หลวงตามหาบัว ประวัติหลวงตามหาบัว และ ธรรมะของหลวงตามหาบัว

หลวงตามหาบัวกำเนิดในครอบครัวชาวนาผู้มีอันจะกิน ณ บ้านตาด อุดรธานี วันเกิด ๑๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๕๖ นาม บัว โลหิตดี หลวงตามหาบัวมีพี่น้องทั้งหมด ๑๖ คน สมัยเด็ก หลวงตามหาบัวเคารพเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา โดยได้ร่วมทำบุญตักบาตรกับผู้ใหญ่อยู่เสมอ วัยหนุ่มของหลวงตามหาบัว เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของครอบครัว ขยันขันแข็ง ทำงานอะไรทำจริงๆ จังๆ เป็นที่ไว้วางใจของพ่อแม่ในการงานทั้งปวง คู่ครอง เดิมไม่เคยคิดจะบวช เพราะอยากมีครอบครัว แต่มักมีอุปสรรคให้แคล้วคลาดทุกทีไป

เหตุที่บวช เมื่ออายุครบ ๒๐ ปี พ่อแม่ขอร้องให้บวชตามประเพณีอยู่หลายครั้ง ท่านก็ทำเฉย ๆ ตลอดมา ไม่ตอบรับหรือปฏิเสธแต่อย่างใด ในครั้งสุดท้ายนี้ ด้วยความปรารถนาอย่างแรงกล้า หวังพึ่งใบบุญจากการบวชของลูกให้ได้ ถึงกับทำให้พ่อแม่น้ำตาร่วง ครั้งนี้ท่านรู้สึกสะเทือนใจและเห็นใจพ่อแม่มาก จึงตัดสินใจ และยอมบวชตามประเพณี เพื่อตอบแทนพระคุณพ่อแม่ โดยตั้งใจไว้ในตอนต้นนี้ว่า จะบวชเพียงระยะสั้น ๆ เท่านั้น

วันบวช ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ ณ วัดโยธานิมิตร อุดรธานี

พระอุปัชฌาย์ ชื่อ ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์(จูม พันธุโล) วัดโพธิสมภรณ์

เคารพพระวินัย ด้วยเดิมมีนิสัยจริงจัง จึงบวชเพื่อเอาบุญกุศลจริง ๆ และตั้งใจรักษาสิกขาบทวินัยน้อยใหญ่อย่างเคร่งครัด ในพรรษาแรกท่านได้ตั้งสัจอธิษฐานว่า ในการทำวัตรเช้า-เย็นรวมและการบิณฑบาต จะไม่ให้มีวันใดขาดเลย และท่านก็ทำได้ตามที่ตั้งคำสัตย์ไว้

เรียนปริยัติ เมื่อได้เรียนหนังสือทางธรรม ตั้งแต่นวโกวาท พุทธประวัติ ประวัติพระสาวกอรหันต์ ที่ท่านมาจากสกุลต่าง ๆ ตั้งแต่พระราชา เศรษฐี พ่อค้า จนถึงประชาชน หลังจากฟังพระพุทธโอวาทแล้ว ต่างก็เข้าบำเพ็ญเพียรในป่าเขาอย่างจริงจัง เดี๋ยวองค์นั้นสำเร็จเป็นพระอรหันต์ในป่า เดี๋ยวองค์นี้สำเร็จในเขา ในเงื้อมผา ในที่สงบสงัด ท่านก็เกิดความเชื่อเลื่อมใสขึ้นมา อยากจะเป็นพระอรหันต์ พ้นจากทุกข์ทั้งปวงในชาตินี้อย่างพระสาวกท่านบ้าง

สงสัย ช่วงเรียนปริยัติอยู่นี้ มีความลังเลสงสัยในใจว่า หากท่านดำเนินและปฏิบัติตามพระสาวกเหล่านั้น จะบรรลุถึงจุดที่พระสาวกท่านบรรลุหรือไม่ และบัดนี้จะยังมีมรรคผลนิพพานอยู่ เหมือนในครั้งพุทธกาลหรือไม่

ตั้งสัจจะ ด้วยความมุ่งมั่นอยากเป็นพระอรหันต์บ้าง ท่านจึงตั้งสัจจะไว้ว่า จะขอเรียนบาลีให้จบแค่เปรียญ ๓ ประโยคเท่านั้น ส่วนนักธรรมแม้จะไม่จบชั้นก็ไม่เป็นไร จากนั้นจะออกปฏิบัติกรรมฐานโดยถ่ายเดียว จะไม่ยอมศึกษาและสอบประโยคต่อไปเป็นอันขาด

เรียนจบ ท่านสอบได้ทั้งนักธรรมเอก และเปรียญ ๓ ประโยคในปีที่ท่านบวชได้ ๗ พรรษา ณ วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ และสถานที่แห่งนี้เอง เป็นที่แรกที่ท่านได้มีโอกาสพบเห็นท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ซึ่งต่อมา ได้กลายเป็นพระอาจารย์องค์สำคัญที่สุดในชีวิตของท่าน

ออกปฏิบัติ เมื่อเรียนจบมหาเปรียญแล้ว แม้จะมีพระมหาเถระในกรุงเทพฯ สนับสนุนให้ท่านเรียนต่อในชั้นสูง ๆ ขึ้นไปก็ตาม แต่ด้วยท่านเป็นคนรักคำสัตย์ยิ่งกว่าชีวิต ดังนั้นเมื่อมีโอกาส ท่านจึงเข้ากราบลาพระผู้ใหญ่ และออกปฏิบัติกรรมฐานอย่างจริงจัง โดยมุ่งหน้าไปทางป่าเขาแถบจังหวัดนครราชสีมา แล้วเข้าจำพรรษาที่อำเภอจักราช นับเป็นพรรษาที่ ๘ ของการบวช

พากเพียร ท่านเร่งความเพียรตลอดทั้งพรรษา ไม่ทำการงานอื่นใดทั้งนั้น มีแต่ทำสมาธิภาวนา-เดินจงกรมอย่างเดียวทั้งวันทั้งคืน จนจิตได้รับความสงบจากสมาธิธรรม

มุ่งมั่น แม้พระเถระผู้ใหญ่ท่านอุตส่าห์เมตตาตามมาสั่งให้กลับเข้าเรียนบาลีต่อที่กรุงเทพฯอีก แต่ด้วยความมุ่งมั่นและตัดสินใจเด็ดขาดแล้ว ที่จะพ้นทุกข์ให้ได้ภายในชาตินี้ ท่านจึงหาโอกาสปลีกตัวออกปฏิบัติได้อีกวาระหนึ่ง

จิตเสื่อม จากนั้นท่านกลับไปบ้านเกิดของท่าน เพื่อทำกลดไว้ใช้ในการออกวิเวกตามป่าเขา จิตที่เคยสงบร่มเย็น จึงกลับเริ่มเสื่อมลง ๆ เพราะเหตุที่ทำกลดคันนี้นี่เอง

เสาะหา..อาจารย์ เดือนพฤษภาคม ๒๔๘๕ เดินทางไปขออยู่ศึกษากับท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เหตุการณ์บังเอิญกุฏิที่พักเพิ่งจะว่างลงพอดี ท่านพระอาจารย์มั่นจึงเมตตารับไว้ และเทศน์สอนตรงกับปัญหาที่เก็บความสงสัยฝังใจมานานให้คลี่คลายไปได้ว่า ดินฟ้าอากาศแร่ธาตุต่างๆ เขาเป็นของเขาเอง เขาไม่ได้เป็นมรรคผลนิพพาน เขาไม่ได้เป็นกิเลส กิเลสจริง ๆ มรรคผลนิพพานจริง ๆ อยู่ที่ใจ หากกำหนดจิตจ่อด้วยสติที่ใจแล้ว จะเห็นความเคลื่อนไหวของทั้งธรรม ทั้งกิเลสในใจ ขณะเดียวกันจะเห็นมรรคผลนิพพานไปโดยลำดับ

ปริยัติ..ไม่เพียงพอ จากนั้นท่านพระอาจารย์มั่นเมตตาแนะต่อว่า ธรรมที่เรียนมาถึงขั้นมหาเปรียญมากน้อยเพียงใด ยังไม่สามารถอำนวยประโยชน์ให้ได้ แต่กลับจะเป็นอุปสรรคต่อการภาวนา เพราะอดจะเป็นกังวลและนำธรรมที่เรียนมานั้น มาเทียบเคียงไม่ได้ในขณะที่ทำใจให้สงบ และยังจะกลายเป็นสัญญาอารมณ์คาดคะเนไปที่อื่น จนกลายเป็นคนไม่มีหลักได้

ดังนั้น เพื่อให้สะดวกในเวลาทำความสงบหรือจะใช้ปัญญาคิดค้น ให้ยกธรรมที่เรียนมานั้นขึ้นบูชาไว้ก่อน ต่อเมื่อถึงกาลอันสมควร ธรรมที่เรียนมาทั้งหมด จะวิ่งเข้ามาประสานกันกับด้านปฏิบัติ และกลมกลืนกันได้อย่างสนิท

โหมความเพียร จากการได้ศึกษากับผู้รู้จริง ได้รับอุบายต่าง ๆ มากมาย และหักโหมความเพียรเต็มกำลัง ชนิดนั่งสมาธิภาวนาตลอดรุ่งถึง ๙ คืน ๑๐ คืนโดยเว้น ๒ คืนบ้าง ๓ คืนบ้าง ทำให้ก้นของท่านระบมจนถึงกับแตกพอง เลอะเปื้อนสบงเลยทีเดียว แต่จิตใจที่เคยเสื่อมนั้น กลับเจริญขึ้น ๆ จนสามารถตั้งหลักได้

จริงจัง ท่านถูกจริตกับการอดอาหาร เพราะทำให้ท่านตัวเบา การภาวนาง่ายสะดวก และจิตใจเจริญขึ้นได้ดี จึงมักงดฉันอาหารติดต่อกันเป็นเวลานาน คราวหนึ่งท่านออกวิเวกแถบป่าใกล้หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ชาวบ้านไม่เห็นท่านออกบิณฑบาตนานจนผิดสังเกต ถึงขนาดหัวหน้าหมู่บ้านต้องตีเกราะเรียกประชุมกัน ด้วยลือกันว่า ไม่ใช่ท่านตายแล้วหรือก็เคยมี

นักรบธรรม ท่านไม่เห็นแก่การกินการนอนมากไปกว่าผลแห่งการปฏิบัติธรรม ดังนั้นในช่วงบำเพ็ญเพียร สภาพร่างกายของท่าน จึงเป็นที่น่าตกอกตกใจแก่ผู้พบเห็นอย่างมาก แม้ท่านพระอาจารย์มั่นเอง เห็นท่านซูบผอมจนผิดสังเกต ชนิดหนังห่อกระดูก ทั้งผิวก็ซีดเหลืองเหมือนเป็นดีซ่าน ท่านถึงกับทักว่า “โฮ้ ทำไมเป็นอย่างนี้ล่ะ” แต่ด้วยเกรงว่าลูกศิษย์จะตกใจและเสียกำลังใจ ท่านพระอาจารย์มั่นก็กลับพูดให้กำลังใจในทันทีนั้นว่า “มันต้องอย่างนี้ซิ จึงเรียกว่า นักรบ” ท่านเคยเล่าถึงความมุ่งมั่นในการต่อสู้กับกิเลส เพื่อจะเอาแพ้เอาชนะกันว่า “ถ้ากิเลสไม่ตาย เราก็ต้องตาย จะให้อยู่เป็นสองระหว่างกิเลสกับเรานั้น ไม่ได้”

ปัญญาก้าวเดิน ด้วยความมุ่งมั่นจริงจังดังกล่าว ทำให้จิตใจของท่าน ได้หลักสมาธิแน่นหนามั่นคง ท่านทรงภาวะนี้นานถึง ๕ ปี ไม่ขยับก้าวหน้าต่อ ท่านพระอาจารย์มั่นจึงให้อุบายอย่างหนักเพื่อให้ออกพิจารณาทางด้านปัญญา ทั้งทางอสุภะ(ซากศพ) กระทั่งถึง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งส่วนหยาบ ส่วนกลาง และส่วนละเอียด จนสามารถรู้เรื่องรู้ราว ฆ่ากิเลสตัวนั้นได้ ตัดกิเลสตัวนี้ได้โดยลำดับ ๆ ในช่วงนี้ท่านมีความเพลิดเพลินในความเพียรเพื่อฆ่ากิเลส ชนิดเดินจงกรมไม่รู้จักหยุด ตั้งแต่เช้าหลังจังหันจนกระทั่งปัดกวาดในตอนบ่าย ไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย

สิ้น..อาจารย์ ท่านพระอาจารย์มั่นได้มรณภาพลง เมื่อ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๒ ณ วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร ยังความเศร้าสลดสังเวชใจแก่ท่านอย่างเต็มที่ ด้วยรู้สึกว่าหมดที่พึ่งทางใจแล้ว จากนั้นท่านพยายามปลีกตัวจากหมู่เพื่อน อยู่ป่าเขาตามลำพัง แต่มุ่งอยู่กับความเพียรตลอด สติแนบแน่นกับจิตเป็นอัตโนมัติด้วยภาวนามยปัญญา

ป่วย..แต่กาย คราวหนึ่งที่ท่านออกวิเวก ชาวบ้านป่วยเป็นโรคขัดหัวอก ล้มตายวันหนึ่ง ๆ จำนวนตั้งแต่ ๓-๘ คน เพราะหากใครเป็นโรคนี้แล้ว จะต้องตายภายใน ๒-๓ วันอย่างแน่นอน ท่านก็เมตตาสวด กุสลา มาติกา ให้คนตายที่ป่าช้า ชนิดไม่มีเวลาลุกไปไหน เพราะเดี๋ยวหามคนตายมาใหม่อีกแล้ว สักครู่ใหญ่ ก็หามมาใหม่อีกแล้ว กระทั่ง จู่ ๆ ท่านก็มาเป็นโรคเดียวกันนี้เข้าบ้าง ท่านจึงบอกชาวบ้านเพื่อขอหลบนั่งสมาธิภาวนา ต่อสู้กับทุกขเวทนาใหญ่นี้ด้วยธรรมโอสถ ด้วยการพิจารณาอริยสัจ ผลปรากฏว่าพิจารณาตก โรคหายเป็นปลิดทิ้งในเที่ยงคืนนั้นเอง

คืนแห่ง..ความสำเร็จ จากนั้นไม่นานท่านก็มุ่งสู่วัดดอยธรรมเจดีย์ (ปัจจุบันอยู่ อ.โคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร) เป็นช่วงพรรษาที่ ๑๖ ของท่าน บนเขาลูกนี้นี่เองของคืนเดือนดับแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ (จันทร์ ๑๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓) เวลา ๕ ทุ่มตรง ท่านได้บรรลุธรรมด้วยความอดทนพากเพียร พยายามอย่างสืบเนื่องตลอดมา นับแต่วันออกปฏิบัติกรรมฐานอย่างเต็มเหนี่ยวรวมเวลา ๙ ปี

คืนแห่งความสำเร็จระหว่างกิเลสกับธรรมภายในใจของท่านจึงตัดสินกันลงได้ ด้วยความประจักษ์ใจ หายสงสัยทุกสิ่งทุกอย่างเรื่องภพชาติ เรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตาย กิเลสตัณหา อาสวะทุกประเภทได้ขาดกระเด็นออกไปจากใจในคืนวันนั้นเอง

ยืนยัน…ชาตินี้ ชาติหน้า อดีตชาติ มีจริง สภาวะธรรมในใจของท่านขณะนั้น ท่านเคยเล่าให้พระภิกษุในวัดป่าบ้านตาดฟังว่า “เกิดความสลดสังเวชภพชาติแห่งความเป็นมาของตน และเกิดความอัศจรรย์ในพระพุทธเจ้า พระสาวกอรหันต์ที่ท่านหลุดพ้นไปแล้ว ท่านก็เคยเป็นมาอย่างนี้ เราก็เป็นมาอย่างนี้ แต่คราวนี้เป็นความอัศจรรย์ในวาระสุดท้าย ได้ทราบชัดเจนประจักษ์ใจ เพราะตัวพยานก็มีอยู่ภายในจิตนั้นแล้ว แต่ก่อนจิตเคยมีความเกี่ยวข้องพัวพันกับสิ่งใด บัดนี้ไม่มีสิ่งใดจะติดจะพัวพันอีกแล้ว…”

สงเคราะห์…พระเณร กิจสูงสุดในพระพุทธศาสนา ท่านสมบูรณ์แล้วเหมือนพระในครั้งพุทธกาลที่ออกบวชมุ่งปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น หลังจากนั้นท่านก็เมตตาสงเคราะห์โลก

เนื่องจากพระเณรหมู่เพื่อนเคยได้ยินท่านพระอาจารย์มั่นปรารภถึงท่านอยู่เนือง ๆ ว่า “ท่านมหาฯฉลาดทั้งภายนอกภายใน ต่อไปจะเป็นที่พึ่งแก่หมู่คณะได้มาก” ดังนั้น หลังพิธีศพท่านพระอาจารย์มั่นเสร็จสิ้นลง พระเณรหมู่คณะหลายสิบรูป จึงต่างพากันติดตามท่าน เพื่อหวังพึ่งพิงและขอรับคำแนะนำข้ออรรถธรรม และข้อวัตรปฏิบัติจากท่าน ท่านก็ให้การเมตตาอนุเคราะห์แต่นั้นมา จนทุกวันนี้

การเทศนาพระเณร-ฆราวาส ปรากฏออกมาเป็นเทป-หนังสือจำนวนมากโดยแจกเป็นธรรมทานตลอดมา ไม่มีการซื้อขายแต่อย่างใด เฉพาะหนังสือธรรมะภาษาไทยมีจำนวนกว่า ๑๐๒ เล่ม ภาษาอังกฤษกว่า ๘ เล่ม เทปเฉพาะที่มีการบันทึกการเทศนามีหลายพันกัณฑ์

ตอบแทนพระคุณ..มารดา ท่านแนะสอนธรรมะแก่โยมมารดา และให้บวชปฏิบัติธรรม ด้วยหวังอยากให้รู้เห็นและพบความสุขจากธรรมนี้บ้าง จึงจำเป็นต้องตั้งวัดป่าบ้านตาดขึ้นมา ท่านคอยเอาใจใส่ดูแลโยมมารดาทั้งทางด้านร่างกาย พวกปัจจัย ๔ อาหาร หยูกยา ปัจจัยใช้สอยทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งให้คำแนะนำทางด้านจิตใจด้วยจิตภาวนาอย่างจริงจัง ด้วยระลึกพระคุณ แม้โยมมารดาจะสิ้นไปแล้วก็ตาม ท่านก็ไม่เคยลืมทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ โดยทำบุญในวันคล้ายวันเสียชีวิตประจำทุกปีตลอดมา

ในวาระสุดท้ายก่อนหน้าโยมมารดาจะจากโลกไป ท่ามกลางทุกขเวทนากล้าที่พร้อมจะให้สิ้นชีวิตได้ทุกเมื่อ ท่านได้เข้าเยี่ยม และถามอาการ โยมมารดาตอบว่า “ร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วยก็จริง แต่ใจนั้นใสสว่างกระจ่างแจ้งอยู่ตลอดเวลา” จึงเป็นที่เชื่อแน่ได้ว่า โยมมารดาของท่านได้ทรงอริยธรรมขั้นใดขั้นหนึ่งอย่างแน่นอน นับว่าสมเจตนารมณ์ของท่านที่ได้ทดแทนพระคุณโยมมารดาอย่างเต็มที่

โปรด…ชาวอังกฤษ ฝรั่งชาวพุทธในอังกฤษ มีความสนใจต่อการปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมาก กราบขออาราธนานิมนต์ให้ท่านเมตตาเดินทางไปโปรด เพื่อบรรยายสอนธรรม ท่านก็เมตตาไปในช่วง ๗-๒๒ มิถุนายน ๒๕๑๗ โดยมีพระชาวอังกฤษและแคนาดา ที่จำพรรษาอยู่ ณ วัดป่าบ้านตาด ติดตามไปด้วย แม้ระยะต่อมาก็ประสงค์อยากกราบขอนิมนต์ท่านไปอีก แต่ด้วยปัญหาเรื่องสุขภาพและวัยชรา ท่านจึงงดเดินทางไปเทศนาตามสถานที่ต่าง ๆ ในต่างประเทศ

สงเคราะห์…โรงพยาบาล ด้วยเหตุที่ท่านเคยเห็นสภาพคนไข้ ที่ต่างรอความหวังจากหมอ ว่าเป็นสภาพที่น่าสงสารมาก เหมือนคนจนตรอกจนมุม เมื่อวิ่งมาหาหมอ หากไม่มีเครื่องมือที่ทันสมัยที่ดีพอ ก็ก้าวไม่ออกรักษาไม่ได้ และสภาพคนชนบทก็เป็นคนยากจนส่วนมาก การบำบัดรักษาถ้าพอเป็นไปได้ก็ควรให้การรักษาใกล้บ้าน จะได้ไม่ต้องสิ้นเปลืองเงินทองมากในการเดินทาง ตลอดสถานที่พักอาศัยการกินอยู่หลับนอน

ด้วยเหตุนี้ท่านจึงให้ความเอาใจใส่ต่อสถานพยาบาลต่าง ๆ ตลอดมาแบบเงียบๆ จนถึงขณะนี้ท่านได้สงเคราะห์ช่วยเหลือโรงพยาบาลในจังหวัดต่าง ๆ กว่า ๑๐๐ โรง โดยทั้งก่อสร้างตึกอาคารผู้ป่วย สงฆ์อาพาธ ห้องผู้ป่วย ห้องผ่าตัด ตั้งกองทุนศูนย์พิทักษ์ดวงตา กองทุนสงเคราะห์คนพิการ ซื้อที่ดิน บริจาครถยนต์พยาบาล และเครื่องมือต่าง ๆ เช่น เครื่องเอกซเรย์ อุลตร้าซาวด์ เครื่องตรวจคลื่นหัวใจ เครื่องช่วยชีวิตเด็ก ช่วยหายใจเด็กทารก เครื่องคลอด เตียงทำฟัน ฯลฯ รวมแบ่งเป็นประเภท ๆ ของรายการการสงเคราะห์ รวมแล้วกว่า ๕๐๐ รายการ

สงเคราะห์…หน่วยราชการ การช่วยเหลือหน่วยราชการ ท่านก็เมตตาให้ตามเหตุผลความจำเป็น ตัวอย่างหน่วยงานที่ท่านช่วยเหลือ เช่น กองกำกับการตำรวจตระเวณชายแดน ๒๔ ค่ายเสณีรณยุทธ์, ตำรวจทางหลวงจังหวัด, สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมือง, สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท, สถานีตำรวจภูธรกิ่งอำเภอภูพาน, สถานีตำรวจภูธรอำเภอน้ำหนาว, ตำรวจสันติบาลจังหวัด, เรือนจำจังหวัด, สถานีรถไฟจังหวัดอุดรธานี

สงเคราะห์…โรงเรียน ท่านเมตตาช่วยด้านอาคารเรียน วัสดุอุปกรณ์ต่าง สื่อการเรียนการสอน และอื่น ๆ ตัวอย่างโรงเรียน ได้แก่ ร.ร.สตรีราชินูทิศ ร.ร.บ้านตาด ร.ร.อุดรธรรมานุสรณ์ ร.ร.หนองแสงวิทยา ร.ร.บ้านดงเมือง ร.ร.บ้านหนองตุ เป็นต้น

สงเคราะห์…ผู้ด้อยโอกาส ตัวอย่างเช่น สถานสงเคราะห์เด็กพิการทางสมองและปัญญา ปากเกร็ด ท่านอนุเคราะห์ให้ตั้งกองทุนโดยนำดอกเบี้ยออกมาใช้จ้างพี่เลี้ยงจำนวน ๑๒ คน จ่ายเป็นรายเดือนเริ่มแต่ปี ๒๕๓๓ สถานสงเคราะห์อื่น ๆ เช่น บุคคลปัญญาอ่อนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, เด็กหญิงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ทัณฑสถานหญิง กรมราชทัณฑ์ บางเขน ท่านอนุเคราะห์ช่วยก่อสร้างเรือนนอน ๑ หลังมูลค่า ๓ ล้านกว่าบาท ตั้งกองทุนยารักษาโรค ๑ ล้านบาท และเคยช่วยเหลือจ่ายค่าจ้างเลี้ยงดูเด็กรายเดือนอยู่หลายปี (ตั้งแต่ปี ๒๕๓๗ ปัจจุบันไม่ได้ให้แล้ว)

สงเคราะห์…สัตว์ ท่านอนุเคราะห์สัตว์ป่าในวัดอย่างทั่วถึงตลอดมา โดยเข้มงวดกับพระเณรให้ดูแลเรื่องอาหาร(กล้วย ข้าวสาร) น้ำ ไม่ให้ขาดตกบกพร่องแก่สัตว์ เช่น ไก่ป่า กระรอก กระจ้อน กระแต กระต่าย ท่านว่าเรามีปากมีท้องมีหิว เขาก็เช่นกันกับเรา เราต้องเมตตาสงสารเขา เขาเกิดมาตามวิบากวาระแห่งกรรม เขาก็มีโอกาสเกิดเป็นมนุษย์เหมือนกับเรา เราเองก็มีโอกาสกระทำผิดพลาดกลายเป็นสัตว์แบบเขาได้ จึงไม่ควรประมาทกัน แต่ให้เห็นใจสงสารกัน ช่วยเหลือสงเคราะห์กันไป

บ้านสัตว์พิการ ซอยพระการุณย์ ปากเกร็ด เป็นสถานที่อาศัยของสัตว์พิการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สุนัข มีจำนวนมากหลายร้อยตัว อื่น ๆ เช่น แมว ไก่ เต่า นก ฯลฯ ท่านช่วยเหลือโดยซื้อที่ดิน ๒ งาน สร้างอาคาร ๓ ชั้นเป็นที่พัก และที่ทำการรักษาสัตว์ที่เจ็บป่วย เช่น สุนัขโดนรถชน เป็นต้น นอกจากนี้ท่านยังช่วยค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ และอื่น ๆ โดยให้เป็นรายเดือน ๆ ละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท ตั้งแต่ปี ๒๕๓๗ เป็นต้นมา และสถานที่อีกแห่งหนึ่งคือ บ้านสงเคราะห์สุนัข ถ.พุทธมณฑลสาย ๓ มีสุนัขกว่าสองร้อยตัว ท่านช่วยเหลือขยายที่ดินเพิ่มให้ ๒ แปลง และช่วยเหลือค่าอาหาร ยา และอื่น ๆ เป็นรายเดือน ๆ ละ ๓๐,๐๐๐ บาท

ช่วยชาติ นับแต่ท่านบำเพ็ญกิจของสมณเพศ อันเป็นกิจสำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนาเรียบร้อยลงแล้ว ท่านก็หันมาให้การสงเคราะห์ด้านธรรมะแก่พระเณร-ฆราวาสมาโดยตลอด ควบคู่ไปกับการบริจาคช่วยเหลือด้านวัตถุสิ่งของ ทั้งจตุปัจจัยไทยทาน แก่ประโยชน์ส่วนรวมตลอด ๔๐ กว่าปีนับแต่ตั้งวัดป่าบ้านตาดขึ้นในปี ๒๔๙๘ ท่านเคยเล่าว่าหากจะนับเป็นมูลค่าน่าจะเป็นหมื่นล้านบาทขึ้นไป เพราะมีเท่าไรไม่เคยเก็บสั่งสมไว้ หากจะนำมาใช้จ่ายในวัดก็เพียงเล็กน้อยตามจำเป็นจริง ๆ เพราะไม่มีกิจการงานก่อสร้างอื่นใด มุ่งเน้นแต่งานด้านจิตภาวนามาโดยตลอด มีการเดินจงกรมนั่งสมาธิเป็นหัวใจสำคัญ สำหรับปัจจัยไทยทานส่วนใหญ่ จึงมุ่งออกช่วยเหลือโลกตลอดมา

ในยามปกติ ท่านก็ให้ความเมตตาสงเคราะห์สังคมชาติบ้านเมือง อยู่อย่างเต็มที่จริงจัง ดังกล่าวข้างต้นโดยย่อเป็นปกติอยู่แล้ว เมื่อถึงยามนี้ เกิดปัญหาหลายด้านหลายทาง ท่านจึงปรารภขึ้นอย่างจริงจังที่จะช่วยชาติไทย โดยช่วยเหลือด้านวัตถุเงินทองอุดหนุนชาติ ให้มีความแน่นหนามั่นคง ท่านว่าแม้การเสียสละช่วยเหลือดังกล่าว จะเป็นการช่วยเหลือปลายเหตุก็ตาม แต่ก็มีความจำเป็น เพราะขณะนี้สมบัติรวมของชาติยังขาดตกบกพร่องอยู่ จึงต้องร่วมไม้ร่วมมือกัน ต่างเสียสละช่วยกันอุดหนุนครั้งแล้วครั้งเล่า จนกระทั่งอิ่มพอ เหมือนเรารับประทานอาหาร หากยังไม่อิ่มก็เติมเข้าเรื่อย ช้อนเล็กบ้างใหญ่บ้าง ตักเติมเข้าปากจนอิ่ม การเสียสละมากบ้างน้อยบ้างก็เช่นกัน ต่างมีความจำเป็นต้องช่วยกันครั้งแล้วครั้งเล่า ความสามัคคีกัน ร่วมมือและเสียสละเช่นนี้ ยังเป็นคติตัวอย่างอันดีแก่เด็กและกุลบุตรสุดท้ายภายหลัง ให้ได้รับเครื่องฝังใจที่ดี ให้รู้จักมีแก่จิตแก่ใจเสียสละซึ่งกันและกัน ไม่เพิกเฉยท้อถอยง่าย ๆ ต่อปัญหาใด ๆ แต่กลับให้มีใจเป็นนักต่อสู้ ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค เด็กเหล่านี้จะเห็นตัวอย่างนี้ จากพ่อแม่พี่น้องปู่ย่าตายายในคราวเสียสละครั้งนี้เอง

ท่านกล่าวถึงพระเณรควรแสดงน้ำใจ ออกมาช่วยชาติด้วยเหตุว่า พ่อแม่ของพระสงฆ์อยู่ตามป่าตามเขาบ้าง ในเมืองบ้าง อยู่ทั่วประเทศไทย เวลานี้กำลังตกทุกข์ได้ยากลำบาก ลูกสงฆ์คือลูกมีพ่อมีแม่ ย่อมควรมีเมตตาสงสารพ่อแม่ ด้วยการออกมาช่วยพ่อแม่ของสงฆ์ซึ่งอยู่ในชาติ เมื่อพ่อแม่กำลังตกทุกข์ได้ยากลำบากเข็ญใจ ลูกสงฆ์ทำไมถึงจะใจดำน้ำขุ่นช่วยพ่อช่วยแม่ไม่ได้ การช่วยแม้ไม่มากก็น้อย ควรรู้จักช่วยตามกำลังของตนถึงจะถูก ถึงจะสมกับเป็นลูกศิษย์พระตถาคต ที่มีพระเมตตามหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่แก่โลก ดังคำว่า มหาการุณิโก นาโถ หิตายะ สัพพะปาณินัง

ท่านกล่าวว่าการช่วยชาติที่แท้จริง ให้ต่างหันมาแก้ไขที่ต้นเหตุ คือ การทรงมรดกธรรมของพระพุทธศาสนา เอาศีลเอาธรรม ความประพฤติดีงาม ด้วยเหตุผลหลักเกณฑ์เข้ามาอุดหนุนจิตใจ จนมีหลักประกันภายในใจ เรียกว่า มีหลักใจ โดยหันกลับมาปรับปรุงตัวเราแต่ละคน ๆ ให้มีความประหยัด ไม่ลืมเนื้อลืมตัว ไม่ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม ด้วยการอยู่การกินการใช้การสอยการไปการมา โดยให้ดูแบบของพระผู้มีหลักเกณฑ์ภายในใจ เป็นแบบอย่างของความประหยัด ของผู้มีหลักเกณฑ์เหตุผล ให้มีธรรมคอยเหนี่ยวรั้งไว้ในใจไม่ให้ถูกลากจูงด้วยกิเลสตัณหาราคะ ด้วยความโลภโมโทสัน จนเลยเขตเลยแดน เหมือนรถที่มีแต่เหยียบคันเร่ง ไม่เหยียบเบรก ย่อมเป็นภัยอันตรายร้ายแรงต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ในที่สุด หากต่างมีการหันมาอุดหนุนทั้งทางด้านหลักทรัพย์ และหลักใจควบคู่กันไป ปัญหาต่าง ๆ ของชาติย่อมทุเลาเบาบางลงเป็นลำดับ ๆ ไป

. . . . . . .