พระธรรมโกศาจารย์ (ท่านพุทธทาสภิกขุ)

พระธรรมโกศาจารย์ (ท่านพุทธทาสภิกขุ)
วัดสวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฏร์ธานี
(๒๔๔๙ -๒๕๓๖)

พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาแห่งบรมธรรม สำเร็จได้ด้วยใบไม้กำมือเดียว ไม่ต้องเรียนจนจบพระไตรปิฎก หรือไม่ต้องเรียน กันมากมาย ชั่วใบไม้กำมือเดียวว่า ทุกข์เกิดขึ้นอย่างไร ดับทุกข์อย่างไร นี่ก็…กำมือเดียว

พระพุทธองค์ท่านมีการตรัสทั้งภาษาคนและภาษาธรรม ต้องฟังให้ดี เช่น ตรัสโดยภาษาคนว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” แต่ตรัสโดย ภาษาธรรมว่า “ตัวตนของตนนั้นไม่มี” ดังนี้ ถ้าฟังไม่ดีจะไม่รู้เรื่องและเห็นว่าเป็นคำพูดที่ขัดกัน ถ้ารู้จักฟังโดยหลักภาษาคนภาษาธรรมแล้วจะไม่ขัดกันเลย

พระพุทธองค์ตรัสว่า “แต่ก่อนก็ดี บัดนี้ก็ดี เราบัญญัติแต่เรื่องทุกข์กับความดับไม่เหลือแห่งทุกข์เท่านั้น”
ดังนั้น พวกเราอย่าต้องเสียเวลาในการศึกษาการถามการเถียงกันด้วยเรื่องอื่นที่มิใช่สองเรื่องนี้กันอีกเลย

คนมีใจเดินต่ำ มนุษย์มีใจเดินขึ้นสูง แล้วจะไม่ต่างกันยิ่งกว่าฟ้าและดินซึ่งหยุดอยู่เฉยๆ ได้อย่างไร

การมีธรรมะ แม้จริงก็คือสามารถดำรงตนอยู่เหนือปัญหาหรือความทุกข์ทั้งปวง ไม่เกี่ยวกับปริญญาบัตร ฯลฯ พิธีรีตอง หรือหลังปรัชญาชนิดฟิโลโซฟีใดๆ

จะมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ที่สุดนั้น จะต้องมีวิธีฝึกไปในทางที่จะคอยเฝ้ากำหนดการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของเวทนา สัญญา และวิตก

ถ้าใครสามารถเอาความรู้เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เข้ามากำกับอยู่กับชีวิตประจำวันแล้ว คนนั้นได้ชื่อว่ามี เชื้อต้านทานโรคสูงสุด แล้วอารมณ์ รูป เสียง กลิ่น รส นั้นจะไม่เกิดเป็นพิษขึ้นมาได้ เราจะมีอยู่ เป็นอยู่อย่างมีความเกษม

อนาคต คือ ความผัน ปัจจุบันคือ ภาพมายา อดีตคือ ปัญหาที่สะสมไว้ พระอรหันต์จึงอยู่เหนือความหมายของเวลา

จิตที่คิดจะให้นั้นมันสูงกว่าจิตที่คิดจะเอา

อย่าอยู่ด้วยความหวัง แต่อยู่ด้วยสติปัญญา สติปัญญารู้ว่าควรทำอะไรก็ทำ อย่าไปหวัง ทำให้มันถูกต้อง ผลมันมาเอง ไม่ต้องหวังให้มันกัดกินหัวใจ หวังเมื่อไหร่ มันกัดหัวใจเมื่อนั้น
อย่าอยู่ด้วยความหวัง แต่อยู่ด้วยความถูกต้องของการประพฤติการกระทำ

เรื่องกรรมที่ถูกต้องแท้จริงในพระพุทธศาสนา คือ เรื่องกรรมไม่ดำไม่ขาว เป็นที่สิ้นสุดแห่งกรรมดำกรรมขาว คือเหนือดีเหนือชั่ว เหนือบุญเหนือบาป เหนือสุขเหนือทุกข์ เป็นไปเพื่อนิพพานส่วนเดียว เพียงแต่สอนว่า ทำดี-ดี ทำชั่ว-ชั่ว นั้นยังมิใช่ของพระพุทธเจ้าแท้ เพราะมีสอนกันอยู่ก่อนพุทธกาล แต่ก็ยังคงเรียกว่า กรรมวาทีได้เหมือนกัน เป็นเรื่องกรรมครึ่งเดียวไม่สมบูรณ์

คนเรานั้น ทุกคนมีร่างกายซึ่งเรียกว่ารูป แล้วก็มีส่วนที่เป็นใจแยกเป็นจิตส่วนหนึ่ง เป็นเจตสิกส่วนหนึ่ง เป็นจิตนั้นคือตัวที่เป็นประธานยืนโรงจนกว่าจะดับจิตในที่สุด
ทีนี้ เจตสิกก็คือ สิ่งที่เกิดขึ้นกับจิต ปรุงแต่งจิตให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ คือปรุงแต่งจิตดวงเดียวนั้นให้มีลักษณะอาการเป็นสิบๆ อย่างหรือเป็นร้อยๆ อย่าง จะดีหรือชั่ว ไม่ดีไม่ชั่ว แล้วแต่เจตสิก

การฝึกอานาปานสติ
อันดับแรกที่สุด ก็ฝึกที่ตัวลมหายใจ
อันดับถัดไป ก็ฝึกความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการฝึกลมหายใจนั้นอยู่ทุกลมหายใจ
อันดับถัดไป ก็ไปพิจารณาดูจิตของตัวเองอยู่ทุกลมหายใจ
อันดับถัดไป ก็พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นต้น ที่เกิดขึ้นอยู่กับลมหายใจ ที่เกิดขึ้นอยู่กับเวทนา ที่เกิดขึ้นกับจิต อยู่ทุกลมหายใจ
เพราะฉะนั้น อานาปานสตินี้ มันจึงสูงขึ้นไปเป็นลำดับ กระทั่งหายใจเป็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อยู่ทีเดียว กระทั่งมีความเบื่อหน่ายคลายกำหนัดอยู่ทุกลมหายใจทีเดียว
กระทั่งจิตหลุดพ้น รู้สึกตัวอยู่ว่าจิตหลุดพ้นอยู่ทุกลมหายใจเข้าออกทีเดียว
ตลอดสายนี้แหละ เรียกว่า อานาปานสติสมาธิภาวนา นับขึ้นไปเรื่อยตั้งแต่ลมหายใจ กระทั่งบรรลุมรรคผล

เรียนชีวิตจากชีวิตดีกว่าเรียนจากพระไตรปิฎก ซึ่งบอกเพียงวิธีเรียนชีวิตได้อย่างไร แล้วนำไปเรียนที่ตัวชีวิตเองเมื่อยังไม่ตาย นี้คือการเรียนความทุกข์จากความทุกข์ และพบความดับทุกข์ที่ตัวความทุกข์นั้นเอง

จงตายให้ดีมีศิลป์ที่สุด คือ ตายอย่างรู้สึกว่า ไม่มีใครตายมีแต่สิ่งปรุงแต่งเปลี่ยนไป

ธรรมะมิใช่ตัวหนังสือหรือเสียงแห่งการแสดงธรรม แต่เป็นการกระทำหน้าที่ที่ถูกต้องของผู้ปฏิบัติแต่ละคนอยู่ทุกอิริยาบท ทุกเวลา ทุกสถานที่ อย่างถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ของตน และแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกัน จึงจะเป็นธรรมะที่ถูกต้อง ตามหลัก แห่งพระพุทธศาสนา อันจะนำมาซึ่งความสงบสุขได้จริง

บัดนี้ ยิ่งเจริญคือ ยิ่งยุ่ง ยิ่งเจริญที่สุดคือ ยิ่งเกินความจำเป็น เพราะปราศจากสติปัญญาอันทำให้เรารู้จักเจริญ อย่างถูกต้องพอเหมาะพอดีเป็นมัชฌิมาปฏิปทา จงรู้จักเจริญกันเสียใหม่ในด้านจิตวิญญาณที่อาจดับทุกข์ของตนได้เถิด

http://www.polyboon.com/worship/dhumma02_0821.html

. . . . . . .