ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2456 ณ ตำบลบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ในสกุล “โลหิตดี” โยมบิดาและโยมมารดาได้ตั้งชื่อเป็นมงคลนามว่า “บัว” โยมบิดาและโยมมารดาของท่านชื่อ “นายทองดี” และ “นางแพง” มีอาชีพเป็นชาวนาผู้มีอันจะกิน มีพี่น้อง ทั้งหมด 16 คน เมื่อท่านอายุได้ 21 ปี ได้ออกบวชสนองคุณบิดามารดาตามความปรารถนาของท่านทั้งสอง ท่านได้อุปสมบท ณ วัดโยธานิมิตร อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี โดยมีท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2477
อุปนิสัยของท่านอาจารย์พระมหาบัวนั้น จริงจังมากตั้งแต่เป็นฆราวาส ท่านเป็นผู้รับผิดชอบในกิจการงาน เป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจของโยมบิดามารดา เพราะฉะนั้น เมื่อท่านได้ออกบวช ท่านก็ตั้งใจพากเพียรเรียนรู้ทั้ง ปริยัติปฏิบัติ มิใช่บวชตามประเพณีเท่านั้น ดังที่ท่านเคยเล่าไว้ว่า
“แต่ว่าเรามันนิสัยจริงจังแต่เป็นฆราวาสแล้ว เวลาบวชก็ตั้งใจบวชเอาบุญเอากุศลจริงๆ และพร่ำสอนตัวเองว่า บัดนี้เราบวชแล้ว พ่อแม่ไม่ได้มาคอยติดสอยห้อยตามคอยตักเตือนเราอีกเหมือนแต่ก่อนแล้วนะ แม้เวลานอนหลับก็ไม่มีใครมาปลุกนะ แต่บัดนั้นมาก็ทำความเข้าใจกับตัวเองราวกับ
ว่า อัตตาหิ อัตตโน นาโถ นะ อย่างนั้นแหละ”
ด้วยเหตุนี้ เมื่อท่านได้มีโอกาสศึกษาธรรม ได้อ่านพุทธประวัติ และประวัติของบรรดาสาวกอรหันต์ทั้งหลาย ที่ออกมาจากสกุลต่างๆ ตั้งแต่พระราชามหากษัตริย์ มหาเศรษฐี กฎุมพี พ่อค้า ประชาชน ตลอดถึงคนธรรมดา เมื่อบวชแล้วต่างก็ไปบำเพ็ญในป่าในเขา หลังจากรับพระโอวาทจากพระพุทธเจ้าแล้ว เดี๋ยวองค์นั้นสำเร็จ พระอรหันต์อยู่ที่นั่น องค์นั้นสำเร็จอยู่ในป่านั้น ในเขาลูกนั้น ในทำเลนี้ มีแต่ที่สงบสงัด ท่านก็เกิดความเชื่อ เลื่อมใสขึ้นและคิดอยากบำเพ็ญเพื่อความพ้นทุกข์ เป็นพระอรหันต์ เจริญรอยตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเหล่าพระสาวกนั้น จึงได้ตั้งสัตยาธิษฐานว่า เมื่อจบเปรียญสามประโยคแล้ว จะออกปฏิบัติเพื่อความ หลุดพ้นโดยฝ่ายเดียว
ท่านได้ศึกษาปริยัติอยู่ประมาณ 7 พรรษา จนกระทั่งในพรรษาที่ 9 ท่านได้มีโอกาสไปกราบนมัสการท่าน พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ซึ่งท่านได้ทราบมาว่าเป็นพระสำคัญมากองค์หนึ่ง มีข้อปฏิปทาที่ผู้คนทั่วไป ยกย่องสรรเสริญ ท่านพระอาจารย์มั่น ท่านได้เมตตารับท่านไว้เป็นศิษย์ ตลอดระยะเวลาที่ท่านได้อยู่ ปรน นิบัติรับใช้ท่านพระอาจารย์มั่น ท่านมีความซาบซึ้ง ยกย่องท่านพระอาจารย์มั่นเหนือเศียรเกล้ายอมมอบกาย ถวายชีวิตบูชาท่านว่าเป็นพ่อแม่ครูอาจารย์
ท่านอาจารย์พระมหาบัว ได้อยู่ศึกษาปรนนิบัติรับใช้ท่านพระอาจารย์มั่นเป็นระยะเวลาประมาณ8 ปี ที่บ้านโคก บ้านนามน และบ้านหนองผือ ท่านอาจารย์ได้ช่วยดูแลกิจการภายในวัดผ่อนภาระ ของพ่อแม่ครู อาจารย์ พร้อมทั้งมีความมุ่งมั่นในการประกอบความพากเพียรควบคู่กันไป
ความเอาจริงเอาจังของท่านนั้น ท่านเล่าให้ฟังว่า ถึงขนาดนั่งภาวนาจนก้นแตก และท่านถูกจริตกับอุบาย แก้กิเลสตัวเองด้วยการผ่อนอาหาร จึงมักงดฉันอาหารติดต่อกันหลาย ๆ วัน ร่างกายซูบผอมจนเนื้อติดกระดูก ดังมีตัวอย่างท่านพักบำเพ็ญเพียรภาวนาอยู่หมู่บ้านหนึ่ง ท่านเล่าให้ฟังว่าชาวบ้านไม่เห็นท่านออกบิณฑบาต เป็นเวลานานผิดสังเกต จึงพากันเคาะระฆังประชุมกัน ด้วยลือกันว่าท่านคงจะตายแล้วก็เคยมี ท่านเป็น คนมีนิสัยเด็ดเดี่ยวเข้มแข็งมาก ท่านพูดให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการต่อสู้กับกิเลสให้ลูกศิษย์ฟังเสมอว่า “ถ้ากิเลสไม่ตาย เราก็ตาย จะให้อยู่เป็นสองระหว่างกิเลสกับเรานั้นไม่ได้” สภาพร่างกายของท่านในช่วง บำเพ็ญเพียรจึงเป็นที่น่าตกใจแก่ผู้พบเห็น แม้ท่านพระอาจารย์มั่นเอง เมื่อท่านได้เห็นสภาพที่ซูบผอมมากของ ท่านอาจารย์ อีกทั้งผิวกายก็ซีดเหลืองเนื่องจากอดอาหารมาเป็นระยะยาวนานหลังการเที่ยววิเวก ท่านยังเคย อุทานว่า “ท่านมหาฯ ถึงขนาดนี้เชียวหรือ” แต่ท่านเกรงว่าลูกศิษย์จะตกใจและเสียกำลังใจ ท่านก็กลับพูดให้ กำลังใจในทันทีว่า “มันต้องอย่างนั้นซิ จึงเรียกว่า นักรบ”
ต่อมาท่านพระอาจารย์มั่นได้มรณภาพเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492 ณ วัดป่าสุทธาวาส จังหวัด สกลนคร ความรักใคร่อาลัยพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นนั้นหาประมาณมิได้ สิ่งหนึ่งที่ท่านแสดงออกถึงความรัก เคารพท่านพระอาจารย์มั่นนั้น จะเห็นได้จากที่ท่านอาจารย์ได้ยึดถือข้อวัตรปฏิบัติ และปฏิปทาที่ท่านพระ อาจารย์มั่นพาดำเนินมาโดยเคร่งครัด ความเคารพผูกพันระลึกถึงพระคุณของพ่อแม่ครูอาจารย์ที่แนบแน่น ฝังจิตของท่านนั้น จะทราบได้ชัดเจนจากคำเทศน์ของท่านในตอนหนึ่งว่า
“…ผมไปอยู่ที่ไหน ถ้าไม่ได้กราบท่านอาจารย์มั่นแล้ว นอนไม่ได้ อยู่ที่ไหนก็เหมือนกัน แม้ที่สุดจะเดินจงกรม ก็ต้องหันหน้าไปไหว้ท่านเสียก่อน ถ้ามีรูปท่านเป็นที่หมายของสมมุติ ก็กราบไหว้รูปของท่าน หากไม่มีอะไรเลย ก็เอาคุณธรรมของท่านประกอบเรื่องของสมมุติน้อมนมัสการไป พระคุณของท่านไม่มีวันจืดจางประหนึ่ง ว่า ท่านไม่ได้ล่วงลับไป ธรรมชาติอันหนึ่งเป็นอย่างนั้น เหมือนกับดูเราอยู่ตลอดเวลา…”
หลังจากเสร็จงานถวายเพลิงแล้ว ท่านอาจารย์ได้ปลีกออกจากหมู่เพื่อน ไปอยู่ตามป่าเขาแต่ลำพัง ท่านมุ่ง อยู่ในความเพียรตลอด ไม่เคยท้อถอย คอยควบคุมรักษาจิต ภาวนาตลอดรุ่ง ต่อสู้ทุกขเวทนาใหญ่ ต่อสู้ด้วย การเอาชีวิตเข้าแลกธรรม ครั้งหนึ่ง ท่านได้ย้อนกลับไปที่วัดดอยธรรมเจดีย์ (อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัด สกลนคร) ณ ที่นี้ ท่านได้พิจารณาแก้ปัญหาธรรมที่ติดค้างอยู่เป็นผลสำเร็จ ในวันแรม 14 ค่ำ เดือน 6 เวลา 5 ทุ่มตรง เป็นพรรษาที่ 16 ดังอุทานธรรมของท่านที่ปรากฎ
“… เจ้าตัวเกิดความอัศจรรย์ล้นโลก อุทานออกมาว่า โอ้โห่ ๆ อัศจรรย์หนอ ๆ ก่อนธรรมนี้อยู่ที่ไหน ๆ มาบัดนี้ ธรรมแท้ ธรรมอัศจรรย์เกินคาด (เกินโลก) มาเป็นอยู่ที่จิต และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับจิตได้อย่างไร และแต่ ก่อนพระพุทธเจ้า พระสงฆ์สาวกอยู่ที่ไหน มาบัดนี้ องค์สรณะที่แสนอัศจรรย์มาเป็นอัน หนึ่งอันเดียวกับจิตดวง นี้ได้อย่างไร โอ้โห ธรรมแท้ พุทธะแท้ สังฆะแท้ เป็นอย่างนี้หรือ ไม่อยู่กับความคาดหมายด้นเดาใด ๆ ทั้งสิ้น แต่เป็นความจริงล้วนๆ อยู่กับความจริงล้วน ๆ อย่างเดียว …”
หลังจากนั้นท่านได้ไปจำพรรษาตามที่ต่าง ๆ เช่น วัดหนองผือ ห้วยทราย เป็นต้น ระยะนี้เองบรรดาพระเณรพา กันติดตามท่านไปด้วยมากมาย เพราะเมื่อขาดพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นแล้ว หมู่เพื่อนก็ยึดท่านเป็นที่พึ่ง แม้ท่าน พระอาจารย์มั่นก็ยังได้เคยปรารภถึงท่านอาจารย์อยู่เนือง ๆ ว่า “ท่านมหาฯ ฉลาดทั้งนอกทั้งใน จะเป็นที่พึ่งแก่ หมู่คณะได้มาก” ท่านก็อนุเคราะห์รับไว้ด้วยเมตตาเพราะมาระลึกถึงความสำคัญของ ครูบาอาจารย์ที่จะเป็น ที่พึ่งและกำลังใจแก่ลูกศิษย์ลูกหา อีกทั้งระลึกถึงองค์ท่านเองที่เคยเสาะแสวงหาครูบาอาจารย์มาแต่ก่อน ทั้งที่ปกติของท่านรักความวิเวกอย่างยิ่ง
ประมาณปี พ.ศ.2499 เหตุด้วยระลึกถึงพระคุณของโยมมารดา ปรารถนาให้โยมมารดาได้รู้เห็นธรรม ท่านจึง ได้กลับไปที่บ้านตาด และได้บวชชีให้โยมมารดา ตลอดจนแนะนำข้อปฏิบัติภาวนา ช่วงเวลานี้เอง ชาวบ้าน ตาดได้พร้อมใจกันถวายที่ดินประมาณร้อยกว่าไร่แก่ท่าน เพื่อให้ท่านตั้งเป็นวัดขึ้นตามดำริของท่าน วัดป่าบ้านตาดจึงเกิดขึ้นแต่นั้นมา
วัดป่าบ้านตาดในวันนี้ ได้กลายเป็นจุดรวมใจของพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ ผู้คนต่างพากันหลั่งไหลมากราบ นมัสการท่านอาจารย์มิเว้นแต่ละวัน
ข้อวัตรปฏิบัติ ตลอดจนปฏิปทาที่ท่านอาจารย์ได้รักษาสืบต่อจากพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นอย่างเคร่งครัดเหนียว แน่น กลายเป็นความงดงามประทับตาประทับใจแก่บรรดาพุทธศาสนิกชนที่ได้เข้าไปสัมผัส ท่านได้สั่งสอน อบรม พระเณรและฆราวาส ท่านเข้มงวดในด้านจิตตภาวนา รักษาวัดให้เป็นที่สงบสงัด ไม่เอนเอียงไปตาม โลก ประหยัดเครื่องใช้ไม้สอย งดเว้นสิ่งก่อสร้างที่ไม่จำเป็น ตลอดทั้งไม่สั่งสมปัจจัยเครื่องไทยทาน
นอกจากเมตตาในทางธรรมแล้ว ท่านยังเมตตาในทางโลก โดยเสียสละทั้งกำลังกายกำลังทรัพย์บริจาค ให้แก่ โรงพยาบาลอันเป็นที่รวมของผู้มีทุกข์จากโรคภัยต่าง ๆ ท่านได้บริจาคเครื่องเอ็กซเรย์ อัลตราซาวด์ เครื่องตรวจ คลื่นหัวใจ รถพยาบาล เตียง เครื่องปรับอากาศ ฯลฯ ทั้งนี้ แล้วแต่ความจำเป็นของโรงพยาบาลแต่ละแห่ง นอก จากนั้น ท่านได้บริจาคช่วยเหลือให้แก่โรงเรียน สถานสงเคราะห์ หน่วยราชการ และวัดต่าง ๆ อยู่เป็นประจำ
ในเรื่องการอบรมสั่งสอนให้ประพฤติดีประพฤติชอบ คำสอนของท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน ได้แพร่หลายไปทั้งในและนอกประเทศ จากคำเทศน์คำสอนได้กลายมาเป็นเทป เป็นหนังสือ จำนวนมากมาย มหาศาล ซึ่งบรรจุข้อธรรมะสำหรับฆราวาส รวมทั้งธรรมะขั้นปฏิบัติที่ละเอียดสำหรับพระเณรและผู้ที่สนใจใน การปฏิบัติสมาธิภาวนาโดยทั่วไป ซึ่งจะเป็นมรดกธรรมที่ล้ำค่าของพุทธศาสนิกชนสืบไป
ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน ได้รับการสถาปนา แต่งตั้งสมณศักดิ์เป็น “พระราชญาณวิสุทธิโสภณ” โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2536 เป็นกรณี พิเศษ ปัจจุบันถือได้ว่าท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่สุดในสาย วิปัสสนากรรมฐาน
ขอขอบคุณ http://watsiammin-sweden.com/