วิธีปฏิบัติธรรมหลวงปู่ดูลย์
แนวทางปฏิบัติธรรมของพระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล)
1. คำปรารภ
หลวงปู่ดูลย์ อตุโล เป็นศิษย์รุ่นแรกสุดของท่านอาจารย์มั่นภูริทัตตเถร ภายหลังจากท่านออกเดินธุดงค์จนสิ้นธุระในส่วนขององค์ท่านแล้ว ท่านได้ไปประจำอยู่ที่วัดบูรพาราม อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ตลอดมาจนถึงวันมรณภาพ หลวงปู่เป็นผู้เคร่งครัดในพระธรรมวินัยและได้แผ่บารมีธรรมอบรมสั่งสอนศิษย์ทั้งที่เป็นบรรพชิตและคฤหัสถ์ ประสพผลสำเร็จในการปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมาก ซึ่งในความเป็นจริงแล้วหลักปฏิบัติที่ท่านนำมาสั่งสอนนั้น ไม่ใช่หลักธรรมของท่าน หรือของท่านอาจารย์ของท่านแต่เป็นพระธรรมคำสอนอันพระผู้มีพระภาคเจ้าประทานไว้นั่นเอง ท่านเพียงแต่เลือกเฟ้นกลั่นกรองนำมาสอนให้ถูกกับจริตนิสัยของศิษย์แต่ละคนเท่านั้น
หลวงปู่มีปรกติสอนเรื่องจิต จนบางคนเข้าใจว่า ท่านสอนเฉพาะการดูจิตหรือการพิจารณาจิต (จิตตานุปัสสนาและธัมมานุปัสสนา) แต่ในความเป็นจริงแล้ว ท่านสอนไว้สารพัดรูปแบบ คือใครดูจิตได้ท่านก็สอนให้ดูจิต แต่หากใครไม่สามารถดูจิตโดยตรงได้ ท่านก็สอนให้พิจารณากาย (กายานุปัสสนา และเวทนานุปัสสนา) เช่นเดียวกับที่ท่านอาจารย์มั่นสอน และในความเป็นจริง ศิษย์ฝ่ายบรรพชิตที่พิจารณากายนั้นดูจะมีมากกว่าผู้พิจารณาจิตโดยตรงเสียอีก
2. เหตุผลที่ท่านเน้นการศึกษาที่จิต
หลวงปู่พิจารณาเห็นว่าธรรมทั้งหลายรวมลงได้ในอริยสัจสี่ ทั้งนั้นและอริยาสัจสี่นั้นสามารถรู้เห็นและเข้าใจได้ด้วยการศึกษาจิตของตนเอง เพราะทุกข์นั้นเกิดมาจากสมุทัยคือตัณหา (ความทะยานอยากของจิต) และความพ้นทุกข์ก็เกิดจากความสิ้นไปของตัณหา แม้แต่มรรคมีองค์แปดซึ่งย่อลงเป็นศีล สมาธิ และปัญญานั้น ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับจิตทั้งสิ้น กล่าวคือศีลได้แก่ความเป็นปรกติธรรมดาของจิตที่ไม่ถูกสภาวะอันใดครอบงำ สมาธิคือความตั้งมั่นของจิตและปัญญาคือความรอบรู้ของจิต ท่านจึงกล้ากล่าวว่า พระธรรมทั้งปวงนั้น สามารถเรียนรู้ได้ที่จิตของตนเอง ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการดูจิต
3. วิธีดูจิต
3.1 การเตรียมความพร้อมของจิต พระกรรมฐานสายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถร จะสอนตรงกันว่า จิตที่เจริญวิปัสสนาได้นั้นต้องมีสมาธิหรือความสบตั้งมั่นของจิตเป็นฐานเสียก่อน จิตจะได้ไม่ถูกกิเลสครอบงำ จนไม่สามารถเห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริงได้ หลวงปู่ดุลท่านก็สอนในลักษณะเดียวกัน และท่านมักจะให้เจริญพุทธานุสติบริกรรม “พุทโธ” หรือ ควบด้วยการทำอานาปานสติ คือ การกำหนดลมหายใจเข้าบริกรรม “พุท” หายใจออกบริกรรม “โธ”
เคล็ดลับของการทำความสงบ ในเวลาที่จะทำความสงบนั้น ท่านให้ทำความสงบจริง ๆ ไม่ต้องคิดถึงเรื่องการเจริญปัญญา และมีเคล็ดลับที่ช่วยให้จิตสงบง่ายคือ ให้รู้คำบริกรรมหรือกำหนดลมหายใจไปเรื่อย ๆ ตามสบาย อย่าอยากหรือจงใจจะให้จิตสงบ เพราะธรรมชาติของจิตนั้นจะไปบังคับให้สงบไม่ได้ ยิ่งพยายามให้สงบกลับจะยิ่งฟุ้งซ่านหนักเข้าไปอีก เมื่อจิตสงบลงแล้ว จิตจะทิ้งคำบริกรรม ก็ไม่ต้องนึกหาคำบริกรรมอีก แต่ให้รู้อยู่ตรงความรู้สึกที่สงบนั้น จนกว่าจิตจะถอนออกมาสู่ความเป็นปรกติด้วยตัวของมันเอง
3.2 การแยกจิตผู้รู้กับอารมณ์ที่ถูกจิตรู้ เมื่อจิตรวมสงบทิ้งคำบริกรรมไปแล้ว ท่านให้สังเกตอยู่ที่ความสงบนั้นเอง และสังเกตต่อไปว่า ความสงบนั้นเป็นเพียงสิ่งที่ถูกรู้เท่านั้น จิตคือตัวผู้รู้ ผู้ดูอยู่นั้นมีอยู่ต่างหาก สรุปก็คือ ท่านสอนให้แยกจิตผู้รู้ออกจากอารมณ์ที่ถูกรู้
บางคนไม่สามารถทำความสงบด้วยการบริกรรม หรือด้วยกรรมฐานอื่นใด ก็อาจใช้วิธีอื่นในการแยกผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ได้ ตัวอย่างเช่น นึกถึงพุทโธ หรือบทสวดมนต์บทใดก็ได้ที่คุ้นเคย แล้วก็เฝ้ารู้การสวดมนต์ที่แจ้ว ๆ อยู่ในสมองตนเองไป จากนั้นจึงแยกว่า บทสวดนั้นถูกรู้ ผู้รู้มีอยู่ต่างหาก ตรงจุดนี้มีอุบายยักย้ายอีกหลายอย่าง เช่นอาจจะสังเกตดูความคิดของตนเอง ซึ่งพูดแจ้ว ๆ อยู่ในสมองก็ได้ แล้วเห็นว่าความคิดนั้นถูกรู้ จิตผู้รู้มีอยู่ต่างหาก หรือตามรู้ความเคลื่อนไหวของร่างกายไปเรื่อย ๆ หรือตามรู้ความรู้สึก เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเฉย ๆ ไปเรื่อย ๆ หรือ ฯลฯ (สรุปว่ารู้อะไรก็ได้ในต่อเนื่อง) และสังเกตเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นแค่สิ่งที่ถูกรู้ จิตผู้รู้มีอยู่ต่างหาก หรืออย่างท่านพระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี ศิษย์อาวุโสอีกรูปหนึ่งของท่านพระอาจารย์มั่น ท่านสอนให้ลองกลั้นลมหายใจดูชั่วขณะแล้ว สังเกตดูความรู้สึกตรงที่นิ่ง ๆ ว่าง ๆ นั้น แล้วทำสติรู้อยู่ตรงนั้นเรื่อย ๆ ไปเป็นต้น เมื่อแยกจิตผู้รู้กับอารมณ์ที่ถูกรู้ได้แล้ว ก็ให้เจริญสติสัมปชัญญะต่อไป
3.3 การเจริญสติและสัมปชัญญะ ให้ทำความรู้ตัวอยู่กับจิตผู้รู้อย่างสบาย ๆ ไม่เพ่งจ้องหรือควานหา ค้นคว้า พิจารณาเข้าไปที่จิตผู้รู้เพียงแค่รู้อยู่เฉย ๆ เท่านั้น ต่อมาเมื่อมีความคิดนึกปรุงแต่งอื่น ๆ เกิดขึ้นก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ชัดเจน เช่น เดิมมีความนิ่งว่างอยู่ ต่อมาเกิดคิดถึงคน ๆ หนึ่ง แล้วเกิดความรู้สึกรัก หรือชังขึ้นก็ให้สังเกต รู้ความรักความชังนั้น และเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกรู้เท่านั้น ตัวจิตผู้รู้มีอยู่ต่างหาก ให้รู้ตัวไปเรื่อย ๆ สิ่งใดเป็นอารมณ์ ปรากฏขึ้นกับจิต ก็ให้มีสติรู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏนั้น ในขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่เผลอส่งจิตเข้าไปในอารมณ์นั้น ตรงที่จิตไม่เผลอส่งออกไปนั้นเอง คือความรู้ตัวหรือสัมปชัญญะ
เรื่องสตินั้นเข้าใจง่าย เพราะหมายถึงตัวที่ไปรู้เท่าอารมณ์ที่กำลังปรากฏ เช่น คนอ่านหนังสือสติจดจ่ออยู่กับหนังสือ จึงอ่านหนังสือได้รู้เรื่องคนขับรถ สติจดจ่อกับการขับรถก็ทำให้ขับรถได้ ฉะนั้น โดยธรรมชาติแล้วคนมีสติอยู่เสมอเมื่อจิตตั้งใจรู้อารมณ์ แต่จะเป็นสัมมาสติได้ ก็ต่อเมื่อมีสัมปชัญญะคือ ความรู้ตัวไม่เผลอควบคู่ไปด้วย
ความรู้ตัวไม่เผลอนั้นเข้าใจยากที่สุด เพราะถามใครเขาก็ว่าเขารู้ตัวทั้งนั้น ทั้งที่ความจริงจิตยังมีความหลง (โมหะ) แฝงอยู่เกือบตลอดเวลา สัมปชัญญะที่ใช้เจริญสติปัฏฐาน จะต้องเป็น “อสัมโมหสัมปชัญญะ” เท่านั้น
ยกตัวอย่าง เมื่อเราดูละครโทรทัศน์ ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง ใจรู้คิดนึกตามเรื่องของละครไป ในขณะนั้นเรามีสติดูโทรทัศน์ แต่อาจไม่มีสัมปชัญญะ เพราะเราส่งจิตหลงไปทางตา ทางหู และทางใจ เราลืมนึกถึงตัวเองที่นั่งดูโทรทัศน์อยู่ อันนี้เรียกว่าไม่มีสัมปชัญญะหรือไม่รู้ตัว
บางคนเดินจงกรม กำหนดรู้ความเคลื่อนไหวของเท้าซ้าย เท้าขวา รู้ความเคลื่อนไหวของกาย อันนั้นมีสติ แต่อาจไม่มีสัมปชัญญะ ถ้าส่งจิตเผลอไปในเรื่องของเท้าและร่างกาย มัวแต่จดจ่อที่เท้าและร่างกายที่กำลังเคลื่อนไหว จนเหมือนกับลืมตัวเอง เหมือนตัวเองหรือตัวจิตผู้รู้นั้นไม่มีอยู่ในโลกเลยในขณะนั้น
ความรู้ตัวหรือการไม่หลงเผลอส่งจิตออกไปตามอารมณ์ ภายนอกนั้นเองคือสัมปชัญญะ วิธีฝึกให้ได้สัมปชัญญะที่ดีที่สุดคือการทำสมถกรรมฐาน เช่น การบริกรรมพุทโธจนจิตรวมเข้าถึงฐานของมัน แล้วรู้อยู่ตรงฐานนั้นเรื่อยๆป หากมีอารมณ์มาล่อทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจก็ไม่เผลอหลงลืมฐานของตน ส่งจิตตามอารมณ์ไปอย่างไม่รู้ตัว
3.4 ดูจิตแล้วรู้อารมณ์อะไรบ้าง การที่เราเฝ้ารู้จิตผู้รู้ไปเรื่อย ๆ อย่างสบาย ๆ นั้น เราสามารถรู้อารมณ์ทุกชนิดที่ผ่านเข้ามาให้จิตรู้แล้วแต่ว่าในขณะนั้นอารมณ์ตัวไหนจะแรงและเด่นชัดที่สุด ดังนั้น เราสามารถเจริญสติปัฏฐานได้ทั้ง 4 ประเภท (ในทางตรงข้าม ถ้าแยกจิตผู้รู้กับอารมณ์ที่ถูกรู้ออกจากกันไม่ได้จะไม่สามารถเจริญสติปัฏฐานทุกประเภทเช่นกัน ที่กล่าวว่าสมถะเป็นฐานของวิปัสสนาหรือสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญาก็คือเรื่องตรงนี้เอง คือถ้าขาดสมถะที่ถูกต้อง จิตจะตกเป็นทาสของอารมณ์ ถ้ามีสมถะที่ถูกต้อง จิตจะมีสัมปชัญญะรู้ตัวไม่เป็นทาสของอารมณ์ จึงเห็นความเกิดดับของอารมณ์ชัดเจนตามความเป็นจริงได้) กล่าวคือ
3.4.1 รู้กาย เมื่อมีสัมผัสทางกาย เช่น รู้ลมหายใจเข้า ออกรู้ทางกายว่ามีอากาศเย็นมากระทบกาย กายเกิดอาการหนาวสะท้านขึ้นหรือเมื่อเดินกลางแดดร้อนจัด กายอิดโรยมีเหงื่อไคลสกปรกชุ่มอยู่หรือเมื่อเดินจงกรมเคลื่อนไหวไปมา ผู้ที่มีจิตผู้รู้ จะเห็นกายสักแต่ว่าเป็นกลุ่มธาตุมารวมกัน และเคลื่อนไหวไปมาได้เหมือนหุ่นยนต์ตัวหนึ่ง ไม่เห็นว่ากายส่วนใดจะเรียกตัวเองว่ากายเลย หรือเดินจงกรมจนเมื่อยขาก็ไม่เห็นว่าเขาจะบ่นอะไรได้เลย กายกับจิตมันแยกชัดเป็นคนละส่วนกันทีเดียว ผู้ปฏิบัติจะเห็นกายเป็นไตรลักษณ์ชัดเจนมาก
3.4.2 รู้เวทนา บางครั้งในขณะที่รู้จิตผู้รู้อยู่นั้น เราจะรู้เวทนาทางกายบ้าง ทางจิตบ้าง แล้วแต่ตัวใดจะเด่นชัดในขณะนั้น เช่น ในขณะที่เดินอยู่ เกิดเมื่อยขารุนแรง ถ้าเรามีจิตผู้รู้ เราจะเห็นชัดเลยว่าความเมื่อยไม่ใช่ขาที่เป็นวัตถุธาตุ แต่เป็นอีกสิ่งหนึ่ง แฝงอยู่ในวัตถุธาตุที่ประกอบกันขึ้นเป็นขา หรืออย่างนั่งอยู่ร้อน ๆ มีลมเย็นพัดมารู้สึกสบาย ความสบายนั้นเป็นความรู้สึกอีกตัวหนึ่ง ที่แทรกเข้ามาโดยที่กายไม่ได้สบายไปด้วย หรืออย่างเราปวดฟัน ถ้าเรามีจิตผู้รู้ จะเห็นชัดว่า ความปวดไม่ใช่ฟันและไม่ใช่จิตด้วย แต่เป็นอีกสิ่งหนึ่ง (อีกขันธ์หนึ่ง) และความปวดนั้นเปลี่ยนระดับตลอด ไม่ได้ปวดเท่ากันตลอดเวลา อันเป็นการแสดงความเป็นไตรลักษณ์ของเวทนาขันธ์ให้ปรากฏ
ในส่วนของเวทนาทางจิต ก็เห็นได้ขัดมาก เช่น เวลาปวดฟัน มีเวทนาทางกายแล้ว บางครั้งจิตก็ปรุงแต่งเวทนาทางจิตขึ้นมาด้วย คือ เกิดความรู้สึกเป็นทุกข์ใจขึ้นมา หรือในเวลารับประทานอาหารที่ชอบใจ แม้รสยังไม่ทันสัมผัสลิ้น ความสุขทางใจก็เกิดขึ้นก่อนแล้ว อย่างนี้ก็มี
การรู้เวทนาขณะที่รู้จิตผู้รู้อยู่นั้น จะเห็นเวทนาเป็นไตรลักษณ์ชัดเจนมาก
3.4.3 รู้จิต จิตตานุปัสสนานั้น ไม่ใช่การเห็นจิตผู้รู้ หรือจิตที่แท้จริง แต่เป็นการเห็นจิตสังขาร (ความคิดนึกปรุงแต่ง) ที่กำลังปรากฏ เช่น เห็นชัดว่า ขณะนั้นจิตมีความโกรธเกิดขึ้น ฯลฯ แล้วก็จะเห็นอีกว่า ความปรุงแต่งทั้งฝ่ายชั่ว และฝ่ายดี ล้วนเป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป มันไม่ใช่จิต มันเป็นแค่อารมณ์ที่ถูกรู้ ทั้งนี้ การรู้จิต (สังขาร) ในขณะที่รู้ตัว หรือรู้จิตผู้รู้อยู่นั้น จะเห็นจิตสังขารเป็นไตรลักษณ์ อย่างชัดเจนมาก
3.4.4 รู้ธรรม ถ้ารู้จิตผู้รู้อยู่นั้น หากสภาวธรรมอันใดปรากฏขึ้นก็จะเห็นสภาวธรรมนั้นตามที่มันเป็นจริง เช่น ขณะที่รู้ตัวอยู่ จิตคิดถึงคนที่รัก แล้วจิตก็ทะยานออกไปเกาะความคิดนั้น คลุกคลีกับความคิดนั้น ผู้ปฏิบัติจะเห็นชัดว่า จิตเกิดความยึดว่าจิตเป็นตัวตนของตนขึ้นมา เพราะความที่จิตหลงไปยึดอารมณ์นั้นเอง ความเป็นตัวตน ความเป็นกลุ่มก้อน ความหนัก ได้เกิดขึ้นแทนความไม่มีอะไรในตอนแรก และถ้ารู้ทันว่าจิตส่งออกไปนำความทุกข์มาให้ จิตจะปล่อยอารมณ์นั้นกลับมาอยู่กับรู้ความเป็นกลุ่มก้อน ความหนัก ความแน่น หรือทุกข์ก็จะสลายตัวไปเอง อันนี้คือการเห็นอริยสัจสี่นั่นเอง คือเห็นว่าถ้ามีตัณหาคือความทะยานอยากไปตามอารมณ์ ความเป็นตัวตนและเป็นทุกข์จะเกิดขึ้น ถ้าไม่มีความอยากทุกข์ก็ไม่เกิด
การรู้สภาวธรรมในขณะที่รู้ตัว หรือรู้จิตผู้รู้นั้น จะเห็นจิตเป็นไตรลักษณ์ชัดเจนทีเดียว เช่น เห็นว่าเป็นของบังคับบัญชาไม่ได้มันส่งออกไปยึดอารมณ์ มันก็ไปเอง ถ้ามันรู้ว่าไปยึดแล้วทุกข์ มันก็ไม่ไปเอง เราจะบังคับว่า จงอย่าไป ไม่ได้เลย
ตัวอย่างการพิจารณาหรือการดูจิต
นาย จ. กำลังซักผ้า ขณะนั้น สัญญาคือความจำภาพของสาวคนรักผุดขึ้นมา จิตของเขาปรุงแต่งราคะ คือความรักใคร่ผูกพันขึ้นมาทั้งที่ไม่ได้เห็นสาวคนรักจริง ๆ วิธีดูจิตนั้น ไม่ได้หมายความว่าให้นาย จ. หันมาทำสติว่ามือกำลังขยี้ผ้าอยู่ แต่นาย จ. จะต้องมองเห็นกิเลสที่เกิดขึ้นในใจของตนเอง เมื่อเห็นกิเลสแล้ว ก็ไม่ใช่เกลียดหรืออยากดับกิเลส แต่การเห็นกิเลส ด้วยจิตที่เป็นกลาง กิเลสมันจะดับไปเอง เมื่อกิเลสดับไป นาย จ. ก็ต้องรู้ว่ากิเลสดับไป เป็นต้น
กรณีเดียวกับตัวอย่างแรก ถ้านาย จ. เกิดราคะเพราะคิดถึงคนรัก บางครั้งกำลังกิเลสที่แรงมาก ๆ แม้นาย จ. จะรู้ว่ากิเลสเกิดขึ้นแต่ราคะนั้น อาจจะไม่ดับไป มิหนำซ้ำจิตของนาย จ. ยังเคลื่อนออกจากฐานผู้รู้ เข้าไป เกาะกับภาพคนรัก หรือหลงเข้าไปในความคิดเกี่ยวกับคนรัก ถึงขั้นนี้ก็ให้นาย จ. รู้ว่า จิตเคลื่อนออกไปรวมกับอารมณ์แล้วไม่ต้องทำอะไร แค่รู้เฉย ๆ เท่านั้น
เมื่อจิตของนาย จ. มีราคะ หรือจิตของนาย จ. เคลื่อนเข้าไปรวมกับอารมณ์ นาย จ. อาจจะสงสัยว่า เอ!…เราควรต้องพิจารณาอสุภกรรมฐานช่วยจิตหรือไม่ เพื่อให้พ้นอำนาจดึงดูดของราคะ เรื่องอย่างนี้ในกรณีที่ผู้ปฏิบัติพิจารณากาย อาจจะใช้การพิจารณาอสุภกรรมฐานมาเป็นเครื่องแก้กิเลสก็ได้ แต่นักดูจิตจะไม่ใช้ความคิดเข้าไปช่วยจิตเขาจะทำแค่รู้ทันสภาพจิตของตนอยู่ตลอดเวลาเท่านั้น เพราะจริง ๆ แล้ว จิตจะเปลี่ยนสภาพอยู่ตลอดเวลา ถ้าตั้งใจสังเกตดู เช่น กำลังราคะจะแรงขึ้นบ้าง อ่อนลงบ้าง ความคิดเกี่ยวกับคนรักจะปรากฏขึ้นบ้าง และดับไปบ้าง การเคลื่อนของจิตก็อาจเคลื่อนถลำเข้าไปในอารมณ์บ้าง แล้วถอยออกมาอยู่กับรู้บ้าง มันแสดงไตรลักษณ์อยู่ตลอดเวลา
เมื่อนาย จ. รู้ทันจิตเรื่อย ๆ ไปโดยไม่ได้ใช้ความคิดเข้าไปช่วยจิต นาย จ. ซึ่งเป็นปัญญาชน เคยชินกับการแก้ปัญหาด้วยการคิดอาจเกิดความลังเลสงสัยขึ้นมาว่า เอ!….ถ้าเราเฝ้ารู้จิตไปเฉย ๆ เราจะเกิดปัญญาได้อย่างไร เราจะกลายเป็นคนโง่สมองฝ่อหรือเปล่า ก็ให้นาย จ. รู้ว่าความลังเลสงสัยเกิดขึ้นแล้ว ไม่ต้องคิดหาคำตอบ แค่เห็นว่าความสงสัยเกิดขึ้นก็พอ ที่สุดมันจะดับไปเองเหมือนอารมณ์ตัวอื่น ๆ นั่นเอง
แท้ที่จริง การที่จิตเป็นกลางรู้อารมณ์นั้น จิตเห็นไตรลักษณ์อยู่ตลอดเวลา และจะเห็นอริยสัจ 4 ไปในตัวด้วยนั้น เป็นปัญญาขั้นสุดยอดอยู่แล้วที่จะปลดเปลื้องจิตจากความทุกข์ ทั้งนี้ปัญญาอันเกิดจากการใช้ความคิด (จินตมยปัญญา) ซึ่งเป็นวิธีการเรียนรู้เก่า ๆ ที่ปัญญาชนอย่างนาย จ. เคยชิน ไม่สามารถนำผู้ปฏิบัติออกจากทุกข์ได้ แต่ปัญญาที่เกิดจากการภาวนา (ภาวนามยปัญญา) คือการเจริญสติสัมปชัญญะนั้น นำผู้ปฏิบัติออกจากทุกข์ได้ และมันเป็นปัญญาคนละชนิดกัน
เมื่อนาย จ. ซักผ้าไปนาน ๆ แขนของนาย จ. ก็ปวด มือก็ล้า นาย จ. รับรู้ทุกเวทนาทางกายที่เกิดขึ้น แล้วสังเกตเห็นว่าความจริงร่างกายของนาย จ. ไม่ได้ปวดเมื่อยเลย แต่ความปวดเมื่อยเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่แฝงอยู่ในกาย จิตผู้รู้ก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง มันสงบสบายอยู่ได้ ในขณะที่ทุกข์ทางกายเกิดขึ้น อันนี้ก็เป็นการเห็นความจริง เกี่ยวกับขันธ์ที่แยกออกจากกันเป็นส่วน ๆ เมื่อมองดูแต่ละส่วน ไม่เห็นมีส่วนใดเลยที่เรียกว่า “นาย จ.” นี่เป็นสภาพอีกอันหนึ่งที่ผู้ดูจิต จะรู้เห็นได้ไม่ยาก
3.5 การดูจิตจะพลิกไปมาระหว่างสมถะกับวิปัสสนาได้ การดูจิตก็ดี หรือการพิจารณากายก็ดี จิตสามารถพลิกกลับไปมาระหว่างการเจริญสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานได้
ในทางตำราทั่ว ๆ ไป มักจะแยกสมถะกับวิปัสสนาด้วยอารมณ์กรรมฐาน คือถ้าใครทำกรรมฐาน 40 เช่น อนุสติ 10 ถือว่าสมถะ ถ้าเจริญสติปัฏฐานคือรู้กาย เวทนา จิต หรือธรรม ถือว่าเจริญวิปัสสนาหรือถ้ารู้อารมณ์ที่เป็นสมมุติบัญญัติถือว่าทำสมถะ แต่ถ้ารู้อารมณ์ปรมัตถ์ ถือว่าทำวิปัสสนา
แต่ในแง่ของนักปฏิบัติแล้วไม่ใช่เพียงเท่านั้น การจำแนกสมถะกับวิปัสสนานั้น สามารถจำแนกด้วยอาการดำเนินของจิตได้ด้วยคือถ้าขณะใด จิตมีสติรู้อารมณ์อันเดียวโดยต่อเนื่อง อันนั้นเป็นการทำสมถะ และเมื่อทำไปจนจิตจับอารมณ์นั้นเองโดยไม่ต้องบังคับควบคุมหรือไม่ต้องตั้งใจแล้ว จิตเกาะเข้ากับอารมณ์อันเดียว เกิดความสุข ความสงบ อันนั้นเป็นฌานอันเป็นผลของการทำสมถะ
เมื่อใดที่ผู้ปฏิบัติมีสติรู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏ ในขณะเดียวกันก็มีสัมปชัญญะคือ ความรู้ตัว หรืออีกนัยหนึ่ง ผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้แยกออกจากกันแล้ว ตามเห็นความเกิดดับของอารมณ์ปรมัตถ์ อันนั้นเป็นการทำวิปัสสนา และเมื่อถึงจุดหนึ่ง จิตจะไม่จงใจรู้อารมณ์และไม่จงใจประคองผู้รู้ แต่สามารถเจริญสติและสัมปชัญญะได้เอง อันนั้นจิตเดินวิปัสสนาเองโดยอัตโนมัติ อันเป็นวิปัสสนาแท้ ที่จิตทำของเขาเอง
เปรียบเทียบคนที่ทำสมถะ เหมือนคนที่ตกลงในกระแสน้ำว่ายอยู่ในน้ำ ย่อมเห็นสิ่งต่าง ๆ ไม่ชัดเจน ในขณะที่ผู้ทำวิปัสสนาเหมือนคนที่นั่งบนฝั่งน้ำ แล้วมองดูสายน้ำที่ไหลผ่านเฉพาะหน้าไป ย่อมเห็นชัดว่า มีอะไรลอยมากับน้ำบ้าง ทั้งของสะอาดสวยงามและของสกปรก
ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นบทเฉลยที่ว่า ทำไมจึงต้องหัดแยกจิตผู้รู้ออกจากอารมณ์ที่ถูกรู้ ก่อนที่จะดูจิตหรือพิจารณากายอย่างหนึ่งอย่างใด
ตัวอย่างเช่น หากพิจารณาอัฐิหรือกระดูก โดยใช้สมาธิเพ่งรู้รูปร่างของกระดูก ว่าเป็นแท่งยาว ๆ กลม ๆ อันนั้นเป็นการเพ่ง เป็นกสิณดิน หากเพ่งดูว่ากระดูกมีสีขาว อันนั้นก็เป็นกสิณสี ซึ่งการเพ่งจนจิตสงบเกาะอยู่กับรูปกระดูกก็ดี สีกระดูกก็ดีเป็นการทำสมถะแม้การคิดว่ากระดูกเป็นเพียงธาตุขันธ์หรือเป็นอสุภะก็ยังการทำสมถะเพราะเป็นการคิดเอา
หากรู้กระดูก โดยมีจิตผู้รู้ตั้งมั่นอยู่ต่างหาก แล้วคิดพิจารณาไปในแง่ที่กระดูกเป็นไตรลักษณ์ อันนั้นยังไม่ใช่การทำวิปัสสนาที่แท้จริงจนกว่าจะเป็นการระบึกรู้รูปจริง ๆ ไม่ใช่คิด และในระหว่างที่รู้กายอย่างเป็นวิปัสสนานั้น บางครั้งจิตก็เข้าไปจับอยู่กับกายส่วนใดส่วนหนึ่งนิ่งพักอยู่เป็นสมถะ แล้วค่อยกลับออกมารู้กายต่อก็มี แต่ถ้าจิตไม่เข้าพักเองแล้วกลับตะลุยพิจารณากายจนจิตฟุ้งซ่าน ผู้ปฏิบัติจะต้องย้อนกลับไปทำสมถะใหม่ เพื่อให้จิตมีกำลังและแยกตัวออกจากอารมณ์เสียก่อน
การดุจิตก็เป็นได้ทั้งสองอย่าง คือถ้าเพ่งความว่างเปล่าของจิตหรือเพ่งสิ่งใดสิ่งหนึ่งในจิต อันนั้นเป็นสมถะ หากรู้อารมณ์ปรมัตถ์ที่เกิดดับไป โดยจิตผู้รู้อย่างต่างหาก อันนั้นเป็นการทำวิปัสสนา และตามธรรมดาแล้ว เมื่อผู้ปฏิบัติดูจิตอยู่อย่างเป็นวิปัสสนานั้น บางครั้งจิตก็เข้าพักในสมถะด้วยการจับนิ่งเข้ากับอารมณ์อันเดียว
ผู้ปฏิบัติควรจำแนกได้ว่า ขณะนั้นจิตของตนทำสมถะ หรือเดินวิปัสสนา มิฉะนั้น อาจหลงผิดทำสมถะ แล้วคิดว่ากำลังทำวิปัสสนาอยู่ ผู้ปฏิบัติที่ครูบาอาจารย์ขาดญาณทัศนะ ไม่รู้ว่าระจิตของศิษย์ อาจหลงผิดได้ง่ายโดยไม่มีใครแก้ไขให้ เช่น เดินจงกรมกำหนดยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ ฯลฯ แล้วจิตไหลลงไปอยู่ในเท้า หรือหลงคิดแต่เรื่องยก ย่าง เหยียบ ไม่มีสัมปชัญญะคือความรู้ตัวของจิต อันนั้นเป็นการทำสมถะอย่างเดียวเท่านั้น
อันตรายอีกอย่างหนึ่งของการที่แยกไม่ออกระหว่างการทำสมถะกับวิปัสสนาก็คือ การเกิดวิปัสสนูปกิเลส คือในระหว่างที่ทำวิปัสสนาอยู่นั้น บางครั้งจิตพลิกกลับไปสู่ภูมิของสมถะ แล้วเกิดความรู้ความเห็นหรืออาการบางอย่าง ทำให้หลงผิดว่าตนบรรลุธรรมชั้นสูงแล้ว เช่น เกิดอาการที่สติรู้อารมณ์ชัดกริบด้วยจิตที่แข็งกระด้าง (แทนที่จะรู้ด้วยจิตที่อ่อนโยน ว่องไว ควรแก่การทำวิปัสสนา) หรือเกิดความรู้ความเห็นผิด เช่น แยกไม่ออกระหว่างสมมุติสัจจะกับปรมัตถสัจจะหลงผิดว่า พระพุทธเจ้าก็ไม่มี พ่อแม่ก็ไม่มี ทุกอย่างว่างเปล่าหมดเป็นการปฏิเสธสมมุติบัญญัติคิดว่ามันไม่มี ทั้งที่สมมุติเขาก็มีของเขาอยู่ แต่มีอย่างเป็นสมมุติ เป็นต้น
3.6 การปล่อยวางอารมณ์หยาบเข้าถึงความว่าง เมื่อดูจิตชำนาญเข้า อารมณ์ใดกระทบจิต อารมณ์นั้นก็ดับไป เหมือนแมลงเม่าบินเข้ากองไฟ เริ่มต้นผู้ปฏิบัติจะรู้เห็นแต่อารมณ์หยาบ เช่น โกรธแรง ๆ จึงจะดูออก แต่เมื่อปฏิบัติมากเข้า แม้ความขัดใจเล็กน้อย หรือความพอใจเล็กน้อยเกิดขึ้นกับจิต ก็สามารถรู้เห็นได้อย่างชัดเจน เช่นในขณะที่ร้อน ๆ มีลมเย็นโชยกระทบผิวกายนิดเดียว จิตก็เกิดยินดีมีราคะขึ้นแล้วหรือปวดปัสสาวะ พอเริ่มถ่ายปัสสาวะ จิตก็ยินดีเสียแล้ว หรือกำลังหิวข้าว พอเห็นเขายกอาหารมาวางต่อหน้า จิตก็ยินดีเสียแล้ว เป็นต้น
เมื่อรู้อารมณ์ละเอียดแล้ว โอกาสที่อารมณ์หยาบจะเกิดก็ยากขึ้น เพราะอารมณ์หยาบนั้นงอกงามขึ้นไปจากอารมณ์ละเอียดนั่นเอง
อนึ่ง หลักการที่สำคัญมากในการดูจิตที่ขอย้ำก็คือ ให้รู้อารมณ์เฉย ๆ อย่าไปพยายามละอารมณ์นั้นเด็ดขาด จะเดินทางผิดทันที เพราะอารมณ์ทั้งปวงนั้น เป็นตัวขันธ์ เป็นตัวทุกข์ ผู้ปฏิบัติมีหน้าที่รู้เท่านั้นอย่าอยาก (มีตัณหา) ที่จะไปละมันเข้า จะผิดหลักการเกี่ยวกับกิจของอริยสัจ ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า “ทุกข์ให้รู้ สมุทัยให้ละ” เพราะยิ่งพยายามละ ก็จะยิ่งหลงผิดมากขึ้น ตัวอย่างเช่น เห็นความโกรธเกิดขึ้นในจิต ท่านให้รู้เฉย ๆ บางครั้งผู้ปฏิบัติพยายามทางดับความโกรธนั้น แล้วความโกรธก็ดับได้จริง ๆ เหมือนกัน นักปฏิบัติจะหลงผิดว่า ตนเองเก่งดับกิเลสได้ และเห็นว่า จิตเป็นอัตตา กิเลสเป็นอัตตาทั้งที่ความจริงนั้นกิเลสมันดับเพราะหมดเหตุของมันต่างหาก เช่น เราถูกคนด่าเราใครครวญเกี่ยวกับเรื่องที่เขาด่า ความโกรธก็เกิดและแรงขึ้นเรื่อย ๆ พอเราคิดเรื่องจะดับความโกรธ เราละเหตุของความโกรธเสียแล้วคือไม่ได้คิดเรื่องว่าเขาด่า มัวแต่คิดจะดับความโกรธ ความโกรธหมดเหตุมันก็ดับไปเอง แต่ผู้ปฏิบัติหลงผิดว่า ตนดับความโกรธได้ แล้วเมื่อไปเจอกิเลสอื่น ก็จะวุ่นวายอยู่กับความพยายามจะดับมันอีก เรียกว่าหางานให้จิตทำวุ่นวายอยู่ตลอดเวลา
การที่ผู้ปฏิบัติรู้อารมณ์เร็วขึ้น ชัดเจนขึ้นตามลำดับนั้น อารมณ์ก็จะยิ่งละเอียดเข้าไปอีกตามลำดับเช่นกัน แต่ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่า จิตก็ดี อารมณ์ก็ดี สติสัมปชัญญะหรือสมาธิก็ดี เป็นของที่อยู่ในอำนาจไตรลักษณ์เหมือนกัน ดังนั้น เมื่อจิตละเอียดแล้ว ช่วงหนึ่งมันก็จะหยาบอีก อย่าตกใจเพราะนั้นมันเป็นธรรมดา ให้ตั้งหน้าปฏิบัติไปเรื่อย ๆ มันจะกลับดี และดีขึ้นไปตามลำดับ
เมื่ออารมณ์ละเอียดถึงที่สุด จิตจะปรากฏเหมือนว่า จิตว่างไปหมดถึงจุดนี้ผู้ปฏิบัติอาจหลงผิดวาตนสิ้นกิเลสแล้ว ความจริงความว่างนั้นก็คืออารมณ์อีกอันหนึ่ง เพียงแต่ละเอียดถึงที่สุดเท่านั้นเอง
ทุกวันนี้มีผู้ประกาศเรื่องให้ดำรงชีวิตด้วยจิตว่าง ทั้งที่เขาไม่รู้จักจิตว่างเลย และไม่รู้จิตว่างนั้นยังหาสาระแก่นสารเอาเป็นที่พึ่งอะไรไม่ได้ เพราะมันก็ยังตกอยู่ใต้อำนาจของไตรลักษณ์นั่นเอง และที่สำคัญก็คือคนที่คิดเรื่องจิตว่างและพยายามทำให้จิตว่างนั้น จิตยังห่างจากความว่างมากมายนัก เพราะแม้จิตที่มีอารมณ์หยาบก็ยังไม่เข้าใจแม้แต่น้อย
3.7 การปล่อยวางความว่าง เข้าถึงธรรมที่แท้จริง เมื่อปฏิบัติเข้าถึงขั้นที่ละเอียดเช่นนั้นแล้ว หลักที่จะปฏิบัติต่อไปยังคงเหมือนเดิม คือรู้หรือดูจิตต่อไป ไม่ต้องสงสัย ไม่ต้องคิดค้นวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำอย่างไรจะปล่อยวางความว่างนั้นได้ เพราะแค่เริ่มคิดนิดเดียว จิตก็จะหลงทางเข้าสู่ความวุ่นวายสับสนอีกแล้ว ผู้ปฏิบัติจะต้องรู้อย่างเดียวเท่านั้น
การรู้โดยไม่คิดนั้นเอง คือ การเจริญวิปัสสนาที่แท้จริง และละเอียดที่สุด ควรทราบว่าจิตจะหลุดพ้นได้นั้น จิตเขาจะต้องหลุดพ้นเองเพราะเขาเห็นความจริง การคิดใคร่ครวญด้วยสัญญาอารมณ์มันเป็นเพียงความรู้ขั้นสัญญาของตัวผู้ปฏิบัติ แต่ความรู้จริงของจิตนั้น จิตเขาต้องเรียนรู้เอง ผู้ปฏิบัติเพียงแต่ทำสิ่งที่เอื้อต่อการที่จิตจะเรียนรู้เท่านั้น คืออย่าไปรบกวนจิตให้วุ่นวาย ขึ้นมาอีก มีสติ มีสัมปชัญญะรู้แต่ไม่คิด ค้นคว้าใด ๆ ในที่สุด จิตจะเกิดความเข้าใจขึ้นมาเองว่า จิตว่างนั้นเอง ไม่ใช่สาระแก่นสาร ตราบใดที่ยังเห็นว่าจิตเป็นตัวเรา หรือเป็นของเราที่จะต้องช่วยให้จิตหลุดพ้น ตราบนั้นตัณหาหรือสมุทัย ก็จะสร้างของจิตว่างขึ้นมาร่ำไป
ขอย้ำว่าในขั้นนี้ จิตจะดำเนินวิปัสสนาเอง ไม่ใช่ผู้ปฏิบัติจงใจกระทำ ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ไม่มีใครเลยที่จงใจหรือตั้งใจบรรลุมรรคผล นิพพานได้ มีแต่จิตเขาปฏิวัติตนเองไปเท่านั้น
3.8 การรู้ธรรมในขั้นของพระโสดาบัน และการปฏิบัติเพื่อบรรลุอรหัตมรรค เมื่อจิตทรงตัวรู้แต่ไม่คิดอะไรนั้น บางครั้งจะมีสิ่งบางสิ่งผุดขึ้นมา สู่ภูมิรู้ของจิต แต่จิตไม่สำคัญมั่นหมายว่านั่นคืออะไรเพียงแต่รู้เฉย ๆ ถึงความเกิดดับนั้นเท่านั้น ในขั้นนี้เป็นการเดินวิปัสสนาในขั้นละเอียดที่สุด ถึงจุดหนึ่งจิตจะก้าวกระโดดต่อไปเอง ซึ่งจะขอไม่กล่าวถึงขั้นตอน อย่างละเอียด เพราะผู้อ่านอาจคิดตามแล้วปรุงแต่งอาการนั้นขึ้นมาได้
การเข้าสู่มรรคผลนั้น “รู้” มีอยู่ตลอด แต่ไม่คิดและไม่สำคัญมั่นหมายในสังขารละเอียดที่ผุดขึ้น บางอาจารย์จะสอนผิด ๆ ว่า ในเวลาบรรลุมรรคผล จิตดับความรับรู้หายเงียบไปเลย โดยเข้าใจผิดในคำว่า “นิพพานัง ปรมัง สุญญัง” สูญอย่างนั้นเป็นการสูญหาย แบบอุทเฉททิฏฐิ สภาพของมรรคผลไม่ได้เป็นเช่นนั้น การที่จิตดับความรับรู้นั้น เป็นภพชนิดหนึ่งเรียกว่า “อสัญญี” หรือที่คนโบราณเรียกว่าพรหมลูกฟักเท่านั้นเอง
เมื่อจิตถอยออกจากอริยมมรรคและอริยผลที่เกิดขึ้นแล้วผู้ปฏิบัติจะรู้ชัดว่า ธรรมเป็นอย่างนี้ สิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งนั้นต้องดับไปธรรมชาติบางอย่างมีอยู่ แต่ก็ไม่มีความเป็นตัวตนสักอณูเดียวนี้เป็นการรู้ธรรมในขั้นของพระโสดาบัน คือไม่เห็นว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งแม้แต่ตัวจิตเองเป็นตัวเรา แต่ความยึดถือในความเป็นเรายังมีอยู่ เพราะขั้นความเห็นกับความยึดนั้นมันคนละขั้นกัน
เมื่อบรรลุถึงสิ่งที่บัญญัติว่า “พระโสดาบัน” แล้ว ผู้ปฏิบัติยังคงปฏิบัติอย่างเดิมนั้นเอง แต่ตัวจิตผู้รู้จะยิ่งเด่นดวงขึ้นตามลำดับจนเมื่อบรรลุพระอนาคามีแล้ว จิตผู้รู้จะเด่นดวงเต็มที่ เพราะพ้นจากอำนาจของกาม การที่จิตรู้อยู่กับจิตเช่นนั้น แสดงถึงกำลังสมาธิอันเต็มเปี่ยมเพราะสิ่งที่เป็นอันตรายต่อสมาธิคือกามได้ถูกล้างออกจากจิตหมดแล้ว ผู้ปฏิบัติในขั้นนี้ หากตายลง จึงไปสู่พรหมโลกโดยส่วนเดียว ไม่สามารถกลับมาเกิดในภพมนุษย์ได้อีกแล้ว
นักปฏิบัติจำนวนมากที่ไม่มีครูบาอาจารย์ชี้แนะ จะคิดว่าเมื่อถึงขั้นที่จิตผู้รู้หมดจดผ่องใสแล้วนั้น ไม่มีทางไปต่อแล้วแต่หลวงปู่ดุลย์ อตุโล กลับสอนต่อไปอีกว่า “พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ พบจิตให้ทำลายจิต”
จุดนี้ไม่ใช่การเล่นสำนวนโวหารที่จะนำมาพูดกันเล่น ๆ ได้ ความจริงก็คือการสอนว่า ยังจะต้องปล่อยวางความยึดมั่นจิตอีกชั้นหนึ่ง มันละเอียดเสียจนผู้ที่ไม่ละเอียดพอ ไม่รู้ว่ามีอะไรจะต้องปล่อยวางอีก เพราะความจริงตัวจิตผู้รู้นั้น ยังเป็นของที่อยู่ในอำนาจของไตรลักษณ์ บางครั้งยังมีอาการหมองลงนิด ๆ พอให้สังเกตเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของมัน แต่ผู้ปฏิบัติที่ได้รับการอบรมเรื่องจิตมาดีแล้ว จะเห็นความยึดมั่นนั้นแล้วไม่ต้องทำอะไรเลย แค่รู้ทันเท่านั้น จิตจะประคองตัวอยู่ที่รู้ไม่คิดค้นคว้าอะไร มันเงียบสนิทจริง ๆ ถึงจุดหนึ่ง จิตจะปล่อยวาง ความยึดถือจิต จิตจะเป็นอิสระเปิดโล่งไปหมด ไม่กลับเข้าเกาะเกี่ยวกับอารมณ์ใด ๆ ที่จะพาไปก่อเกิดได้อีก
4. บทสรุปคำสอนของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล
ธรรมเรียนรู้ได้ที่จิต
ให้บริกรรมเพื่อรวมอารมณ์ให้เป็นหนึ่ง สังเกตดูว่า ใครเป็นผู้บริกรรม “พุทโธ”
ทำความเข้าใจในอารมณ์ความคิดนึก สังเกตกิเลสที่กำลังปรากฏให้ออก
อย่าส่งจิตออกนอก อย่าให้จิตคิดส่งไปภายนอก (เผลอ) ให้สังเกตความหวั่นไหวหรือปฏิกิริยาของจิตต่ออารมณ์ที่รับเข้ามาทางอายตนะทั้ง 6
จงทำญาณให้เห็นจิต เหมือนดั่งตาเห็นรูป คือรู้ทันพฤติของจิต
รู้ เพราะคิดเท่าไหร่ก็ไม่รู้ ต้องหยุดคิดถึงจะรู้ แต่ก็ต้องอาศัยคิด คืออย่าไปห้ามความคิด
แยกรูปถอด (ความปรุงแต่ง) ก็ถึงความว่าง แยกความว่างถึงมหาสุญญตา
สรุปอริยสัจแห่งจิต
จิตส่งออกนอก เป็นสมุทัย
ผลอันเกิดจากจิตส่งออกนอก เป็นทุกข์
จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นมรรค
ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นนิโรธ
(ปราโมทย์, 2544 : 96 -115)
อริยทรัพย์ เป็นทรัพย์อันประเสริฐอยู่ภายในจิตใจดีกว่าทรัพย์ภายนอก เพราะไม่ผู้ใดแย่งชิง ไม่สูญหายไปด้วยภัยอันตรายต่าง ๆ ทำใจให้ไม่อ้างว้าง ยากจน และเป็นทุนสร้างทรัพย์ภายนอกได้ด้วย
อริยทรัพย์ 7 คือ
1. ศรัทธา (ความเชื่อที่มีเหตุผล มั่นใจในหลักที่ถือและในการดีที่ทำ)
2. ศีล (การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย ประพฤติถูกต้องดีงาม)
3. หิริ (ความละอายใจต่อการทำความชั่ว)
4. โอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่อความชั่ว)
5. พาหุสัจจะ (ความเป็นผู้ได้ศึกษาเล่าเรียนมาก)
6. จาคะ (ความเสียสละ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่)
7. ปัญญา (ความรู้ความเข้าใจถ่องแท้ในเหตุผล ดีชั่ว ถูกผิด คุณโทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ รู้คิด รู้พิจารณา และรู้ที่จะจัดทำ)
ธรรม 7 นี้ เรียกอีกอย่างว่า พหุการธรรม หรือธรรมมีอุปการะมาก เพราะเป็นกำลังหนุนช่วยส่งเสริมในการบำเพ็ญคุณธรรมต่าง ๆ ยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้สำเร็จได้อย่างกว้างขวางไพบูลย์เปรียบเหมือนคนมีทรัพย์มาก ย่อมสามารถใช้จ่ายทรัพย์เลี้ยงตนเลี้ยงผู้อื่นให้มีความสุขและบำเพ็ญประโยชน์ต่าง ๆ ได้เป็นอันมาก (พระธรรมปิฎก, 2543 : 249 -250)
แผ่นเมตตา คือ แผ่ความปรารถนาดีไปยังเพื่อนมนุษย์ และสัตว์ทุกพวกโดยปรารถนาดีให้เพื่อนมนุษย์และสัตว์ทั้งปวงปราศจาก ทุกข์และเป็นสุขโดยทั่วกัน ทั้งนี้ก็เพื่อให้ปลอดภัยจากศัตรูและจากการพยาบาทจองเวร (พระเทพวิสุทธิกวี, 2541 : 8)
บรรณานุกรม
พระเทพวิสุทธิกวี (พิจิตร ฐิตวณฺโณ) , วิธีบำเพ็ญสมาธิเบื้องต้นและบทสวดมนต์เพื่อจิตตภาวนา. (พิ่มพ์ครั้งที่ 27), กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย
พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตตโต), 2543 พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม , (พิมพ์ครั้งที่ 9)
กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ปราโมทย์ สันตยากร 2545 วิมุตติปฏิปทา (พิมพ์ครั้งที่ 2)
http://www.jaisabuy.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538776548