ธรรมบรรยาย การบรรยายธรรมของพระเดชพระคุณพระราชสุทธิญาณมงคล

ธรรมบรรยาย การบรรยายธรรมของพระเดชพระคุณพระราชสุทธิญาณมงคล
ณ หอประชุมภาวนา-กรศรีทิพา
วันอังคารที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๔๑
หรือวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๗

เป็นธรรมะที่บรรยายโดยพระเทพสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม) ในโอกาสต่างๆ ที่ผ่านมาในอดีต
———————————————————————

ขอเจริญพร บรรดาท่านทั้งหลาย วันนี้เป็นวันพระ แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๗ เป็นวันสิ้นเดือนอีกวาระหนึ่ง หมดเวลาไปแล้ว ๑ เดือน ๒๔ นาฬิกาในค่ำคืนวันนี้ก็จะเริ่มเป็นเดือนใหม่ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๘ ใกล้เวลากาลจะถึงวันอาสาฬหบูชา ใกล้จะถึงฤดูฝน ในโอกาสข้างหน้านี้แล้ว ท่านทั้งหลายเอ๋ย กาลเวลาก็ล่วงเลย และเราอย่าละเลยเวลาที่มันปราศจากประโยชน์ล่วงเลยไปเปล่า ไม่มีประโยชน์อันใด วันนี้เป็นวันพระสิ้นเดือน ก็ขอให้มันสิ้นไปทั้งกิเลส สิ้นไปทั้งความเกียจคร้านและหน้าที่รับผิดชอบ ขอให้ผุดขึ้นมาในดวงใจ ด้วยการขยันหมั่นเพียร ศึกษาเล่าเรียนการวิชา แสวงหาวิชาให้สมปรารถนาเป็นมหานิยมชีวิต ข้อคิดมีค่าในวันนี้มากหลาย เพราะฉะนั้นวันนี้วันสิ้น แปลว่าสิ้น ขอไม่สิ้นความหวัง แต่สิ้นความชั่วเอาตัวรอดได้ เราจะเดินทางไม่สิ้นหวัง มุ่งมาดปรารถนาถึงเวียงวัง เจริญกุศลภาวนาให้ถึงฝั่งฟาก คือเหตุผลแห่งความสำเร็จของชีวิตในวันนี้

ท่านสาธุชนทั้งหลายวันนี้เป็นวันฟังธรรม ฟังธรรมะประจำจิต ชีวิตประกอบกิจในหน้าที่และการงานที่ตนหวังไว้ทุกประการวันนี้วันพระ ขอให้จิตใจลดละในสิ่งต่าง ๆ ขอให้จิตใจประเสริฐล้ำเลิศทุกประการ มีชีวิตมั่นคงและถาวรตลอดกาลปาวสาน จะได้มั่นคงในชีวิต ดำรงศาสตร์ศึกษาเล่าเรียน จะได้สำเร็จตามเป้าหมายและจุดประสงค์ทุกประการ ท่านสาธุชนในฐานะเป็นพุทธศาสนิกและวันนี้ท่านเป็นผู้ทรงศีลทรงธรรม ท่านจะสร้างกิจกรรมให้มีประโยชน์ในชีวิตของท่านในวันนี้นั้น กิจกรรมคือการสร้างสรรค์แสวงหาความรู้ทุกประการ ข้อสองกิจกรรมประจำชีวิต ต้องละซึ่งความชั่วร้ายในตัวออกให้หมดทิฏฐิมานะออกให้หมด ความรู้จะได้สร้างสู้ความดีมีปัญญา ข้อที่สาม ขอแสวงหาในชีวิตของท่านทำให้แจ้งถึงใจ ทำให้มั่นคง ดำรงศาสตร์ ให้มันถึงจิตถึงใจ อย่าทำเป็นเปลือก ต้องทำให้มันถึงแก่น จิตใจจะได้มั่นคง จิตใจดำรงศาสตร์ ตรงนี้เป็นข้อสาม ทำอะไรทำให้แจ้งทำให้แดงแจ๋และทำให้เกิดแสงสว่างในใจ นี่เป็นกิจกรรมประจำตัว กิจกรรมข้อสี่ ต้องการจะเจริญเดินไปข้างหน้าก้าวต้องมีที่เกาะ เกาะต้องมีที่เก็บ สืบเสาะเจาะให้ลึก เราจะเจริญได้ก็ต้องพัฒนาตัวเอง ในกิจกรรมข้อสี่ มือสอง เท้าสอง สมองหนึ่ง เป็นที่พึ่งมา พ่อให้หัวใจ แม่ให้น้ำเลือด น้ำเหลือง เป็นคนเดียวกันแล้ว รีบเร่งรัดพัฒนาตนเอง เป็นกิจกรรม ๔ ประการ ถ้าใครมีกิจกรรมตัวเอง พฤติกรรมจะแสดงออกเป็นบุคคลสำคัญในโลก พฤติกรรมแสดงออกทางมารยาท พฤติกรรมแสดงออกทางวาจา พูดจริงทำจริง พฤติกรรมแสดงออกมาทางจิตใจ มีอัธยาศัย มีน้ำใจ มีมนุษยสัมพันธ์ในสังคมชีวิต ชีวิตจะเกิดมรรคเกิดผลด้วยการพัฒนาตน เป็นพฤติกรรมแสดงออกได้ชัดเจนมาก แสดงออกอย่างไรหรือ แสดงออกให้คนอื่นเห็นเรียกว่าพฤติกรรม แต่หันมุมกลับมาถึงตัวเราเรียกว่าพฤตินัย แต่ประสบการณ์กับปัญหาพฤติกรรม ได้ประสบการณ์จากการกระทำของตนเองแล้วนั้น เป็นวิทยานิพนธ์ชีวิต เอามาเขียนประสบการณ์เรียกว่าพฤตินัย เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาเล่าเรียนเพียรขวนขวาย เรียกว่าอะไรเรียกว่าวิทยานิพนธ์ เริ่มต้นด้วยการสร้างสรรค์ฐานะ เริ่มต้นตั้งปริญญาโท ปริญญาเอกไปตามระดับขั้นตอน นี่เรียกว่าเป็นวิทยานิพนธ์ชีวิต ท่านผู้ใดใครที่ไหนก็ตาม ขาดข้อคิด ขาดสติปัญญา ขาดความสามารถ ขาดประสบการณ์กับปัญหาชีวิตแล้วนะ ท่านจะไร้ความหมาย ขาดเหตุผล ไม่มีอานิสงฆ์แต่ประการใดนี่หรือคือความหมายของชีวิตของท่าน ท่านจะเดินทางไปศึกษาเล่าเรียนในต่างประเทศต่างแดน ไปหาอาจารย์ทิศาปาโมกข์แห่งเมืองตักศิลา ต้องมุ่งหน้าปรารถนาด้วยความจริงใจอันนี้ จึงจะแสดงกิจกรรมออกมาให้ได้ ถ้ากิจกรรมมีแก่ท่านทั้งหลาย สนใจในตนเอง อย่าไปสนใจกับเพื่อนสนใจสิ่งเลวร้ายหละหลวมเหลาะแหละเหลวไหล ถ้าท่านทำกิจกรรมได้ครบแสดงเหตุผลด้วยเหตุผลข้อเท็จจริง นี่แหละคือเหตุผลข้อหนึ่ง ต้องแสวงหาวิชาความรู้ใส่ตน เป็นข้อแรก รู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหาม เรียนรู้ ดูจำ ทำจริง เรียนให้รู้ ดูให้จำ ทำให้จริง เป็นเหตุผลที่น่าคิด น่าทำ ประจำใจ ขอฝากไว้แก่นิสิตนักศึกษา เป็นผลงานของท่านเอง อย่าไปเกรงกลัวความดี กล้า ไม่กลัว กล้าสร้างความดี ไม่กลัวใครทั้งนั้น ถึงจะได้ผลเป็นด็อกเตอร์ต่อไปในโอกาสข้างหน้าแน่นอน จุดมุ่งหมายอันนี้ ทำดีก็กลัว ทำดีก็ไม่กล้า เลวที่สุด ทำชั่วไม่ต้องกลัวใครเลย หน้าบางหน้าหนาไม่เท่ากัน จุดมุ่งหมายของชีวิตนี้หาใช่วิสัยนักปราชญ์ เปรื่องปราชญ์ทวีมีปัญญาไม่ ไม่มีโอกาสที่จะดีได้แน่นอน ขอฝากไว้ทุกท่าน คนที่สร้างกิจกรรมให้ตัวนี่พระพุทธเจ้าสอน ไม่แสวงหาความรู้จะไปสู้งานได้ไหม ไม่มีความอดทน อดกลั้น ประนีประนอม ยอมความ แต่ประการใด จุดมุ่งหมายอันนี้ ต้องละหมดเลย ต้องละพยศ ละทิฎฐิมานะ ละเกียจคร้านต่อหน้าที่ โดยรับผิดชอบต่อหน้าที่และการงาน เพราะคนเราอยู่ด้วยหน้าที่ อยู่ด้วยการงาน หากคนเราขาดหน้าที่ ขาดการงาน อยู่ไม่ได้ในโลก กินแล้วก็นอน นอนแล้วก็กิน มันไม่มีอะไรทุกสิ่งเป็นเรื่องของเขา ไร้สาระ เป็นคนตายแล้ว คนตายก็ดีแต่กิน ดีแต่นอน นอนแล้วก็กิน กินแล้วก็นอน จนเบื่อหน่าย เอือมระอาชีวิต ชีวิตแร้นแค้นไม่มีแบบแปลนและแผนผังแน่นอน หรือกิจกรรมของท่านสาธุชนทั้งหลาย มีโอกาสที่จะดีได้หรือประการใด ขอฝากท่านสาธุชนและอุบาสกอุบาสิกาด้วย นี่พระพุทธเจ้าสอน เกิดมาทั้งทีเอาดีไม่ได้เชียวหรือ ไหนจะเดินทางไปสู่โลกมนุษย์ทั้งที่ก็เอาดีไม่ได้ แถมเดือดร้อนนานาประการในชีวิตของท่าน เดือดร้อนทั้งพ่อแม่ เดือดร้อนถึงสังคม เดือดร้อนถึงอุดมการณ์ของชีวิต เป็นที่น่าบัดสีเหลือเกิน น่าอับอายขายหน้า หนุ่มสาวยุคใหม่ คนที่ดีมีปัญญา เขามีหิริโอตัปปะอายเกรงกลัวต่อบาป ทุจริต แต่ความดีแล้วต้องกล้า ความดีแล้วไม่ต้องกลัวใคร กล้าทำกล้าคิด กล้าแสดงความคิดออกมา จะเป็นคุณพ่อ คุณแม่ก็ตาม เราก็ต้องแสดงความคิดที่ถูกต้อง ชีวิตไม่แร้นแค้น ไม่มีแปลนและแผนผัง ต้องแสดงออกบ้าง ต้องแสดงความคิดที่มันถูกต้อง ไม่ใช่ความคิดแต่อารมณ์ของตน จะคิดแต่ไร้ผล ไม่มีกฎวิชาการ ไม่มีหลักฐานและงานทำ ชีวิตจะแร้นแค้น ออกมาชัดเจนมาก
นี่แหละกิจกรรมที่มีประโยชน์ของพระพุทธเจ้าสอนนักสอนหนาออกมาชัด ว่าต้องละความชั่ว เราจะไปสร้างสรรค์วิชาการ เราจะไปสร้างงานและหน้าที่ ต้องละหมด ละความชั่ว สร้างตัวให้หมด ความดีหมดจดผ่องใส ผุดผ่องเหมือนทองคำธรรมชาติ ชีวิตถึงจะมีแปลน แบบแผนและแผนผัง ท่านสาธุชนทั้งหลายเอ๋ย ก้าวให้มีที่เกาะไว้ก่อน ก้าวไม่มีที่เกาะก้าวไปจะล้ม แปลว่าทำงานไม่มีหลักฐาน ไม่มีผลงานในชีวิต ก้าวส่งเดชไปได้หรือลงบันไดไม่เกาะ จะต้องหัวตำไปจนได้ ตำลงไปแล้วจะไปโทษใคร โทษตัวเองเถิด ใจเร็วด่วนได้ ก้าวทีเดียวหรือ ๕ ขั้น ก้าวไปเลน ๙ ขั้น หัวทิ่มลงบันได นี่แหละก้าวไม่มีที่เกาะ แถมเกาะไม่มีที่เก็บ หยิกเล็บมันเจ็บเนื้อมันเหลือวิสัย นี่หรือนักปราชญ์ราชกวีมีปัญญาโอกาสอันดีงามท่านเอาไปทิ้งเสีย หาโอกาสชั่ว ๆ มาใส่ตัว ชีวิตนี้จะไม่มีแปลน ขาดความอดทน อดกลั้น อดออม ประนีประนอมยอมความ สืบเสาะเจาะให้ลึกได้ไหม ผู้ที่มาปฏิบัติธรรม สืบแต่ไม่เสาะ ไม่เจาะให้ลึก เป็นคนตื้นเหลือเกิน เป็นคนตื้นมาก แหย่หน่อยก็หัวเราะ เรื่องไม่น่าหัวเราะก็หัวเราะ เรื่องไม่น่าขำก็ขำ ตื้น คนที่ลึกคือคนมีปัญญา เขาไม่หัวเราะง่าย เขาจะนิ่ง ดูเหตุดูผลดูยุทธวิธีในสงคราม คนที่นิ่งได้ ดี ดูคนนั้น ดูคนนี้ ดูคนนี้ ดูคนนั้นถูกต้องแล้ว ดูเพื่ออะไร ดูเพื่อแจ้งจิตนี่ทำให้แจ้งถึงใจ ข้อสามทำให้แจ้งถึงจิต ชีวิตแร้นแค้น เจริญกรรมฐานต้องการให้ท่านแจ้งที่จิตใจ ไม่ใช่มาทำจิ้ม ๆ จ้ำ ๆ ไม่ได้อะไรกลับไป นั้นจะแจ้งถึงใจไหม ถ้าท่านแจ้งแล้วหมดปัญหา ไม่มีกังขาและสงสัย ไม่มีสงสัยไม่มีกังขาแต่ประการใด เพราะท่านแจ้งแล้ว เข้าใจแล้ว สว่างแล้ว โล่งแล้ว โปร่งใส ไม่มีกังขา ไม่ลังเล ไม่มีสงสัย คำนี้เป็นที่น่าต้องการ ท่านผู้ปฏิบัติกรรมฐาน ท่านต้องการอะไร ต้องการไปสวรรค์เท่านั้นหรือ ต้องการมาบวชชีพราหมณ์ มันน่ารำคาญ ปึ๊งปั้ง เขาจะนั่งภาวนา ไม่แจ้ง ท่านยังอยู่ในความมืด มิได้อยู่ด้วยความสว่างแต่ประการใด จะแจ้งถึงใจได้หรือ ถ้าแจ้งแล้วท่านจะสงบ ถ้ายังอยู่ในที่มืดท่านจะดิ้นรน เพราะมองไม่เห็นจะออกประตูไหน จะปีนหน้าต่างดีไหม จะปีนรั้วดีไหม เพราะมันมืด คนเราถ้าแจ้งถึงใจแล้วจะสว่าง จะออกทางประตู เข้าทางประตูออกตามประตู คนที่มันมืดบอด ไร้สาระไม่มีเหตุผล ไม่มีความรู้จริง จะออกหน้าต่าง จะปีนป่าย ปิดประตูก็ปึ๊งปั้ง ๆ ห้องน้ำห้องส้วมก็สกปรก คนที่สว่างแล้วจะเห็นของสกปรก ถ้าแสงสว่างมากจะเห็นของสกปรกมาก ถ้าท่านมืดจะมองไม่เห็นของสกปรกในตัวท่าน ท่านมาเจริญสมาธิ ท่านจะรู้ว่าตัวท่านมีสมาธิแสงสว่างเท่าไร กระแสไฟกี่เปอร์เซ็นต์ ๑๖๐ หรือ ๑๐๐ แรงเทียน หรือ ๕ แรงเทียน ๓ แรงเทียน มันจะริบหรี่ ๆ มองเห็นไม่ชัดเจน เหมือนจิตใจของท่านเคลือบแฝงสงสัยและลังเลตลอดรายการ สามีภรรยาก็สงสัยกันตลอด รักกันเฉพาะกามคุณ ไม่อุ่นใจ ไม่เหมือนรักกันด้วยความสว่างรักด้วยความสงบ รักด้วยปรารภธรรม ท่านจะรักกันแน่นหนาฝาคั่ง นั่นคือเมตตา ปรารถนาดีในความสว่างไสวของท่าน นาย ก. เป็นสามี นาง ข. เป็นภรรยา สว่างนอก สว่างใน สว่างจิต สว่างใจ เขาจะรักผูกพันกันแน่น ลูกหลานก็เกิดแสงสว่างในบ้านนั้นไม่มีกังขา ไม่สงสัยแต่ประการใด ชีวิตจะแจ่มใสตลอดต้นชนปลาย จนชีวิตหาไม่ ตรงนี้น่าสนใจมาก แต่ท่านไม่ทำให้แจ้งถึงใจ หนอ ๆ แหน ๆ ซู่ซ่า ๆ แล้วก็โอเว่อร์ต่อไปด้วย เสียใจกับท่าน ท่านนิสิตนักศึกษาที่รักยิ่ง ทุกสิ่งทำให้แจ้งถ้าไม่แจ้งมันจะแปรผัน จะหละหลวมเหลาะแหละเหลวไหลต่อไป โปรดยึดมั่นในความดีไปกรุงพาราณสีสร้างความดีกลับประเทศไทย สหรัฐอเมริกาหรือประเทศไหน สู้ตัวเราไม่ได้ ตัวเราทำให้แจ้ง ตัวเราเกิดแสงสว่าง ท่านสาธุชนทั้งหลาย สว่างเหมือนเรามีไฟฟ้าฉาย มันจะเห็น ดีกว่าคนไม่มีไฟฟ้า แต่ไฟฟ้าของเรา ไฟฟ้านอก ฉายตามถนนหนทาง แต่ฉายจิตใจใครไม่ได้ ฉายในตู้ก็ไม่ได้ ก็ไม่รู้ว่าในตู้มันมีอะไร เพราะฉะนั้นต้องมีไฟฟ้านอก ไฟฟ้าใน วินัยภายนอก วินัยภายใน
วินัยภายในแจ้งแก่ใจข้าพเจ้ารู้แล้ว แต่งตัวแบบนี้เป็นจิ๊กโก๋ แต่งตัวแบบนี้เป็นจิ๊กกี๋ หาดีไม่ได้
วินัยภายนอกมันจะแจ้งชัด ไม่ใช่นึกอยากจะแต่งตัวก็แต่งตามชอบนะ หาเหตุผลไม่ได้ มันไม่แจ้งเลย แล้วก็มานั่งกรรมฐานปากยื่นปากยาว วันนี้จะพูดให้ลูกหลานเดินทางไปอเมริกาซึ้งใจให้ได้ หลวงพ่อต้องการตรงนี้
ชีวิตนี้คือความหมายทำให้แจ้ง หนูแจ้งแล้ว อย่ามีแต่กระแสไฟ มีแต่ไฟฟ้าเท่านั้นหรือ ต้องพัฒนา ต้องใช้ฝีมือของเรา อย่าไปเอาจมูกคนอื่นมาหายใจไม่ได้ เรียกว่าพัฒนาเป็นกิจกรรมข้อที่ ๔ จำไว้ให้ได้ ต้องพัฒนาตัวเอง ไม่ใช่ให้คนอื่นมาเสก ให้พระมาเป่าหัว ให้เป่าหัวให้ไปสวรรค์ เป่าหัวให้ไปนิพพาน ไม่ได้อะไร เราต้องเป่าเอง ต้องพัฒนาตัวเอง มือสอง เท้าสอง สมองหนึ่ง เป็นที่พึ่งแล้ว ทำไมเอาไปทิ้ง พ่อแม่ช่วยเราไม่ได้แน่นอน ต้องช่วยตัวเองทุกคน
พฤติกรรมแสดงออกมาสวยน่ารัก ให้คนอื่นเห็นอย่างชัดเจน จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน เหลียวซ้าย แลขวา ไปไหน มีสติกำหนดจิต เป็นกฎแห่งกรรม การกำหนดจิตต้องการจะรู้ชีวิตเป็นแก่นสาร ถ้าเรากำหนดจิตไม่ได้ขาดสติ ชีวิตไม่เป็นแก่นสาร ชีวิตจะหละหลวมจะเหลวไหล ต้องช่วยตัวเอง ไม่ใช่คนอื่นมาช่วยเรา ต้องอดทน พัฒนาต้องอดทน ถ้าสำเร็จต้องคนเดียว แสดงพฤติกรรมให้คนอื่นเห็นชัดเจน ลักษณะการเขาจะบอกยี่ห้อจะบอกโหงวเฮ้ง โหงวเฮ้งบอกซวย รวยไม่ได้ตลอดชาติ ถ้าคนไหนเฮงคนนั้นต้องรวย คนไหนซวยคนนั้นไม่เฮง คนนั้นเจ๊งชัดเจน นี่ขอฝากท่านทั้งหลายไว้ไปเป็นความหมายของชีวิตอันลึกซึ้ง พฤติกรรมแสดงออกสำคัญมาก แต่ขอฝากไปอีกประการหนึ่งก็คือ พฤตินัย ประสบการณ์กับปัญหาต่าง ๆ เป็นวิชาเอกของชีวิต ประสบการณ์ด้วยตนเองแล้วก็มาทบทวนพิจารณาอันไหนถูกอันไหนผิด ด้วยเหตุผลข้อเท็จจริงแล้วเอามาเขียนเป็นวิทยานิพนธ์เป็นตำราสอนสาธุชนรุ่นหลังต่อไป เรียกว่าวิทยานิพนธ์ เป็นบทบาทที่หาได้ยาก วิทยานิพนธ์นี้จะไปลอกของเขาไม่ได้ จำไว้นะ ต้องเป็นของเราเอง จะไปลอกของคนโน้นของคนนี้ไม่ได้ เขียนอย่าไปเขียนซ้ำกัน
วันนี้ก็จะชี้แจงแสดงถึงเรื่องกรรมฐานเบื้องต้น พื้นฐานการศึกษาของสมาธิ เข้ากันได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ สมาธิคืออะไร พจนานุกรมให้คำอธิบายไว้ชัดเจน ความตั้งมั่นแห่งจิต คือสมาธิ การสำรวมใจ ความแน่วแน่ของจิต การติดต่อเคร่งเครียดในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง คำอธิบายเหล่านี้ล้วนแต่แสดงลักษณะของสมาธิให้เห็นความหมายและความสำคัญที่มีอยู่ในสมาธินั้นทั้งสิ้น ท่านสาธุชนทั้งหลายโปรดตีความเข้ามาจะตีความให้ชัดขึ้น เราไม่เคยพูดเรื่องนี้กัน เพราะว่าลูกหลานจะไปศึกษาจะได้รู้สมาธิ เป็นบทกลอนของพจนานุกรม เพียงแต่ว่าความตั้งมั่นแห่งจิต ซึ่งเป็นคำอธิบายท่อนแรก ก็มีความหมายลึกซึ้งและแสดงให้เห็นว่า สมาธินั้นเกี่ยวกับจิตแท้ ๆ เพราะว่าความตั้งมั่นจะมีได้ด้วย ต้องตั้งอยู่ที่จิต การทำจิตให้มั่นคง ไม่ให้ฟุ้งซ่าน ไม่ให้กวัดแกว่งให้ตั้งอยู่ในอารมณ์ ไม่เกาะเกี่ยวด้วยสิ่งอื่น ไม่ให้เป็นไปตามกระแสของสิ่งต่าง ๆ ที่ได้ประสบด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างที่เราสอนกันทุกวันพระ ตา หู จมูกลิ้น กาย ใจ ทั้ง ๖ นั้น มีชื่อเรียกตามในพระพุทธศาสนาว่า อินทรีย์ คำว่าอินทรีย์แปลว่าเป็นใหญ่ คือเป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน ตาเป็นใหญ่ในการดู หูเป็นใหญ่ในการฟัง จมูกเป็นใหญ่ในการดม ลิ้นเป็นใหญ่ในการรับรส กายเป็นใหญ่ในการถูกต้อง ใจเป็นใหญ่ในการรู้ ดู ฟัง เป็นหน้าที่ของอินทรีย์ทั้ง ๖ แต่ละอย่าง ท่านสาธุชนทั้งหลายเอ๋ยอินทรีย์ทั้ง ๖ นั้น จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ ถ้าขาดไปอย่างหนึ่งก็ทำให้คนไม่สมบูรณ์ สมมุติว่าตาบอดไปข้างหนึ่ง ก็ทำให้แลเห็นไม่ถนัด และทำให้ขาดความสวยงามไป ยิ่งกว่านั้นถ้าตาบอดทั้งสองข้าง ก็แลไม่เห็นอะไรเลย ก็ทำให้ความเป็นคนบกพร่องไปและเป็นคนยังไม่เต็มที่ มิหนำซ้ำจะเรียนหนังสืออย่างเขาก็ไม่ได้ เพราะการเรียนหนังสือ ต้องใช้อินทรีย์ คือ ตาเป็นส่วนสำคัญกว่าส่วนอื่น หูก็เหมือนกัน ถ้าสมมุติว่าหูหนวก ก็คงไม่ได้ยินอะไรเลย ไม่รู้ว่าเสียงของมนุษย์เป็นอย่างไร ของสัตว์เป็นอย่างไร และก็คงขัดประโยชน์ในการเล่าเรียนไปอีกอย่างหนึ่ง จมูก ลิ้น กาย ถ้าพิการไปเสียก็ไร้ประโยชน์ตามหน้าที่ไปอย่างหนึ่ง ๆ และใจซึ่งเป็นอินทรีย์ทั้ง ๖ เป็นอันดับสุดท้าย ก็มีหน้าที่ประจำอยู่อย่างสำคัญในการรับรู้เรื่องราวต่าง ๆ จากอินทรีย์ทั้ง ๕ ข้างต้น ถ้าขาดไปเสียก็เหมือนคนหมดสติ กลายเป็นคนบ้า เพราะไม่รู้ว่าเรื่องอะไรจะดีหรือร้าย ทำการวิปริตผิดแปลกไปจากคนธรรมดา ผู้มีอินทรีย์ทั้ง ๖ ครบบริบูรณ์ อินทรีย์ทั้ง ๖ นั้น ประการนี้จึงนับว่าเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ที่ทำให้คนเป็นคนได้อย่างสมบูรณ์ทีเดียว และเป็นหลักที่จะนำทำสมาธิให้ดีได้ บางคนไม่มีสมาธิ เพราะไม่สมบูรณ์แบบ ขาดสตินั่นเอง สมาธินั้นได้แก่ความตั้งใจมั่นอยู่ในเรื่องที่ต้องการให้ใจตั้งไว้เพียงเรื่องเดียว ไม่ให้จิตออกไปฟุ้งซ่านออกไปนอกจากเรื่องที่ต้องการให้ใจตั้งมั่น จึงกำหนดว่า คิดหนอ คิดหนอ มันจะได้กลับมาคิดอยู่ที่จิตใจที่ท้องพอง-ยุบ จะได้ไม่ไปคิดหลายเรื่องในขณะเดียวกัน อันนี้เรื่องสำคัญของผู้ปฏิบัติมาก ความตั้งใจนี้เป็นความหมายทั่วไปของสมาธิ และจะต้องมีในกิจการที่จะทำทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเล่าเรียน การศึกษา หรือว่าการงานอย่างใดอย่างหนึ่ง ในการเล่าเรียนศึกษาจะอ่านหนังสือก็ต้องมีสมาธิควบคู่กับการอ่าน จะเขียนหนังสือก็ต้องมีสมาธิในการเขียน จะฟังคำสอนของคณาจารย์ ฟังคำบรรยายของครูอาจารย์ก็ต้องมีสมาธิในการฟัง คือ เห็นหนอ เสียงหนอ ดังนี้เรียกว่าตั้งใจอ่าน ตั้งใจเรียน ตั้งใจฟัง ตั้งใจเขียน เป็นสมาธิที่ดี ไม่ใช่เรื่องเหลวไหลนะ ความตั้งใจดังกล่าวนี้ก็ต้องมีอาการของกายและใจประกอบกัน เช่นว่า ในการอ่านร่างกายก็ต้องพร้อมที่จะอ่าน เช่นเวลาเปิดหนังสือตาก็ต้องดูหนังสือ ใจก็ต้องอ่านด้วย ไม่ใช่ตาอ่านแล้วใจก็ไม่อ่าน ถ้าใจไปคิดเรื่องอื่นเสียแล้ว ตาจะอยู่ที่หนังสือ ตาค้างอยู่ ถ้าตาค้างจะมองไม่เห็นหนังสือ จะไม่รู้เรื่อง ใจจะต้องอ่านด้วย และเมื่อใจอ่านไปพร้อมกับใจที่อ่านจึงจะรู้เรื่องที่อ่าน ความรู้นี้เรียกว่าเป็นปัญญาอย่างหนึ่ง คือได้ปัญญาจากการอ่านหนังสือ ถ้าหากว่าตากับใจอ่านหนังสือไปพร้อมกัน ก็จะอ่านได้เร็ว รู้เรื่องเร็ว และจำได้ดีด้วย จะไม่ลืมเลือนลางแต่ประการใด
ในการเขียนหนังสือก็เหมือนกัน มือเขียนใจต้องเขียนไปด้วย การเขียนหนังสือจึงจะสำเร็จไปด้วยดี ถ้าใจไม่เขียน หรือว่าใจคิดไปถึงเรื่องอื่น ฟุ้งซ่านออกไปแล้ว จะเขียนหนังสือไม่สำเร็จ ไม่เป็นตัว ใจจึงต้องเขียนด้วย คือตั้งใจเขียน ก็คือกรรมฐาน ตั้งสตินั่นเอง กำหนดจิต ตั้งสติอยู่ที่เขียน เรียนหนังสือไปพร้อมกับมือที่เขียน
การฟังก็เหมือนกัน หูฟังใจก็ต้องฟังไปพร้อมกัน ถ้าใจไม่ฟัง แม้เสียงมากระทบหูเราก็ไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ เพราะเราตั้งใจอยู่ตรงนี้ ฉันใดใจจึงต้องฟังด้วย ใจจะฟังก็ต้องมีสมาธิในการฟัง คือตั้งใจฟัง สนใจฟังด้วย จดหัวข้อทบทวน
ดังนี้จะเห็นได้ว่าในการเรียนหนังสือ การเขียน การฟัง จะต้องมีสมาธิในการทำการงานทุกอย่างก็เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นการงานที่ทำทางกาย ทางวาจา แม้ใจก็คิดอ่านการงานต่าง ๆ ก็ต้องมีสมาธิอยู่ในการงานที่ทำนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงทำการงานสำเร็จได้ ตามนัยนี้ จะเห็นได้ว่าสมาธิเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องมีในการทำงานทุกอย่าง เป็นความจำเป็นของมนุษย์มาก นี้เป็นความหมายของสมาธิทั่ว ๆ ไป และเป็นการแสดงว่าจำเป็นจะต้องมีสมาธิในการเรียน ในการงานที่พึงทำทุกอย่าง ไม่มีใครจะคัดค้านได้แต่ประการใด อันนี้มีความหมายไม่ใช่น้อย ในเมื่อมีความหมายเกิดขึ้นแล้วอีกอย่างหนึ่ง เราจะเห็นได้ว่าความง่วงเหงาหาวนอน หรือความที่จะเป็นอยู่ในชีวิตนั้นเป็นประการใด เราจะไม่ทราบ เราจะง่วงเหงาหาวนอนอย่างไรก็ตาม พิจารณาโดยสมาธิ เพราะฉะนั้นต่อจากนี้ไปจะได้กล่าวถึงการทำสมาธิ ก็เพราะว่าความตั้งใจจะให้เป็นสมาธิดังกล่าว จำเป็นจะต้องมีวิธีฝึกหัด ประกอบด้วยจิตจึงจะเป็นสมาธิได้โดยง่าย สมาธิโดยตามธรรมดาเหมือนอย่างที่ทุกคนมีอยู่แต่ยังไม่เพียงพอ เพราะว่ากำลังใจที่ตั้งมั่นยังอ่อนแอมาก ยังดิ้นรน กวัดแกว่างและกระสับกระส่าย โยกคลอนหวั่นไหวไปตามอารมณ์ คือเรื่องต่าง ๆ ได้ง่าย และทุกคนต้องพบเรื่องราวต่าง ๆ ที่เข้าไปเป็นอารมณ์ให้เกิดกับจิต ได้แก่ เข้ามาทางตา ทางหูทำให้ใจหวั่นไหวเกิดประกอบกันขึ้นมาอีก อันสืบเนื่องมาจากอารมณ์ดังกล่าว ก็ยากที่จะมีสมาธิในการเรียน ในการทำการงานตามที่ได้ประสงค์ไว้ ดังจะพึงเห็นได้ว่าในบางคราว หรือหลายครั้งที่เรารวมใจให้มาอ่านหนังสือ เขียนหนังสือ และฟังคำสอนไม่ค่อยได้ เพราะว่าใจมันพลุ่งพล่านอยู่ในเรื่องนั้นบ้างเรื่องนี้บ้าง ที่ชอบบ้างที่ชังบ้าง ที่หลงบ้างจนรวมใจเข้ามาไม่ติด เป็นสมาธิไม่ได้เลย เมื่อเป็นดังนี้ก็ทำให้ไม่สามารถจะอ่าน จะเขียน จะฟัง เฉพาะเรื่องนั้น ๆ อย่างเดียวได้ จึงทำให้การเรียนไม่ดี ในการทำงานก็เหมือนกัน เมื่อจิตใจกระสับกระส่ายไปด้วยอำนาจของอารมณ์และภาวะที่เกิดจากอารมณ์เรียกว่ากิเลส คือความรัก ความชัง ความหลง เป็นต้นดังกล่าวนั้น ก็ทำให้ไม่สามารถทำการงานให้ดีได้ เช่นเดียวกัน ใจที่ไม่ได้หัดทำสมาธิ ขาดสติก็จะเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน และแม้ว่าจะยังไม่มีอารมณ์อะไรเข้ามารบกวนแต่เกิดความกระสับกระส่าย ดังนั้นความตั้งใจก็ยังไม่สู้จะแรงนัก ฉะนั้นจึงสู้ฝึกหัดทำสมาธิ เจริญกุศลภาวนาไม่ได้ ในการฝึกหัดทำสมาธินั้นมีอยู่ ๒ ประการ ฝึกหัดทำสมาธิเพื่อแก้อารมณ์ และกิเลสของใจที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน บางคราวก็เป็นอารมณ์ความรัก ซึ่งจะชักใจให้กระสับกระส่าย เมื่อเป็นดังนั้นก็ต้องสงบใจ กำหนดจิตตั้งสติให้สงบจากอารมณ์รักจากความชอบนั้น ซึ่งเป็นอันตรายต่อการศึกษา ต่อการงานที่จะพึงทำ ตลอดจนถึงศีลธรรมอันดีของสาธุชนนี้เป็นวิธีหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอน คือต้องหัดเอาชนะใจให้สงบจากอารมณ์เหล่านั้นให้ได้ กำหนดโกรธหนอ คิดหนอ ลังเลหนอ ฟุ้งซ่านหนอ เป็นต้น ทำให้ชนะจิตใจได้สงบจากอารมณ์เหล่านั้นให้ได้ บางคราวก็เกิดอารมณ์โกรธ ความโกรธอันทำใจให้ร้อนรุ่มกระสับกระส่ายก็เป็นอันตรายอีกเหมือนกัน เพราะทำให้เสียสมาธิ ฉะนั้นก็ต้องหัดทำสมาธิ คือ หัดสงบใจจากอารมณ์โกรธต้องกำหนด ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันเข้าทางไหนกำหนดทางนั้น โกรธก็กำหนด เกลียดก็กำหนด ผูกพยาบาทก็กำหนด เสียใจก็กำหนด อยากได้ก็กำหนด นี่แหละอารมณ์นี้จะหายไปจากความโกรธนั้น ในบางคราวก็มีอารมณ์หลง ความหลงซึ่งมีลักษณะเป็นความง่วงงงเคลิ้ม มีลักษณะเป็นความฟุ้งซ่าน รำคาญใจมาก มีลักษณะเป็นความเคลือบแคลงและสงสัยบ้าง เมื่อเป็นดังนี้ ต้องหัดทำสมาธิตั้งสติ กำหนดจิต หัดสงบใจ หายใจยาว ๆ พองหนอ ยุบหนอ หายใจยาว ๆ ตั้งสติไว้ สงบที่ลิ้นปี่ ไม่สบายใจหนอ ไม่สบายใจหนอ เดี๋ยวจะสงบจากอารมณ์หลงอารมณ์รัก จากความหลงนั้น ๆ วิธีสอนทำสมาธิทางพระพุทธศาสนานี้ง่ายมาก เมื่อจะทำสมาธิให้สงบใจตั้งสติไว้เสมอ ถ้าหากว่าท่านขาดสติ สมาธิจะไม่มา สติเสีย ขาดความระลึก ขาดความสนใจ ขาดความรู้ตัวในขณะนั้น จิตใจท่านจะออกไปนอกประเด็นนี้ได้ ไม่สงบเลย จากอารมณ์ต่าง ๆ เพราะฉะนั้นอารมณ์รัก โกรธ หลง ดังกล่าวก็จะต้องเปลี่ยนอารมณ์ ตั้งสติให้ได้ โกรธหนอ อย่าให้อารมณ์ค้าง รักหนอ ๆ รักแฟนหนอ สติดีแล้วจะไปรักเขาทำไม เดี๋ยวสติตัวหนึ่งมันจะบอกว่าเขาไม่รักเรา เขาหลอกลวงเราอย่างนี้
ชัดเจน นี่สมาธิ ท่านจะต้องเปลี่ยนอารมณ์ อย่าไปหลงเขามากนัก อย่าไปรักเขา เขาจะรักเราหรือ สติมันจะบอกเราทุกเวลา นี่ตัวนี้เป็นตัวสมาธิที่แน่นอนที่สุดที่ถูกต้อง ไม่ต้องไปปรึกษาหมอดูแต่ประการใด จะต้องเปลี่ยนอารมณ์ตามที่กล่าวมา สติดีขึ้นสัมปชัญญะเป็นการอ่านตัวออก บอกตัวได้ ใช้ตัวเป็น จะได้เห็นตัวตาย จะได้คลายทิฏฐิ จะได้ดำริชอบ จะได้ประกอบกุศล จะได้ผลอนันต์เป็นหลักฐานสำคัญ เปลี่ยนอารมณ์ซะ อารมณ์ชอบก็หายไปกลายเป็นอารมณ์ดีมีปัญญา แก้ปัญหาอย่าได้หลง งง ต่อคนอื่น หลายรสหลายเรื่องมันเปลืองเวลาชีวิตเหลือเกิน ในเมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องเปลี่ยนอารมณ์ที่รักนั้นมาเป็นอารมณ์ที่ไม่รักไม่ชอบ วางอุเบกขา คือตั้งสติ ในเมื่อตั้งสติได้ มันก็วางอุเบกขาได้ ความโกรธก็เหมือนกัน ก็ต้องเปลี่ยนอารมณ์โกรธมาเป็นอารมณ์ที่ไม่โกรธ โกรธหนอ ๆ หายใจยาว ๆ เดี๋ยวหายโกรธ ท่านอย่าหายใจสั้น หายใจสั้นท่านจะโกรธจะจับจุดไม่ได้ จะเคียดแค้นจะทำให้เสียการเรียนและเสียหน้าที่การงาน อารมณ์ค้างเสียงานเสียการหมด หรือให้เปลี่ยนจากความเกลียดมาเป็นอารมณ์รัก เมตตาปรารถนาดี อารมณ์ดีก็มีเมตตา อารมณ์ร้ายมันจะไม่มีเมตตา โกรธ หลง จะไม่มีเมตตาแต่ประการใด อารมณ์เมตตาก็เกิดขึ้นจากความปรารถนาดี สงสารสรรพสัตว์ทั้งหลาย แต่ว่าเป็นความรักที่ประกอบด้วยเมตตาดังที่กล่าว คือเป็นความรักที่บริสุทธิ์อย่างญาติสนิทมิตรสหาย มีความรักซึ่งกันและกัน หรือเป็นความรักระหว่างบิดามารดากับบุตรธิดา ความหลงก็เหมือนกันต้องเปลี่ยนอารมณ์หลงมาเป็นอารมณ์ที่ไม่หลง หลงหนอ ๆ ๆ สติดีเข้า เราก็ไม่ไปหลงในส่วนนั้น ไม่พะวงแต่ประการใด ทิฏฐิมานะก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะว่าภาวะของจิตใจจะเป็นอย่างไรนั้นสุดแต่ว่าจิตใจจะตั้งอยู่ในอารมณ์อะไร เมื่อจิตใจตั้งอยู่ในอารมณ์รัก ความชอบก็เกิดขึ้น ถ้าจิตใจไม่ตั้งอยู่ในอารมณ์รัก แต่ว่าตั้งอยู่ในอารมณ์ที่ตรงกันข้ามก็เกิดความสงบ ใจโกรธก็เหมือนกัน ถ้าตั้งอยู่ในอารมณ์โกรธ เมื่อเปลี่ยนอารมณ์ให้ตั้งใจอยู่ในอารมณ์ที่ตรงข้ามก็เกิดความสงบคือเมตตา สมาธิก็เกิดได้ไวสงบได้ไวมาก ความหลงก็เหมือนกัน ถ้าตั้งอยู่ในอารมณ์ที่ไม่หลง ความหลงก็สงบ เพราะเราไม่หลงมีสติดี หายใจยาว ๆ นะ พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสไว้ว่า อารมณ์เช่นใดควรจะหัดใจให้ตั้งไว้ในอารมณ์ไหน เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วการที่หัดจิตใจไว้ก็ทำให้รู้ลู่ทางที่จะสงบใจของตนเองอย่างนี้ ตลอดทางตลอดสาย ก็จะสามารถทำให้สงบจิตใจของตนเองได้ นี้นับว่าเป็นจุดมุ่งหมายของการทำสมาธิอย่างหนึ่ง ก็ต้องหัดเอาไว้ด้วยตนเอง ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ไม่ใช่ยาก แต่มันยากตรงที่ไม่สนใจอารมณ์ของตนเอง ไปสนใจอารมณ์รักอารมณ์อื่น
ฝึกหัดทำสมาธิ เพื่อหัดเกิดพลังใจ ให้ตั้งมั่นมากขึ้น คือให้มีพลังมากขึ้น ก็เหมือนกับการที่ออกกำลังกายเพื่อให้กายมีกำลังเรี่ยวแรง เมื่อหัดออกกำลังกายอยู่บ่อย ๆ กำลังกายก็จะดีขึ้น จิตใจก็จะเหมือนกัน เมื่อหัดทำสมาธิอยู่บ่อย ๆ แล้ว โดยที่ผู้ปฏิบัติอยู่ในหลักของสมาธิเพิ่มขึ้น ก็จะทำพลังใจให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น มีประสิทธิผล ได้อานิสงส์เกิดขึ้น เช่นเดียวกับการออกกำลังกายที่ทำให้พลังทางกายเพิ่มมากขึ้นฉันใด นี่คือสมาธิในการฝึกหัด สำหรับสมาธิในการใช้ก็มี ๒ ประการคือ
๑. ฝึกสมาธิเพื่อใช้ระงับอารมณ์ และระงับกิเลสที่เป็นปัจจุบัน ดังกล่าวแล้วข้างต้น ผู้ที่ยึดหัดทำสมาธิตามสมควรแล้ว จะสามารถระงับจิตใจได้ดี จะไม่รู้อำนาจของอารมณ์ของกิเลสที่เป็นความรัก เป็นความชังและเป็นความหลงทั้งหลาย จะไม่สามารถสงบใจตัวเองได้ รักษาจิตใจให้สวัสดีได้ อารมณ์กิเลสเหล่านี้จะไม่มาเป็นอันตรายต่อการเรียน ต่อการศึกษาแสวงหาความรู้ และต่อการงานและหน้าที่ ต่อกฎหมายและต่อศีลธรรมอันดีงามแน่นอน
๒. ฝึกสมาธิสำหรับใช้ประกอบการงานและที่พึงทำทั้งหลาย ตั้งแต่การเรียน การอ่าน การเขียน ในการฟัง เมื่อเป็นเช่นนี้นั้น จะทำให้การเรียนดี จะทำให้การงานดีขึ้นทุกประการ นี่คือสมาธิในการใช้ ใช้ให้มันถูกต้องอย่าไปใช้ให้มันผิดทาง ท่านทั้งหลายมาเจริญกรรมฐานกัน นำไปใช้ให้มันถูกต้องได้ไหม ไปใช้ให้มันไม่เป็นเรื่องเป็นราวกันทั้งนั้นเลย ตามหน้าที่รับผิดชอบเช่นดังกล่าวแล้ว นี่คือสมาธิในการใช้ให้เป็นประโยชน์
ตามที่กล่าวมานี้นั้น เป็นการแสดงให้เห็นหลักของการทำสมาธิโดยทั่ว ๆ ไป เด็กก็ทำได้ ผู้ใหญ่ก็ทำได้ อายตนะธาตุอินทรีย์ทวาร ๖ โกรธก็กำหนด เกลียดก็กำหนด เสียใจก็กำหนด อารมณ์ร้ายกลับดีได้ทั้งหมด แล้วตั้งต้นแต่ความหมายทั่วไปของสมาธิ การหัดทำสมาธิและการใช้สมาธิเป็นประโยชน์มาก ประโยชน์ต่อการงานและหน้าที่ รับผิดชอบได้สูงมาก จะเป็นเด็กหรือเป็นผู้ใหญ่เหมือนกัน
ท่านสาธุชนทั้งหลายเอ๋ย เข้าใจผิดคิดว่าการทำสมาธิกรรมฐานเป็นเรื่องของคนแก่ ไม่ใช่ เป็นเรื่องของคนทุกคนต้องดำเนินงาน แก่แล้วจะมาทำทำไม ตาก็ไม่เห็น หูก็ไม่ได้ยินแล้ว อินทรีย์ก็หย่อนยานลงไปหมดแล้ว ความจำก็เสื่อม มาทำสมาธิทำไม มาให้เกะกะวัดเปล่า ๆ เวลาดี ๆ ทำไมไม่ทำ อินทรีย์ดีทำไมไม่ทำ มัวเที่ยว เป็นหนุ่มเป็นสาวมัวเที่ยว สมาธิใช้งานไม่เป็น เป็นสมาธิที่เลวร้าย หลักฐานไม่มีในชีวิต ความรู้ก็ไม่มี ความดีก็ไม่ได้ นี่แหละท่านสาธุชนทั้งหลายท่านจะเอาอย่างไร ไม่ใช่สมาธิเป็นของคนแก่คนเฒ่า สมาธิเป็นเรื่องประจำชีวิตจิตใจของแต่ละคน นักปราชญ์ผู้มีสมาธิสูง จะได้มีปัญญาสูง มีการแก้ไขปัญหาได้สูง สามารถจะช่วยตัวเอง ช่วยคนอื่น ช่วยสังคมได้ ขยายวงกว้างไปมากหลาย สามารถเป็นใหญ่เป็นโตได้ในอนาคตเพราะมีความรู้สูง มีพลังงานสูง มีสมาธิสูง เหมือนท่านอยู่บนต้นไม้ที่สูงที่สุดจะมองเห็นที่ต่ำ ๆ ได้ง่าย ถ้าอยู่ที่ต่ำจะมองเห็นที่สูงไม่ได้ ฉันใดก็ฉันนั้น นี่คือสมาธิ
การฝึกสมาธิ หรือที่เรียกกันว่าการอบรมจิต หรือการฝึกจิตแบบพุทธศาสนานั้น ก็คือมีสติสัมปชัญญะ มีศีล สมาธิ ปัญญานั่นเอง ปัจจุบันนี้เป็นที่นิยมกันแพร่หลายไปเกือบทั่วโลก ที่อาตมาวิจัยประเมินผลซึ่งอาจเป็นเพราะว่าองค์การ องค์กร และสมาคมต่าง ๆ ทางพระพุทธศาสนาได้จัดให้มีโครงการผลิตตำราพระพุทธศาสนา เป็นภาษาต่างประเทศมากขึ้น นอกจากนี้ยังรวมถึงการก่อสร้างวัดพระพุทธศาสนาในต่างประเทศหลายประเทศแล้ว ทำให้โครงการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของคณะธรรมทูตประสบผลสำเร็จได้ดีกว่าแต่ก่อนมากทีเดียว แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดยิ่งกว่าอื่นใดนั้นก็คือ พระธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นอมตะ ธรรมที่มีค่าสูง ยิ่งศึกษาค้นคว้าก็ยิ่งน่ารู้ ยิ่งค้นยิ่งรู้ ยิ่งดูยิ่งเห็น น่ารู้น่าชม และท้าท้ายต่อการติดตามและพิสูจน์ให้เห็นผลจริงจังมากยิ่งขึ้นได้ ไม่มีใครติงแต่ประการใด ไม่เป็นที่น่าแปลกเลยบรรดาชาวต่างประเทศที่มาจากนอร์เวย์ แคนาดา สวิตเซอร์แลนด์ อังกฤษ ออสเตเลีย นิวซีแลนด์ เยอรมันและสหรัฐอเมริกา เป็นต้น ได้หลั่งไหลเข้ามาบวชเรียนปฏิบัติธรรมในประเทศไทยมากขึ้น เช่น วัดอัมพวันที่บวชไปแล้วหลายครั้ง ข้อที่น่าสังเกตุก็คือส่วนใหญ่รอบรู้แตกฉานในพระไตรปิฎกฉบับภาษาต่างประเทศหมด อ่านพระไตรปิฎกภาษาต่างประเทศจบมาแล้วทั้งสิ้น ไม่ใช่ไม่ได้เรียน แต่เขาจะมาปฏิบัติธรรม มาบวชศึกษากันมากมาย แต่คนไทยไม่สนใจเอง ดังนั้นวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือเพื่อศึกษาและค้นคว้าความจริงจากการปฏิบัติธรรมโดยเฉพาะ และเป็นที่น่าปีติยินดีอย่างยิ่ง เช่น วีโก้ บรูน เป็นต้น เดี๋ยวนี้เป็นศาสตราจารย์อยู่มหาวิทยาลัยเดนมาร์ค พร้อมกับภรรยาที่เป็นด็อกเตอร์ด้วยกัน มาบวชที่วัดเราอันนี้เป็นตัวอย่าง บางท่านบวชเรียนมาแล้ว ๒๐ พรรษา และมีความชำนาญในการฝึกสมาธิอย่างยอดเยี่ยม อีกหลายท่านได้นำความรู้และความมหัศจรรย์ที่ได้จากการฝึกวิปัสสนากรรมฐานทางพระพุทธศาสนากลับไปเผยแผ่ยังบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง จนได้ผลเกินคาด เช่น อาจารย์เมโธ เป็นต้น นอกจากนั้นการฝึกสมาธิในทางพระพุทธศาสนานั้น ถือว่าจิตสงบเป็นกุญแจ ถ้าจิตสงบเป็นกุญแจสำคัญในการเปิดแสงสว่างแก่โลก ท่านมีกุญแจกันหรือยัง ไม่ใช่ลูกกุญแจไขตู้เซฟ แต่กุญแจนี้เปิดแสงสว่างแก่โลก เป็นบ่อเกิดพลังอันยิ่งใหญ่แก่ชีวิต เป็นบ่อเกิดแห่งปัญญาของมวลมนุษย์ทั้งโลก และเป็นความสุขที่มีค่าสูงสุดแก่ผู้ปฏิบัติ ดังพุทธวัจนะบทหนึ่งซึ่งกล่าวอยู่เสมอ นตฺถิ สนฺติ ปรมํ สุขํ แปลว่า สุขอื่นใดนอกจากจิตใจสงบไม่มีอีกแล้ว เป็นความสุขที่แนบเนียนสนิทติดในหัวใจคือความสงบ เมื่อใจหยุดนิ่งก็เกิดความสงบขึ้น เมื่อสงบก็เป็นสุข
ความสุขเกิดจากจิตสงบนั้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นความสุขที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของมนุษย์ จิตเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุดของร่างกายและจิตใจ เป็นผู้นำ ส่วนร่างกายเป็นเพียงผู้ปฏิบัติตามคำสั่งของจิต อุปมาดังม้ากับคนขี่ หากว่าผู้ขี่คุมบังเหียนบังคับม้าด้วยความชำนาญ ก็จะเดินทางไปสู่จุดมุ่งหมายปลายทางได้อย่างราบรื่น แต่ถ้าหากว่าผู้ขี่ม้าไม่ได้รับการฝึกอย่างชำนิชำนาญหรือตั้งอยู่ในความประมาทเกินไปก็จะพลาดท่าตกม้า หรือเดินทางไปไม่ถึงจุดหมายปลายทางที่ต้องการได้ฉันใดก็ฉันนั้น ความสุขอันเกิดจากจิตสงบเป็นความสุขที่ซื้อหามาได้ราคาถูกที่สุด แต่กลับมีคุณค่ามหาศาลยิ่งกว่าสมบัติพัสถานใด ๆ ทั้งสิ้น ความสุขของจิตที่แท้จริงจะเกิดขึ้นกับบุคคลที่หมั่นฝึกฝนหรืออบรมจิตอยู่เสมอนั้น คือ เจริญสมาธิเป็นประจำ ทำงานที่มีสมาธิเป็นประจำ จะหยิบอะไรก็กำหนด จะพึงกำหนด เห็นก็กำหนดเห็นหนอ เสียงหนอทางหู หายใจเข้าออกกำหนด กลิ่นหนอที่จมูก ลิ้นรับรสกำหนด เท่านี้เอง นี่แหละเป็นการทำเป็นประจำ จะหยิบอะไรก็หยิบหนอ จะใช้อะไรก็ใช้ให้เป็นประโยชน์ รู้ผิดรู้ถูกอยู่ในจิตใจของตน การฝึกจิตหรือฝึกสมาธิในทางพระพุทธศาสนานั้น เรียกอีกอย่างหนึ่งว่ากรรมฐาน กรรมฐานแปลว่า การกระทำให้ฐานะดี เกาะอยู่ในจุดมุ่งหมายในความดีที่ทำให้สำเร็จ เรียกว่ากรรมฐาน แปลว่าเป็นที่ตั้งของการกระทำ ซึ่งแบ่งออกเป็นวิธีปฏิบัติได้ ๒ ประการคือ
๑. สมถกรรมฐาน แปลว่า การทำจิตให้สงบ หรือทำสมาธิตามอุบายที่กำหนดให้
๒. วิปัสสนากรรมฐาน แปลว่า การฝึกจิตให้รู้แจ้งเห็นจริงในขั้นสูง หรืออาจจะกล่าวได้ว่าทำปัญญาให้เกิดรู้แจ้งเห็นสภาพตามความเป็นจริงนั้น แต่ในที่นี้จะเสนอแนะเพียงแนวทางการฝึกสมาธิเบื้องต้นเท่านั้น ที่เรียกว่า สมาธิเพื่อการศึกษา แสวงหาความรู้คู่กับความดีมีปัญญา ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป มีความหมายอย่างนั้น ธรรมที่ทำลายใจไม่ให้เป็นสมาธิ บางคนทำสมาธิไม่เกิดเลยมีอยู่ ๒๔ ประการ
๑. ความโกรธ ๑๓. ความประมาท
๒. การผูกโกรธไว้ ๑๔. ความง่วงเหงาหาวนอน
๓. การลบหลู่บุญคุณท่าน ๑๕. กินมาก
๔. ตีเสมอท่าน ๑๖. เกียจคร้าน
๕. ความริษยา ๑๗. อ่อนแอ
๖. ความตระหนี่ ๑๘. คบมิตรชั่ว
๗. มารยา ๑๙. ยินดีในรูป
๘. หัวดื้อ ๒๐. ยินดีในเสียง
๙. แข่งดี ๒๑. ชอบในกลิ่น
๑๐. ถือตัว ๒๒. ติดรสชาด
๑๑. ดูหมิ่นท่าน ๒๓. ยินดีในสัมผัส
๑๒. ความมัวเมา ๒๔. เห็นแก่กิน เห็นแก่ตัว เห็นแก่นอน

รับรองทำลายสมาธิของท่าน ท่านจะทำสมาธิไม่ได้เลยของฝากไว้ ขอสรุปใจความว่า การทำสมาธินั้น การฝึกจิต การบริหารจิตนั้นมีคุณค่าต่อชีวิตมาก
๑. ถ้าเป็นนักเรียน นักศึกษา ก็สามารถเรียนหนังสือได้ผลดีเพิ่มขึ้น ได้คะแนนสูงเพราะมีจิตใจสงบ จึงทำให้มีความแม่นยำและมีความจำดีขึ้นกว่าแต่ก่อน
๒. ทำสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ไม่ค่อยมีผิดพลาดแต่ประการใด เพราะมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์แบบในสติปัฏฐาน ๔ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน กายจะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน เดินจงกรม ยืนหนอ ๕ ครั้ง กำหนดจิตตั้งแต่ศีรษะลงปลายเท้า ตั้งแต่ปลายเท้าขึ้นมาถึงศรีษะ ยืนหนอ ๕ ครั้ง ให้มันได้ ฝึกไปฝึกมา จิตก็มีสติสัมปชัญญะ สมาธิก็เกิดขึ้น ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ เดินให้มันช้า อย่างเดินไว กลับหนอให้ช้า ๆ แล้วก็พองหนอยุบหนอด้วยการนั่ง หายใจยาว ๆ อย่างหายในสั้น พองยังไม่ทันหนอก็ยุบ ยุบยังไม่ทันหนอก็พองแล้ว ไปไม่รอด ต้องหายใจยาว ๆ เข้าไว้ รับรองว่าท่านได้จังหวะจะโคนแน่นอน นี่แหละทำสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น จากสมาธิกรรมฐาน ไม่ค่อยผิดพลาด ทำอะไรมีผิดพลาดน้อย เพราะมีสติสมบูรณ์ครบวงจรในสติปัฏฐาน ๔
๓. สามารถทำงานได้มากขึ้น และได้ผลดีอย่างมีประสิทธิภาพ จะไม่เสียหายแต่ประการใด ก็ออกมาอย่างนี้ชัดเจนแล้ว แล้วท่านจะเอาอะไรอีก นี่แหละการทำสมาธิจึงมีประโยชน์โสตถิผลแก่ตัวท่านอย่างมากมายหลายประการ
๔. การทำสมาธิทำให้โรคภัยไข้เจ็บเบาบางหายไปได้อย่างสงบ มีโรคกายโรคใจหายได้ โรคมะเร็งก็หายได้ ถ้าจิตใจมั่นคงมีสมาธิชั้นสูงเกิดขึ้น ถึงหากว่าจะตายจากโลกไปท่านก็จะตายด้วยความสงบ ไม่ปวด ไม่เมื่อย ไม่ปวดในโรคมะเร็ง
๕. ทำให้เป็นคนมีอารมณ์เยือกเย็น มีความสุขใจได้มาก มีผิวพรรณผ่องใส มีจิตใจเบิกบาน ใจสบาย ร่างกายก็ผ่องใส
๖. ทำให้อยู่ในสังคมอย่างปรกติสุข เช่น อยู่ในโรงเรียนก็ทำให้เพื่อน ๆ และครูพลอยได้รับความสุขไปด้วย เป็นต้น มีแต่เพื่อนรัก ครูอาจารย์รักใคร่
๗. สามารถเผชิญเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าได้อย่างใจเย็น
๘. รวมทั้งสามารถแก้ไขความยุ่งยาก และความเดือดร้อนวุ่นวายในชีวิตได้ด้วยวิธีอันถูกต้อง สามารถกำจัดนิวรณ์ที่รบกวนจิตลงได้ หรืออย่างน้อยก็ทำให้เบาบางลงได้
๙. ถ้าทำได้ถึงขั้นสูง ก็ย่อมได้รับความสุขอันเลิศยิ่ง และอาจสามารถได้อำนาจจิตพิเศษ เช่น รู้ใจคนอื่น รู้วาระจิตคนอื่นว่าเขาคิดอะไรกับเรา จะรู้ถึงขนาดนั้น เรียกว่ารู้วาระจิต คือ เห็นหนอ จากศีรษะลงปลายเท้า ปลายเท้าขึ้นศีรษะ สติบอกออกมาชัด คนนี้นิสัยไม่ดี คนนี้ดี คนนี้หัวขาดต้องตาย มีประโยชน์มาก ดังได้ชี้แจงแสดงมา ณ บัดนี้ เป็นประโยชน์แกท่านเองโดยเฉพาะ เพราะฉะนั้นการเจริญพระกรรมฐานจึงมีประโยชน์ประจำชีวิตของท่าน เป็นความจำเป็นทุกชั้น ทุกเพศ ทุกวัย ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ไม่จำเป็นต้องคนแก่ คนแก่นี้เลือนลางแล้ว ถ้าท่านทั้งหลายเป็นผู้สูงอายุ ไม่ได้ฝึกมาตั้งแต่ต้น รับรองท่านฝึกไม่ได้ ได้ยาก มาฝึกก็หลงลืมเลือนลางไปหมด ทุกอย่างปัญญาก็เสื่อมโทรมลงไป ไม่เหมือนหนุ่มสาวไม่เหมือนวัยรุ่น ถ้าวัยรุ่นก็ไม่สนใจในสมาธิ รับรองวัยรุ่นก็ไปในอนาคตไกลไม่ได้ หมดโอกาส เพราะฉะนั้นก็ขอให้ท่านที่มาเจริญกรรมฐาน อย่ามาคุยกันจะเสียเวลา อย่างท้าวความหลัง นึกถึงเรื่องเก่า ท่านจะเสียเวลาสมาธิของท่าน จุดนี้ไม่ใช่ของง่ายและไม่ใช่ของยาก มันมีค่าราคาไม่แพงนัก แต่คุณค่ามันสูง ราคาฝึกน้อยแต่คุณค่าที่หาได้ยากโดยมหาศาลของชีวิตในโลกมนุษย์นี้ ไม่มีอะไรดีเท่ากับปัญญารอบรู้ในกองการสังขาร อ่านออกบอกได้ ใช้เป็น อย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นการเจริญกรรมฐานทำให้แก้ปัญหาในชีวิต การเจริญกรรมฐานให้ระลึกชาติของชีวิตได้ ให้รู้ผิดรู้ถูก รู้กาละเทศะ กิจลักษณะ รู้บาป รู้บุญ รู้คุณ รู้โทษ รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ มันจะรู้ชัดเจนมาก กรรมฐานทำให้รู้วาระของเวลาว่าเวลานี้ควรกล่าวอย่างไร เวลานั้นควรเข้าใจไหม ท่านจะรู้ตัวของท่านเองว่าเป็นอย่างไร โรคภัยไข้เจ็บเป็นประการใด จะหาย หรือจะตาย จะจากโลกไปเวลาไหน จึงได้เตรียมตัวก่อนตาย รีบเร่งรัดพัฒนาจิตขวนขวายหาความคิด หาสติปัญญาใส่ตนและศึกษาอารมณ์ไว้ให้ดีในเครื่องคอมพิวเตอร์ เมื่อมีทุกข์ มีสุข จะได้แก้ไขในความทุกข์ความยาก ความลำบากตลอดไป ความสุขคอมพิวเตอร์จะไม่ตี เพราะสุขสบายเป็นปกติ ถ้าหากว่ามีความทุกข์คอมพิวเตอร์จะตีออกมาให้แก้ไขปัญหาควรจะแก้อย่างนั้น กดเข้าไป กดก็คือกำหนดว่าโกรธ ปัญญาก็จะบอกเราโกรธอย่างนี้ จะแก้ไขอย่างนั้น รักอย่างนี้ควรแก้ไขอย่างนี้ เสียใจอย่างนี้ควรแก้ไขอย่างนั้น มันจะบอกไว้ขาวกับดำทุกเวลา แต่เราไม่สนใจกับตัวเอง ไม่สนใจกับคอมพิวเตอร์ที่เราสะสมมากับสมาธิเข้าไว้ในจิต เราไม่ได้เคยฝึก เราไม่เคยทำแต่ประการใด เหมือนชาร์ทไฟเข้าหม้อฉันนั้น หมดไฟแล้วแถมหม้อแบตเตอรี่มันก็เสียด้วย ไม่สามารถจะชาร์ทไฟเข้าอีกและเก็บไฟอยู่ได้ ก็ต้องตาย หมดอายุแล้ว ไม่มีโอกาสที่จะอยู่ต่ออายุต่อไปอีกได้ เพราะหม้อแบตเตอรี่เก็บไฟไม่อยู่ หม้อแบตเตอรี่เสีย ต้องโยนทิ้งไปซื้อหม้อมาใหม่ คือตายเถอะ ไม่มีโอกาสจะดีได้
สุดท้ายนี้ ก็จะขออนุโมทนาสาธุการแก่ท่านทั้งหลายผู้มาปฏิบัติธรรม วันนี้เป็นวันธรรมสวนะสิ้นเดือน ขอให้ท่านตั้งใจทำ อยู่ด้วยความสงบ เดินจงกรม ตั้งใจปฏิบัติ ถือสัจจะเมตตา สามัคคี มีวินัยให้ได้ อย่าเสียสัจจะที่มาออกแขกบอกเรื่องราวของชีวิต ท่านจะเสียข้อคิด จะไม่มีปัญญา ทำอะไรจะไม่ขึ้น คนเรามีสัจจะจะทำตามคำพูด ทำตามความคิด ทำตามสติปัญญา แล้วจะไม่เสียผล ทำอะไรก็จะรุ่งโรจน์โชตินาการ จะไม่เสื่อมเสียผลงานของชีวิตอย่างแน่นอน บางคนตั้งบริษัทก็เจ๊ง เพราะเสียสัจจะตั้งแต่เบื้องต้น หนักเข้าก็เสียไปเรื่อยไปจนเคยตัว ทำอะไรอย่างตามใจตัว อย่าเคยตัว ต้องฝืนใจขึ้นมา อย่าตามใจตัว มันจะกลัวลำบาก ความยากจะเกิดขึ้น จะไม่สำเร็จตามเป้าหมายและตามจุดประสงค์ที่ต้องการทุกประการ
สุดท้ายนี้ ก็ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย อำนาจบุญกุศลทั้งหลาย โปรดประทานพรให้ทุกท่าน ผู้ใจบุญสุนทานทั้งหลาน ผู้รักตัว ต้องไม่กลัวตาย เดินจงกรม แล้วนั่ง ตายให้มันตายไม่ต้องกลัว ถ้าท่านไม่รักตัว ท่านก็กลัวตาย ท่านจะไม่อยากเจริญกรรมฐานแต่ประการใด ชีวิตท่านจะแร้นแค้นไม่มีแบบแปลนและแผนผัง ชีวิตจะสั้น ถ้ารักตัวเมื่อใด อย่าไปกลัวตาย ต้องต่อสู้ไปจนชีวิตจะหาไม่ ชีวิตท่านจะได้สำเร็จไปตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ทุกประการ
สุดท้ายนี้ ก็ขอทุกท่านจงงอกงามไพบูลย์ ในพระพุทธศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยทั่วกัน ขอทุกท่านจงเจริญไปด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ ธนสาร สมบัติ นึกคิดสิ่งหนึ่งประการใด สมความมุ่งมาดปรารถนาด้วยกันทุกรูปทุกนาม ณ โอกาสบัดนี้ เทอญ

ขอบคุณข้อมูลจาก : http://palipage.com/watam/piyapan4/K00023.htm

. . . . . . .