หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ถือกำเนิดในสกุล วรรณวงศ์ เมื่อวันอาทิตย์ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 9 ปีกุน ตรงกับวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ.2442ที่บ้านม่วงไข่ ตำบลพรรณา อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร บิดาของท่านคือ เจ้าไชยกุมาร (เม้า) ซึ่งเป็นหลานของพระเสนาณรงค์ เจ้าเมืองพรรณานิคมมารดาชื่อ นุ้ย เป็นบุตรีของหลวงประชานุรักษ์จะเห็นได้ว่าเชื้อสายของท่านเป็นขุนนางทั้งฝ่ายบิดาและมารดา เป็นเชื้อสายขุนนางเก่าแก่ของหมู่ชน ที่เรียกว่า ผู้ไทยซึ่งอพยพมาจากประเทศลาว ในสมัยราชการที่สาม แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
พระอาจารย์ฝั้นเคยเล่าว่า บรรพบุรุษของท่าน ได้ข้ามมาแต่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง เป็นครอบครัวใหญ่ เรียกว่า ไทยวัง หรือ ไทยเมืองวัง (ซึ่งเป็นเมืองหนึ่ง อยู่ในเขตมหาชัย ของ ประเทศลาว)บิดาของท่านพระอาจารย์ เป็นคนที่มีความเมตตาอารีใจคอกว้างขวาง เยือกเย็นเป็นที่นับหน้าถือตา จึงได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านม่วงไข่ต่อมาบิดาของท่านได้อพยพพร้อมกับครอบครัวอื่นๆ อีกหลายครอบครัวไปตั้งหมู่บ้านใหม่ ในที่อุดมสมบูรณ์กว่าเดิม เพราะเป็นพื้นที่ ที่มีลำห้วยอูน ผ่านทางทิศใต้และลำห้วยปลาหาง อยู่ทางทิศเหนือ เหมาะแก่การทำนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์ และ เลี้ยงไหมตั้งชื่อว่า บ้านบะทอง โดยบิดาของท่านเป็นผู้ใหญ่บ้านต่อไป
เมื่อครั้งยังอยู่ในวัยเยาว์ พระอาจารย์มีความประพฤติเรียบร้อยนิสัยใจคอเยือกเย็น อ่อนโยน โอบอ้อมอารี กว้างขวาง เช่นเดียวกับบิดาของท่าน ทั้งยังมีความขยันหมั่นเพียร อดทนต่ออุปสรรค หนักเอาเบาสู้ ช่วยเหลือกิจการงานของบิดาและญาติพี่น้อง โดยไม่เห็นแก่ความลำบากยากเย็นใดๆ ทั้งสิ้น
ด้านการศึกษา พระอาจารย์ฝั้น ได้เริ่มเรียนหนังสือที่วัดบ้านม่วงไข่ (วัดโพธิ์ชัย)สอนโดย ครูหุน ทองคำ และครูตัน วุฒิสาร ตามลำดับพระอาจารย์ เมื่อครั้งนั้น เป็นผู้มีความขยันหมั่นเพียรในการศึกษาเป็นอันมากสามารถเขียนอ่านได้รวดเร็วกว่าเด็กอื่นๆ ถึงขนาดได้รับความไว้วางใจจากครู ให้สอนเด็กอื่นๆแทน ในขณะที่ครูมีกิจจำเป็น พระอาจารย์ฝั้น เคยคิดจะเข้ารับราชการ จึงได้ตามไปอยู่กับ นายเขียน อุปพงศ์ ผู้เป็นพี่เขย ซึ่งเป็นปลัดเมื่องฝ่ายขวา ที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อศึกษาเล่าเรียนต่อไปในชั้นสูงในช่วงนี้ ท่านได้พิจารณาเห็นความยุ่งเหยิง ไม่แน่นอนของชีวิตคฤหัสถ์ ได้เห็นการปราบปรามผู้ร้าย มีการฆ่าฟันกัน มีการประหารชีวิตครั้งนั้น พี่เขยได้ใช้ให้เอาปิ่นโตไปส่งนักโทษอยู่เสมอ ท่านได้เห็นนักโทษหลายคน แม้เคยเป็นใหญ่เป็นโต เช่น พระยาณรงค์ฯ เจ้าเมืองขอนแก่น ต้องโทษฐานฆ่าคน นายวีระพงศ์ ปลัดซ้าย ก็ถูกจำคุก แม้แต่นายเขียน พี่เขยของท่านเมื่อย้ายไปเป็นปลัดขวา อำเภอกุดป่อง จังหวัดเลย ก็ต้องโทษฆ่าคนตายเช่นกัน
สภาพของนักโทษ ที่ท่านประสบมา มีทั้งหนักและโทษเบานับได้ว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ท่านรู้จักปลง และประจักษ์ถึงความไม่แน่นอนของชีวิตท่านได้สติ บังเกิดความเบื่อหน่ายในทางโลก จึงเลิกคิดที่จะรับราชการ และตัดสินใจบวชเพื่อสร้างสมบุญบารมีทางพระพุทธศาสนาต่อไป ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา ชีวิตสมณะของพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. 2461 เมื่อท่านอายุได้ 19 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดโพธิ์ทอง บ้านบะทอง อำเภอพรรณานิคมและในปี พ.ศ. 2462
ถัดมา ท่านได้อุปสมบทเป็นภิกษุฝ่ายมหานิกายที่วัดสิทธิบังคม ตำบลบ้านไร่ อำเภอพรรณานิคมมีพระครูป้อง นนทะเสน เป็นพระอุปัชฌาย์มีพระอาจารย์นวล และ พระอาจารย์สังข์ เป็นพระกรรมวาจารย์ และ พระอนุสาวนาจารย์ หลังจากออกพรรษาปีนั้น ท่านได้ไปอยู่ที่วัดโพธิ์ทอง บ้านบะทองจึงได้ปฏิบัติธรรม อบรมกัมมัฏฐาน ตลอดจนการออกธุดงค์ อยู่รุกขมูล กับท่านอาจารย์อาญาครูธรรม
ปีถัดมา 2463 ท่านได้พบ พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโตจึงได้เที่ยวธุดงค์ มาพร้อมด้วยสามเณรหลายรูป และพักที่ป่าช้าข้างบ้านม่วงไข่ (ปัจจุบันเป็นวัดภูไทสามัคคี) เมื่อได้ฟังธรรมจากพระอาจารย์มั่น ท่านบังเอิญเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในสติปัญญา ควาสามารถ ของ พระอาจารย์มั่น จึงมอบตัวเป็นศิษย์ พร้อนท่านอาญาครูดี และพระครูกู่ ธมฺมทินฺโนเนื่องจากทั้งสามท่าน ยังไม่พร้อมในเครื่องบริขาร จึงไม่ได้ธุดงค์ตามพระอาจารย์มั่นไปในขณะนั้น เมื่อทั้งสามท่าน ได้เตรียมพร้อม เครื่องบริขารเรียบร้อยแล้วประจวบกับได้พบ พระอาจารย์ดูลย์ อลฺโต ซึ่งเป็นศิษย์ของพระอาจารย์มั่นมาก่อน และกำลังเดินธุดงค์ ติดตามพระอาจารย์มั่นเช่นกัน พระอาจารย์ฝั้น จึงศึกษาธรรม เรียนวิธีฝึกจิตภาวนาเบื้องต้น จากพระอาจารย์ดูลย์
จากนั้นทั้งสี่ท่าน ได้ร่วมกันเดินธุดงค์ติดตามพระอาจารย์มั่น โดยพระอาจารย์ดูลย์ เป็นผู้นำทาง จนได้พบพระอาจารย์มั่น ที่บ้านตาลโกน อำเภอสว่างดินแดงท่านทั้งสี่ ได้ศึกษาธรรม กับ พระอาจารย์มั่น ที่นั่น เป็นเวลาสามวันจากนั้นก็ได้ไปกราบพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล (ผู้ได้ร่วมเผยแพร่ธรรมกับพระอาจารย์มั่น)ที่บ้านหนองดินดำ แล้วจึงไปรับการอบรมธรรม จากพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโมที่บ้านหนองหวายเป็นเวลาเจ็ดวันจากนั้นจึงได้ไปที่บ้านตาลเนิ้ง และ ได้รับฟังธรรมจาก พระอาจารย์มั่น เสมอๆ
เมื่ออาจารย์ฝั้นได้รับการศึกษาอบรมธรรมะ จากพระอาจารย์มั่น และได้ฝึกกัมมัฏฐานจนจิตใจมั่นคงแน่วแน่ บำเพ็ญภาวนาได้ตลอดรอดฝั่งโดยไม่มีอุปสรรคใดๆ มารบกวนได้ท่านจึงได้ตัดสินใจทำการญัตติ เป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุติกนิกายเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2468 ที่วัดโพธิ์สมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี โดยมี ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พนธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์พระอาจารย์รถ เป็นพระกรรมวาจารย์ พระอาจารย์มุก เป็นพระอนุสาวนาจารย์
ท่านพระอาจารย์ฝั้น ได้จำพรรษากับพระอาจารย์มั่นที่วัดอรัญวาสี อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคายร่วมกับเพื่อนสหธรรมิกหลายรูป เช่น พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโนพระอาจารย์อ่อน ญาณศิริ และพระอาจารย์กว่า สฺมโนออกพรรษาปีนั้น ท่านได้เดินเลียบไปกับฝั่งแม่น้ำโขง เที่ยวธุดงค์ออกไปหลายแห่ง วกกลับมายังวัดอรัญวาสี แล้วธุดงค์ติดตามพระอาจารย์มั่น ที่บ้านสามผง อำเภอท่าอุเทน(ปัจจุบัน อำเภอศรีสงคราม) ซึ่งท่านได้รับมอบหมายให้จำพรรษา และโปรดญาติโยม ที่ดอนแดงคอกช้าง อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม
หลังออกพรรษา ท่านพระอาจารย์ฝั้น ได้ร่วมกับหมู่คณะออกเผยแพร่ธรรมทางจังหวัดอุบลราชธานี โดยได้รับเอาโยมมารดาของพระอาจารย์มั่น ไปอุบลฯด้วยในปี 2470 นี้ ท่านได้จำพรรษา ที่บ้านบ่อชะเนง อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอุบลราชธานีร่วมกับพระอาจราย์กู่ เทศนาสั่งสอนญาติโยมที่นั่นพ.ศ. 2471 ท่านได้ออกไปจำพรรษาอยู่ที่วัดห้วยทราย อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหารหลังออกพรรษา ท่านได้ไปเผยแพร่ธรรม ที่จังหวัดขอนแก่นได้จำพรรษาที่จังหวัดขอนแก่น เป็นเวลา 3 ปี
ระหว่างนั้น ท่านได้อบรมสั่งสอนชาวบ้าน ให้เลิกนับถือผีเลิกกลัวผีให้หันมานับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถือศีลห้าและพระภาวนาพุทโธท่านเป็นที่พึ่งและให้ความอบอุ่นแก่ชาวบ้านทั่วไปคนคลอดลูกยาก คนไอไม่หยุด คนถูกผีเข้า คนมีมิจฉาทิฏฐิหลอกลวงชาวบ้านท่านช่วยเหลือแก้ไขด้วยอุบายธรรมะได้หมดสิ้นท่านเองบางครั้งก็อาพาธ เช่น ระหว่างที่จำพรรษาบนภูระงำ อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่นท่านปวดตามเนื้อตามตัวเป็นอย่างมาก ท่านก็ใช้ธรรมโอสถ โดยนั่งภาวนาในอิริยาบทเดียวตั้งแต่ทุ่มเศษ จนเก้าโมงเช้า ทำให้อาการอาพาธหายไปหมด พ้นจากการทุกข์ทรมานและให้ท่านก้าวหน้าในทางธรรมเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ระหว่างปี พ.ศ. 2475-2468 พรรษาที่ 8 ถึง 19 ท่านได้จำพรรษาที่ จังหวัดนครราชสีมา โดยตลอดแต่ในระหว่างนอกพรรษา ท่านจะท่องเที่ยวไปเผยธรรมและตัวท่านเอง ก็ได้ศึกษาและปฏิบัติด้วย เช่น ก่อนเข้าพรรษา ปี พ.ศ.2475 ท่านพระอาจารย์ฝั้น พร้อมด้วยพระอาจารย์สิงห์ และ พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล ได้เดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อเยี่ยมอาการ ของ เจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโน)โดยพักที่ วัดบรมนิวาส เป็นเวลา3 เดือน
เมื่อออกพรรษาปี พ.ศ. 2477 ท่านได้ออกธุดงค์ไปในดงพญาเย็นท่านได้พบเสือนอนหันหลังให้ ในระยะที่ใกล้มาก ท่านสำรวมสติเดินไปใกล้ๆมันแล้วร้องถามว่า “เสือหรือนี่” เจ้าเสือผงกหัว หันมาตามเสียง แล้วเผ่นหายเข้าป่าไป เมื่อเดือน 3 พ.ศ. 2479 พระอาจารย์ฝั้น พร้อมด้วยพระอาจารย์อ่อนได้ไปนมัสการพระอาจารย์มั่น ที่วัดเจดีย์หลวงจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อได้อยู่ใกล้พระอาจารย์มั่น ท่านจึงได้เร่งความเพียรทั้งกลางวันและกลางคืน เล่ากันว่า ท่านทั้งสอง ต่างสามารถมองเห็นกันทางสมาธิ ได้โดยตลอด ทั้งๆที่ กุฏิห่างกัน เป็นระยะทางเกือบ 500 เมตร
ออกพรรษาปี พ.ศ. 2486 พระอาจารย์ฝั้น ได้ออกเดินธุดงค์ จาก วัดป่าศรัทธาราม อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ไปพักวิเวกภาวนาตามป่าเขาที่เห็นว่า สงบเงียบพอเจริญกัมมัฏฐานได้ และขณะเดียวกัน ก็สั่งสอนธรรมะ ช่วยเหลือชาวบ้าน ที่มีความทุกข์ยาก และ พาชาวบ้านพัฒนาหมู่บ้าน ให้มีความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นท่านธุดงค์ไปเขาพนมรุ้ง ต่อไปจังหวัดสุรินทร์ จนกระทั่งถึง จังหวัดอุบลราชธานีโดยจำพรรษา
ปี พ.ศ. 2487 ที่วัดบูรพา ที่จังหวัดอุบลราชธานี นี้เองพระอาจารย์ฝั้น มีหน้าที่เข้าถวายธรรม แก่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ซึ่งกำลังอาพาธ (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรคชรา)และใช้ความรู้ทางด้านสมุนไพร รักษาโรคปอดแก่ท่านอาจารย์มหาปิ่นจนกระทั่งออกพรรษาปีนั้น ทั้งสมเด็จฯ และ พระอาจารย์มหาปิ่น มีอาการดีขึ้น ปี พ.ศ. 2488 ถึง 2496 ท่านพระอาจารย์ฝั้น ได้จำพรรษา ที่วัดป่าศรัทธาราม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ซึ่งเดิมชื่อวัดป่าธาตุนาเวงเป็นป่าดงดิบ ห่างจากตัวเมือง ห้ากิโลเมตรเศษท่านได้นำชาวบ้าน และ นักเรียนพลตำรวจ พัฒนาวัดขึ้น จนเป็นหลักฐานมั่นคงในพรรษาท่านจะสั่งสอนอบรม ทั้งศิษย์ภายใน (คือพระเณรและผ้าขาว)และศิษย์ภายนอก (คืออุบาสก อุบาสิกา) อย่างเข้มแข็ง ตามแบบฉบับ ของ ท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นทุกวันพระ พระเณรต้องฟังเทศน์ แล้วฝึกสมาธิ และเดินจงกรมตลอดทั้งคืนอุบาสก อุบาสิกาบางคน ก็ทำตามด้วย ช่วงออกพรรษา ท่านก็มักจะจาริกไปกิจธุระ หรือ พักวิเวกตามที่ต่างๆ เช่น บริเวณเทือกเขาภูพาน เป็นต้น ช่วงปี พ.ศ. 2491 ท่านไปวิเวกที่ภูวัง และได้สร้างพระพุทธรูปบนหน้าผา ที่สวยงามาก
ออกพรรษา ปีพ.ศ. 2492 ได้ติดตาม พระอาจารย์มั่น ถึงวัดสุทธาราม ที่สกลนครและเฝ้าอาการพระอาจารย์มั่น จนแก่มรณภาพ ออกพรรษา ปี พ.ศ. 2493-95 ท่านได้ออกไปเผยแพร่ธรรมแถวภาคตะวันออก เช่นที่ จันทบุรี บ้านฉาง(จ.ระยอง) และฉะเชิงเทราในระหว่างนั้น ก็แวะเผยแพร่ธรรมไปตามที่ต่างๆด้วย เช่น ที่วัดบรมนิวาส กรุงเทพฯและวัดป่าศรัทธาราม นครราชสีมา เป็นต้น
ราวกลางพรรษาปี พ.ศ. 2496 ท่านพระอาจารย์ฝั้น ได้ปรารภกับศิษย์ทั้งปวงเสมอว่าท่านได้นิมิตเห็น ถ้ำแห่งหนึ่ง ทางตะวันตก ของเถือกเขาภูพาน เป็นที่อากาศดี สงบ และ วิเวกพอออกพรรษาปีนั้น เมื่อเสร็จธุระกิจต่างๆ แล้ว ท่านได้พาศิษย์หมู่หนึ่งเดินทางไปถึงบ้านคำข่าพักอยู่ในดงวัดร้าง ข้างหมู่บ้าน เมื่อคุ้นกับชาวบ้านแล้ว ท่านได้ถามถึงถ้ำในนิมิต ในที่สุด ชาวบ้านได้พาท่านไปพบกับถ้ำขาม บนยอดเขายอดหนึ่ง ซึ่งเป็นที่น่าพอใจของท่านมากเพราะเป็นที่วิเวกจริงๆ ทิวทัศน์สวยงาม มองเห็นถึงจังหวัดสกลนครอากาศดี สงัด และ ภาวนาดีมาก
ออกพรรษาปี พ.ศ. 2505 ท่านพระอาจารย์ ได้ลงไปพักที่วัดป่าอุดมสมพรเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศ และ เพื่อจะได้สั่งสอนอบรมชาวบ้านพรรณา อำเภอพรรณานิคม บ้างวัดป่าอุดมสมพรนี้ เดิมเป็นป่าช้าติดกับแหล่งน้ำ ชื่อหนองแวงที่บ้านบะทอง ตำบลพรรณา อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นบ้านเดิมของท่านท่านเคยธุดงค์มาพักชั่วคราว เพื่อบำเพ็ญกุศล ทักษิณานุประทานแด่บุพการีครั้งเมื่อออกพรรษา ปี 2487 พร้อมด้วยพระอาจารย์อ่อน ญาณศิริ และ พระอาญาครูดี ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สถานที่แห่งนั้น ก็ได้มีพระภิกษุสามเณร อยู่จำพรรษามาโดยตลอดจนกระทั่งได้เป็นวัดป่าอุดมสมพร ด้วยนิสัยนักพัฒนา ช่วงที่พักที่วัดป่าอุดมสมพร (2505)ท่านอาจารย์ได้นำญาติโยม พัฒนาเส้นทาง จากโรงเรียนบ้านม่วงไข่ ไปจนถึงบ้านหนองโคกท่านไปประจำอยู่กับงานทำถนน ทั้งวัน อยู่หลายวัน จนอาพาธเป็นไข้สูงแพทย์จึงได้ขอร้อง ให้ท่านงดขึ้นไปจำพรรษา บนถ้ำขาม เพราะสมัยนั้น ยังต้องเดินขึ้นดังนั้น ท่านจึงจำพรรษา ปี 2506 ที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ ช่วงปี พ.ศ. 2507 จนถึงพรรษาสุดท้ายของท่าน คือ ปี พ.ศ. 2519 ท่านพระอาจารย์ฝั้นจำพรรษาที่ วัดป่าอุดมสมพร โดยตลอด
จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายแห่งอายุขัย ท่านได้พัฒนาวัดนั้นเป็นการใหญ่ มีการขุดขยายหนองแวง ให้กว้าง และ ลึก เป็นการใหญ่สร้างศาลาใหญ่ เป็นที่ชุมนุม สำหรับการกุศลต่างๆ สร้างกุฏิ โบสถ์น้ำ พระธาตุเจดีย์ถังเก็บน้ำ และ ระบบท่อส่งน้ำถึงแม้ท่านจะจำพรรษาที่ วัดป่าอุดมสมพร แต่วัดถ้ำ และ วัดป่าภูธรพิทักษ์ ก็ยังอยู่ในความรับผิดชอบ และ อปการะของท่าน ท่านยังคงไปๆมาๆ ด้วยความห่วงใยอยู่เสมอเมื่อวันที 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2519 องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงทอดผ้าพระกฐิน ที่วัดป่าอุดมสมพร ซึ่งท่านจำพรรษาอยู่ และได้ทรงนิมนต์ท่าน เข้าไปพักที่ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ 22 เดือนเดียวกัน อีกชั่วระยะเวลาหนึ่ง ระหว่างที่พักใน วัดบวรฯ ล้นเกล้าฯ ทั้งสองพระองค์ ได้เสด็จไปทรงเยี่ยมเยียน และ สนทนาธรรมกับท่าน นอกจากนั้น ล้นเกล้าฯ ทั้งสองพระองค์ ยังได้เสด็จไปเยี่ยมเยียนท่าน ที่วัดป่าอุดมสมพร เป็นการส่วนพระองค์ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2518 อีกด้วย
ท่านพระอาจารย์ฝั้น ได้มรณภาพ เมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2520 ด้วยอาการสงบ ท่านพระอาจารย์ เป็นผู้มีระเบียบวินัย สมกับที่ท่าน สืบตระกูลมาจากผู้สูงศักดิ์ นอกจากนั้น ท่านยังมีความขยันหมั่นเพียรอย่างเอกอุ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบำเพ็ญภาวนาการอบรมสั่งสอนศิษย์ หรือการก่อสร้างอาคาร ถนนหนทางท่านถือเอาการงาน และหน้าที่ เป็นเรื่องสำคัญข้อแรก ส่วนความสะดวกสบายนั้น เป็นข้อรองและท่านปฏิบัติเช่นนี้ โดยสม่ำเสมอมา ตั้งแต่หนุ่มจนถึงวัยชรา คุณประสพ วิเศษศิริ เล่าถึงกิจวัตรประจำวันตามปกติของท่านพระอาจารย์ฝั้น
จากประสบการณ์ที่ได้บวชในช่วงปี 2512 ที่วัดป่าอุดมสมพรไว้ในหนังสืออนุสรณ์อายุครบ 60 ปีของคุณประสพเองว่า 03.00 น. ท่านจะพระอาจารย์ตื่น พระและเณร ผลัดเปลี่ยนเวรกัน ถวายน้ำบ้วนปาก และ ล้างหน้า เสร็จแล้ว ท่านก็นั่งภาวนาบนกุฏิชั้นบน 04.00 น. พระและเณรทั้งวัด ตื่นทำความสะอาดร่างกาย และ นั่งภาวนา 05.00 น. จัดบาตรลงศาลา กวาดถู จัดที่นั่งฉัน ตั้งกระโถนกาน้ำฯ 06.00 น. เตรียมบาตร ซ้อนผ้าคุลม ยืนรอท่านอาจารย์ใหญ่ท่านจะนำบิณฑบาตรทุกๆเช้า
ท่านอาจารย์ไม่เคยขาดการบิณฑบาตรเลยมาระยะหลังๆ ท่านอาพาธ ก็ยังพยายามบิณฑบาตรในวัดพระและเณรทุกๆรูป ก็ต้องออกบิณฑบาตร เป็นกฏของวัดนอกเสียจากรูปใด เร่งความเพียรตั้งสัจจะ ว่าจะไม่ฉันอาหาร จึงไม่ต้องบิณฑบาตรในวันที่ไม่ฉัน 07.00 น. ถึง 08.00 น. เริ่มฉัน และฉันในบาตรโดยวิธีสำรวม พระ เณร ผ้าขาว ฉันเหมือนกันหมด อาหารอย่างเดียวกัน จนตลอดแถว
09.00 น. ฉันอาหารเสร็จ เป็นอันว่า เสร็จเรื่องการฉันไปหนึ่งวันเพราะกฏของวัด ฉันเพียงมื้อเดียว ท่านอาจารย์ยังคงรับแขก ญาติโยมบนศาลาจนกว่า ท่านจะเห็นสมควรขึ้นกุฏิ ส่วนพระเณรอื่นๆ นอกจากรูปไหน ที่เป็นเวร คอยรับใช้ปรนนิบัติท่านก็ช่วยกันเก็บกวาดอาสนะให้เรียบร้อย และนำบาตร กระโถน กาน้ำ แก้วน้ำ ไปล้างสำหรับบาตรต้องรักษาให้ดียิ่ง ล้างให้สะอาด เช็ดให้แห้ง แล้วไปเปิดฝา ผึ่งแดด บนระเบียงกุฏิ 10.00 น. ถึง 11.00 น. เดินจงกรม 11.00 น. ถึง 12.00 น. พักผ่อนตามอัธยาศัย12.00 น. ถึง 15.00 น. นั่งภาวนา สาธยายหนังสือสวดมนต์ ทบทวนพระปาฏิโมกข์หรือไม่ก็ เดินจงกรม สุดแต่อัธยาศัย แต่ข้อสำคัญที่สุด ก็คือ ห้ามคุยกันเล่น ไม่ว่าเวลาไหน
15.00 น. ตีระฆังลงศาลา ฉันน้ำปานะ โกโก้ กาแฟ หรือน้ำอัดลม ตามแต่ศัทธาของเขาจัดถวาย 15.30 น. พระเณรทุกรูป ลงปัดกวาดลานวัดเสร็จแล้ว ทำความสะอาดส้วม และตักน้ำใส่ห้องส้วมให้เต็มทุกห้อง17.00 น. ผลัดเปลี่ยนกันไปสรงน้ำพระอาจารย์ใหญ่ที่ไม่ได้รับเวรสรงน้ำอาจารย์ใหญ่ ก็ไปสรงน้ำตามกุฏิของตนเสร็จแล้วไปคอยอาจารย์ใหญ่ อยู่บนกุฏิของท่าน เพื่อรับการอบรมจากท่านต่อไปเมื่อท่านอบรมแล้ว ใครมีปัญหา เป็นต้นว่า ภาวนาเห็นนิมิตอะไร หรือสงสัยปัญหาธรรมอะไรขัดข้องตรงไหน จะเรียนถามท่านได้ ท่านจะคลายปัญหาต่างๆ เหล่านั้น ได้อย่างแจ่มแจ้งชัดเจน 19.00 น. ตีระฆัง ทำวัตรเย็น (สวดมนต์เย็น) โดยอาจารย์ใหญ่ ท่านจะเป็นผู้นำไหว้พระสวดมนต์เสร็จแล้ว ท่านจะแสดงธรรมโปรด….และนำนั่งสมาธิต่อ
จนถึงเวลา 23.00 น บางครั้งก็ถึง เวลา 24.00 น ถ้าเป็นวันพระ จะประชุมฟังธรรม จนสว่าง แต่ท่านจะหยุดพักเป็นระยะๆ เมื่อเหนื่อย ก็อนุญาตให้พักเปลี่ยนอิริยาบถ ยืดเส้นยืดสาย เข้าห้องน้ำ และฉันน้ำเสร็จแล้ว ก็เดินจงกรมต่อ สำหรับอาจารย์ใหญ่ ท่านจะไม่ลงจากศาลา จนรุ่งเช้าสว่างแล้ว ก็แยกย้ายกันกลับกุฏิของตน ใครจะเดินจงกนมต่อ หรือจะทำกิจวัตรสุดแต่อัธยาศัย
เมื่อครั้งที่พระอาจารย์ฝั้น ยังเป็นสามเณรอยู่นั้นท่านได้เอาใจใส่ศึกษาและเคร่งครัดในพระธรรมวินัยเป็นอันมากถึงขนาดคุณย่าของท่าน ได้พยากรณ์ไว้ว่า “ในภายภาคหน้า ท่านจเเข้าไปอาศัยอยู่ในป่าขมิ้นตลอดชีวิต ระหว่างนั้น จะสร้างแต่คุณความดีอันประเสริฐเลิศล้ำค่า จะเป็นผู้บริสุทธิ์ผ่องใสประชาชนทุกชั้น ตั้งแต่สูงสุดจนต่ำสุด ทุกเชื้อชาติศาสนา ที่ได้ฟังพระธรรมเทศนาของท่านจะบังเกิดความเลื่อมใสในตัวท่าน แล รสพระธรรมที่ท่านเทศนาเป็นอันมาก” คำพยากรร์ของคุณย่าของท่าน มิได้ผิดเพี้ยนความจริงเลย เมตตาธรรม และคุณความดีของท่านเป็นที่ประจักษ์แก่บรรดาสานุศิษย์ และบรรดาสาธุชนโดยทั่วไป
ช่วงเข้าพรรษาปี พ.ศ. 2489 ที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ จังหวัดสกลนครเกิดฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล บางบ้านกลัวอดข้าวเพราะทำนาไม่ได้ จึงไปปรารภกับท่านท่านจึงได้แนะนำให้รักษาศีลให้เคร่งครัดโดยพร้อมเพรียงกันท่านกล่าวว่า หากยึดมั่นในพระรัตนตรัย แล้วจะไม่อดตายอย่างแน่นอนกุศลความดีทั้งหลายจะรักษาผู้ปฏิบัติชอบเสมอบรรดาญาติโยมทั้งหลาย ต่างพากันเข้าวัดปฏิบัติ ถือศีลห้า ศีลแปดกันอย่างมั่นคง ต่อมาวันหนึ่ง พระอาจารย์ได้ให้ลูกศิษย์ปูเสื่อบนลานวัดกลางแจ้ง ท่านพร้อมกับพระภิกษุ 2 รูป สามเณร 2 รูป นั่งสวดคาถาท่ามกลางแสงแดดจ้า ไปได้ประมาณครึ่งชั่วโมงท้องฟ้าที่กำลังมีแดดจ้า พลันมีเสียงฟ้าคำราม บังเกิดมีก้อนเมฆ กับมีฝนเทลงมาอย่างหนักท่านให้พระและเณรหลบฝนไปก่อน ส่วนตัวท่านเอง ยังคงนั่งอยู่ที่เดิมอีกนาน จึงได้ลุกไปฝนตกหนักเกือบ 3 ชั่วโมง
เมื่อฝนหยุด แล้วท้องฟ้าก็แจ่มใสดังเดิมปีนั้น ฝนฟ้าก็ตกต้องตามฤดูกาล ชาวบ้านได้ทำนาตามปกติโดยทั่วถึง จากถ้อยคำของผู้ที่เคยเป็นศิษย์ ท่านเป็นอาจารย์ที่เข้มงวดกวดขันมาก คอยเคี่ยวเข็ญพระเณร ตลอดจนผ้าขาว ให้ปฏิบัติภาวนาโดยเข้มแข็งเสมอถ้าใครเกียจคร้านหรือเหลาะแหละ ท่านก็จะว่ากล่าวตักเตือนเช่นว่าบวชแล้ว อย่าให้ชาวบ้านเปลืองข้าวเปล่าๆ หรือว่าพระกรรมฐานเป็นพระนั่ง ไม่ใช่พระนอน เป็นต้นทถ้าใครปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ท่านก็ชมเชยและเอาใจใส่ อบรมเป็นพิเศษ เพื่อที่จะได้ก้าวหน้าไปไกลยิ่งขึ้นอีก
ท่านพระอาจารย์ฝั้น เป็นนักปฏิบัติธรรม เป็นนักพัฒนา เป็นนักวิทยาศาสตร์ ที่มีสติปัญญาล้ำเลิศ มีความรู้กว้างขวาง และมีปฏิภานไหวพริบฉลาดเฉลียวจะเห็นได้จาก ในประวัติของท่าน ท่านมักจะได้รับมอบหมาย ให้ไปตัดสินปัญหาพิจารณาความเป็นธรรมอยู่เนืองๆ เช่น กรณีแก้มิจฉาทิฏฐิของไท้สุขกรณีแก้วิปัสนูปกิเลสของแม่ชีตัด กรณีระงับเหตุการณ์ไม่สงบที่วัดเทพนิมิตร จังหวัดฉะเชิงเทราและการได้รับบัญชาจาก สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ให้อยู่ใกล้ชิด และคอยแนะนำ เรื่องภาวนา ที่วัดสุปัฏน์ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้น
การพัฒนาทางวัตถุของท่าน มีให้ห็นมากมาย ท่านได้ก่อตั้ง และบูรณะวัด ให้มีหลักฐานมั่นคงหลายวัด เช่น วัดป่าศรัทธาธรรม วัดป่าโยธาประสิทธิ์ วัดป่าภูธรพิทักษ์ สำนักสงฆ์ถ้ำขาม และวัดป่าอุดมสมพร ส่วนถาวรวัตถุอื่นๆ ที่เป็นสาธารณประโยชน์ก็มีมากมายเช่น ถนนสายบ้านคำข่า-บ้านไร่ ถนนสายบ้านม่วงไข่-บ้านหนองโคก สะพานข้ามห้วยทรายเขื่อนกั้น้ำอูน ตึกพิเศษสงฆ์ ที่โรงพยาบาลสกลนคร และโรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น อาจาโรที่อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เป็นต้น
ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าท่านเป็นนักวิทยาศาสตร์และนักพัฒนาก็คือในระหว่างพรรษา ปี พ.ศ. 2498 ท่านจำพรรษาบนถ้ำขาม ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาบนไหล่เขาช่วงใกล้จะถึงยอดเขาถ้ำขาม มีที่ค่อนข้างราบอยู่ประมาณครึ่งไร่ ซึ่งมีดินขังอยู่ระหว่างก้อนหิน ท่านให้ชาวบ้านถางหญ้า แล้วหาหน่อกล้วยมาปลูกชาวบ้านหลายคนคัดค้านว่า ที่อย่างนั้นปลูกกล้วยไม่ขึ้น เอามาปลูกก็เสียเวลาเสียของเปล่าๆ แต่ท่านพระอาจารย์บอกว่า ไปหามาปลูกแล้วกัน ขึ้นหรือไม่ขึ้น ก็จะรู้เองพอปลูกแล้ว ก็งอกงามเป็นป่ากล้วย และยั่งยืนมาจนทุกวันนี้ท่านถือป่ากล้วยเป็นบทเรียนสำหรับชาวบ้าน ให้เห็นว่า การลงความเห็นว่าอ้ายโน่นทำไม่ได้ อ้ายนี้ทำไม่ได้ โดยไม่พยายามลองดูนั้น คือความโง่ และความเกียจคร้าน ซึ่งเป็นเหตุแห่งความทุกข์และยากจน ส่วนความสนใจใคร่ทดลองทำอย่างโน้น ทำอย่างนี้ แม้ไม่เคยทำมาก่อน เป็นความฉลาดและขยัน จะนำไปสู่ความสุขและความร่ำรวย
ในปัจจุบันที่ตรงนั้น มีทั้งกล้วย มะม่วง และขนุน เป็นที่อาศัยของพระเณรและลูกศิษย์ในบางโอกาส พวกลิงก็แห่กันมาเป็นฝูงๆ เพื่อขอแบ่งไปบ้าง อนุสรณ์สถาน ที่ถือว่าสำคัญที่สุด ของอาจารย์ฝั้นน่าจะเป็น วัดป่าอุดมสมพร ซึ่งห่างจากตัวเมื่อง สกลนคร ราว 34 กม.เป็นที่ที่ท่านได้จำพรรษาช่วงสุดท้ายของชีวิต เป็นเวลากว่า 12 ปี ท่านมรณภาพเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2520 และมีพิธีพระราชทานเพลิงศพของท่านที่นี้เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2521
ในบริเวณที่พระราชทานเพลิงศพ ได้มีการสร้างเจดีย์พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร องค์พระเจดีย์สูง 27.9 เมตร ลักษณะเป็นทรงสี่เหลี่ยมยอดแหลมบรรจุพระอัฐิและพระอังคารพระอาจารย์ฝั้น ที่ส่วนยอดเจดีย์ ฐานของพระเจดีย์เป็นรูปซุ้มโดยรอบ ลดหลั่นกันลงมาเป็น 3 ชั้นซึ่งซุ้มชั้นล่าง หมายถึงศีล ชั้นกลางหมายถึงสมาธิ และชั้นยอดหมายถึงปัญญาในองค์พระเจดีย์ จัดเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงเครื่องบริขารของท่านตรงเป็นที่ประดิษฐานรูปปั้นของท่านลาน
ชั้นล่างรอบองค์เจดีย์ จัดเป็นลานพระธรรม มีซุ้มโดยรอบ 56 ซุ้ม ถ้ามองจากภายในลาน จะมีหินจารึกคำสอนธรรมะของท่าน ติดอยู่บนหลังซุ้มหากมองจากภายนอก จะเป็นซุ้มแสดงประวัติของท่าน ซึ่งประดับด้วยปติมากรรมดินเผาเป็นเรื่องราว ตั้งแต่ท่านถือกำเนิด มาบวชเรียน จนถึงมรณภาพ บริเวณโดยรอบ เป็นป่าอันเงียบสงบ ร่มรื่น อันเป็นบรรยากาศของการปฏิบัติภาวนาโดยเฉพาะ
พระคุณของท่านพระอาจารย์ฝั้น ไม่อาจจะบรรยายให้หมดสิ้นได้
เจริญรุ่งเรือง อยู่เย็นเป็นสุข ปราศจากทุกข์ โดยประการทั้งปวง
http://www.baanjomyut.com/pratripidok/fan/index.html