ตอน สิบห้า อานาปานสติ ขั้นที่ สิบเอ็ด
(การทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่)
อุทเทสแห่งอานาปานสติขั้นที่สิบเอ็ด หรือข้อที่สามแห่งจตุกกะที่สามนั้นมีว่า “ภิกษุนั้น ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ จักหายใจเข้าดังนี้ ; ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ จักหายใจออก ดังนี้” ; (สมาทหํ จิตฺตํ อสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ ; สมาทหํ จิตฺตํ ปสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ)
และมีอธิบาย ดังต่อไปนี้คือ :-
การวินิจฉัยในบทว่า “ย่อมทำในบทศึกษา” ย่อมมีใจความเหมือนกับในขั้นที่แล้วมาโดยประการทั้งปวง มีอยู่บ้างที่จะต้องทำความเข้าใจเป็นพิเศษเฉพาะขั้นนี้คือ:- ส่วนที่จะถือว่าเป็นสีลสิกขา นั้น จะต้องรู้จักสอดส่องให้ถูกตรงตามที่มีอยู่ ; โดยใจความใหญ่ ๆ นั้นเล็งถึง ข้อที่มีการสำรวมหรือระวังจิตไม่ให้ละไปจากอารมณ์ ที่กำลังกำหนดอยู่ในขั้นนั้น ๆ ; ตัวการสำรวมนั่นแหละจัดเป็นศีลในที่นี้. เพราะว่าเมื่อมีการสำรวมในเวลาใด โทษทางกาย วาจา หรือการทุศีลอย่างใด ๆ ก็มีขึ้นไม่ได้.การชี้ให้เห็นเช่นนี้เป็นการป้องกัน ไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดไปว่า เมื่อการปฏิบัติดำเนินมาถึงขั้นสมาธิหรือปัญญาอย่างสูงเช่นนี้แล้วมันจะยังคงมีการสำรวมศีลอยู่ได้อย่างไรกัน ; ฉะนั้น ขอให้ถือว่า เมื่อมีการสำรวมจิตใด ๆ อยู่ในเรื่องใดก็ตาม ด้วยอำนาจของสติแล้ว การสำรวมนั้นย่อมเป็นการประมวลไว้ได้ซึ่งสีลสิกขาอยู่ในตัวโดยสมบูรณ์. เป็นอันกล่าวได้ว่าแม้ในขณะที่กำลังปฏิบัติหมกมุ่นอยู่ในอานาปานสติขั้นสูงเหล่านี้ การสำรวมในศีลก็ยังสมบูรณ์อยู่ตามเดิม จึงเป็นการทำให้ไตรสิกขา หรือสิกขาทั้งสามยังคงเป็นธรรมสมังคีสมบูรณ์อยู่ ; ฉะนั้น คำว่า “ย่อมทำในบทศึกษา” ในอานาปานสติข้อนี้ และในอานาปานสติข้อต่อไปทั้งหมด ก็ยังหมายความถึงการทำเต็มที่ในสิกขาทั้งสามอยู่นั่นเอง.
ส่วนที่เป็นสมาธิและส่วนที่เป็นปัญญา นั้น เห็นได้ชัดอยู่แล้วว่ามีการกำหนดสมาธิและการพิจารณาทางปัญญาอยู่ทุกขั้น ; แต่ส่วนที่เป็นศีลนั้นเป็นอยู่อย่างไม่เปิดเผย จะต้องรู้จักพิจารณาจึงจะมองเห็นได้ชัดเจน กล่าวคือในอานาปานสติขั้นที่หนึ่ง ขั้นที่สอง ขั้นที่สาม มีการสำรวมอยู่ที่การระวังจิตให้คอยกำหนดลมหายใจในวิธีต่าง ๆ กัน. การสำรวมนั่นเองควบคุมเอาความมีศีลไว้ได้.ในอานาปานสติขั้นที่สี่ การสำรวมมีอยู่ที่การพยายามทำลมหายใจให้รำงับลง ๆซึ่งเป็นการสำรวมที่ยากยิ่งไปกว่าขั้นที่แล้วมา ; การสำรวมในขั้นที่ห้าและที่หกมีอยู่ตรงที่คอยกำหนดปีติและสุขอย่างแรงกล้า ; ในขั้นที่เจ็ด มีอยู่ที่การคอยกำหนดเวทนาหรือการที่เวทนาทำหน้าที่ปรุงแต่งจิต ; ในขั้นที่แปด การสำรวมมีอยู่ในการที่เฝ้าพยายามป้องกัน ไม่ให้เวทนาปรุงแต่งจิตได้ หรือปรุงแต่งแต่น้อยที่สุด ; ในขั้นที่เก้า การสำรวมมีอยู่ในขณะที่ตั้งหน้าตั้งตาคอยเฝ้ากำหนดลักษณะต่าง ๆ ของจิต ; ในขั้นที่สิบ การสำรวมมีอยู่ที่การประคองจิตให้มีปราโมทย์ และการกำหนดซึ่งความปราโมทย์นั้น ๆ ; สำหรับขั้นที่สิบเอ็ดนี้ความสำรวมมีอยู่ตรงที่ความพยายามประคองจิตให้ตั้งมั่นในแบบต่าง ๆ กัน.ความสำรวมทุกอย่างเหล่านี้ล้วนเป็นแต่ตัวศีล หรือความควบคุมไว้ได้ซึ่งสีลสิกขา ให้ยังคงมีอยู่ตลอดเวลา สำหรับในขั้นต่อไปพึงถือเอาใจความอย่างเดียวกัน จักไม่กล่าวถึงอีกโดยละเอียด จักชี้ให้เห็นแต่ในแง่ที่จำเป็นจะต้องชี้เท่านั้น.สิ่งที่ต้องวินิจฉัยสืบไป คือข้อที่ว่า “ทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่”
สิ่งที่ต้องวินิจฉัยมีอยู่ ๒ ประการคือ ความตั้งมั่นเป็นอย่างไร และความตั้งมั่นมีได้เมื่อไรซึ่งจะได้วินิจฉัยกันสืบไป. คำว่า “ความตั้งมั่น” ในที่นี้ โดยใจความก็คือความเป็นสมาธินั่นเอง.เนื่องจากความเป็นสมาธินี้ มีอาการที่อาจจะแยกพิจารณาให้เห็นได้ในมุมหรือแง่ต่าง ๆ กัน เพราะฉะนั้นในทางศัพทศาสตร์ เมื่อถามว่าสมาธิคืออะไรแล้ว ย่อมตอบด้วยการจำแนกชื่อต่าง ๆ เหล่านี้ให้ฟังคือ ? ิติ = ความตั้งมั่น. สณฺฐิติ =ความหนักแน่นหรือความตั้งมั่นด้วยดี, อธิฏฺฐิติ = ความแข็งแรงหรือเข้มแข็ง, อวิสาหาโร = ความมิได้มีอาการดุจอาหารเป็นพิษ, อวิกฺเขโป = ความไม่ฟุ้งซ่าน,อวิสาหตมานสตา = ความมีใจที่พิษมิได้กระทบกรทั่ง, สมโถ = ความสงบ, สมาธินฺทฺรียํ = อินทรีย์คือความตั้งมั่น, สมาธิพลํ = กำลังคือความตั้งมั่น, สมฺมาสมาธิ = ความตั้งมั่นชอบ. ดังนี้เป็นต้น ; ซึ่งเป็นการเพียงพอแล้วที่ยกมาเป็นตัวอย่าง ทั้งที่ยังมีคำอื่นอีกมาก.
อธิบายความหมายแห่งคำที่แสดงลักษณะแห่งความตั้งมั่น เหล่านี้พอเป็นทางเข้าใจมีอยู่ดังนี้ : คำว่า ตั้งมั่น หนักแน่น หรือแข็งแรง เป็นต้นนี้ล้วนแต่เป็นอาการของจิต ซึ่งเรียกว่าสมาธิ. คำว่า ความตั้งมั่น หมายถึงความที่อารมณ์หรือนิวรณ์กระทบไม่หวั่นไหว ; คำว่า หนักแน่น หรือตั้งมั่นด้วยดีนั้นหมายความว่าเป็นอย่างนั้นยิ่งไปอีก คือสามารถทนสู้ต่ออารมณ์หรือนิวรณ์ที่มีกำลังมากได้จริง. คำว่า แข็งแรง หมายถึงไม่อ่อนไปตามอารมณ์ ที่ยั่วเย้าหรือขู่เข็ญบังคับ. คำว่า มิได้เป็นดุจอาหารเป็นพิษ นี้เป็นการทำอุปมา : เหมือนอย่างว่าคนที่เกิดมีอาหารเป็นพิษขึ้นในกระเพาะ ย่อมมีอาการกระสับกระส่ายเหมือนคนจะตาย ไม่สามารถประกอบการงานอันใดได้ ไม่มีความสดชื่นเบิกบานแต่ประการใดเลย. จิตนี้ก็เหมือนกัน ถ้านิวรณ์เข้าไปเป็นพิษอยู่ในภายในแล้ว ย่อมตายจากความดี ไม่สามารถประกอบกิจใด ๆ ทางจิตได้ ไม่มีความสดชื่นเบิกบานแต่ประการใดเลย. เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ลักษณะของสมาธินั้นต้องเป็นเหมือนกับความที่ไม่มีอาหารเป็นพิษอยู่ในกระเพาะ. คำว่า ไม่ฟุ้งซ่านหมายถึงมีอารมณ์เพียงอย่างเดียว ไม่แล่นไปสู่อารมณ์ใด ๆ กำหนดอยู่แต่อารมณ์ที่มีอยู่สำ หรับสมาธินั้น เหมือนกับสัตว์ที่มีสิ่งที่ต้องการอยู่ในที่นั้นอย่างเพียงพอแล้ว ก็ไม่ลุกลนไปในที่อื่น ๆ เหมือนลิงที่เที่ยวแสวงหาผลไม้ไปทั่ว ๆ ป่า ฉันใดก็ฉันนั้น.
คำว่ามีใจอันพิษมิได้กระทบกระทั่ง นั้น พิษในที่นี้ หมายถึงนิวรณ์และกิเลสชื่ออื่นทุกชนิด ; เมื่อกิเลสไม่กระทบจิต จิตมีความเป็นปกติสงบอยู่ได้.คำ ว่ากระทบจิตในที่นี้ หมายถึงครอบงำ จิต ดึงจิตไปตามอำ นาจของมัน เช่นความอยากดึงไปสู่สิ่งที่มันอยาก ความโกรธดึงไปสู่สิ่งที่มันโกรธ ดังนี้เป็นต้น ;เมื่อไม่มีสิ่งเหล่านี้จิตก็สงบ เป็นสมาธิ คำ ว่า สมถะ หรือ สงบ มีความหมายตรงตามภาษาไทย คือหมายถึงความระงับ ไม่มีความดิ้นรน ไม่มีความเร่าร้อนไม่มีความหม่นหมอง ดังนี้เป็นต้น. คำว่า สมาธินฺทฺริยํ ต้องการให้หมายถึงสมาธิที่แท้จริง คือขนาดที่จะเป็นใหญ่ เป็นประธานได้อย่างหนึ่ง ในบรรดาธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานทั้งหลาย, คำว่า สมาธิพลํ ก็เป็นอย่างเดียวกันหมายถึงสมาธิที่ถึงขนาดที่มีกำลังหรือใช้เป็นกำลังต่อสู้ข้าศึก คือนิวรณ์ได้. คำว่าสัมมาสมาธิ ต้องการให้หมายถึงแต่ สมาธิที่ถูกที่ชอบ หรือ สมาธิในทางพุทธศาสนา เพราะยังมีสมาธิที่เป็นของนอกพุทธศาสนา หรือสมาธิที่เดินผิดทางเป็นมิจฉาสมาธิอยู่อีกพวกหนึ่ง. เมื่อผู้ศึกษาได้พิจารณาดูความหมายของคำ เหล่านี้ทุกคำอย่างละเอียดลออแล้ว ก็สามารถเข้าใจถึงความหมายของสิ่งที่เรียกว่าสมาธิได้อย่างทั่วถึง และเข้าใจได้ว่าสมาธินั้นคืออะไร. แต่อย่างไรก็ดีทั้งหมดนี้เป็นเพียงการอธิบายตามทางศัพทศาสตร์ หรือทางหนังสือเท่านั้น.
ส่วนในทางปฏิบัตินั้น ท่านจำกัดความไว้สั้น ๆ ตามหลักแห่งอานาปานสติว่า ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งไม่ฟุ้งซ่าน ด้วยอำนาจการกำหนดลมหายใจยาว – สั้น ชื่อว่า สมาธิ ; หรืออีกอย่างหนึ่งว่า จิตที่มีอารมณ์เป็นอันเดียวไม่ฟุ้งซ่าน ด้วยอำนาจจากการกำหนดลมหายใจ ของบุคคลผู้มีจิตตั้งมั่นชื่อว่าสมาธิ ดังนี้ ซึ่งทั้งหมดนี้อาจจะสรุปความได้ว่า เมื่อจิตมีอารมณ์สำหรับกำหนดและจิตกำหนดอารมณ์นั้นได้ การกำหนดอารมณ์ได้นั้น ชื่อว่า สมาธิจะเป็นอย่างต่ำ อย่างกลาง อย่างสูง หรืออย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างประณีต นั้นย่อมแล้วแต่กรณี แต่ไม่ถือเอาเป็นประมาณ เพราะอาจจะเรียกได้ว่าเป็นสมาธิได้ด้วยกันทั้งนั้น. นี้คือวินิจฉัยข้อที่ว่า สมาธิคืออะไร ?
ส่วนข้อที่ว่า สมาธิหรือความตั้งมั่นมีได้เมื่อไรนั้นมีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า สมาธิมีได้ทุกขณะที่จิตมีการกำ หนดอารมณ์ นี่เป็นหลักทั่ว ๆ ไป ; ที่เป็นอย่างพิเศษนั้น สมาธิมีได้หรือยังคงมีอยู่ได้แม้ในขณะที่จิตกำหนดลักษณะ มีลักษณะแห่งความไม่เที่ยง เป็นต้น ในขณะแห่งวิปัสสนา ; ฉะนั้น เมื่อจะประมวลให้สิ้นกระแสความก็เป็นอันกล่าวได้ว่า สมาธิได้โดยประเภทใหญ่ ๆ ใน ๓ กาล คือ :-
๑. สมาธิในขณะระยะเริ่มแรกแห่งการกำหนดอารมณ์ ซึ่งได้แก่บริกรรมสมาธิและอุปจารสมาธิ.
๒.สมาธิในขณะที่จิตตั้งอยู่ในฌาน ได้แก่อัปปนาสมาธิโดยตรง.
๓. สมาธิ ที่เป็นอนันตริกสมาธิแนบเนื่องกันอยู่กับปัญญา ในขณะที่มีการกำหนดและการพิจารณาลักษณะ มีลักษณะแห่งความไม่เที่ยง เป็นต้น.
สมาธิอย่างที่หนึ่ง คือสมาธิในระยะเริ่มแรก แห่งการกำหนดอารมณ์นั้น เป็นสมาธิโดยอ้อมหรือโดยปริยาย คือเป็นสมาธิที่ยังไม่ถึงขนาดที่จะกล่าวได้ว่าเป็นสมาธิแท้ เหมือนมนุษย์ยังเด็กอยู่ ยังไม่มีความเป็นมนุษย์ที่เต็มที่ ฉันใดก็ฉันนั้น, แต่ถึงกระนั้นก็ยังดีกว่าไม่มีสมาธิเสียเลยเป็นไหน ๆ. สรุปความในข้อนี้ว่า พอสักว่าลงมือทำสมาธิ ก็มีสมาธิโดยปริยายนี้ได้เรื่อย ๆไปเป็นลำดับ จนกระทั่งถึงขณะแห่งอุปจารสมาธิ คือนิวรณ์ระงับไปบ้าง กลับมีมาบ้าง หรือนิวรณ์ถอยกำลังลงไปมาก แต่ไม่ถึงขนาดที่จะระงับหมดสิ้นไปทั้งนี้ เพราะเหตุที่ว่าองค์ฌานยังไม่ครบถ้วนและตั้งมั่น จึงต้องจัดเป็นสมาธิโดยปริยายอยู่นั่นเอง แต่ถึงกระนั้นก็ยังดีกว่าไม่มีสมาธิเสียเลย ดังกล่าวแล้ว.
สมาธิอย่างที่สอง คือ อัปปนาสมาธินั้น หมายถึงความที่จิตตั้งมั่นอยู่ในฌาน นี้คือตัวสมาธิแท้ และมีความหมายเต็มตามความหมายของคำว่าสมาธิทุกประการ. เมื่อกล่าวว่าจิตให้ตั้งมั่นอยู่ และเป็นความตั้งมั่นอยู่อย่างแท้จริงก็ต้องหมายถึงความที่จิตตั้งอยู่ในสมาธิขั้นที่เป็นฌาน ขั้นใดขั้นหนึ่งเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นรูปฌานหรืออรูปฌานก็ตาม. ถ้าผู้ปฏิบัติในอานาปานสติมีความมุ่งหมายที่จะฝึกฝนในส่วนอรูปฌาน ก็มีโอกาสที่จะฝึกฝนได้ในอานาปานสติขั้นที่สิบเอ็ดนี้ มีรายละเอียดดังที่กล่าวไว้ในที่อื่นอีกส่วนหนึ่ง เพราะไม่ได้เป็นสิ่งที่มุ่งหมายโดยตรงในที่นี้. ในที่นี้มุ่งหมายโดยตรงแต่เพียงรูปฌานทั้งสี่ แต่ประเภทเดียว.
ส่วนสมาธิอย่างที่สาม คือ สมาธิที่แนบเนื่องกันอยู่กับปัญญาโดยไม่แยกกันนั้น จัดเป็นสมาธิโดยปริยายอีกอย่างหนึ่ง เพราะในขณะนี้เป็นขณะที่ปัญญาจะทำ หน้าที่ ของมันด้วย กำลัง คือสมาธิ. เมื่อบุคคลกำหนดอารมณ์ของสมาธิจนทำ ฉานให้เกิดขึ้นได้ ดำ รงอยู่ในฌานนานพอสมควร คือจิตมีกำ ลังเข้มแข็ง และเข้ารูปเข้ารอยเพียงพอแก่ความต้องการแล้ว ก็ออกจากฌานนั้นไปกำ หนดอารมณ์แห่งวิปัสสนา เช่นเวทนาเป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาพิจารณาโดยลักษณะ มีลักษณะแห่งความไม่เที่ยงเป็นต้นอยู่. ในขณะนี้กำลังแห่งสมาธิก็ยังอยู่ในการพิจารณานั้น คือ แฝงตัวหรือแนบเนื่องกันอยู่กับปัญญาโดยสัดส่วนที่สมควรกัน : ถ้าเพ่งปัญญาแรง กำลังของสมาธิก็แรงขึ้นตาม,ถ้าเพ่งปัญญาหย่อน กำลังของสมาธิก็หย่อนลงตาม, และเป็นไปในตัวเองได้เช่นนี้โดยไม่ต้องเจตนา ดังนี้. สมาธิชนิดนี้เรียกว่า สมาธิในขณะแห่งวิปัสสนา และเพราะเหตุนั้นจึงได้ชื่อว่า สมาธิโดยปริยาย ; แต่เป็นปริยายที่มีค่าสูง ไม่เหมือนกับสมาธิโดยปริยายดังที่กล่าวแล้วในข้อที่หนึ่ง.
จากลักษณะอาการแห่งสมาธิทั้ง ๓ ชนิด หรือ ๓ ขั้น ๓ ตอน ดังที่กล่าวมาแล้วนี้ ทำให้เราเห็นได้ว่าสมาธิมีอยู่ในขณะไหนหรือเมื่อไร และสมาธิในขณะไหน มีลักษณะและหน้าที่อย่างไร เป็นการรอบรู้ต่อความที่จิตเป็นสมาธิได้โดยประการทั้งปวง.
สำหรับ การปฏิบัติอานาปานสติในขั้นที่สิบเอ็ดนี้๑ มีหลักส่วนใหญ่ว่าทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ทุกลมหายใจเข้า – ออก ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติจะต้องย้อนกลับไปปฏิบัติมาตั้งแต่อานาปานสติขั้นที่หนึ่งอีกตามเคย เพื่อจะได้กำหนดความตั้งมั่นของจิตซึ่งมีอยู่ในลักษณะต่าง ๆ กัน เป็นอารมณ์ทุก ๆ ขั้น ทุก ๆ ลำดับ เท่าที่จิตจะมีอาการตั้งมั่นอย่างไร. ในระยะนี้ ใจความสำคัญของการฝึก มีอยู่ตรงที่ให้เพ่งเล็งถึงความตั้งมั่นอย่างเดียว ไม่ว่าจะฝึกด้วยอานาปานสติข้อไหน.
จากคำ อธิบายในข้อที่แล้วมาทำ ให้เราเห็นได้ว่า ฝึกอานาปานสติอย่างเดียวกันหรือชื่อเดียวกัน หรือข้อเดียวกันก็จริง แต่การกำหนดนั้น กำหนดต่างกันหรือกำหนดคนละสิ่ง ดังจะยกตัวอย่างให้เห็นได้ง่าย ๆ อีกครั้งหนึ่ง : เช่น เมื่อฝึกอยู่ในอานาปานสติขั้นที่หนึ่ง เรากำ หนดลมหายใจนั่นเอง อยู่ทุกลมหายใจเข้า – ออก ; ครั้นมาถึงการฝึกในขั้นที่สิบเอ็ดนี้ ซึ่งจะต้องย้อนกลับไปทำ มาตั้งแต่ขั้นที่หนึ่งอีกก็ตาม แต่เราก็มิได้กำ หนดลมหายใจอยู่ทุกลมหายใจเข้า – ออกโดยตรง เราเพียงแต่ กำหนดความที่จิตตั้งมั่นได้เท่าไรหรืออย่างไรในขณะแห่งอานาปานสติขั้นที่สิบเอ็ดนั้นอยู่ทุกลมหายใจเข้า – ออก เพื่อกำ หนดรู้ความตั้งมั่น หรือศึกษาความตั้งมั่นของจิตในทุกขั้นแห่งอานาปานสติโดยทำ นองที่จะทำ ให้เห็นได้ว่า มันตั้งมั่นในความหมายของสมาธิสูงขึ้นมาเป็นลำดับ ๆ เพียงไร ; แล้วความตั้งมั่นนั้นเองค่อย ๆ กลายเป็นความตั้งมั่นตามความหมายของวิปัสสนาหรือปัญญาขึ้นมา ในขณะแห่งอานาปานสติขั้นไหนและด้วยอาการอย่างไร ; จนกระทั่งรู้จักความตั้งมั่นทุกชนิดทุกแบบ ทุกแง่ ทุกมุมทุกขนาด ทุกแขนง เป็นต้นจริง ๆ. ฉะนั้น จึงทำให้เห็นชัดได้ว่า แม้เราจะย้อนไปฝึกตั้งแต่ขั้นที่หนึ่งอีก แต่ก็มีการกำ หนดในการฝึกต่างกัน เช่นเมื่อฝึกขั้นที่สิบเอ็ดนี้กำ ลังย้อนไปฝึกขั้นต้น ๆ ขั้นไหนก็ตาม การฝึกล้วนแต่กำ หนดอยู่ที่ความตั้งมั่นทุกขั้นไป. ถ้าผู้ใดจับความสำคัญข้อนี้ได้ ก็จะเห็นได้ด้วยตนเองว่า การฝึกทุกขั้นไม่เหมือนกันเลย แม้จะมีการย้อนไปฝึกในขั้นต้น ๆ มาอีกกี่ขั้นก็ตาม.
สรุปความว่า การฝึกในขั้นที่สิบเอ็ดนี้ ฝึกในการกำหนดความตั้งมั่นทั้งในแง่ของสมถะ และทั้งในแง่ของวิปัสสนา จากอานาปานสติทุกขั้นเท่าที่มีให้กำหนดได้ว่ามีความตั้งมั่นอยู่กี่อย่าง จนกระทั่งตนมีความคล่องแคล่วในการทำจิตให้ตั้งมั่นได้ทุกอย่าง ด้วยความชำนิชำนาญสมตามความปรารถนา.ส่วนคำวินิจฉัยในข้อที่ว่าญาณและสติ ตลอดถึงสัมปยุตตธรรมอื่น ๆซึ่งมีอยู่ในขณะนั้นมีขึ้นได้โดยวิธีไรนั้น พึงทราบว่าเมื่อจิตมีความตั้งมั่นไม่ว่าชนิดไหนอยู่ทุกลมหายใจเข้า – ออก จิตที่ตั้งมั่นนั้นก็ปรากฏด้วย สติทีกำหนดความตั้งมั่นนั้นก็ปรากฏด้วยจึงเกิดมีจิตรู้แจ้งคือวิญญาณจิต ซึ่งได้แก่ อนุปัสสนาญาณดังที่ได้กล่าวแล้วในข้อก่อน.เมื่อเป็นดังนี้ก็เป็นอันว่ามีการตามเห็นซึ่งจิตในจิตด้วยอำ นาจของสตินั้นจนกระทั่งเห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาของจิต แม้ที่ตั้งมั่นแล้วทุกชนิด ; เมื่อกระทำอยู่ดังนี้ก็เรียกว่ามีจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานภาวนา อันเป็นภาวนาที่สมบูรณ์ด้วยอรรถทั้งสี่ ดังที่ได้เคยอธิบายมาแล้วอย่างละเอียดในข้อต้น ๆ ; ในขณะนั้นย่อมมีการสโมธานมาได้ซึ่งธรรมทั้งหลาย ๒๙ อย่าง พร้อมทั้งรู้โคจรและแทงตลอดสมัตถะของธรรมนั้น ๆ ดังที่กล่าวโดยละเอียด ในอานาปานสติขั้นที่ห้าอีกนั่นเอง.
การวินิจฉัยในอานาปานสติขั้นที่สิบเอ็ดสิ้นสุดลงเพียงเท่านี้ ต่อไปนี้จะได้วินิจฉัยในอานาปานสติขั้นที่สิบสองสืบไป.
https://sites.google.com/site/smartdhamma/part15_anapanasati_budhadhas