ภายหลังจากละเพศฆราวาสเข้าสู่เพศบรรพชิตสมความปรารถนา สามเณรอริยชาติก็ตั้งใจศึกษาปฏิบัติธรรมอย่างสม่ำเสมอโดยเคร่งครัดทั้งปริยัติและปฏิบัติ โดยตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะมุ่งดำเนินแนวทางตามรอยพระบูรพาจารย์ในอดีต และหมั่นฝึกฝนตนเองอย่างหนักเพื่อให้จิตเกิดสมาธิแก่กล้าจนบรรลุซึ่งความสงบให้ได้
ครั้นจำพรรษาอยู่ที่วัดชัยมงคลได้ระยะหนึ่ง สามเณรอริยชาติจึงตัดสินใจเด็ดขาดที่จะออกธุดงค์ โดยตั้งใจจะแสวงหาครูบาอาจารย์เพื่อกราบขอเป็นศิษย์และศึกษาธรรมะตลอดจนวิชาคาถาอาคมต่างๆ รวมทั้งมุ่งที่จะฝึกจิตเพื่อค้นหาหนทางสู่สัจธรรม ดังนั้น ไม่นานต่อมาสามเณรอริยชาติจึงเดินทางออกจากวัดชัยมงคลโดยมิได้บอกกล่าวร่ำลาผู้ใด แม้แต่โยมแม่ของท่านเอง
ด้วยวัยเพียง ๑๗ ปี ทั้งยังเพิ่งเข้าสู่เพศนักบวชในระดับ “สามเณรใหม่” ทำให้การปลีกวิเวกครั้งแรกในชีวิตของสามเณรอริยชาติมิใช่เรื่องง่ายเลย แต่ด้วยความมุ่งมั่นแรงกล้า สามเณรหนุ่มจึงมิได้ย่อท้อและพยายามต่อสู้กับความกลัว ความว้าเหว่ และความรู้สึกด้านลบที่เกิดขึ้นในจิตตนอย่างหนัก ดังนั้น แม้สถานที่พักปักกลดจะเป็นบริเวณข้างถนน ตามป่าเขา หรือแม้แต่ในป่าช้า สามเณรอริยชาติก็สามารถควบคุมจิตใจตนเองให้อยู่กับสภาวะนั้นๆ ได้เป็นผลสำเร็จ
เส้นทางธุดงค์ของสามเณรอริยชาติเริ่มจากวัดวังมุย จังหวัดลำพูน เข้าสู่เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ โดยในระหว่างการธุดงค์นี้เอง เมื่อทราบว่ามีครูบาอาจารย์ดีอยู่ที่แห่งใด สามเณรอริยชาติเป็นต้องเสาะหาและกราบขอฝากตัวเป็นศิษย์ท่านเหล่านั้นเสมอไป จนกระทั่งเมื่อธุดงค์เข้าถึงเขตจังหวัดน่าน สามเณรหนุ่มก็ได้พบกับ พระอาจารย์มานิตย์ (ปัจจุบันลาสิกขาแล้ว) แห่งวัดบ้านตึ๊ด ตำบลพระพุทธบาท อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน ซึ่งนับเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับนับถือในฐานะพระอาจารย์ขมังเวทย์อีกท่านหนึ่งในถิ่นนั้น
หลังจากสามเณรอริยชาติได้ช่วยพระอาจารย์มานิตย์ในการสร้างวัดแล้ว จึงได้ติดตามพระอาจารย์มานิตย์ออกธุดงค์ โดยใช้ชีวิตตามรอยพระธุดงค์ผู้ทรงภูมิแก่กล้าทั่วไป นั่นคือปักกลดจำวัดอยู่ตามป่าช้าเป็นวัตร
ครูบาอริยชาติเล่าถึงความรู้สึกตอนออกธุดงค์เมื่อยังเป็นสามเณรว่า…เริ่มแรกท่านยังรู้สึกหวาดกลัวอยู่ไม่น้อย ยิ่งในตอนกลางคืนด้วยแล้ว ทั้งเสียงสัตว์กลางคืนและสรรพเสียงต่างๆ ในป่าทำให้หูแว่วและจิตไหวอยู่บ่อยครั้ง บางครั้งก็จินตนาการไปเองถึงเสียงต่างๆ ในลักษณะ “หลอกตัวเอง” ในที่สุดจึงต้องใช้วิธี “อธิษฐานจิต” มาข่มความกลัว โดยท่านได้อธิษฐานต่อเทวดาฟ้าดินว่า “หากชีวิตนี้จะสิ้นลง ก็ขอสิ้นในธงชัยของพระพุทธเจ้า” เมื่ออธิษฐานดังนี้แล้วความขลาดกลัวจึงหายไป ทำให้จิตเริ่มนิ่ง เริ่มมีสติและเข้าสู่ภวังค์แห่งความสงบมั่นคงได้ในที่สุด…
หลังจากติดตามพระอาจารย์มานิตย์ออกธุดงค์ได้ระยะหนึ่ง จนกระทั่งพระอาจารย์มานิตย์เห็นว่าสามเณรหนุ่มมีจิตอันมั่นคงและสามารถจะแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ด้วยตนเองแล้ว ท่านจึงได้แยกทางจากไป ซึ่งขณะนั้นเส้นทางการธุดงค์ของสามเณรอริยชาติอยู่ที่ภูผาม่าน จังหวัดน่าน
ยิ่งต้องอยู่โดยลำพัง การปฏิบัติตนของสามเณรอริยชาติก็ยิ่งเคร่งครัดมากขึ้น ถึงขั้นไม่ฉันภัตตาหารใดๆ นอกจากน้ำเปล่าเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อให้เข้าใจสภาวะอันเป็นทุกข์ที่สุดแห่งสังขาร เพื่อให้เกิดสติระลึกอยู่เสมอว่าสิ่งที่เป็นภาระที่สุดของชีวิตก็คือสังขาร และสังขารก็คือสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้ที่สุด จึงไม่พึงยึดมั่นถือมั่นในสังขารที่ไม่เที่ยงแท้นี้ ดังนั้น การฝึกตนในครั้งนี้ จึงนอกจากจะเพื่อพิจารณาสภาวจิตของตนโดยใช้สติเป็นเครื่องนำทางแล้ว ยังเป็นไปเพื่อมุ่งเอาชนะกิเลสมาร เอาชนะอำนาจฝ่ายต่ำของจิตให้ได้อีกด้วย
สามเณรหนุ่มกระทำทุกรกิริยาด้วยวิธีการอดข้าวอยู่ได้ถึง ๑๒ วันสังขารก็เกิดเวทนาถึงขีดสุด ตรงกันข้ามกับสภาวจิตที่ยิ่งแจ่มใสและเข้มแข็งขึ้นโดยลำดับ อย่างไรก็ตาม ความไม่เที่ยงแห่งสังขารก็เป็นผลให้สามเณรอริยชาติเกิดอาพาธหนัก จนกระทั่งชาวบ้านมาพบเข้าจึงนำตัวท่านไปรักษาพยาบาลจนอาการดีขึ้น และสามเณรอริยชาติเมื่อได้รับการช่วยเหลือจากชาวบ้านเช่นนี้ ก็รู้สึกสำนึกถึงบุญคุณว่าตนไม่มีสิ่งใดตอบแทนชาวบ้าน ดังนั้น ท่านจึงนำเอาวิชาความรู้ที่เคยได้เล่าเรียนจากครูบาอาจารย์ของท่าน ทั้งเรื่องสมุนไพรรักษาโรค คาถาอาคม และเครื่องรางต่างๆ มาสงเคราะห์ชาวบ้านเท่าที่จะทำได้
วิชาความรู้ที่ร่ำเรียนสืบทอดมาจากคณาพระอาจารย์ผู้ทรงภูมิธรรมสูงส่งหลายๆ ท่าน เมื่อผนวกเข้ากับสมาธิจิตอันมั่นคงจากการปฏิบัติวิปัสสนาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอขณะอยู่ในเพศ “ผู้ทรงศีล” ทำให้บารมีธรรมของสามเณรอริยชาติเพิ่มพูนขึ้นโดยลำดับ และการนำวิชาความรู้ของท่านมาสงเคราะห์ญาติโยมด้วยจิตเมตตา ก็ก่อให้เกิดผลอัน “ไม่ธรรมดา” กระทั่งท่านได้รับความเคารพศรัทธาจากชาวบ้านในถิ่นนั้นอย่างสูงถึงขั้นเรียกท่านว่า “หลวงพ่อเณร”
ที่จังหวัดน่านนี่เอง “หลวงพ่อเณร” หรือสามเณรอริยชาติได้พบกับ “แม่หลวงแก้ว” และ “แม่หลวงตอง” บุคคลสำคัญซึ่งในอดีตเป็นคนใกล้ชิดกับเจ้าเมืองน่าน และแม่หลวงทั้งสองท่านนี้ยังเคยมาช่วยครูบาศรีวิชัยสร้างทางขึ้นดอยสุเทพเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๗ อีกด้วย
เมื่อแม่หลวงทั้งสองท่านได้พบกับสามเณรอริยชาติ ก็ถึงกับทักขึ้นว่า…
“เณรเป็นผู้มีบุญนะ ท่านมีลักษณะที่คล้ายกับหน่อบุญ ต่อไปขอให้รักษาตัวให้ดี เพราะจะเจริญรุ่งเรืองในทางศาสนา”
และ…แม่หลวงแก้วท่านนี้เอง ที่เรียกสามเณรอริยชาติ วัย ๑๗ ปีว่า “ครูบา” เป็นคนแรก ซึ่งเหล่าชาวบ้านก็เห็นดีด้วย ทำให้สรรพนาม “หลวงพ่อเณร” ที่ชาวบ้านเรียกขานกันได้กลายเป็น “ครูบาอริยชาติ” หรือ “ครูบาน้อย” ตามแบบอย่างแม่หลวงแก้วนับจากนั้นเป็นต้นมา
สามเณรอริยชาติธุดงค์อยู่ที่จังหวัดน่านประมาณ ๘ เดือนก็ได้รับแจ้งข่าวจากทางบ้านว่าโยมแม่ล้มป่วยหนัก ให้รีบกลับบ้านด่วน ทำให้สามเณรอริยชาติต้องรีบเดินทางกลับบ้านเกิดที่บ้านปิงน้อย อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยความร้อนใจ แต่ครั้นกลับถึงบ้านก็ได้ทราบว่า “โรค” ที่โยมแม่ประสบอยู่ในขณะนั้นคือ “โรคห่วงใย” และ “โรคคิดถึง” สามเณรผู้เป็นลูก อีกทั้งโยมแม่ยังเกรงว่าหากสามเณรอริยชาติยังคงธุดงค์ต่อไปเรื่อยๆ เช่นนี้ จะทำให้ไม่ได้เรียนหนังสือต่อ
ดังนั้น ในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ สามเณรอริยชาติจึงกลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดชัยมงคล ตำบลประตูป่า อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เช่นเดิม และใช้เวลา ๒ ปีหลังนั้น ในการเรียนหนังสือต่อจนจบ ม.๖ และสอบได้เปรียญประโยค ๑ ประโยค ๒ และนักธรรมโทในที่สุด
ในระหว่างกลับมาจำพรรษาที่วัดชัยมงคลนี้เอง เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๒ ครูบาบุญสม สิริวัชโย เจ้าอาวาสวัดชัยมงคลได้มรณภาพลง สามเณรอริยชาติซึ่งขณะนั้นอายุเพียง ๑๘ ปี จึงต้องรับหน้าที่ดูแลวัดชัยมงคลต่อเป็นการชั่วคราว จนกระทั่งเมื่อสามเณรอริยชาติมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๔ เวลา ๑๐.๒๕ น. ที่วัดชัยมงคล (วัดวังมุย) จังหวัดลำพูน โดยมีพระครูวิสิฐปัญญากร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูภัทรกิตติคุณ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูไพศาลธรรมานุสิฐ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ทั้งนี้ ท่านได้รับฉายาว่า พระอริยชาติ อริยจิตฺโต
ขอขอบคุณ http://www.watsangkaew.com