ประวัติและอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน จ.พิจิตร ตอนที่ 1

ประวัติและอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน จ.พิจิตร ตอนที่ 1

ประวัติและอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของพระเกจิอาจารย์ชื่อดังของจังหวัดพิจิตรกันบ้างนะครับ ซึ่งพระเกจิอาจารย์ท่านนั้นก็คือ หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน จังหวัดพิจิตร นั้นเองครับ
ซึ่งจากคำบอกเล่า บอกต่อๆกันมานั้น หลวงพ่อเงิน พุทธโชติ มีนามเดิมว่า “เงิน” เกิดในวันศุกร์ เดือน 10 ปีฉลู หรือตรงกับวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2353 แต่บ้างก็บอกว่าเกิดในปี พ.ศ.2360 โดยโยมบิดา ของท่านชื่อ อู๋ โยมมารดาชื่อ ฟัก มีพี่น้องรวมกันทั้งหลวงพ่อเงินด้วยแล้ว มีจำนวนด้วยกัน 6 คน ได้แก่
1. นายพรม 2. นางทับ 3. นายทอง (ภายหลังได้พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็นท่านขุนภุมรา) 4. ชื่อเงิน ก็คือหลวงพ่อเงิน นั้นเอง 5. นายหล่ำ 6. นางรอด
โดยทุกท่านที่กล่าวมานี้ ล้วนถือกำเนิดที่บ้านบางคลานทุกท่าน เป็นเลือดเนื้อชาวพิจิตร “เมืองชาละวัน”
เมื่อหลวงพ่อเงินเจริญวัยได้เพียง สามขวบเท่านั้นนายช่วงผู้เป็นลุง ก็นำหลวงพ่อเข้ามาเลี้ยง และได้ส่งหลวงพ่อให้ได้เล่าเรียนวัดตองปุ หรือวัดชนะสงครามใน กทม. นี่เอง จนหลวงพ่อท่านมีอายุได้ สิบสองปี นายช่วงผู้เป็นลุงจึงให้หลวงพ่อได้บรรพชาเป็นสามเณรองค์น้อยๆ ได้ร่ำเรียนทั้งทางคาถาอาคมต่างๆ และด้านพระธรรมวินัยจนแตกฉานเก่งกล้าสามารถเกินผู้ที่อยู่ในวัยเดียวกันและเมื่ออายุใกล้จะ อุปสมบทหลวงพ่อเงินก็สึก และได้อยู่กับพี่ชาย และพี่สะใภ้ของท่าน

ส่วนในด้านความรักแรกเริ่ม ของหนุ่มสาวสมัยนั้นหาเวลาพบกันยากเหลือเกิน ต้องคอยนั่งนับวันนับคืน ที่หมุนเวียนผ่านไป รอว่า เมื่อไหร่จะถึงวันพระ 8 ค่ำ หรือ 15 ค่ำ จึงจะได้ไปทำบุญ ฝ่ายสาวก็จะ ช่วยกันจัดสำรับกับข้าว คาวหวานไปทำบุญที่วัดในละแวกบ้าน กับพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ฝ่ายชายหนุ่ม ก็เช่นเดียวกัน จึงมีโอกาสได้ปรายสายตาส่งยิ้มหวานๆ จนถึงขั้นเจรจาพาทีกัน พ้นช่วงยากเย็น เหลือประมาณ
หลวงพ่อเงิน ท่านก็เช่นเดียวกัน กว่าจะได้มีโอกาสนำความมาปรึกษา กับญาติผู้ใหญ่ได้ถึงเรื่องการไปสู่ขอ “สาวเงิน” คนนั้นก็ต้องใช้เวลาพอสมควรทีเดียว จะมีความสุข หรือจะวุ่นวายมีอแต่ความทุกข์ หรือจะทำประการใดท่านมองคู่นั้น ท่านถามคู่นี้ แม้แต่พวกพี่ๆน้องๆของท่าน มันเป็นคำถามที่แสนจะสับสนในหัวใจชายหนุ่ม และคำตอบที่ได้มา ก็น่าจะนำมาครุ่นคิดยิ่งนัก ไม่รู้จะทำประการใดดี
มีคำตอบอยู่ประโยคหนึ่ง จากปากพี่สะใภ้ของท่าน หลังจากที่ท่านได้พูดคุย-ถาม ถึงทุกข์สุขในชีวิตการครองเรือนแล้ว “ชาตินี้นะ อย่าแต่งงานเลย” ความสงสัยของท่านจึงรีบถามขึ้นทันทีว่า ทำไมละพี่ พี่สะใภ้จึงบอกว่า “ถ้าบวชได้ประเสริฐกว่า” หลวงพ่อท่านจึงเก็บมาคิด” ชาตินี้นะอย่าแต่งงานเลยถ้าบวชได้ประเสริฐกว่า “เหมือนเป็น “สร้อยวลีจากสรวงสวรรค์” ที่มีพลังฉุดหัวใจของหลวงพ่อให้บ่ายหน้าเข้าสู่ ร่มกาสาวพัสตร์ในทันที
จากนั้นมา พระพุทธศาสนาก็มีพระภิกษุหนุ่มอุบัติขึ้นมาอีกหนึ่งองค์ ได้รับฉายาว่า พุทธโชติ” ณ พัทธสีมาวัดตองปุ หรือวัดชนะสงคราม ท่านได้จำพรรษาอยู่วัดนี้เพียง สามพรรษาเท่านั้น ไม่ทราบว่า อาจารย์ของท่านคือใคร ทั้งอุปัชฌาย์และคู่สวด สืบสาวราวเรื่องดูแล้ว ไม่มีบันทึกไว้ ณ ที่ใดเลย
ต่อมาไม่นาน พี่ชายของท่านก็มาส่งข่าวว่า โยมปู่ของท่านได้ล้มป่วยลง มีอาการเป็นที่น่าวิตก อาจจะไม่รอดก็ได้หลวงพ่อจึงต้องออกจากวัดตองปุ โดยที่ท่านจำพรรษาอยู่เพียง 3 พรรษาเท่านั้น เมื่อท่าน เดินทางกลับมาพิจิตร ก็พักจำพรรษาอยู่วัดบางคลานใต้ ซึ่งอยู่ใกล้บ้านของท่านนั้นเอง โดยต่อมาวัดนี้ได้มีชื่อใหม่ว่า “วัดคงคาราม” มีเจ้าอาวาสชื่อ หลวงพ่อโห้ ซึ่งเป็นอาจารย์ท่านหนึ่ง ที่นิยมการเล่นแร่แปรธาตุ ซึ่งคนสมัยก่อนถือเป็นวิชาแขนงหนึ่งที่พยายามนำส่วนผสมของโลหะต่างๆ เอามารวมกีบสมุรไพรบ้าง รวมกับว่านบ้างแล้วหลอมให้ละลาย เพื่อให้โลหะเช่นตะกั่วหรือดีบุกนั้นกลายเป็นทองคำบริสุทธิ์
เหตุที่หลวงพ่อเงินท่านมาจำพรรษา อยู่วัดคงคาราม เพราะว่าเป็นการสะดวกสบายต่อการไปมาหาสู่ของญาติโยมท่านเอง แต่แล้ว ท่านก็อยู่จำพรรษาได้เพียง หนึ่งพรรษาเท่านั้นที่วัดคงคารามแห่งนี้ อาจจะเนื่องมาจากสาเหตุที่หลวงพ่อท่านไม่มีความสงบ เพราะสงบ เพราะหลวงพ่อโห้ ท่านเป็นนักแหล่ นักเทศน์ ทำยองเสนาะ จึงต้องซ้อมลูกคอบ้าง ทำนองหางเสียงบ้าง และซ้อมทั้งเช้าทั้งเย็น ซึ่งผิดกับวัตร ปฎิบัติของหลวงพ่อเงินที่ท่านชอบความสงบวิเวก นั่งสมาธิ เดินจงกรมตั้งแต่สมัยเมื่อครั้งที่บวชเป็นสามเณรอยู่ที่วัดตองปุในกทม. หลวงพ่อเงินจึงจำเป็นต้องย้ายจากวัดคงคารามไปอยู่ที่วัด “วังตะโก” ซึ่งภูมิลำเนาของวัดวังตะโกแห่งนี้อยู่ลึกเลยเข้าไปทางลำน้ำน่านสายเก่าแต่เดิมมา
คำพูดของหลวงพ่อเงินประโยคหนึ่งที่ว่า “ชาติเสือต้องไม่ขอเนื้อใครกิน” ท่านมักจะพูดอยู่เสมอกับญาติโยมที่ไปเยี่ยมเยียนสนทนาอยู่กับท่าน มีผู้คนมากมาย ที่มุ่งมากราบนมัสการท่าน โดยเฉพาะน้ำมนต์ มีผู้คนจากทุกสารทิศมาให้ท่านรดให้เพื่อล้างมนทิน และสร้างความเป็นสิริมงคลดียิ่งนัก ทุกวันหลวงพ่อต้องทำน้ำมนต์รดให้กับผู้มาหาท่านด้วยความทุกข์ร้อน และก็ศักดิ์สิทธิ์จนโด่งดังไปทั่วเมืองพิจิตร และจังหวัดใกล้ไกลจนทุกวันมิได้ขาดหรือว่างเว้น
เมื่อวันที่หลวงพ่อย้ายจากวัดบางคลานใต้ หรือวัดคงคารามนั้น หลวงพ่อได้หักกิ่งโพธิ์มาด้วย หนึ่งกิ่ง และนำไปปักลงที่ชายน้ำ โดยได้อธิษฐานไว้ขณะนั้นว่า “ถ้าเจริญรุ่งเรืองแผ่ไพศาล ก็ขอให้ต้นโพธิ์ นี้เจริญงอกงามยิ่งๆ ขึ้นไปด้วยเถิด” และก็สมจริงดังคำอธิษฐานของท่านต้นโพธิ์ที่ท่านปลูกก็เจริญงอกงามเหลือเกิน จนชื่อเสียงของท่านขจรขจายไปไกลแสนไกล ลูกศิษย์ลูกหาก็มาก ต่างแวะเวียนกันมาหาหลวงพ่อ มิได้ขาด บ้างก็มาให้ท่านรดน้ำมนต์ บ้างก็มาขอวัตถุมงคลจากท่าน เมื่อท่านเอ่ยปากจะก่อสร้างอะไรเป็นต้องได้ดังใจคิด เพราะญาติโยมได้ร่วมแรงร่วมใจกัน ช่วยเหลือหลวงพ่อเงินทุกสิ่งทุกอย่าง
บางท่านกล่าวว่า ไม่รู้เรียกหลวงพ่อเงิน วัดบางคลานได้อย่างไร แต่สันนิษฐานว่า คงจะเป็นระยะเวลาที่หลวงพ่อเงินกำลังโด่งดังมากในช่วงสุดท้ายของชีวิตท่าน และคงจะมีวัตถุมงคลออกมามาก มีผู้ไปขอ ของดีๆจากท่าน แม้แต่พ่อค้าชาวจีนที่ตลาดสำเพ็งก็ยังดั้นด้นไปขอของดีๆ จากท่าน โดยเฉพาะพระเครื่องพิมพ์ดังๆของท่าน ก็ได้รับมาจากมือของหลวงพ่อเงินกันมากมายหลายคน
ถึงแม้หลวงพ่อเงินจะย้ายออกจากวัดท้ายน้ำกลับไปอยู่ที่วัดวังตะโก หรือวัดบางคลานแล้ว ท่านก็ยังเอาใจใส่กลับมาช่วยบูรณะปฏิสังขรมิได้ทอดทิ้งเสียเลย และวัดคงคารามเมื่อหลวงพ่อโห้ได้มรณภาพไปแล้ว ท่านก็ยังกลับไปช่วยสร้างศาลาและบูรณะปฏิสังขรสิ่งก่อสร้างต่างๆ ให้อีกมากมาย ทั้งๆที่การเดินทางไปมาหาสู่กันของวัดท้ายน้ำและวัดคงคารามในสมัยก่อนนั้นยากลำบากอย่างที่สุด
การอยู่ยงคงกระพัน แรกเริ่มของหลวงพ่อเงิน ท่านพระครูวิจิตรวุฒิกร เจ้าอาวาสวัดท้ายน้ำ องค์ก่อนได้รับการบอกเล่ามาจากญาติโยมอีกต่อหนึ่งว่า มีอยู่ช่วงระยะหนึ่ง หลวงพ่อเคยขัดใจกับพี่ชายของท่านคือ (ท่านขุนภุมรา) หรือตาทอง เชี่ยวชาญทางด้านรักษาโรคภัยแผนโบราณมาก ชาวบ้านย่านละแวกบ้านของแก ใครเป็นอะไรก็จะต้องมาให้แกเยียวยารักษาให้ทุกบ้าน
แต่ว่าตาทองแกชอบดื่มสุรามากทุกวันไม่ว่างเว้น วันหนึ่งควายของหลวงพ่อเกิดการขัดใจกับควายตาทองผู้พี่ จึงขวิดกันกลางลานวัดเลยทีเดียว ขวิดกันอยู่นานมาก ในที่สุด ควายของตาทองเกิดแพ้ ออกวิ่งหนีมีเลือดออกตามบาดแผลมาก ส่วนควายของหลวงพ่อเงินไม่มีบาดแผลเลย ตาทองจึงโมโหควายของหลวงพ่อเงินมาก ครั้นพอตกเย็น ตาทองก็ดื่มเหล้า เมาได้ที่ก็ข้ามฟากไปหาหลวงพ่อ ตะโกนลั่นๆว่า “ท่านเงินเจาว่าท่านนักหรือไง” หลวงพ่อเห็นพี่ชายเมามาก จึงพูดไปเพื่อให้ใจของพี่ชายเย็นๆไว้บ้างว่า “ข้าจะเก่งอย่างไรของข้าเป็นสงฆ์” ฝ่ายตาทองจึงพูดต่อตามประสาคนขี้เมาอีกว่า “เขาลือว่าท่านเก่ง ยิ่งเรื่องยิง ฟันท่านแน่นักหรือ” หลวงพ่อเงินจึงตอบออกไปว่า “ข้าไม่มีดีอะไรหรอก” จากนั้นด้วยฤทธิ์สุราเต็มพิกัดของตาทองผู้พี่ จึงข้ามฟากกลับบ้านไปสักครู่ด้วยความเจ็บใจที่ควายตัวเองพ่ายแพ้ แต่ตาทองไม่ยอมแก้จึง แบกปืนแก๊ป ข้ามฟากมาหาหลวงพ่อใหม่อีกครั้งหนึ่ง เพื่อจะทดลองดูว่า หลวงพ่อจะแน่แค่ไหน
ส่วนทางด้านหลวงพ่อก็แน่เหมือนกันว่า “ข้าอยู่นี่ไง โนมพี่เลือกยิงเอาให้เหมาะๆก็แล้วกัน” ฝ่านตาทองไม่รอช้ายกปืนขึ้นเล็งไปยังร่างของหลวงพ่อทันที เสียงนกปืนสับดัง “แชะ แชะ” อยู่สามถึงสี่ครั้ง ปรากฎว่าไม่มีเสียงดังเลยจึงเอาปืนลง ปรากฎมีน้ำไหลโกรกออกจากปากกระบอกปืนของตาทอง หลวงพ่อเงินจึงดุสำทับไปว่า “ถ้าไม่ใช่พี่ชายข้าจะตีเข้าให้บ้าง” จากนั้นตาทองจึงก้มหน้าเดินงุดๆกลับบ้านของแก
เหตุการณ์ในครั้งนี้ เป็นที่โจษจันกันไปทุกตำบล ถึงความเข้มขลังในอาคมของหลวงพ่อต่างก็มาขอเครื่องรางของขลังกันไม่เว้นวันเลยทีเดียว
โดยตาทองผู้นี้ เป็นพี่ชายของหลวงพ่อเงินคนที่สาม แกเป็นนายกองส่วยรัชชูปการ มีความรู้ทางด้านหมอแผนโบราณมากในสมัยนั้น จากการที่แกได้รับหน้าที่ให้เก็บส่วยน้ำผึ้ง จึงได้บรรดาศักดิ์เป็น “ท่านขุนภุมรา” จากเหตุการณ์ที่แกใช้อาวุธปืนข้ามน้ำไปยิงหลวงพ่อได้ ทั้งๆที่หลวงพ่อท่านเป็นน้องชาย อีกทั้งยังครองผ้าเหลืองเป็นพระสงฆ์อยู่ทั้งองค์ยังกล้าทำได้ลงคอขนาดนั้น ทำให้หลวงพ่อท่านไม่อยากจะ ไปอาลัยใยดีอะไรด้วย
ต่อมา เมื่อตาทองได้สิ้นชีวิตลง หลวงพ่อเงินท่านก็ไม่ยอมไปในงานศพเลย ในฐานะเป็นพี่ชายของท่าน จึงให้ลูกศิษย์คนหนึ่งนำผ้าไตรไปช่วยในงานศพนั้นด้วย ส่วนท่านนั้นเด็ดเดียวขนาดไม่ยอมไป เผาผีกันเลย
ช่างภาพถ่ายภาพหลวงพ่อไม่ติด โดยมีผู้ประสงค์อยากจะได้ภาพถ่ายของหลวงพ่อเงินเพื่อไว้สักการะบูชา จะได้เป็นสิริมงคลแก่ตนเอง และครอบครัว มาจากกรุงเทพฯ แต่เป็นชาวอินเดียไปขอถ่ายภาพ จากหลวงพ่อแต่การที่ทำการถ่ายครั้งแรกนั้น ภาพไม่ติด เพราะกระจกแตก ช่างภาพนึกเอะใจในสิ่งอัศจรรย์ เมื่อแก้ไขได้ที่แล้วก็ขอหลวงพ่อถ่ายใหม่อีกครั้ง การถ่ายครั้งนี้ปรากฎว่าภาพของหลวงพ่อติดเพียงซีกเดียว เท่านั้นช่วงภาพพยายามจะถ่ายให้ได้อีก แต่ก็มืดเสียก่อน จึงต้องนอนค้างที่วัดวังตะโกนั้นเสียหนึ่งคืน
จนรุ่งเช้า หลวงพ่อจึงได้ให้ช่างถ่ายภาพถ่ายใหม่อีก เป็นครั้งที่สาม รูปของหลวงพ่อจึงได้ติดชัดได้ในครั้งนี้ สร้างความอัศจรรย์ให้ช่างภาพชาวอินเดียเป็นยิ่งนัก

อ้างอิงแหล่งข้อมูล : สำนักพิมพ์วิศรุต, นิตยสารเตโชทิพย์
Web Site เพื่อนบ้าน : รับสอนดนตรีตามบ้าน,รับสอนดนตรี,รับสอนขิม,รับสอนดนตรีไทย,รับสอนไวโอลิน,รับสอนดนตรีบำบัดในเด็กและผู้สูงอายุ,รับสอนดนตรีเด็กเล็ก

http://www.prayotniyom.com/

. . . . . . .