ตอน สอง อานาปานสติภาวนา โดย พุทธทาสภิกขุ

ตอน สอง อานาปานสติภาวนา โดย พุทธทาสภิกขุ

บุพพภาคทั่วไปของการเจริญสมาธิ

ต่อไปนี้จะได้กล่าวถึงเรื่อง สมาธิภาวนา แต่ในทางปฏิบัติโดยเฉพาะ. สิ่งแรกที่สุดที่อยากจะกล่าว ก็คือ สิ่งที่เรียกว่า บุพพภาคของสมาธิภาวนาที่เกิดขึ้นในชั้นหลัง. สิ่งที่เรียกว่าบุพพภาคก็คือ สิ่งที่ต้องทำก่อน ซึ่งในที่นี้ ก็ได้แก่สิ่งที่ต้องทำก่อนการเจริญสมาธินั้นเอง. ที่เรียกว่า “ในชั้นหลัง”ในที่นี้นั้นย่อมบ่งชัดอยู่ในตัวแล้วว่าเป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดมีธรรมเนียมอันนี้กันขึ้นในชั้นหลัง ไม่เคยมีในครั้งพุทธกาลเลย แต่ก็ยึดถือกันมาอย่างแน่นแฟ้นเอาเสียทีเดียว. แต่เนื่องจากสิ่งที่กล่าวนี้มิใช่ว่าจะเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์เอาเสียทีเดียว เพราะฉะนั้น จึงเป็นสิ่งที่ควรจะได้รับการพิจารณาโดยสมควร แล้วถือเป็นหลักเฉพาะคน หรือเฉพาะกรณีเท่าที่ควรอีกเหมือนกัน แต่อย่าทำไปด้วยความยึดมั่นถืออย่างงมงาย ดังที่ทำกันอยู่โดยทั่วๆ ไปเลย.

สิ่งที่เรียกว่าบุพพภาค ดังกล่าวนั้น ที่นิยมทำกันอยู่ในสมัยนี้ และบางแห่งก็ถือเป็นสิ่งที่เข้มงวดกวดขัน อย่างที่จะไม่ยอมให้ใครละเว้นนั้น ก็มีอยู่มากซึ่งอาจจะประมวลมาได้ ดังต่อไปนี้ :-

๑. การนำเครื่องสักการะแด่เจ้าของสำนัก หรือผู้เป็นประธานของสำนัก. ข้อนี้เป็นสิ่งจะมีไม่ได้ในครั้งพุทธกาล คือไม่มีผู้เป็นประธาน หรือเจ้าของหรือผู้อุปถัมภ์สำนักเช่นนั้น และแถมจะไม่มีสำนักเช่นนั้นด้วยซ้ำไป เพราะผู้ปฏิบัติแต่ละคนๆ ก็ล้วนแต่เป็นผู้ที่อยู่กับอุปัชฌาย์อาจารย์ของตน. เป็นหน้าที่ที่อุปัชฌาย์อาจารย์เหล่านั้น จะต้องบอกต้องสอนอยู่แล้วเป็นประจำวัน. แม้จะเข้าประจำสำนักอื่น ก็ไม่มีสำนักไหนที่จะมีอยู่ในลักษณะที่จะต้องทำเช่นนั้น, เนื่องจากการกระทำในสมัยนั้นไม่มีหลักในทางพิธีรีตองเหมือนสมัยนี้. ครั้นตกมาถึงสมัยนี้ผู้ปฏิบัติจะต้องรู้จักความพอเหมาะพอดี หรือความควรไม่ควรในข้อนี้ด้วยตนเอง.

๒. การถวายสักการะต่ออาจารย์ผู้ให้กัมมัฏฐาน. ข้อนี้ต่างจากข้อหนึ่งซึ่งกระทำแก่ผู้มีหน้าที่ในทางปกครองหรือเจ้าของสำนัก ส่วนข้อหลังนี้กระทำแก่อาจารย์ผู้สอนโดยตรง และเฉพาะเวลาที่จะทำการสอนเท่านั้น เป็นการแสดงความเคารพ หรือเป็นการแวดล้อมจิตใจให้มีความเคารพในบุคคลที่จะสอน. ในครั้งพุทธกาลไม่ถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นพิธี หรือพิธีเช่นนี้จะช่วยให้สำเร็จประโยชน์ ความหมายว่ามีความเคารพหรือไว้ใจในครูบาอาจารย์ของตัวอยู่เป็นปรกติ ถ้าไม่ไว้ใจหรือไม่เคารพก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ จึงไม่มัวเสียเวลาด้วยเรื่องพิธี. นี้แสดงว่ามีจิตใจสูงต่ำกว่ากันอยู่ในตัว ผู้ที่ปฏิบัติกัมมัฏฐานภาวนา ควรจะมีจิตใจสูงจนอยู่เหนือความหมายของพิธีรีตองมาแล้ว จึงจะมีจิตใจเหมาะสมที่จะปฏิบัติเพื่อจะรู้อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ซึ่งเป็นของละเอียดอย่างยิ่ง, แต่เนื่องจากบัดนี้ระเบียบการทำกัมมัฏฐาน ได้ลดลงมาเป็นเรื่องของคนทั่วไป ด้วยอำนาจความยึดมั่นถือมั่นบางอย่าง เช่นอย่างในสมัยนี้ ระเบียบพิธีเช่นนี้ ก็กลายเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับคนสมัยนี้อยู่เอง. ผู้ปฏิบัติจะต้องเข้าใจในความหมายอันนี้ แล้วทำไปในลักษณะที่ควร อันเป็นส่วนของตน แต่มิใช่ด้วยความรู้สึกว่าเป็นพิธีรีตอง; แล้วพร้อมกันนั้นก็ไม่นึกดูถูกดูหมิ่น ผู้ที่ยังต้องทำไปอย่างพิธีรีตองหรือแม้ด้วยความงมงาย เพราะเราต้องยอมรับว่า ในสมัยนี้ โดยเฉพาะในที่บางแห่ง สิ่งเหล่านี้ได้เลือนไปจากความเป็นการกระทำของบุคคลผู้มีปัญญา ไปสู่การกระทำของบุคคลผู้มีเพียงแต่ศรัทธามากยิ่งขึ้นทุกที จนกระทั่งมีสำนักกัมมัฏฐาน ที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นสถานบริการอย่างใดอย่างหนึ่งไปแล้ว.

การไว้วางใจ หรือความเคารพต่อบุคคลผู้เป็นครูบาอาจารย์นั้นเป็นสิ่งที่ต้องการ แต่มิใช่อยู่ในรูปของพิธี. สิ่งที่ต้องการอันแท้จริง อยู่ตรงที่ความอยากปฏิบัติ หรืออยากพ้นทุกข์อย่างแท้จริง อันไม่เกี่ยวกับพิธีต่างหาก. ตัวอย่างที่น่านึกของพวกอื่น นิกายอื่น เพื่อนำมาเป็นเครื่องเปรียบเทียบเพื่อการพิจารณา เช่นในนิกายเซ็น มีข้อความกล่าวไว้ว่า ภิกษุรูปหนึ่ง กว่าจะได้รับคำสั่งสอนจากท่านโพธิธรรมโดยตรงนั้น ถึงกับต้องตัดมือของตนเองข้างหนึ่ง แล้วนำไปแสดงแก่ท่านโพธิธรรม พร้อมกับบอกว่า นี้คือความต้องการที่อยากจะรู้ของผม ท่านโพธิธรรมจึงได้ยอมพูดด้วย และให้การสั่งสอน หลังจากที่ไม่ยอมพูดด้วยโดยหันหน้าเข้าผนังถ้ำ ไม่เหลียวมาดูเป็นเวลาหลายสิบครั้งของการอ้อนวอนมาแล้ว.

นี้เป็นเรื่อง ๑,๐๐๐ กว่าปีมาแล้ว แต่เรื่องของนิกายนี้ในสมัยนี้ เฉพาะในสมัยปัจจุบันนี้ก็ยังมีอยู่ในลักษณะที่คล้ายกัน คือผู้มาขอรับคำสั่งสอนนั้น จะต้องถูกทดสอบด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งตามแบบของสำนักนั้นๆ เช่นให้นั่งอยู่ตรงบันไดนั่นเอง ๒ วัน ๒ คืนบ้าง, ๓ วัน ๓ คืนบ้าง, ตลอดถึง ๗ วัน ๗ คืนบ้าง ติดต่อกันไปก็ยังมี. เขาให้นั่งอยู่ท่าเดียว เช่นนั่งเอาศีรษะซุกหัวเข่าอยู่ตลอดเวลาจนกว่าเจ้าหน้าที่ หรืออาจารย์จะยอมรับคำขอร้องให้เข้าเป็นนักศึกษาได้. นี้เป็นการเปรียบเทียบความแตกต่างว่า เขาได้ยึดหลักที่แตกต่างกันอย่างไร จากผู้ที่เพียงแต่เอาดอกไม้ธูปเทียนไปถวายแล้ว ก็เป็นการเพียงพอแล้ว. ผู้ปฏิบัติพึงรู้ความหมายของระเบียบ หรือพิธีรีตองเหล่านี้ให้ถูกต้อง แล้วถือเอาการกระทำที่สำเร็จประโยชน์แก่ตนให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้.

๓. การจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัยที่หน้าที่บูชา ในขณะเริ่มต้นเพื่อจะรับกัมมัฏฐานหรือเพื่อปฏิบัติกัมมัฏฐานก็ตาม. ข้อนี้เป็นเหตุให้จัดที่บูชาหรือเตรียมเครื่องสักการะบูชาไว้อีกส่วนหนึ่ง คล้ายกับว่าถ้าไม่จุดธูปเทียนแล้ว สิ่งต่างๆ ก็จะล้มเหลวหมด นับว่าโรคติดพิธียังคงมีมากอยู่นั่นเอง. แม้แต่เรื่องมุ่งหมายไปในทางของโลกุตตรปัญญา ก็ยังต้องใช้ธูปเทียนอยู่นั่นเอง; แต่เหตุผลก็มีอยู่เช่นเดียวกับที่กล่าวมาแล้วในข้อ ๑ ข้อ ๒ ผิดกันแต่เพียงว่าในข้อนี้กระทำแก่พระรัตนตรัย และมีอาการของบุคคลผู้ยึดถือพระรัตนตรัยด้วยอุปาทานหรือทางวัตถุเสียเป็นส่วนใหญ่ ทางที่ถูกที่ควรจะเป็นอย่างไรนั้น จะกล่าวในตอนหลัง.

๔. ถ้าเป็นพระให้แสดงอาบัติก่อน ถ้าเป็นฆราวาสให้รับศีลก่อน ข้อนี้คล้ายกับว่า พระเหล่านั้นต้องอาบัติอยู่เสมอ ถ้าไม่ต้องอาบัติ แต่ต้องทำตามพิธี กลายเป็นเรื่องของพิธีอีกนั่นเอง. คิดดูเถิดว่า ถ้าต้องอาบัติ ที่ต้องอยู่กรรมเล่า จะทำอย่างไร เรื่องมิเป็นอันว่า ให้แสดงอาบัติพอเป็นพิธีมากยิ่งขึ้นไปอีกหรือ. ทุกคนควรเป็นผู้ไม่มีอาบัติมาก่อน และเป็นผู้อยู่ในเหตุผลเพียงพอที่จะไม่ต้องมาทำพิธีแสดงอาบัติกันในที่นี้อีก ดูเป็นเรื่องอวดเคร่งหรือเป็นเรื่องอวดพิธี ชนิดที่ไม่เคยมีในครั้งพุทธกาลมาก่อนเลย; ซึ่งเป็นการเสียเวลา หรือทำความฟุ้งซ่านเหนื่อยอ่อนโดยไม่จำเป็นก็ได้. ข้อที่อุบาสกอุบาสิกาต้องทำพิธีรับศีลที่ตรงนั้นอีก ก็มีคำอธิบายอย่างเดียวกัน. พิธีเช่นนี้หาไม่พบในหนังสือแม้ชั้นหลังๆ เช่นหนังสือวิสุทธิมรรค ฉะนั้นจึงไม่ต้องกล่าวถึงในครั้งพุทธกาล.

๕. การมอบตัวต่อพระรัตนตรัย. ได้เกิดมีพิธีมอบตัวต่อพระพุทธเจ้าหรือต่อพระรัตนตรัย โดยกล่าวคำเป็นภาษาบาลี เช่นที่ใช้อยู่ในบางสำนักว่า“อิมาหํ ภควา อตฺตภาวํ ตุมฺหากํ ปริจฺจชามิ” ซึ่งแปลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าข้าพระองค์ของสละอัตตภาพนี้มอบถวายแด่พระองค์ ดังนี้เป็นตัวอย่าง. พิธีที่เป็นไปในทางยึดถือตัวตนมากเช่นนี้ เป็นสิ่งที่มีไม่ได้ในครั้งพุทธกาลโดยแน่นอน. แต่ตกมาถึงสมัยนี้ จะมีคุณประโยชน์อย่างไรบ้างนั้น ก็เป็นสิ่งที่น่าพิจารณา อยู่ผู้ที่ทำจะมีความรู้สึกอย่างไร ก็เป็นสิ่งที่รู้กันไม่ได้ แต่ถ้าเป็นการเลียนแบบด้วยอำนาจความยึดถือตัวตน หรือของตน ในทำนองประจบประแจง เพื่อขออะไรอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ก็จะเป็นแต่เพียงการพอกพูนศรัทธา ให้หนาแน่นมากขึ้นเท่านั้นเอง เป็นอุปสรรคต่อความเจริญในทางโลกุตตรปัญญาอย่างยิ่ง. ผลได้ผลเสียมีอยู่อย่างไร ควรจะศึกษากันให้แน่นอนเสียก่อน. การมอบชีวิตจิตใจที่เป็นเรื่องของปัญญานั้น อยู่ตรงที่มองเห็นความประเสริฐอันแท้จริงของพระธรรม โดยไม่เห็นว่าสิ่งใดประเสริฐไปกว่า แล้วก็อยากปฏิบัติอย่างเต็มที่จริงๆ. นี่เป็นการมอบตัวอย่างแท้จริง โดยไม่เกี่ยวกับพิธี หรือรูปแบบของพิธีแต่ประการใดเลย.

๖. การมอบตัวต่ออาจารย์. บางสำนักมีระเบียบโดยเคร่งครัด ในการที่จะต้องมอบตัวต่ออาจารย์เป็นกิจจลักษณะ หรือต่อหน้าธารกำนัล และยังมีคำกล่าวเป็นภาษาบาลี สำหรับใช้ในกรณีนั้นๆ เช่นที่ใช้กันอยู่ว่า “อิมาหํ อาจริย อตฺตภาวํ ตุมฺหากํ ปริจฺจชามิ” แปลว่า ข้าแต่อาจารย์ ข้าพเจ้าขอสละอัตตภาพนี้มอบถวายแด่ท่าน ดังนี้เป็นต้น. การทำเช่นนี้ด้วยความมีใจบริสุทธิ์ ก็มีความหมายเพียง มีศรัทธา มีความไว้วางใจ และมีการยินยอมทุกอย่าง ซึ่งก็เป็นผลดีบางอย่างสำหรับคนมีศรัทธา. สำหรับทางฝ่ายอาจารย์ น่าจะเพ่งเล็งถึงข้อเท็จจริงอย่างอื่น ซึ่งแสดงลักษณะอาการ หรืออุปนิสัยของบุคคลนั้นๆ โดยแท้จริง ยิ่งกว่าที่จะถือเอาเพียงคำพูดเป็นประกัน. ในที่บางแห่ง การกระทำอย่างนี้ปรากฏไปในทางผูกพันกันเป็นหมู่คณะ เพื่อประโยชน์แก่หมู่คณะ ในทางวัตถุก็มี จนถึงกับถูกกล่าวหาว่าระเบียบพิธีที่คิดกันขึ้นในชั้นหลังเช่นนี้ มีเจตนาจะทำนาบนหลังลูกศิษย์อะไรบางอย่างไปแล้วก็ยังมี, นับว่าอาจารย์ในยุคแรกๆ มีโชคดีอยู่มากที่ไม่ต้องถูกกล่าวหาเช่นนี้ เพราะท่านไม่ใช้ระเบียบอันนี้ เพราะท่านถือตามหลักของพระพุทธเจ้าว่านิพพานเป็นของให้เปล่า และไม่ใช่นิพพานเป็นของใคร เป็นนิพพานของธรรมชาติ จึงไม่ตั้งระเบียบพิธีที่เป็นการผูกพันบุคคล ซึ่งล้วนแต่มีความหมายเป็นข้าศึกต่อความหมายของคำว่านิพพานเป็นอย่างยิ่ง และผิดหลักที่มีอยู่ว่าตนเป็นที่พึ่งของตนมากเกินไป.

๗. การกล่าวคำขอกัมมัฏฐาน. มีระเบียบให้กล่าวคำขอกัมมัฏฐานออกมาว่า นิพฺพานสฺส เม ภนฺเต สจฺฉิกรณตฺถาย กมฺมฏฺฐานํ เทหิ, แปลตามตัวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงให้กัมมัฏฐานแก่กระผม เพื่อประโยชน์แก่การกระทำพระนิพพานให้แจ้งดังนี้ ซึ่งมีรูปลักษณะเช่นเดียวกันแท้กับพิธีการขอศีล พิจารณาดูก็เห็นได้ว่าเป็นพิธีขอกัมมัฏฐานเช่นเดียวกับการขอศีล เป็นการลดน้ำหนักของกัมมัฏฐานลงมาเท่ากันกับเรื่องของศีล จึงเป็นเรื่องพิธีปลุกปลอบใจของบุคคลผู้หนักในศรัทธาอีกอย่างเดียวกัน. ผู้ที่หนักในทางปัญญาย่อมรู้สึกว่าเป็นการฝืนความรู้สึกอย่างยิ่งที่จะต้องทำพิธีเช่นนี้บ่อยๆ แล้วก็มีแต่พิธีเสียเรื่อยไป ไม่กลายเป็นเรื่องของปัญญาไปได้. จริงอยู่ที่คงจะมีการขอ การบอก การถาม การตอบ ในเรื่องอันเกี่ยวกับกัมมัฏฐาน แต่ไม่น่าจะมีระเบียบวิธีการบอก การกล่าว การฝึก ให้มากกว่าที่จำเป็น สำหรับบุคคลที่เข้าใจว่า อะไรเป็นอย่างไรมาแล้วอย่างพอเพียง. เมื่อประสบพิธีมากเข้า ก็จะเกิดความเบื่อหน่ายเพราะพิธีนั่นเอง; การแตกแยกของนิกายก็มีมูลมาจากการที่ฝ่ายหนึ่งทำอะไรลงไปอย่างน่าหัวเราะเยาะหรือดูหมิ่นสำหรับอีกฝ่ายหนึ่ง. ฉะนั้น น่าพิจารณาดูกันเสียใหม่ให้ละเอียดลออว่าควรทำพิธีกันสักเท่าไร ในกรณีชนิดไหนหรือบุคคลประเภทใด อย่าได้ยึดมั่นถือแล้วทำอย่างงมงายดายไป จนเป็นที่หัวเราะเยาะของบุคคลผู้มีปัญญา แล้วตัวเองก็ไม่ได้อะไรมากไปกว่าการได้ทำพิธีล้วนๆ. และอย่าลืมว่าความมุ่งหมายของการทำกัมมัฏฐานภาวนานั้น มุ่งที่จะทำลายยึดถือในพิธี ด้วยอำนาจสีลัพพัตตปรามาสโดยตรง ไม่มีอย่างอื่นเลย.

๘. การเชื้อเชิญกัมมัฏฐาน. บางสำนักหรือบางบุคคลได้ยึดมั่นในพิธีมากเกินไปจนลืมตัว กลายเป็นเรื่องของบุคคลตัวตนไปหมด. มีการสอนกันให้เชื่อว่า กัมมัฏฐานองค์หนึ่งๆ ก็เป็นพระหรือเป็นพระเจ้าองค์หนึ่งๆ หรือแม้แต่ความรู้สึกที่เกิดขึ้น เช่น ปีติ ก็เป็นพะองค์หนึ่งๆ ให้ชื่อว่าพระอานาปาฯ บ้าง ; พระปีติบ้าง, ระบุชื่อเฉพาะเป็นพระอุเพงคาปีติบ้าง, พระผรณาปีติบ้าง. แล้วกล่าวคำเชื้อเชิญออกมาโดยตรงว่า ขอให้พระองค์นั้นพระองค์นี้ ตามที่ตัวต้องการจงมาโปรดบ้าง จึงเกิดคำอาราธนาที่ยึดยาวออกไป เป็นการพรรณนาถึงลักษณะของ “พระองค์นั้นๆ” แล้วก็ต่อท้ายด้วยคำอาราธนาอ้อนวอนขอให้มาโปรดมีลักษณะเอียงไปในทางลัทธิวิญญาณ, หรือภูตผีปิศาจของลัทธิ “ตันตริก” มากขึ้นทุกที ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดแตกแยกนิกาย ถึงขนาดที่มิอาจสมาคมกันได้ ดังนี้ ก็ยังมีทำกันอยู่ แม้ในดินแดนของพวกพุทธบริษัทฝ่ายเถรวาท ที่อ้างว่ามีพุทธศาสนาเจริญหรือบริสุทธิ์ ไม่ต้องกล่าวถึงพวกมหายาน ซึ่งแตกแยกเตลิดเปิดเปิงปนกับลัทธิอื่นจนเข้ารกเข้าพงไป ไปมีชื่อแปลกๆ ออกไปจนกระทั่งจำไปไม่ได้ว่าเป็นพุทธศาสนา.

พิจารณาดูแล้วก็รู้สึกว่า การใช้หลักเกณฑ์เช่นนี้ เป็นการได้ที่น้อยเกินไป ไม่คุ้มเสีย คือได้มาแต่ผลในขั้นที่ยังถูกกิเลสตัณหาอุปาทานลูบคลำมากเกินไปให้ความสบายใจได้บ้าง ก็เป็นเรื่องของศรัทธาล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับปัญญาเลย จึงกลายเป็นอีกแบบหนึ่งต่างหาก จากแบบที่มีอยู่เป็นอยู่ ในครั้งพุทธกาล ซึ่งเป็นเรื่องของปัญญา ในระดับที่กิเลสตัณหาไม่มีทางลูบคลำได้. เราต้องพิจารณาให้เห็นความแตกต่างระหว่างลัทธิที่อาศัยศรัทธา และลัทธิอาศัยปัญญา อย่างชัดแจ้ง แล้วควบคุมมันไปในทางของปัญญา และยอมให้ว่าลัทธิใหม่ๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้นนั้น มุ่งหมายสำหรับบุคคลพวกหนึ่ง ซึ่งออกมาทำสมาธิภาวนา ด้วยหวังว่าจะได้ความสุขที่เป็นวิมุตติสุขอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามเขาเล่าลือกัน ว่าเป็นสิ่งวิเศษเหนือคนธรรมดา. เขายังมองไม่เห็นวี่แววแห่งใจความของอริยสัจจ์ แล้วทำกัมมัฏฐานเพื่อจะดับความทุกข์ตามหลักของอริยสัจจ์.

สรุปความว่า คนพวกหนึ่งตื่นข่าวเล่าลือ ออกมาทำกัมมัฏฐาน เพื่อจะได้อะไรที่วิเศษตามเขาลือ. ส่วนอีกพวกหนึ่งออกมาทำกัมมัฏฐาน เพื่อปล่อยวางสิ่งทั้งปวง ; ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง.

๙. การแผ่เมตตา. ธรรมเนียมการแผ่เมตตาให้สัตว์ทั้งหลาย ก่อนทำกัมมัฏฐานมีที่มาหลายทาง ที่เป็นเหตุผลหรือเป็นปัญญาก็มี, ที่เป็นศรัทธาหรือความงมงายก็มี, แต่ก็มีวิธีแผ่หรือคำสำหรับว่าเหมือนๆ กันหมด. ส่วนมากก็คือบทว่า “สพฺเพ สตฺตา สพฺเพ ปาณา สพฺเพ ภูตา อเวรา อพฺยาปชฺฌา อนีฆา โหนฺตุ สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ” ซึ่งเป็นบทแผ่เมตตาทั่วไปและมีคำแปลว่า สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง จงเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีความลำบาก ไม่มีความทุกข์ จงเป็นผู้มีความสุขบริหารตนเถิด. ส่วนผู้ทำไปด้วยความงมงาย หรือด้วยความหวาดกลัว มีความมุ่งหมายพิเศษออกไปกว่าธรรมดา โดยได้รับคำแนะนำว่าพวกภูตผีปิศาจชอบรบกวนบ้างพวกเปรตจะขอส่วนบุญบ้าง พวกเทวดาจะไม่ช่วยสนับสนุนบ้าง ดังนั้นเป็นต้นก็มีคำกล่าวแผ่เมตตาที่นอกหลักเกณฑ์ หรือนอกแบบแผนของการแผ่เมตตาตามปกติเช่นออกชื่อมนุษย์เหล่านั้นบ้าง ออกชื่อเทวดาหรือพระเจ้าเป็นต้นบ้าง แล้วแผ่เมตตาให้สัตว์เหล่านั้น เพื่อช่วยตนอีกต่อหนึ่ง กลายเป็นการบวงสรวงอ้อนวอนไปโดยใช้เมตตาหรือส่วนบุญที่จะได้รับนั้นเอง เป็นการติดสินบนสินจ้างแก่ผู้ที่จะมาช่วยตนไปก็มี เพราะอำนาจความกลัว และวางแบบแผนขึ้นเพราะความกลัวนั้นจนเสียความมุ่งหมายเดิม.

บทแผ่เมตตาบางแบบอยู่ในลักษณะที่น่าขบขัน เช่นบทว่า “อหํ สุขิโต โหมิ, นิทฺทุกฺโข โหมิ, อเวโร โหมิ, อพฺยาปชฺโฌ โหมิ, อนีโฆ โหมิ, สุขี อตฺตานํ ปริหรามิ” ซึ่งแปลว่า ขอเราจงเป็นผู้มีสุขเถิด, เป็นผู้ไม่มีความทุกข์เถิด, เป็นผู้ไม่มีเวรเถิด, เป็นผู้ไม่มีความลำบากเถิด, เป็นผู้ไม่ถูกเบียดเบียนเถิด, เป็นผู้มีสุขบริหารตนเถิดดังนี้ ย่อมส่อให้เห็นความหวาดกลัว หรือความเห็นแก่ตัวอย่างยิ่งโดยแท้ ชวนให้คิดว่า ผู้มีจิตใจอ่อนแอเช่นนี้จะสามารถทำความเพียรเพื่อเห็นแจ้งอนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ได้อย่างไรกัน ดูๆ จะเป็นเรื่องรบกวนเส้นประสาทของตนเองมากยิ่งขึ้นไปเสียอีก. การที่มีบุคคลบางคน ได้เห็นภาพที่น่าสะดุ้งหวาดเสียว จนจิตใจวิปริตไม่อาจจะทำกัมมัฏฐานได้ต่อไป หรือถึงกับวิกลจริต ก็น่าจะมีมูลมาจากการขัดกันในข้อนี้ คือข้อที่บุคคลผู้นั้นมีหลักเกณฑ์ที่ผิด หรือถูกชักนำไปผิด จนมีความกลัวเกินประมาณไร้เหตุผล แล้วก็ไปฝืนทำกัมมัฏฐาน ซึ่งเป็นการขัดขวางกันอย่างยิ่งอยู่ในตัว. ผู้ปฏิบัติจะต้องเข้าใจความหมายของการแผ่เมตตาก่อนหน้าทำกัมมัฏฐานให้ถูกต้องจริงๆ จึงจะสำเร็จประโยชน์ ไม่เป็นการเนิ่นช้าและไม่มีโทษที่เกิดมาจากการขัดขวางกันขึ้นในใจ เช่นที่กล่าวมา. ข้อนี้เป็นพิธีรีตองที่เดินเลยเกินขอบขีดไปจากพิธีที่พอเหมาะพอดี เป็นการทำสิ่งที่ถูกที่ควร ให้กลายเป็นสิ่งที่เกินถูกเกินควรไปเสีย เป็นสิ่งที่พึงสังวรไว้ว่าทำดีเกินไปหรือถูกเกินไปก็ใช้ไม่ได้เหมือนกัน.

๑๐. การสวดพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ก่อนทำกัมมัฏฐาน. บางแบบหรือบางสำนักมีระเบียบให้สวดพระคุณเหล่านี้ ก่อนการทำกัมมัฏฐานโดยเฉพาะคือสวดอิติปิโส, สวากขาโต, และสุปฏิปันโน จนจบทั้ง ๓ บท โดยไม่ต้องคำนึงถึงความหมาย; บางคนก็ไม่ทราบคำแปล ว่ามีอยู่อย่างไรด้วยซ้ำไป; เลยกลายเป็นเพียงธรรมเนียม หรือยิ่งกว่านั้นก็กลายเป็นของงมงาย ในฐานะที่อ้างคุณพระรัตนตรัย มาเป็นเครื่องคุ้มครองตนให้ปลอดภัยตลอดเวลาที่ทำกัมมัฏฐานอย่างมีความขลังความศักดิ์สิทธิ์ไปเสียอีก. ถ้าเป็นการเจริญอนุสสติ ก็ไม่ใช่การสวดๆ ท่องๆ แต่ต้องเป็นการทำในใจ ถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์จริงๆ เพื่อให้เกิดปีติปราโมทย์ในการที่จะทำ ด้วยอำนาจความเลื่อมใสอย่างแรงกล้า,ดังนี้ก็ควรอยู่. ผู้ปฏิบัติที่ประสงค์จะทำในข้อนี้จะต้องระมัดระวังอย่าให้กลายเป็นไปสวดพระพุทธคุณ กันภูต กันผี อย่างที่เป็นกันอยู่โดยมากเลย จะไปเข้ากลุ่มกับความงมงาย อย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้นไปเสียอีก.

๑๑. การอธิษฐานจิต ต่อธรรมะที่ตนปฏิบัติ. ข้อนี้ได้แก่ระเบียบวิธี ที่เป็นเครื่องเพิ่มกำลังใจให้แก่ตน เพื่อความมั่นใจ หรือพากเพียรขยันขันแข็งยิ่งขึ้น โดยทำความแน่ใจว่าทางที่พระอริยเจ้าทั้งหลายตลอดถึงพระพุทธเจ้าของเราด้วย ได้ดำเนินไปแล้ว ในหนทางที่ตนกำลังดำเนินอยู่นี้จริงๆ เช่นมีบทให้บริกรรมหรือบอกกล่าวขึ้นแก่ตัวเองว่า “เยเนว ยนฺติ นิพฺพานํ พุทฺธา จ เตสญฺจ สาวกา เอกายเนน มคฺเคน สติปฏฺฐานฺสญฺญินา” ซึ่งมีใจความว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายด้วยพระสาวกทั้งหลายของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่านั้นด้วย ย่อมถึงซึ่งพระนิพพานด้วยข้อปฏิบัติใด ข้อปฏิบัตินั้นรู้กันอยู่แล้วว่าได้แก่ สติปัฏฐานทั้ง ๔ ซึ่งเป็นหนทางอันเอกของบุคคลผู้เดียว ดังนี้. ข้อนี้เป็นการย้ำความแน่ใจหรืออธิษฐานจิตในสติปัฏฐานที่ตนกำลังกระทำอยู่ หรือกำลังจะกระทำลงไปก็ตาม. ความมุ่งหมายอันแท้จริง ก็เพื่อจะให้เกิดความมั่นใจยิ่งขึ้นนั่นเอง แต่พวกที่ยึดถือในความขลังหรือความศักดิ์สิทธิ์ ก็อดไม่ได้ที่จะดัดแปลงความหมายให้กลายเป็นการปฏิญญาณตนหรือการมอบกายถวายตน อย่างใดอย่างหนึ่งไปไม่ได้ ทั้งๆ ที่ไม่น่าจะทำเช่นนั้นเลย. นี้เราจะเห็นได้ว่าการดัดแปลงพิธี หรือการเปลี่ยนแปลงความหมายของสิ่งเหล่านี้ มีได้อย่างไม่น่าจะมี ในเมื่อมันตกมาอยู่ในมือของคนขี้ขลาด หรือมีความเชื่ออย่างงมงาย. นับว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของคำว่า ความเชื่อที่ถูกตัณหาและทิฏฐิลูบคลำไม่มีทางที่จะดำเนินไปสู่ปัญญาสูงสุดได้เลย.

เท่าที่กล่าวมาแล้ว เป็นตัวอย่างระเบียบวิธีต่างๆ ที่นิยมกระทำกันก่อนการเจริญกัมมัฏฐาน นำมากล่าวไว้เท่าที่ควร แต่ก็มิได้หมายความว่ามีเพียงเท่านี้ ยังมีมากกว่านี้ และมีที่เดินหน้าไปในทางงมงายมากเกินไป จนน่ารังเกียจก็ยังมี.

๑๒. การบูชาพระพุทธองค์ด้วยการปฏิบัติบูชา. ระเบียบข้อนี้เป็นระเบียบที่วางไว้ให้ทำหลังจากการเลิกทำกัมมัฏฐาน ในคราวหนึ่งๆ หรือวันหนึ่งๆ โดยผู้ทำมุ่งเอาการปฏิบัติที่ได้ทำไปในวันนั้น เป็นเครื่องบูชาพระพุทธองค์ หรือพระรัตนตรัยก็ตาม ในฐานะที่เป็นปฏิบัติบูชา อันคู่กับอามิสบูชา ถือว่าเป็นสิ่งที่สูงสุดยิ่งกว่าอามิสบูชา เพราะฉะนั้น จึงมีการอ้างถึงความเป็นปฏิบัติบูชา อยู่ในบทสำหรับกล่าว เช่นบทว่า “อิมาย ธมฺมานุธมฺมปฏิปตฺติยา พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ ปูเชมิ” ซึ่งแปลว่า ข้าพเจ้าขอบูชา พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ด้วยการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมอันนี้ ซึ่งก็นิยมว่า ๓ ครั้งเป็นธรรมดา. ข้อนี้มีร่องรอยที่แสดงให้เห็นว่า เป็นระเบียบที่จัดขึ้นให้สมคล้อยกันกับพระพุทธภาษิตที่ตรัสสรรเสริญผู้บูชาพระองค์ด้วยปฏิบัติบูชา แทนการบูชาด้วยอามิสบูชา. การทำกัมมัฏฐานถือกันว่าเป็นการปฏิบัติอย่างสูงสุด ฉะนั้นจึงยกขึ้นเป็นเครื่องบูชาแก่พระพุทธเจ้าทุกครั้งไป นับว่าเป็นการกระทำที่ดี มีเหตุผล และน่าเลื่อมใสอยู่; เว้นไว้เสียแต่ว่าผู้ทำจะหลับหูหลับตาทำไปตามธรรมเนียมหรือระเบียบเสียเท่านั้น.

แม้ว่าระเบียบอันสุดท้ายนี้ เป็นสิ่งที่ต้องทำหลังจากการทำกัมมัฏฐานแล้วก็จริงแต่นำมากล่าวไว้เสียก่อนเพื่อให้สินเรื่องสิ้นราวไป สำหรับเรื่องเบ็ดเตล็ดต่างๆ ที่เพิ่งงอกขึ้นใหม่ ในชั้นหลัง. ส่วนระเบียบเบ็ดเตล็ดซึ่งขยายตัวมากออกไปจนกลืนไม่ลงนั้นได้งดเสีย ไม่ได้นำมากล่าวไว้ในที่นี้เพื่อเป็นการวินิจฉัยแต่อย่างใด. ระเบียบวิธีและพิธีรีตองต่างๆ เท่าที่กล่าวมาแล้วนี้ เราจะเห็นได้ว่าบางอย่างเป็นไปเพราะกิเลสตัณหาลูบคลำโดยแท้ ถ้าไม่ฝ่ายศิษย์ ก็ฝ่ายอาจารย์ผู้บัญญัติระเบียบพิธีต่างๆ ขึ้นใหม่ หรือเปลี่ยนแปลงความหมายของของที่มีอยู่เดิมไปตามความเชื่อหรือความต้องการของตนๆ. ผู้ปฏิบัติจะต้องวินิจฉัยดูด้วยเหตุผลหรือด้วยหลักด้วยเกณฑ์ ที่เป็นประธานของหลักเกณฑ์ทั้งหลาย ให้เป็นไปตรงตามความมุ่งหมายของการทำกัมมัฏฐาน หรือสนับสนุนแก่การทำกัมมัฏฐานของตนจริงๆ เรื่องจึงจะดำเนินตามทางของโลกุตตรปัญญา ไม่วกไปเป็นเรื่องของศรัทธาหรือความงมงาย แล้วกลับมาตีกันกับเรื่องของปัญญา จนเกิดความยุ่งยากหรือเกิดผลร้ายขึ้นในที่สุด, เช่นเป็นที่ตั้งแห่งการหัวเราะเยาะ ของสังคมที่เป็นบัณฑิต หรือถึงกับตนเองมีสติฟั่นเฟือนไปในที่สุด. ข้อนี้ไม่เป็นเพียงแต่ความเสียหายส่วนตัว แต่เป็นผลร้ายแก่พระศาสนา หรือการเผยแผ่พระศาสนา เป็นส่วนรวมอีกด้วย นับว่าเป็นการเสียหายอย่างยิ่ง.

https://sites.google.com/site/smartdhamma/part2_anapanasati_buddhadhas

. . . . . . .