135 ปี “ครูบาศรีวิชัย” นักบุญแห่งล้านนา ศรัทธาไม่เคยจางหาย
ครูบาศรีวิชัยองค์ใหญ่ที่วัดบ้านปาง
ช่วงนี้มีข่าวไม่ดีในวงการผ้าเหลืองหลายเรื่องชวนให้หลายๆ คนเสื่อมศรัทธากับวัดและพระสงฆ์ไปตามๆ กัน
แม้ศรัทธาในวัดหรือในพระสงฆ์จะเสื่อม แต่ศรัทธาในธรรมและการทำความดีจงอย่าเสื่อม พระพุทธเจ้าเองก่อนปรินิพพานก็ตรัสสั่งให้พระธรรมคำสั่งสอนเป็นศาสดาแทนพระองค์ มิใช่ให้ยึดถือตัวบุคคล
วันนี้ “ตะลอนเที่ยว” จึงอยากพาไปรู้จักกับพระสงฆ์ดีๆ ที่ควรค่าแก่การกราบไหว้ ซึ่งแม้ท่านจะมรณภาพไปแล้วแต่เราก็สามารถเรียนรู้ประวัติของท่านเพื่อเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตได้ นั่นก็คือ “ครูบาศรีวิชัย” พระสงฆ์ที่ได้ชื่อว่าเป็น “นักบุญแห่งล้านนา” เป็นพระนักพัฒนาและเป็นศูนย์รวมจิตใจและศรัทธาของผู้คนในภาคเหนือมาจนถึงทุกวันนี้
พิพิธภัณฑ์ครูบาศรีวิชัยที่วัดบ้านปาง
“ตะลอนเที่ยว” จะพาไปตามรอยครูบาศรีวิชัยในสถานที่สำคัญต่างๆ พร้อมกับเล่าประวัติของท่านให้ฟังไปพร้อมๆ กัน
ครูบาศรีวิชัยเป็นที่รู้จักแพร่หลายที่สุดในฐานะที่เป็นผู้นำในการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ จนหลายๆ คนอาจคิดว่าท่านเป็นชาวเชียงใหม่ แต่แท้จริงแล้ว ครูบาศรีวิชัยมีถิ่นกำเนิดและเริ่มชีวิตภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์ที่จังหวัดลำพูน โดยท่านถือกำเนิดขึ้นที่บ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2421 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
รูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งขนาดเท่าตัวจริงภายในพิพิธภัณฑ์
เมื่อยังเป็นเด็ก บิดามารดาเรียกท่านว่า อ้ายฟ้าฮ้อง หรือ อ้ายอินตาเฟือน เพราะท่านเกิดมาในขณะที่ฟ้าร้องคำรามและพายุสายฝนกระหน่ำ เมื่ออายุได้ 18 ปี ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดบ้านปาง โดยมีครูบาขัติ เจ้าอาวาสเป็นพระอุปัชฌาย์ และต่อมาเมื่ออายุย่างเข้า 21 ปี ก็ได้เข้าอุปสมบทที่วัดบ้านโฮ่งหลวง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน โดยมีครูบาสมณะเป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับนามฉายาว่า “สิริวิชโยภิกฺขุ” แต่ชาวบ้านมักเรียก “พระศรีวิชัย” โดยหลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้ไปศึกษาวิชาสมถะกรรมฐานวิปัสสนากับครูบาอุปละ วัดดอยแต อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ก่อนจะกลับมาที่วัดบ้านปางอีกครั้ง และได้รับการยกย่องให้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสเมื่อครูบาขัติมรณภาพ
“วัดบ้านปาง” จึงเป็นวัดสำคัญที่ต้องไม่พลาดชมหากต้องการทราบเรื่องราวของครูบาศรีวิชัย โดยในบริเวณวัดมีวิหารหลวงที่สร้างขึ้นตามรูปแบบสถาปัตยกรรมล้านนามีลักษณะอ่อนช้อยสวยงาม และเนื่องจากเป็นวัดที่ครูบาอยู่จำพรรษานานที่สุด มีความผูกพันทั้งยามมีชีวิตและยามมรณภาพ ที่นี่จึงจัดทำเป็น “พิพิธภัณฑ์เครื่องอัฐบริขารของครูบาศรีวิชัย” ซึ่งภายในมีรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งครูบาศรีวิชัยขนาดเท่าคนจริงในลักษณะท่านั่ง นอกจากนั้นยังมีภาพเก่าของครูบาศรีวิชัยเมื่อครั้งที่ท่านจาริกไปในสถานที่ต่างๆ และยังมีปราสาทห้ายอดที่เคยบรรจุโลงศพและโกศบรรจุอัฐิของท่านนำมาจัดแสดงให้ได้ชมได้เคารพสักการะกันอีกด้วย
ปราสาทห้ายอดที่เคยบรรจุโลงศพและโกศบรรจุอัฐิครูบาศรีวิชัย
ส่วนที่ชั้นล่างของอาคาร จัดแสดงเครื่องใช้ถ้วยชามและของใช้สมัยเก่าที่หาดูหาชมได้ยาก อาทิ รถยนต์คันแรกที่ท่านเคยนั่งขึ้นไปยังวัดพระธาตุดอยสุเทพฯ รถสามล้อถีบของหลวงอนุสารสุนทรที่ใช้ใส่อาหารเพื่อถวายครูบาศรีวิชัยเมื่อครั้งที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดพระสิงห์ เตียงนอนของครูบาศรีวิชัย และเสลี่ยงหามพาหนะสำหรับเดินทางจาริกไปในวัดต่างๆ ทั่วภาคเหนือ
นอกจากนั้น ที่วัดแห่งนี้ยังได้สร้างรูปปูนปั้นครูบาศรีวิชัยขนาดใหญ่ ประดิษฐานอยู่ข้างอุโบสถให้ผู้ที่ศรัทธาได้กราบไหว้กันอีกด้วย
รูปหล่อครูบาศรีวิชัยด้านหน้าวัดพระสิงห์
ย้อนกลับมาในช่วงระยะเวลาที่ท่านบวชอยู่นั้น พระศรีวิชัยมีศีลาจารวัตรอันงดงามน่าเลื่อมใส ท่านงดการเสพ หมาก เมี่ยง บุหรี่ และงดฉันเนื้อสัตว์ แต่จะฉันอาหารเพียงมื้อเดียวซึ่งมักเป็นผักต้มและข้าวเท่านั้น อีกทั้งท่านยังมีเมตตาออกธุดงค์สั่งสอนหลักธรรมแก่ทั้งชาวบ้านและชาวเขาเผ่าต่างๆ ที่ยังคงนับถือผีให้หันมานับถือพระพุทธศาสนา รวมทั้งช่วยเหลือให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้น พระศรีวิชัยจึงได้รับการยกย่องจากชาวเมืองและชาวเขาให้เป็น “ครูบาศรีวิชัย” ซึ่งคำว่า “ครูบา” นั้นเป็นคำเรียกพระเถระผู้ใหญ่ผู้เป็นที่เคารพนับถืออย่างสูง แต่ครูบาศรีวิชัยขณะนั้นอายุราว 30-40 ปีเท่านั้นเอง
แม้จะได้รับการยกย่องอย่างสูง มีแต่ผู้คนนับถือเลื่อมใส แต่ชีวิตของครูบาก็ไม่ได้ราบรื่นไปเสียทุกอย่าง โดยระหว่างครองผ้าเหลืองนั้นครูบาศรีวิชัยต้องอธิกรณ์ (เป็นคดีในหมู่สงฆ์) ต้องถูกส่งตัวมารับการไต่สวนพิจารณาคดีที่กรุงเทพฯ ถึง 2 ครั้ง โดยมีสาเหตุหลักมาจากระเบียบการปกครองสงฆ์ตามจารีตเดิมของล้านนาที่ขัดกับระเบียบการปกครองใหม่ของกรุงเทพฯ หลังจากที่ล้านนาต้องเข้ามาอยู่ภายใต้นโยบายการปกครองจากส่วนกลางนั่นเอง ซึ่งสาเหตุเริ่มแรกนั้นมาจากการที่ครูบาศรีวิชัยได้เป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้กุลบุตรตามจารีตการถือปฏิบัติมาแต่เดิม ซึ่งขัดกับพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 (พ.ศ. 2446) ที่ระบุว่าพระอุปัชฌาย์ที่จะบวชกุลบุตรได้ต้องได้รับการแต่งตั้งจากส่วนกลางเท่านั้น
พระธาตุดอยสุเทพ ศูนย์รวมจิตใจชาวเมืองเชียงใหม่
และนั่นก็เป็นสาเหตุแรกๆ ที่นำไปสู่ความขัดแย้งต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้นจนกระทั่งทำให้ท่านถูกจับกุมและควบคุมตัวมาสอบสวนยังกรุงเทพฯ ถึง 2 ครั้งตามที่กล่าวไปแล้ว แต่อีกด้านหนึ่งก็ยิ่งเพิ่มแรงศรัทธานับถือเลื่อมใสจากชาวบ้านมากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะผลการสอบสวนแต่ละครั้งปรากฏว่าท่านมิได้ทำผิดวินัยสงฆ์แต่อย่างใด
แม้จะมีเรื่องร้ายๆ เกิดขึ้น แต่ก็ไม่ได้ทำให้ครูบาศรีวิชัยท้อแท้หรือล้มเลิกการทำประโยชน์เพื่อบ้านเมือง เพราะหลังจากที่ท่านเป็นอิสระได้กลับมาครองวัดบ้านปางดังเดิมแล้ว ครูบาศรีวิชัยได้เริ่มงานใหม่ของท่าน คือการธุดงค์ไปสู่ท้องถิ่นต่างๆ ในภาคเหนือเพื่องานบูรณปฏิสังขรณ์วัดเก่าที่ชำรุดทรุดโทรมมากกว่า 100 วัด โดยเริ่มจากวัดบ้านปางที่อำเภอลี้ บ้านเกิดของท่านเอง ก่อนจะไปบูรณะวัดเชียงยันในอำเภอเมืองลำพูน ซึ่งขณะนั้นแทบจะเป็นวัดร้างหญ้าขึ้นรกให้กลับกลายเป็นวัดที่มีเสนาสนะมั่นคงสะอาดสะอ้านได้ในเวลาไม่กี่เดือน เนื่องจากมีชาวบ้านจำนวนมากทั้งชาวเมืองลำพูน และเชียงใหม่ รวมไปถึงชาวป่าชาวเขาที่เคารพศรัทธาในตัวครูบาต่างมาลงแรงลงมือร่วมกันบูรณะวัดเชียงยันแห่งนี้ และนี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นอย่างสวยงามที่ทำให้ครูบาศรีวิชัยต้องเดินทางไปยังเมืองต่างๆ ที่ชาวบ้านพากันมาขอร้องให้ท่านไปเป็นประธานในการบูรณะวัดหรือปูชนียสถานสำคัญต่างๆ
อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยที่เชิงดอยสุเทพ
สำหรับในลำพูนอันเป็นบ้านเกิดของท่านนั้น ท่านได้ฝากผลงานไว้มากมาย นอกจากวัดเชียงยันแล้วก็ยังได้บูรณะวัดพระธาตุหริภุญชัย ปูชนียสถานสำคัญที่สุดของเมืองลำพูนที่ทรุดโทรมมากในขณะนั้นก็ได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ วัดจามเทวีซึ่งแต่เดิมเป็นวัดร้าง ครูบาศรีวิชัยก็บูรณะขึ้นใหม่ วัดพระพุทธบาทตากผ้า ที่อำเภอป่าซาง ก็ได้รับการบูรณะจากวัดร้างให้กลับมาเป็นวัดที่เจริญรุ่งเรืองสืบมาจนปัจจุบัน
ไม่เพียงวัดในจังหวัดลำพูนเท่านั้น แต่หลายๆ วัดในภาคเหนือ เช่น วัดพระสิงห์และวัดสวนดอกที่จังหวัดเชียงใหม่ วัดพระธาตุม่อนไก่แจ้ อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง วัดพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ วัดศรีโคมคำพระเจ้าตนหลวง จังหวัดพะเยา วัดพระธาตุดอยตุง จังหวัดเชียงราย ฯลฯ ต่างก็ได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ และชื่อเสียงของครูบาศรีวิชัยในด้านการเป็นพระนักพัฒนา นักบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามเก่าแก่รกร้างให้กลับเจริญรุ่งเรืองก็เพิ่มมากขึ้น มีผู้ศรัทธาในครูบาศรีวิชัยมาร่วมงานกับท่านเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
สถานที่บรรจุอัฐิของครูบาศรีวิชัยภายในวัดจามเทวี
ดังนั้น งานชิ้นใหญ่และยากเย็นอย่างการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี 2477 จึงไม่มีใครเหมาะสมที่จะเป็นผู้นำเท่าครูบาศรีวิชัยอีกแล้ว และนั่นก็เป็นผลงานชิ้นสำคัญที่ทำให้ท่านเป็นที่รู้จักโดยทั่วกันมาจนถึงทุกวันนี้ โดยวัดพระธาตุดอยสุเทพถือเป็นปูชนียวัตถุสำคัญคู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่มายาวนาน แต่การจะเดินทางขึ้นไปสักการะองค์พระธาตุในสมัยนั้นจะต้องเดินเท้าปีนเขาขึ้นไป ใช้เวลาถึง 5 ชั่วโมงกว่าจะถึง
“ตะลอนเที่ยว” ลองนึกภาพเมื่อราว 80 ปีก่อน ที่แม้การเดินทางสัญจรระหว่างจังหวัดยังลำบาก แต่ครูบาศรีวิชัยสามารถนำผู้คนร่วมกันสร้างถนนความยาว 11 กม. ขึ้นไปยังวัดพระธาตุดอยสุเทพให้สำเร็จได้ภายใน 5 เดือน ทั้งที่ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือทุ่นแรงอันทันสมัย นั่นก็เพราะศรัทธาที่มีต่อครูบาศรีวิชัย ชาวเมืองเหนือจากทั่วทุกสารทิศ ทั้งในเมืองเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พิษณุโลกต่างก็เดินทางมาช่วยกันพร้อมหน้า บ้างถือจอบเสียมมุ่งหน้ามาลงแรงทำถนน บ้างช่วยเหลือเรื่องเงินทอง หรือส่งเสบียงเลี้ยงข้าวปลาอาหาร “ถนนศรีวิชัย” ที่มุ่งหน้าขึ้นสู่วัดพระธาตุดอยสุเทพจึงถือเป็นตัวแทนความสามัคคีและพลังแห่งศรัทธาของชาวล้านนาที่มีต่อครูบาศรีวิชัย
กู่กุด วัดจามเทวี วัดที่ครูบาเป็นผู้บูรณะ และยังเป็นสถานที่ฌาปนกิจสรีระของท่านด้วย
เพื่อระลึกถึงคุณความดีของครูบาศรีวิชัยในการสร้างทางขึ้นสู่ดอยสุเทพและการบูรณะวัดต่างๆ หลายแห่งในเชียงใหม่ ชาวเชียงใหม่จึงได้ร่วมกันสร้าง “อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย” ขึ้นบริเวณเชิงดอยสุเทพ สร้างด้วยทองสัมฤทธิ์หล่อเท่าองค์จริงในท่ายืน เป็นที่เคารพสักการะของชาวเชียงใหม่จนทุกวันนี้
ในวาระสุดท้ายของชีวิต ครูบาศรีวิชัยอาพาธด้วยโรคริดสีดวงทวาร ก่อนจะมรณภาพที่วัดบ้านปางซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2481 เมื่อท่านมีอายุ 60 พรรษา สรีระของท่านเก็บไว้ที่วัดบ้างปางเป็นเวลา 3 ปี ก่อนจะนำมาฌาปนกิจที่วัดจามเทวี ในเมืองลำพูน มีผู้คนหลั่งไหลมาร่วมงานบำเพ็ญกุศลและฌาปนกิจจำนวนนับไม่ถ้วน
ตลอดชีวิตของครูบาศรีวิชัยท่านไม่เคยสำแดงอภินิหาร ไม่เคยสร้างเครื่องรางของขลังใดๆ ศรัทธาที่มหาชนมอบให้เกิดจากการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ และมุ่งประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ จึงไม่แปลกเลยที่ประชาชนต่างยกย่องให้ท่านเป็น “นักบุญแห่งล้านนา” ที่ทุกคนยังคงเคารพนับถือมาจนปัจจุบัน จวบจนวันนี้นับได้ 135 ปีมาแล้ว
http://www.manager.co.th/travel/viewnews.aspx?NewsID=9560000090333