คุณค่าของชีวิตที่ให้ไว้แก่แผ่นดิน (สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
แม้ว่าเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ จะทรงดำรงพระชนมชีพอยู่ในสมณเพศมาโดยตลอด แต่ความเป็นไปในพระชนมชีพของพระองค์สามารถยึดถือเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตที่ดีได้สำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ เพราะแก่นแท้ของชีวิตหรือว่าส่วนที่เป็นความดีของชีวิต ที่ควรยึดถือเป็นแบบอย่างในการสร้างความดีให้แก่ตนเองและสังคมนั้นก็คือคุณธรรม และคุณธรรมนั้นไม่ว่าจะเป็นคุณธรรมของบรรพชิตหรือคุณธรรมของคฤหัสถ์ก็คือคุณธรรมอันเดียวกัน เช่น เมตตา กรุณา ไม่ว่าจะเป็นเมตตา กรุณา ที่มีอยู่ในจิตใจของพระหรือมีอยู่ในจิตใจของชาวบ้าน ก็เป็นเมตตา กรุณา อันเดียวกัน
พระประวัติชีวิตและผลงานของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ให้สิ่งที่มีคุณค่าควรแก่การยึดถือเป็นแบบ อย่างของคนทั่วไป อย่างน้อย ๒ ประการคือ ชีวิตแบบอย่าง และปฏิปทาแบบอย่าง
ชีวิตแบบอย่าง
ชีวิตของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ นั้นก็ไม่แตกต่างไปจากชีวิตของคนทั่ว ๆ ไป คือมีทั้งผิด หวังและสมหวัง มีทั้งสำเร็จและล้มเหลว มีทั้งดีใจและเสียใจ แต่โดยที่ทรงมีคุณธรรม หลายประการที่โดดเด่นเป็นแกนหรือเป็นแก่นของชีวิต ชีวิตของพระองค์จึงมีความสมหวัง มากกว่าผิดหวัง มีความสำเร็จมากกว่าความล้มเหลว และมีความดีใจมากกว่าเสียใจกล่าวโดยรวมก็คือ ด้วยคุณธรรมอันเป็นแกนของชีวิตดังกล่าวพระองค์จึงทรงประสบความสำเร็จ หรือทรง เจริญก้าวหน้าไปตามครรลองของชีวิตจนถึงที่สุด ดังเป็นที่ปรากฏอยู่ในบัดนี้ หากวิเคราะห์ ตามที่ปรากฏในพระประวัติ ก็จะเห็นได้ว่า พระคุณธรรมที่โดดเด่นในชีวิตของพระองค์ ก็คือ
– อดทน
– ใฝ่รู้
– กตัญญู
– ถ่อมตน
– คารวธรรม
พระคุณธรรมประการแรกที่ปรากฏเด่นชัดในชีวิตของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ก็คือ ความอดทน (ขันติ) เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงมีพระสุขภาพอ่อนแอไม่แข็งแรงมาตั้งเยาว์วัย และมีผลสืบเนื่องมา จนถึงเมื่อทรงบรรพชาเป็นสามเณร พระสุขภาพที่อ่อนแอนับเป็นอุปสรรคสำคัญของการศึกษาเล่าเรียน พระองค์ต้องทรงใช้ความอดทนอย่างหนักจึงสามารถผ่านพ้นอุปสรรคแต่ละขั้นตอนมาได้ ทรงเล่าว่า บางครั้งเมื่อถึงเวลาสอบ ต้องทรงใช้ผ้าสักหลาดพันรอบอกหลายชั้น เพื่อไม่ให้เกิดอาการหนาวสั่น ในเวลานั่งสอบ นอกจากจะต้องงอดทนต่อความไม่สมบูรณ์ของร่างกายแล้ว ยังต้องงอดทนต่อเสียง ค่อนแคะของเพื่อนร่วมสำนักอีกนานัปการ แต่สิ่งเหล่านี้แทนที่จะทำให้กำลังพระทัยลดน้อยลง แต่กลับทำให้ทรงรู้สึกว่าจะต้องมีความอดทนมากขึ้น
พระคุณธรรมที่โดดเด่นประการต่อมาก็คือ ความใฝ่รู้ (สิกขกามตา) เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงเป็นผู้ใฝ่รู้มาโดยตลอดแม้เมื่อทรงเป็นพระมหาเถระแล้ว พระอัธยาศัยใฝ่รู้ของพระองค์ ก็ไม่เคยจืดจาง ได้ทรงแสวงหาความรู้อยู่เสมอด้วยการทรงอ่านหนังสือ ทั้งที่เป็นหนังสือภาษาไทย และภาษาอังกฤษ หนังสือดีมีประโยชน์บางเรื่องที่ทรงอ่านแล้ว ยังทรงพระเมตตาแนะนำให้ ผู้ใกล้ชิดอ่านด้วย โดยมักมีรับสั่งว่า “เรื่องนี้เขาเขียนดี น่าอ่าน”
พระคุณธรรมข้อกตัญญู ดังกล่าวมาแล้วในตอนต้นว่า เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงมี พระคุณธรรมข้อนี้อย่างเด่นชัด และทรงหาโอกาสสนองคุณของผู้ที่มีพระคุณต่อพระองค์ แม้เพียงเล็กน้อยอยู่เสมอ ดังเช่น เมื่อทรงได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระญาณสังวร ก็ทรงรำลึกถึงพระคุณของสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) ที่ทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระญาณสังวร เป็นรูปแรกในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะหาก ไม่มีสมเด็จพระญาณสังวร (สุก) เป็นรูปที่ ๑ ก็คงไม่มีสมเด็จพระญาณสังวร คือพระองค์เอง เป็นรูปที่ ๒ ฉะนั้นเมื่อถึงเทศกาลเข้าพรรษา จึงเสด็จไปถวายสักการะพระรูปสมเด็จพระญาณสังวร (สุก) ที่วัดราชสิทธารามเป็นประจำทุกปีตลอด
อีกกรณีหนึ่ง เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมวราภรณ์ และทรงได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารใหม่ ๆ (พ.ศ.๒๕๐๔) คราวหนึ่ง สมเด็จพระสังฆราช (อยู่) วัดสระเกศ ได้ทรงปรารภกับพระองค์ด้วยความห่วงใยว่า “เจ้าคุณ จะเอาวัดบวรไว้อยู่หรือ” ซึ่งหมายความว่า จะปกครองวัดบวรนิเวศวิหารที่เป็นพระอารามหลวงที่สำคัญทั้งมีพระเถระที่มีอาวุโสมากกว่า อยู่มากองค์ในขณะนั้นให้เรียบร้อยได้หรือ ด้วยพระปรารภดังกล่าวนี้ เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงถือว่า สมเด็จพระสังฆราช (อยู่) ทรงมีพระเมตตาต่อพระองค์ จึงทรงรำลึกถึงพระคุณของสมเด็จพระสังฆราช พระองค์นั้นอยู่เสมอ เมื่อถึงเทศกาลเข้าพรรษาจึงทรงไปถวายสักการะ สมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้น นับแต่เมื่อยังมีพระชนม์อยู่และตลอดมาจนบัดนี้
พระคุณธรรมข้อถ่อมตน (นิวาตะ) เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงมีความถ่อมพระองค์มาแต่ต้น เพราะความถ่อมตน เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ จึงทรงเป็นพระเถระที่สงบเสงี่ยม สำรวมระวัง ตรัสน้อย และไม่ชอบแสดงตน ดังเช่นในการสอนสมาธิกรรมฐาน พระองค์ก็มิได้แสดงพระองค์ว่าเป็นผู้รู้หรือผู้เชี่ยวชาญกว่าใคร ๆ แต่มักตรัสว่า “แนะนำในฐานะผู้ร่วมศึกษาปฏิบัติด้วยกัน”
บางครั้งมีผู้กล่าวถึงพระองค์ว่า เป็นพระอาจารย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงทราบจะทรงแนะว่า ไม่ควรกล่าวเช่นนั้น เพราะ “ใคร ๆ ไม่ควรที่จะอวดอ้างตนว่าเป็นครูอาจารย์ของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินทุกคนมีหน้าที่ต้องถวายงานสนองพระราชประสงค์เท่านั้น”
อีกตัวอย่างหนึ่ง เจ้าพระคุณสมเด็จทรงเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมมาตั้งแต่ทรง ดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ และทรงเป็นตลอดมาทุกสมัย ในการประชุมมหาเถรสมาคม แต่ละครั้ง เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ประทับเก้าอี้ท้ายแถวเสมอ กระทั่งครั้งหนึ่ง สมเด็จพระสังฆราช (จวน) วัดมกุฎกษัตริยาราม ซึ่งทรงเป็นประธานกรรมการมหาเถรสมาคมในขณะนั้น ทรงทักแบบ สัพยอกด้วยพระเมตตาว่า “เจ้าคุณสานั่งไกลนัก กลัวจะเป็นสมเด็จหรือไง”
พระคุณธรรมข้อคารวธรรม คือความเป็นผู้มีความเคารพต่อผู้ที่ควรเคารพ คารวธรรม ประการแรกของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ก็คือความเคารพในพระรัตนตรัย ความเคารพในพระพุทธเจ้านั้น ทรงแสดงออกด้วยการเคารพต่อพระพุทธรูปในทุกสถานการณ์ ดังเช่น ทรงแนะนำภิกษุสามเณร อยู่เสมอว่า การลงโบสถ์ทำวัตรเช้าค่ำนั้น ก็เสมือนการไปเฝ้าพระพุทธเจ้าประจำวันทำให้รำลึกถึง พระพุทธคุณ จิตใจไม่ห่างไกลจากพระธรรม ข้อที่ทรงแนะนำอีกประการหนึ่งก็คือ พระพุทธรูป ไม่ควรตั้งวางในที่ต่ำ หรือในที่ที่จะต้องเดินข้ามไปข้ามมาเป็นต้น
ความเคารพต่อพระธรรมก็ทรงแสดงออกด้วยการเคารพต่อพระคัมภีร์ เช่นพระคัมภีร์ทาง พระพุทธศาสนาทุกชนิดทรงเก็บรักษาไว้ในที่สูงเสมอ ไม่เก็บไว้ในที่ที่ต้องเดินข้ามเดินผ่านเช่นกัน แม้หนังสือธรรมทุกชนิดก็ไม่ทรงวางบนพื้นธรรมดา ต้องวางไว้บนที่สูงเช่น บนโต๊ะ บนพานเป็นต้น หากทรงเห็นใครวางหนังสือธรรมบนพื้น ก็จะตรัสเตือนว่า “นั่นพระธรรม อย่าวางบนพื้น”
ความเคารพในพระสงฆ์ ก็ทรงแสดงออกโดยทรงมีความเคารพต่อ พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ หรือที่เรียกกันว่า พระกรรมฐานเป็นพิเศษ เช่นเมื่อมีพระกรรมฐานเป็น อาคันตุกะ มาสู่พระอาราม แม้จะเป็นผู้ที่มีอาวุโสน้อยกว่าก็ทรงต้อนรับปฏิสันถารด้วยความเคารพ
พระคุณธรรมข้อนี้ที่ปรากฏต่อสาธารณชนทั่วไปก็คือ ทรงแสดงความเคารพต่อพระเถระ ผู้มีอาวุโสมากกว่าพระองค์ทุกรูป ไม่ว่าพระเถระรูปนั้นจะเป็นภิกษุธรรมดาไม่มียศศักดิ์ อะไรหากมีอาวุโสพรรษามากกว่า พระองค์ก็ทรงกราบแสดงความเคารพเสมอ เมื่อมีพระสงฆ์ จากที่ต่าง ๆ มาเข้าเฝ้า หากมีพระเถระผู้เฒ้ามาด้วย ก็จะทรงถามก่อนว่า “ท่านพรรษาเท่าไร” หากมีอายุ พรรษามากกว่า จะทรงนิมนต์ให้นั่งบนอาสนะและทรงกราบตามธรรมเนียมทางพระวินัย
พระคุณธรรมเหล่านี้ ทำให้ชีวิตของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ เป็นชีวิตที่งดงามหรือกล่าวอย่าง ภาษาชาวโลกก็คือ เป็นชีวิตที่ประสบความสำเร็จ เป็นชีวิตที่สามารถยึดถือ เป็นแบบอย่าง ได้สำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ ไม่ว่าจะเป็นชีวิตทาง โลกหรือชีวิตทางธรรม
ปฏิปทาแบบอย่าง
การกล่าวถึงพระคุณธรรมในชีวิตของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ข้างต้นนั้น เป็นการมองชีวิตของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ในภาพรวมเช่นกับชีวิตของคนทั่วไปว่า ทรงมีอะไรบ้าง ทรงทำอะไรบ้าง แต่ถ้ามองชีวิตของพระองค์ในฐานะที่ทรงเป็นพระสงฆ์รูปหนึ่ง ก็จะเห็นแบบอย่างของชีวิตในทางธรรมที่ชัดเจนอีกภาพหนึ่ง นั่นคือ ปฏิปทาแบบอย่าง สำหรับพระสงฆ์ทั่วไป พระปฏิปทาอันเป็นแบบอย่างดังกล่าวก็คือ
– ความเป็นผู้ทรงปริยัติและไม่ทิ้งปฏิบัติ
– ความเป็นผู้สำรวมระวังในพระวินัย
– ความเป็นผู้มักน้อยสันโดษ
พระปฏิปทาประการแรกคือ ทรงเป็นผู้ทรงปริยัติและไม่ทิ้งปฏิบัติ เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงสำเร็จภูมิเปรียญธรรม ๙ ประโยค อันเป็นชั้นสูงสุดของหลักสูตรการศึกษาด้านปริยัติของคณะสงฆ์ นอกจากจะทรงสำเร็จการศึกษาชั้นสูงสุดแล้ว ยังทรงใฝ่แสวงหาความรู้ทางพระพุทธศาสนา และความรู้ด้านอื่น ๆ อยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความรู้ทางพระพุทธศาสนาหรือความรู้ทางธรรม นั้นพระองค์ทรงใช้การพิจารณาไตร่ตรอง เพื่อความแจ่มแจ้งในธรรมอยู่เสมอ ไม่ทรงถือพระองค์ว่า เป็นผู้รู้แล้ว แต่ทรงถือพระองค์ว่าเป็นผู้กำลังศึกษา ดังที่มักทรงกล่าวในเวลาทรงสอนธรรม แก่คนทั้งหลายด้วยความถ่อมพระองค์ว่า “ในฐานะผู้ร่วมศึกษาปฏิบัติธรรมด้วยกัน”
แต่ในขณะเดียวกัน เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ก็ทรงเอาพระทัยใส่ในการปฏิบัติด้วยกล่าวคือ ทรงปฏิบัติสมาธิกรรมฐานเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าพระองค์จะประทับอยู่ในพระอาราม ที่อยู่ท่ามกลางบ้านเมือง ที่เรียกว่า “คามวาสี” แต่พระองค์ก็ทรงปฏิบัติพระองค์ตามอย่างของ พระที่ประจำอยู่ในวัดท่ามกลางป่าเขา ที่เรียกว่า “อรัญวาสี” กล่าวคือ ในตอนกลางวันก็ศึกษาธรรม ปฏิบัติกิจวัตรต่าง ๆ ตอนกลางคืน ก็ทรงไหว้พระสวดมนต์ประจำวันแล้วทำสมาธิกรรมฐานอย่างน้อย ๑ ชั่วโมงแล้ว จึงบรรทม ทรงตื่นบรรทมเวลา ๓ นาฬิกาครึ่ง (อย่างพระวัดป่าทั่วไป) หลังจากทำกิจส่วนพระองค์เรียบร้อยแล้ว ทรงทำวัตรสวดมนต์ประจำวันแล้ว ทรงสวดพระสูตรต่าง ๆ บ้าง ทรงทบทวนพระปาติโมกข์ (เป็นตอน ๆ) บ้างแล้ว ทรงทำสมาธิกรรมฐานจนถึงรุ่งอรุณ จึงเสด็จออกบิณฑบาต แม้เมื่อทรงเป็นสมเด็จพระราชาคณะแล้ว เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ก็ยังเสด็จออกบิณฑบาต ยกเว้นวันที่มีศาสนกิจอื่น เพราะทรงถือว่าการเดินบิณฑบาตกิจวัตรของ พระและเป็นการออกกำลังไปพร้อมกันด้วย
การปฏิบัติสมาธิกรรมฐานนั้น เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงถือเป็นหน้าที่ที่ภิกษุสามเณรพึง
ปฏิบัติ ทรงแนะนำภิกษุสามเณรอยู่เสมอว่า การปฏิบัติสมาธิกรรมฐานนั้น เป็นการหางาน ให้ใจทำใจจะได้ไม่ว่าง หากใจว่าง ใจก็จะฟุ้งซ่านวุ่นวายไปในเรื่องไม่เป็นเรื่อง ที่สำคัญคือ การ ปฏิบัติสมาธิกรรมฐาน เป็นการรักษาใจให้สงบ ซึ่งจะช่วยให้ภิกษุสามเณรดำรงอยู่ในสมณเพศ อย่างเป็นสุข ภิกษุสามเณรที่ไม่เคยปฏิบัติสมาธิ กรรมฐานนั้น มักจะเป็นอยู่อย่างไม่เป็นสุข หรือที่สุดอยู่ไม่ได้ ก็ต้องลาสิกขาออกไป
ความเป็นผู้สำรวมระวังในพระวินัย หรือกล่าวอย่างสั้น ๆ ก็คือ ความเคร่งครัดในพระวินัย พระปฏิปทาข้อนี้ย่อมเป็นที่ปรากฏต่อสายตาของคนทั่วไปผู้ได้เคยพบเห็นเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ เป็นต้นว่า ทรงเป็นผู้สงบนิ่ง พูดน้อย ไม่ว่าประทับในที่ใด ทรงอยู่ในพระอาการสำรวมเสมอ
ความเป็นผู้มักน้อยสันโดษ เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงปฏิบัติพระองค์อย่างเรียบง่าย แม้ที่อยู่อาศัยก็ไม่โปรดให้ประดับตกแต่ง ทรงเตือนภิกษุสามเณรอยู่เสมอว่า “พระเณรไม่ควรอยู่อย่าง หรูหรา”
พระปฏิปทาข้อนี้ที่ปรากฏอย่างชัดเจนอีกอย่างหนึ่งก็คือ ไม่ทรงสะสม วัตถุสิ่งของที่มีผู้ถวายมา ก็ทรงแจกจ่ายต่อไปตามโอกาส ครั้งหนึ่ง มีผู้แสดงความประสงค์จะถวายรถยนต์สำหรับทรง ใช้สอยประจำพระองค์ เพื่อความสะดวกในการที่จะเสด็จไปทรงปฏิบัติภารกิจในที่ต่าง ๆ ส่วนพระองค์ พระองค์ก็ตอบเขาไปว่า “ไม่รู้จะเอาเก็บไว้ที่ไหน” จึงเป็นอันว่าไม่ทรงรับถวาย
ในวโรกาสทรงบำเพ็ญพระกุศลฉลองพระชนมายุ ๘๐ พรรษา หลวงพ่อคูน ปริสุทโธ ทูลถวาย จตุปัจจัยร่วมบำเพ็ญพระกุศล ๗ ล้านบาท เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงอนุโมทนา ขอบคุณหลวงพ่อคูน แล้วตรัสกับหลวงพ่อคูนว่า “ขอถวายคืนร่วมทำบุญกับหลวงพ่อ ด้วยก็แล้วกัน” ก็เป็นอันว่า ทรงรับถวายแล้วก็ถวายคือกลับไป
เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงเตือนภิกษุสามเณรอยู่เสมอว่า “เป็นพระต้องจน” และไม่เพียง แต่ทรงสอนผู้อื่นเท่านั้น แม้พระองค์เองก็ทรงปฏิบัติพระองค์เป็นพระที่จนเหมือนกัน ครั้งหนึ่ง หลังจากทรงได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชแล้วไม่นานนักศิษย์ใกล้ชิดคนหนึ่ง มากราบทูลว่า “ขณะนี้วัด………ที่เมืองกาญจน์กำลังสร้างสะพานข้ามแม้น้ำ เกือบจะเสร็จแล้ว ยังขาดเงินอีกราว ๗-๘ แสนบาท อยากกราบทูลใต้ฝ่าพระบาทเสด็จไปโปรดสักครั้ง สะพาน จะได้เสร็จเร็ว ๆ ไม่ทราบว่าใต้ฝ่าพระบาทจะพอมีเวลาเสด็จได้หรือไม่ กระหม่อม” เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ตรัสตอบว่า “เวลาน่ะพอมี แต่เงินตั้งแสนจะเอาที่ไหน เพราะพระไม่มีอาชีพการงานไม่มี รายได้เหมือนชาวบ้าน แล้วแต่เขาจะให้”
พระปฏิปทาของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ในฐานะที่ทรงเป็นพระรูปหนึ่ง จึงเป็นที่น่าประทับใจ เป็นพระปฏิปทาที่ควรแก่การยึดถือเป็นแบบอย่าง
ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
พ.ศ. ๒๕๒๙ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
พ.ศ. ๒๕๓๒ มหาวิทยาลัยมหิดล ถวายปริญญาอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
พ.ศ. ๒๕๓๓ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งคณะสงฆ์ไทย ถวายปริญญา พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
พ.ศ. ๒๕๓๗ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขา ปรัชญาและศาสนา
พ.ศ. ๒๕๓๘ มหาวิทยาลัยนเรศวร ถวายปริญญาการศึกษาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาบริหารการ ศึกษา
พ.ศ. ๒๕๓๙ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
พ.ศ. ๒๕๔๑ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาภาษาไทย
พ.ศ. ๒๕๔๓ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
พ.ศ. ๒๕๔๕ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
http://www.watbowon.com/index_main.htm