างเดียวกัน. เมื่อใดกำลังแห่งความรู้ที่ถูกต้อง ที่เรียกว่าสัมมาทิฏฐิมีมากพอ จนตัดความลังเลนั้นเสียได้ บุคคลนั้นก็ได้ชื่วว่าเป็นผู้ก้าวลงสู่หนทางของนิพพานได้แล้วโดยแน่นอน และเราบัญญัติ เรียกบุคคลอย่างนี้ว่า เป็นพระโสดาบัน. อกุศลเจตสิกที่เรียกว่า วิจิกิจฉานี้ถ้าเพ่งถึงอาการที่มันผูกพันสัตว์ไว้ ในการเดินทางที่ผิดในการเป็นอยู่ที่ผิด ความหมกจมว่ายเวียนอยู่กับความทุกข์แล้ว ก็เรียกว่า วิจิกิจฉาสัญโญชน์ ; และเมื่อเพ่งเล็งถึงอาการที่มันมีประจำอยู่ในสันดานของปุถุชนอย่างเหนียวแน่น และไม่ขาดสายแล้ว ก็ถูกเรียกว่า วิจิกิจฉานุสัย ตรงตามความหมายของคำว่าสัญโญชน์และคำว่าอนุสัยดังที่วินิจฉัยแล้วข้างต้น ; ละเสียได้เมื่อใด ก็ไม่มีอะไรเป็นเครื่องผูกพันสัตว์ไม่ให้ย่างเหยียบลงในร่องรอยแห่งนิพพานอีกต่อไป.

ค. สีลัพพตปรามาส คำนี้ แปลว่า การลูบคลำซึ่งศีลและพรต หรือการลูบคลำแห่งศีลและพรต. อย่างแรกหมายถึงความเข้าใจผิดต่อความหมายอันแท้จริงของคำว่า ศีล และ พรต ; อย่างหลังหมายถึงความที่ยังโง่มากยังหลงมากถึงขนาดที่ให้ศีลพรตประเภทที่ผิด ๆ หรืองมงายไร้สาระครอบงำเอา. ทั้ง ๒ อย่างนี้นำให้เกิดความยึดมั่นถือมั่น ต่อศีลและพรตผิดไปหมดทุกอย่างทุกทาง จนไม่สามารถใช้ศีลและพรตใด ๆ ให้เป็นประโยชน์แก่การดำเนินไปในทางของพระนิพพานได้แม้แต่น้อย ทั้งยังหลับหูหลับตายึดมั่นถือมั่นในศีลและพรต โดยวิธีไร้สาระอยู่อย่างไม่รู้สร่าง. ตามที่เป็นอยู่จริงในที่ทั่ว ๆ ไปนั้น เป็นไปโดยอาการ ๒ สถาน คือหลงใหลยึดถือ การถือสรณาคมณ์ การบำเพ็ญทาน การรักษาศีล การเจริญสมาธิ และวิปัสสนาที่ถูกต้อง ให้เขวไปในทางขลังทางศักดิ์สิทธิ์ อธิบายไม่ได้ด้วยเหตุผล ทำบุคคลให้กลายเป็นบุคคลศักดิ์สิทธ์วิเศษไปอย่างหลับหูหลับตาเพราะจิตยึดมั่นในความขลังความศักดิ์สิทธิ์แต่อย่างเดียวนั่นเอง นี้ทางหนึ่ง ซึ่งสรุปเรียกได้ว่า ทำของดีหรือของสะอาด ให้กลายเป็นของสกปรกไป ; ส่วนอีกทางหนึ่งตรงกันข้าม คือไปเอาของปลอมหรือของสกปรกภายนอกพุทธศาสนาเข้าถือไว้ในฐานะเป็นของดี ของสะอาด ในพุทธศาสนา. ข้อนี้ได้แก่การที่ไปหลงเอาข้อปฏิบัติงมงายไร้สาระ หรือถึงกับสกปรกโสมม นอกพุทธศาสนา หรือก่อนพุทธศาสนา มายึดถือเป็นข้อปฏิบัติ หรือทำที่พึ่งให้แก่ตนด้วยความสำคัญผิดหรือด้วยอำนาจของโมหะอย่างเดียวกัน. รวมใจความเข้าด้วยกันอย่างสั้น ๆ ก็คือโมหะหรือความหลง ที่ทำให้ไม่สามารถจับฉวยเอาศีลและพรตที่ถูกต้องแท้จริงมาประพฤติปฏิบัติให้สำเร็จประโยชน์ได้นั่นเอง. ถ้าโมหะในขั้นนี้ยังมีอยู่ในสันดานอยู่เพียงใดแล้ว ก็เป็นที่เห็นชัดอยู่แล้วว่า ไม่มีช่องทางที่เขาจะย่างเหยียบลงสู่ร่องรอยแห่งการปฏิบัติเพื่อนิพพานได้เลย แต่ถ้าชำระล้างหรือเพิกถอนเสียได้เมื่อใด แนวทางแห่งนิพพานก็จะเปิดเผยอย่างโล่งโถง และชัดเจนแก่บุคคลนั้นทันที ทำให้เขาหมดความลังเล ที่จะไม่ปฏิบัติเพื่อนิพพาน หรือทำให้เขามีความเข้าใจถูกต้องในความจริงที่ว่า สิ่งทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน ; เป็นอันว่าเขากำลังปฏิบัติถูกปฏิบัติชอบ กำลังมีศีลและพรตอย่างสมบูรณ์ ในทางที่จะเป็นไปเพื่อนิพพานโดยส่วนเดียว. พิจารณาดูแล้วจะเห็นได้ด้วยตนเองว่า ความเข้าใจผิดต่อศีลและพรตโดยทำนองที่กล่าวนี้ มันผูกพันหรือทำการกักกันสัตว์ไม่ให้ออกจากความเป็นปุถุชน ไปสู่ความเป็นพระอริยเจ้าได้อย่างไร เพราะฉะนั้น จึงได้นามว่าสัญโญชน์แต่ถ้าเล็งถึงความที่สัตว์มีความโง่เขลาชนิดนี้อยู่เป็นของประจำตัว ด้วยอำนาจสัญชาตญาณแห่งการหลงใหลในสิ่งที่แปลกประหลาดอัศจรรย์ผิดธรรมดา อย่างที่เรียกว่าความขลังความศักดิ์สิทธิ์ไม่มีสร่างแล้ว การถือศีลและพรตอย่างผิด ๆ ก็ได้นามว่าอนุสัย สงเคราะห์ลงในคำว่า ทิฏฐานุสัย กล่าวคือการเห็นผิดชนิดหนึ่งที่มีประจำสันดานนั่นเอง ; ทำนองเดียวกับที่ได้สงเคราะห์สักกายทิฏฐิสัญโญชน์ว่าเป็ทิฏฐานุสัย ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น.สัญโญชน์สามก็ดี อนุสัยสองก็ดี ดังที่กล่าวมาแล้วนี้ โดยใจความเล็งถึงโมหะอย่างเดียวกันและเท่ากัน สติปัญญาหรือญาณที่ถึงขนาดที่จะตัดโมหะส่วนนี้ได้นั้น ถูกบัญญัติชื่อว่าโสดาปัตติมรรคญาณหรือเรียกสั้น ๆ ว่า โสดาปัตติมรรค ซึ่งแปลว่ามรรคหรือญาณเพื่อการถึงกระแส (โสต = กระแส) + (อาปัตติ = การถึงทั่ว) + (มรรค = ทาง คือปัญญา) ถ้ามีการถามว่าโสดาปัตติมรรคญาณนี้ มีอำนาจหรือกำลังเท่าไร หรืออย่างไร ? ก็ตอบได้แต่เพียงว่า มันมีอำนาจหรือกำลังเท่าที่หรืออย่างที่จะสามารถทำลายสัญโญชน์สาม หรืออนุสัยสองก็ตาม ให้หมดไปจากสันดานได้เท่านั้นเอง ไม่ต้องการอะไรให้มากไปกว่านั้น ไม่หวังจะให้ขลังหรือศักดิ์สิทธิ์อะไรนอกไปจากนั้น กล่าวคือ ต้องการแต่เพียงให้สามารถย่างเท้าลงสู่ร่องรอยแห่งหนทางของนิพพานได้เป็นเบื้องต้นเท่านั้นเอง ปัญญาถึงขนาดนี้แหละที่เรียกว่า โสดาปัตติมรรคญาณ.เพื่อความกระจ่างยิ่งขึ้นไปอีก ควรพิจารณาให้ทราบถึงข้อที่ว่า การตัดสัญโญชน์สามหรืออนุสัยสองได้ด้วยโสดาปัตติมรรคญาณนี้ ที่แท้ก็มาจากการเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในขณะแห่งอานาปานสติขั้นที่สมบูรณ์ คือ เห็นว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่มีอะไรเป็นตัวตน จนถึงกับละสักกายทิฏฐิได้ ;เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างแจ่มแจ้งว่า เราเป็นทุกข์กันอยู่ก็เพราะไม่เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แท้ ๆ จึงมีความแน่ใจไม่ลังเลในการที่จะปฏิบัติเพื่อให้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ยิ่งขึ้นไป ตามแบบของพระพุทธเจ้า จึงตัดวิจิกิจฉาได้ไม่ลังเลในสรณะและการปฏิบัติของตนอีกต่อไป ; และมีการเห็น อนิจจัง ทุกขังอนัตตา อย่างแจ่มแจ้ง จนรู้จักกฎเกณฑ์ของความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเป็นอย่างดี ไม่หลงงมงายในศีลและพรตชนิดที่ไม่เป็นไปเพื่อทำให้เห็น อนิจจังทุกขัง อนัตตา ได้อีกต่อไป จึงตัดสีลัพพตปรามาสได้ ซึ่งหมายความถึงตัดอนุสัยทั้ง ๒ อย่างข้างต้นได้ด้วยอีกนั่นเอง. สรุปความ ได้ว่า การเห็นอนิจจัง ทุกขังอนัตตา นั่นแหละ ค่อย ๆ ไต่ขึ้นมาตามลำดับ จนถึงขนาดเห็นความจริงของสิ่งทั้งปวงในระดับหนึ่งได้ จึงสามารถตัดสัญโญชน์สาม หรือตัดตัวโมหะที่สะกัดกั้นไม่ให้สัตว์เดินถูกทางแห่งพพานได้อย่างราบเตียน ดังนี้.

๒. สกิทาคามิมรรค

สกิทาคามิมรรค ย่อมตัดสัญโญชน์สองหรืออนุสัยสอง ซึ่งมีชื่ออย่างเดียวกันเพิ่มขึ้นอีก กล่าวคือ กามราคสัญโญชน์หรือกามราคานุสัย และปฏิฆสัญโญชน์หรือปฏิฆานุสัย หากแต่ไม่สามารถตัดได้โดยสิ้นเชิง คงตัดได้เฉพาะที่เป็นชั้นหยาบหรือที่เรียกว่าโอฬาริกะ คงเหลืออยู่ที่เป็นชั้นละเอียด ซึ่งแทบไม่ปรากฏอาการ. กามราคะ และ ปฏิฆะ มีชื่อตรงกันทั้งที่เป็นสัญโญชน์และเป็นอนุสัย ข้อนี้ ย่อมแสดงว่าเป็นกิเลสที่มีชื่อ เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายยิ่งกว่ากิเลสชื่ออื่น.ความหมายของคำว่าสัญโญชน์ และคำว่าอนุสัยต่างกันอย่างไรได้กล่าวแล้วข้างต้น แต่ข้อสำคัญที่จะต้องไม่ลืมนั้นมีอยู่ว่า มันเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ได้ กล่าวคือ ถ้าตัดกามราคสัญโญชน์ ก็ต้องเป็นอันตัดกามราคานุสัยด้วย อย่างที่จะหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะเป็นของสิ่งเดียวกัน แต่ทำหน้าที่หลายอย่าง และเราไปให้ชื่อมันแปลก ๆ กันตามหน้าที่ที่มันกระทำดังที่กล่าวแล้วข้างต้น ซึ่งจะต้องกำหนดไว้เป็นหลักเสมอไปมิฉะนั้นจะฟั่นเฝือ จึงได้กล่าวย้ำอีกในที่นี้. คำว่า สกิทาคามิมรรค แปลว่า มรรคแห่งบุคคลผู้มาอีกเพียงคราวเดียว (สกิ = คราวเดียว) + (อาคามี = ผู้มีการมา) + (มรรค = ทาง คือปัญญา) จากความหมายของคำคำนี้ ทำให้เห็นได้ชัดอยู่ในตัวว่า เมื่อกล่าวโดยบุคคลาธิษฐานแล้วพระอริยบุคคลในขั้นนี้ เป็นพวกที่มีการเดินทางไปบ้างแล้ว ผิดจากพระอริยบุคคลในขั้นแรก กล่าวคือ พระโสดาบัน ซึ่งเป็นเพียงผู้ที่ย่างเหยียบลงสู่ทางเท่านั้น.ถ้ากล่าวโดยธรรมาธิษฐาน ก็เป็นอันกล่าวได้ว่าอริยมรรคในขั้นที่สองนี้ได้ตัดกิเลสประเภทอื่นรุดหน้าต่อไปอีก จากที่โสดาปัตติมรรคได้ตัดแล้ว ดังที่ได้ระบุไว้ข้างต้นว่า ได้ตัดกามราคะและปฏิฆะ ส่วนที่เป็นโอฬาริกะ คือที่แสดงกิริยาอาการให้ปรากฏได้สิ้นเชิง จึงเป็นเหมือนกับการรุดหน้าไปแล้วตอนหนึ่งแม้จะยังไม่ถึงที่สุดก็ตาม และคำว่า “มาอีกเพียงครั้งเดียว” นั่นเอง ย่อมแสดงถึงความสูงต่ำของอริมรรคขั้นนี้อยู่ในตัว หมายความว่า มีจิตใจสูงไปในทางของโลกุตตระถึงขนาดที่ว่า หากจะหวนย้อนมาระลึกถึงโลกิยะด้วยความอาลัยอีก ก็มีได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ซึ่งมักจะใช้โวหารพูดกันไปในทำนองว่า จะมาเกิดในกามภพได้อีกเพียงครั้งเดียว หรือบางคนก็มักจะระบุลงไปเลยว่า มาเกิดในมนุษย์โลกอีกเพียงครั้งเดียว ซึ่งเป็นการกล่าวอย่างบุคคลาธิษฐานที่รุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก. ถ้าจะกล่าวสรุปสั้น ๆ อย่างธรรมาธิษฐานแท้ ก็กล่าวได้ว่าหากความคิดจะน้อมมาในทางกาม หรือในทางปฏิฆะอย่างหยาบ ก็จะน้อมมาได้เพียงครั้งเดียว ;ซึ่งพูดอย่างโวหารธรรมดาก็ว่า จะมีความคิดน้อมมารู้สึกรักหรือชังอย่างปุถุชนธรรมดาสามัญได้อีกอย่างมาก ก็เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ไม่ต้องกล่าวถึงการกระทำหรือกล่าวถึงการเกิดทางรูปกายเป็นหลักแต่ประการใด นี้คือขอบเขตที่เป็นการบัญญัติความแตกต่าง ระหว่างอริยมรรคขั้นที่หนึ่งและอริยมรรคขั้นที่สอง.

ถ้าจะกล่าวเปรียบเทียบกันอีกทางหนึ่ง เพื่อให้เห็นชัดโดยง่ายขึ้นไปอีกก็อาจจะกล่าวได้ว่า โสดาปัตติมรรคละสัญโญชน์ประเภทโมหะได้ ๓ ชนิด หรืออนุสัยประเภทโมหะได้ ๒ ชนิดก็ตาม. สกิทาคามิมรรค ก็ละสัญโญชน์หรืออนุสัยประเภทราคะและโทสะได้อีกตั้งครึ่งตั้งค่อน ซึ่งเปรียบกันได้กับการเดินทางไปบ้างแล้วเป็นส่วนมาก ในเมื่อโสดาปัตติมรรคเป็นแต่เพียงการคลำหาจนพบหนทางที่ถูกและเริ่มลงมือเดินเท่านั้น. จากข้อเปรียบเทียบนี้ ย่อมแสดงให้เห็นความจริงที่สำคัญได้บางอย่าง เช่นว่า จะต้องมีการตัดโมหะที่จำเป็นบางส่วนเสียก่อน ก่อนการตัดราคะหรือโทสะโดยตรง. สมตามที่ได้ทรงบัญญัติไว้ว่า มรรคมีองค์แปดมีสัมมาทิฏฐิหรือปัญญานำ หน้า แล้วจึงมาถึงศีลหรือสมาธิ แต่คนทั่วไปมักจะหลงผิดไปตามลำดับแห่งการบัญญัติทางฝ่ายหลักวิชาหรือฝ่ายหลักทฤษฎี กล่าวคือเรียงลำดับราคะหรือโลภะเป็นที่หนึ่ง โทสะหรือโกธะเป็นที่สอง และโมหะเป็นที่สาม หรือเรียงลำดับไตรสิกขาเป็นศีล สมาธิ ปัญญา ; ส่วนหลักในทางปฏิบัติจริง ๆ นั้นกลับไขว้กัน คือยกเอาโมหะขึ้นมาเป็นสิ่งแรก ที่จะต้องตัดก่อนแล้วจึงจะตัดราคะหรือโทสะเป็นลำดับไป ดังที่ปรากฏอยู่ในหน้าที่ที่โสดาปัตติมรรคและสกิทาคามิมรรค จะพึงตัดสัญโญชน์ดังกล่าวแล้ว และทำให้ต้องยกเอาปัญญามาวางไว้หน้าศีลและสมาธิดังที่ปรากฏในการจัดลำดับแห่งองค์ ๘ ของมรรค ดังที่ใคร ๆ ก็ทราบกันอยู่แล้วว่า สัมมาทิฏฐิองค์ที่หนึ่งและสัมมาสังกัปปะองค์ที่สองนั้นเป็นปัญญา เหลือจากนั้นจึงเป็นศีลและสมาธิไปตามลำดับ. ข้อนี้ทำให้สรุปความได้ว่า ทางแห่งการปฏิบัติเพื่อนิพพานนั้น ต้องเริ่มผจญกันเข้ากับกิเลสประเภทโมหะบางส่วนก่อน แล้วจึงสามารถทำลายกิเลสประเภทราคะโทสะและโมหะที่เหลือ รุดหน้าไปได้ตามลำดับ ถ้ามิฉะนั้นแล้วก็มัวแต่หลงอยู่ไม่รู้ว่าจะทำลายราคะหรือโทสะอย่างไรอยู่นั่นเอง. จึงควรตั้งข้อสังเกตไว้สักอย่างหนึ่งว่า ถ้าเรียงลำดับกิเลสอย่างนักปริยัติ ก็จะเรียกว่า ราคะ โทสะ โมหะ แต่ถ้าเรียงอย่างนักปฏิบัติที่แท้จริง ก็จะกลายเป็นเรียงว่า โมหะ ราคะ โทสะ ตามลำดับที่จะต้องตัดจริงก่อนหลังด้วยอำนาจอริยมรรคนั้นเอง. นักปริยัติจะเรียงลำดับไตรสิกขาว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นการเรียงตามลำดับความสูงต่ำกว่ากัน. แต่นักปฏิบัติจะเรียงว่า ปัญญา ศีล สมาธิ ตามลำดับเวลาก่อนและหลังที่อริยมรรคจะพึงตัดกิเลสเหล่านั้น ดังที่มีหลักอันตายตัวและชัดแจ้งอยู่แล้ว ในลำดับแห่งการตัดสัญโญชน์ของอริยมรรค หรือในลำดับแห่งองค์ของอริยมรรค ซึ่งมีสัมมาทิฏฐิเป็นข้อต้นที่สุดดังที่เห็น ๆ กันอยู่ ถ้าถามว่าเพาะเหตุใดจึงเป็นดังนี้ ? ก็ตอบได้ง่าย ๆ ว่า การปฏิบัติในพุทธศาสนานั้น เป็นการปฏิบัติที่เปรียบกันได้กับการทำงานในที่สว่าง มันจะต้องจุดตะเกียงขึ้นเสียก่อนจึงจะทำอะไรต่อไปได้ ด้วยอาศัยแสงสว่างนั้น. ตามธรรมดาสามัญสัตว์ตกอยู่ในที่มืดคือโมหะ หรืออวิชชา คว้าอะไรไม่ถูก จะต้องขจัดความมืดออกไป ด้วยอาศัยแสงสว่างคือปัญญา หรือสัมมาทิฏฐิเป็นเบื้องต้นก่อน จึงจะสามารถอาศัยแสงสว่างนั้นทำกิจที่เหลือต่อไปตามลำดับจนถึงที่สุด เพราะเหตุนี้เอง พระพุทธองค์จึงตรัสว่ามัชฌิมาปฏิปทาอันประกอบด้วยองค์แปดนั้น มีสัมมาทิฏฐิเป็นเหมือนรุ่งอรุณคือต้องมาก่อน แล้วสิ่งต่าง ๆ จึงจะตามมาได้โดยสมบูรณ์. แม้โดยหลักทั่วไปก็ถือกันว่า ปัญญาเป็นตัวนำมาซึ่งกุศลธรรมทั้งหลาย ตั้งแต่ระยะแรกเริ่มต้นจนถึงระยะสุดท้าย เช่นปัญญา ทำ ให้อยากรู้ อยากเรียน อยากปฏิบัติ ทำให้รู้จักสงสัยในความไม่สมบูรณ์ของความรู้ที่มีอยู่ก่อน ทำให้รู้จักเลือกความรู้ หรือเปลี่ยนแนวทางทำ ให้รู้จักถือสรณะเป็นขั้นแรก แล้วรู้จักให้ทาน รักษาศีล เจริญสมาธิ และวิปัสสนาเป็นลำ ดับไป ซึ่งอะไร ๆ ถ้าเป็นไปในทางถูกแล้ว ก็ล้วนแต่มีปัญญาเป็นผู้เบิกอรุณแล้วจูงไปทั้งนั้น.การวินิจฉัยในข้อนี้อย่างยืดยาวนั้น เป็นการป้องกันเสียซึ่งความหลงผิด ยึดถือเอาตามตัวหนังสือมากเกินไป โดยไปเอาหลักของนักปริยัติมาเป็นหลักของนักปฏิบัติ ก็จะเกิดการติดตันขึ้นมาอย่างเส้นผมบังภูเขาทีเดียว ดังที่เราจะเห็นกันได้อยู่ทั่วไปในหมู่บุคคลผู้ยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทานในความรู้ตามตัวหนังสือตามที่ตัวท่องบ่นอยู่เหล่านั้น.สิ่งที่ต้องเข้าใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ การระบุชื่อสัญโญชน์หรืออนุสัยที่อริยมรรคนั้น ๆ จะพึงตัด : ถ้าระบุเฉพาะชื่อที่อริยมรรคนั้น สามารถตัดได้ขาดโดยตรง และแม้แต่ตัดเพียงครั้งเดียวส่วนเดียว ก็ยังเป็นการตัดประเภทสมุจเฉทปหานอยู่นั่นเอง.

ฉะนั้นพึงทราบว่า แม้จะไม่มีการระบุว่าโสดาปัตติมรรคได้ตัดกามราคะหรือปฏิฆะเลย ก็มิได้หมายความว่า พระโสดาบันเป็นผู้ที่ยังคงมีกามราคะหรือปฏิฆะจัด อย่างไม่มีการบรรเทาเบาบางเสียเลยก็หาไม่ หากแต่ว่ายังไม่สามารถตัดได้ถึงขนาดที่เป็นสมุจเฉทปหานไป เพียงบางส่วนเท่านั้น, ดังนั้นท่านจึงไม่กล่าวถึงการตัดกามราคะหรือปฏิฆะโดยตรง สำหรับพระโสดาบัน คงกล่าวแต่การตัดโมหะ ๓ ชนิด ประเภทที่ทำให้ไม่รู้จักทางหรือเดินผิดทางดังกล่าวแล้ว.และถ้ามีการบรรเทาแห่งกามราคะและปฏิฆะเกิดขึ้นบ้าง ก็เป็นเพียงผลพลอยได้ตามสัดส่วนเท่านั้นเอง หาใช่เป็นการตัดด้วยสมุจเฉทปหานไม่ ฉะนั้น ท่านจึงไปกล่าวถึงการตัดกามราคะและปฏิฆะประเภทหยาบโดยสมบูรณ์ ในขั้นสกิทาคามิมรรค และตัดประเภทละเอียดโดยสมบูรณ์ในขั้นอนาคามิมรรคโดยตรง.ฉะนั้น ทำ ให้เห็นพร้อมกันไปได้อีกทางหนึ่งว่า การที่ท่านระบุสกิทาคามิมรรค ว่ามีหน้าที่ตัดกามราคะและปฏิฆะโดยตรงนั้น ย่อมหมายความว่าการบรรเทาโมหะบางอย่างบางประเภท ได้เพิ่มขึ้นอีกตามสัดส่วนอยู่ด้วยเหมือนกันหากแต่ว่าไม่ถึงขนาดที่อาจจะนำมากล่าวได้เท่านั้น. ฉะนั้น จะต้องถือเป็นหลักว่าอริยมรรคที่สูงขึ้นไปนอกจากจะตัดกิเลสที่มีชื่อโดยตรงตามหน้าที่ของตนแล้ว ก็ยังสามารถบรรเทากิเลสชื่ออื่น ซึ่งไม่ถูกระบุชื่อได้มากไปกว่าอริยมรรคที่ต่ำกว่าอยู่เป็นธรรมดาและเป็นเรื่องของธรรมดา.คำว่า กามราคะ ในภาษาไทยฟังดูแล้วคล้ายกับหมายถึงแต่ราคะที่กำลังแก่กล้า หรือที่เป็นไปอย่างแรงกล้าถึงที่สุดเท่านั้น. ส่วนความหมายในภาษาบาลีนั้น มีความหมายชนิดทั่วไป คือหมายถึงความกำหนัดยินดีในสิ่งที่เรียกว่ากามทุกประเภท ส่วนที่จะแบ่งแยกเป็นอย่างหยาบอย่างละเอียดเพียงไรนั้น ย่อมมีได้ตามควรแก่กรณี แต่ไม่จำเป็นถึงกับต้องเปลี่ยนชื่อก็ได้ ดังที่เรียกในที่นี้ว่ากามราคะอย่างหยาบและกามราคะอย่างละเอียดเป็นต้น. ฉะนั้น เป็นอันให้เข้าใจว่าการที่ไม่ได้จัดกามราคะไว้ในฐานะเป็นสิ่งที่โสดาปัตติมรรคจะพึงตัดนั้น มิได้หมายความว่า พระโสดาบันเป็นบุคคลประเภทที่ยังมีกามราคะจัดแต่ประการใดแต่ต้องเป็นสิ่งที่บรรเทาเบาบางไปแล้ว ตามสัดส่วนที่สมควรแก่โมหะ ๓ อย่างที่ตัดแล้วนั่นเอง.สรุปความว่า ความหมายของคำคำนี้ จะถือเอาตามที่หมายกันอยู่ในโวหารภาษาไทยทั่ว ๆ ไปหาได้ไม่ แต่ให้หมายกว้าง ถึงความพอใจในกามทุกประเภท ดังที่กล่าวแล้ว.

สำหรับคำว่า ปฏิฆะ ซึ่งแปลว่า ความกระทบกระทั่งนั้น ในภาษาไทยกลับมีความหมายที่เบากว่าความหมายเดิมในภาษาบาลี กล่าวคือ คล้ายกับว่าจะหมายถึงความขัดใจ หรือขุ่นข้องอยู่ในใจเพียงเล็กน้อย ; ส่วนความหมายในภาษาบาลีเป็นความหมายที่กว้างหรือทั่วไปอีกอย่างเดียวกัน คือหมายถึงความโกรธหรือโทสะนั่นเอง จึงต้องแบ่งเป็นอย่างหยาบและอย่างละเอียด ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น และพึงเข้าใจอย่างเดียวกันกับที่กล่าวมาแล้ว ในกรณีของกามราคะส่วนที่เกี่ยวกับโสดาปัตติมรรค กล่าวคือ แม้พระโสดาบันไม่สามารถละปฏิฆะได้โดยสมุจเฉทปานสักประเภทเดียว แต่ก็มิได้หมายความว่า ท่านจะต้องเป็นคนมักโกรธอย่างเต็มที่เหมือนปุถุชน ทั้งนี้ เพราะเหตุที่ปฏิฆะนั้นบรรเทาไปแล้วตามสัดส่วนด้วยอริยมรรคนั้น แม้ไม่มากก็น้อย. ฉะนั้น การกล่าวชื่อของวิมุตติสุขญาณไปตามชื่อของสัญญโญชน์หรืออนุสัยที่อริยมรรคนั้น ๆ สามารถตัดได้นั้น เป็นการกล่าวที่เหมาะสมอย่างยิ่ง กล่าวคือ ทำให้มองเห็นลักษณะของวิมุตติสุขนั้น ๆ ได้อย่างชัดแจ้งจริง ๆ.สรุปความได้สั้น ๆ ว่า สกิทาคามิบุคคลสามารถบรรลุวิมุติสุขเพิ่มขึ้นอีก ๒ ชั้น กล่าวคือ วิมุตติสุขที่เกิดขึ้นเพราะ การละกามราคะอย่างหยาบ และการละปฏิฆะอย่างหยาบ เสียได้นั่นเอง หรือถ้าจะแยกเป็น ๔ ชื่อ ก็อาจจะทำได้ด้วยการแยกกิเลสทั้ง ๒ ชื่อนี้ ให้เป็นสัญโญชน์อย่างหนึ่งและให้เป็นอนุสัยอีกอย่างหนึ่ง ดังที่ปรากฏอยู่ในรายชื่อของวิมุตติสุขญาณ ๒๑ นั้นแล้ว กล่าวสรุปได้สั้น ๆ ว่า เมื่อโสดาปัตติมรรคละกิเลสประเภททำความมืดได้ ๓ อย่าง สกิทาคามิมรรค ก็ละกิเลสประเภททำความร้อนได้เพิ่มขึ้นอีก ๒ อย่าง โดยอัตราส่วนที่เหมาะกับกำลังของตน.

๓. อนาคามิมรรค

อนาคามิมรรค ย่อมตัดสัญโญชน์สองหรืออนุสัยสอง ชื่อเดียวกันกับที่สกิทาคามิมรรคตัด แต่เป็นการตัดส่วนที่ละเอียด (ที่เหลือวิสัยของสกิทาคามิมรรค)ได้อย่างสิ้นเชิง ซึ่งเป็นมาตรฐานที่กล่าวกันอยู่ทั่ว ๆ ไป ได้ยินกันอยู่ทั่ว ๆ ไปและถือเป็นหลักกันได้ง่าย ๆ ทั่ว ๆ ไป พระอนาคามีย่อมปราศจากกามราคะและปฏิฆะโดยสิ้นเชิง คงเหลืออยู่แต่โมหะบางส่วน ที่จะพึงตัดต่อไปเท่านั้น.เป็นอันว่าพระอนาคามีไม่มีราคะในกามโดยเด็ดขาดแล้ว แต่ไปมีราคะในภพคือความเป็นแห่งบุคคลผู้เสวยสุขอันไม่เนื่องด้วยกาม ส่วนปฏิฆะหรือโทสะนั้น เป็นอันหมดไปโดยประการทั้งปวง โดยนัยนี้เป็นอันกล่าวได้สั้น ๆ ว่าอนาคามิมรรคนั้นตัดโทสะได้สิ้นเชิงไม่มีส่วนเหลือ ตัดราคะได้เฉพาะส่วนที่เป็นกาม ยังเหลืออยู่ในส่วนที่เป็นภพ และตัดโมหะเพิ่มขึ้นได้ตามส่วน จนเหลืออยู่แต่ส่วนที่เป็นชั้นละเอียดเกี่ยวกับอัตตวาทุปาทานโดยตรงเป็นส่วนใหญ่.เพื่อเข้าใจความหมายของอนาคามิมรรค หรือความเป็นอนาคามีได้อย่างชัดเจน จำเป็นจะต้องทำการเปรียบเทียบดูทั้งข้างหน้าและข้างหลัง คือเปรียบเทียบกันดูกับสัญโญชน์ หรืออนุสัย ที่โสดาปัตติมรรคและสกิทาคามิมรรคได้ตัดมาแล้วและสัญโญชน์บางอย่างที่เหลืออยู่ ให้อรหัตตมรรคตัดต่อไปข้างหน้าก็จะทราบความหมายของคำว่าอนาคามี ซึ่งอยู่ตรงกลางได้ดี. ใจความสำคัญของข้อนี้อยู่ตรงที่ว่า คนธรรมดาสามัญเมื่อได้ยินคำว่าราคะ ย่อมรู้สึกไปในทางราคะในกามอย่างเดียวเท่านั้น เมื่อได้ยินว่าพระอนาคามีตัดกามราคะได้สิ้นเชิงก็ย่อมเข้าใจว่าพระอนาคามีปราศจากราคะโดยสิ้นเชิงเป็นธรรมดา แต่เมื่อเหลียวไปข้างหน้า ยังมีราคะเหลืออยู่อีก ๒ ประเภท ที่พระอนาคามีจะต้องตัดต่อไปเพื่อความเป็นพระอรหันต์ ราคะ ๒ ประเภทนั้น คือ รูปราคะ อรูปราคะ หรือรวมเรียกเข้าด้วยกันเป็นอย่างเดียวกันว่า ภวราคะ ดังนี้ก็ได้.

รูปราคะ คือความกำหนัดยินดีในความสุขอันเกิดจากรูปฌาน, อรูปราคะ คือความกำหนัดยินดีในความสุขอันเกิดจากอรูปฌาน รวมกันเข้าแล้วเรียกว่า ภวราคะ หรือความกำหนัดยินดีในความเป็นชนิดใดชนิดหนึ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับกามเลย. ราคะเหล่านี้ฟังดูแล้วคนธรรมดาสามัญทั่วไปไม่อาจจะเข้าใจได้ว่ามันจะเป็นราคะไปได้อย่างไร เพราะเคยเข้าใจหรือรู้สึกซึมทราบ แต่ในเรื่องของกามราคะที่เป็นของร้อนโดยเปิดเผยจึงไม่สามารถเข้าใจไฟคือ ราคะชนิดเย็น กล่าวคือ ความกำหนัดยินดีต่อความสุขที่เกิดจากฌาน นี้ว่าเป็นราคะได้. ถ้าพูดอย่างบุคคลาธิษฐาน ก็พูดได้อย่างสั้น ๆ น่าขบขัน แต่แสดงความหมายได้ถูกต้องที่สุด ว่า พระอนาคามีละได้แต่ราคะร้อนแต่ไม่สามารถละราคะเย็น กล่าวคือ ความยินดีในสุขที่เกิดจากฌานหรืความยินดีในความได้เป็นบุคคลเช่นนั้นได้เลย. เมื่อเข้าใจความหมายข้อนี้ดี ย่อมเข้าใจความหมายของความเป็นพระอนาคามีในส่วนที่เกี่ยวกับราคะได้ดี และไม่หลงไปตามเขาว่า ว่าพระอนาคามีย่อมละราคะได้โดยสิ้นเชิง ดังนี้เป็นต้น. ฉะนั้นเมื่อจะวินิจฉัยในวิมุตติสุขของพระอนาคามีกันอย่างถูกต้องว่ามีอยู่อย่างสูงต่ำเพียงไร ก็พึงพิจารณาถึงการละราคะ ๓ ประเภท คือกามราคะ รูปราคะ อรูปราคะ นี้กันโดยละเอียด ก็จะทราบความแตกต่างของวิมุตติสุขญาณที่มีอยู่เป็นชั้น ๆ ได้เป็นอย่างดี.กล่าวโดยแท้จริงแล้ว รูปราคะ และอรูปราคะ ไม่น่าจะถูกจัดเป็นราคะน่าจะถูกจัดเป็นโมหะชนิดใดชนิดหนึ่งมากกว่า เช่นเดียวกับคำว่า ธรรมราคะซึ่งแปลว่ากำหนัดในธรรม ซึ่งหมายถึงธรรมซึ่งมีนิพพานเป็นผล แต่ท่านก็ยังไม่จัดหรือไม่บัญญัติว่าเป็นโมหะ คงจัดว่าราคะอยู่นั่นเอง โดยประสงค์เอาใจความสำคัญตรงที่ ใจไปกำหนัดรักยินดีเกี่ยวข้องติดพันอยู่ อย่างแน่นแฟ้นนั่นเอง.ฉะนั้น ทุกคนควรจะจับหลักให้ได้ว่า ราคะก็ดี โทสะก็ดี โมหะก็ดี แม้จะมีมูลมาจากอวิชชาด้วยกันทั้งนั้น ก็ยังมีความมุ่งหมายในการกระทำที่ต่างกัน กล่าวคือราคะหมายถึงความกำหนัดหรือความพอใจ ที่จะเอาไว้เป็นของตน ; ส่วนโทสะหมายถึงความเดือดพล่าน ในสิ่งที่ไม่เป็นที่ตั้ง แห่งความกำหนัด หรือพอใจกล่าวคือ ความรู้สึกที่เป็นไปในทางที่จะไม่เอาไว้เป็นของตน หรือผลักออกไปเสียจากความเป็นของตน เพราะรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่เข้ามาทำ ลายหรือเป็นอันตรายต่อสิ่งที่เป็นของของตน ; ส่วนโมหะนั้นมีความหมายดิ่งไปในทางหลงผิด ที่ยึดถือโดยความเป็นตัวตนเป็นส่วนใหญ่ ตลอดถึงแบ่งแยกว่าเป็นตัวตนชนิดไหน คือดีหรือชั่ว น่ารักหรือน่าชังเป็นต้น เป็นคู่ ๆ ไป. สรุปความสั้น ๆ ที่สุดก็คือว่า โมหะทำ ให้รู้สึกว่า มีตัวตนของสิ่งนั้นสิ่งนี้ ที่ทำ ให้ถูกแบ่งแยกเป็นน่ารักน่าชังขึ้นมา ราคะ ก็คือการเข้าไปติดในส่วนที่น่ารัก โทสะ ก็คือการเข้าไปติดในส่วนที่น่าชังนั่นเอง ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ ตลอดเวลาที่พระอนาคามียังไม่สามารถละโมหะโดยสิ้นเชิงอยู่เพียงใด ก็ยังมีความรู้สึกว่ายังมีสิ่งที่น่ารักน่าชังอยู่เพียงนั้น ; แม้จะละการเข้าไปติดในส่วนที่น่าชังได้เด็ดขาด ก็ยังมีส่วนที่น่ารักเหลืออยู่ ; แม้จะละการเข้าไปติดในฝ่ายที่น่ารักเกี่ยวกับกามได้ ก็ยังเหลือส่วนที่น่ารักที่ประณีตหรือสุขุมยิ่งขึ้นไป กล่าวคือส่วนที่ไม่เกี่ยวกับกามเลย อันได้แก่ความสุขที่เกิดจากธรรมที่มีรูปและไม่มีรูป อันหมดจดจากกามที่ถูกนำเอามาใช้เป็นอารมณ์แห่งฌาน หรือสมาบัตินั่นเอง. ฉะนั้น จึงยังเป็นอันกล่าวได้อยู่ว่า ยังมีการติดอยู่ในส่วนที่น่ารักและถูกจัดว่ามีราคะที่เรียกว่ารูปราคะหรืออรูปราคะ ดังกล่าวแล้ว. วิมุตติสุขของท่านมีเพิ่มขึ้นกว่าที่พระโสดาบัน พระสกิทาคามีได้รับ ก็อยู่ตรงที่ละโทสะได้เด็ดขาด และละราคะที่เราสมมติเรียกว่าราคะร้อนนั้นเสียได้เท่านั้นเอง คงเหลือราคะเย็นอยู่ สำหรับจะต้องละอีกต่อไป พร้อมกับโมหะส่วนที่ทำให้สำคัญว่ามีตัวตนของสิ่งที่น่ารักและน่าชังทั้งหมดจนกว่าจะหมดสิ้นไปด้วยกัน. จึงเป็นอันกล่าวได้สั้น ๆ ตามชื่อของวิมุตติสุขญาณนั้น ๆ ว่าพระอนาคามีย่อมเสวยวิมุตติสุขอันเกิดจากความสิ้นไปแห่งกามราคะ และแห่งความสิ้นไปของปฏิฆะโดยสิ้นเชิงดังนี้.

๔. อรหัตตมรรค

อรหัตตมรรค ย่อมตัดสัญโญชน์ที่เหลืออยู่อีก ๕ และอนุสัยที่เหลืออยู่อีก ๓ ซึ่งที่แท้ก็ได้แก่กิเลสอย่างเดียวกัน ในเมื่อนำมาเปรียบเทียบกัน กล่าวคืออนุสัย ๓ ได้แก่มานานุสัย ภวราคานุสัย และอวิชชานุสัย ; ส่วนสัญโญชน์อีก ๕ คือรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะและอวิชชา ; เมื่อสงเคราะห์กันกับอนุสัย จะลงกันได้ คือ รูปราคะกับอรูปราคะ ก็คือภวราคานุสัยนั่นเอง มานะและอุทธัจจะก็คือมานุสัย ส่วนอวิชชา ก็คืออวิชชานุสัยโดยตรงอยู่แล้ว . เป็นอันว่าอนุสัย ๓ ที่เหลือ หรือสัญโญชน์ ๕ ที่เหลือ สำหรับอรหัตตมรรคตัดนั้น มีความหมายเท่ากัน หากแต่พวกหนึ่งได้จำแนกออกไปให้มากขึ้นโดยชื่อเท่านั้นเอง.ที่ว่ารูปราคะและอรูปราคะ รวมกัน คือภวราคะ หรือภวราคานุสัยนั้นอธิบายว่า คำว่า ภวราคะ แปลว่า ราคะในภพ. คำว่าภพในที่นี้หมายถึงรูปภพและอรูปภพเท่านั้น ไม่หมายถึงกามภพ. เพราะคำว่ากามภพได้หมายถึงแล้วในกามราคะ ซึ่งอนาคามิมรรคได้ตัดไปเสร็จสิ้นแล้ว จึงเหลืออยู่แต่รูปภพและอรูปภพซึ่งอนาคามิมรรคไม่สามารถจะตัด และเหลืออยู่เป็นที่ตั้งแห่งราคะที่อรหัตตมรรคจะพึงตัดและรวมเข้าด้วยกันทั้ง ๒ อย่าง คือ รูปราคะ และอรูปราคะ เป็นเพียงอย่างเดียว คือภวราคะ และเติมคำว่าอนุสัยต่อท้ายเข้า จึงเป็นภาวราคานุสัย เป็นอันกล่าวได้ว่าภวราคานุสัย อันเป็นอนุสัยที่ ๖ ก็คือรูปราคสัญโญชน์ และอรูปราคสัญโญชน์ อันเป็นสัญโญชน์ลำดับที่ ๖ และที่ ๗ ตามลำดับนั่นเอง.ที่ว่ามานะและอุทธัจจะ อันเป็นสัญโญชน์ ๒ ชื่อนี้ สงเคราะห์เข้าได้ในอนุสัย ชื่อมานานุสัยนั้น อธิบายว่า มานสัญโญชน์มีชื่อตรงกับมานานุสัยอยู่อย่างชัดแจ้งแล้ว ; ส่วนอุทธัจจะก็สงเคราะห์เข้ามาในกิเลสประเภทมานะ เพราะจิตฟุ้งขึ้นหรือกระเพื่อมขึ้น ด้วยอำนาจความสนใจหรือความทึ่งก็ตาม นี้มีมูลมาจากความสำคัญว่าตัวตนหรือว่าของตน ซึ่งได้แก่มานะนั่นเอง ถ้าไม่มีอาการแห่งมานะแล้ว อาการแห่งอุทธัจจะก็มีไม่ได้ จึงได้สงเคราะห์อุทธัจะ ที่เป็นสัญโญชน์ข้อนี้เข้าในมานานุสัย เพื่อตัดปัญหาหรือทางที่จะสงสัยว่า ทำไมจึงละอนุสัยเพียง ๓ และละสัญโญชน์ถึง ๕ ซึ่งจะเป็นที่ฉงนสำหรับผู้ที่มองไม่เห็นว่าสิ่งทั้งห้า และสิ่งทั้งสามนี้จะเท่ากันได้อย่างไร.สำ หรับอวิชชานั้น มีชื่อตรงต่อกันและกันอยู่แล้ว ไม่ต้องทำ การสงเคราะห์ สิ่งที่ต้องวินิจฉัยต่อไปก็คือ รายละเอียดของสัญโญชน์เรียงอย่างทั้ง๕ อย่าง ซึ่งเมื่อวินิจฉัยครบถ้วนแล้ว ก็จะเป็นอันว่าวินิจฉัยอนุสัย ๓ ที่เหลือเสร็จสิ้นพร้อมกันไปในตัว ดังต่อไปนี้ :-

ก. รูปราคะ คำนี้โดยพยัญชนะแปลว่า ความกำหนัดในรูป (รูปะ = รูป,ราคะ = ความกำหนัด) คำว่ารูปในที่นี้ หมายถึงสิ่งที่มีรูป หรือสิ่งที่มีรูปเป็นที่ตั้งแต่รูปนั้น ๆ ไม่มีความหมายของกามหรือเป็นไปในทางกาม กล่าวคือ ไม่เกี่ยวกับกามเลย จึงต้องเรียกมันแต่เพียงว่ารูป แม้ว่ากามตามปรกติก็เป็นสิ่งที่มีรูป หรือเนื่องอยู่กับรูป แต่ถ้ามีความหมายทางกามเข้ามาเป็นส่วนสำคัญ เราเรียกสิ่งเหล่านั้นว่ากาม ไม่เรียกว่ารูป โดยกันเอาคำว่ารูปมาใช้กับรูปที่บริสุทธิ์จากกามคือไม่มีกามเข้ามาเกี่ยวข้องเลย.คำว่ารูปในที่นี้ยังมีความหมายลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง คือหมายถึงผลที่เกิดมาจากรูป เช่นนำเอารูปธรรมอันใดอันหนึ่ง ดังเช่นลมหายใจ ในกรณีแห่งการเจริญอานาปานสตินี้มาเป็นอารมณ์ สำหรับเจริญสมาธิภาวนามีผลเกิดขึ้นเป็นฌานอันมีลมหายใจเป็นอารมณ์ ฌานนั้นทำให้เกิดความรู้สึกที่เป็นสุข ความสุขจึงเป็นผลเกิดมาจากรูป กล่าวคือ ลมหายใจ ; ถ้ากำหนัดยินดีในความสุข ข้อนี้ก็เรียกว่า กำหนัดในรูปด้วยเหมือนกัน. นี้เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นชัด ว่ารูปที่ไม่เกี่ยวกับกามเป็นรูปบริสุทธิ์ล้วน ๆ ก็ยังเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดได้. หรือกล่าวกลับกันอีกอย่างหนึ่ง ก็กล่าวได้ว่าความกำหนัดนั้น มิได้มีเฉพาะแต่ในกามแต่อาจจะมีได้แม้ในรูปธรรมบริสุทธิ์ ซึ่งเรียกสั้น ๆ ว่า “รูป” ในที่นี้ หรือที่เรียกว่า “ภพ” ในคำว่า ภวราคานุสัย อนุสัยคือความกำหนัดในภพ ดังนี้เป็นต้น.ข้อนี้เป็นการชี้ให้เห็นพร้อมกันไปในตัวว่า สิ่งที่เรียกว่าราคะ หรือความกำหนัดนั้นมีอยู่หลายระดับซึ่งไม่เหมือนกันเลย หรือสูงต่ำกว่ากันอย่างที่ไม่อาจจะเปรียบกันได้ เช่นกามราคะความกำหนัดในกาม ที่กล่าวถึงในกรณีของพระอนาคามี และรูปราคะที่กล่าวถึงในที่นี้ และอรูปราคะที่จะกล่าวถึงข้างหน้า ถ้าพิจารณาดูแล้วจะเห็นว่าสูงต่ำกว่ากันคนละระดับจริง ๆ ; และเมื่อเข้าใจได้ทุกระดับแล้ว จะสามารถเข้าใจความหมายของวิมุตติสุขขั้นนั้น ๆ ได้เต็มที่.คำว่ารูปราคะโดยทั่วไป มีความหมายกว้าง ๆ หมายถึงความยินดีหรือกำหนัดในความสุขอันเกิดแต่รูปธรรม ที่ไม่เกี่ยวกับกามทุกชนิด และอาจขยายความออกไปได้ถึงความกำหนัดยินดี ใน ความที่ได้เป็นอย่างนั้น หรือ ความที่ได้เกิดในโลกที่มีความเป็นอย่างนั้น หากแต่ว่าความเป็นอย่างนั้น หรือความได้เกิดในโลกที่มีความเป็นอย่างนั้น นั้น มีความหมายอยู่ตรงความสุขอันบริสุทธิ์ไม่เกี่ยวกับกาม อันเกิดมาจากรูปธรรมที่มีใช่กามนั่นเอง.ถ้าจะเข้าใจสิ่ง ๆ นี้ให้ชัดแจ้งจริง ๆ จะต้องนำไปเปรียบเทียบกันกับความสุขที่เกิดมาจากกามโดยตรง จึงจะเข้าใจได้ คือเปรียบเทียบให้เห็นว่าต่างฝ่ายต่างมีอำนาจดึงดูดหรือย้อมใจสัตว์ ได้อย่างเต็มที่อย่างไร. แต่ข้อนี้ทำยากสำหรับคนธรรมดาสามัญ ซึ่งมีจิตใจอยู่ในระดับกามาวจรภูมิ คือเข้าใจซึมทราบได้เฉพาะความสุขที่เกิดจากกาม เพราะเป็นสิ่งที่มีประจำอยู่ในใจ แต่ไม่สามารถจะเข้าใจความสุขที่เกิดมาจากรูป เพราะยังไม่เคยรู้รส เพราะเหตุที่เป็นของสำหรับสัตว์ประเภทที่ตั้งอยู่ในรูปาวจรภูมิ ฉะนั้น มีทางที่จะทำได้ โดยทางการศึกษาเปรียบเทียบจากบุคคลตัวอย่างบางคนเท่านั้น.ตัวอย่างที่กล่าวนี้ ได้แก่บุคคลที่เสวยกามสุขในฐานะเป็นกษัตริย์ หรือเป็นเศรษฐีเป็นต้นอย่างเต็มที่ แล้วออกบวชเป็นนักบวชแสวงหาความสุขจากความสงบหรือวิเวก ด้วยความรู้สึกขยะแขยงต่อกามสุข ซึ่งเป็นความสุขที่อัดแอและวุ่นวายที่เคยผ่านมาแล้วแต่หนหลัง. ในกรณีนี้เราต้องไม่เล็งถึงพระพุทธเจ้าสิทธัตถะโคตมะผู้ซึ่งสละความสุขออกบวชด้วย เพราะว่าท่านออกบวชแล้ว หรือทิ้งกามสุขแล้ว แล้วไม่ไปติดอยู่แค่รูปสุขหรืออรูปสุขดังเช่นชฎิลหรือฤษีทั่วไป แต่ได้ผ่านเลยไปถึงโลกุตตรภูมิ ซึ่งอยู่เหนือสุขเหนือทุกข์ เราจะต้องเจาะจงเอาเฉพาะพวกดาบสหรือฤษีที่ละจากกามสุขแล้วมาติดอยู่ในฌานสุข ซึ่งจะเป็นรูปฌาน หรืออรูปฌานก็ตาม โดยการหยั่งให้ทราบลงไปในจิตใจของบุคคลเหล่านี้ว่า ความสุขเกิดแต่ฌานที่เขากำลังพอใจหลงใหลนั้น มันต่างจากความสุขที่เกิดจากกามที่เขาขยะแขยง หรือต้องขยะแขยงมากน้อยเพียงไร ก็จะเข้าใจคำว่ารูปราคะได้ง่ายขึ้น.ถ้าจะมีผู้ถามว่า ถ้าเป็นบุคคลที่อยู่ในบ้านในเมือง ไม่ออกบวชเป็นดาบสหรือฤษีเล่า รูปราคะของเขาจะมีเป็นอย่างไร ? เพราะเราก็เคยได้ยินว่าพระอนาคามีที่เป็นสามัญชนอยู่ในบ้านในเมืองก็ยังมี และอยู่ในเพศที่เรียกกันว่าเพศคฤหัสถ์ด้วยซ้ำไป ข้อนี้อธิบายว่า พระอนาคามีเหล่านี้ปราศจากการเกี่ยวข้องด้วยกามทั้งทางกายและทางจิต ความสงบเย็นอันใดเกิดขึ้น เพราะความอยู่ปราศจากกามทั้งทางกายและทางจิต ท่านพอใจหลงใหลในความสงบเย็นนั้น หรือในความเป็นอย่างนั้นของท่าน ซึ่งมีรสเช่นเดียวกับรสแห่งฌานขั้นใดขั้นหนึ่งโดยไม่รู้ตัว นี้เรียกว่า รูปราคะ หรือภวราคะของท่าน.ข้อนี้ทำให้เห็นได้ว่า คำว่า “คฤหัสถ์” หรือ “ฆราวาส” ถ้าให้มีความหมายว่าบุคคลผู้บริโภคกามแล้ว พระอนาคามีในลักษณะเช่นนี้หาได้เป็นฆราวาสหรือคฤหัสถ์ไม่ แม้จะอาศัยอยู่ในบ้านในเรือน กินอยู่นุ่งห่มอย่างคนธรรมดาสามัญและประกอบอาชีพเช่นปั้นหม้อขาย เพื่อเลี้ยงบิดามารดาดังที่มีกล่าวอยู่ในปกรณ์นั้น ๆ แม้ที่เป็นชั้นบาลีสังคีติ ทั้งนี้เพราะเหตุว่าไม่มีการบริโภคกาม หรือเกี่ยวข้องกับกามเลย ทั้งโดยทางร่างกายและจิตใจ มีความยินดีอยู่ในความได้เป็นอย่างนั้นอยู่อย่างเต็มที่ คือความเป็นคนสงบเย็นเพราะปราศจากกาม และมีความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนที่เป็นอย่างนั้น เพราะยังถอนความยึดถือตัวตนไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่มีจิตใจอยู่เหนือกามโดยเด็ดขาดแล้วเช่นนั้น. นี้เรียกว่า มีรูปราคะหรือภวราคะที่เหลืออยู่สำหรับจะตัดด้วยอรหัตตมรรคต่อไป.ถ้าจะเปรียบเทียบด้วยตัวอย่างที่ต่ำกว่านั้นลงไปอีก ก็พึงพิจารณาดูที่จิตใจของคนบางคนและในบางขณะ ที่เขาไม่ยินดีพอใจในกาม ไม่มีความรู้สึกที่เป็นกาม หรือความสุขอันเกิดมาจากความพอใจในกาม แต่มีความยินดีในความสุขที่เกิดมาจากอะไรบางอย่าง ที่มิใช่กาม แล้วหลงใหลติดใจในรสชาติของความเป็นอย่างนั้นอย่างยิ่งอยู่ก็มี เป็นความพอใจที่เกิดมาจากการเดินเล่นในที่สงัดหรืออยู่ในที่สงัด หรือยินดีในการปลูกต้นไม้ การเลี้ยงสัตว์บางชนิด หรือการมีวัตถุสิ่งของบางอย่างซึ่งเป็นที่ติดตาต้องใจ แต่ทุกสิ่งไม่ได้เป็นไปในทางกามเลยดังนี้ก็มี หากแต่มีเพียงบางขณะและยังแถมน้อยคนที่สุด. ถ้าเรากันเอามาแต่ความรู้สึกส่วนนี้ในใจของเขา ออกมาพิจารณาดูแล้ว ก็จะช่วยให้เข้าใจความแตกต่างระหว่างคำว่ารูปราคะ และคำว่ากามราคะได้เป็นอย่างดี ; และจะทำให้เห็นได้ว่ารูปราคะนั้นสูงกว่าหรือสะอาดกว่ากามราคะมากน้อยเพียงไร ซึ่งเป็นเหตุให้เข้าใจความแตกต่างระหว่างนาคามิมรรค และอรหัตตมรรคได้พร้อมกันไปในตัว เพราะว่าอนาคามิมรรคตัดได้เพียงกามราคะ ไม่สามารถตัดรูปราคะ ; ส่วนอรหัตตมรรคซึ่งสามารถตัดรูปราคะได้นั้นจะสูงไปกว่าอนาคามิมรรคเพียงไร.เมื่อเข้าใจคำว่ารูปราคะได้ชัดเจนโดยนัยดังที่กล่าวแล้ว ก็สามารถหยั่งทราบความหมายของวิมุตติสุข ที่เกิดมาจากการตัดรูปราคะหรือภวราคานุสัยได้อย่างชัดแจ้ง โดยการเปรียบเทียบกันดูว่า คนเราเมื่อตัดราคะร้อน คือกามราคะได้แล้ว ก็มีความสงบเย็นเหลือที่จะประมาณได้อยู่แล้ว เมื่อสามารถตัดราคะเย็นเป็นต้นนี้ได้อีก นั่นจะยิ่งบริสุทธิ์สะอาด ยิ่งสงบเย็นยิ่งไปอีกเพียงไร และญาณคือความรู้ในวิมุตติสุขข้อนี้ (ข้อที่ ๑๔ และข้อที่ ๒๐) จะเป็นญาณที่สูงขึ้นไปเพียงไร.

ข. อรูปราคะ คำว่า อรูปราคะ แปลว่า ความกำหนัดในอรูป คือสิ่งที่ไม่มีรูป มีลักษณะอาการทำนองเดียวกันกับความกำหนัดในรูป ผิดกันเพียงแต่ในที่นี้มีสิ่งที่เป็นอรูปเข้ามาแทนและเป็นสิ่งที่ประณีตยิ่งขึ้นไปกว่า. ถ้ากล่าวอย่างสมมติดังที่เราเคยกล่าวกันมาแล้วว่า รูปราคะเป็นราคะเย็น อรูปราคะก็เป็นราคะเย็นยิ่งไปกว่านั้นอีก เพราะความที่ประณีตกว่านั่นเอง. คำว่ารูปในกรณีของรูปราคะหมายถึงความสุขที่เกิดมาจากสมาธิ อันมีรูปธรรมเป็นอารมณ์ หรือความไม่เกิดในโลกที่มีความสุขเช่นนั้น ฉันใด ; คำว่า อรูปในที่นี้ย่อมหมายถึงความสุข ที่เกิดมาจากสมาธิอันมีอรูปธรรมเป็นอารมณ์ หรือหมายถึงการได้เกิดอยู่ในโลกที่สมบูรณ์ด้วยความสุขชนิดนั้น ฉันนั้น. แต่ไม่ว่าจะกล่าวถึงความสุขหรือกล่าวถึงภพที่เต็มไปด้วยความสุขชนิดนั้นก็ตาม สิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดในกรณีหลังนี้ ย่อมเป็นสิ่งที่ประณีตกว่าในกรณีแรกอยู่นั่นเอง. ฉะนั้น เพื่อจะได้ทราบถึงความที่สัญโญชน์ข้อนี้เป็นสัญโญชน์ที่ประณีตหรือสูงยิ่งขึ้นไป จะต้องมีการวินิจฉัยในสิ่งที่เรียกว่าอรูปนั้น ให้เป็นที่เข้าใจแจ่มแจ้งตามสมควร โดยการเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่าง คำว่ารูปฌาน กับอรูปฌาน และคำว่ารูปภพกับคำว่าอรูปภพ หรือแม้ที่สุดแต่คำว่า รูปาวจรกุศล กับคำว่าอรูปาวจรกุศลก็ตามดังต่อไปนี้ :-

รูปฌาน กับ อรูปฌาน. รูปฌานหมายถึง ฌานทั้ง ๔ มี ปฐมฌานเป็นต้น มีจตุตถฌานเป็นที่สุด ดังที่ได้กล่าวแล้วในอานาปานสติขั้นที่ ๕ โดยละเอียด ส่วนอรูปฌานนั้นเป็นฌานที่ประณีตยิ่งขึ้นไป เพราะเกิดขึ้นจากความรู้สึกทีว่าสมาธิที่อาศัยรูปยังเป็นของหยาบไม่ละเอียดเหมือนอรูปหรือนามถ้าอย่างไรเราจะละรูปเสีย ถือเอาอรูปหรือนามเป็นอารมณ์ของสมาธิเถิด ดังนี้ก็ดี,หรือความคิดที่ว่า รูปอันได้แก่มหาภูตเหล่านี้เป็นของแตกทำลายง่าย เพราะตั้งอยู่ด้วยปัจจัยที่หยาบ หรือทำ ลายง่าย ถ้าอย่างไรเราจะเว้นรูปเสีย ถือเอานามซึ่งเป็นสิ่งที่มีปัจจัยอันละเอียด และไม่แตกทำลายง่ายเหมือนรูป มาเป็นอารมณ์ของสมาธิเถิด สมาธินั้นจะละเอียดประณีตและสงบรำ งับยิ่งขึ้นไป ดังนี้ก็ดี ;ผู้แสวงหาความสุขในฌานที่ประณีตยิ่งขึ้นไป จึงเว้นรูปธรรมทั้งหลายเสีย ถือเอาสิ่งที่ไม่มีรูป มาเป็นอารมณ์ สำหรับเพ่งฌานที่ประณีตยิ่งขึ้นไปคือ :-

๑. ถือเอาความว่างหรืออากาศเป็นอารมณ์เรียกว่า อากาสานัญจายตนฌาน.
๒. ถือเอานามธาตุหรือวิญญาณเป็นอารมณ์ เรียกว่า วิญญาณัญจายตนฌาน.
๓. ถือเอาความไม่มีอะไรเลยเป็นอารมณ์ เรียกว่า อากิญจัญญายตนฌาน.
๔. ถือเอาการดับความรู้สึกเป็นอารมณ์ เรียกว่า เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน.

ทั้ง ๔ นี้ เรียกว่า อรูปฌาน เพราะถือเอาสิ่งที่ไม่มีรูปเป็นอารมณ์ดังที่กล่าวแล้ว มีความประณีตยิ่งกว่ารูปฌานคือ จิตที่กำหนดอยู่กับความว่างหรืออากาศ โดยทำ ความรู้สึกว่า ความว่างเป็นสิ่งที่ไม่มีที่สุด จิตเข้าถึงความเป็นอันเดียวกันกับความว่างนั้น ด้วยอำ นาจของการเพ่งที่ประณีตยิ่งขึ้นไปกว่าเดิมความแน่วแน่หรืออัปปนาของจิตก็ประณีตไปกว่าเดิม ฌานจึงจะประณีตยิ่งกว่าเดิมความสุขที่เกิดจากฌานนั้น จึงจะประณีตน่าพอใจ เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่นอันประณีตสุขุมยิ่งไปกว่าเดิม ความกำหนัดที่มีอยู่ในความสุขอันเกิดจากอรูปฌานจึงเหนียวแน่นอย่างสุขุมยิ่งขึ้นไปอีก เพราะเหตุนั้น อากาสานัญจายตนฌานเป็นสิ่งที่ประณีตกว่าจตุตถฌาน อันเป็นรูปฌานขั้นสูงสุดเห็นปานนี้.วิญญาณัญจายตนฌาน ยังประณีตไปกว่านั้นอีก กล่าวคือ ผู้ตั้งอยู่ในอากาสานัญจายตนะแล้วพิจารณาเห็นว่าอากาศนี้ยังหยาบอยู่ และยังกระเดียดไปในทางที่จะเป็นรูปหรือใกล้ชิดต่อรูปอยู่มาก ถ้ากระไรเราจะถือเอาวิญญาณธาตุซึ่งเป็นนามธรรมที่ละเอียดไปกว่ามาเป็นอารมณ์เถิด จึงได้เพ่งต่อวิญญาณ ว่าวิญญาณเป็นสิ่งไม่มีที่สิ้นสุด ทำจิตให้เข้าถึงความเป็นอันเดียวกันกับวิญญาณธาตุอันเป็นสิ่งที่ละเอียดยิ่งขึ้นไปด้วยความเพ่งที่ละเอียดสุขุมยิ่งไปกว่าที่แล้วมา. วิญญาณัญจายตนะซึ่งเป็นอรูปฌานที่สองจึงมีความละเอียดสุขุมยิ่งขึ้นไปกว่าอากาสานัญจายตนะซึ่งเป็นอรูปฌานที่หนึ่ง ฉะนั้น ความสุขที่เกิดจากฌานนี้ ก็ยิ่งเป็นไปในทางสงบรำงับจืดชืดสนิทหรือบริสุทธิ์ยิ่งขึ้นไปอีก แต่พร้อมกันนั้น ยิ่งเป็นการทำให้เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่น ที่ละเอียดยิ่งขึ้นไปตามส่วนของความที่ผู้นั้นยิ่งมีความสำคัญว่า นี่เป็นสิ่งที่วิเศษสูงสุดยิ่งขึ้นทุกที และยิ่งจับใจเขามากยิ่งขึ้นทุกที. อรูปราคะในขั้นนี้ก็ยิ่งละเอียดขึ้นตามลำดับ.ถัดจากนั้นไปอีกก็คือผู้ที่ช่ำชองในวิญญาณัญจายตนฌานเข้า เกิดความรู้สึกว่า แม้วิญญาณธาตุก็ยังเป็นของหยาบ สู้ความไม่มีอะไรเสียเลยทีเดียวไม่ได้เขาจึงละจากการเพ่งต่อวิญญาณ มาเพ่งที่ความไม่มีอะไร ถือเอาความไม่มีอะไรเป็นอารมณ์ ว่าความไม่มีอะไรเป็นสิ่งที่ไม่มีที่สุด ตามที่เขามองเห็น ว่าความไม่มีอะไรนี่แหละยิ่งประณีต และยิ่งไม่มีที่สุดยิ่งไปกว่า ๒ อย่างที่แล้วมา ฉะนั้นเขาต้องเพ่ง ด้วยการเพ่งหรือวิธีเพ่งที่ละเอียดสุขุมยิ่งไปกว่าเดิม ฌานที่เกิดขึ้นก็ยิ่งเป็นฌานที่สุขุมไปกว่าเดิม ความสุขที่เกิดจากฌานนั้น ก็ยิ่งเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่นไปกว่าเดิม คือเป็นอรูปราคะที่สุขุมยิ่งกว่า ๒ ขั้นที่แล้วมาอีกตามส่วน.ถัดไปจากนั้นอีกก็คือผู้ที่ช่ำชองในอากิญจัญญายตนะมีการพิจารณาเห็นว่า แม้ฌานนี้จะละเอียดสุขุมเพียงไร ก็ยังเป็นสิ่งที่มีความรู้สึกเหลืออยู่ นับว่ายังหยาบอยู่นั่นเอง ถ้าอย่างไรเราจะเพ่งต่อความดับเสียซึ่งความรู้สึก กล่าวคือปราศจากความรู้สึกเป็นอารมณ์ จักเป็นของประณีตกว่า ; เขาจึงเพ่งต่อความไม่มีความรู้สึก แต่มิได้หมายถึงความตาย ฉะนั้น จึงเรียกว่าเนวสัญญานาสัญญายตนะคือมีความเพ่งซึ่งในตัวมันเอง จะเรียกว่ามีสัญญา คือมีความรู้สึกก็ไม่ใช่ จะเรียกว่าไม่มีสัญญา คือไม่มีความรู้สึกก็ไม่ใช่ ซึ่งถือว่าเป็นอรูปฌานขั้นสุดท้าย และเป็น
ที่ตั้งแห่งความยึดถือ ของบุคคลผู้หลงใหลในฌานสุข ยิ่งกว่าฌานขั้นใด ๆ.ทั้งหมดนี้ลองคำนวณดู หรือเปรียบเทียบดูเถิด ว่าเป็นความสุขที่ไกลจากความสุขอันเกิดจากรูปฌานสักเพียงไร และยิ่งไกลจากความสุขประเภทกามสุขอย่างที่จะเปรียบเทียบกันไม่ได้เพียงไร ยิ่งขึ้นอีก. เมื่อเข้าใจความหมายข้อนี้ก็ย่อมเข้าใจความแตกต่างและความสูงต่ำเป็นลดหลั่นของคำว่า อรูปราคะ รูปราคะและกามราคะ ไปตามลำดับได้เป็นอย่างดี ซึ่งทำให้เห็นความจริงในข้อที่ว่า ทำไมพระอนาคามีจึงละได้แต่กามราคะ ไม่สามารถละรูปราคะและอรูปราคะ ซึ่งต้องทิ้งไว้ให้เป็นกิจของอรหัตตมรรคดังนี้.

รูปภพ กับ อรูปภพ หมายถึงความได้เป็นหรือได้มี ในความสุขที่เกิดจากรูปและอรูปนั่นเอง ถ้ากล่าวอย่างบุคคลาธิษฐาน ก็กล่าวเป็นสถานที่หรือเป็นโลกที่มีความเป็นอย่างนั้นไป ตามธรรมดาของการกล่าวโดยโวหารพูดของชาวบ้าน ชาวเมืองตามธรรมดา ; แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังพอจะเข้าใจได้ว่า ในโลกนั้นหรือในสถานที่นั้น มันมีความสำคัญอยู่ตรงที่ความได้หรือความมีความสุข ที่เกิดจากรูปฌาน หรืออรูปฌานนั่นเอง. ถ้าปราศจากความได้หรือความมีสิ่งทั้ง ๒ นี้แล้ว โลกหรือสถานที่นั้น ก็ไม่มีความหมายอะไรเลย ฉะนั้น สิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งราคะทั้ง ๒ ชนิดนี้ จึงได้แก่ความได้หรือความมีสิ่งทั้ง ๒ นี้เอง และเราเรียกมันว่ารูปภพ อรูปภพ ตามลำดับกัน. สรุปความสั้น ๆ อีกครั้งหนึ่งว่า อรูปภพในที่นี้ได้แก่ความมีหรือความได้ซึ่งความสุขในขั้นอรูปฌานดังที่กล่าวแล้ว ความยึดมั่นถือมั่นในความมีหรือความได้สิ่ง ๆ นี้ เรียกว่าอรูปราคะ ในที่นี้คือมีราคะในอรูปภพและเรียกว่า อรูปราคะ.รูปาวจรกุศลและอรูปาจารกุศล ทั้ง ๒ คำนี้ เป็นคำที่มีความหมายในทางที่จะเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่นอย่างเดียวกัน. ความหมายของคำว่ากุศลนั่นเอง เป็นสิ่งที่ยั่วความยึดมั่นถือมั่นยิ่งขึ้นไป หรือเป็นที่ตั้งแห่งราคะได้มากกว่าที่จะกล่าวว่าภพหรือภูมิ. กามาวจรกุศลหมายถึงกุศลที่เป็นไปในทางให้ได้มาซึ่งกามสุข จึงจัดเป็นกุศลชั้นต่ำ ; รูปาวจรกุศล คือกุศลที่เป็นไปในทางให้ได้มาซึ่งความสุขที่เกิดจากรูปฌาน ซึ่งห่างไกลจากกามสุขโดยสิ้นเชิง ; อรูปาวจรกุศลเป็นไปทำนองเดียวกัน หากแต่ว่าประณีตหรือสูงยิ่งขึ้นไปกว่า กล่าวคือ เป็นกุศลที่เป็นไปในทางให้ได้มาซึ่งความสุข ประเภทที่เป็นอรูปนั่นเอง. รูปาวจรกุศลนั่นแหละเป็นที่ตั้งของรูปราคะ และอรูปาวจรกุศลนั่นเอง เป็นที่ตั้งของอรูปราคะโดยทำนองเดียวกันแท้. ฉะนั้น แม้เราจะกล่าวว่าอรูปราคะมีที่ตั้งอยู่ที่ความสุขอันเกิดจากอรูปฌานก็ตาม หรืออยู่ที่อรูปภพก็ตาม หรืออยู่ที่อรูปาวจรกุศลก็ตามย่อมมีความหมายอย่างเดียวกัน และเป็นคำกล่าวที่ถูกต้องด้วยกันทั้งนั้น.

รูปาวจรภูมิ และ อรูปาวจรภูมิ. เมื่อได้กล่าวมาถึงเพียงนี้แล้ว ควรจะได้กล่าวถึงภูมิทั้ง ๒ นี้ ไปเสียด้วยในคราวเดียวกัน เพื่อความเข้าใจชัดแจ้งในสิ่งที่เรียกว่ารูปราคะและอรูปราคะยิ่งขึ้นไป คำว่า “ภูมิ” แปลว่า ชั้น หรือลำดับขั้นแต่หมายถึงชั้นแห่งจิตใจ หรือระดับแห่งใจที่มีความสูงต่ำอย่างไร. รูปาวจรภูมิหมายถึงระดับแห่งใจ ที่ไม่ท่องเที่ยวไปในกาม แต่ท่องเที่ยวไปในรูป กล่าวคือการแสวงหาความสุขในรูปฌาน. ถ้ายังต่ำจนท่องเที่ยวไปในกาม คือแสวงหาหรือเกลือกกลั้วในความสุข ที่เกิดมาจากกาม ก็เรียกว่ายังตั้งอยู่ในกามาวจรภูมิ คือของสามัญสัตว์ทั่วไป. ส่วนอรูปาวจรภูมินั้นหมายถึงระดับที่ท่องเที่ยวไปในอรูป คือแสวงหาความสุขจากรูป ฉะนั้นทำให้จับคู่กันได้ว่า พวกกามาวจรภูมิ ก็คือพวกที่แสวงหาความสุขจากกามภพ โดยอาศัยกามาวจรกุศล ; พวกที่ตั้งอยู่ในรูปาวจรภูมิก็คือพวกที่แสวงหาความสุขจากรูปฌานในรูปภพ ด้วยอาศัยอำนาจของรูปาวจรกุศล. พวกที่ตั้งอยู่ในอรูปาวจรภูมิ ก็คือพวกแสวงหาความสุขประเภทที่เกิดจากอรูปฌานในอรูปภพ โดยอาศัยอำนาจของอรูปาวจรกุศล. เมื่อเปรียบเทียบกันดูทั้ง ๓ พวก จะเห็นได้ว่าอรูปราคะเป็นอาการโดยตรงของสัตว์ ที่ตั้งอยู่ในอรูปาวจรภูมิ หรือแม้สัตว์ที่ตั้งอยู่ในขั้นโลกุตตรภูมิขั้นต้น ๆ ที่ยังละราคะส่วนนี้ไม่ได้นั่นเอง ; ซึ่งเป็นการชี้ให้เห็นอยู่ในตัวแล้วว่า อรูปราคะนี้ประณีตเพียงไรหรือกล่าวอย่างสมมติดังที่เคยกล่าวแล้ว ก็ว่า เป็นราคะเย็นที่หวาดเสียวเพียงไรและละได้ยากเพียงไร ; และพร้อมกันนั้น ก็แสดงให้เห็นได้ด้วยว่า ถ้าละอรูปราคะเสียได้ วิมุตติสุขที่เกิดขึ้นก็ดี ญาณในวิมุตติสุขนั้นก็ดี จะเป็นสิ่งที่สูงยิ่งขึ้นไปเพียงไรอย่างเดียวกัน.แม้อรูปราคสัญโญชน์นนี้ ก็สงเคราะห์รวมลงในภวราคานุสัย เช่นเดียวกับรูปราคะ.

ค. มานะ คำว่ามานะโดยพยัญชนะ แปลว่าความสำคัญด้วยความรู้.โดยใจความได้แก่ความรู้สึกที่เป็นไปในตัวเอง จนทำให้เกิดความยึดถือเกี่ยวกับตัวเองขึ้นมา และแบ่งได้เป็น ๒ ชั้น ความสำคัญว่าตนมีอยู่หรือเป็นอยู่ ซึ่งเรียกว่า อัสมิมานะ โดยแท้จริงนี้อย่างหนึ่ง, อีกอย่างหนึ่งเป็นมานะที่ขยายออกไปว่าตนเป็นอะไร และเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับคนอื่นแล้วดีกว่า หรือเลวกว่า หรือเสมอกันอย่างไร. ถ้ามานะอย่างแรกคืออัสมิมานะยังมีอยู่เพียงใดแล้ว มานะอย่างหลังย่อมมีอยู่เพียงนั้น ; และมานะอย่างหลังนี้เอง ที่เป็นตัวการทำความวุ่นวายจนกระทั่งเป็นความทุกข์อย่างหยาบขึ้นมา.มานะนี้ จำแนกเป็น ๓ หมวด คือ

๑. ตนดีกว่าเขา มีความสำคัญว่าตนดีกว่าเขาบ้าง ตนเสมอกันกับเขาบ้าง ตนเลวกว่าเขาบ้าง.
๒. ตนเสมอกันกับเขา สำคัญว่าตนดีกว่าเขาบ้าง ตนเสมอกันกับเขาบ้าง ตนเลวกว่าเขาบ้าง.
๓. ตนเลวกว่าเขา แต่สำคัญว่าตนดีกว่าเขาบ้าง ตนเสมอกันกับเขาบ้าง ตนเลวกว่าเขาบ้าง ดังนี้.

ถ้านับเป็นหมวด มีอยู่ ๓ หมวด ถ้านับเรียงอย่างก็มีอยู่ถึง ๙ อย่างแต่ทุกอย่างย่อมมาจากอัสมิมานะ คือความสำคัญว่าตัวเรามีอยู่ด้วยกันทั้งนั้น. โดยนัยนี้จะเห็นได้ว่า สิ่งที่เรียกว่า “มานะ” หรือคำว่า มานะก็ตาม ในภาษาธรรมะนี้
มีความหมายกว้าง กว่า คำว่า “มานะ” ในภาษาไทย ซึ่งมีความหมายไปในทางความถือตัวของผู้ที่มีอะไรด้อยกว่าต่ำกว่าอย่างเดียวเท่านั้น, ส่วนในทางธรรมะนั้นคำว่า มานะ มีความหมายกว้างครอบคลุมไปหมด จนไม่มีช่องทางที่ใครจะรอดพ้นไปจากมานะได้ เช่นคนที่ต่ำต้อยที่สุด รู้สึกตัวว่าต่ำต้อยอยู่แท้ ๆ ก็ยังจัดเป็นมานะที่ถึงที่สุดอยู่นั่นเอง ; หรือแม้จะรู้สึกว่ามีอะไร ๆ เสมอกันก็ยังจัดเป็นมานะถึงที่สุด.ทั้งนี้เพราะเหตุว่า ได้เล็งถึงความรู้สึกส่วนละเอียดหรือส่วนลึกเป็นใหญ่ คือ ความรู้สึกที่ว่าเรามีตัวมีตนอยู่ และตัวตนของเรากำลังเป็นอย่างไรนั่นเอง ; ส่วนที่จะดีกว่าใคร เสมอกันกับใคร หรือเลวกว่าใครนั้น เป็นการเปรียบเทียบ คือเอาลักษณะแห่ง “ความเป็น” ของตน ๆ ไปวัดกัน แล้วเกิดความสำคัญผิดไปตามอำนาจของความลง. ถ้าหากทำลายความสำคัญว่ามีตัวตนเสียได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ความสำคัญเอาเองทั้ง ๙ อย่างก็หมดไป.ข้อนี้จะเห็นได้ว่าสิ่งที่เรียกว่ามานะนั้น มีความเร้นลับลึกซึ้งและยากแก่การตัดเพียงไร จนถึงกับอย่าว่าแต่ปุถุชนคนธรรมดาเลยแม้แต่พระโสดาบันก็ละมันไม่ได้ พระสกิทาคามีก็ละมันไม่ได้ แม้พระอนาคามีก็ละมันไม่ได้ ต้องเหลือไว้เป็นหน้าที่ของอรหัตตมรรคจะพึงตัด ดังนี้. ทั้งนี้ เพราะว่าสิ่งที่เรียกว่ามานะนี้เป็นกิเลสประเภทโมหะชั้นที่ละเอียดที่สุด และเป็นของธรรมชาติธรรมดาที่สุดซึ่งถ้ากล่าวอย่างโวหารสมัยใหม่ก็เรียกว่าเป็น สัญชาติญาณของสัตว์ทั่วไป และเป็นสัญชาติญาณชั้นหัวหน้า หรือชั้นประธานของสัญชาตญาณอื่น ๆ เช่นสัญชาติญาณแห่งการต่อสู้ สัญชาตญาณแห่งการหนีภัย สัญชาตญาณแห่งการแสวงหาอาหารและสัญชาตญาณแห่งการสืบพันธุ์ เป็นต้น ซึ่งคนสมัยนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่อาจละได้เลยเป็นอันขาด.อีกอย่างหนึ่ง หรืออีกทางหนึ่งซึ่งพร้อมกันนั้น เมื่อมีความรู้สึกว่าตัวตนเป็นอย่างไรแล้ว ก็ย่อม มีความรู้สึกว่าของของตนเป็นอย่างไรตามไปด้วย เช่นของของตนดีกว่าของคนอื่น เสมอกันกับของคนอื่น หรือเลวกว่าของคนอื่นซึ่งอาจจำแนกออกได้เป็น ๙ อย่าง โดยนัยเดียวกับที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แม้ความสำ คัญมั่นหมายในของของตนเหล่านี้ ในทำ นองนี้ ก็จัดเป็นมานะในที่นี้ด้วยเหมือนกัน และเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือได้เท่ากับตัวเอง หรือยิ่งกว่าตัวเองดังในกรณีของสัตว์บางเหล่ามีความรักในบุตรภรรยาเป็นต้น ยิ่งกว่าชีวิตของตัวเองก็ยังมี ฉะนั้น จึงจัดว่าเป็นมานะที่มีค่าเท่ากัน และมีต้นตออันเดียวกัน.จากมานะทั้งที่เป็นไปในตน และทั้งที่เป็นไปในของของตน โดยนัยดังที่กล่าวมาแล้วนี่เอง ที่ความเดือดร้อนระส่ำระสายต่าง ๆ ได้เกิดขึ้นอย่างแปลกประหลาด หรืออย่างไร้ความหมาย น่าอเน็จอนาถที่สุด แต่ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพื่อวัตถุสิ่งของที่มีค่าอันใด แต่เป็นเพราะความถือตัว หรือ เห็นแก่เกียรติของตัวซึ่งเรียกว่ามานะในที่นี้นิดเดียวเท่านั้น ; และอีกทางหนึ่ง ซึ่งเป็นการเบียดเบียนตนเองล้วน ๆ ไม่เกี่ยวกับบุคคลอื่นมาเบียดเบียนเลย ได้แก่การที่คนบางคนหรือสัตว์บางเหล่า ยอมลำบากตรากตรำทนทุกข์ทรมานอย่างเอาชีวิตเข้าแลกเป็นระยะยาวนานได้ อย่างเหลือที่จะสมเพชเวทนา ก็เพราะอาศัยสิ่งที่เรียกว่ามานะนี้อีกอย่างเดียวกัน.เป็นอันว่าสัตว์เบียดเบียนซึ่งกันและกัน และเบียดเบียนตนเองอยู่ตามลำพังในชั้นที่ลึกซึ้งที่สุด ที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่สุดก็เพราะอาศัยสิ่งที่เรียกว่ามานะนี้ ;ส่วนที่อาศัย โลภะ หรือโทสะนั้นเป็นชั้นตื้น ๆ และเป็นชั้นธรรมดาสามัญ เพราะฉะนั้นพึงพิจารณาดูเถิดว่า มานะนี้เป็นสิ่งที่น่าหวาดเสียวเพียงไร ละยากกว่าโลภะและโทสะเพียงไร จึงตกมาอยู่ในระยะรั้งท้ายของบรรดาสัญโญชน์ที่จะต้องละ.สิ่งที่จะต้องศึกษาหรือระมัดระวังเป็นพิเศษอีกข้อหนึ่งก็คือ ต้องไม่เอาความหมายของคำว่า มานะ ไปปนกับความหมายของคำว่า สักกายทิฏฐิ ซึ่งเป็นสัญโญชน์ข้อต้น อันพระโสดาบันจะพึงละ เพราะมีความหมายคล้ายกันอยู่บางอย่างแต่มิใช่เป็นกิเลสชั้นเดียวกัน ดังที่เห็นได้จากการที่ถูกจัดไว้คนละขั้นคนละตอนอย่างไกลกันมากทีเดียว. สักกายทิฏฐินั้นเป็นความสำคัญว่ามีตัวตนชั้นหยาบที่สุดและเป็นไปในทางกายหรือทางวัตถุ หรือทางรูปธรรมมากที่สุด ซึ่งแม้จะละได้แล้วความสำคัญตนในชั้นมานะนี้ หรือที่เรียกว่าอัสมิมานะนี้ ก็ยังเหลืออยู่อย่างเต็มที่ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า แม้พระอนาคามีก็ยังไม่สามารถละมานะในขั้นนี้ ทั้งนี้เพราะว่ามานะนี้มิได้เป็นเพียงความเข้าใจผิดหรือเห็นผิด หากแต่เป็น ความรู้สึกที่ลึกซึ้งของสัญชาตญาณ ชนิดที่มีอยู่โดยไม่รู้สึกตัวเอาเสียทีเดียว.ควรจะสังเกตไว้อีกอย่างหนึ่งว่า สิ่งที่เรียกว่ามานะนี้เป็นกิเลสประเภทที่มีความยึดถือตัวตน ในฝ่ายความดีหรือความดียิ่ง ๆ ขึ้นไปโดยส่วนเดียว ; ฉะนั้นแม้จะได้ทำดีถึงที่สุด จนไม่รู้ว่าจะทำดีอย่างไรต่อไปอีกแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะเอาชนะกิเลสข้อนี้ได้ และพ้นทุกข์ไม่ได้ด้วยความดีที่สุดที่ตนจะพึงกระทำดีได้. การเอาชนะความทุกข์ได้โดยสิ้นเชิง จึงต้องเป็นการละมานะเสียโดยสิ้นเชิง หมายความว่า ไม่ให้คุณค่าหรืออำนาจของความดีมาครอบงำได้อีกต่อไป. อุทาหรณ์ในข้อนี้ จะเห็นได้จากการค้นคว้าและการปฏิบัติในลัทธินอกพุทธศาสนา หรือก่อนพุทธศาสนา ซึ่งมีการค้นคว้าและการปฏิบัติชนิดที่ใคร ๆ ก็ต้องยอมรับว่ากว้างขวางและลึกซึ้งไม่น้อยเลย แต่ในที่สุดก็เอาชนะความทุกข์ไม่ได้ เนื่องจากไม่เป็นไปเพื่อถอนเสียซึ่งความสำคัญว่าตัวตน หรือความที่เป็นตัวตนที่ดีวิเศษยิ่ง ๆ ขึ้นไปนั่นเอง. เห็นได้จากการที่พระพุทธองค์ทรงยอมรับว่าอุทกดาบสรามบุตร ซึ่งเคยเป็นอาจารย์ของพระองค์ในขณะที่ยังเที่ยวศึกษาค้นคว้าอยู่นั้นอยู่ในประเภทบุคคลที่ยังไขว้กั้นอยู่เพียงนิดเดียว มิฉะนั้นก็จะตรัสรู้ ซึ่งเป็นเหตุให้พระองค์ทรงนึกถึงดาบสผู้นี้ก่อนบุคคลอื่นใด ภายหลังจากการตรัสรู้แล้ว ดังนี้เป็นต้น.

สรุปความว่า สิ่งที่เรียกว่ามานะนี้ เป็นกิเลสประเภทที่มีมูลมาจากความยึดมั่นถือมั่น “ในตัวตนที่เต็มไปด้วยความดี” ซึ่งจะเป็น “ตนเอง” หรือ “ตนผู้อื่น” ก็ตาม หรือ “ตนสิ่งอื่น” ก็ตาม แล้วมีความรู้สึกขยายออกไปในทางที่จะเปรียบเทียบกัน ซึ่งทำให้กิเลสข้อนี้มีพิษสงมากขึ้น. อริยมรรคญาณในขั้นอรหัตตมรรคเท่านั้น ที่จะมีแสงสว่างหรือมีกำลังมากพอที่จะทำลายถ่ายถอนสัญโญชน์ข้อนี้ได้ เพราะการเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในขั้นอรหัตตมรรคนั้นเป็นไปอย่างแรงกล้า เพราะถึงที่สุดจริง ๆ สามารถทำลายเสียได้ซึ่งความรู้สึกว่าตนหรือมีตัวตนชนิดที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ ซึ่งเป็นช่องทางที่จะช่วยให้พิจารณาเห็นสืบไปว่า วิมุตติสุขที่เกิดมาจากการถอนความสำคัญว่ามีตัวตนอยู่ในลักษณะอย่างไร มันจะนำมาซึ่งความสงบสุขเพียงไร และวิมุตติสุขญาณในขั้นนี้ มีความสุขสูงยิ่งขึ้นไปอีกเท่าไร.มานสัญโญชน์ตรงเป็นอันเดียวกันกับมานานุสัย ฉะนั้น จึงไม่จำเป็นจะต้องวินิจฉัยในคำว่ามานานุสัยอีกประการใด.

ฆ. อุทธัจจะ คำนี้ตามปกติแปลกันว่าความฟุ้งซ่าน แต่ความหมายอันแท้จริงนั้นมีอยู่ลึกกว่านั้น มิได้หมายความเพียงความฟุ้งซ่านตามความหมายในภาษาไทย ซึ่งเป็นเรื่องของนิวรณ์มากกว่าที่จะเป็นเรื่องของสัญโญชน์. ถ้าคำว่าฟุ้งซ่านมีความหมายไปในทางความคิดเลื่อนลอย เช่นความคิดทำนองสร้างวิมานในอากาศด้วยแล้ว จะยิ่งเป็นการน่าขบขันมากทีเดียว ถ้าพระอนาคามีก็ยังละความฟุ้งซ่านเช่นนี้ไม่ได้ ; ฉะนั้น จะต้องทำความเข้าใจกันในเรื่องนี้ให้ดี ๆ.โดยความหมายอันแท้จริง คำว่า อุทธัจจะ ในที่นี้ หมายถึง ความที่จิตฟุ้งขึ้นกว่าระดับปกติ เพราะอำนาจ ความสนใจ ความสงสัย ความหวังความระแวง หรือแม้แต่ ความกลัว อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งพระอนาคามียังละไม่ได้นั่นเอง ; และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก็คือความสนใจด้วยความสงสัย หรือความอยากรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร หรือเพื่ออะไร หรือเพื่อประโยชน์อะไร เป็นต้น.พระอรหันต์จำ พวกเดียวเท่านั้น ที่ตัดความสงสัย ความหวัง ความกังวลความกลัวหรือกิเลสอันละเอียดประเภทเดียวกันชื่ออื่น ๆ เสียได้ จึงไม่มีความสนใจว่านั่นมันน่ารู้ น่าสนใจ หรือน่ากลัว เป็นต้น. ถ้ายังละกิเลสอันละเอียดเหล่านี้ไม่ได้ จิตจะต้องฟุ้งขึ้น ฟูขึ้น กระเพื่อมขึ้น หรือถึงกับระรัวขึ้น ในเมื่อมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งผ่านเข้ามา และมีอาการที่น่าสนใจ น่าสงสัย หรือน่าหวาดเสียวเป็นต้น. ความฟุ้งขึ้นแห่งจิตในทำนองนี้เอง เรียกว่า อาการของอุทธัจจะ.กิเลสที่เป็นเหตุให้ฟุ้งขึ้นอย่างนี้เอง เรียกว่าอุทธัจจสัญโญชน์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เหมือนนอนเนื่องอยู่ในสันดาน.พิจารณาดูให้ละเอียดยิ่งขึ้นไป จะเห็นได้ว่ากิเลสที่ทำหน้าที่ให้จิตฟุ้งขึ้นในลักษณะเช่นนี้นั้น มีมูลมาจากความยึดถือในตัวตนอย่างเดียวกัน คือมีความสำคัญว่าตนมีอยู่นั่นเอง แต่มิได้เป็นไปในทางที่จะเปรียบเทียบ ว่าดีกว่าหรือเลวกว่าหรือเสมอกัน ดังที่กล่าวมาแล้ว แต่เป็นไปในทางเห็นแก่ตน ชนิดที่ละเอียดจนถึงขนาดที่ไม่รู้สึกตัว และเคลื่อนไหวไปในทางที่จะแสวงหาประโยชน์แก่ตัวหรือการป้องกันชีวิตของตัวโดยไม่รู้สึกตัวอีกอย่างเดียวกัน.เพราะความรู้สึกว่ามีตัวนั่นเอง จึงมีความรู้สึกในทางที่จะหาผลประโยชน์ใส่ตัว ฉะนั้นพอมีอะไรผ่านเข้ามาในลักษณะที่จะเป็นประโยชน์แก่ตัว ก็อดสนใจไม่ได้ หรือแม้แต่สิ่งที่ยังไม่แน่ว่าจะเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์แก่ตัวผ่านเข้ามา เช่นสิ่งที่ตัวยังไม่รู้จักเลย แต่ถ้าแปลกประหลาดกว่าธรรมดา ก็อดสนใจไม่ได้ว่าชะรอยสิ่งนี้จะเป็นประโยชน์แก่ตน เพราะจิตยังอยู่ในวิสัยของการแสวงหาประโยชน์ เพราะมีตนเป็นที่รองรับประโยชน์นั่นเอง. ความสนใจเหล่านี้ล้วนแต่ทำให้จิตกระเพื่อมหรือไหวตัวไปจากระดับปรกติ. อีกทางหนึ่งซึ่งตรงกันข้าม ก็คือเมื่อสิ่งที่มีลักษณะตรงกันข้ามผ่านมา ในทางที่แสดงว่าไม่เป็นประโยชน์แก่ตัว จะทำลายประโยชน์ของตัว หรือทำลายชีวิตของตัวโดยตรง ความสนใจก็เกิดขึ้นในสิ่งนั้นอย่างรุนแรง จนถึงกับเป็นการสั่นระรัวไปด้วยอำนาจความกลัว. อาการเช่นนี้มีได้แม้ในสิ่งที่ตนไม่รู้จักว่ามันเป็นอะไร แต่มันดูน่ากลัว : จะเป็นของจริงตามธรรมชาติ หรือแม้แต่ของที่มนุษย์ทำเทียมขึ้น ก็เป็นที่ตั้งแห่งความสนใจ หรือความกลัว ได้โดยเท่ากัน ; เมื่อใจกระเพื่อมแล้ว ก็ล้วนแต่เรียกว่าอุทธัจจะได้ด้วยกันทั้งนั้น. อาการเหล่านี้มีอยู่เป็นประจำ ในจิตของสัตว์ที่ยังอยู่ในอำนาจของประโยชน์ ยังอยู่ในวิสัยแห่งการแสวงหาประโยชน์ เพราะยังละความยึดถือว่าตัวตน ว่าของตนไม่ได้นั่นเอง. นี่เป็นเครื่องชี้ให้เห็นได้ชัดอยู่ในตัวแล้วว่า ทำไมพระอนาคามี จึงยังละอุทธัจจะไม่ได้.ความกระเพื่อมแห่งจิตเหล่านี้ แม้มิได้เป็นไปอย่างรุนแรงถึงขนาดที่ทำ
ให้เพ้อคลั่งเป็นบ้า หรือถึงกับขาดใจตาย แต่ก็เป็นเครื่องทำลายความสงบสุขชั้นละเอียด จนถึงกับว่าทำให้ความดีต่าง ๆ เป็นหมันไปทีเดียว กล่าวคือคนดี คนมีบุญกุศล คนร่ำรวย มีอำนาจวาสนาเพียงไรก็ตาม ถ้ายังมีความเสียวความหวั่นระแวง และความวิตกกังวล เป็นต้น กลุ้มรุมอยู่ในใจแล้ว ความดีหรือบุญกุศลเหล่านั้นจะมีประโยชน์อะไร เพราะช่วยแก้ไขให้ไม่ได้ : ทั้งนี้ เป็นเพราะ สิ่งเหล่านี้ ต้องแก้ไขด้วยสิ่งที่ยิ่งไปกว่าบุญกุศล นั่นเอง. เมื่อแก้ไขสิ่งเหล่านี้ได้หมดจดแล้ว สิ่งต่าง ๆ ก็พลอยเป็นประโยชน์ไปตาม คืออำนวยความสะดวกสบายให้ตามหน้าที่ของมัน. อรหัตตมรรคเท่านั้นที่จะตัดสิ่งเหล่านี้ให้ขาดไปได้. ลองพิจารณาดูเถิดว่า เมื่อตัดสิ่งรบกวนใจอันเป็นข้าศึกศัตรูชั้นละเอียดเหล่านี้ได้ขาดแล้ว จิตจะประสบความสงบเย็นสักเพียงไร นั่นแหละคือค่าหรือความหมายของวิมุตติสุข อันเกิดมาจากการตัดอุทธัจจสัญโญชน์เสียได้ และวิมุตติสุขญาณข้อนี้ มีความหมายสมกับเป็นสิ่งที่เคียงคู่กันกับอรหัตตมรรคญาณจริง ๆ.อุทธัจจะ หรือความกระเพื่อมแห่งจิต มีมูลมาจากความสำคัญว่ามีตัวมีตน ฉะนั้น จึงสงเคราะห์สัญโญชน์ข้อนี้ลงในมานานุสัย.

ง. อวิชชา สัญโญชน์ข้อสุดท้ายนี้ แปลว่าความไม่รู้. ถูกจัดไว้เป็นข้อสุดท้าย เพราะเหตุใดนั้น มีสิ่งที่ต้องวินิจฉัยกันอย่างละเอียด ซึ่งจะทำให้เข้าใจคำว่า อวิชชา ได้ดี.ความจริงที่ใคร ๆ ต้องยอมรับมีอยู่ว่า กิเลสทุกชนิด และทุกระดับ
ย่อมมีมูลมาจากอวิชชาหรือเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของอวิชชาด้วยกันทั้งนั้น. เมื่อกล่าวถึงกิเลสชื่อต่าง ๆ ไปหมดสิ้นแล้ว มากล่าวถึงอวิชชาอีก มิเป็นการซ้ำกันไปหรือ นี่แหละคือปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในที่นี้.หลักเกณฑ์ในปฏิจจสมุปบาท มีอยู่ว่า ความทุกข์หรือสังขารทั้งปวงรวมทั้งกิเลสด้วย มีมูลมาจากอวิชชา ; ถ้าทำลายอวิชชาเสียเพียงอย่างเดียวเท่านั้น.สิ่งต่าง ๆ ที่เป็นกิเลสหรือความทุกข์ก็ดับไปหมด และเรื่องก็สิ้นสุดลงเพียงเท่านั้น.ส่วนในเรื่องของสัญโญชน์นี้ ได้ระบุการละสัญโญชน์เป็นลำดับ ๆ ไป กระทั่งละอวิชชาเป็นขั้นสุดท้ายคือขั้นที่ ๑๐ คล้าย ๆ กับว่า มีกิเลสอีกตั้ง ๙ อย่าง ซึ่งอยู่นอกเหนือไปจากอวิชชา ; ความจริงหาได้เป็นไปโดยทำนองนั้นไม่ กิเลสและสัญโญชน์ทั้งหลาย ที่มีชื่อต่างกันเหล่านั้น เป็นสิ่งที่เกิดมาจากอวิชชา มีลักษณะเป็นอาการของอวิชชา ในรูปต่าง ๆ กัน จึงได้ชื่อแปลก ๆ ตามอาการที่มันแสดง.การเกิดมาจากอวิชชานั้น เกิดเสร็จเรียบร้อยอยู่ในภายใน โดยอาการที่เร้นลับเห็นได้ยากที่สุด จึงไม่ชวนให้คิดไปในทำนองว่า มันเป็นพวกอวิชชาด้วยกัน ; แต่ถ้าพิจารณาให้ดีแล้ว จะเห็นได้ว่าสัญโญชน์ทั้ง ๙ มีมูลมาจากอวิชชา มีอยู่ได้เพราะอวิชชาอยู่. เช่นสักกายทิฏฐิเห็นว่ากายนี้เที่ยงแท้เป็นของตนก็เพราะอวิชชาครอบงำ ทำให้เห็นไปอย่างนั้น. วิจิกิจฉา ลังเลต่อข้อปฏิบัติที่จะข้ามฟากจากโลกิยะไปสู่โลกุตระ เพราะยังอาลัยในโลกิยะอยู่ นี้เพราะอำ นาจครอบงำ ของอวิชชาดึงเอาไว้ สีลัพพตปรามาส คือการจับฉวยเอาสิ่งต่าง ๆ ผิดจากความจริงหรือผิดจากความหมายอันแท้จริงนั้น เป็นอาการของอวิชชาอย่างชัดแจ้งอยู่แล้ว.กามราคะมีความกำหนัดในกาม เพราะไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่ากาม ตามที่เป็นจริงปฏิฆะ ความกลัดกลุ้มด้วยอำนาจโทสะ ก็เนื่องมาจากความไม่รู้จักสิ่งที่เป็นมูลเหตุแห่งความกลัดกลุ้มตามที่เป็นจริง จึงไปกลัดกลุ้มเข้า ; ความไม่รู้ตามที่เป็นจริงนี้เป็นอาการโดยตรงของอวิชชา ทั้งอย่างหยาบและอย่างละเอียด. สำหรับรูปราคะหรืออรูปราคะนั้น เป็นเรื่องของอวิชชาชั้นละเอียด คือไม่รู้จักความสุขอันเกิดมาจากรูป และอรูป ตามที่เป็นจริงหรือถึงที่สุด จึงหลงยึดถือ เพราะหลงในความประณีตของความสุขประเภทนี้. มานะและอุทธัจจะนั้น คือความไม่รู้จริง และเป็นเรื่องความรู้ผิดอันเกี่ยวกับตัวตนดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น. ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าสัญโญชน์ทั้ง ๙ นั้น หรืออนุสัยทั้ง ๖ ข้างต้นนั้น ล้วนแต่เป็น “ลูก” ของอวิชชาโดยตรง อย่างที่ไม่ควรจะถือว่าเป็นพี่น้องหรือเพื่อนฝูงของอวิชชาเลย. ฉะนั้นการฆ่าลูก ๆ ให้ตายหมด หาได้หมายความว่าเป็นการฆ่าแม่ของมันให้ตายด้วยไม่แม่ของมันยังเหลืออยู่ ในฐานะเป็นสิ่งที่จะคลอดลูกทั้งหลายอีกต่อไปไม่มีหยุดงานขั้นสุดท้ายจึงได้แก่การฆ่าอวิชชา ซึ่งเป็นเหมือนแม่แห่งกิเลสทั้งปวง. การที่อรหัตตมรรคญาณตัดสัญโญชน์ในเบื้องสูงคราวเดียวทั้ง ๕ อย่างนั้น หมายความว่าอรหัตตมรรคญาณ มีกำลังมากพอที่ไม่จำเป็นจะต้องรอฆ่าลูก ๆ ๔ คน ให้ตายไปทีละคนก่อน แล้วจึงฆ่าแม่เป็นคนสุดท้าย. อรหัตตมรรคญาณมีวิสัยหรืออำนาจที่สามารถทำลายสิ่งทั้ง ๕ นี้ ได้พร้อมกันไปในตัวในคราวเดียวกัน แต่ถึงกระนั้นก็มิได้หมายความว่า อวิชชาไม่ได้เป็นแดนเกิดของสัญโญชน์ทั้ง ๔ ที่ถูกตัดพร้อมกันกับอวิชชานั้น. ข้อนี้เปรียบเหมือนกับแม่โจรคนหนึ่ง ถูกฆ่าพร้อมกันไปกับลูก ๔ คน ชั้นที่เป็นหัวหน้าหรือหัวปี ด้วยอำ นาจอรหัตตมรรค ในเมื่อลูกชั้นเล็ก ๆ หรือน้อง ๆ ถูกฆ่าตายไปแล้วโดยง่าย ด้วยอำนาจโสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค และอนาคามิมรรคตามลำดับ. การกล่าวด้วยอุปมาอย่างนี้ เรียกว่าการกล่าวโดยภาพพจน์ หรือที่เรียกโดยภาษาธรรมะว่า การกล่าวอย่างบุคคลาธิษฐานทั้งนี้ เพื่อช่วยให้เกิดความเข้าใจได้ง่าย เข้าใจได้ทันที แล้วลืมได้ยาก จึงนำมาใช้อธิบายธรรมะในขั้นที่ลึกซึ้งและสับสน.เมื่อได้พบว่าสัญโญชน์ชื่ออื่น ๆ เป็นเพียงสิ่งที่งอกงามไปจากอวิชชาดังที่กล่าวแล้ว ซึ่งเป็นการแสดงว่าสัญโญชน์เหล่านั้นไม่ใช่ตัวอวิชชาโดยตรง ดังนี้แล้ว ปัญหาก็เหลืออยู่ว่า สิ่งที่เรียกว่าอวิชชาโดยตรงนั้น คืออะไร ?อวิชชาคือความไม่รู้ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น แต่มีสิ่งที่จะต้องศึกษาต่อไปว่า : สภาพแห่งความไม่รู้นั้นเป็นอย่างไร ? และไม่รู้ซึ่งอะไร ? และเกิดอะไรขึ้นเพราะความไม่รู้นั้น ? รวมกันเป็น ๓ อย่าง ซึ่งจะได้วินิจฉัยทีละอย่างดังต่อไปนี้ :-

สภาพแห่งความไม่รู้ นั้น หมายถึงภาวะแห่งปราศจากความรู้ที่ควรจะรู้ไม่ใช่ว่าไม่รู้อะไรเสียเลย เพราะความรู้ที่ผิดก็ยังมี รู้อย่างถูกครึ่งผิดครึ่งก็ยังมีการที่จะให้มนุษย์ที่มีชีวิตอยู่ไม่มีความรู้อะไรเสียเลยนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
เพราะเวลาที่ล่วง ๆ ไป ย่อมสอนอยู่ในตัวให้เขามีความรู้อย่างใดอย่างหนึ่งเพิ่มขึ้นแต่ความรู้เหล่านี้ ยังไม่ถึงขีดที่จะได้นามว่า “สิ่งที่ควรรู้” ตามความมุ่งหมายของพุทธศาสนา ยังรู้ผิดบ้าง รู้ถูกแต่มิได้เป็นไปในทางที่มุ่งหมายบ้าง ความปราศจากความรู้ที่ควรรู้ เช่นนี้เองเรียกว่า อวิชชา. หมายความว่าในความรู้หรือภาวะแห่งความรู้เหล่านั้น ปราศจากความรู้ที่สามารถตัดสัญโญชน์ทั้ง ๑๐ ได้. ภาวะอย่างที่เรียกว่าอวิชชาในที่นี้ จะถือว่ามีอยู่ในที่ทั่วไป เป็นอนันตะก็ได้ หรือจะถือว่ามีอยู่ในจิตของสัตว์ก็ได้ เพราะว่าถ้ามีอยู่ในที่ทั่วไป ก็หมายถึงมีอยู่ในจิตใจของสัตว์ด้วย และเพราะว่ามีอยู่ในจิตใจของสัตว์นั่นเอง จึงเกิดเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา ความหมายอันสำคัญจึงอยู่ที่ความมีอยู่ในจิตใจของสัตว์ เพราะสัตว์นั่นเองเป็นตัวเจ้าทุกข์ และกำลังศึกษาปฏิบัติ ซึ่งเป็นการดิ้นรนเพื่อความพ้นจากทุกข์.สรุปความเฉพาะข้อนี้ว่า อวิชชาคือภาวะแห่งความปราศจาก ความรู้ที่ควรรู้ ซึ่งมีอยู่ในจิตใจของสัตว์ทั่วไป ในลักษณะที่ครอบคลุมไปทั้งโลก.สำหรับปัญหาที่ว่า ไม่รู้ซึ่งอะไร นั้น ตอบได้อย่างกำปั้นทุบดินชั้นหนึ่งก่อนว่า ไม่รู้สิ่งที่ควรรู้ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น. ครั้นถามต่อไปว่าสิ่งที่ควรรู้คืออะไร ? คำตอบย่อมมีโดยเฉพาะเจาะจงลงไปว่า ไม่รู้สิ่งที่จะทำให้ไม่มีทุกข์.สำหรับสิ่งที่จะทำให้ไม่มีทุกข์นี้ จำแนกออกไปสำหรับการศึกษา และการปฏิบัติได้โดยง่ายเป็น ๔ อย่างคือ ความจริงเรื่องทุกข์ ความจริงเรื่องเหตุให้เกิดทุกข์นี้คู่หนึ่ง ; อีกคู่หนึ่งคือ ความจริงเรื่องสภาพแห่งความไม่มีทุกข์เลย และความจริงเรื่องหนทางปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความไม่มีทุกข์นั้น. ถ้าจำแนกออกไปก็เป็น ๔ ดังที่กล่าวแล้วนี้ ถ้าย่นเข้ามาอีกก็เหลือเพียง ๒ คือ ความทุกข์ กับความดับทุกข์ ;ถ้าย่นลงอีกก็จะเหลือเพียง ๑ คือ ความดับทุกข์ นั่นเอง. การกล่าวอย่างย่นให้เหลือเพียง ๑ เพียง ๒ เช่นนี้ ไม่เพียงพอแก่การศึกษาของคนทั่วไป คงใช้ได้เฉพาะเพียงบาคน จึงต้องบัญญัติไว้ในมาตรฐานที่เหมาะแก่คนทั่วไป คือบัญญัติเป็น ๔ อย่างดังที่กล่าวแล้ว ซึ่งอาจจะย่นเป็นหนึ่ง เป็นสองได้ด้วยตนเอง ในเมื่อมีความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างทั่วถึงแล้ว.ความจริงเรื่องทุกข์ คือข้อที่ว่า สิ่งทั้งปวงเป็นทุกข์ แม้แต่สิ่งที่เรียกกันว่าสุข ว่าบุญ ว่าสวรรค์ ก็เป็นทุกข์ โดยไม่ต้องพูดถึงความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นต้น ข้อนี้หมายความว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ โดยไม่ยกเว้นสิ่งใดเลยแต่สัตว์มีอวิชชาครอบงำ ย่อมเห็นบางอย่างเป็นสุข บางอย่างเป็นทุกข์ จึงเลือกที่รักผลักที่ชัง โดยเป็นสิ่งที่น่ารัก น่าชัง ขึ้นมาหลอกตัวเอง ให้ผละจากสิ่งนี้ วิ่งไปหาสิ่งโน้น จากสิ่งโน้นมาหาสิ่งนี้ เรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุด ตามอำนาจอวิชชาของตัวมันเอง ที่ไม่รู้ว่าสังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ เพราะความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ;ถ้าทราบความจริงข้อนี้ ก็เป็นอันว่าทราบความจริงเรื่องทุกข์.ความจริงเรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ นั้น หมายความว่า ทุกข์ไม่ได้เกิดขึ้นเองลอย ๆ แต่มีเหตุมีปัจจัยที่ทำให้เกิด. เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดนั้น มิใช่สิ่งภายนอกเช่น ผีสางเทวดา เป็นต้น แต่เป็นสิ่งที่มีอยู่ในภายใน คือ กิเลสนานาชนิดรวมทั้งกิเลสที่เป็นเหตุให้เชื่อในผีสางเทวดาเป็นต้นเหล่านั้นด้วย. สำหรับกิเลสที่ใกล้ชิด และเนื่องกันอยู่โดยตรงกับความทุกข์โดยประจักษ์นั้นคือ กิเลสที่เราเรียกกันว่าตัณหา แปลว่า ความอยาก หมายถึง ความอยากทุกชนิด มีมากมายเหลือที่จะประมาณได้ แต่จัดเป็นหมวด ๆ ได้เพียง ๓ หมวด คือ อยากมี หรืออยากได้ ๑. อยากเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ๑. อยากไม่ให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ๑.ความอยากหรือตัณหานี้ มีผลมาจากอวิชชา เพราะไม่รู้จึงได้อยากไปในสิ่งต่าง ๆซึ่งที่แท้ไม่มีอะไรที่น่าอยากเลย เพราะสังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์โดยเสมอกันดังที่กล่าวแล้วข้างต้น. ความไม่รู้ทำให้อยากหรืออยากเพราะไม่รู้ จึงกล่าวได้ว่าความอยากมีอยู่ตราบใด ความไม่รู้ก็มีอยู่ตราบนั้น ; หรือความไม่รู้มีอยู่ตราบใดก็ไม่มีทางที่จะให้รู้ได้ว่า ความอยากเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์อยู่ตราบนั้น. เมื่อใดรู้ว่า ความอยากเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ก็เป็นอันรู้ความจริง เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์.ความจริงเรื่องสภาพแห่งความไม่มีทุกข์ โดยประการทั้งปวง นี้หมายถึงความจริงเรื่องนิพพาน. นิพพาน แปลว่า ดับไม่เหลือ เป็นความดับไม่เหลือของกิเลสและความทุกข์ เป็นความว่างจากกิเลสและความทุกข์ ถึงที่สุดจริง ๆ แต่สัตว์มิได้แสวงหาความดับทุกข์ในลักษณะเช่นนี้ แต่ไปแสวงหาความดับทุกข์จากกามคุณบ้าง หรือสูงขึ้นไปก็คือ ความสุขอันเกิดจาก รูป และ อรูปบ้าง ซึ่งไม่อาจจะเป็นความดับทุกข์อย่างแท้จริง หรือถึงที่สุดไปได้เลย นี้คืออวิชชาของสัตว์เหล่านั้นในข้อนี้. เมื่อใดทราบว่า ดับกิเลสสิ้นเชิงเป็นความดับทุกข์สิ้นเชิงเมื่อนั้นกล่าวได้ว่า รู้ความจริงเรื่องความดับทุกข์.ความจริงเรื่องหนทางให้ถึงสภาพแห่งความไม่มีทุกข์เลย นั้น คือ การปฏิบัติชนิดที่ ถูกตรงตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ในลักษณะที่จะดับอวิชชาและตัณหาเสียได้ ซึ่งเรียกว่าการปฏิบัติชอบ หรือการปฏิบัติสายกลาง คือพอเหมาะพอสม หมายถึงการปฏิบัติต่อชีวิต ไม่ตึงเครียดเกินไป ไม่ย่อหย่อนเกินไป แต่ให้พอเหมาะพอสมเพื่อจะเป็นอยู่ ชนิดที่เป็นการละกิเลสไปในตัว ทั้งกลางวันและกลางคืน หรือเรียกว่าทั้งหลับทั้งตื่น ไม่มีระยะว่างเว้น แม้จะหลับอยู่ก็ยังใช้เป็นการควบคุมกิเลสหรือบรรเทากิเลสอยู่เสมอไป. ข้อปฏิบัติเหล่านี้มีชื่อเรียกว่ามรรคบ้าง สติปัฏฐานบ้าง โพชฌงค์บ้าง และอื่น ๆ อีกหลายอย่าง โดยใจความเป็นอย่างเดียวด้วยกันทั้งนั้น แต่ที่นิยมใช้เรียกมากกว่าอย่างอื่นนั้น คือ มรรค. มรรคในที่นี้แปลว่า ทาง หมายถึง ทางปฏิบัติเพื่อทำลายตัณหา หรืออวิชชา โดยตรง.มรรคนี้ประกอบด้วยองค์ประกอบจำนวนหนึ่ง จะว่ามีองค์ ๑๐ ก็ได้ องค์ ๘ ก็ได้ มีองค์ ๓ ก็ได้ แล้วแต่จะย่นหรือจะขยายตามต้องการ ; แต่ที่ใช้เป็นหลักสำหรับกล่าวกันทั่วไปนั้น ถือว่ามีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น มีสัมมาสมาธิเป็นที่สุดเพราะเป็นพระพุทธภาษิตที่ตรัสมากกว่าอย่างอื่น. ถ้าจะขยายออกเป็น ๑๐ ก็เพิ่มสัมมาญาณะและสัมมาวิมุตติ ต่อท้ายมรรคมีองค์ ๘. ถ้าย่นให้เหลือ ๓ ก็สงเคราะห์สิ่งเหล่านั้นให้เป็นเพียง อธิสีล อธิจิต และ อธิปัญญา ดังนี้เป็นต้น. แต่โดยใจความแล้ว คือข้อปฏิบัติที่มีผลดิ่งไปในทางที่จะทำลายกิเลสตัณหาโดยตรงเท่านั้น.ส่วนสัตว์ผู้ถูกอวิชชาครอบงำไว้ ย่อมปฏิบัติแต่ในทางให้ได้มาซึ่งสวรรค์ อันรวมทั้งความสนุกสนานเพลิดเพลินในโลกนี้ หรืออย่างมากที่สุด ก็มุ่งต่อความสุขอันเกิดจากรูป หรืออรูป นี้คือ อวิชชาในเรื่องทางดับทุกข์ ของสัตว์เหล่านั้น.เมื่อใดมีความรู้แจ้งในข้อปฏิบัติ ที่เป็นการทำลายกิเลสโดยตรงอย่างเดียว เมื่อนั้นเรียกว่า มีวิชชา ในความจริงเรื่องหนทางแห่งความดับทุกข์.ความไม่รู้ความจริงทั้ง ๔ ข้อนั้น เรียกว่าอวิชชาในที่นี้ เมื่อมีอวิชชาเหล่านี้แล้ว นอกจากไม่รู้ความจริงต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว ยังเป็นเหตุให้รู้ความเท็จ กล่าวคือ มิจฉาทิฏฐิต่าง ๆ ที่อยู่ในรูปของกิเลสชื่อต่าง ๆ สัญโญชน์ชื่อต่าง ๆ อนุสัยชื่อต่าง ๆ นอกไปจากอวิชชา ดังที่ได้เห็นกันอยู่ทั่ว ๆ ไป.นี้เป็นการแสดงให้เห็นว่า อะไรเป็นสิ่งที่ควรรู้ อะไรเป็นสิ่งที่แม้รู้ก็ยังไม่เรียกว่ารู้สิ่งที่ควรรู้ ; ซึ่งสรุปความได้เฉพาะในข้อนี้ว่า อวิชชา คือความไม่รู้ หรือปราศจากความรู้ชนิดที่ทำให้เดินถูกทางแห่งความดับทุกข์นั่นเอง.ส่วนข้อที่ว่า อวิชชา จะทำให้เกิดผลอย่างไรสืบไป นั้น ย่อมเห็นได้จากคำอธิบายที่กล่าวมาแล้ว ๒ ข้อข้างต้น คือเมื่อไม่รู้ก็เดินผิดทาง คำว่าเดินผิดทาง หมายถึงเป็นไปในลักษณะที่จะทำให้กิเลสต่าง ๆ เกิดขึ้นมาใหม่ และมีความทุกข์ต่าง ๆ เกิดขึ้นมาใหม่ แล้วหลงใหลอยู่ในกิเลสและความทุกข์นั้น ในลักษณะที่เรียกว่า เห็นกงจักรเป็นดอกบัว คือทำไปด้วยความสมัครใจในการที่จะเวียนว่ายอยู่ในวัฏฏสงสาร กล่าวคือ ความทุกข์ที่วนเวียนอยู่ด้วยกิเลส และการกระทำกรรมอย่างซ้ำซากไม่มีที่สิ้นสุด. นี้คือผลที่เกิดมาจากอวิชชา หรือกล่าวได้ว่า ขึ้นชื่อว่าอวิชชาแล้ว ต้องมีผลอย่างนี้เสมอไป จึงจะได้นามว่าอวิชชาสมชื่อ.เมื่อทราบว่า ภาวะ แห่งอวิชชา คืออะไร, อวิชชา ขาดความรู้ในเรื่องอะไร ย่อมก่อให้เกิดผลอะไรขึ้น ดังนี้แล้ว ก็พอจะกล่าวได้ว่าเป็นผู้รู้จักตัวอวิชชาซึ่งเป็นเหมือนแม่ของกิเลสทั้งหลายอย่างหนึ่ง ทำให้สัตว์เดินผิดทางอย่างหนึ่ง เป็นการช่วยกันทั้งแม่ทั้งลูกในการที่จะครอบงำสัตว์ กักขังสัตว์ เบียดเบียนย่ำยีหรือทรมานสัตว์. อรหัตตมรรค มีคุณสมบัติตรงกันข้าม เพราะเกิดมาจากสิ่งที่ตรงกันข้าม กล่าวคือ วิชชา ซึ่งได้บำเพ็ญมาโดยประการต่าง ๆ ในทุกขั้นของอานาปานสติ ตั้งแต่ขั้นที่หนึ่งจนถึงขั้นสุดท้าย ล้วนแต่เป็นการส่งเสริมให้วิชชาเกิดขึ้น จนกระทั่งสมบูรณ์ ทำลายอวิชชาให้สูญสิ้นไป เหมือนแสงสว่างเกิดขึ้น ย่อมกำจัดความมืดให้หายไป ฉะนั้น. เมื่ออวิชชาหมดไปแล้ว เป็นอันว่ากิเลสหรือความดับทุกข์ดับไปโดยสิ้นเชิง เป็นทางที่จะทราบได้โดยง่ายว่า วิมุตติสุขที่เกิดขึ้นจากการทำลายอวิชชาเสียได้นี้ จะเป็นสิ่งสูงสุดเพียงไร และญาณวิมุตติสุขขั้นนี้จะนำมาซึ่งความชื่นชมยินดี ในการชนะมารแก่ผู้ปฏิบัติเพียงไร.วินิจฉัยในวิมุตติสุขญาณ ๒๑ ประการ สิ้นสุดลงเพียงเท่านี้.ญาณทั้ง ๑๑ หมวดรวมเป็น ๒๒๐ ประการ จัดเป็นความรู้ที่ผู้ปฏิบัติในอานาปานสติจะพึงศึกษามาก่อน เพื่อความสะดวกแก่การปฏิบัติ แต่จัดเป็นญาณสำหรับบุคคลผู้ปฏิบัติถึงที่สุดแล้ว คือเป็นความรู้ที่ได้เกิดขึ้นจริง ๆ และสมบูรณ์แล้ว ไม่ใช่ความรู้ที่จะศึกษาหรือกำ ลังศึกษาอยู่ เพื่อนำ ไปปฏิบัติอีกต่อหนึ่ง.ผู้ศึกษาพึงทราบความหมายของคำว่าญาณ ๒๒๐ ประการ ว่ามีความหมายอยู่เป็น๒ ความหมาย หรืออาจนำไปใช้ได้โดย ๒ ความหมายอย่างนี้. สำหรับผู้ศึกษาเพื่อนำไปปฏิบัติ จะต้องพยายามศึกษาให้เข้าใจว่าหมวดไหน กล่าวด้วยเรื่องอะไรสัมพันธ์กับหมวดอื่นก่อนหลังกันอย่างไร และตนจะต้องปฏิบัติต่อหมวดไหนในลักษณะที่เป็นการละเว้นอย่างไร และต่อหมวดไหนในลักษณะที่เป็นการเจริญคือทำให้เกิดมีขึ้นอย่างไร ; ให้มีความเข้าใจแจ่มแจ้ง เพื่อความไม่ติดขัดในการปฏิบัติทุกขั้นตอน. ส่วนผู้ที่ได้ปฏิบัติจนถึงที่สุดแล้วนั้น ย่อมเห็นประจักษ์ซึ่งสิ่งเหล่านี้ในฐานะที่เป็นตัวความจริงหรือเป็นของจริงโดยตรง. ความรู้อย่างแรกเหมือนกับความรู้ที่ได้มาจากการดูแผนที่ ส่วนความรู้อย่างหลังเหมือนกับความรู้ในขณะที่ได้ไปถึงที่นั้น ๆ แล้ว และดูของจริงหรือบ้านเมืองจริง ๆ ตามที่เคยแสดงอยู่ในแผนที่. พึงเปรียบเทียบดูด้วยตนเองว่า ความรู้ ๒ อย่างนี้ต่างกันอย่างไร. ด้วยเหตุฉะนี้แหละ จึงได้เรียกอย่างแรกว่าความรู้ และเรียกอย่างหลังว่าญาณ ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นอยู่ในตัวแล้วว่า ความรู้เรื่องนั้น ๆ มีได้ก่อนการบรรลุธรรม แต่ยังไม่ใช่ญาณ ส่วนญาณนั้นมีมาภายหลังการบรรลุธรรมจึงเป็นการรู้อย่างแท้จริง และจากของจริงโดยตรงอย่างที่กล่าวแล้ว. ดังนั้น ท่านจึงกล่าวไว้เป็นหลักว่า เมื่อปฏิบัติในอานาปานสติ อันมีวัตถุ ๑๖ โดยสมบูรณ์แล้วย่อมเกิดญาณ ๒๒๐ ประการดังนี้.

https://sites.google.com/site/smartdhamma/smartdhamma.googlepages.comsmartdhamma.g

. . . . . . .