ธรรมะ พุทธทาสภิกขุ
ธรรมะ
ความหมายของธรรม ถ้าจะว่ากันแท้จริงแล้ว ชีวิตก็เป็นธรรมะอยู่แล้ว แต่มีธรรมะอีกหลาย ๆ อย่างที่ต้องประกอบกันอยู่ คำว่าธรรมะ มีความหมายประกอบกัน 4 อย่างคือ
ตัวธรรมชาติ
กฎธรรมชาติ
หน้าที่ตามกฎธรรมชาติ
ผลที่เกิดจากหน้าที่
ธรรมะกับชีวิต
เมื่อมองตัวเรา เนื้อหนัง ร่างกาย จิตใจของเราที่มีอยู่นี้เรียกว่า “ตัวธรรมชาติ” ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณที่เป็นตัวร่างกายมีชีวิต นี้เรียกว่า ตัวธรรมชาติ
ตัวกฎธรรมชาติ ซึ่งมีอยู่ในตัวเรา ในร่างกายของเราที่มันจะเกิดขึ้น หรือเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เจริญอย่างไร เสื่อมอย่างไร กระทั่ง เราจะต้องทำอย่างไรกับมัน เป็นตัวกฎเกณฑ์ที่มีอยู่ในชีวิตนี้แล้ว
หน้าที่ของเรา ก็คือต้องทำให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์นั้น ๆ เพื่อมีชีวิตอยู่ได้และเพื่อชีวิตเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป เพื่อชีวิตอยู่ได้มันมีกฎเกณฑ์ทำให้เกิดหน้าที่แก่เรา เช่น เราต้องรับประทานอาหาร ต้องอาบน้ำ ต้องถ่าย ต้องหาปัจจัย อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย การบำบัดโรคภัยไข้เจ็บ กระทั่งการคบหาสมาคมกับบุคคลรอบด้านหรือสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเรา ให้ถูกต้อง นี่เป็นหน้าที่ที่ต้องทำให้อยู่รอดได้ ถ้าทำหน้าที่นี้ไม่ถูกต้องมันอาจจะตายหรือเกือบตาย หน้าที่อีกแผนกหนึ่ง ก็คือ จะต้องทำให้เจริญด้วยคุณค่ายิ่ง ๆ ขึ้นไป อย่าให้เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง
การเป็นมนุษย์ คนหนึ่งนั้นหมายความว่า มันต้องได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ ถ้าไม่ได้รับสิ่งนี้ มันก็เสียชาติเกิดเพราะว่ามันจะต้องได้เต็มที่ ตามที่มนุษย์อาจจะรับได้ ฉะนั้นจึงเกิดเป็นหน้าที่อีกชั้นหนึ่งว่า เราต้องทำให้ได้รับผลประโยชน์ของความเป็นมนุษย์ให้ถึงที่สุด
หน้าที่ชั้นแรกที่ว่าทำให้รอด หน้าที่อยู่ได้นี้สัตว์เดรัจฉานก็ทำเป็น สุนัข แมว กา ไก่ อะไรมันก็ทำเป็นและมันก็ ทำอยู่ตามธรรมชาติ เพื่อให้รอดชีวิตอยู่ได้ ครั้นรอดชีวิตอยู่ได้แล้ว สัตว์เหล่านั้นมันหมดหน้าที่ แต่ว่ามนุษย์ยังไม่หมด คนเราเมื่อรอดชีวิตอยู่ได้แล้ว ต้องทำต่อไปคือ เลื่อนชั้นของชีวิตนั้นเอง ให้มันสูงขึ้น สูงขึ้นไปให้เต็มไปด้วยคุณค่าหรือประโยชน์อย่างสมบูรณ์ ทั้งประโยชน์ที่พึงมีแก่ตนและประโยชน์พึงมีแก่ผู้อื่นหรือทั้งสองฝ่ายร่วมกันก็ได้ ดังนั้นมนุษย์จึงผิดแปลก แตกต่างจากสัตว์ เป็นอันมากในข้อนี้
เมื่อทำหน้าที่ อันนี้ถูกต้อง มันก็เลยได้รับผลของหน้าที่คือ ถ้าทำถูกต้องมันก็ได้รับผลเป็นสุข เต็มไปด้วยประโยชน์ดังที่กล่าวแล้ว ถ้าทำไม่ถูกต้อง มันจะไม่มีประโยชน์คุณค่าอะไร สักว่ามีชีวิตอยู่หรือถ้าทำไม่ถูกต้องยิ่งไปกว่านั้นอีก มันก็เป็นคนที่มีสุขภาพไม่สมบูรณ์ เจ็บ ๆ ไข้ ๆ หรือ ตายไปเลย ไม่ได้เหลือรอดเป็นชีวิตอยู่ ฉะนั้น การที่เราทำให้สบายดี มีสุขภาพดีแล้วปฏิบัติหน้าที่ของตน ให้เกิดผลแก่ทุกฝ่ายนั้นแหละเรียกว่าหน้าที่ ธรรมะคือหน้าที่ แล้วผลที่เกิดมา อย่างนั้นแหละคือผลที่เกิดจากหน้าที่
หน้าที่เป็น ธรรมะที่สำคัญที่สุด ธรรมะในความหมาย 4 อย่างนั้น อย่างที่ 3 นั่นแหละสำคัญ ที่ทุกท่านกำลังอ่านหรือศึกษาธรรมะอยู่นี้ นั่นก็คือท่านกำลังทำหน้าที่คือความรู้ธรรมะ ความหมายที่ 3 ขอย้ำหรือทบทวนอีกครั้งว่า ธรรมะคือธรรมชาติ เนื้อหนัง ร่างกายเรา ธรรมะคือกฎธรรมชาติ ที่มันควบคุมร่างกายนี้อยู่ให้เป็นตามกฎ ธรรมะ ความหมายที่ 3 คือหน้าที่ สิ่งที่มีชีวิตจะต้องทำให้ถูก ตามกฎของธรรมชาตินั้น ๆ มนุษย์จะต้องประพฤติให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ ส่วนธรรมะ ในความหมายที่ 4 จะเกิดขึ้นเองถ้ามนุษย์ปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติแล้วย่อมเกิดผลดีนั่นเอง
เรื่องนี้ไม่ใช่เฉพาะคน ต่ำลงไปถึงสัตว์เดรัจฉานก็ต้องทำ แม้แต่ต้นไม้ก็ต้องทำหน้าที่ดำรงชีวิต เหมือนกัน ฉะนั้นต้นไม้ก็มีธรรมะคือหน้าที่ แต่ไม่ค่อยมีใครพูดว่าต้นไม้มีธรรมะปฏิบัติแต่ขอบอกให้รู้ว่ามันเป็นจริงอย่างนั้นเพราะสิ่งที่เรียกว่าหน้าที่แล้วก็เรียกว่าธรรมะได้ทั้งนั้น ธรรมะมีความหมาย 4 ประการอย่างนี้ หลายคนเคยได้ยิน ได้ฟังครูสอน ครูบอก ว่า ธรรมะหรือพระธรรมคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วก็จบ อันที่จริงแล้วคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้นก็คือธรรมะ 4 เรื่องนี้คือ เรื่องธรรมชาติ เรื่องกฎธรรมชาติ เรื่องหน้าที่ตามกฎธรรมชาติ เรื่องผลที่เกิดจากหน้าที่ตามกฎธรรมชาติ แต่ถึงอย่างนั้น ความสำคัญก็อยู่ในความหมายที่ 3 ที่ว่าหน้าที่ตามกฎธรรมชาติ
ดังนั้น ความหมายที่เราต้องสนใจที่สุดก็คือ ธรรมะ ในความหมายที่ 3 คือธรรมะคือหน้าที่ สิ่งที่มีชีวิตทุกชนิดจะต้องประพฤติกระทำให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ จึงจะอยู่รอดได้หรือจะเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป
พระธรรม
ธรรม มีเสียงพ้องกับคำว่า ทำ ในภาษาไทย ถ้าข้อความไม่ชัดเจนอาจเติมสระ อะ เป็นธรรมะ แต่จะใช้คำว่า ธรรมะ เฉพาะเมื่อหมายถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น ธรรม (ทำ) หรือ ธรรมะ (ทำ-มะ) เป็นคำที่มาจากคำภาษาสันสกฤต ธรรม แปลว่าสิ่งที่แบกไว้ หมายถึงกฎหมาย หน้าที่ ยุติธรรม ความถูกต้อง คุณความดี คุณธรรม ธรรมชาติ เป็นต้น
ในภาษาไทยใช้คำว่า ธรรม หรือ ธรรมะ หมายถึง คำสั่งสอนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า
เนื้อหาสาระเรื่องราวที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนทั้งหมดทั้งสิ่งที่ดีและชั่วเรียกว่า ธรรม หรือ ธรรมะ เช่น ทรงสอนเรื่องอริยสัจ 4 ความจริงอันประเสริฐ ทรงสอนเรื่องไตรลักษณ์ หรือ อนัตตลักขณสูตรสอนเรื่องกิเลส ก็เรียกว่า ทรงสอนธรรมเรื่องกิเลส หรือทรงสอนธรรมะเรื่องกิเลส
ธรรมหมายถึงการประพฤติที่ดีที่ถูกต้องได้ เช่น ธรรมที่ประพฤติดีแล้วนำสุขมาให้ ผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุข ใครๆ ก็สรรเสริญการกระทำที่เป็นธรรม
ธรรม หมายถึง ความยุติธรรม เช่น ถ้าผู้ปกครองประเทศปกครองด้วยความเป็นธรรม ประชาชนก็เป็นสุข
เมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการแล้ว ก็ทรงมีพระมหากรุณาปรารถนาจะให้สัตว์โลกพ้นทุกข์ จึงทรงสั่งสอนเหล่าสาวกและคนทั่วไปด้วยคำสอนต่าง ๆ คำสอนของพระพุทธเจ้านี้เรียกว่า พระธรรม
พระธรรม คำสอน ขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าแบ่งออกเป็นสามภาคประกอบด้วย
1. ปริยัติธรรม หรือ พระไตรปิฎก
2. ปฏิบัติธรรม หรือ ไตรสิกขา
3. ปฏิเวธธรรม หรือ โลกุตรธรรม
พระธรรม คัมภีร์ ของพระพุทธศาสนา หรือ คำสอนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าที่เป็นภาคทฤษฎี เรียกว่า พระไตรปิฎก ประกอบด้วย พระอภิธรรมปิฎก พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก
อภิธรรมปิฎก หรือพระอภิธรรม หมายถึง ประมวลพระพุทธพจน์หมวดพระอภิธรรม หลักคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เป็นภาคทฤษฎีบท หลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักคำสอนล้วน ๆ ไม่เกี่ยวด้วยบุคคลหรือเหตุการณ์ เปรียบเสมือนวิชาวิทยาศาสตร์
พระวินัยปิฎก หรือ พระวินัย หมายถึง ประมวลพุทธพจน์หมวดพระวินัย คือพุทธบัญญัติเกี่ยวกับความประพฤติ ความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียมและการดำเนินกิจการต่าง ๆ ของภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ เปรียบเสมือนวิชากฎหมาย
พระสุตตันตปิฎก หรือ พระสูตร หมายถึง ประมวลพุทธพจน์หมวดพระสูตร คือ พระธรรมเทศนาคำบรรยายธรรมต่างๆ ที่ตรัสยักเยื้องให้เหมาะกับบุคคลและโอกาสตลอดจนบทประพันธ์ เรื่องเล่า และเรื่องราวทั้งหลายที่เป็นชั้นเดิมในพระพุทธศาสนา ที่พระพุทธเจ้า สอนใคร สอนเรื่องอะไร สอนที่ไหนเปรียบเสมือนวิชาประวัติศาสตร์
พระธรรม คำสอนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าที่เป็นภาคปฏิบัติ แบ่งออกเป็น 3 ด้านประกอบด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา รวมเรียกว่า ไตรสิกขา
พระธรรม คำสอนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าที่เป็นผลจากปฏิบัติ แบ่งออกเป็น 3 ด้านประกอบด้วย มรรค ผล นิพพาน รวมเรียกว่า โลกุตรธรรม
คำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงเทศนานั้นมีสาระสำคัญ 3 ประการ หรือ โอวาท 3 คือ ให้ประพฤติดี ให้ละความชั่ว และทำจิตใจให้ผ่องใส
นอกจากสาระสำคัญทั้ง 3 ประการนี้ พระพุทธเจ้า ได้ทรงชี้ให้เห็นถึงสาเหตุแห่งการเกิดทุกข์ การดับทุกข์ และวิธีปฏิบัติตนของพุทธบริษัท 4 เพื่อให้หลุดพ้นจากวัฏสังสาร วงจรของการเกิดดับ หลุดพ้นจากความทุกข์ต่าง ๆ ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป
http://www.phradoi.com/main/read.php?tid=2763