ตอน สิบสาม อานาปานสติ ขั้นที่เก้า การรู้พร้อมซึ่งจิต
จตุกกะที่ ๓ – จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
(ตั้งแต่การกำหนดลักษณะของจิต จนถึง การทำจิตให้ปล่อยสิ่งที่เกิดกับจิต)
บัดนี้มาถึงการปฏิบัติในอานาปานสิจตุกกะที่สาม ซึ่งกล่าวถึงอานาปานสติอีก ๔ ขั้น เป็นลำดับไปคือ :-
ขั้นที่ ๙ การเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิต หายใจเข้า – ออก ๑,
ขั้นที่ ๑๐ การทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่งอยู่ หายใจเข้า – ออก ๑,
ขั้นที่ ๑๑ การทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ หายใจเข้า – ออก ๑,
ขั้นที่ ๑๒ การทำจิตให้ปล่อยอยู่ หายใจเข้า – ออก ๑,
รวมเป็น ๔ ขั้นด้วยกันดังนี้ ; ทั้ง ๔ ขั้นนี้ จัดเป็นหมวดที่พิจารณาจิตเป็นอารมณ์สำหรับการศึกษา, แทนที่จะกำหนดพิจารณากายคือลมหายใจ และเวทนาดังที่กล่าวแล้ว ในจตุกกะที่หนึ่ง และที่สอง.
ตอน สิบสาม
อานาปานสติ ขั้นที่ เก้า
(การรู้พร้อมซึ่งจิต)
อุทเทสแห่งอานาปานสติข้อที่หนึ่งแห่งจตุกกะที่สาม หรือจัดเป็นอานาปานสติข้อที่เก้าแห่งอานาปานสติทั้งหมดนั้น มีว่า “ภิกษุนั้นย่อมทำในบทศึกษาว่าเราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิต จักหายใจเข้า ดังนี้ ; ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้
รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิต จักหายใจอออก ดังนี้”. (จิตฺตปฏิสํเวที อสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ ; จิตฺตปฏิสํเวที ปสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ.)
ใจความสำคัญ ที่จะต้องศึกษามีอยู่เป็นหัวข้อใหญ่ ๆ คือ ๑. คำว่าย่อมทำในบทศึกษา ; ๒. คำว่า เป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิต ; ๓. ญาณและสติพร้อมทั้งธรรมอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นโดยสมควรแก่การปฏิบัติ ; มีคำอธิบายโดยละเอียดดังต่อไปนี้ :-
คำว่า “ย่อมศึกษาในบทศึกษา”. คำนี้ มีคำอธิบายเหมือนกันทุกขั้นของอานาปานสติ โดยใจความทั่วไปก็คือ ขณะที่กำหนดอารมณ์ของอานาปานสติอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ ย่อมไม่มีโทษเกิดขึ้นทางกายหรือทางวาจา และเป็นการสำรวมเป็นอย่างดี ชนิดที่เป็นศีลอยู่ในตัว ; นี้ชื่อว่าสีลสิกขาของผู้นั้นในขณะนั้น. ความไม่ฟุ้งซ่านแห่งจิตในขณะที่ทำอานาปานสติอยู่ ชื่อว่าจิตตสิกขาของผู้นั้นในขณะนั้น. การพิจารณาอารมณ์ของอานาปานสติ กล่าวคือ กายเวทนา และจิต เป็นต้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นต้น นั้นชื่อว่าเป็นปัญญาสิกขาของผู้นั้นในขณะนั้น. เมื่อเป็นดังนี้ เป็นอันกล่าวได้ว่าในขณะนั้นผู้นั้นย่อมทำสมบูรณ์ในสิกขาทั้ง ๓ อยู่แล้วในตัว. ส่วนที่เป็นเฉพาะกรณีนั้นหมายถึงการที่ในขณะแห่งอานาปานสติขั้นหนึ่ง ๆ นั้น ผู้นั้นกำลังปฏิบัติอย่างไรอยู่คือกำลังพิจารณาอารมณ์อะไรอยู่ โดยอาการอย่างใด ; แต่ถึงกระนั้นก็ตามยังเป็นอันกล่าวได้ว่าด้วยการปฏิบัติเพียงอย่างเดียวนั้น เขาก็กำลังทำในบทศึกษาครบทั้ง ๓ อย่างในตัวอยู่นั่นเอง ดังนี้. ความหมายของคำว่า ย่อมทำในบทศึกษา ย่อมเป็นดังนี้เหมือนกันในที่ทุกแห่ง ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องกล่าวถึงอีกในโอกาสข้างหน้าในบทต่อ ๆ ไป.
ที่ว่า “รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิต” นั้น มีส่วนที่ต้องทำความวินิจฉัยแยกกันคือคำว่า “รู้พร้อมเฉพาะ” และคำว่า “จิต”.สำหรับคำว่า “รู้พร้อมเฉพาะ” นั้น มีคำอธิบายเหมือนในบทที่แล้วมา ซึ่งอาจจะสรุปความได้สั้น ๆ ว่า การที่จะรู้พร้อมเฉพาะต่อสิ่งใดนั้น หมายถึงการทำสิ่งนั้นให้เกิดขึ้นเป็นอารมณ์ของการกำหนด แล้วพิจารณาโดยละเอียดถี่ถ้วนว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างไร ประกอบอยู่ด้วยลักษณะอย่างไร จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่ายคลายกำหนัดจากสิ่งนั้นอยู่ทุกลมหายใจเข้า – ออก, ชื่อว่ารู้พร้อมเฉพาะต่อสิ่งนั้น. สำหรับในที่นี้ ก็คือรู้พร้อมเฉพาะต่อจิตโดยวิธีดังกล่าวแล้ว ซึ่งจะได้วินิจฉัยในคำว่าจิต โดยละเอียดสืบไป.
คำว่า “จิต” ท่านจำแนกโดยละเอียดด้วยคำต่อไปนี้คือ มโน = ใจ, มานสํ = มนัส, หทยํ = หัวใจ, ปณฺฑรํ = น้ำใจ (คำนี้แปลว่าขาว), มนายตนํ=อายตนะ คือใจ, มนินฺทฺริยํ = อินทรีย์ คือใจ, วิญฺญาณํ = ธรรมชาติที่รู้โดยวิเศษ, วิญฺญาณกฺขนฺโธ = กองหรือส่วนคือวิญญาณ, มโนวิญฺญาณธาตุ = ธาตุคือความรู้วิเศษฝ่ายใจ ทั้งหมดนี้ล้วนแต่หมายถึงจิต หรือเป็นคำที่ใช้เรียกแทนคำว่าจิตแม้จะมีคำว่า หทยํ รวมอยู่ด้วย ก็ให้ถือเอาความว่า หมายถึงจิต มิได้หมายถึงก้อนเนื้อหัวใจดังความหมายธรรมดา ; ฉะนั้น ขอให้ถือเอา ความหายของคำเหล่านี้ทุกคำมารวมกันเป็นความหมายของคำว่า “จิต” ในที่นี้.
จิตนี้จะรู้พร้อมเฉพาะได้ที่ไหน ? คำตอบในวงการทำอานาปานสติย่อมตอบว่า รู้พร้อมเฉพาะได้ที่จิตทุกขั้น ในทุกขณะแห่งการทำอานาปานสตินั่นเอง ; เพราะฉะนั้น ผู้ที่ทำอานาปานสติขั้นที่ ๙ นี้ จะต้องพิจารณาดูจิตว่าเป็นอย่างไร มาทุกขั้นของการทำอานาปานสติที่แล้วมาทั้ง ๘ ขั้น เขาจะต้องเริ่มทำอานาปานสติมาตั้งแต่ขั้นต้น ทุกขั้นตามลำดับ และเพ่งพิจารณาดูลักษณะของจิตมาตามลำดับตั้งแต่ขั้นที่หนึ่งจนถึงขั้นที่แปด จนกระทั่งเห็นชัดว่า :-
๑. จิตในขณะกำหนดลมหายใจยาว นั้นเป็นอย่างไร ;
๒. จิตในขณะกำหนดลมหายใจสั้น นั้นเป็นอย่างไร ;
๓. จิตในขณะมีการกำหนดรู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง นั้นเป็นอย่างไร ;
๔. จิตในขณะที่กำลังทำกายสังขารให้รำงับ นั้นเป็นอย่างไร ;
๕. จิตในขณะที่กำลังรู้พร้อมเฉพาะต่อปีติอยู่ นั้นเป็นอย่างไร ;
๖. จิตในขณะที่กำลังรู้พร้อมเฉพาะต่อสุขอยู่ นั้นเป็นอย่างไร ;
๗. จิตในขณะที่กำลังรู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตสังขารอยู่ นั้นเป็นอย่างไร ;
๘. จิตในขณะที่กำลังทำจิตตสังขารให้รำงับอยู่ นั้นเป็นอย่างไร ;
ซึ่งจะพิจารณาเห็นได้ว่า มีลักษณะแตกต่างกันอย่างไรเป็นลำดับมา จนกระทั่งถึงขณะนี้ ; ครั้นในที่สุดต้องพิจารณาให้เห็นลักษณะแห่งความไม่เที่ยง เป็นทุกข์เป็นอนัตตา เป็นต้น ของจิตเหล่านั้นทุก ๆ ขั้น เพื่อถอนเสียซึ่งความสำคัญผิดว่าเที่ยง ว่าสุข ว่าอัตตา จนกระทั่งมีความเบื่อหน่ายคลายกำหนัด ความดับและความสละคืนดังที่กล่าวแล้ว. ทั้งหมดนี้ กระทำด้วยการพิจารณาที่ละเอียดยิ่งขึ้นเป็นลำดับ โดยอาการ ๑๖ อย่าง ดังที่กล่าวแล้วโดยละเอียดในอานาปานสติขั้นต้น ๆ, ซึ่งโดยใจความก็คือ รู้ทั่วอยู่, กำหนดอยู่, รู้อยู่, เห็นอยู่, พิจารณาอยู่, อธิษฐานอยู่, ปลงจิตลงโดยความเชื่ออยู่, ประคองความเพียรอยู่, ดำรงสติอยู่, จิตตั้งมั่นอยู่, รู้ชัดด้วยปัญญาอยู่, รู้ยิ่งด้วยปัญญาเป็นเครื่องรู้ยิ่งอยู่, รอบรู้ในธรรมที่ควรกำหนดรู้อยู่, ละธรรมที่ควรละอยู่, เจริญธรรมที่ควรเจริญอยู่, และทำให้แจ้งธรรมที่ควรทำให้แจ้งอยู่ ; ทุก ๆ ขั้นทำด้วยจิตที่ประกอบไปด้วยเอกัคคตาไม่ฟุ้งซ่านอยู่ทุกลมหายใจเข้า – ออก จนกระทั่งเห็นอย่างแจ่มแจ้งว่า จิตทั้งหมดนั้นเป็นสังขารธรรม มีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์? เป็นอนัตตา เป็นต้น ดังกล่าวแล้ว. ทั้งหมดนี้ คือคำอธิบายของคำว่า “รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิต”.
ในที่อื่นอีกบางแห่ง มีบาลีแสดงลักษณะต่าง ๆ ของจิตไว้อีกปริยายหนึ่งซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นหลักในการพิจารณาดูจิตได้เพิ่มขึ้น อีกส่วนหนึ่ง ในที่นั้นมีการแนะให้พิจารณาดูจิตโดยนัยดังต่อไปนี้ :-
๑. จิตกำลังประกอบอยู่ด้วยราคะ หรือไม่ประกอบด้วยราคะ ;
๒. จิตกำลังประกอบอยู่ด้วยโทสะ หรือไม่ประกอบด้วยโทสะ ;
๓. จิตกำลังประกอบอยู่ด้วยโมหะ หรือไม่ประกอบด้วยโมหะ ;
๔. จิตกำลังหดหู่ หรือกำลังฟุ้งซ่าน ;
๕. จิตกำลังตั้งอยู่ในฌาน หรือไม่ตั้งอยู่ในฌาน ;
๖. จิตมีจิตอื่นเหนือ หรือไม่มีจิตอื่นเหนือ;
๗. จิตมั่นคง หรือไม่มั่นคง;
๘. จิตมีการปล่อยสิ่งที่เกิดแก่จิต หรือไม่มีการปล่อย;
แต่ในที่สุดก็ย่อมนำไปสู่การพิจารณาว่า แม้จิตจะประกอบอยู่ด้วยลักษณะเช่นไรก็ยังคงประกอบอยู่ด้วยความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อยู่นั่นเอง, ซึ่งทำให้มีผลแห่งการพิจารณาเป็นไปในทำนองเดียวกันกับการพิจารณา ตามวิธีที่กล่าวแล้ว
ข้างบน ทั้งสิ้น.
ส่วน ข้อที่ว่าญาณและสติพร้อมทั้งธรรมอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยสมควรแก่การปฏิบัติ อย่างไรนั้น ก็มีคำอธิบายเหมือนอย่างที่กล่าวแล้ว ในอานาปานสติขั้นต้นแต่นี้ ซึ่งใคร่จะขอซักซ้อมความเข้าใจอีกครั้งหนึ่ง คือเมื่อมีการพิจารณาและรู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตอยู่โดยอาการ ๑๖ อย่างดังที่กล่าวแล้ว จิตก็เป็นสิ่งที่ปรากฏชัด ด้วยอำนาจลมหายใจเข้า – ออกของบุคคลผู้รุ้พร้อมเฉพาะอยู่ด้วยอาการอย่างนี้. การกำหนดนั้น เป็นสติ ; สตินั้น เป็นอนุปัสสนาญาณในที่สุด; ผู้ปฏิบัติตามเห็นจิตนั้น ด้วยสตินั้น ด้วยญาณนั้น อยู่ทุกลมหายใจเข้า – ออก จึงเกิดมีภาวนาที่เรียกว่าจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานภาวนาขึ้นโดยสมบูรณ์อยู่ในขณะนั้น เพราะว่าสมบูรณ์ไปด้วยอรรถทั้งสี่ของภาวนา ดังที่กล่าวแล้วข้างต้นโดยละเอียด
อรรถ ๔ โดยหัวข้อ คือ
๑. ความไม่ก้ำเกินกันของธรรมที่เกิดขึ้นในสติปัฏฐานนั้น
๒. อินทรีย์ทั้งหลายมีรสหรือกิจเป็นอันเดียวกัน
๓. นำความเพียรเข้าไปสมควรแก่ธรรมและอินทรีย์
๔. เป็นที่ส้องเสพมากแห่งจิต.
เมื่อการปฏิบัติเป็นสติปัฏฐานภาวนาโดยสมบูรณ์เช่นนี้แล้ว ย่อมสโมธานธรรมต่าง ๆ คือก่อให้เกิดธรรมะชื่อนั้น ๆ ขึ้นโดยสมควรแก่การปฏิบัติในขณะนั้น ดังที่ท่านให้ตัวอย่างไว้เป็น ๒๙ อย่างด้วยกัน มีการสโมธานซึ่งอินทรีย์ห้า พละห้า โพชฌงค์เจ็ด มรรคมีองค์แปด สติปัฏฐานสี่ ฯลฯ เป็นลำดับไป จนกระทั้งถึงวิมุตติและอมโตคธะ เป็นที่สุด ดังที่กล่าวแล้วโดยละเอียดในคำอธิบายของอานาปานสติขั้นที่ห้า. อนึ่ง จะต้องเข้าใจไว้เสมอไปว่า การสโมธานธรรมหมวดใดหมวดหนึ่งก็ตาม ย่อมมีการรู้ซึ่งโคจร คือสิ่งที่เป็นอารมณ์ของธรรมนั้น และย่อมมีการแทงตลอดสมัตถะเกี่ยวกับธรรมนั้นด้วยเสมอไป มีรายละเอียดดังที่กล่าวแล้วในคำอธิบายเรื่องนั้นในอานาปานสติขั้นต้น ๆ แต่นี้. รวมความว่า สติ คือการกำหนดก็เกิดขึ้น, ญาณคือความรู้ก็เกิดขึ้น, การกระทำที่เรียกว่าภาวนาก็เกิดขึ้น, ธรรมต่าง ๆ ๒๙ อย่างก็ประมวลมาได้. ความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด ความดับและความสลัดคือ ซึ่งเป็นผลของการกระทำก็เกิดขึ้นโดยอาการต่าง ๆ ดังที่กล่าวแล้วในเรื่องนั้น ๆ. นี้คือญาณและสติเป็นต้น ซึ่งเกิดขึ้นด้วยอำนาจอานาปานสติขั้นนี้ ซึ่งเป็นขั้นที่เพ่งดูจิตชนิดต่าง ๆ หรือมีจิตชนิดต่าง ๆ เป็นอารมณ์ เพื่อพิจารณาให้เห็นความจริงในข้อที่ว่า จิตทั้งหมดนั้นแม้จะต่างกันอย่างไร ก็ตกอยู่ในฐานะเป็นเพียงสังขารธรรม อยู่ใต้อำนาจของความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา โดยเสมอกันนั่นเอง.
ข้อสังเกตในระหว่างจตุกกะทั้งสาม เพื่อให้เห็นความแตกต่างอย่างชัดแจ้งยิ่งขึ้นไป ในตอนนี้มีอยู่ว่า เมื่อเปรียบเทียบกันดูระหว่างจตุกกะทั้งสามนี้แล้วจะเห็นได้ว่า จตุกกะที่หนึ่ง มีการดูและควบคุมที่ลมหายใจในลักษณะต่าง ๆ กัน ; ใน จตุกกะที่สองมีการดูและควบคุมที่ความรู้สึกอันเป็นเวทนาในลักษณะต่าง ๆ กัน ; ใน จตุกกะที่สาม นี้จะได้ดูและทำการฝึกฝนควบคุมจิตในลักษณะต่าง ๆ กัน สืบต่อไป ทั้งหมดนี้ต้องไม่ลืมว่า คำที่ว่า ดู ก็คือ ดูให้เห็น ว่ามีลักษณะอยู่ในตัวมันเองอย่างไร ทำหน้าที่อย่างไร เกิดมาจากอะไรจะดับไปอย่างไร เป็นต้น ; และคำว่าควบคุม ก็คือทำให้มันสงบรำงับลงจากความหยาบมาสู่ความละเอียด, จากการปรุงแต่งมาก มาเป็นการปรุงแต่งน้อยกระทั่งไม่ให้มีการปรุงแต่งเลย, หรือจากความยึดถือเต็มที่ มาสู่ความยึดถือน้อยกระทั่งไม่มีความยึดถือเลย. ทั้งหมดนี้ คือความมุ่งหมายอันแท้จริงของการที่เราทนสู้ความลำบากนานาประการ ในการปฏิบัติอานาปานสติกัมมัฏฐานตลอดมา. สรุปใจความสั้น ๆ อีกครั้งหนึ่ง ว่า คำว่า รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตทั้งปวงนั้นหมายถึงจิตทุกชนิด ในขณะแห่งการปฏิบัติอานาปานสติทุกขั้น ได้รับการพิจารณาสอดส่องด้วยญาณและสติอย่างทั่วถึง จนไม่มีความยึดถือจิตว่าเป็นตัวตนแต่ประการใดนั่นเอง และมีความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด จากความยึดถือจิตว่าเป็นตัวตนมาแต่เดิมเสียได้. การวินิจฉัยในอานาปานสติขั้นที่ ๙ สิ้นสุดลงเพียงเท่านี้. ต่อนี้ไปจะได้วินิจฉัยในขั้นที่ ๑๐
https://sites.google.com/site/smartdhamma/part13_anapanasat_buddhadhas