ประวัติ หลวงตามหาบัว วัดป่าบ้านตาด
หน้า 1 จาก 3
ประวัติหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด
กำเนิด ในครอบครัวชาวนาผู้มีอันจะกิน ณ บ้านตาด อุดรธานี วันเกิด ๑๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๕๖ นามว่า บัว โลหิตดี พี่น้องทั้งหมด ๑๖ คน สมัยเด็ก เคารพเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา โดยได้รวยทำบุญตักบาตรกับผู้ใหญ่อยู่เสมอ วัยหนุ่ม เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของครอบครัว ขยันขันแข็ง ทำงานอะไรทำจริงๆ จังๆ เป็นที่ไว้วางใจของพ่อแม่ในการงานทั้งปวง คู่ครอง เดิมไม่เคยคิดจะบวช เพราะอยากมีครอบครัว แต่มักมีอุปสรรคให้แคล้วคลาดทุกทีไป
เหตุที่บวช เมื่ออายุครบ ๒๐ ปี พ่อแม่ขอร้องให้บวชตามประเพณีอยู่หลายครั้ง ท่านก็ทำเฉย ๆ ตลอดมา ไม่ตอบรับหรือปฏิเสธแต่อย่างใด ในครั้งสุดท้ายนี้ ด้วยความปรารถนาอย่างแรงกล้า หวังพึ่งใบบุญจากการบวชของลูกให้ได้ ถึงกับทำให้พ่อแม่น้ำตาร่วง ครั้งนี้ท่านรู้สึกสะเทือนใจและเห็นใจพ่อแม่มาก จึงตัดสินใจ และยอมบวชตามประเพณี เพื่อตอบแทนพระคุณพ่อแม่ โดยตั้งใจไว้ในตอนต้นนี้ว่า จะบวชเพียงระยะสั้น ๆ เท่านั้น
วันบวช ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ ณ วัดโยธานิมิตร อุดรธานี พระอุปัชฌาย์ ชื่อ ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์(จูม พันธุโล) วัดโพธิสมภรณ์ คารพพระวินัย ด้วยเดิมมีนิสัยจริงจัง จึงบวชเพื่อเอาบุญกุศลจริง ๆ และตั้งใจรักษาสิกขาบทวินัยน้อยใหญ่อย่างเคร่งครัด ในพรรษาแรกท่านได้ตั้งสัจอธิษฐานว่า ในการทำวัตรเช้า-เย็นรวมและการบิณฑบาต จะไม่ให้มีวันใดขาดเลย และท่านก็ทำได้ตามที่ตั้งคำสัตย์ไว้
เรียนปริยัติ เมื่อได้เรียนหนังสือทางธรรม ตั้งแต่นวโกวาท พุทธประวัติ ประวัติพระสาวกอรหันต์ ที่ท่านมาจากสกุลต่าง ๆ ตั้งแต่พระราชา เศรษฐี พ่อค้า จนถึงประชาชน หลังจากฟังพระพุทธโอวาทแล้ว ต่างก็เข้าบำเพ็ญเพียรในป่าเขาอย่างจริงจัง เดี๋ยวองค์นั้นสำเร็จเป็นพระอรหันต์ในป่า เดี๋ยวองค์นี้สำเร็จในเขา ในเงื้อมผา ในที่สงบสงัด ท่านก็เกิดความเชื่อเลื่อมใสขึ้นมา อยากจะเป็นพระอรหันต์ พ้นจากทุกข์ทั้งปวงในชาตินี้อย่างพระสาวกท่านบ้าง
สงสัย ช่วงเรียนปริยัติอยู่นี้ มีความลังเลสงสัยในใจว่า หากท่านดำเนินและปฏิบัติตามพระสาวกเหล่านั้น จะบรรลุถึงจุดที่พระสาวกท่านบรรลุหรือไม่ และบัดนี้จะยังมีมรรคผลนิพพานอยู่ เหมือนในครั้งพุทธกาลหรือไม่
ตั้งสัจจะ ด้วยความมุ่งมั่นอยากเป็นพระอรหันต์บ้าง ท่านจึงตั้งสัจจะไว้ว่า จะขอเรียนบาลีให้จบแค่เปรียญ ๓ ประโยคเท่านั้น ส่วนนักธรรมแม้จะไม่จบชั้นก็ไม่เป็นไร จากนั้นจะออกปฏิบัติกรรมฐานโดยถ่ายเดียว จะไม่ยอมศึกษาและสอบประโยคต่อไปเป็นอันขาด
เรียนจบ ท่านสอบได้ทั้งนักธรรมเอก และเปรียญ ๓ ประโยคในปีที่ท่านบวชได้ ๗ พรรษา ณ วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ และสถานที่แห่งนี้เอง เป็นที่แรกที่ท่านได้มีโอกาสพบเห็นท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ซึ่งต่อมา ได้กลายเป็นพระอาจารย์องค์สำคัญที่สุดในชีวิตของท่าน
ออกปฏิบัติ เมื่อหลวงตามหาบัวเรียนจบมหาเปรียญแล้ว แม้จะมีพระมหาเถระในกรุงเทพฯ สนับสนุนให้ท่านเรียนต่อในชั้นสูง ๆ ขึ้นไปก็ตาม แต่ด้วยท่านเป็นคนรักคำสัตย์ยิ่งกว่าชีวิต ดังนั้นเมื่อมีโอกาส ท่านจึงเข้ากราบลาพระผู้ใหญ่ และออกปฏิบัติกรรมฐานอย่างจริงจัง โดยมุ่งหน้าไปทางป่าเขาแถบจังหวัดนครราชสีมา แล้วเข้าจำพรรษาที่อำเภอจักราช นับเป็นพรรษาที่ ๘ ของการบวช
พากเพียร ท่านเร่งความเพียรตลอดทั้งพรรษา ไม่ทำการงานอื่นใดทั้งนั้น มีแต่ทำสมาธิภาวนา-เดินจงกรมอย่างเดียวทั้งวันทั้งคืน จนจิตได้รับความสงบจากสมาธิธรรม
มุ่งมั่น แม้พระเถระผู้ใหญ่ท่านอุตส่าห์เมตตาตามมาสั่งให้กลับเข้าเรียนบาลีต่อที่กรุงเทพฯอีก แต่ด้วยความมุ่งมั่นและตัดสินใจเด็ดขาดแล้ว ที่จะพ้นทุกข์ให้ได้ภายในชาตินี้ ท่านจึงหาโอกาสปลีกตัวออกปฏิบัติได้อีกวาระหนึ่ง
จิตเสื่อม จากนั้นท่านกลับไปบ้านเกิดของท่าน เพื่อทำกลดไว้ใช้ในการออกวิเวกตามป่าเขา จิตที่เคยสงบร่มเย็น จึงกลับเริ่มเสื่อมลง ๆ เพราะเหตุที่ทำกลดคันนี้นี่เอง
เสาะหา..อาจารย์ เดือนพฤษภาคม ๒๔๘๕ เดินทางไปขออยู่ศึกษากับท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เหตุการณ์บังเอิญกุฏิที่พักเพิ่งจะว่างลงพอดี ท่านพระอาจารย์มั่นจึงเมตตารับไว้ และเทศน์สอนตรงกับปัญหาที่เก็บความสงสัยฝังใจมานานให้คลี่คลายไปได้ว่า ดินฟ้าอากาศแร่ธาตุต่างๆ เขาเป็นของเขาเอง เขาไม่ได้เป็นมรรคผลนิพพาน เขาไม่ได้เป็นกิเลส กิเลสจริง ๆ มรรคผลนิพพานจริง ๆ อยู่ที่ใจ หากกำหนดจิตจ่อด้วยสติที่ใจแล้ว จะเห็นความเคลื่อนไหวของทั้งธรรม ทั้งกิเลสในใจ ขณะเดียวกันจะเห็นมรรคผลนิพพานไปโดยลำดับ
ปริยัติ..ไม่เพียงพอ จากนั้นท่านพระอาจารย์มั่นเมตตาแนะต่อว่า ธรรมที่เรียนมาถึงขั้นมหาเปรียญมากน้อยเพียงใด ยังไม่สามารถอำนวยประโยชน์ให้ได้ แต่กลับจะเป็นอุปสรรคต่อการภาวนา เพราะอดจะเป็นกังวลและนำธรรมที่เรียนมานั้น มาเทียบเคียงไม่ได้ในขณะที่ทำใจให้สงบ และยังจะกลายเป็นสัญญาอารมณ์คาดคะเนไปที่อื่น จนกลายเป็นคนไม่มีหลักได้
ดังนั้น เพื่อให้สะดวกในเวลาทำความสงบหรือจะใช้ปัญญาคิดค้น ให้ยกธรรมที่เรียนมานั้นขึ้นบูชาไว้ก่อน ต่อเมื่อถึงกาลอันสมควร ธรรมที่เรียนมาทั้งหมด จะวิ่งเข้ามาประสานกันกับด้านปฏิบัติ และกลมกลืนกันได้อย่างสนิท
โหมความเพียร จากการได้ศึกษากับผู้รู้จริง ได้รับอุบายต่าง ๆ มากมาย และหักโหมความเพียรเต็มกำลัง ชนิดนั่งสมาธิภาวนาตลอดรุ่งถึง ๙ คืน ๑๐ คืนโดยเว้น ๒ คืนบ้าง ๓ คืนบ้าง ทำให้ก้นของท่านระบมจนถึงกับแตกพอง เลอะเปื้อนสบงเลยทีเดียว แต่จิตใจที่เคยเสื่อมนั้น กลับเจริญขึ้น ๆ จนสามารถตั้งหลักได้
จริงจัง ท่านถูกจริตกับการอดอาหาร เพราะทำให้ท่านตัวเบา การภาวนาง่ายสะดวก และจิตใจเจริญขึ้นได้ดี จึงมักงดฉันอาหารติดต่อกันเป็นเวลานาน คราวหนึ่งท่านออกวิเวกแถบป่าใกล้หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ชาวบ้านไม่เห็นท่านออกบิณฑบาตนานจนผิดสังเกต ถึงขนาดหัวหน้าหมู่บ้านต้องตีเกราะเรียกประชุมกัน ด้วยลือกันว่า ไม่ใช่ท่านตายแล้วหรือก็เคยมี
นักรบธรรม ท่านไม่เห็นแก่การกินการนอนมากไปกว่าผลแห่งการปฏิบัติธรรม ดังนั้นในช่วงบำเพ็ญเพียร สภาพร่างกายของท่าน จึงเป็นที่น่าตกอกตกใจแก่ผู้พบเห็นอย่างมาก แม้ท่านพระอาจารย์มั่นเอง เห็นท่านซูบผอมจนผิดสังเกต ชนิดหนังห่อกระดูก ทั้งผิวก็ซีดเหลืองเหมือนเป็นดีซ่าน ท่านถึงกับทักว่า “โฮ้ ทำไมเป็นอย่างนี้ล่ะ” แต่ด้วยเกรงว่าลูกศิษย์จะตกใจและเสียกำลังใจ ท่านพระอาจารย์มั่นก็กลับพูดให้กำลังใจในทันทีนั้นว่า “มันต้องอย่างนี้ซิ จึงเรียกว่า นักรบ” ท่านเคยเล่าถึงความมุ่งมั่นในการต่อสู้กับกิเลส เพื่อจะเอาแพ้เอาชนะกันว่า “ถ้ากิเลสไม่ตาย เราก็ต้องตาย จะให้อยู่เป็นสองระหว่างกิเลสกับเรานั้น ไม่ได้”
ปัญญาก้าวเดิน ด้วยความมุ่งมั่นจริงจังดังกล่าว ทำให้จิตใจของท่าน ได้หลักสมาธิแน่นหนามั่นคง ท่านทรงภาวะนี้นานถึง ๕ ปี ไม่ขยับก้าวหน้าต่อ ท่านพระอาจารย์มั่นจึงให้อุบายอย่างหนักเพื่อให้ออกพิจารณาทางด้านปัญญา ทั้งทางอสุภะ(ซากศพ) กระทั่งถึง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งส่วนหยาบ ส่วนกลาง และส่วนละเอียด จนสามารถรู้เรื่องรู้ราว ฆ่ากิเลสตัวนั้นได้ ตัดกิเลสตัวนี้ได้โดยลำดับ ๆ ในช่วงนี้ท่านมีความเพลิดเพลินในความเพียรเพื่อฆ่ากิเลส ชนิดเดินจงกรมไม่รู้จักหยุด ตั้งแต่เช้าหลังจังหันจนกระทั่งปัดกวาดในตอนบ่าย ไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย
สิ้น..อาจารย์ ท่านพระอาจารย์มั่นได้มรณภาพลง เมื่อ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๒ ณ วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร ยังความเศร้าสลดสังเวชใจแก่ท่านอย่างเต็มที่ ด้วยรู้สึกว่าหมดที่พึ่งทางใจแล้ว จากนั้นท่านพยายามปลีกตัวจากหมู่เพื่อน อยู่ป่าเขาตามลำพัง แต่มุ่งอยู่กับความเพียรตลอด สติแนบแน่นกับจิตเป็นอัตโนมัติด้วยภาวนามยปัญญา
ย้อนกลับ – ถัดไป >>
http://www.itti-patihan.com/