ประวัติหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
พระครูวินัยธร (มั่น ภูริทตฺโต) หรือที่นิยมเรียกด้วยความเคารพว่า “หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต” (20 มกราคม พ.ศ. 2413—11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492) เป็นพระภิกษุชาวไทยสายธรรมยุตชื่อดังในประวัติศาสตร์พระกรรมฐานไทย เมื่อท่านเป็นพระภิกษุ ได้ปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดและเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยวางแนวทางในการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนาตามหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาพุทธเจ้า แก่ประชาชน ทำให้มีท่านมีพระสงฆ์และฆราวาสที่เป็นลูกศิษย์จำนวนมาก จึงทำให้แนวคำสอนของท่านเป็นที่รู้จักกันดีว่า เป็นคำสอนพระวัดป่า (สายพระอาจารย์มั่น) หลังจากท่านมรณภาพลง ในปี พ.ศ. 2492 ยังคงมีพระสงฆ์ที่เป็นลูกศิษย์ของท่านสืบต่อแนวปฏิบัติของท่านสืบมา โดยลูกศิษย์ของท่านเรียกว่า พระกรรมฐานสายวัดป่า หรือ พระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ด้วยเหตุนีจึงทำให้ท่านได้รับยกย่องจากผู้ศรัทธาให้เป็น พระอาจารย์ใหญ่สายวัดป่า สืบมาจนปัจจุบัน
ภูมิหลัง
ชื่อเดิมคือ “มั่น แก่นแก้ว” ท่านเกิดที่บ้านคำบง อำเภอโขงเจียม (ปัจจุบันคือ อำเภอศรีเมืองใหม่) จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบุตรของนายด้วง และนางจันทร์ แก่นแก้ว และได้อุปสมบทในธรรมยุติกนิกายเมื่ออายุ 22 ปี ในปี พ.ศ. 2436 ณ วัดเลียบ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ในวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2436 โดยมีพระอริยกวีเป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสีทา ชยเสโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูประจักษ์อุบลคุณเป็นพระอนุสาวนาจารย์
ก่อนหน้านี้หลวงปู่มั่นได้เข้าบรรพชาเป็นสามเณร เมื่ออายุได้ 15 ปี ณ วัดบ้านคำบง เมื่อบวชได้ 2 ปี บิดาขอร้องให้ลาสิกขาเพื่อช่วยการงานทางบ้าน จิตท่านยังหวนคิดถึงร่มผ้ากาสาวพัสตร์อยู่เนืองนิจ เพราะติดใจในคำสั่งของยายว่า “เจ้าต้องบวชให้ยาย เพราะยายก็ได้เลี้ยงเจ้ายากนัก” ครั้นอายุได้ 22 ปีจึงได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ และได้เข้าฝึกปฏิบัติธรรม ในสำนักวิปัสสนากับหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล ณ วัดเลียบ จ.อุบลราชธานีจนกระทั่งท่านได้ออกจาริกเดินธุดงค์ตามสถานที่ต่างๆ เมื่อออกพรรษา แล้วไปศึกษาธรรมะจากพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) แห่งวัดบรมนิวาส กรุงเทพมหานคร แล้วออกจาริกไปอีกหลายที่หลายแห่ง จนกระทั่งถึงที่ถ้ำไผ่ขวาง น้ำตกเขาสาริกา จ.นครนายก
ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา
วิหารสร้างอุทิศถวายหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ที่วัดเจดีย์หลวง อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
ประมาณปี 2450 – 2453 ท่านได้จาริกไปทางจังหวัดลพบุรี ไปพักอยู่ที่เขาพระงามบ้าง ถ้ำสิงโตบ้าง ต่อมา ท่านได้ไปพักอยู่ที่ถ้ำสาริกา จ.นครนายกนี่เอง ท่านได้ประสบเหตุการณ์ต่าง หลายประการ และเป็นที่ติดใจท่านมาตลอด คือ ขณะที่ท่านไปถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ใกล้กับถ้ำมากกว่าหมู่บ้านอื่น ๆ ท่านวานให้ชาวบ้านพาไปส่งที่ถ้ำดังกล่าว เพราะไม่รู้จักทาง ชาวบ้านเล่าเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับถ้ำนั้นให้ฟัง พร้อมกับนิมนต์ให้เลิกล้มความต้องใจที่จะไปถ้ำนั้นเสีย แต่ท่านบอกว่า ท่านไม่กลัว ท่านทดลองพักดู
ขณะที่พักที่ถ้ำสาริกาแห่งนี้ในระยะเดือนแรกๆ ท่านรู้สึกปรกติดี จิตใจสงบ ไม่มีอะไรพลุกพล่าน พอดีคืนต่อๆมา ท่านรู้สึกว่าโรคเจ็บท้องที่เคยเป็นประจำชักกำเริบ และมีอาการรุนแรงขึ้นตามลำดับ แต่ด้วยอาศัยด้วยเหตุว่าท่านได้บำเพ็ญบารมี (กำลังใจในการปฏิบัติที่สั่งสม) ไว้มากในพระบวรพุทธศาสนา ท่านจึงตัดสินใจออกไปนั่งสมาธิ พิจารณาธรรม แยกธาตุขันธ์ เจริญอสุภะกรรมฐาน จนกระทั่งจิตเกิดความอ้ศจรรย์ สามวันสามคืน แม้กระทั่งเม็ดทราย พอจิตของท่านอิ่มตัวจากการประพฤติปฏิบัติ ได้เกิดนิมิตลูกสุนัขปรี่เข้าไปดูดนมแม่สุนัข ท่านจึงได้เกิดความสงสัยว่า “ในการพิจารณาขั้นนี้ที่จิตรวมในการพิจารณาแล้ว ไม่น่าจะมีนิมิตแล้ว” เพราะนิมิตจะเกิดจากการปฏิบัติสมาธิที่ยังไม่เป็นวสี (ยังไม่ชำนิชำนาญ) เมื่อท่านเกิดความสงสัย จึงได้พิจารณาจนได้ความว่า ลูกสุนัขที่ได้กระทำการดูดนมแม่หาใช่ใครที่ไหน แต่เป็นตัวท่านเองที่เสวยอัตภาพมาตลอด 500 ชาตินั้นเองจึงได้เกิดความสลดสังเวชใจ จึงนำสิ่งที่ได้พบได้เห็นมาพิจารณาธรรมในข้อที่ว่า “กายะ ทุกขัง อริยสัจจัง”คือว่าพิจารณาว่ากายเป็นทุกข์ ไม่ทำให้เกิดความสุขให้เรา แต่ต่อมาท่าเกิดความรู้สึกกังวล จึงใช้ญาณตรวจดูเกิดพบว่าท่านเคยปรารถนาพุทธภูมิ (ปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้า) จึงค้นลงไปอีกว่าปรารถนาตอนไหน พอเห็นว่าปรารถนาเมื่อสมัยสมัยพระศาสนาของพระพุทธโคดม จึงเห็นว่าเป็นการเนิ่นช้า ท่านเล่าอีกว่าจึงถอนความปรารถนานั้น มุ่งมั่นความพ้นทุกข์ในปัจจุบันชาติ จนเกิดเหตุในนิมิตว่ามียักษ์ตนหนึ่งจะเข้ามาทำร้าย แต่ไม่สามารถทำร้ายท่านได้ จนยักษ์ได้ยอมแพ้ จึงอันตรธานหายไป ในกาลเวลาต่อมาจิตท่านจึงรวม เห็นว่าโลกใบนี้ราบเลียนเตียนแล้ว เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เสมอกัน
ต่อมาท่านขึ้นไปที่ภาคเหนือจำพรรษาที่วัดเจดีย์หลวง 1 พรรษาได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง เป็นพระครูวินัยธร และพระอุปัชฌาย์ ขณะนั้นท่านจึงจำใจรับตำแหน่ง เพราะเห็นแก่ท่านเจ้าคุณอุบาลี ผู้นิมนต์ที่เป็นอาจารย์ของตน ขณะที่กำลังอาพาธเป็นโรคมะเร็งที่กระดูกตรงขา แต่ต่อมาท่านจึงล้มเลิกความตั้งใจที่จะเป็นเจ้าอาวาส โดยท่านรำพึงในใจว่า”หากเรายังรับตำแหน่งอยู่ต่อไป ลาภสักการะอาจจะฆ่าการปฏิบัติของเรา อันเป็เหตุแห่งการฆ่าการประพฤติปฏิบัติก็เป็นได้” ท่านจึงได้สละตำแหน่ง หนีธุดงค์เข้าป่า อาศัยอยู่ตามดอยมูเซอ ถ้ำเชียงดาว ถ้ำพวง ฯลฯ แล้วออกไปพำนักตามที่วิเวกต่างๆ ในเขตภาคเหนือหลายแห่ง เพื่อสงเคราะห์สาธุชนในที่นั้นๆ นานถึง11ปี
จนในปี พ.ศ. 2478 ท่านบรรลุธรรมชั้นสูงสุดที่ ถ้ำดอกคำ ตำบลน้ำแพร่ จ.เชียงใหม่ จากนั้นท่านได้ธุดงค์ไปยังดอยนะโม ท่านได้พูดกับลูกศิษย์คือ หลวงปู่ขาว อนาลโย ว่า “ผมหมดงานที่จะทำแล้ว ก็อยู่สานกระบุงตระกร้า พอช่วยเหลือพวกท่านและลูกศิษย์ลูกหาได้บ้างเท่านั้น” ต่อมาท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ ได้นิมนต์ท่านให้นิวัติกลับภาคอีสาน โดยท่านได้อาศัยรถไฟสถานีเชียงใหม่ ลงที่นครราชสีมา โดยพำนักที่วัดป่าสาลวัน แล้วลงจำพรรษาที่วัดป่าบ้านนามน ต.นาใน จ.สกลนคร พอพระภิกษุเข้ามาอยู่ศึกษากับท่านมาเข้า ท่านจึงดำริว่าจะย้ายที่จำพรรษาไปวัดป่าบ้านหนองผือ จ.สกลนคร พอเข้ามาลงหลักปักฐานที่วีดป่าบ้านหนองผือเรียบร้อยแล้ว ท่านได้ทุ่มเทสอนอุบายการหลุดจากความยึดมั่นถือมั่นต่อสิ่งทั้งปวง แก่ลูกศิษย์โดยอุบายทางตรงแลทางอ้อม โดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย
พระเดชพระคุณท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ท่านเป็นพระบิดาพระกรรมฐานแห่งยุค ตำนานชีวิตของท่านถูกกล่าวขานกันไม่รู้จบ ท่านสำเร็จปฏิสัมภิทานุศาสน์ 4 อย่าง คือ
อัตถปฏิสัมภิทา – แตกฉานในอรรถ
ธรรมปฏิสัมภิทา – แตกฉานในธรรม
นิรุตติปฏิสัมภิทา – แตกฉานในภาษา
ปฏิภาณปฏิสัมภิทา – แตกฉานในปฏิภาณ
โดยปฏิปทาที่ท่านยึดมั่นมาตลอดชีวิตนั้น คือธุดงควัตร ท่านเป็นผู้มีความจริงจังในการงานตั้งแต่วัยเยาว์ ซึ่งธุดงควัตรข้อสำคัญที่ท่านยึดมั่นมาตลอดจนวาระสุดท้ายของชีวิต มี 4 ประการ คือ
ปังสุกุลิกังคธุดงค์ – ถือนุ่งห่มผ้าบังสกุล
ปิณฑปาติกังคธุดงค์ – ถือภิกขาจารวัตร เที่ยวบิณฑบาตมาฉันเป็นนิตย์
เอกปัตติกังคธุดงค์ – ถือฉันในบาตร ใช้ภาชนะใบเดียวเป็นนิตย์
เอกาสนิกังคธุดงค์ – ถือฉันหนเดียวเป็นนิตย์
อุบายสอนธรรมอันแยบคาย
ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของท่านอาจารย์มั่นอีกองค์หนึ่ง ที่ได้ไปศึกษ่าข้อวัตรปฏิบัติจากหลวงปู่มั่น ที่วัดป่าบ้านหนองผือ ท่านเล่าให้ฟังว่า การใช้ภาษานั้น พระอาจารย์มั่นนั้นแตกฉานมาก สามรถเทศน์คำว่า นโม เพียงคำเดียวได้เป็นเดือนๆ ยิ่งคำว่า มหา ท่านก็เทศน์ สนุกมาก ครั้งหนึ่งมีพระสององค์จากกรุงเทพฯ ไปหาท่าน ปรากฏว่า พระสององค์มีความรู้แตกฉานในพระคัมภีร์หนังสือวิสุทธิมรรค ท่านพระอาจารย์มั่นก็สอนว่า
วิสุทธิมรรคนั้นมีอะไร มีศีลนิเทศ สมาธินิเทศ ปัญญานิเทศ นิเทศนี้คืออะไร ก็คือนิทาน เป็นนิทานเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา ไม่ใช่ความจริงของศีล สมาธิ ปัญญาหรอก ถ้าต้องการรู้ความจริง ต้องปฏิบัติให้มีขึ้นในกาย วาจา ใจ ของตน
ท่านพระอาจารย์มั่น มีความละเอียดมากในการสอนลูกศิษย์ เวลาพระองค์ไหนป่วยแล้วขอยา ท่านจะว่า นี่จะเอาอะไรเป็นสรณะที่พึ่ง เอาพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง หรือเอายาเป็นที่พึ่ง ถือเอาศาสนาพุทธหรือศาสนายากันแน่ แต่ถ้าองค์ป่วย แล้วไม่ยอมฉันยา ท่านก็ติเตียนอีกว่า ยามี ทำไมไม่ยอมฉัน ทำไมทำตัวเป็นคนเลี้ยงยาก ฟังดูแล้วดูเหมือนลูกศิษย์ต้องโดนทั้งขึ้นทั้งล่อง แต่ความหมายของท่านคือ ขอปราบทิฏฐิของลูกศิษย์ในเรื่องนี้ เพราะความดีไม่ได้อยู่กับการฉันยาหรือไม่ฉันยา แต่อยู่กับการใช้ปัญญาพิจารณาทุกข์นั้นต่างหาก
สุบินนิมิตของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เป็นเรื่องเล่าของหลวงปู่มั่นเกี่ยวกับสุบินและนิมิตต่างๆ ในสมาธิที่ท่านเห็น ซึ่งได้ความเพลิดเพลินที่แฝงธรรมอยู่ด้วย
ณ ที่วัดเลียบเมืองอุบล หลวงปู่มั่นได้เพียรปฏิบัติภาวนามาอย่างไม่ลดละ การดำเนินจิตของท่านมีความก้าวหน้ามาโดยลำดับ มีนิมิตที่น่าสนใจสองครั้ง ครั้งแรก หลวงปู่เล่าว่าคืนหนึ่ง เราได้หลับไปแล้วแต่การหลับของเราขณะนั้นเหมือนจะตื่น เพราะเราต้องกำหนดจิตให้มีสติไว้เสมอ ท่านรู้สึกว่าฝันไปว่าเดินออกจากบ้านเข้าสู่ป่าที่รกชัฏ พบต้นไม้ใหญ่ชื่อต้นชาด ถูกโค่นล้มอยู่กับพื้น กิ่งก้านผุพังแล้ว ท่านขึ้นไปยืนไปบนขอนต้นชาด มองไปข้างหน้าเห็นทุ่งกว้าง ทันใดมีม้าขาวมาหยุดอยู่ใกล้ๆ ท่านขึ้นไปนั่งบนหลังม้า แล้วม้าก็วิ่งผ่านทุ่งไปจนสุดพบตู้พระไตรปิฎกตั้งตระหง่านอยู่ ท่านไม่ได้เปิดตู้ดูแล้วรู้สึกตัวตื่น
ท่านได้ทบทวนเรื่องที่ฝัน เกิดความรู้สึกมั่นใจในการปฏิบัติภาวนาของท่าน ภายหลังท่านได้ทำนายเหตุการณ์ที่ฝันให้ฟังว่า ที่ออกจากบ้านก็คือออกจากเพศฆราวาส ไปพบป่าชัฏแสดงว่ายังไปไม่ถูกทางจริงจึงต้องลำบากหนัก ที่ท่านได้ขึ้นไปบนขอนไม้ชาดที่ผุแล้วแสดงว่าชาตินี้อาจเป็นชาติสุดท้ายของท่าน เหมือนต้นชาดนั้นย่อมไม่สามารถงอกได้อีกแล้วท่านต้องแสวงหาต่อไป ทุ่งโล่งหมายถึงแนวทางที่ถูกต้องเป็นทางที่ไม่ลำบากนัก การได้ขี่ม้าขาวหมายถึงการเดินทางไปสู่ความบริสุทธิ์ได้อย่างรวดเร็ว การพบตู้พระไตรปิฎกแต่ไม่ได้เปิดดูก็คือท่านคงไม่ถึงปฏิสัมภิทาญาณถ้าได้เปิดดูก็คงแตกฉานกว่านี้ เพียงได้ความรู้ถึงปฏิสัมภิทานุศาสน์สามารถสอนผู้อื่นได้เพียงบางส่วนเท่านั้น
หลวงปู่ได้เร่งความเพียรหนักขึ้นได้เปลี่ยนวิธีการคือพอจิตดำเนินถึงขั้นสงบนิ่งแล้วแต่ไม่หยุดที่ความสงบนิ่งเหมือนแต่ก่อน ยกกายขึ้นพิจารณาเรียกว่ากายคตาสติ โดยกำหนดจิตเข้าสู่กายทุกส่วนทั้งยืน เดิน นั่ง นอน ให้จิตจดจ่อที่กายตลอดเวลาพิจารณาให้เป็นอสุภะจนเกิดความเบื่อหน่าย (นิพพิทาญาณ) บางครั้ง ขณะเดินจงกรมอยู่ปรากฏเดินลุยอยู่ข้างศพก็มี เหตุการณ์เช่นนี้ปรากฏขึ้นเป็นเดือน ท่านว่าปรากฏปัญญาขึ้นมาบ้าง ไม่เหมือนทำจิตให้สงบอยู่อย่างเดียวเหมือนที่ผ่านมาซึ่งได้แต่ความสุข ความอิ่มใจเฉยๆ ยิ่งกว่านั้นยังเกิดความหวั่นไหวไปตามกิเลสอยู่ แต่การปฏิบัติในคราวหลังนี้ความรู้สึกหวั่นไหวได้ชะงักลง จึงปลงใจว่าน่าจะไปถูกทาง
นิมิตครั้งที่สอง เกิดขึ้นจากการปฏิบัติในช่วงต่อมา ได้เกิดนิมิตในสมาธิติดต่อกันอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาถึง 3 เดือน วันหนึ่งหลวงปู่เกิดนิมิตในสมาธิว่า เห็นคนตายนอนอยู่ห่างจากตัวท่านราวหนึ่งศอก มีสุนัขกำลังกัดทึ้งซากศพ ดึงไส้ออกมาเคี้ยวกินอยู่ ท่านจึงกำหนดพิจารณาดูซากศพทุกส่วน กำหนดขยายส่วนต่างๆ ขึ้นพิจารณาจนเห็นเด่นชัด สามารถกำหนดขยายหรือย่อส่วนได้ตามต้องการ (เรียกว่าปฏิภาคนิมิต) ยิ่งพิจารณาไปจิตก็ยิ่งสว่างไสวปรากฏดวงแก้วขึ้นมา แล้วทิ้งการกำหนดอสุภะ มากำหนดเอาเฉพาะดวงแก้วเป็นอารมณ์
วาระต่อไปได้ปรากฏนิมิตเป็นภูเขาอยู่ข้างหน้า ท่านกำหนดจิตขึ้นไปดูเห็นมีห้าชั้น เดินขึ้นไปจนถึงชั้นที่ 5 พบบันไดแก้วแล้วหยุดอยู่ที่นั่น ไปต่อไม่ได้จึงเดินทางกลับ ท่านได้พบว่าท่านได้สะพายดาบและใส่รองเท้าวิเศษไปด้วยในทุกครั้งที่เกิดนิมิต ในครั้งต่อไปเมื่อทำสมาธิ ก็เกิดนิมิตและดำเนินไปเหมือนเดิม เดินไปถึงที่เดิมเห็นกำแพงแก้วเปิดประตูเดินเข้าไป พบพระนั่งสมาธิอยู่ 2 – 3 องค์ ท่านเดินต่อไปจนถึงหน้าผาสูงชัน เดินต่อไปไม่ได้จึงกลับทางเดิม
ในครั้งต่อๆ ไป การทำสมาธิก็ดำเนินไปในแนวเดิมไปพบเห็นสิ่งต่างๆต่อไปเรื่อยๆ ครั้งหนึ่งได้สวนทางกับท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท วัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ) ท่านเจ้าคุณกล่าวเป็นภาษาบาลีว่า “อฏฺฐงฺคิโก มคฺโค” แล้วก็เดินไป นิมิตในสมาธิเกิดต่อเนื่องกันไปนานถึง 3 เดือน จนไปถึงที่สุดไม่มีนิมิตอะไรต่อไปอีกแล้ว มีแต่ความสุขสงบเหลือที่จะประมาณได้จนท่านเองสำคัญว่า “ตนของตนถึงความบริสุทธิ์แน่จริง หมดจากกิเลสแล้ว”
หลวงปู่ได้ยกประสบการณ์ในครั้งนั้นมาเป็นตัวอย่างสั่งสอนศิษย์ว่า “ระวังอย่าได้ไปหลงนิมิตเช่นนี้เพราะมันวิเศษจริงๆ ผู้ปฏิบัติทางจิตชอบจะมาติดอยู่เพียงแค่นี้ แล้วสำคัญตนผิด….เราเองก็เป็นมาแล้วและมันก็น่าจะหลงไหล เพราะเป็นสิ่งอัศจรรย์มาก ที่เรียกว่าวิปัสสนูปกิเลส ก็คือความเป็นเช่นนี้”
หลังจากที่หลวงปู่รู้ตัวว่าหลงไปตามนิมิตต่างๆแล้ว ท่านกับมากำหนดกายคตา จิตได้เข้าฐาน ปรากฏว่าได้เลิกหนังของตนออกหมดแล้วแหวะในกายพิจารณาทบทวนในร่างกายอย่างละเอียดแล้วพักจิต (มิใช่พิจารณากายไปโดยไม่หยุดพัก) ขณะที่พักก็รู้ว่าปัญญาได้เกิดขึ้นพอควร มีอาการไม่ตื่นเต้น ไม่หวั่นไหว จึงได้เปล่งอุทานว่า “นี่แหละจึงจัดว่ารวมถูก เพราะไม่ใช่จิตรวมสงบแล้วก็อยู่เฉยที่สงบนั้น ต้องสงบแล้วพิจารณาอยู่ในกัมมัฏฐาน คืออยู่ในการพิจารณาดูตัวทุกข์คือกายนี้เป็นตัวทุกข์และให้เห็นทุกข์อยู่ จึงจะได้ชื่อว่าดำเนินจิตอยู่ในองค์มรรค ฯลฯ เราจะต้องตรวจค้นให้รู้จริงเห็นจริงอยู่ที่กายกับจิตเท่านั้น จึงจะถูกอริยมรรคปฏิปทา”
มีครั้งหนึ่ง ปรากฏในนิมิตว่าร่างกายของท่านแตกออกเป็นสองภาค ท่านกำหนดจิตให้นิ่งจนเกิดความสังเวชสลดใจเห็นทุกข์ของการเวียนว่ายตายเกิด จึงถือเอาหลักที่ทำมาเป็นการเริ่มต้นเพราะมั่นใจว่าปฏิบัติถูกต้อง เป็นทางดำเนินจิตของท่านต่อไป
การปฏิบัติภาวนาในช่วงที่อยู่วัดเลียบแม้จะก้าวหน้าไปโดยลำดับแต่หลวงปู่มั่นตระหนักว่า “ยังไปได้ไม่ไกลเท่าไหร่” ท่านจึงได้ออกธุดงค์เข้าป่าเพียงลำพังองค์เดียวไปทางนครราชสีมาเข้าดงพญาเย็น แสวงวิเวกไปเรื่อยๆ จนถึงบริเวณน้ำตกสาริกา จังหวัดนครนายกเป็นป่าทึบเต็มไปด้วยสิงสาราสัตว์ เป็นสถานที่น่าประหลาดสำหรับพระธุดงค์ หลวงปู่มุ่งหน้าสู่ถ้ำไผ่ขวาง ชาวบ้านได้ทัดทานไว้เนื่องจากมีพระธุดงค์ไปมรณภาพที่ถ้ำแห่งนั้นถึง 6 องค์แล้ว แต่หลวงปู่ตอบชาวบ้านว่า “ขอให้อาตมาเป็นองค์ที่ 7 ก็แล้วกัน”
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านมีความเด็ดเดี่ยวปฏิบัติธรรมมุ่งมั่นไม่กลัวตาย หากแต่กลัวกิเลสที่ย่ำยีจิตใจให้รุ่มร้อนมากกว่า ถ้ำแห่งนั้นเป็นถ้ำที่ไม่ใหญ่โตนัก มีต้นไม้ขึ้นปกคลุมหนาแน่น บรรยากาศน่าสะพรึงกลัว ยิ่งตอนพลบค่ำยิ่งวังเวง แต่หลวงปู่ท่านเคยชินกับสภาพเช่นนั้นมากแล้ว จึงไม่มีอะไรทำให้จิตใจของท่านหวั่นไหวได้หลังจากจัดแจงสถานที่และเดินดูรอบๆบริเวณแล้ว พอค่ำลงสนิทท่านก็เริ่มบำเพ็ญภาวนาโดยนั่งสมาธิตลอดคืน ปรากฏว่าสว่างไสวไปหมดนับเป็นนิมิตที่ดียิ่ง
รุ่งขึ้นเช้าหลวงปู่ก็ออกบิณฑบาตที่หมู่บ้านไร่นั้น หลังจากฉันแล้ว ท่านก็พักกลางวันไปสักหนึ่งชั่วโมง พอลุกขึ้นรู้สึกตัวหนักไปหมด หนำซ้ำเกิดท้องร่วงอย่างแรง เมื่อสังเกตดูอุจจาระพบว่าอาหารที่ฉันเข้าไปไม่ย่อยเลย ข้าวสุกยังเป็นเม็ด อาหารที่ทานเข้าไปยังอยู่ในสภาพเดิม ท่านจึงเข้าใจว่าพระองค์ก่อนๆ ที่มรณภาพไปก็คงเป็นเพราะเหตุนี้เองได้รำพึงกับตัวเองว่า “เราก็เห็นจะตายแน่เหมือนพระเหล่านั้น”
หลวงปู่ได้หาที่น่าหวาดเสียวที่สุด เห็นว่าริมปากเหวเหมาะที่สุดที่จะนั่งบำเพ็ญเพียร ท่านตั้งใจแน่วแน่ว่า “หากจะตายขอตายตรงนี้ ขอให้ร่างกายหล่นลงไปในเหวนี้จะได้ไม่ต้องเป็นที่วุ่นวายเดือดร้อนแก่ใครๆ”
ตั้งแต่บัดนั้นหลวงปู่ได้ตั้งปฏิธานแน่วแน่ว่า “ถ้าไม่รู้แจ้ง เห็นจริงก็จะไม่ลุกจากที่นั่งนี้เป็นอันขาด” หลวงปู่ได้นั่งสมาธิ ณ จุดนั้นติดต่อกันเป็นเวลา 3 วัน 3 คืนโดยไม่ลืมตาเลย ท่านเริ่มกำหนดจิตต่อจากที่เคยดำเนินมาครั้งหลังสุด ได้เกิดการสว่างไสวดุจกลางวัน ความผ่องใสของจิตสามารถเห็นทุกสิ่งทุกอย่างตามต้องการ แม้จะกำหนดดูเม็ดทรายก็เห็นอย่างชัดเจนทุกเม็ด แม้จะพิจารณาทุกอย่างที่ผ่านมาก็แจ้งประจักษ์ขึ้นมาในปัจจุบันหมด
ในขณะที่จิตของท่านดำเนินไปอย่างได้ผล ก็ปรากฏเห็นเป็นลูกสุนัขกำลังกินนมแม่ ท่านได้พิจารณาไคร่ครวญดูว่าทำไมจึงมีนิมิตมาปน ทั้งๆ ที่จิตของท่านเลยขั้นนิมิตแล้ว เมื่อกำหนดจิตพิจารณาก็เกิดญาณรู้ขึ้นว่า “ลูกสุนัขนั้นก็คือตัวเราเอง เราเคยเกิดเป็นสุนัขอยู่ตรงนี้มานับอัตภาพไม่ถ้วน เวียนเกิดเวียนตายเป็นสุนัขหลายชาติ”
เมื่อพิจารณาโดยละเอียดได้ความว่า ภพ คือความยินดีในอัตภาพของตน สุนัขก็ยินดีในอัตภาพของมัน จึงต้องวนเวียนอยู่ในภพของมันตลอดไป
เมื่อหลวงปู่ทราบความเป็นไปในอดีตชาติของท่านก็เกิดความสลดจิตเป็นอย่างมาก ความสว่างไสวในจิตของท่านยังคงเจิดจ้าอยู่ แต่ทำไมยังมีการห่วงหน้าพะวงหลังอยู่ ไม่สามารถพิจารณาธรรมให้ยิ่งขึ้นไปได้เมื่อตรวจสอบดูก็พบความจริงที่ท่านไม่เคยทราบมาก่อน นั่นคือ “การปรารถนาพระสัมมาสัมโพธิญาณ” ของท่าน ซึ่งมีในสมัยพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันนี้เอง แล้วเมื่อไรจะได้ถึงคิวเป็นพระพุทธเจ้าตามความปรารถนา”
หลวงปู่ได้พิจารณาถึงภพชาติในอดีต ปรากฏว่า ท่านเคยมีตำแหน่งเสนาบดีเมืองกุรุรัฐ (กรุงเดลฮีในปัจจุบัน) พระพุทธเจ้าได้ไปแสดงธรรมโปรดชาวกุรุรัฐ พระองค์ทรงแสดงมหาสติปัฏฐานสูตร หลวงปู่ซึ่งเป็นเสนาบดีในชาตินั้นก็ได้เจริญสติปัฏฐาน แล้วยกจิตขึ้นอธิษฐานว่า “ขอให้ข้าพเจ้าได้เป็นพระพุทธเจ้า เช่นพระองค์เถิด” ได้ความว่าหลวงปู่ได้ปรารภโพธิญาณมาตั้งแต่บัดนั้น ซึ่งเป็นเหตุให้ท่านต้องชะงักในการพิจารณาอริยสัจเพื่อทำจิตให้หลุดพ้นได้ ต้องสร้างบารมีเป็นพระโพธิสัตว์ไปอีกชั่วกัปชั่วกัลป์ ถ้าไม่ปล่อยวางความปรารถนานั้น
หลังจากได้ใคร่ครวญสิ่งต่างๆ แล้ว หลวงปู่รู้สึกสลดใจที่เคยเกิดเป็นสุนัขนับอัตภาพไม่ถ้วน และยังต้องเวียนว่ายตายเกิดเพื่อสร้างบารมีไปอีกนานแสนนาน ท่านจึงได้หยุดการปรารถนาพระโพธิญาณ แล้วตั้งใจเพื่อการบรรลุธรรมในชาติปัจจุบัน
และในปี พ.ศ. 2481 หลวงปู่ได้นิมิตว่า “ได้เดินไปตามทางซึ่งโล่งเตียน สะอาด มีพระภิกษุสามเณรเดินตามไปเป็นจำนวนมาก ดูเป็นแถวยาวเหยียด เมื่อเดินไป เดินไปปรากฏว่าพระภิกษุ สามเณรเหล่านั้น ทั้งพระเถระผู้ใหญ่และผู้น้อย ต่างก็เดินไปคนละทาง บ้างก็แยกไปทางซ้าย บ้างก็แยกไปทางขวา บ้างก็ล้ำหน้าเดินไปอย่างไม่เกรงใจ ดูพลุกพล่านไป”
หลวงปู่ได้อธิบายนิมิตของท่านว่า “ในการต่อไปข้างหน้า จะมีผู้นิยมทำกรรมฐานภาวนากันมากขึ้น กับจะมีการตั้งตนเป็นอาจารย์สอนกรรมฐานภาวนากันมากจะมีทั้งมีคุณภาพและไม่มีคุณภาพ คือต่างก็จะสอนไปตามความเข้าใจของตน จนถึงกับนำเอาการตั้งตนเป็นอาจารย์สอนกรรมฐานภาวนามาบังหน้า แล้วก็ดำเนินการไม่บริสุทธิ์ด้วยประการต่างๆ ผลที่เกิดขึ้นจึงไม่ดีเท่าที่ควร” “แต่บางพวกก็ดี เพราะยังเดินตามเราอยู่ นี่มิได้หมายความว่าเราเป็นผู้วิเศษ แต่การดำเนินการของเรานั้น ได้ทำไปโดยความบริสุทธิ์ใจมุ่งเพื่อความพ้นทุกข์ โดยปฏิทานี้ ก็ทำให้ได้ผลทั้งตนเองและศิษยานุศิษย์ตลอดมา การที่ต่างคนต่างตั้งตนเป็นอาจารย์นั้น ย่อมทำให้เสียผลเพราะทำให้เกิดความลังเลแก่ผู้จะเข้ามาเรียนกรรมฐานภาวนาว่าจะถือเอาอาจารย์ไหนจึงจะถูก”
http://www.esanpra.com/