การก่อสร้างพระพุทธรูปสมเด็จ
อนุสรณ์การสร้างพระพุทธรูปของสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พฺรหฺมรํสี)
สถานที่ที่มีความสำคัญและเกี่ยวเนื่องกับสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พฺรหฺมรํสี) มีด้วยกันมากมาย หลายแห่งซึ่งสถานที่เหล่านั้นมีความ ผูกผันกับ ชีวิตของสมเด็จโตฯตั้งแต่เกิดจนกระทั่งมรณภาพ ท่านก็มักจะสร้างอะไร ๆ ที่ใหญ่ ๆ โต ๆ สมกับชื่อของท่าน ส่วนใหญ่แล้วท่านก็จะสร้างเป็นพระพุทธรูปในอิริยาบถต่างๆ เช่น ยืน เดิน นั่ง นอน เป็นต้น เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ตัวท่านเอง จึงได้สร้างปรากฏไว้เป็นหลักฐาน
สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พฺรหฺมรํสี) ราชสกุลวงษ์ของเจ้าประคุณสมเด็จ พระพุฒาจารย์ (โต พรฺหมฺรํสี) มารดาชื่อ เกตุ (ธิดานายไชย) เดิมเป็นชาวบ้าน ต.ท่าอิฐ อำเภอบ้านโพธิ์ (ปัจจุบันคืออำเภอเมือง จ.อุตรดิตถ์) ส่วนบิดาจะมีนามใดไม่ปรากฏแน่ชัด ทราบเพียงแต่ว่ารับราชการเป็นชาวเมืองอื่น แต่ก็เชื่อได้ว่าเป็น “ราชสกุลวงษ์” ต่อมาการทำนาไม่ได้ผลเพราะฝนแล้งมาหลายปี โยมมารดาท่านจึงคิดย้ายภูมิลำเนาโดยการออกทำมาค้าขายโดยทางเรือและตามหาโยมพ่อด้วย จนกระทั่งเดินทางมาถึง บ้านไก่โจน (ต่อมาแผลงเป็น “ไก้จ้น”) ตำบลไก่จ้น อำเภอนครน้อย (อ.ท่าเรือ) แขวงเมืองกรุงเก่า (จ.พระนครศรีอยุธยา) จึงได้จอดเรือในคลองป่าสัก ใต้ต้นสะตือ ที่ริมตลิ่งหน้าวัดท่างาม (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น วัดสะตือ) โยมเกตุได้คลอดบุตรเป็นชาย ณ ที่แห่งนั้น ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 5 ปีวอก สัมฤทธิ์ศก จ.ศ. 1150 ตรงกับวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2331 เวลาบิณฑบาต ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 (หลังสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ได้ 7 ปี) และตั้งชื่อว่า “โต” เมื่อท่านเกิดแล้ว (ยังเป็นทารกแบเบาะ) มารดาก็พาท่านไปอยู่ที่ตำบลไชโย จ.อ่างทอง จนกระทั่งท่านนั่งได้ มารดาก็พามาอยู่ ณ บ้านตำบลบางขุนพรหม จังหวัดพระนคร จนกระทั่งยืนเดินได้ (ภายหลังท่านได้สร้างพระพุทธรูปใหญ่ เพื่อเป็นอนุสรณ์ ณ ที่ตำบลทั้ง 3) ดังจะกล่าวไปข้างหน้า
จ.ศ. 1162 หรือ พ.ศ. 2343 บวชเณรที่วัดบางขุนพรมนอก(วัดอินทรวิหาร) เมื่ออายุ 12 ปี ได้ 8 พรรษา โดยมีพระบวรวิริยะเถระ (อยู่) วัดบางลำพูบน (วัดสังเวชวิศยาราม) เป็นพระอุปัชฌา
จ.ศ. 1166 หรือ พ.ศ. 2347 ท่านแก้วพามาเรียนพระปริยัติธรรม ที่วัดระฆังโฆสิตามราม กับสมเด็จพระโฆษาจารย์ (นาค)
จ.ศ. 1169 หรือ พ.ศ. 2350 อุปสมบทเป็นนาคหลวงที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) โดยมีสมเด็จพระสังฆราช(สุก) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เป็นพระอุปัชฌา
จ.ศ. 1177 หรือ พ.ศ. 2358 ธุดงค์ไปที่วัดพิตเพียน จ. อยุธยา พบหลวงตาคง (เจ้าอาวาส) ซึ่งเก่งเวทย์มนต์ทางคาถา ได้ทำพระสมเด็จเนื้อตะกั่วถ้ำชาเป็นครั้งแรก
จ.ศ. 1188 หรือ พ.ศ. 2369 ได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูสามัญ อายุ 39 ปี ทำพระพิมพ์ปรกโพธิ์ข้างละ 5 ใบ
จ.ศ. 1197 หรือ พ.ศ. 2378 ได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครู ปริยัติธรรม อายุ 48 ปี ทำพระพพิมพ์ปรกโพธิ์ ข้างละ 5 ใบ และ 6 ใบ
จ.ศ. 1205 หรือ พ.ศ. 2386 ได้รับสมณศักดิ์เป็นพระราชปัญญาภรณ์ อายุ 56 ปี ทำพระพพิมพ์ปรกโพธิ์ ข้างละ 7 ใบ
จ.ศ. 1209 หรือ พ.ศ. 2390 ได้รับสมณศักดิ์เป็นพระเทพกวีศรีสุทธินายก อายุ 65 ปี ทำพระพิมพ์ปรกโพธิ์ ข้างละ 8 ใบ
จ.ศ. 1216 หรือ พ.ศ. 2397 ได้รับสมณศักดิ์เป็นพระธรรมกิติโสภณ อายุ 68 ปี ทำพระพิมพ์ปรกโพธิ์ ข้างละ 8 ใบ และ 9 ใบ
จ.ศ. 1226 หรือ พ.ศ. 2407 ได้รับสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์อายุ 76 ปี ทำพระพิมพ์ปรกโพธิ์ ข้างละ 9 ใบ
พระอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชา มีสมเด็จพระสังฆราช(สุก) กรุงเทพฯ พระอาจารย์คง อยุธยา พระอาจารย์แสง ลพบุรี และพระอาจารย์ขอม นครสวรรค์
มรณภาพ วันเสาร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 8 ปีวอก จ.ศ. 1234 ตรงกับวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2415 อายุ 85 ปี บวชพระ 65 พรรษา บวชเณร 8 พรรษา
พระราชทาเพลิงพระศพ แรม 8 ค่ำ เดือน 8 ปี ระกา จ.ศ. 1235 ตรงกับ วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2416 เวลา 4 โมงเย็น หรือ 16.00 น. พระอัฐิป่นกลายเป็นผงขี้เถ้าหมด
การสร้างพระพุทธรูปใหญ่เป็นอนุสรณ์
สร้างพระพุทธรูปปางไสยาสน์ อนุสรณ์แห่งเจ้าประคุณ “สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรฺหมฺรํสี) ท่านได้ทรงสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ปางไสยาสน์ มีพระนามว่า “พระพุทธไสยาสน์” (แต่ชาวบ้านโดยทั่วไปมักเรียนว่า “หลวงพ่อโต”) ณ วัดสะตือ ต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อไว้เป็นอนุสรณ์ว่าท่านเกิด ณ ที่แห่งนี้ เมื่อปี พ.ศ 2413 ในสมัยรัชกาลที่ 5 นามว่า “พระพุทธไสยาสน์”
การก่อสร้างพระพุทธไสยาสน์ ในปีพุทธศักราช 2413 ก่อนที่เจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์โต จะมรณภาพ 3 ปี สมเด็จฯโตมรณภาพเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ๒๔๑๕(ที่กรุงเทพฯ) ได้มาทำการก่อสร้างพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนปางพุทธไสยาสน์ ณ หมู่บ้านที่ถือกำเนิดที่วัดท่างาม ปัจจุบันคือ วัดสะตือ ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งพระนอนใหญ่มีขนาด ยาว 1 เส้น 6 วา สูง (ตั้งแต่พื้นถึงรัศมี) 8 วา ฐาน ยาว 1 เส้น 10 วา กว้าง 4 วา 2 ศอก หรือ ยาว 52 เมตร กว้าง 9 เมตร สูง 16 เมตร องค์พระโปร่ง เบื้องพระปฤษฎางค์ ทำเป็นช่องกว้าง 2 ศอก สูง 1 วา สถานที่ก่อสร้างองค์พระประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง ณ ที่ริมคูวัด ด้านตะวันออก ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก
การบูรณซ่อมแซม ครั้งที่ 1 พระอุปัชฌาย์บัตร จนฺทโชติ อดีตเจ้าอาวาส กล่าวว่า พระนอนวัดสะตือ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปีมะเมีย (เวลานั้นท่านอายุๆได้ ๕ ขวบ) ว่าเจ้าประคุณสมเด็จโต ให้พวกทาสในตำบลไก่จ้น และตำบลอื่นช่วยกันสร้าง ก่อเตาเผาอิฐกันเองที่บริเวณหน้าพระนอน ใช้ระยะเวลาสร้างอยู่ประมาณ 2 ปีจึงเสร็จ เมื่อสร้างพระเสร็จแล้ว ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็ได้ช่วยพวกทาสเหล่านั้นให้พ้นจากความเป็นทาสทุกๆคน และว่าตั้งแต่สร้างพระมาเป็นเวลา 50 กว่า ปีแล้ว ยังไม่ปรากฏการบูรณปฏิสังขรณ์ องค์พระและสิ่งก่อสร้างปรักหักพัง ทรุดโทรมมาก ถึงปีจอ พ.ศ. ๒๔๖๕ ท่านได้เริ่มทำการปฏิสังขรณ์โดยว่าจ้างนายเรือง นางบาง ไวยฉาย อยู่บ้าน ท่าแดง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นผู้รับจ้าง และได้นายเปล่ง แหวนเพชร์ เป็นลูกมือก่ออิฐถือปูน เป็นผู้ช่วย ใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัวของท่านทั้งสิ้น ท่านไม่ได้บอกบุญเรี่ยไร เป็นแต่ชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธา ได้จัดหาซื้อปูนมาช่วยท่าน ถือว่าเป็นการบูรณะครั้งแรก ทำการบูรณปฏิสังขรณ์อยู่ 4 ปี จึงแล้วเสร็จ เมื่อปีฉลู พ.ศ. 2468 ว่าสิ้นปูนขาวถึง 65 เกวียน เฉพาะพระเศียรใช้ปูนขาวทั้งสิ้น 10 เกวียน แต่ไม่ทราบว่าใช้เงินไปเท่าไหร่ เพราะได้เงินมาได้ทำไปเรื่อยๆ
การบูรณะครั้งที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม กับคณะ เดินทางมาปิดทองพระนอนวัดสะตือ เมื่อวันเสาร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ปีวอก พ.ศ. 2499 ตรงกับวันที่ 17 พฤศจิกายน 2499 เวลานั้นพระนอนอยู่ในสภาพทรุดโทรมมาก ท่านนายกรัฐมนตรี มีจิตใจประกอบด้วยความศรัทธาอันแรงกล้า ได้จัดการปฏิสังขรณ์พระนอนใหม่ ทั้งองค์ โดยบัญชาการให้กรมโยธาเทศบาลอำนวยการปฏิสังขรณ์ในครั้งนี้ ปฏิสังขรณ์อยู่ 3 เดือนจึงแล้วเสร็จ การปฏิสังขรณ์ครั้งนี้ขนาดขององค์พระได้ลดไปจากขนาดเดิมไปมาก พระเกศของเก่าชำรุดและปัจจุบันนำมาเก็บรักษาไว้ในวิหารหน้าองค์หลวงพ่อโต
การบูรณะครั้งที่ 3 เมื่อ ปี พ.ศ. 2531 โดย พระครูพุทธไสยาภิบาล (หมึก อินฺทสโร) น.ธ. เอก เจ้าอาวาส ร่วมกับชาวบ้านบูรณะ ในระยะเวลาประมาณ 3 เดือน 25 วัน จึงแล้วเสร็จ จากคำบอกเล่าของพระครูพุทธไสยาภิบาลเมื่อเดิมเคยเห็นเสาศาลาครอบองค์พระนอนที่หลวงพ่อโตสร้างไว้ ยังปรากฏให้เห็นอยู่ 2-3 ต้น เมื่อคราวบูรณะปฏิสังขรณ์เมื่อปี พ.ศ. 2499 โดยท่านจอมพล ป. พิพูลสงคราม พวกช่างกรมโยธาเทศบาลเห็นเสาตั้งอยู่ไม่ใช้ประโยชน์อะไร จึงพากันรื้อถอนทุบทิ้งเสีย ส่วนเตาเผาอิฐของหลวงพ่อโต อยู่ใต้ต้นมะขามใหญ่ท่านได้สั่งให้รื้อทิ้ง เมื่อปี พ.ศ. 2503 -2504
การบูรณะครั้งที่ 4 เมื่อ ปี พ.ศ. 2540 โดยพระอธิการทองคำ คัมภีร์ปัญโญ (ทองคำ อินทโชติ) น.ธ. เอก อดีตเจ้าอาวาส ไดร่วมกับชาวบ้านทำการบูรณและทาสีน้ำองค์พระ
การบูรณะครั้งที่ 5 เมื่อปี พ.ศ.2546 โดยพระมหาจำรัส คุตตสีโล อดีตเจ้าอาวาส ร่วมกับชาวบ้านทำการบูรณะและพ่นองค์หลวงต่อโตเป็นสีทอง และได้เปลี่ยนเม็ดพระสกจากแก้วใส เป็นนิลอัดก้อน ใช้งบในการบูรณะ 2,845,000 บาทโดย หจก.ประเสริฐอรชร
การบูรณะครั้งที่ 6 ปี พ.ศ. 2553 พระครูปริยัตยาธิคุณเจ้าอาวาสวัดสะตือองค์ปัจจุบัน ร่วมกับนายณรงค์ อ่อนสอาด รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และผู้อำนวยการศิลปากรที่ 3 จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กำลังดำเนินการวางแผนแนวทางการบูรณะเพื่อซ่อมแซมรอยร้าวครั้งใหญ่ โดยลอกสี และจะทำการกระเทาะปูนเก่าที่หมดคุณภาพออกโดยฉาบปูนหมักและขัดปูนตำแบบโบราณ
สร้างพระพุทธรูปปางสมาธิ นามว่า “พระมหาพุทธพิมพ์” เป็นพระนั่งก่ออิฐถือปูน ปัจจุบันลงรักปิดทอง หน้าตักยาว 8 วา 7 นิ้ว สูง 11 วา 1 ศอก 7 นิ้ว ณ วัดไชโยวรวิหาร ต. ไชโย อ. ไชโย จ. อ่างทอง (ที่ระลึกนั่งได้ที่นี่)
ในสมัยรัชกาลที่ 4 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ได้มาสร้างพระพุทธรูป เป็นพระพุทธรูปนั่งขนาดใหญ่ ใช้วิธีก่ออิฐก่อดิน แต่แล้วก็หักพังทลายลงในไม่ช้า ครั้งที่สองก็ก่อเช่นนั้นแต่ลดขนาดให้เล็กลงทำด้วยปูนขาวไม่ได้ปิดทอง (ได้เล่ากันมาว่า วัดไชโยเจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นผู้สร้างที่ดินของตา อุทิศให้กับมารดาและตา มารดาชื่อเกตุ ตาชื่อไชย จึงตั้งนามวัดว่า วัดเกตุไชโย แต่มักเรียกตามความเคยชินว่า “วัดไชโย”) เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสมณฑลอยุธยาในปีขาล พ.ศ. 2421 เสด็จ
วัดไชโย ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่า “…พระใหญ่ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ดูหน้าตารูปร่างไม่งามเลย แลดูที่หน้าวัดปากเหมือนขรัวโตไม่ผิด ถือปูนขาวไม่ได้ปิดทอง ทำนองท่านไม่คิดจะปิดทอง จึงได้เจาะท่อน้ำไว้ที่พระหัตถ์ แต่เดี๋ยวนี้มีผู้ไปก่อวิหารขึ้นค้างอยู่ใครจะทำต่อไปไม่ทราบ…”
ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยารัตนบดินทร(รอด กัลยาณมิตร) ที่สมุหนายก สำเร็จราชการมหาดไทยปฏิสังขรณ์วัดทั่วทั้งพระอาราม เมื่อปี กุน พ.ศ.2430 แต่ทำให้พระพุทธรูปใหญ่กระเทือนพังลงมา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สร้างพระโตใหม่เป็นของหลวง ให้พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการ ทรงเป็นนายช่างปั้นปูนพระพุทธรูปฝีพระหัตถ์ยอดเยี่ยมในสมัยนั้นช่วยออกแบบก่อสร้าง โดยรื้อออกใหม่ใช้โครงเหล็กยึดอิฐปูนไว้ภายใน แล้วลดขนาดลงสร้างเป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิซ้อนพระหัตถ์ตามลักษณะเดิม แต่ตรงจีวรและพาดสังฆาฎิตามแบบใหม่ ขนาดหน้าตัก กว้าง 8 วา 6 นิ้ว สูงสุดยอดพระรัศมี 11 วา ศอก 7 นิ้ว
เจ้าพระยารัตนบดินทร(รอด กัลยาณมิตร) ได้ดำเนินการปฏิสังขรณ์วัดทั่วทั้งพระอารามเสร็จบริบูรณ์เมือ พ.ศ. 2437 รวมเวลาบูรณะนานถึง 8 ปี
ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกฐานะเป็นพระอารามหลวง ชื่อ วัดไชโยวรวิหาร ตั้งแต่ปีต้นของการปฏิสังขรณ์ แล้วพระราชทานพระนามพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นนี้ว่า “พระมหาพุทธพิมพ์” และทรงโปรดเกล้าฯให้มีมหกรรม ทำการฉลองพระอารามวัดไชโยเป็นงานใหญ่ 3 วัน 3 คืน เมื่อเดือนตุลาคม ร.ศ. 114 ตรงกับวันที่ 25-27 ตุลาคม พ.ศ. 2438 จวบจนปัจจุบันได้ยึดถือเป็นงานเทศกาลนมัสการพระพุทธรูปประจำปี ในช่วงเดือน 11 มาโดยตลอดจนถึงทุกวันนี้
สร้างพระพุทธรูปปางประทับยืนทรงบาตร พระนามว่า พระพุทธศรีอริยเมตไตรย์ พระพุทธรูปปางประทับยืนบนปทุมชาติ อุ้มบาตรโปรดสัตว์ ที่สูงที่สุดในโลกก่ออิฐถือปูน ปัจจุบันประดับด้วยโมเสคทองคำ 24 เค ทั้งองค์ สูง 16 วา กว้าง 5 วา 2 ศอก ณ วัดอินทรวิหาร ต. บางขุนพรม เขตพระนคร กรุงเทพฯ สร้างสมัยรัชกาลที่ 4 เสร็จสมัยรัชกาลที่ 7 (ที่ระลึกยืนเดินได้ที่นี่)
พระโตยืน วัดอินทรวิหาร เป็นพระปั้นด้วยอิฐปูน ปางอุ้มบาตร 16 วาเศษ สร้างในรัชการที่ 4 ราว พ.ศ. 2410 โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต)พรหมรังสี ก่อสร้างด้วยการอิฐถือปูนดำเนินก่อสร้างเพียงครึ่งองค์ถึงพระนาภี(สะดือ) สมเด็จฯ ก็มรณภาพ ณ ศาลาใหญ่วัดบางขุนพรหมใน (วัดอินทรวิหาร) วันเสาร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 8 ปีวอก จ.ศ. 1234 ตรงกับวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2415 อายุ 85 ปี บวชพระ 65 พรรษา การสร้างค้างอยู่นาน จะมีการก่อสร้างเพิ่มเป็นปีใดไม่ปรากฎ ต่อมา พ.ศ. 2435 พระครูธรรมนุกูล (ภู จันฺเกศโร) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสรูปที่ สองท่านชราภาพอายุ 91 พรรษา 70 ซึ่งต้องยกเป็นกิตติมศักดิ์อยู่ในวัดอินทรวิหาร ได้ดำเนินการก่อสร้างเพิ่มเติมแต่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์
ในปีวอก พ.ศ. 2463 พระครูสังฆบริบาล(แดง) แห่งวัดบวรนิเวศวิหารได้มาช่วยปฏิสังขรณ์ต่อจากเดิม แต่ก็สร้างสำเร็จเพียงบางส่วน เช่น พระเศียร พระกร เป็นต้น การปฏิสังขรณ์ เดิมองค์พระรกมีต้นโพธิ์และตนไทรขึ้นปกคลุม จึงได้จัดทำให้แข็งแรง ส่วนข้างในองค์พระผูกเหล็กเป็นโครง ภายนอกหล่อคอนกรีตด้วยปูนซิเมนต์ เบื้องหลังทำเป็นวิหารหล่อคอนกรีตเป็นที่พระยืนพิง พระวิหารสูงเป็นชั้น ๆ ได้ 5 ชั้น ถึงพระเกศขาดยอดพระเมาลี
ในปีชวด พ.ศ. 2467 พระครูอินทรสมาจาร(เงิน อินฺทสโร)เมื่อยังเป็นพระครู สังฆรักษ์ ย้ายมาจากวัดปรินายกมาเป็นเจ้าอาวาสวัดอินทรวิหาร เป็นเจ้าอาวาสรูปที่สาม ได้ดำเนินการสร้างพระโตต่อมา โดยเป็นประธานบอกบุญเรี่ยไรจากประชาชนทั่วไป พระครูอินทรสมาจารทำการก่อสร้างอยู่ 4 ปี จึงสำเร็จสมบรูณ์ สิ้นเงินประมาณ 10,000 บาท การก่อสร้างองค์หลวงพ่อโตจนกระทั่งเสร็จบริบูรณ์ ปี พ.ศ. 2470 รวมระยะเวลาการก่อสร้างรวม 60 ปี ได้จัดงานสมโภชน์เมื่อวันที่ 4 – 6 มีนาคม พ.ศ. 2471 ถึง ปีมะเส็ง พ.ศ. 2472
ภายหลังจากที่ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาสถิต ณ ยอดเกศองค์พระศรีอริยเมตไตรย มีการจัดงานประเพณีปิดทองจึงจัดร่วมกับงานสมโภชพระบรมสารีริกธาตุ เรียกงาน “งานนมัสการพระบรมสารีริกธาตุและปิดทององค์หลวงพ่อโต” และได้ถือตามกำหนดในเดือนมีนาคมของทุกปีจัดงานนมัสการปิดทองจนกระทั่งปัจจุบัน
สร้างพระพุทธรูปปางประทับยืนทรงบาตร (ปางอุ้มบาตร) ณ วัดกลาง ต. คลองข่อย(ใต้โพธาราม) อ. โพธิ์ธาราม จ. ราชบุรี ก่ออิฐถือปูนความสูง 6 วาเศษ ปัจจุบันทาสี
วัดกลางคลองข่อย ก่อสร้างขึ้นเมื่อในสมัยรัชกาลใดไม่มีใครทราบ สันนิษฐานว่าอาจคงสร้างมาสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เพราะ จากคำบอกเล่าของผู้อาวุโส วัดนี้เดิมหันหน้าสู่แม่น้ำเพราะการเดินทางจะใช้แม่น้ำเป็นหลักจนถึงรัตนโกสินทร์ มีการบันทึกประวัติไว้พอสังเขปในช่วงปี พ.ศ. 2375 ในรัชกาลที่ 4 ตอนปลาย สมเด็จฯ ได้เสด็จโดยเรือมาทางน้ำถึงบริเวณตำบลบางแขยง อันเป็นที่ตั้งของวัดกลาง ซึ่งสมัยนั้น มีพระอธิการอวนดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส สมเด็จฯท่านได้เสด็จจำพรรษาอยู่ ณ วัดแห่งนี้และได้สร้างพระพุทธรูปขึ้น โดยหันหน้าสู่แม่น้ำให้เหล่าเทพเทวาและมนุษย์สักการะประจำทางด้านทิศตะวันตก การก่อสร้างพระพุทะรูปครั้งนี้ ท่านได้อธิษฐานจิตนั่งทำสมาธิพิจารณาสถานที่ก่อสร้างพระประจำทิศ ณ ใต้ต้นโพธิ์ใหญ่(ปัจจุบันต้นโพธิ์ยังอยู่และเล่าลือกันว่าศักดิ์สิทธ์มาก)
เล่ากันว่าที่ที่เจ้าประคุณสมเด็จฯสร้างพระยืนนั้นเดิมเป็นป่ารก ท่านเอาเงินเหรียญชนิดกลมมาแต่ไหนไม่ทราบโปรยเข้าไปในบริเวณป่านั้น ไม่ช้าป่านั้นก็เตียนโล่งไปหมด ท่านก็ทำการได้สะดวกว่าเงินนั้นเป็นเงินตราเก่า ๆ ด้วย และว่าในตอนที่จะสร้างพระองค์นี้ ท่านต้องการไม้ไผ่ เผอิญมีผู้ล่องแพมาทางนั้น ท่านไม่มีเงิน จึงไปที่ต้นโพธิ์บริเวณนั้นก็ได้เงินมาซื้อไม้ไผ่ได้ตามประสงค์
ในขั้นต้นการสร้างพระพุทธรูปสันนิษฐานว่า ท่านคงสร้างเป็นปางไสยาสน์(พระนอน) มากกว่า เพราะในวิหารหลังพระพุทธรูปยืนซึ่งปัจจุบันได้รื้อทิ้งไปหมดแล้ว และกำลังบูรณะก่อสร้างใหม่ ภายในวิหารมีภาพวาดพระพุทธรูปนอนเป็นหลัก แต่เนื่องจากบริเวณเนื้อที่ก่อสร้างไม่เพียงพอจึงเปลี่ยนมาเป็นการสร้างพระยืนแทน เพราะยังมีแนวการเรียงอิฐอยู่ ประกอบกับสมัยนั้นวัดเป็นป่ารกชัฏไม่มีคนช่วยถากถางท่านจึงได้เอาเงินโปรยหว่านบริเวณป่า พอชาวบ้านรู้ว่ามีพระเอาเงินมาหว่านในป่าก็เลยพากันมาถากถางป่าเพื่อหาเงิน จึงทำให้บริเวณนั้นกลายเป็นที่โล่งเตียนจนได้สร้างพระพุทธรูปยืนสำเร็จ ในกาลต่อมาพระโตนี้ชำรุดหักพัง พระเศียรแตกร้าว พระกรทั้งสองหัก พระอาจรย์อวน พรหมสโร วัดมหาธาคุฯ กรุงเทพฯ ซึ่งมีภูมิลำเนาในถิ่นนั้น ย้ายมาอยู่วัดกลางได้เป็นประธานจัดการบูรณปฏิสังขรณ์ เมื่อปี มะแม พ.ศ. 2474
ปัจจุบันทางวัดมีงานเทศกาลตรงกับวันตรุษจีนของทุกปี
สร้างพระพุทธรูปปางมารวิชัย เป็นพระนั่ง ณ วัดพิตเพียน (วัดกุฎีทอง) อ. มหาราช จ. พระนครศรีอยุธยา เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยก่ออิฐถือปูน ปัจจุบันทาสีทอง หน้าตัก 4 วา 3 ศอก ความสูง 4 วา 3 ศอก มีความสง่าสวยงามมาก
พระพุทธปฏิมาประทับนั่งสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) พรหมรังสีสร้างไว้เมื่อใดสืบทราบประวัติไม่ได้ แต่มีการปฏิสังขรณ์ 4 ครั้ง คือ
ครั้งที่ 1 เมื่อปีระกา พ.ศ. 2440 (เข้าใจว่าเดิมสร้างค้างอยู่)
ครั้งที่ 2 เมื่อปีจอ พ.ศ. 2477 พระพักตร์แบะ พระนาภีเป็นรูทะลุ เนื่องจากอสุนีบาตตกลงในที่ใกล้เคียง สิ้นเงิน 500 บาท
ครั้งที่ 3 เมื่อปีมะโรง พ.ศ. 2483 พระพาหาเบื้องขวาหลุด เนื่องจากฝนตกหนัก สิ้นเงิน 300 บาท
ครั้งที่ 4 เมื่อปีมะโรง พ.ศ. 2495 พระศกและพระกรรณหักพังเริ่มปฏิสังขรณ์เมื่อวันที่ 29 เมษายน สิ้นเงิน 3,814.90 บาท (เงินที่ใช้จ่ายในการปฏิสังขรณ์ทุกครั้งเป็นเงินส่วนเรี่ยไร) นายพลอย นางแตงไทย และนางอู่ร่วมกันปฏิสังขรณ์ สิ้นเงินเท่าไรไม่ทราบ
สร้างพระเจดีย์นอน ณ วัดละครทำ ต. บ้านช่างหล่อ ต. บางกอกน้อย ธนบุรี วัดละครทำ สร้างในพ.ศ.ใดไม่ปรากฏ และได้สืบความว่า นายบุญยัง นายโรงละครนอกครั้งรัชการที่ 1 เล่นละครจนร่ำรวย เป็นผู้สร้างวัดละครทำ เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้สร้างพระเจดีย์นอน ที่บริเวณหลังโบสถ์วัดละครทำ ณ ถนนอิสรภาพ ตำบลบ้านช่างหล่อ อำเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี 2 องค์ ฐานสี่เหลี่ยมย่อมุม กว้างด้านละ 2 ศอก หันฐานหากัน ห่างราว 2 ศอก แต่องค์ทางด้านใต้ถูกรื้อออกเพราะมีผู้ลักลอบทำลายเพื่อค้นหาวัตถุมงคลและพระเครื่องรางของขลัง(พระสมเด็จ) ของเจ้าประคุณสมเด็จฯ ยังปรากฏอยู่แต่องค์ทางด้านเหนือ ซึ่งอยู่ในสภาพปรักหักพังทรุดโทรม
เหตุที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ สร้างพระเจดีย์นอนนั้น เล่ากันว่าเกิดแต่ท่านได้ปรารภว่า ในชั้นเดิมพระเจดีย์ที่สร้างกันนั้นด้วยจำนงจะให้เป็นที่บรรจุพระธรรม เช่น คาถาแสดงอริยสัจ-เย ธมมา เหคุปปภวา ฯลฯ เป็นต้น เป็นข้อสำคัญเรียกว่า “ธรรมเจดีย์” แต่พระเจดีย์ที่สร้างกันในชั้นหลังต่อมา ความประสงค์มาแปรเป็นเพื่อบรรจุอัฐิของสกุลวง์หรืออุทิศให้ผู้ตาย แม้ได้บรรจุปูชนียวัตถุในพระศาสนาไว้ด้วย ก็ไม่นับเป็นเจดีย์ในพระพุทธศาสนา จัดเป็นอนุสาวรีย์เฉพาะบุคคล ดังนี้ ท่านจึงได้สร้างพระเจดีย์นอนขึ้นไว้เป็นปริศนาอันหนึ่ง ซึ่งความหมายว่า ต่อไปเบื้องหน้าจะไม่มีใครสร้างเจดีย์ธรรมอีกแล้ว
สร้างกุฏิให้โยมบิดา มารดา เพื่อทดแทนบุญคุณ ณ วัดอินทรวิหาร ต. บางขุนพรม เขต พระนคร กรุงเทพฯ สร้างกุฏิ 2 หลัง เคียงกันที่วัดอินทรวิหารด้านใต้ ตัวกุฏิก่ออิฐถือปูนหลังคามุงกระเบื้องไทย ขนาดเท่ากัน กว้าง 1 วา ยาว 1 วา 2 ศอก มีรูปโยมบิดาและมารดาปั้นด้วยปูน รูปโยมบิดาปั้นเป็นรูปพระสงฆ์นั่งขัดสมาธิ หน้าตัก 24 นิ้ว ประดิษฐานอยู่ในกุฏิหลังซ้าย รูปโยมมารดาปั้นเป็นรูปภิกษุณี นั่งขัดสมาธิหน้าตัก 23 นิ้ว ประดิษฐานอยู่ในกฏิหลังขาว ปัจจุบันกุฏิ 2 หลังนี้รื้อหมดแล้วส่วนรูปปั้นชำรุดปฏิสังขรณ์ใหม่อยู่หน้าบริเวณบ่อน้ำพระพุทธมนต์(ด้านนอก)
การสร้างพระพิมพ์ชนิดต่าง ๆ
สิ่งที่สำคัญที่สุดในการสร้างอนุสรณ์ต่างๆ ของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรฺหมฺรํสี) ได้ทรงสร้างพระพิมพ์ชนิดต่างๆ ไว้เป็นจำนวนมาก ว่ากันว่าสร้างถึง 84,000 องค์ เท่ากับจำนวนพระธรรมขันธ์เรียกกันเป็นสามัญว่า “พระสมเด็จ” ส่วนมูลเหตุที่เจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ ท่านสร้างพระพิมพ์ขึ้นนั้นสืบเนื่องมาแต่ท่านได้ปรารภถึงพระเถระในปางก่อนว่ามักสร้างพระพิมพ์บรรจุไว้ในปูชนียวัตถุสถาน เช่น พระเจดีย์ เพื่อการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
โดยถือว่าเมื่อต่อไปข้างหน้าถึงพระเจดีย์จะสูญไป ใครไปขุดพบพระพิมพ์ก็จะได้เห็นพระพุทธรูป และรู้ว่าพระพุทธเจ้าเคยมี เคยโปรดเวไนยสัตว์ในโลกนี้ ชวนให้ระลึกถึงพระคุณต่อไป จึงได้สร้างพระพิมพ์ขึ้นไว้เป็นจำนวนมาก ซึ่บรรดาสานุศิษย์ที่เคารพนับถือท่านรับจัดทำถวาย ในตอนแรกใช้หินลับมีดโกนแกะแม่พิมพ์ ต่อมาใช้หินอ่อนบ้าง ไม้แก่นบ้าง ดังนั้น “พระสมเด็จ” จึงมีหลายแบบหลายพิมพ์ วัตถุที่ใช้ทำพระนั้นก็มีหลายอย่างต่างกัน คือผงดินสอ(ที่ได้จากการเรียนมูลกัจจายน์ ตามวิธีโบราณ) ดินสอเหลือง ปูนขาว เกสรดอกไม้ เปลือกกล้วยหอม เปลือกกล้วยน้ำว้า ชานหมาก ในลานเผา อาหารสำรวมและน้ำอ้อย (ว่ากันว่า “พระสมเด็จ” บางชนิดทำด้วยวัตถุสิ่งเดียว บางชนิดทำด้วยวัตถุหลายสิ่ง) ในการสร้างพระสมเด็จครั้งแรก เจ้าประคุณสมเด็จฯ ฉันกล้วยแล้วเอาเปลือกกล้วยใส่ภาชนะเก็บไว้ ท่านมีดินสอเหลืองอยู่ก้อนหนึ่ง จึงให้นายน้อยลูกศิษย์ผู้เป็นง่อย เอาเลื่อย เลื่อยดินสอเหลืองเป็นชิ้นเล็กๆ ผสมเปลือกกล้วย แล้วเจือด้วยน้ำผึ้งบ้าง น้ำอ้อยเคี่ยวบ้าง ตำจนละเอียดเข้ากันดีแล้ว จึงให้นายน้อยกับเจ้าคุณธรรมถาวร(สมุหฐานานุกรม ของท่าน) ช่วยกันพิมพ์ จนเพียงพอแก่ความต้องการ แล้วท่านก็เริ่มทำพิธีปลุกเสกวันละ 3 ครั้ง (เช้า-กลางวัน-เย็น) เป็นนิจมิได้ขาด แล้วเอาออกแจกจ่ายแก่ผู้ที่ต้องการทุกคน
ต่อมาก็ทำโดยวิธีพิมพ์ต่างออกไป คือเมื่อผสมผงที่ได้แล้วเอาออกมาปั้นแล้วคลึงเป็นท่อนยาวคล้ายฟั่นเทียน แล้วตัดเป็นข้อๆ ผ่ากลางเอากดลงในพิมพ์ เมื่อแกะออกจากพิมพ์แล้วท่านเอามีดเจียนหัวท้ายและข้างๆ ให้มนแล้วเอาเข้าพิธีปลุกเสกเช่นเคย ว่ากันว่าท่านได้นำแจกจ่ายแก่ชาววัง เวลาท่านออกบิณฑบาตเสมอๆ ท่านทำดังนี้จนหมดดินสอเหลือง ภายหลังท่านใช้ดินสอขาวที่ทำเป็นแท่งแล้วลงอักขระลบเอาผงเก็บประสมไว้จนพอแก่ความต้องการ ท่านจึงให้แกะกะเทาะปูนขาวที่ล่อนๆ ตามกำแพงโบสถ์ เสมาบ้าง ซึ่งมีตะไคร่น้ำติดอยู่เป็นส่วนมาก นำมาตำผสมกับดินสอขาวที่ท่านทำไว้แล้วจึงพิมพ์ คราวนี้พิมพ์เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าองค์พระเป็นปรกโพธิ์แบบทรงเจดีย์และชนิดอื่นๆ จึงได้ความว่าพระสมเด็จบางองค์เนื้อเหลือง ก็เพราะท่านผสมกับดินสอเหลือง บางองค์เนื้อขาวเจือเขียวเล็กน้อย ก็เพราะกะเทาะเอาปูนขาวมาผสมนั่นเอง
เล่ากันว่าเมื่อเจ้าประคุณสมเด็จฯ สร้างพระพิมพ์เสร็จแล้วท่านให้ใส่บาตรใส่กระบุงและสัด ไปตั้งไว้บนหอสวดมนต์ ตรงหน้าพรพุทธรูป แล้วโยงสายสิญจน์จากพระพุทธรูป ไปวางไว้ที่พระพิมพ์นั้น แล้วบอกแก่พระสงฆ์ที่มาประชุมเจริญพระพุทธมนต์ ในพรรษาว่าขอให้ช่วยปลุกเสกพระของท่านด้วย ต่อมาจึงให้ไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์ตามวัดต่างๆ เช่นที่วัดระฆัง วัดชีปะขาว วัดศรีสุดาราม วัดไชโย(จ.อ่างทอง) วัดตะไกร(จ.พระนครศรีอยุธยา) ต่อมาจึงขนานนามพระสมเด็จฯตามวัดที่บรรจุว่า “กรุวัดนั้น กรุวัดนี้”
ส่วนกรุวัดใหม่อมตรส นั้นสืบเนื่องมาจาก “เสมียนตราด้วง”ต้นตระกูลธนโกเศศ บ้านอยู่บางขุนพรหมได้สร้างพระเจดีย์ใหญ่ขึ้น 1 องค์เพื่อบรรจุอัฐิธาตุของสกุลวงศ์ ประสงค์จะสร้างพระพิมพ์บรรจุไว้ในเจดีย์นั้นด้วย จึงได้ขอผงทำพระจากเจ้าประคุณสมเด็จฯได้ผงมาบาตร 1 จึงเอาผงเคล้ากับปูนขาวและน้ำอ้อยใส่ครกโขลกต่อหน้าเจ้าประคุณสมเด็จฯขณะนั้นท่านกำลังมาดำเนินการก่อสร้างพระโตวัดอินทรวิหาร ซึ่งนิมนต์ไปฉันเพลในวันนั้น ณ วัดอินทรวิหาร แล้วเอาพระที่ทำทั้งหมดบรรจุไว้ในพระเจดีย์นั้น จึงเรียกว่า “พระสมเด็จกรุวัดใหม่อมตรส” หรือที่เรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่าพระสมเด็จวัดใหม่บางขุนพรหม มีลักษณะเป็นพระนั่งขัดสมาธิบนแท่น 3 ชั้น มีเส้นนูนขึ้นมา 1 เส้น เป็นรูปโค้งครึ่งวงรูปไข่รอบองค์พระ
และเล่ากันมาว่า มีพระภิกษุรูปหนึ่ง(ไม่ทราบนาม) อยู่วัดพลับ(วัดราชสิทธาราม) ไปธุดงค์ได้ว่านชนิดต่างๆมามากมาย แล้วไปขอผงทำพระจากท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ผงมาเล็กน้อย จึงผสมกันทำเป็นพระพิมพ์ขึ้นชนิดหนึ่ง ลักษณะนั่งขัดสมาธิบ้าง เป็นพระปิดตาบ้าง เรียกนามกันว่า “พระสมเด็จกรุวัดพลับ”
“พระพิมพ์สมเด็จ”ที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ สร้างนั้นว่ามีถึง 73 ชนิด แต่ตามประวัติสืบทราบเพียง 29 ชนิด ตามคำบอกเล่าของพระอาจารย์ขวัญ วิสิฏโฐ พระเถระเก่าแก่ของวัดระฆัง ซึ่งทราบจากปากคำของท่านเจ้าคุณธรรมถาวร(ช่วง) พระครูธรรมราต(เที่ยง) อีกต่อหนึ่ง
พระสมเด็จฯ แต่ละกรุแต่ละวัดจะหาได้ยากมาก จึงเป็นที่นิยมและเป็นที่ปรารถนาของพระพุทธศาสนิกชนและผู้นิยมเก็บสะสมพระเครื่องโดยทั่วไปเป็นอย่างมาก เพราะถือกันว่าหากผู้ใดได้มีไว้สักการบูชาแล้ว ถือกันว่าดี กว่ามีสมบัติอันล้ำค่าเป็นไหนๆ หากทำดีแล้วท่านก็คุ้มครองให้อยู่รอดปลอดภัยจากภัยอันตรายทั้งปวง
บทความต่อไปนี้ ผู้เริ่มศึกษาพระสมเด็จ โปรดใช้วิจารญาณในการชม (สำหรับผู้ที่มีความชำนาญ ช่ำชอง ( เซียนพระทั้งหลาย) ขอให้ผ่านเลยไป หรือกรุณาท้วงติง หากมีสิ่งใดผิดพลาด ต้องขออภัย) เพื่อเป็นบันไดขั้นแรกสำหรับผู้เริ่มศึกษา ในการพิจารณาแยกแยะพิมพ์ทรงพระสมเด็จที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี ผู้สร้าง ซึ่งหลวงวิจารณ์เจียรนัย ช่างทองหลวงในราชสำนัก ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แกะแม่พิมพ์ถวาย (พิมพ์ทรงนิยม) ทั้งยังเป็นผู้แนะนำให้ผสมน้ำมันตังอิ๊ว ในเนื้อพระสมเด็จเพื่อป้องกันการแตกร้าว ซึ่งสมเด็จโต ก็ได้ใช้เป็นแม่พิมพ์ในการพิมพ์พระสมเด็จต่อมา ( แทนแม่พิมพ์เดิมที่แกะโดยช่างชาวบ้านและยังไม่ได้ผสมน้ำมันตังอิ๊วในเนื้อพระ
พระส่วนใหญ่จึงแตกหักเสียหายไปตั้งแต่สมัยที่เจ้าประคุณสมเด็จท่านทำออกมา แล้ว ) พิมพ์ทรงนิยมเป็นแบบพิมพ์ที่สวยงามเนื่องด้วยฝีมือการแกะแม่พิมพ์ของช่างทองหลวง (ขอ ย้ำช่างทองในราชสำนักของพระเจ้าแผ่นดิน ฝีมือช่างจะปราณีตบรรจงขนาดไหน) เปรียบเทียบกับพระแบบพิมพ์สมเด็จที่มือผีทั้งหลายทุกยุคทุกสมัยตั้งใจ และเจตนากระทำการปลอมแปลงและเลียนแบบ (เฉพาะพระเก๊ , พระมือผี) ไม่นับรวมถึงพระแบบพิมพ์สมเด็จที่เกจิอาจารย์ทั้งหลายสร้างและปลุกเสกเพื่อ แจกจ่ายแก่ลูกศิษย์ลูกหาและผู้ศรัทธา (พระล้อพิมพ์) คำอธิบายรายละเอียดของพิมพ์ทรงนี้ไม่ใช่คำบรรยายใต้ภาพแต่เป็นคำอธิบายที่ คัดลอกมาบางส่วน ( เฉพาะพิมพ์ทรงเจดีย์ ) จากหนังสือ ปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่อง เล่มที่ 1 พระสมเด็จฯ (ตำรา พิจารณาพระสมเด็จฯ เล่มแรกของประเทศไทย พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ.2495 ) โดย พ.อ.ประจน กิติประวัติ (ตรียัมปวาย) ผู้บัญญัติคำว่า “ เบญจภาคีแห่งพระเครื่อง ” สุดยอดปรารถนาของนักสะสม ที่ติดตามค้นหาเพื่อครอบครองและต้องการเป็นเจ้าของ
ฉบับพิมพ์ ครั้งที่ 7 พ.ศ.2546 สำนักพิมพ์ไทภูมิ เขตดุสิต กรุงเทพฯ ขอขอบคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลที่ให้ความรู้เป็นแนวทางในศึกษาอย่างถูกแนวทางและเป็นวิทยาทานสำหรับผู้เริ่มศึกษาและสะสมมา ณ ที่นี้ แนว ทางวิเคราะห์ เพื่อพิจารณาว่าพระเครื่ององค์ที่แสดงอยู่นี้ มีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะเป็นพระสมเด็จ พิมพ์ทรงนิยม (หลวงวิจารณ์เจียรนัย) ตามหนังสือที่อ้างถึง ( เน้นพิจารณาเฉพาะพิมพ์ทรง เนื่องจากการพิจารณาเนื้อหามวลสารจากภาพที่ปรากฏ ผ่านจอ monitor ค่อยข้างลำบากเพราะ monitor หรือ จอ LCD แต่ละเครื่องแต่ละยี่ห้อ รวมทั้งการปรับตั้งการแสดงผลไม่เหมือนกันจึงให้ภาพต่างกัน) ดังนี้.-
1. ท่าน ตรียัมปวาย เขียนอธิบายตามแบบพิมพ์ที่เคยพบเห็น และเล่นหาสะสมในยุคสมัยของท่านโดยจัดเข้าชุดเป็นพระเครื่องยอดนิยมสุดยอดปา รถนาที่ทุกคนใฝ่หา หรือ
2. เป็นพระพิมพ์ที่ตั้งใจหรือเจตนาแกะแม่พิมพ์ ( พระเก๊ ) ตามรายละเอียดที่ท่านตรียัมปวาย เขียนบรรยายไว้ในหนังสือที่กล่าวข้างต้น เพื่อหลอกลวงผู้มีความศรัทธาในท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) ให้แสวงหาเพื่อบูชาและสะสมด้วยมูลค่าเป็นตัวเงินที่สูงมากในปัจจุบัน
พิมพ์ทรงเจดีย์
มูลสูตรสัญลักษณ์ทางพิมพ์ทรง เป็นพิมพ์ทรงที่มีความงดงามยิ่งในลักษณะสัมพันธ์ของเส้นวงนอก (Outlines) และการเน้นส่วนโค้งนูน (Curvatures) และความลึก อย่างจัดที่สุดในด้านความสัมพันธ์ของเส้นวงนอกนั้น คือ จากยอดพระเกตุลงมาจดมุมฐานชั้นล่างทั้งสองด้าน จะได้ลักษณะทรงเจดีย์หรือทรงกรวย และแนวสมมติที่เรียกว่า “เส้นวงนอก” นี้ สมมติว่าถ้ากำหนดเอาจุดยอดพระเกตุเป็นดุม และขึงเส้นด้ายลงมายังมุมหัวฐานชั้นล่างทั้งสองดังกล่าว แล้วหย่อนเส้นด้ายเสียเล็กน้อย จะเห็นว่าเกือบจะไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดขององค์พระปฏิมาและพระอาสนะที่จะยื่น ล้ำแนวเส้นด้ายหย่อนสมมตินี้ออกมาเลย ด้วยเหตุนี้จึงได้นามว่า “พิมพ์ทรงเจดีย์” ส่วนในด้านความโค้งนูนและลึกนั้น คือ เค้าอิทธิพลที่ได้รับจากพุทธศิลป์สกุลช่างเชียงแสนอย่างชัดเจน ซึ่งมีลักษณะเฉพาะในด้านความอวบสมบูรณ์ของพระองคาพยพเป็นยอดเยี่ยม อีกประการหนึ่งของลักษณะอันเด่น คือ การเน้นสัดส่วนต่าง ๆ อย่างคมชัดยิ่งนัก
๑. มูลสูตรพุทธลักษณะ พิมพ์ทรงเจดีย์ เป็นปางสมาธิขัดราบ กอปรด้วยรายการต่าง ๆ ของพุทธสรีระ ตามมูลสูตรลักษณะโดยเฉพาะดังต่อไปนี้.-
ก. พระเกตุ ปรากฏเพียง ๒ แบบ คือ
แบบปลี มีปรากฏโดยทั่วไปสัณฐานเขื่องและได้ลักษณะเป็นจอมกระหย่อมพระเมาฬีชัดเจน ยิ่ง จัดเป็นพระเกตุที่งดงามที่สุดของพระสมเด็จฯ ส่วนฐานกระหย่อมรับกับจอมพระศิระ ซึ่งเป็นจอมกระหม่อมสูง ตอนกลางค่อย ๆ เรียวขึ้น ส่วนมากจะอยู่ในแนวดิ่ง และมักจะคมชัดลักษณะสันอกไก่
แบบเรียว ลักษณะ เรียวแหลม ขาดลักษณะก่อลาดขึ้นไปอย่างแบบปลี มักเอียงไปทางด้านในด้านหนึ่ง ความคมชัดเจนมาก แต่ลักษณะแบบทะลุซุ้มไม่ปรากฏโดยแน่ชัด มีแต่เพียงบางองค์ที่มีลักษณะคล้าย ๆ จะเป็นเช่นนั้น พระเกตุลักษณะดังกล่าวนี้มักจะเป็นคมกริช และบางองค์คดกริชรางเลือนไป ทำให้ผู้ไม่สันทัดสำคัญผิดว่าเป็นพิมพ์ทรงเกตุบัวตูม จะเห็นได้ว่าการพิจารณาจำแนกพิมพ์ทรง มิใช่อยู่ที่พระเกตุ แต่อยู่ที่พระอาสนะและทรงกรอบเป็นสำคัญ เพราะเป็นส่วนที่สังเกตได้ชัดเจน
ข. พระศิระและวงพระพักตร์ จำแนกออกเป็น ๔ แบบ ได้แก่
แบบผลมะตูม ทำนองเดียวกับของพิมพ์ทรงพระประธาน แต่มีความนูนเด่นกว่าและสัณฐานป้อมกว่าเล็กน้อย
แบบรูปไข่ เป็นแบบที่งดงามที่สุด ส่วนบนค่อนข้างป้าน ต้นพระหนุ (ขากรรไกร) และพระหนุ (คาง) เรียวมน
แบบเสี้ยม เป็นทรงข้ามหลามตัดลบมุมป้อม ๆ
แบบป้อม สัณฐานป้อมมน ๆ แต่นูนเด่นชัดมาก
ค. พระกรรณ พิมพ์ ทรงเจดีย์จะปรากฏพระกรรณชัดเจน และงดงามที่สุด แม้จะไม่คมชัดเท่าของพิมพ์ทรงฐานแซม แต่มีฐานพระกรรณหนาและลีลาห้อยระย้าอ่อนช้อยกว่ามาก แต่ส่วนมากจะปรากฏเพียงใบพระกรรณส่วนบนหรือส่วนกลางเท่านั้น ชายพระกรรณเบื้องล่างมักไม่ค่อยติดพิมพ์เพราะเป็นส่วนที่บอบบางที่สุด นอกจากองค์ที่ชัดเจนจริง ๆ จะมีลักษณะดังนี้
เบื้องซ้าย สัณฐานหนาและคมชัดกว่าเบื้องขวาใบพระกรรณส่วนบนต่ำกว่าเบื้องขวา ปลาย งอนออกด้านนอกลักษณะหูบายศรีเล็กน้อย ต่อจากนั้นจะวาดงอนเข้าแนบพระปราง (แก้ม) ส่วนหนึ่ง แล้ววาดออกห่างจากต้นพระหนุ (ขากรรไกร) ออกมา ส่วนปลายล่างค่อย ๆ เรียวและบางลงทุกที ลีลาอ่อนช้อยห้อยระย้าจดพระอังสาตรงบริเวณ ขอบสุดของพระสังฆาฏิซึ่งพาดอยู่บนพระอังสาพอดี งดงามอย่างที่สุดที่เรียกว่า “ห้อยระย้า”
เบื้องขวา คม ตั้งเป็นทิวอกไก่ชัดกว่าเบื้องซ้าย แต่สัณฐานหนาน้อยกว่า ยอดใบพระกรรณอยู่ในระดับสูงกว่าเบื้องซ้าย ตอนช่วงกลาง ๆ เกาะแนบขอบพระปราง (แก้ม) ลงมาโดยตลอด ส่วนปลายล่างรางเลือน เบนวาดจรดพระอังสาเป็นแนวเฉียง
ง. พระศอ จำแนกเป็น ๓ แบบ เช่นเดียวกับพิมพ์พระประธานคือ แบบลำ แบบชะลูด และแบบกลืนหาย
จ. พระอังสา มี สัญลักษณ์โดยเฉพาะ คือ ปราศจากลักษณะปีกกา แต่เป็นแบบโค้งหลังเต่าน้อย ๆ แสดงส่วนหนาและตั้งเป็นขอบสันนูนสูงขึ้นมาจากผนังคูหาเป็นปึกแผ่น ส่วนมากพระอังสกุฎ (หัวไหล่) ซ้ายยกสูงกว่าเบื้องขวา
ฉ. ลำพระองค์ ปรากฏ ๓ แบบ เช่นเดียวกัน คือ
แบบผาย สัณฐานเขื่องผายผึ่ง ช่วงพระอุระผายกว้าง ลำพระองค์ด้านพระปรัศว์ (สีข้าง) คอดเล็กน้อย และพระอุทรผายออกน้อย ๆ
แบบกึ่งผาย ลักษณะทำนองเดียวกัน แต่แสดงกายวิภาคทางข้างน้อยกว่าและความอวบนูนทางด้านหน้าก็น้อยกว่าอีกด้วย
แบบตัววี คล้ายแบบผายแต่ลำพระองค์ผายพระอุระเรียวสอบลงมาพระอุทรไม่ผายออก
รายละเอียดบนลำพระองค์ พิมพ์ทรงเจดีย์แสดงรายละเอียดบนลำพระองค์มากกว่าพิมพ์ทรงพระประธาน องค์ที่ชัดเจนจะปรากฏ
ขอบจีวร เป็นเส้นขีดทิวค่อนข้างหนาชัด ส่วนปลายบนสุดเรียวกว่าตอนกลาง ลากลงมาจากพระอังสาตรงจุดที่ปลายพระกรรณล่างจดพระอังสานั้น เยื้องเข้ามาทางขวานิดหนึ่งแล้วพาดกับส่วนหนาของขอบพระอังสาเบื้องบนในแนว เฉียงเข้ามาด้านในเบื้องขวาเล็กน้อย สาันนูนสูงึ้นมาจากนลีลา ของเส้นทิวจะเริ่มเข้ามาทางขวามาก ตอนที่ผ่านส่วนยอดของพระอุระ ต่อจากนั้นก็ย้อยลงลักษณะตกท้องช้างเฉียงไปทางขวา แล้ววาดเว้าขึ้นข้างบน ฉวัดเข้าในซอกพระกัจฉะ (รักแร้) ขวา ส่วนนี้เป็นส่วนที่หนาที่สุดของเส้นทิวขอบจีวร และพระสังฆาฏิเป็นทิวราง ๆ แต่ค่อนข้างหนา ส่วนที่พาดบนพระอังสารางเลือนและชัดมากตรงบริเวณที่ทาบอยู่บนยอดพระอุระ ตอนที่แนบชิดกับเส้นขอบจีวร แล้วจึงทอดลงดิ่งซึ่งสังเกตได้ชัดในตอนนี้ เพราะกอปรด้วยเส้นขีดทิว ๒ เส้น เป็นขอบผืนพระสังฆาฏิกว้างและยาวเกือบจดพระหัตถ์ จัดว่าเป็นพระสังฆาฏิที่งดงามที่สุด
ช. พระพาหา ลีลา การทอดพระพาหาควบเกร็งเข้าหาลำพระองค์ตรงข้ามกับลักษณะผ่อนคลายของพิมพ์ทรง พระประธาน ลำพระพาหา ล่ำเขื่อง ค่อนข้างชิดลำพระองค์ ทำให้หว่างพระพาหาแคบ แต่ซอกพระกัจฉะ (รักแร้) มนกว้างไม่แคบตีบ พระอังสกุฎ (หัวไหล่) ผายไม่ดุ้งหรือคอดกิ่ว พระพาหา มักโย้ขวาเล็กน้อย หรือแป้วเบื้องซ้ายน้อย ๆ ลีลาการหักพระกัปประ (ศอก) รวบเกร็ง พระกรหักสอบลงมาก ลำพระกรย่อมกว่าลำพระพาหุ (แขนท่อนบน) เล็กน้อยไม่เรียวเล็ก
ซ. พระหัตถ์ แสดงรอยซ้อนกันชัดเจนและนูนหนามาก แนวซ้อนพระหัตถ์จะโย้น้อย ๆ ไปทางขวาตามการโย้ของวงพระพาหาด้วยเป็นส่วนมาก
ก. ฐานชั้นบน แสดง สัดส่วนของหน้ากระดาน บัวหงาย และท้องไม้ ในลักษณะเป็นท่อนมน ๆ หัวฐานทั้งสองโค้งมน บางแบบพิมพ์อาจมีรอยหยักข้างล่างทำนองกาบเท้าสิงห์ อย่างย่อราง ๆ และขาสั้น ผิวพื้นของฐานค่อนข้างโค้งมนโดยตลอด ความนูนหนาจัด ลอยเด่นออกมาจากผนังคูหา
ข. ฐานชั้นกลาง เป็นฐานสิงห์ที่เด่นชัดมากที่สุด แสดง ส่วนหัวฐานหักแง่มุมเหลี่ยมสันคมและนูนหนาที่สุดเป็นกาบเท้าสิงห์ ยกมุมแหลมขึ้นข้างบนเล็กน้อย ลักษณะยกมุมแทนตัวกระจัง เน้นแนวคมขวานหรือแนวสันอกไก่ คมและหนามาก จนมีลักษณะเป็นแนวสันปาดงอนขึ้นมา ส่วนล่างวาดให้เป็นส่วนเว้าโค้งกลืนหายลงไปเบื้องล่างจดแนวฐานชั้นล่าง งดงามยิ่งนัก ช่วงกว้างของฐานชั้นกลางจะต้องมากกว่าของฐานบนเสมอ เพื่อรักษาแนวขอบทรงกรวย
ค. ฐานชั้นล่าง เป็น ตัวหน้ากระดาน กอปรด้วยเส้นลวดกันลายค่อนข้างคม ทำนองเดียวกับแบบคู่ของพิมพ์พระประธาน การตัดมุมหัวฐานทั้งสองด้านส่วนมากสอบเฉียงเข้าหาทรงกรวยมากเพราะเป็นพิมพ์ ทรงเจดีย์ หัวฐานขวามักสอบกว่าเบื้องซ้าย หรือตัดมุมบนอีกที่หนึ่ง ฐานชั้นล่างนี้จะต้องมีช่วงกว้างกว่าชั้นกลางเสมออย่างเห็นได้ชัด มิฉะนั้นจะมิใช่พิมพ์ทรงเจดีย์
การจำแนกแบบพระอาสนะ อาจจำแนกออกได้เป็น ๓ แบบ ดังนี้
แบบโค้ง แสดง ลีลาการวาดโค้งท้องกระทะ ประสานกับแนวโค้งของส่วนล่างของพระเพลา (คู่กับพระเพลาแบบโค้ง) ชั้นบนโค้งมาก และชั้นกลางโค้งน้อยลงตามลำดับ พระอาสนะแบบนี้มีทั้งแบบช่วงกว้าง และช่วงแคบ
แบบกว้าง คล้ายแบบโค้ง แต่ลีลาไม่วาดโค้ง มีช่วงกว้างมาก (คู่กับพระเพลาแบบกว้าง)
แบบแคบ มีช่วงแคบ ๆ (คู่กับพระเพลาแบบแคบ) อาจมีลีลาโค้งน้อย ๆ บ้างแต่ไม่ชัดเจน
๓. สัญลักษณ์ซุ้มประภามณฑล โดย ทั่วไปทรวดทรงของซุ้มฯ มักจะสอบเข้าหากันมากกว่าพิมพ์ทรงพระประธาน เพื่อประสานสัมพันธ์ลักษณะทรงกรวยที่สอบเข้าน้อยก็มีปรากฏ สัณฐานขนาดเส้นซุ้มมักย่อมกว่าพิมพ์ทรงพระประธานเล็กน้อย แต่ที่เท่า ๆ กันหรือเขื่องกว่าก็มี ลักษณะแฟบแป้วเบื้องบนซ้าย และการย้วยด้านข้างซ้ายก็ปรากฏเช่นกัน แต่ที่ได้สัดส่วนสมภาคงดงามก็มีมาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแบบพิมพ์
๔. ภาคพื้นผนังคูหา ส่วน มากพื้นผนังคูหาค่อนข้างราบเรียบไม่เอียงสอบเข้าหาองค์พระปฏิมา ปรากฏแอ่งลาดตื้น ๆ บ้างบริเวณข้าง ๆ พระพาหาซ้ายและหัวฐานเบื้องซ้าย หรือแนวพระศิระขวา
๕. สัณฐานทรงกรอบ โดย ทั่วไปจะเป็นทรวดทรงกะทัดรัดมีทั้งทรงโปร่ง เขื่องและป้อม แต่ไม่ปรากฏทรงป้านเลย การตัดกรอบมีลักษณะเอียงสอบ เข้าหาแนวซุ้มยิ่งกว่าพิมพ์ทรงใด ๆ เพื่อรักษาทรงกรวยสัมพันธ์ ดังนั้น ปฏิภาคระหว่างความกว้าง กรอบบนกับกรอบล่าง จึงมีค่ามากกว่าของพิมพ์ทรงประธาน คือประมาณ ๒๐ : ๒๕ การ ตัดกรอบประณีตกว่าพิมพ์ทรงอื่น ๆ การโย้เอียงมีน้อยที่สุด กรอบด้านข้างที่เอียงสอบน้อยก็มีปรากฏ แต่การบานออกเบื้องบนจะไม่ปรากฏเป็นอันขาด มูลลักษณะประการนี้ สามารถนำไปใช้ในการแยกพิมพ์ทรงนี้กับพิมพ์ทรงเกตุบัวตูมออกจากกันอย่าง สังเกตได้ชัด และยังใช้ชี้ขาดได้อีกว่า หากรายการต่าง ๆ เป็นพิมพ์เจดีย์ แต่กรอบบานเบื้องบน จะเป็นของปลอมทันที
๖. พื้นที่ชายกรอบ เนื่อง จากการตัดกรอบค่อนข้างสอบเข้าใน ฉะนั้น แนวกรอบด้านข้างจึงเบียดชิดเส้นซุ้ม และเหลือพื้นที่บริเวณมุมบนทั้งสองน้อย แบบกรอบกระจกมีปรากฏบ้างเป็นส่วนน้อย แต่เส้นขีดทิวมักรางเลือนไม่สู้ชัดเจน และพื้นผิวชายกรอบทั้งสองเบื้องบนมักนูนสูงกว่าระดับพื้นผนังคูหาเล็กน้อย และมีลักษณะอูมน้อย ๆ ด้วย
๗. สัณฐานมิติ โดยเกณฑ์เช่นเดียวกัน ดังนี้
ก. ความกว้าง (กรอบล่าง) ประมาณ ๒.๐๐ – ๒.๒๐ ซม.
ข. ความสูง (แนวดิ่ง) ประมาณ ๓.๐๐ – ๓.๓๐ ซม.
ค. ความหนา (ขอบ) ประมาณ .๔๐ – .๖๕ ซม.
ขอขอบคุณ : http://www.watsatue.com/view_article.php?token=2c3b4a8bdc6a1016db75bc7d3d923372