ศิลปะการประหยัดของพุทธทาส
มีสลึง พึงบรรจบ ให้ครบบาท
อย่าให้ขาด สิ่งของ ต้องประสงค์
มีน้อย ใช้น้อย ค่อยบรรจง
อย่าจ่ายลง ให้มาก จะยากนานฯ
กลอนโบราณบทนี้ อาจจำเป็นต้องหยิบขึ้นมาปัดฝุ่นให้คนไทย หันกลับมาตระหนักเรื่อง “ความประหยัด” กันใหม่แบบจริงจังเสียที หลายคนคงไม่ใส่ใจกับเรื่องนี้ ยิ่งเด็ก เยาวชนรุ่นใหม่ จะยิ่งเข้าใจยาก เพราะพวกเขาอาจไม่รู้จัก แม้แต่เหรียญสลึงด้วยซ้ำ!
โดยเฉพาะใน พ.ศ. ๒๕๕๕ ซึ่งเป็นยุคหลังผ่านวิกฤติการณ์น้ำท่วมใหญ่รอบ ๕๐ ปีของไทย ถึงกับพร้อมใจกันขนานนามว่ามหาอุทกภัย และยังมี After Shock ตามมาอีกเพียบ ไม่ว่าจะเป็น ข้าวของที่จำต้องขึ้นราคา ไหนจะค่าแท็กซี่ที่ขู่จะขึ้นค่าโดยสารกันฮึ่มๆ เพราะค่าน้ำมัน ค่าแก๊สที่ผันผวน ฯลฯ เหล่านี้ จะเป็นแรงเหวี่ยงทางเศรษฐศาสตร์ ที่จะทำให้สรรพสิ่งรอบตัว พากันขยับราคาแพงกันไปหมด ถ้าเราไม่ตระหนักเรื่อง “การประหยัด” ในวันนี้ เกรงว่าอาจสายเกินการณ์
ที่ผมว่า “สายเกินการณ์” เพราะเห็นคนไทยหลายต่อหลายคน เห็นใครปล่อยกู้ ก็เอากับเขาด้วย คิดแต่จะเอาแต่ไม่เคยวางแผนใช้คืนหนี้เขา สุดท้ายก็ถูกกดดันด้วยระบบทวงหนี้นอกกฎหมาย ถึงกับฆ่าตัวตายบ้างก็เยอะ
ต้นตอของปัญหาทั้งหมดนี้ หากแก้ได้ด้วยวิธีง่ายๆ ก็คือ “ความประหยัด” หรือ การมีวินัยทางการเงิน หรือ การสร้างเหตุที่เหมาะสมก่อนรวย ด้วยการยอมอดเปรี้ยวไว้กินหวาน หรือ การเป็นอยู่อย่างพอเพียง ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลฯ ทรงตรัสมาร่วม ๓๐ ปีแล้ว
ทั้งหมดนี้ มีอยู่ในศิลปะแห่งการครองชีวิตแบบวิถีพุทธ ซึ่งผมเรียกให้น่าสนใจมากขึ้น ว่า ศิลปะการประหยัดแบบพุทธทาส นั่นเอง
ที่ผมไม่ใช้คำว่า ท่านพุทธทาส เพราะ คำ “พุทธทาส” ในที่นี้ของผม มิได้หมายถึง ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ เพียงท่านเดียวลำพัง แต่ผมยังหมายรวมไปถึงทุกคนที่เป็นทาสพระพุทธกันต่างหาก ท่านอาจารย์พุทธทาสเล็งเห็นหายนะของการฟุ่มเฟือยล่วงหน้ามากว่า ๕๐ ปีแล้ว ท่านจึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ถึงขนาดตั้งเป็น ๑ ใน ๓ ปณิธานของท่านเลยทีเดียว ก็คือ … ไม่ตกเป็นทาสของวัตถุนิยม (ออกมาเสียจากอำนาจวัตถุนิยม) ซึ่งพระพุทธเจ้า มีคำสอนที่ครอบคลุมเรื่องนี้ด้วย ทั้งวิถีปฏิบัติของชาวพุทธแท้ๆ นั้น ก็เป็นไปด้วยความประหยัดพอเพียง กรณีหนึ่งจากพระไตรปิฎก กล่าวถึงการใช้สอยจีวรของพระภิกษุสงฆ์ในครั้งพุทธกาลว่า “พระอานนท์” เป็นผู้ที่ประหยัดและฉลาดในเรื่องนี้มาก
ดังเหตุการณ์ที่พระมเหสีของพระเจ้าอุเทน แห่งนครโกสัมพี เสื่อมใสในการแสดงธรรมของพระอานนท์ จึงได้ถวายจีวรจำนวน ๕๐๐ ผืนแด่พระอานนท์ เมื่อพระเจ้าอุเทน ทราบจึงตำหนิพระอานนท์ว่ารับจีวรไปจำนวนมากว่าเอาไปทำอะไร เมื่อได้โอกาสจึงนมัสการถาม
“พระคุณเจ้า ทราบว่าพระมเหสีถวายจีวรพระคุณเจ้า ๕๐๐ ผืน พระคุณเจ้ารับไว้ทั้งหมดหรือ”
“ขอถวายพระพร อาตมาภาพรับไว้ทั้งหมด”
“พระคุณเจ้ารับไว้ทำไมมากมายนัก?”
“เพื่อแบ่งถวายแก่พระภิกษุผู้มีจีวรเก่าคร่ำคร่า”
“ขอโอกาสถาม … แล้วจะเอาจีวรเก่าคร่ำคร่าไปทำอะไร ?”
“เอาไปทำเพดาน”
“จะเอาผ้าเพดานเก่าไปทำอะไร?”
“เอาไปทำผ้าปูที่นอน”
“จะเอาผ้าปูที่นอนเก่าไปทำอะไร?”
“เอาไปทำผ้าเช็ดเท้า”
“จะเอาผ้าเช็ดเท้าเก่าไปทำอะไร?”
“เอาไปทำผ้าเช็ดธุลี”
“จะเอาผ้าเช็ดธุลีเก่าไปทำอะไร?”
“เอาไปโขลกขยำกับโคลนแล้วฉาบทาบนฝาผนัง”
พระเจ้าอุเทนทรงเลื่อมใสว่าพระสมณบุตรเป็นผู้ประหยัด จึงถวายผ้าจีวรอีก ๕๐๐ ผืนแด่พระอานนท์
นี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของการประหยัดอย่างชาวพุทธ โดยรายละเอียดมากกว่านี้ ผู้เขียนจำได้ว่าจริงๆ มีถึง ๘ ขั้นตอน การใช้สอยจีวรแบบเต็มอัตถประโยชน์สูงสุดจริงๆ ไม่เหลือทิ้งแม้เศษผ้าจีวรเลย คือไล่ตั้งแต่ เย็บ ชุน ปะ ทำเพดาน (เพราะปะไม่ได้แล้ว) ปูนอน เช็ดเท้า เช็ดธุลี (ฝุ่น) โขลกให้แหลก ผสมกับโคลนปะผนังกุฏิดิน (ครบ ๘ ขั้นตอน) หากพวกเราได้น้อมประยุกต์แนวคิดนี้ กับสิ่งของที่เราใช้สอยอยู่ ก็น่าจะลดดีกรีการจับจ่ายที่ฟุ่มเฟือยลงได้บ้างไม่มากก็น้อย นี้เรื่องหนึ่ง
การประหยัดของพระอานนท์ของอริยสงฆ์สาวกในครั้งพุทธกาลอาจไกลตัวท่านไปหน่อย ผมขอยกตัวอย่างที่ใกล้ตัว ร่วมสมัยกับพวกเรามากกว่านี้ คือกรณีท่านพุทธทาสภิกขุ แห่งสวนโมกขพลาราม ซึ่งมีสถานที่แห่งหนึ่ง อันสาธุชนที่ได้ไปเยี่ยมสวนโมกข์มาแล้ว มักไม่ค่อยกล่าวถึงกันมากนัก แต่หากเป็นที่ๆ ผมโปรดปานเป็นการส่วนตัว และสะท้อนให้เห็นถึงการประหยัด ความสมถะของพระมหาปราชญ์ท่านนี้อย่างชัดเจนมากทีเดียว
ที่สรงน้ำของท่านพุทธทาส จะเรียกว่าห้องสรงน้ำก็ไม่ได้ เพราะไม่ใช่ห้อง แต่เป็นมุมเล็กๆที่อยู่ด้านนอก ข้างๆกุฏิอาพาธ (กุฏิสุดท้ายก่อนดับขันธ์) ของท่านนั่นเอง คำบอกเล่าของ ท่านจ้อย (พระครูใบฎีกามณเฑียร มณฺฑิโร) เล่าว่า ท่านอาจารย์จะมาสรงน้ำบริเวณนี้ตามปกติ อาศัยเพียงขันน้ำกับโอ่งมังกรขนาดย่อม เวลาตักราด ก็ให้ได้คุ้มประโยชน์ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า พร้อมรดน้ำต้นไม้ต้นหญ้าบริเวณนั้น ทั้งซักผ้าอาบไปในตัวเสร็จสรรพ วันดีคืนดี ก็จะมีเพื่อนโผล่มาร่วมเล่นน้ำด้วย เป็นงูตัวน้อย!
นี่แหละครับ หนึ่งในพฤติกรรมที่เรียบง่ายของพุทธทาสภิกขุ หรือพระธรรมโกศาจารย์ ผู้มีสมณศักดิ์รองชั้นสมเด็จเพียงขั้นเดียว ท่านทำให้ดู อยู่ให้เห็นว่า อำนาจวัตถุนิยมทำอะไรท่านไม่ได้ มาโดยตลอดชีวิตของท่าน สมดังคำที่ท่านสอนเสมอว่า เป็นอยู่อย่างต่ำ มุ่งกระทำอย่างสูง
ศิลปะการประหยัดของพวกเราชาวพุทธ ซึ่งต่างเป็นพุทธทาส ทาสพระพุทธทุกคนเช่นนี้เอง จะช่วยให้การดำรงชีพของพวกเราไม่ยากลำบาก ผ่านทุกวิกฤติไปได้อย่างราบรื่น ลองสำรวจตัวท่านเอง หากท่านได้ลองประยุกต์ใช้สอยอย่างประหยัด (หรือแม้แต่พยายามทำก็ยังดี) อาบน้ำแบบท่านพุทธทาส, ใช้เสื้อผ้าอย่างหลักการใช้สอยจีวร ๘ ขั้นตอน, บีบยาสีฟันให้เกลี้ยงจนหลอดแบน ใช้รองเท้าซ่อมแล้วซ่อมอีกอย่างในหลวงของเรา ทำอย่างเต็มภาคภูมิ ไม่อายใคร เพราะไม่ได้เบียดเบียนใครแล้วไซร้ … รายเหลือ (รายได้ลบรายจ่าย) ของท่านก็จะมากขึ้น การเก็บออมเงินสำรองครอบครัวก็จะได้เพิ่มขึ้น สถาบันครอบครัวมีความมั่นคงตามอัตถภาพมากขึ้น ไม่ต้องตกเป็นทาสแห่งอำนาจเงินตราจากใคร, ไม่ต้องพึ่งพาผลประโยชน์ที่ผิดๆ จากผู้มีอิทธิพลรายใด, ไม่ยอมให้เงินตรามีผลต่อชีวิตมากกว่าคุณงามความดี … ทำได้เช่นนี้ ทุกปี จะมีมหาอุทกภัยมา ก็ไม่ทำให้เรายากจนลงไปได้ แต่หากใครไม่รีบปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ให้รู้จักประหยัด รู้จักสมถะ ตัดเสียเรื่องความฟุ่มเฟือย เลิกเสียซึ่งปาปมิตร เพื่อนที่ชักจูงไปแต่ทางเสื่อม เสียแต่ตอนนี้ ชีวิตก็คงจะผูกขาดความจนไปตลอด อย่างไม่ต้องสงสัย ดังภาษิตที่จะปิดท้ายบทนี้ ฉันใดฉันนั้น …
ยังไม่จน อยู่อย่างคนจน ไม่มีวันจน
ยังไม่รวย อยู่อย่างคนรวย (เห็นช้างขี้ ขี้ตามช้าง) ไม่มีวันรวย
http://www.komchadluek.net/