ปฏิปทาการปฏิบัติเพื่อการค้นพบวิชาธรรมกาย
ข้อสังเกตความรู้วิปัสสนาธุระที่หลวงพ่อค้นพบ
ความรู้ที่หลวงพ่อค้นพบไม่เหมือนความรู้ที่เคยเรียนมาจากอาจารย์ทั้งหลาย ความรู้ที่ได้พบเห็นเป็นคนละเรื่องกันทีเดียวกล่าวคือ ความรู้ของเกจิอาจารย์ครั้งนั้นเป็นความรู้ทางอานาปานัสสติ ( กำหนดลมหายใจ ) เป็นความรู้กำหนดสติ ( หนอ ) เป็นความรู้ทางกสิณ เช่น กสิณดิน น้ำ ไฟ ลม ความรู้เหล่านี้ไม่ได้กำหนดใจไว้ที่ศูนย์กลางกายเลย มีแต่กำหนดใจนอกศูนย์กลางกายทั้งนั้น แม้หลวงพ่อก็ได้รับการสอนมาอย่างนั้น แต่ความรู้ที่หลวงพ่อได้พบเห็นปรากฏว่าเห็นที่ศูนย์กลางกายสิ่งที่เห็นคือ” ดวงธรรม” และในที่สุดคือเห็น “ ธรรมกาย ” ตามรายละเอียดหนังสือมรรคผล 18 กายของหลวงพ่อนั้น ธรรมกายคือพระรัตนตรัย สรุปแล้วหลวงพ่อค้นพบพระรัตนตรัย นั่นคือรู้วิธีปฏิบัติทำใจว่าทำอย่างไรจึงเข้าถึงพระรัตนตรัย วิธีทำใจเช่นนั้น คือวิธีการทำใจให้ใสตามคำสอนของพระศาสดาข้อ 3 ที่ว่า สจิตฺตปริโยทปนํ ซึ่งแปลว่า การทำใจให้ใส นั้นมีวิธีการอย่างไร มีการปฏิบัติอย่างไร มีวิธีวัดผลอย่างไร ตั้งแต่ต้นจนปลาย การค้นพบ “ วิธีการทำใจให้ใส ” นับว่าแก้อวิชชาขนานสำคัญ เพราะคำสอนของพระศาสดาที่ว่าทำใจให้ใสนั้นคำสอนนี้เราทราบกันทั้งนั้น แต่เราไม่ทราบวิธีทำว่ามีวิธีอย่างไรและเราไม่ทราบว่าการปฏิบัติทางใจนั้นทำอย่างไร ทำให้การศึกษาด้านวิปัสสนาธุระสูญหายมานานแสนนาน ความประสงค์ที่เราต้องการให้แจ้งนิพพานนั้นเป็นอันแจ้งไม่ได้มานานแสนนานเช่นกัน
-ข้อสังเกตในการเอาจริงต่อการเรียนวิปัสสนาธุระของหลวงพ่อ
จากบันทึกของหลวงพ่อซึ่งบันทึกว่า “บัดนี้ของจริงที่พระพุทธเจ้าท่านรู้เห็น เราก็ยังไม่ได้บรรลุ เรายังไม่รู้ไม่เห็น สมควรแก่เวลาแล้วที่เราต้องกระทำอย่างจริงจัง ” เหตุใดหลวงพ่อมีความเห็นอย่างนั้น เพราะเรียนกรรมฐานมาจากอาจารย์ต่าง ๆ 5 อาจารย์แล้วความรู้ที่ได้เหล่านั้นเป็นอย่างไร เหตุใดหลวงพ่อจึงว่า “ ของจริงที่พระพุทธเจ้าท่านรู้ท่านเห็น เราก็ยังไม่ได้บรรลุเรายังไม่รู้ไม่เห็น ” นี่คือข้อสังเกตที่เราท่านต้องพิจารณา เพื่อให้เกิดความรู้ถูกต้องแก่เรา เพราะก่อนที่เราจะมาพบหลวงพ่อ เราต่างก็เรียนกรรมฐานกันมาคนละหลายแบบหลายอย่าง แต่ความรู้ของเราไม่ก้าวหน้า เมื่อไรก็ทำได้อยู่แค่นั้น ความรู้ของเรากี่ปีก็แค่นั้นเป็นอยู่อย่างนั้น แถมยังยึดมั่นถือมั่นเอามาก ๆ ด้วย
– ข้อสังเกตการบำเพ็ญขอบรรลุวิปัสสนาธุระต้องเอาชีวิตเป็นเดิมพัน
จากบันทึกของหลวงพ่อซึ่งบันทึกว่า “ตั้งสัตย์อธิษฐานแน่นอนลงไปว่าถ้านั่งลงไปครั้งนี้ ไม่เห็นธรรมที่พระพุทธเจ้าต้องการเป็นอันไม่ลุกจากที่นี้จนหมดชีวิต” ยังไม่เคยพบประวัติของเกจิอาจารย์ใดเป็นเช่นนี้เลย เพิ่งมาพบหลวงพ่อวัดปากน้ำเป็นรูปแรก การเอาชีวิตเป็นเดิมพันถือว่าเป็นการลงทุนสูง ไม่มีอะไรสูงไปกว่านี้อีกแล้ว เท่าที่เคยศึกษามาพบแต่พระพุทธองค์เท่านั้น หลวงพ่อกล้าหาญปานนี้เป็นการเจริญรอยตามบาทพระพุทธองค์ เป็นการรื้อฟื้นวัฒนธรรมมหาวิริยะของพระพุทธองค์ เราท่านเคยอ่านพุทธประวัติทราบตรงกันว่า พระพุทธองค์ทรงอธิษฐานที่ใต้โคนต้นโพธิ์ หากไม่บรรลุธรรมวิเศษแล้วแม้เลือดเนื้อจะเหือดแห้งเหลือแต่เส้นเอ็น พระองค์จะไม่ลุกจากบัลลังก์ ( อาสนะหญ้าคา ) นั้น ( จตุรังควิริยะ กระดูก 1 , หนัง 1 , เนื้อ 1 , เลือด 1 แม้จะแห้งไปก็ไม่ละความเพียร ) หลวงพ่อวัดปากน้ำ ฯ เป็นที่เกรงแก่คนทั้งหลายต่างถวายความเคารพ คงเป็นเพราะหลวงพ่อเป็นคนจริง สมเด็จพระสังฆราชป๋าทรงเคยเล่าว่า หลวงพ่อท่านเป็นคนจริงมาแต่เด็กแล้ว ครั้นมาศึกษาวิปัสสนาธุระก็แสดงความเด็ดเดี่ยวอีก ลองค้นประวัติหลวงพ่อดูจะทราบว่าหลวงพ่อเป็นคนจริง เรื่องการแสดงความจริงจังต่อการบำเพ็ญธรรมนั้นอย่างเราทำไม่ได้ ต้องมีวาสนาบารมีแต่ปางหลัง บารมีต้องเข้าขั้นจึงจะทำอย่างนั้นได้ ใคร ๆ ก็อยากเห็นธรรมวิเศษกันทั้งนั้น และทราบว่าการเอาจริงเป็นของดี แม้หลวงพ่อก็ทำเป็นตัวอย่างให้เราดูมาแล้ว เราก็เอาอย่างท่านไม่ได้ ทั้งที่เราอยากจะทำแต่เราทำไม่ได้ เพราะบารมีเราไม่โตเท่าบารมีหลวงพ่อนั่นเอง เรื่องของหลวงพ่อวัดปากน้ำ ฯ แรก ๆ ยังไม่ยอมรับกันเท่าไรมีเสียงวิจารณ์กันบ้าง แต่บัดนี้ไม่ว่าที่ใดเอ่ยชื่อหลวงพ่อวัดปากน้ำ ฯ ต่างให้ความยำเกรงและถวายความเคารพ แม้แต่คนรุ่นใหม่เกิดมาไม่เคยเห็นหลวงพ่อ ล้วนแต่เคารพหลวงพ่อไปไหว้ศพหลวงพ่อเนืองแน่นในวันเสาร์วันอาทิตย์ที่วัดปากน้ำภาษีเจริญ ตอนเช้าคนไม่มากแต่พอตอนสายคนจะแน่นทันที
– ข้อสังเกตคำอธิษฐานขอเห็นธรรมรับเป็นทนายศาสนาตลอดชีวิต
จากบันทึกของหลวงพ่อ “ ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดข้าพระพุทธเจ้า ทรงประทานธรรมที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้ อย่างน้อยที่สุดแลง่ายที่สุดที่พระองค์ได้ทรงรู้แล้ว แด่ข้าพระพุทธเจ้า ถ้าข้าพระพุทธเจ้ารู้ธรรมของพระองค์แล้วเป็นโทษแก่ศาสนาของพระองค์ ขอพระองค์อย่าทรงพระราชทานเลย ถ้าเป็นคุณแก่ศาสนาของพระองค์ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานแด่ข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้ารับเป็นทนายศาสนาในศาสนาของพระองค์จนตลอดชีวิต ” หากอ่านบันทึกของหลวงพ่อที่คัดลอกมานี้หลายเที่ยวเราพอสรุปสาระได้ดังนี้
1. ธรรมที่พระราชทานนั้น เป็นธรรมที่พระศาสดาทรงตรัสรู้แล้วชนิดง่ายที่สุด
2. ธรรมที่พระราชทานนั้น ต้องเป็นคุณแก่พระศาสนา หากเป็นโทษแล้วอย่าทรงพระราชทาน
3. หลวงพ่อรับเป็นทนายให้แก่ศาสนาไปตลอดชีวิต
เราทราบแล้วว่าหลวงพ่อเห็นธรรมตามคำสอนข้อ 3 คือ สจิตฺตปริโยทปนํ แปลว่า การทำใจให้ใสนั้นมีวิธีการอย่างไร มีวิธีปฏิบัติทางใจอย่างไร ในที่สุดเห็นธรรมกายซึ่งธรรมกายนี้ก็คือพระรัตนตรัยนั่นเอง ซึ่งมีเนื้อหาสาระในหนังสือ 18 กายของวัดปากน้ำ ฯ ข้อที่เราควรตั้งข้อสังเกตก็คือ หลวงพ่ออธิษฐานใจว่า เมื่อเห็นธรรมแล้วรับเป็นทนายให้แก่ศาสนาตลอดชีวิตของหลวงพ่อ ทนายศาสนาก็คือการสงเคราะห์กิจการพระศาสนา ระงับอธิกรณ์ต่าง ๆ ทั้งด้านคันถธุระและวิปัสสนาธุระ นี่คือความหมายย่อ ๆ สรุปผลการศึกษาปริยัติธรรมและวิปัสสนาธุระของหลวงพ่อ ด้านปริยัติธรรม หลวงพ่อได้รับพระราชทานพัดเทียบเปรียญเมื่อพ.ศ. 2494 ด้านวิปัสสนาธุระ บรรลุวิชาธรรมกาย ( ธรรมกายศาสตร์ – ธกศ. )
https://sites.google.com/site/baromjuk/