คำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุ : เจ็บไข้ได้ป่วย โอกาสแห่งการบรรลุธรรม
คนเรามักมองการป่วยว่าเป็นเรื่องทุกข์และไม่ได้มีข้อดีอะไรเลย แท้ที่จริงแล้วนั้น
ท่านพุทธทาสภิกขุ
ได้เคยกล่าวถึงการป่วยเอาไว้ว่า สิ่งนี้ทำให้เราได้คิดและไตร่ตรองอะไร
ในแง่มุมที่เราไม่เคยพบเจอมา เหมือนกับหัวข้อการเสวนาที่ท่านพุทธทาสภิกขุ
ได้พูดเอาไว้ในหัวข้อ “เจ็บไข้ได้ป่วย โอกาสแห่งการบรรลุธรรม” เห็นอย่างงี้แล้ว
ใครที่ป่วยอยู่หรือเป็นโรคประจำตัว ก็อย่างพึ่งย่อถ้อต่อชีวิต
เรื่องที่จะนำมากล่าวนี้ เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นว่า แม้ในโอกาสแห่งความเจ็บไข้ ก็ยังเป็นโอกาสแห่งการบรรลุธรรมอันสูงสุดได้
อาตมาได้เคยกล่าวมาแล้วหลายครั้งหลายหนว่า ควรจะใช้โอกาสที่ดีที่สุดนี้ ให้ได้หรือให้เป็นกันไว้ทุกคน เพราะว่าทุกคนก็ต้องมีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา และโอกาสนั้นเป็นโอกาสที่จะเห็นธรรม หรือบรรลุธรรม หรือแม้ที่สุดแต่จะพิจารณาธรรมยิ่งกว่าโอกาสใด
หากแต่ว่าคนโดยมากได้ละโอกาสนั้นเสีย คือว่าพอมีความเจ็บไข้ขึ้นมา ก็ดิ้นรนกระวนกระวาย แทนที่จะใช้โอกาสนั้นพิจารณาธรรม ก็ไปกลัวเสียบ้าง หรือกระวนกระวายอย่างอื่น เลยไม่เป็นโอกาส การทำอย่างนี้ไม่ถูกต้องตามวิธีที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้
ทุกคนควรจะนึกให้เห็นความจริงในข้อที่ว่า ความทุกข์นั้นสอนดีกว่าความสุข หรือถ้าว่ากันโดยที่แท้แล้ว ความสุขนั้นอาจจะไม่สอนอะไรเสียเลยก็ได้ แต่ความทุกข์นั้นสอนมากทีเดียว แล้วสอนดีด้วย แต่แล้วคนก็ไม่เปิดโอกาสให้ความทุกข์นั้นสอน พอมีความทุกข์เข้ามา ก็สมัครเป็นเจ้าทุกข์เสีย ไม่พยายามจัดแจงหรือกระทำให้ความทุกข์นั้นเป็นผู้สอน นี่เรียกว่า ทำให้โอกาสที่ดีที่สุดนั้นผ่านไป
เหมือนกับที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ขโณ โวมา อุปจฺจคา – ขณะอันสำคัญนั้นอย่าได้ล่วงไปเสียเลย
ขณะอันสำคัญในที่นี้ก็ได้แก่โอกาสเช่นนี้เป็นต้น เพราะว่าเราไม่ได้เจ็บไข้กันบ่อยๆ แต่พอเจ็บไข้มาถึง ก็เป็นโอกาสที่จะให้ความเจ็บไข้นั้นสอน แต่แล้วเราก็ปล่อยให้ล่วงไปเสีย จนไม่ได้สอน เพราะว่าเรามันโง่ ไม่รู้จักทำสิ่งที่มีประโยชน์ให้เป็นประโยชน์ หรือว่าที่เป็นประโยชน์ที่สุด
เคยเตือนกันแล้วเคยเตือนกันเล่า ว่าให้ดูให้ดี มันมีแต่ได้ไม่มีเสีย แม้แต่ความทุกข์ ซึ่งคนอื่นเขามองกันเป็นเรื่องเสีย นี้เรียกว่ามองไม่เป็น ถ้ามองเป็น แม้แต่ความทุกข์ก็เป็นเรื่องได้ ไม่ใช่หมายความว่าได้ทุกข์ แต่ว่าได้โอกาสที่จะศึกษาเรื่องทุกข์
ถ้าไม่มีความทุกข์มาแล้วจะศึกษาเรื่องความทุกข์ได้อย่างไร ถ้าไม่ศึกษาความทุกข์มันก็ไม่รู้จักความทุกข์ แต่ถ้าไม่มีความทุกข์มาแล้ว เราจะศึกษาอะไร? ดังนั้น เราต้องมีความทุกข์จริงๆมา ไม่ใช่นึกๆเอาว่า ความทุกข์เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้
เรื่องพระศาสนานี้ไม่ใช่เรื่องนึกๆเอา จะศึกษาเรื่องอะไร ก็ต้องมีเรื่องนั้นจริงๆ จะศึกษาเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันก็ต้องศึกษาลงไปบนสิ่งซึ่งกำลังแสดงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วก็ต้องเป็นภายในด้วย การไปมัวศึกษาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของคนอื่นของสิ่งอื่นนั้น เป็นไปไม่ได้ หรืออย่างจะเป็นไปได้ก็ได้ผลน้อย ก็ต้องศึกษาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่มีอยู่ในความรู้สึกของตนเอง
ความเจ็บไข้ ก็เป็นสิ่งหนึ่ง ซึ่งแสดงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรียกว่า มันเป็นความทุกข์อยู่แล้ว ก็เป็นการแสดงทุกขังได้ดี แล้วความเปลี่ยนแปลงจากความสบายมาเป็นความไข้นี้ มันก็แสดงอนิจจังที่ดีอย่างยิ่งอยู่แล้ว แล้วความที่เจ็บไข้มันไม่อยู่ในอำนาจของใคร นี้ก็เป็นการแสดงอนัตตาของสังขารนั้นๆอยู่แล้ว
เพราะฉะนั้น ควรจะถือเอาโอกาสเช่นนี้ ทำสิ่งที่เป็นทุกข์ให้กลายเป็นความรู้ สำหรับจะแก้ความทุกข์นั้นเอง
ที่เรียกว่า ?ดูให้ดี มันมีแต่ได้ไม่มีเสีย? อุจจาระ ปัสสาวะ เขายังเอาไปทำปุ๋ยใส่ผัก รดต้นไม้ ให้เป็นผลดีได้ไม่ต้องทิ้ง แล้วกลับได้เงินที่ได้มาจากการขายผัก นี่ก็เพราะว่ารู้จักดูให้ดี แล้วก็ทำให้ได้ ให้กลายเป็นได้ ไม่ต้องเสียไม่ต้องทิ้งเปล่า นี้เป็นตัวอย่างเท่านั้น แล้วก็เป็นเรื่องวัตถุข้างนอกด้วย
เมื่อพูดถึงเรื่องภายใน คือเรื่องความทุกข์ที่เกิดอยู่กับใจ มันมีค่ามากกว่าอุจจาระ ปัสสาวะเหล่านั้น เพราะว่าถ้าทำให้ดีแล้ว มันจะสนองผลขึ้นมาเป็นการเห็นธรรม หรือเป็นการบรรลุมรรคผลนิพพานเอาทีเดียว จึงขอให้ท่านทั้งหลายพยายามสังเกตข้อนี้ให้ดีๆ จนเห็นว่าความทุกข์นั้นแหละมันสอน ส่วนความสุขนั้นมันไม่สอน หรือสอนไม่เท่ากับความทุกข์ คือสอนน้อยเหลือเกิน
เพราะว่าในขณะที่กำลังมีความสุขนั้น จิตใจมันระเริงหลงไปด้วยความสุข มันจึงไม่มีโอกาสที่จะสอน แต่พอมีความทุกข์ มันพร้อมที่จะสอน ฉะนั้น ขอให้ตั้งใจ ในการที่จะให้โอกาสแก่มันสักหน่อยหนึ่งเท่านั้น ขนาดที่ให้ได้บรรลุมรรคผล
มันมีเรื่องกล่าวอยู่ในอรรถกถาของมหาสติปัฏฐานสูตรว่า ภิกษุพิจารณาเวทนาอันเป็นทุกข์ ที่เกิดจากเสือกำลังกัดตนอยู่เรื่อยๆไป จนเป็นพระอรหันต์พร้อมกันไปกับการสิ้นชีวิตเพราะเสือกัดกิน อย่างนี้คิดดูเถิดว่า มันน่าสนุกสักเท่าไร หรือว่าน่าอัศจรรย์มากสักเท่าไร
ภิกษุอยู่ในป่า แล้วเสือก็กัด มันก็เจ็บปวด ก็ถือเอาเวทนาที่เจ็บปวดเพราะเสือกัดนั้น เป็นอารมณ์แห่งเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เสือมันก็กัดกินต่อไป ก็พิจารณาเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานยิ่งขึ้นไป จนกระทั่งตายพร้อมกับการบรรลุพระอรหันต์
นี่ดูให้ดีมีแต่ได้ไม่มีเสียนั้น มันมีความหมายอย่างนี้ เพราะว่ามันมีเวทนาจริงๆ ที่เจ็บปวดอยู่จริงๆ เมื่อเจ็บปวดมากก็ยิ่งพิจารณามาก ยิ่งพิจารณาแก่กล้า มันก็เลยได้ผลอย่างแก่กล้า คือเป็นพระอรหันต์ได้ดังนี้
นี้ก็เป็นเรื่องที่ควรจะคิด จนเห็นว่าความทุกข์นี้มันสอนดีกว่าความสุข จะเป็นความสุขชนิดไหนมันก็ไม่สอนทั้งนั้น ยิ่งความสุขในเรื่องกามารมณ์แล้วยิ่งไม่สอน แม้จะเป็นความสุขที่เกิดมาจากฌาน จากสมาธิ จากสมาบัติ มันก็ไม่เคยสอน ไม่ปรากฏว่าความสุขมันสอนอะไรได้ เพราะมันสบายไปเสียเรื่อย
ส่วนความทุกข์นั้นไม่เป็นอย่างนั้น มันขบกัดเสียจนไม่มีความเพลิดเพลิน มีแต่ความรู้สึกที่เป็นความเจ็บปวด มันจึงเหลืออยู่แต่ว่า เราจะต่อสู้ความเจ็บปวด เพื่อเอาความทุกข์นั้นมาเป็นอารมณ์ของการศึกษาได้หรือไม่เท่านั้น คนที่เคยเจ็บปวดก็คงจะรู้รสของความเจ็บปวดมาแล้ว
แต่ว่าความเจ็บปวดบางอย่าง มันก็ยากเหมือนกันที่จะเปลี่ยนให้เป็นอารมณ์สำหรับการศึกษาเรื่องความทุกข์นี้ เช่น ปวดศีรษะ ถ้ามันมากเกินมันก็คงเป็นบทเรียนที่ยาก มันไม่เหมือนกับการเจ็บปวดบางอย่างที่เจ็บที่เนื้อที่หนัง ซึ่งพอจะทนได้
แต่ถึงอย่างไรก็ดี ถ้าเราจะพยายามกันจริงๆแล้ว แม้แต่เรื่องปวดศีรษะอย่างแรง หรือการปวดฟันอย่างรุนแรง มันก็คงจะไม่มากไปกว่าความปวดที่มาจากเสือกำลังกัดและกำลังกิน มันก็คงกินถึงกระดูก มันก็คงจะเจ็บไม่น้อยไปกว่าปวดศีรษะหรือปวดฟัน แล้วภิกษุองค์นั้นก็สามารถที่จะถือเอาเป็นโอกาสสำหรับศึกษาเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จนบรรลุพระอรหันต์ได้
เป็นอันว่า เราก็ตั้งใจไว้ให้แน่วแน่ว่า แม้จะเป็นเรื่องปวดฟัน ปวดศีรษะ ปวดอะไรก็ตาม จะต้องลองต่อสู้กับมัน ถ้าว่ากำลังใจมันเข้มแข็งพอ ก็คงจะเป็นโอกาสสำหรับศึกษาได้เป็นอย่างดี ถ้าเป็นเรื่องความไข้แล้ว มันก็ง่ายกว่านั้น หรือถ้าเป็นเรื่องที่เจ็บเนือยๆ เช่นเจ็บเป็นวัณโรคอย่างนี้ ก็คงจะเป็นโอกาสดียิ่งขึ้นไปอีก
ฉะนั้น ใครกำลังเจ็บเป็นอะไรอยู่บ่อยๆ ก็จงพยายามถือเอาโอกาสนี้ให้เป็นโอกาสที่ดีที่สุด
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 149 พฤษภาคม 2556 โดย พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) วัดธารน้ำไหล จ.สุราษฎร์ธานี)
http://board.roigoo.com/sitemap/t-6120.html