ขี่อาชาบิณฑบาต “ครูบาเหนือชัย” นักบุญแห่งขุนเขา
ทริปเดินทางครั้งนี้เริ่มขึ้นพร้อมหน้าพร้อมตากับก๊วนเพื่อนสนิท พวกเรามุ่งหน้าขึ้นเหนือเพื่อไปทำบุญไหว้พระ และสักการะพระธาตุประจำปีเกิดของแต่ละคน ไล่ไปตั้งแต่จังหวัดแพร่ เชียงใหม่ น่าน จนถึงเชียงราย
จุดที่ดึงให้ทุกคนใจจดจ่อกับการทำบุญตักบาตร คือ สำนักปฏิบัติธรรมถ้ำป่าอาชาทอง ที่ ต.ศรีค้ำ อ.แม่จัน จ.เชียงราย หรือรู้จักกันทั่วไปในชื่อ “วัดพระขี่ม้า” Unseen ของเมืองไทย ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยภูมิใจนำเสนอให้รู้จักกันไปทั่วโลก
ที่นั่น พระ เณร ต้องขี่ม้าออกจากถ้ำมาบิณฑบาตในรัศมี 5 กิโลเมตร ตะลอนไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ กินพื้นที่ถึง 50,000 ไร่ ในตำบลศรีค้ำและใกล้เคียง
ข้าวปลาอาหารที่ได้รับมานั้น หากมีเหลือเฟือเกินพอกินอิ่ม พระ เณร จะนำไปแจกให้เด็กชาวเขา ชาวดอยที่ยากจนอย่างทั่วถึง โดยมีม้าเป็นพาหนะนำของไปแจกตามหมู่บ้านต่าง ๆ ด้วยตัวเอง ซึ่งมีชาวเขาทั้งเผ่าลาหู่ อาข่า ไทยใหญ่ ลีซู และจีนฮ่ออิสระ ซึ่งแต่เดิมพื้นที่นี้เคยเป็นเส้นทางลำเลียงขนยาเสพติดของขุนส่า
เล่ากันว่าในอดีตที่ผ่านมา สมัยที่ไทยต้องประสบปัญหายาเสพติดแพร่ระบาดเข้ามาในเขตไทย ตามรอยตะเข็บชายแดนถูกใช้เป็นเส้นทางในการลำเลียงขนยาเสพติด
ครูบาเหนือชัย โฆสิโต จึงได้สร้างสำนักสงฆ์ขึ้นอยู่บนยอดเขาแห่งนี้ นับเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ดีมาก สามารถมองเห็นการขนถ่ายลำเลียงยาเสพติดได้อย่างชัดเจน กระทั่ง “ขุนส่า” เจ้าพ่อยาเสพติดต้องการซื้อพื้นที่สำนักสงฆ์แห่งนี้ แต่ครูบาเหนือชัยได้ปฏิเสธ
ในครั้งนี้พวกเราถึงถือโอกาสเดินทางไปแจกผ้าห่มร่วมกับครูบาเหนือชัย ใน โครงการมอบไออุ่นแห่งขุนเขา ให้แก่ชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ที่บ้านเล่าลิ่ว และบ้านห้วยหยวกป่าโซ ต.แม่สลอง อ.แม่ฟ้าหลวง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ครูบาเหนือชัยได้ไปสร้างสาขาสำนักสงฆ์ไว้หลายแห่ง
ด้วยความอนุเคราะห์ของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ของสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านห้วยหยวกป่าโซ ซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนพม่าเพียง 7 กิโลเมตรเท่านั้น
ประกายความสุขฉายทับบนใบหน้าของเด็ก ๆ และชาวเขาที่ได้รับของแจก แม้จะเป็นของเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่นั่นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับพวกเขา
หากใครอยากร่วมทำบุญกับชาวเขา สามารถร่วมกิจกรรมกับท่านครูบาเหนือชัยได้ที่สำนักปฏิบัติธรรมถ้ำป่าอาชาทอง
โดยมีพระครูบาเหนือชัยผู้เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้าน และชาวเขา อ.แม่จัน แม่ฟ้าหลวง จนได้สมญานาม “นักบุญแห่งขุนเขา” ถือเป็นพระนักปฏิบัติ เพราะชอบช่วยเหลือชาวเขาและเด็ก ๆ ที่ยากจน โดยจะใช้เวลาช่วงหนึ่งของทุกปี เข้าไปอยู่ในถ้ำอาชาทอง เพื่อปฏิบัติทำสมาธิ
นอกเหนือจากวัตรปฏิบัติที่ชาวบ้านศรัทธาเลื่อมใสแล้ว ยังให้ความช่วยเหลือแก่ชาวเขาเกือบจะทุกด้าน โดยอาศัยคำสอนของพุทธศาสนาเป็นแนวทาง ทั้งยังสร้างโรงเรียนสอนเด็ก ๆ ให้เขียน อ่าน พูด ภาษาไทย
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1367423287