ประสบการณ์โลกทิพย์ ในการออกธุดงค์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต (ตอนที่ ๘)

ประสบการณ์โลกทิพย์ ในการออกธุดงค์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต (ตอนที่ ๘)

ร่างสมมติ

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามพระอาจารย์มั่นว่า นี่เธอเห็นเราพระตถาคตอย่างแท้จริงแล้วมิใช่หรือ

พระตถาคตแท้คืออะไร คือความบริสุทธิ์แห่งใจที่เธอเห็นแล้วนั่นแล

ที่พระตถาคตมาหาเธอนี้ มาในร่างสมมติต่างหาก เพราะพระตถาคตและพระอรหันต์อันแท้จริงมิใช่ร่างแบบที่มากันนี้ นี่เป็นเพียงเรือนร่างของตถาคตโดยทางสมมติต่างหาก ท่านพระอาจารย์มั่นกราบทูลว่า ข้าพระองค์ทราบพระตถาคตและพระสาวกอรหันต์อันแท้จริงไม่สงสัย แต่ที่สงสัยก็คือ พระองค์กับพระสาวกทั้งหลายได้เสด็จไปด้วยอนุปาทิเสสนิพพานไปแล้ว ไม่มีส่วนสมมติยังเหลืออยู่เลย แล้วพากันเสด็จมาในร่างนี้ได้อย่างไร

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งแม้มีความบริสุทธิ์ทางใจด้วยดีแล้ว แต่ยังครองร่างอันเป็นส่วนสมมติอยู่ ฝ่ายอนุปาทิเสสนิพพานก็ต้องแสดงสมมติตอบรับกัน คือต้องมาในร่างสมมติ ซึ่งเป็นเครื่องใช้ชั่วคราวได้ ถ้าต่างฝ่ายต่างเป็นอนุปาทิเสสนิพพานด้วยกันแล้ว ไม่มีส่วนสมมติยังเหลืออยู่ ตถาคตก็ไม่มีสมมติอันใดจะมาแสดงเพื่ออะไรอีก

ฉะนั้นการมาในร่างสมมติครั้งนี้ จึงเพื่อสมมติเท่านั้น ถ้าไม่มีสมมติอย่างเดียวก็หมดปัญหา อันว่าพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทั้งหลายทรงทราบเรื่องอดีต อนาคตก็ทรงถือเอานิมิต คือสมมติอันดั้งเดิมของเรื่องนั้น ๆ เป็นเครื่องหมายรู้ เช่นทรงทราบอดีตของพระพุทธเจ้าทั้งหลายว่า ทรงเป็นมาอย่างไรเป็นต้น ก็ต้องถือเอานิมิตของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น และพระอาการนั้น ๆ เป็นเครื่องหมายรู้พิจารณาให้รู้ ถ้าไม่มีสมมติของสิ่งนั้น ๆ เป็นเครื่องหมาย ก็ไม่มีทางทราบได้ในทางสมมติ

เพราะวิมุตติล้วน ๆ ไม่มีทางแสดงได้ ฉะนั้นการพิจารณาและทราบได้ต้องอาศัยสมมติเป็นหลักพิจารณา ดังที่เราตถาคตนำสาวกมาเยี่ยมเวลานี้ ก็จำต้องมาในรูปลักษณะอันเป็นสมมติดั้งเดิม เพื่อผู้อื่นพอจะมีทางทราบได้ว่า พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น และพระอรหันต์องค์นั้น ๆ มีรูปลักษณะอย่างนั้นๆ ถ้าไม่มาในรูปลักษณะนี้แล้ว ผู้อื่นก็ไม่มีทางทราบได้

เมื่อยังต้องเกี่ยวกับสมมติในเวลาต้องการอยู่ วิมุตติก็จำต้องแยกแบ่งภาคแสดงออกโดยทางสมมติเพื่อความเหมาะสมกัน

ถ้าเป็นวิมุตติล้วน ๆ เช่น จิตที่บริสุทธิ์ รู้เห็นจิตที่บริสุทธิ์ด้วยกัน ก็เพียงแต่รับรู้เห็นอยู่เท่านั้น ไม่มีทางแสดงให้รู้ยิ่งกว่านั้นไปได้ เมื่อต้องการทราบลักษณะอาการของความบริสุทธิ์ ว่าเป็นอย่างไรบ้างก็จำต้องนฤมิตสมมติ เข้ามาช่วยเสริมให้วิมุตติเด่นขึ้น พอมีทางทราบกันได้ว่า วิมุตติมีลักษณะว่างเปล่าจากนิมิตทั้งปวง มีความสว่างไสวประจำตัว

มีความสงบสุขเหนือสิ่งใด ๆ เป็นต้น พอเป็นเครื่องหมายให้ทราบได้โดยทางสมมติทั่วๆ ไป ผู้ทรงวิมุตติอย่างประจักษ์ใจแล้วจึงไม่มีทางสงสัยทั้งเรื่องวิมุตติ แสดงตัวออกต่อสมมติในบางคราวที่ควรแก่กรณี และทรงตัวอยู่ตามสภาพเดิมของวิมุตติไม่แสดงอาการ

ที่เธอถามเราตถาคตนี้ ถามด้วยความสงสัยหรือถามพอเป็นกิริยาแห่งการสนทนากัน ท่านพระอาจารย์มั่นได้กราบทูลว่า ข้าพระองค์มิได้มีความสงสัยทั้งสมมติ และวิมุตติของพระองค์ทั้งหลายเลย แต่ที่กราบทูลนี้ ก็เพื่อถวายความเคารพไปตามกิริยาแห่งสมมติเท่านั้น แม้พระองค์กับพระสาวกจะเสด็จมาหรือไม่ก็มา

ก็มิได้สงสัยว่าพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์อันแท้จริงมีอยู่ ณ ที่แห่งใด แต่เป็นความเชื่อประจักษ์ในอยู่เสมอว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราตถาคต อันแสดงว่าพระพุทธเจ้า พระธรรมแล ะพระสงฆ์มิใช่ธรรมชาติอื่นใดจากที่บริสุทธิ์หมดจดจากสมมติในลักษณะเดียวกันกับพระรัตนตรัย

พระพุทธเจ้าทรงมีอาการกึ่งยิ้ม จ้าเจิดแจ่มใสและมีไมตรีจิตมิตรภาพ พระเนตรลดต่ำ ดวงพระพักตร์เพียบพูนด้วยวิมุตติสุขเปล่งปลั่ง สำแดงออกซึ่งอุเบกขาญาณตรัสว่า

” การที่เราตถาคตถามเธอ ก็มิได้ถามด้วยความเข้าใจว่าเธอมีความสงสัยแต่ถามเพื่อเป็นสัมโมทนียธรรมต่อกันเท่านั้น ”

บรรดาพระสาวกอรหันต์ที่ตามเสด็จพระพุทธเจ้ามาแต่ละพระองค์ในครั้งนี้ มิได้กล่าวปราศัยอะไรกับท่านพระอาจารย์มั่นเลย มีแต่พระพุทธเจ้าประทานพระโอวาทพระองค์เดียว ส่วนพระอรหันต์ทั้งหลายเป็นแต่เพียงนั่งฟังอยู่อย่างสงบเสงี่ยมน่าเคารพเลื่อมใสก็นั่งฟังอยู่อย่างสงบเสงี่ยม ทุกองค์ล้วนมีมารยาทอันสวยงามน่าเคารพเลื่อมใสมาก

เหมือนผ้าที่ถูกพับไว้เป็นระเบียบงามตาไม่มีที่ติ ในเวลาต่อมาหากพระอาจารย์มั่นเกิดความสงสัยอะไร เป็นต้นว่าเกี่ยวกับระเบียบขนบประเพณีดั้งเดิมสมัยพุทธกาล เช่นการเดินจงกรม การนั่งสมาธิ ความเคารพต่อกันระหว่างผู้อาวุโสกับภันเตและการครองผ้าเวลานั่งสมาธิหรือเดินจงกรมจำเป็นทุกครั้งไปหรือไม่อย่างไร

ขณะนั่งภาวนาท่านนึกวิตกอยากทราบความจริง ที่พระพุทธเจ้าและพระสาวกพาดำเนินมาก่อนทำกันอย่างไร พอนึกวิตกเช่นนี้ พระพุทธเจ้าจะเสด็จมาในสมาธินิมิต แสดงวิธีให้ดูทันทีน่าอัศจรรย์ บางคราวพระสาวกอรหันต์องค์ใดองค์หนึ่งก็มาแทนพระพุทธเจ้าแสดงให้ดูตัวอย่างจนได้เช่นว่า การเดินจงกรมควรจะปฏิบัติอย่างไร

ในขณะเดินจะถูกต้อง และเป็นความเคารพธรรมดาตามหน้าที่ของผู้สนใจเคารพธรรมในเวลาเช่นนั้น ท่านก็เสด็จมาแสดงวิธีวางมือ วิธีก้าวเดิน วิธีสำรวมตนให้ดูอย่างละเอียด

บางครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จมาอีกก็ประทานพระโอวาทประกอบกับวิธีแสดงด้วย บางครั้งก็แสดงเพียงวิธีท่าต่าง ๆ ให้ดู แม้พระอรหันตสาวกมาแสดงให้ดูก็ทำในลักษณะเดียวกัน การนั่งสมาธิทำอย่างไรควรหันหน้าไปทางทิศใดเป็นการเหมาะกว่าทิศอื่น ๆ ท่านั่งจะตั้งตัวอย่างไรเป็นการเหมาะสมในขณะนั้น ท่านแสดงให้ดูทุกวิธีจนสิ้นสงสัยทุกกรณีไป

ตลอดจนสีผ้าสบง จีวร สังฆาฏิอันเป็นเครื่องนุ่งห่มของพระท่านก็แสดงให้ดู โดยแสดงผ้าสีย้อมฝาดหรือสีกรักคือสีแก่นขนุนออกเป็นสามสี มีสีกรักอ่อนสีกรักแก่น้ำตาลเข้มเท่าที่ผู้เขียนได้เล่ามานี้ ท่านผู้อ่านก็ย่อมจะพิจารณาตามเห็นว่า พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตะเถระเป็นพระอาจารย์วิปัสสนาที่ทำอะไรลงไปอย่างมีแบบฉบับมา

เป็นเครื่องยืนยันรับรองความแน่ใจของท่านในการกระทำเสมอ มิได้ทำแบบเดาสุ่ม เอาตนเข้าไปเสี่ยงต่อกิจการที่ไม่แน่ใจ ปฏิปทาของพระอาจารย์มั่น จึงราบรื่นสม่ำเสมอตลอดมา ไม่มีข้อที่น่าตำหนิติเตียนใดๆ ตลอดอายุขัยตั้งแต่ต้นจนอวสาน ซึ่งหาผู้เสมอได้ยากในสมัยปัจจุบัน

นอกจากนั้นท่านยังมีอะไรๆ ที่พูดไม่ออก บอกไม่ถูกอยู่ภายในอย่างลึกลับ เป็นเข็มทิศพาดำเนิน ถ้าพูดออกมาแล้วอาจจะถูกกล่าวหาเอาได้ว่าอวดอุตริมนุสสธรรม? ท่านก็นิ่งเสียเก็บไว้รู้ภายในใจแต่ผู้เดียว ซึ่งผู้ปฏิบัติทั้งหลายยากที่จะมีได้อย่างท่าน

?

ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.watpanonvivek.com/index.php/2013-12-10-21-32-04/2012-07-14-08-21-34/1264–m-m-s

. . . . . . .