เรื่องของฤทธิ์ หรือ ปาฎิหาริย์ นับว่าเป็นเรื่องหนึ่ง ที่ยังมัวอยู่มาก
ในบรรดา เรื่องที่ยังมัวอยู่ หลายเรื่อง ด้วยกัน และดูเหมือน จะเป็นเพราะ
ความที่มันเป็น เรื่องมัว นี่เอง ที่เป็นเหตุ ให้มีผู้สนใจ ในเรื่องนี้ อยู่เรื่อยๆ
มาเป็นลำดับอย่างไม่ขาดสาย และมากกว่า ที่ถ้ามันจะเป็น เรื่องที่กระจ่าง
เสียว่า มันเป็นเรื่อง อะไรกันแน่
หมายความว่า ถ้าเราทราบดีว่า ฤทธิ์ คืออะไร
และเป็นเรื่อง เหมาะสำหรับใคร โดยเฉพาะแล้ว
เชื่อว่า จะทำให้มีผู้สนใจเรื่องนี้ น้อยเข้า เป็นอันมาก
ท่านผู้ที่แสดงฤทธิ์ได้ ไม่เคยปรากฏว่า ได้รับผล อัน”เด็ดขาดแท้จริง” อย่างไร
จากฤทธิ์นั้น ทั้งทางวัตถุ และความสุขในส่วนใจ
ฤทธิ์ เป็นเรื่องจริง สำหรับผู้ที่ไม่ทราบว่า ฤทธิ์ คืออะไร
และ ตนเป็นผู้ที่ ตกอยู่ใน ภูมิแห่งใจที่ต่ำ
จนผู้มีฤทธิ์ จะออกอำนาจฤทธิ์ บังคับ เมื่อไรก็ได้
แต่สำหรับผู้มีฤทธิ์ หรือ ผู้ที่รู้เรื่องฤทธิ์ดี หรือมีกำลังใจ เข็มแข็ง เท่ากับผู้มีฤทธิ์
จะเห็นว่า ฤทธิ์นั้น เป็นเพียงเรื่อง “เล่นตลก” ชนิดหนึ่ง เท่านั้น
แต่เป็นเรื่องที่ แยบคายมาก ลึกซึ้งมาก
พระพุทธองค์ ทรงสะอิดสะเอียน ในเมื่อจะต้องมีการแสดงฤทธิ์
เว้นแต่ จะเป็น การจำเป็น จริงๆ ทรงห้าม พระสาวก ไม่ให้แสดงฤทธิ์
พระองค์เอง ก็ตรัสไว้ใน เกวัฎฎสูตร๑ ว่า พระองค์เอง ก็ไม่พอพระทัย
ที่จะทรมานใคร ด้วยอิทธิปาฎิหาริย์ และ อาเทศนาปาฎิหาริย์
เพราะมันพ้องกันกับ วิชากลางบ้าน ซึ่งพวกนักเลงโต ในสมัยนั้น เล่นกันอยู่
เรียกว่า วิชาคันธารี และมนต์มณิกา
พระองค์ พอพระทัยที่สุด ที่จะใช้ อนุสาสนีปาฎิหาริย์
คือ การพูดสั่งสอนกัน ด้วยเหตุผล ที่ผู้ฟังจะตรองเห็นตามได้เอง
อันเป็น การทรมาน ที่ได้ผลเด็ดขาด ดีกว่าฤทธิ์ ซึ่งเป็นของชั่วขณะ
อันจะต้องหาวิธีทำให้ มั่นคง ด้วยการสั่งสอน ที่มีเหตุผล อีกต่อหนึ่ง ในภายหลัง
แต่ถึงแม้ว่า ฤทธิ์จะเป็น เรื่องหลอกลวงตา
อย่างไรก็ตาม มันก็เป็นเรื่อง ที่น่าสนใจอยู่บ้าง
เพราะมันเป็นสิ่งที่ท่านผู้มีฤทธิ์ เคยใช้ต่อต้าน
หรือ ทำลายอุปสรรคของท่านสำเร็จมาแล้ว เป็นอันมากเหมือนกัน
เมื่อเราปวดท้อง เพราะอาหารเน่าบูดในท้อง ยาขนานแรก ที่เราต้องกิน
ก็คือ ยาร้อน เพื่อระงับความปวด ให้หายไปเสียขณะหนึ่งก่อน
แล้วจึง กินยาระบาย ถ่ายของบูดเน่าเหล่านั้นออก
อันเป็นการแก้ให้หายเด็ดขาด ในภายหลัง
ทั้งที่ ยาแก้ปวดท้อง เป็นเพียงแก้ปวดชั่วคราว ไม่ได้แก้ สมุฎฐานของโรค
มันก็เป็น ยาที่มีประโยชน์ อยู่เหมือนกัน ในเมื่อเรารู้จักใช้
เปรียบกันได้กับ เรื่องฤทธิ์ อันท่านใช้ทรมานใคร ในเบื้องต้น
แล้วทำให้มั่นคงด้วยปัญญา หรือ เหตุผลในภายหลัง ฉันใดก็ฉันนั้น
แต่ถ้าไม่มีการทำให้มั่นคงด้วยเหตุผลที่เป็นปัจจัตตะ หรือสันทิฎฐิโก ในภายหลัง
ผลที่ได้มักไม่สมใจ เช่นเดียวกับ กินเพียง ยาระงับ ความเจ็บปวด อย่างเดียว
แต่หาได้ ถ่ายโทษร้าย นั้นออกเสียไม่ มันก็กลับเจ็บอีก
หรือ กลายเป็นโทษร้ายอย่างอื่นไป
ควรใช้กำลังฤทธิ์ในเบื้องต้น ใช้ปัญญาหรือเหตุผล ในภายหลัง
ย่อมได้ผลแนบแนียนและไพศาลกว่า ที่จะได้เพียงอย่างเดียว แต่อย่างเดียว
คนบางพวก เลื่อมใสในศาสนาด้วยอำนาจปาฏิหาริย์ อย่างใดอย่างหนึ่ง
จูงให้เข้า ปฏิบัติศาสนา จนได้รับ ผลของศาสนานั้นแล้ว แม้จะมารู้ภายหลังว่า
เรื่องฤทธิ์ เป็นเรื่องหลอก เขาก็ละทิ้ง เฉพาะเรื่องของฤทธิ์ แต่หาได้ ทิ้งศาสนา
หรือความสุข ที่เขาประจักษ์ กับเขาเอง ในภายหลังนั้นไม่
แต่มีปรากฏอยู่บ้างเหมือนกัน ที่คนบางคนเลื่อมใสฤทธิ์ อย่างเดียว
เข้ามาเป็นสาวกของพระพุทธองค์แล้ว หาได้ทำให้ตน เข้าถึง
หัวใจแห่งพุทธธรรมด้วยปัญญาไม่ ต้องหันหลังกลับไปสู่มิจฉาทิฎฐิตามเดิม
เช่น สุนักขัตตะลิจฉวีบุตร เป็นต้น แต่ก็มีมากหลาย ที่ถูกทรงชนะมาด้วยฤทธิ์
แล้วได้รับการอบรมสั่งสอนต่อ ได้บรรลุพระอรหัตตผลไป เช่น
ท่านพระองคุลิมาล เป็นต้น
จึงเป็นอันว่า เรื่องฤทธิ์ ก็เป็นเรื่องที่น่ารู้สนใจอยู่ไม่น้อย
แม้จะไม่เป็นการสนใจเพื่อฝึกฝนตนให้เป็นผู้มีฤทธิ์
แต่ก็เป็นการสนใจ เพื่อจะรู้สิ่งที่ควรรู้ ในฐานะที่ตน เป็นนักศึกษา
หาความแจ่มแจ้งในวิชาทั่วๆไป
ต่อไปนี้ จะได้วินิจฉัยในเรื่องฤทธิ์นี้ เป็นเพียง แนวความคิดเห็น
ที่ขยายออกมา สำหรับจะได้ช่วยกัน คิดค้นหาความจริง
ให้พบใกล้ชิดเข้าไปหาจุดของความจริง แห่งเรื่องนี้ ยิ่งขึ้นเท่านั้น
ในบาลีพระไตรปิฎก เราพบเรื่องของฤทธิ์ ชั้นที่เป็นวิชชา หรืออภิญญา หนึ่งๆ
แสดงไว้แต่ลักษณะ หรือ อาการว่า สามารถทำได้ เช่นนั้นๆ เท่านั้น หามีบทเรียน
หรือวิธีฝึก กล่าวไว้ด้วยไม่ อันท่านผู้อ่านจะอ่านพบได้จากพระบาลีมหาอัสสปุรสูตร
หรือ สามัญญผลสูตร แล้ว, ในบาลี คล้ายๆ กับ ท่านแสดงว่า
เมื่อได้พยายามฝึกจิต ของตนให้ผ่องใส จนถึงขนาดที่เหมาะสม แก่การใช้มันแล้ว
ฤทธิ์นั้นก็เป็นอันว่า อยู่ในกำมือ ต่อมาในชั้น อรรถกถา และคัมภีร์พิเศษ เช่น
คัมภีร์วิสุทธิมรรค โดยเฉพาะได้อธิบายถึงวิธีฝึกฝนเพื่อการแสดงฤทธิ์ ไว้โดยตรง
และดูคล้ายกับว่า ท่านประสงค์ให้เป็น บุรพภาคของการบรรลุมรรคผล เสียทีเดียว
ข้าพเจ้าไม่เข้าใจว่า เรื่องฤทธิ์นี้เป็นเรื่องของพุทธศาสนาโดยตรงหรือเป็นส่วนหนึ่ง
ของพุทธศาสนา ในบาลีมัชฌิมนิกาย มีพุทธภาษิตว่า
พระตถาคต สอนแต่เรื่องความทุกข์ กับ ความพ้นทุกข์ เท่านั้น ๒
ทั้งเรื่อง ของฤทธิ์ ก็ไม่เข้า หลักโคตมีสูตรแปดหลักแต่หลักใดหลักหนึ่ง
การที่เรื่องของฤทธิ์ เข้ามาเกี่ยวข้องกับ พุทธศาสนาได้ ก็เป็น การเทียบเคียง
โดยส่วนเปรียบว่า ผู้ที่ฝึกจิตของตน ให้อยู่ในอำนาจ อาจที่จะ บรรลุมรรคผล ได้
ในทันตาเห็น นี้แล้ว จิตชนิดนั้น ก็ย่อมสามารถ ที่จะ แสดงฤทธิ์ เช่นนั้นๆ ได้
ตามต้องการ เมื่อต้องการ, และ อีกประการหนึ่ง ฤทธิ์ เป็นเครื่องมือ อย่างดี ที่จะ
ทรมานบุคคล ประเภทที่ไม่ใช่นักศึกษา หรือนักเหตุผล ให้มาเข้ารีตถือศาสนาได้,
ในยุคพุทธกาล ยังเป็น ยุคแห่งจิตศาสตร์ ไม่นิยมพิสูจน์ค้นคว้า กันในทางวัตถุ
เช่น วิทยาศาสตร์แผนปัจจุบัน มหาชนหนักไปในทางนั้น บรรดาศาสดา จึงจำเป็น
ที่จะต้องมี ความรู้ ความสามารถ ในเรื่อง ฤทธิ์นี้เป็นพิเศษ ส่วนหนึ่งด้วย
เราอาจกล่าวได้ว่า ฤทธิ์ เป็นของคู่กันกับ ลัทธิคำสอน มาตั้งแต่ ดึกดำบรรพ์
ก่อนพุทธกาล ซึ่งศาสดานั้น ใช้เป็นเครื่องมือ เผยแพร่ ศาสนาของตน
แม้พระพุทธองค์ ซึ่งปรากฏว่า เป็นผู้ที่ทรง เกลียดฤทธิ์ ก็ยังต้องทรงใช้บ้าง
ในบางคราวเมื่อจำเป็น ดังที่ปรากฏอยู่ในบาลี หลายแห่ง
ครั้ง ก่อนพุทธกาล นานไกล
ในยุคพระเวท พระเวทยุคแรกๆ ก็มีแต่คำสั่งสอนในการปฏิบัติและบูชาเท่านั้น
ครั้นตกมายุคหลัง เกิดพระเวทที่สี่ (อรรถวนเวท) ซึ่งเต็มไปด้วยเวทมนต์
อันเป็นไปในการให้ประหัตประหารล้างผลาญกัน หรือต่อสู้ต้านทาน
เวทมนต์ของศัตรู ขึ้นด้วยอำนาจความนิยมของมหาชน หรือ อาจกล่าวได้
อีกอย่างว่า ตามอำนาจสัญชาตญาณของปุถุชนนั่นเอง นับได้ว่ายุคนี้เป็น
มูลราก ของสิ่งที่เรียกกันว่า “ฤทธิ์” และนิยมสืบกันมา ด้วยเหตุที่ว่า
มหาชนชอบซื้อ “สินค้า” ที่เป็นไปทำนองฤทธิ์ มากกว่าเหตุผลทางปรัชญา
ถ้าศาสนาใด ด้อยในเรื่องนี้ ก็จะมีสาวกน้อยที่สุด จะได้แต่ คนฉลาดเท่านั้น
ที่จะเข้ามาเป็นสาวก ถ้าเกิดการแข่งขัน ในระหว่างศาสนา ก็เห็นจะเป็น
ฤทธิ์ อย่างเดียวเท่านั้น ที่จะนำความมีชัยมาสู่ตนได้ ในเมื่อให้
มหาชนทั้งหมด เป็นกรรมการตัดสิน คือ ให้พวกเขา หันเข้ามาเลื่อมใส
และเพราะเหตุนี้เอง ในบาลี จึงมีกล่าวประปรายถึง ฤทธิ์
ส่วนในอรรถกถา ได้กล่าวอย่าง ละเอียดพิสดาร
พระพุทธโฆษาจารย์ ได้กล่าว วิธีฝึกฤทธิ์ ไว้ใน คัมภีร์วิสุทธิมรรค
ซึ่งเป็นหนังสือที่แต่งขึ้น เพื่อเอาชนะน้ำใจ ชาวเกาะลังกา
นับตั้งแต่ พระสังฆราช แห่งเกาะนั้น ลงมา อันนับว่า เป็นหนังสือเล่มสำคัญที่สุด
ของท่านผู้นี้ และได้กล่าวไว้ใน อรรถกถาขุททกนิกาย ว่า พระศาสดาของเรา
ทรงแสดงฤทธิ์ หรือ ปาฎิหาริย์ แข่งกับ ศาสดานิครนถเดียรถีย์
อันเรียกว่า ยมกปาฎิหาริย์ และเล่าเรื่องพระศาสดาทรงแสดงปาฎิหาริย์ย่อยๆ
อย่างอื่นอีก เป็นอันมาก นี่ชี้ให้เห็นชัดทีเดียวว่า จะอย่างไรก็ตาม ได้มีการต่อสู้
และแข่งขัน ในระหว่างเพื่อนศาสดา ด้วยใช้ฤทธิ์เป็นเครื่องพิสูจน์
ตามความนิยมของมหาชน เป็นแน่แท้ในยุคนั้น,
แต่นักต่อสู้นั้นๆ จะเป็น องค์พระศาสดาเอง ดังที่ท่านผู้นี้กล่าว
หรือ ว่าเป็นพวกสาวกในยุคหลังๆ หรือ ยุคของท่านผู้กล่าวเอง
หรือ ราว พ.ศ. ๙๐๐ ก็อาจเป็นได้ ทั้งสองทาง
อาจมีผู้แย้งว่าถ้าเป็นยุคหลัง ทำไมเรื่องนี้จึงไปอยู่ในบาลีเดิมเล่า?
พึงเข้าใจว่า บาลีพระไตรปิฎกของเรานี้ ปรากฏว่ามีอยู่คราวหนึ่ง
ซึ่งถูกถ่ายจากภาษาสิงหลกลับสู่ภาษาบาลีแล้วเผาต้นฉบับเดิมเสีย
และผู้ที่ทำดังนี้ก็คือ ท่านพระพุทธโฆษาจารย์ ผู้เป็นเอกอัครแห่ง
พระอรรถกถาจารย์ทั้งหลายนั่นเอง,
ท่านผู้นี้เป็นพราหมณ์โดยกำเนิด จึงนำให้นักศึกษาหลายๆ คน
เชื่อว่า ถ้าเรื่องของพราหมณ์หลายเรื่อง (เช่น เรื่องนรก สวรรค์
เรื่องพระราหู จับพระอาทิตย์ พระจันทร์ ในสังยุตตนิกาย เป็นต้น)
ได้เข้ามาปนอยู่ในพระไตรปิฎก ถึงกับบรรจุเข้าในพระพุทธโอษฐ์
ก็มีนั้น ต้องเป็นฝีมือของท่านผู้นี้ หรือบุคคลประเภทเดียวกับ
ท่านผุ้นี้ แต่ที่ท่านบรรจุเข้า ก็ด้วยความหวังดี ให้คนละบาป
บำเพ็ญบุญ เพราะสมกับความเชื่อถือของคนในครั้งนั้น
เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่า พระศาสดามิได้ทรงสอนเรื่องฤทธิ์ หรือ
เรื่องฤทธิ์มิได้เข้าเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาในครั้งพุทธกาลแล้ว
มันก็น่าจะได้เข้าเกี่ยวข้องในครั้งนี้ เป็นแน่.
ท่านผู้ที่ดึงเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็ได้ทำไปด้วยความหวังดี
เพื่อให้ พุทธศาสนาอันเป็นที่รักของท่าน ต้านทานอิทธิพล
ของศาสนาอื่น ซึ่งกำลังท่วมทับเข้ามานั่นเอง มิฉะนั้น น่ากลัวว่า
พุทธศาสนาจะเหลืออยู่ในโลกน้อยกว่าที่เป็นอยู่ ในบัดนี้มาก
เมื่อเหตุผลมีอยู่ดังนี้ ข้อปัญหาต่อไป จึงมีอยู่ว่าเราจะปรับปรุงความคิดเห็นและ
ความเชื่อถือในเรื่องฤทธิ์นี้อย่างไร ข้าพเจ้าเห็นว่า ฤทธิ์ เป็นเพียงเครื่องประดับ
หรือเครื่องมืออย่างหนึ่ง ซึ่งพุทธศาสนาเคยใช้ประดับ หรือใช้ต้านทานศัตรูมาแล้ว
แต่หาใช่เป็น เนื้อแท้ของพุทธวจนะ ซึ่งกล่าวเฉพาะความดับทุกข์โดยตรงไม่
เพราะฉะนั้น เมื่อเราในบัดนี้ จะเข้าเกี่ยวข้อง กับฤทธิ์อย่างดีที่สุดที่จะทำได้
ก็เท่ากับที่เป็นมาแล้วนั่นเอง เราไม่อาจถือเอามัน เป็นสรณะอันแท้จริงอย่างไรได้
เพราะเหตุผล ดังที่ ข้าพเจ้าจะได้แสดงต่อไป ตามความรู้ ความเห็น ฝากท่านผู้รู้
ช่วยกัน พิจารณาหาความจริง สืบไป
คำว่า ฤทธิ์ แปลว่าเครื่องมือให้สำเร็จตามต้องการ แต่ความหมายจำกัดแต่เพียงว่า
เฉพาะปัจจุบันทันด่วน หรือชั่วขณะเท่านั้น เมื่อ หมดอำนาจบังคับของฤทธิ์ แล้ว
สิ่งทั้งปวง ก็กลับคืนเข้าสู่สภาพเดิม ผู้มีกำลังจิตสูงย่อมแสดงฤทธิ์ ได้สูง
จนผู้ที่มีฤทธิ์ด้วยกัน ต้องยอมแพ้ เพราะมีอำนาจใจต่ำกว่า
จิตเป็นธรรมชาติ อันหนึ่ง ซึ่งเมื่อได้มีการฝึกให้ถูกวิธีของมันแล้ว
ย่อมมีอำนาจมากพอ ที่จะครอบงำสิ่งทั้งหลายที่มีจิตใจด้วยกันได้หมด
ช้างป่าดุร้าย และน่าอันตรายมาก ถ้าเราไม่ได้ค้นพบวิธีฝึกมันแล้ว
ก็ไม่อาจได้รับประโยชน์ อะไรจากมันเลย คนเราที่รู้จักคิดว่า ช้างนี้
คงฝึกได้อย่างใจ และค้นพบวิธีฝึกบางอย่างในขั้นต้น ก็นับว่าเป็นผู้ที่
ทำสิ่งที่ยากมาก แต่ผู้ที่ค้นพบเรื่องของจิต และวิธีฝึกมัน โดยประการต่างๆ นั้น
นับว่า ได้ทำสิ่งที่ยาก มากกว่า นั้นขึ้นไปอีก
ในยุคดึกดำบรรพ์ เมื่อได้มีการสนใจ ในเรื่องจิตกันขึ้น นักจิตศาสตร์ ได้พยายาม
ทดลองโดยอาการต่างๆ แยกกันไป คนละสาย สองสาย จนในที่สุด ก็ได้ลุถึง
คุณสมบัติอันสูงสุดที่จิต ที่เขาฝึกถึงที่สุด ในแง่นั้นๆแล้ว สามารถจะ อำนวย
ประโยชน์ ให้ได้ อันจำแนกได้ โดยประเภทหยาบๆ คือ
(๑) เข้าถึงธรรมชาติ ที่เรียกว่า ทิพย์ แล้วหา ความเพลิดเพลิน จากสิ่งที่เรียกว่า
วิสัยทิพย์ นั้นๆ
(๒) มีอำนาจบังคับทางจิต สำหรับบังคับจิต ของเพื่อนสัตว์ ด้วยกัน
เพื่อเอาผล เช่นนั้น เช่นนี้ ตามความปรารถนา
(๓) สามารถรู้เรื่อง เกี่ยวกับ สากลจักรวาล พอที่จะให้ตน หมดความอยากรู ้
อยากค้นคว้า อีกต่อไป เพราะตนพอใจ ในความรู้นั้นๆ เสียแล้ว
(๔) สามารถปลงวาง สลัดออกเสีย ซึ่งความทุกข์ ทางใจ อันได้แก่ ลัทธิศาสนา
ที่เกี่ยวกับความดับทุกข์ ในจิต ทั้งมวล นับตั้งแต่ สุขใน ฌาน สมาธิ มรรค
ผล นิพพาน เป็นลำดับๆ
พวกใด ดำเนินสายแห่งการค้นคว้าของเขา เข้าไปในดงรกแห่งฤทธิ์วิธี
ย่อมได้ผลใน สองประเภท ข้างต้น (ข้อ ๑-๒)
พวกที่ดำเนินไป เพื่อฟันฝ่า รกชัฎ แห่งตัณหา อันเป็นก้อนหินหนักแห่งชีวิต
ก็ได้ ผลประเภทหลัง (ข้อ ๓-๔)
พวกแรก คือ พวกฤทธิ์ พวกหลัง คือ ศีลธรรม และ ปรัชญาในทางจิต
ทั้งสองประเภทนี้ เป็นที่นิยม ของมหาชน อย่างคู่เคียง กันมา
ในยุคที่ความนิยม ในทางจิตศาสตร์ ยังปกคลุม ดินแดน อันเป็นที่เกิดขึ้น
แห่งวิชานี้ คือ ชมพูทวีป หรือ อินเดียโบราณ มหาชนในถิ่นนั้น ต่างได้รับผล
สมประสงค์กันทั้ง ฝ่ายฤทธิ์ และฝ่ายความพ้นทุกข์ ของจิต แต่ในที่นี้
จะได้กล่าวเฉพาะ เรื่องฤทธิ์อย่างเดียว
งดเรื่องของความพ้นทุกข์ ซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่งเสีย
ผู้ที่ฝึกใจตามวิธีที่ค้นคว้า และ สั่งสอนสืบๆ กันมา หลายชั่วอายุคน ได้ถึงขีดสุด
อย่างถูกต้องแล้ว สามารถบังคับใจตนเอง ให้เป็นเช่นนั้น เช่นนี้ อันเกี่ยวกับ รูป
เสียง กลิ่น รส สัมผัส และ ความรู้สึกในใจ อันเกิดขึ้นจากรูป เสียง เป็นต้น นั้นๆ
แล้วฝึกวิธีที่จะส่งกระแสจิตนั้นๆ ไปครอบงำจิตผู้อื่น ให้ผู้อื่นรู้สึกเช่นนั้นบ้าง
ในทางรูป เสียง กลิ่น ฯลฯ ทุกประการ ผู้ที่มีกำลังจิตอ่อนกว่าทุกๆ คน แม้จะมี
จำนวนมากมายเท่าใด ก็จะรู้สึกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เช่นเดียวกันหมด เพราะ
ใจของเขา ถูกอำนาจจิตของผู้ที่ส่งมา ครอบงำเขาไว้ ครอบงำเหมือนกันหมด
ทุกๆ คน จึงได้เห็นหรือ ได้ยิน ได้ดมตรงกันหมด เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม
บ้านเมืองที่งดงาม ฯลฯ ตามแต่ที่ผู้ออกฤทธิ์ ได้สร้างมโนคติขึ้นในใจของเขา
แล้วส่งมาครอบงำอำนาจครอบงำ อันนี้ เป็นไปแนบเนียน สนิทสนม ผู้ที่ถูกงำ
ไม่มีโอกาสรู้สึกตัวในเวลานั้น ว่าถูกครอบงำทางจิต และ สิ่งที่รู้สึกนั้น
ไม่ใช่ของจริง เมื่อเรานอนหลับ และ กำลังฝันอยู่ เราไม่อาจรู้ตัวว่า เราฝัน
เรากลัวจริง โกรธจริง กำหนัดจริง ฉันใด ในขณะที่ เราถูกงำ ด้วยอำนาจฤทธิ์
ก็รู้สึกว่า เป็นเช่นนั้นจริงๆ ทุกอย่างฉันนั้น
ผู้ออกฤทธิ์บางคน สามารถออกอำนาจบังคับ เฉพาะคน ยกเว้นให้บางคน คนใน
หมู่นั้น แม้นั่งอยู่พร้อมกันในที่เดียวกัน จึงเห็นต่างๆกัน ดังเราจะได้ยิน ในตอนที่
เกี่ยวกับ พระศาสดาทรมานคนบางคน ที่เข้าไปเผ้าพระองค์ ในที่ประชุมใหญ่
และพระองค์ ทรงบันดาล ด้วย อิทธาภิสังขาร เฉพาะผู้นั้น ให้เห็น หรือ ได้ยิน
อย่างนี้ อย่างนั้น เพื่อทำลาย ทิฎฐิ หรือ มานะ บางอย่าง ของเขาเสีย
เมื่อผู้ที่ทำการต่อสู้กัน ต่างก็มีฤทธิ์ด้วยกัน นั่นย่อมแล้วแต่ อำนาจจิต ของใคร
จะสูงกว่า หรือ มีกำลังแรงกว่า เมื่อผู้มีฤทธิ์ ฝ่ายหนึ่ง ได้บันดาล ให้ทุกๆ คน
ในที่นั้น เห็นภาพ อันน่ากลัว มาคุกคาม อยู่ตรงหน้า เช่นนั้นๆ แล้ว ถ้าหาก
อีกฝ่ายหนึ่ง มีอำนาจจิต สูงกว่า ก็อาจรวบรวม กำลังจิตของตน เพิกถอนภาพ
อันเกิดจากอำนาจฤทธิ์ของฝ่ายแรก กวาดให้เกลี้ยงไปเสียจากสนามแห่งวิญญาณ
แล้วบันดาล ภาพอันน่ากลัว ซึ่งเป็น ฝ่ายของตน ขึ้น คุกคาม บ้าง แม้ว่า ในขณะที่
คนนั้นๆ ถูกอำนาจฤทธิ์ ครอบงำอยู่ และเขาไม่อาจทราบว่า นั่นเป็น กำลังฤทธิ์ ดุจ
ตกอยู่ในขณะแห่งความฝัน ก็ดี เขายังได้รับการศึกษา และความเชื่อมาก่อนแล้ว
ว่า มีวิธีที่จะต่อสู้ต้านทาน ซึ่งเป็นการเพิกถอนฤทธิ์ ของฝ่ายหนึ่ง เช่นนั้นๆ ด้วย
จึงโต้ตอบ กันไปมา จนกว่า ฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่ง จะสิ้นฤทธิ์
ในรายที่ไม่ได ้ทำการต่อสู้ ประหัตประหาร กันโดยตรง แต่ต่อสู้ เพื่อแข่งขัน
ชิงเกียรติยศ อย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อเรียกเอาความเลื่อมใส ของมหาชน มาสู่
พวกของตัวนั้น ก็ทำนองเดียวกัน คือ มีการต้านทาน เพื่อมิให้ อีกฝ่ายหนึ่ง
แสดงฤทธิ์ ของเขาได้สมหมาย ซึ่งถ้าหาก การต้านทาน นั้นสำเร็จ
ฝ่ายโน้นก็แพ้แต่ต้นมือ ถ้าต้านทานไม่สำเร็จ ก็ต้องหาอุบายกวาดล้างอำนาจฤทธิ์
ในเมื่อฝ่ายหนึ่ง ได้ส่งมาแล้ว ซึ่งถ้ายังทำไม่ได้อีก ตนก็ตกเป็นฝ่ายแพ้ฤทธิ์ของผู้
ที่มี ดวงใจบริสุทธิ์ เป็นอริยบุคคล ย่อมมีกำลังสูง และหนักแน่น ยั่งยืนกว่า ของ
ฝ่ายที่ยังเต็มไปด้วยกิเลส เป็นธรรมดา เพราะเหตุว่า จิตของผู้มีกิเลส ถูกกิเลส
ตัดทอน เสียตอนหนึ่งแล้ว ยังอาจที่จะ ง่อนแง่น คลอนแคลน ได้ ในเมื่อ
อิฎฐารมณ์ หรือ อนิฎฐารมณ์ มากระทบ ในขณะที่ ต่อสู้กันนั้น
อีกประการหนึ่ง ผู้ไม่มีกิเลส ย่อมไม่ทำเพราะเห็นแก่ตัว จึงมีกำลัง
ปีติปราโมทย์ ความเชื่อ และ อื่นๆ ซึ่งเป็นดุจเสบียงอาหาร ของฤทธิ์ มากกว่า
ย่อมได้เปรียบ ในข้อนี้
ในรายที่ไม่มีการต่อสู้กัน เป็นเพียงการทรมาน ผู้ที่มีกำลังใจอ่อนกว่า
แต่มีมานะ หรือ ความกระด้าง เพราะเหตุบางอย่าง ย่อมเป็นการง่ายกว่า
ชนิดที่ต่อสู้กัน คนธรรมดา สตรี เด็กๆ เพียงแต่อำนาจสะกดจิตชั้นต่ำๆ
ซึ่งยังมีเหลือออกมา ถึงสมัยปัจจุบันนี้บ้าง ก็อาจที่จะเป็น อำนาจงำ ให้
ตกอยู่ใต้อำนาจของผู้แสดง นั้นได้เสียแล้ว แม้ว่าสมัยนี้ จะเป็นสมัยที่
ไม่ค่อยมีใครเชื่อในเรื่องนี้ และทั้งผู้ฝึก ก็มิได้เป็น “นัก” ในเรื่องนี้
อย่างเอาจริงเอาจัง ก็ในสมัยโบราณ คนทุกคนเชื่อในเรื่องฤทธิ์ และผู้ฝึก
ก็ฝึก อย่างเอาจริงเอาจัง เรื่องของฤทธิ์ จึงเป็นเรื่องที่แนบเนียน และเป็น
เรื่องจริงได้อย่างเต็มที่ ในสมัยนั้น ความที่ทุกคนเชื่อก็ดี ความที่ผู้ฝึกเอง
ก็เชื่อและตั้งใจฝึกเป็นอย่างดี ก็ดี ล้วนแต่เป็น สิ่งส่งเสริมในเรื่องฤทธิ์
ให้เป็นเรื่องจริง เรื่องจัง ยิ่งขึ้นไปอีก เราอาจกล่าวได้ว่า ในยุคโบราณยุคหนึ่ง
ความเชื่อในเรื่องนี้ มีเต็มร้อยเปอร์เซนต์ อิทธิพลในเรื่องฤทธิ์ จึงมีได้ เต็มร้อย
เปอร์เซ็นต์ เพราะมันถูกฝา ถูกตัว แก่กัน ครั้นมาบัดนี้ ทั้งความเชื่อ และ
การฝึกฝน มีเหลือน้อย ไม่ถึง ห้าเปอร์เซนต์ เลยกลายเป็น เรื่องเหลวไหล เสีย
เก้าสิบห้าเปอร์เซ็นต์ บางที มีแต่ตัว ไม่มีฝา บางทีมีฝา แต่ไม่มีตัว ต่างฝ่าย
ต่างก็ขี้เกียจเก็บ เลยทิ้งให้ ค่อยหายสาปสูญไป ความยั่วยวน อันเกิดจากฝีมือ
ของนักวิทยาศาสตร์ แผนปัจจุบัน กำลังมีอิทธิพล มากขึ้นๆ ในอันที่จะให้จิต
ของคนเราตกต่ำ อ่อนแอต่อการที่จะบังคับตัวเองให้ว่างโปร่ง เพื่อเป็นบาทฐาน
ของฤทธิ์ ได้ เมื่อว่างผู้แสดงฤทธิ์ ได้ นานเข้า ความเชื่อในเรื่องนี้ ก็สาปสูญไป
ทั้งของผู้ที่จะฝึกและของผู้ที่จะดู
บัดนี้ จะย้อนกลับไปหาเรื่องของการฝึก เพื่อให้เข้าใจในเรื่องนี้ดีขึ้น
(มิใข่เพื่อรื้อฟื้นขึ้นฝึกกัน) ผู้ที่จะฝึกในเรื่องฤทธิ์ ต้องเป็นผู้ที่มีใจ เป็นสมาธิง่าย
กว่าคนธรรมดา เพราะเรื่องนี้ มิใช่เป็นสาธารณะ สำหรับคนทั่วไป แม้ผู้ที่เชื่อ
และตั้งใจฝึกจริงๆ ถึงฝึกสมาธิได้แล้ว ท่านยังกล่าวว่า ร้อยคนพันคน จึงจะมี
สักคนหนึ่งที่จะเขยิบตัวเองขึ้นไป จนถึงกับแสดงฤทธิ์ได้ การปฏิบัติเพื่อรู้อริยสัจ
หลุดพ้นไปจากทุกข์ได้เสียอีก ที่เป็นสาธารณะกว่า! คนบางประเภทหลุดพ้นจาก
ทุกข์ได้ ด้วยเหตุผล ที่แวดล้อมเหมาะสม จูงความคิด ให้ตกไป ในแนวแห่ง
ความเบื่อหน่ายและปล่อยวางได้โดยไม่ต้องเกี่ยวกับการฝึกสมาธิเลย จึงกล่าวย้ำ
เพื่อกันสงสัย ได้อีกครั้งหนึ่ง สำหรับคนธรรมดา เราๆ การฝึกเพื่อพระนิพพาน
เป็นของง่ายกว่า ที่จะฝึกในเรื่องฤทธิ์ ให้ได้ถึงที่สุด ยิ่งถ้าจะฝึกเพื่อทั้งฤทธิ์ และ
พระนิพพาน ทั้งสองอย่างด้วยแล้ว ก็ยิ่งยาก มากขึ้นไปอีก ในหมู่พระอรหันต์ ก็
ยังมีแบ่งกันว่า ประเภทสุกขวิปัสสก และประเภทอภิญญา
คือแสดงฤทธิ์ไม่ได้ และแสดงได้
ผู้ฝึกสมาธิ เพื่อมรรคผลนิพพานนั้น เมื่อใจเป็นสมาธิแล้ว ก็น้อมไปสู่ การคิดค้น
หาความจริงของชีวิต หรือ ความทนทุกข์ของสัตว์ ว่ามีอยู่อย่างไร เกิดขึ้นอย่างไร
จะดับไปได้อย่างไร เป็นต้น ส่วนผู้ที่ฝึก เพื่อฤทธิ์นั้น แทนที่จะน้อมไปเพื่อคิดค้น
หาความจริง เขาก็น้อมสมาธินั้นไปเพื่อการสร้างมโนคติต่างๆ ให้ชำนาญ ซึ่งเป็น
บทเรียนที่ยากมาก เมื่อเขาสร้างภาพแห่งมโนคติได้ด้วยการบังคับจิตหรือวิญญาณ
ของเขาได้เด็ดขาดและคล่องแคล่ว แล้วก็หัดรวมกำลังส่งไป ครอบงำสิ่งที่อยู่ใกล้
จะขยายวงกว้างออกไปทุกที เพื่อให้ ภาพแห่งมโนคติ นั้นครอบงำใจของผู้อื่น ตาม
ที่เขาต้องการความยากที่สุด ตกอยู่ที่ตนจักต้องดำเนินการ เปลี่ยนแปลงภาพ นั้นๆ
ให้เป็นไปตามเรื่องที่ต้องการ ดุจการฉายภาพยนต์ ลงในผืนจอแห่งวิญญาณ ของ
ผู้อื่น จึงเป็นการยากกว่า การที่เจริญสมาธิ เพื่อสงบนิ่ง อยู่เฉยๆ หรือคิดเรื่องใด
เรื่องหนึ่ง แต่เรื่องเดียว โดยเฉพาะ แต่อย่างไรก็ดี ความลำบาก นั้นๆ มิได้เป็นสิ่ง
ที่อยู่นอกวิสัย เพราะเมื่อจิตได้ถูกฝึกจนถึงขีด ที่เรียกว่า “กัมมนีโย” นิ่มนวล ควร
แก่การใช้งานทุกๆ อย่างแล้ว ก็ย่อมใช้ได้ สมประสงค์
ฤทธิ์ตามที่กล่าวไว้ ใน นิทเทสแห่งอภิญญา ของฝ่ายพุทธศาสนานั้น ดูคล้ายกับ
ยืมของใครมาใส่ไว้ เพื่อแสดงความสามารถของจิต อันสูงสุดประเภทนี้ ให้ครบ
ถ้วน นอกจากไม่เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ โดยตรงแล้ว ยังไม่ค่อยตรงกับอาการที่
พระพุทธองค์ทรงแสดงอยู่บ้าง ในบางคราวในบาลีไม่ได้แสดงวิธีฝึก ไม่ได้แสดง
วี่แววว่า ควรฝึกหรือจำเป็น และไม่ค่อยปรากฏว่า พระมหาสาวกองค์ใด ได้รับ
ประโยชน์ หรือใช้ให้เป็นประโยชน์ อย่างใดอย่างหนึ่ง จึงนำความเข้าใจให้เกิดขึ้น
ว่า ถ้าหากว่าเรื่องอภิญญาเหล่านี้ มิใช่เป็นเรื่องที่กล่าวเพื่อแสดงคุณสมบัติของจิต
ที่ฝึกแล้วถึงที่สุด ให้ครบถ้วนเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องจำเป็น ของพระสาวกเลย เมื่อเป็น
เช่นนี้ การฝึกก็เป็นอันว่าต้องต่างกันด้วยไม่มากก็น้อย จากวิธีที่เขาฝึกกัน ในสาย
ของฤทธิ์โดยตรง เพราะเรื่องโน้น เป็นเรื่องของผู้ขวนขวาย เพื่อเสียสละ มิใช่เรื่อง
ของ ผู้ขวนขวาย เพื่อรับเอา ในพระบาลี กล่าวแต่เพียงว่า เมื่อจิตเป็น จตุตถฌาน
คล่องแคล่วดีแล้ว ก็น้อมไปเพื่ออภิญญา ช่นนั้นๆ สำเร็จได้ด้วยอำนาจ จตุตถฌาน
นั่นเอง เมื่อการน้อมนั้นๆ สำเร็จก็จะสามารถทำได้ เช่นนั้นๆ ดูเหมือนว่า ถ้าน้อมไป
เพื่ออภิญญานั้นๆ ไม่สำเร็จ ก็น้อมเลยไป เป็นลำดับๆ ข้ามไปหา การคิดค้น เรื่อง
อริยสัจ เลยทีเดียว คล้ายกับว่า มีไว้เผื่อเลือก หรือ สำหรับคน ที่มีอุปนิสัยบางคน
ในบาลีบางแห่ง ไม่มีกล่าวถึงอภิญญาเลย เมื่อกล่าวถึง จตุตถฌานแล้ว ก็กล่าวถึง
วิชชาสาม คือ ระลึกถึงความเป็นมา แล้วของตนในอดีต ความวิ่งวนของหมู่สัตว์
ในสังสารวัฎ และเหตุผล เรื่อง อริยสัจ เป็นที่สุด พระบาลี ชนิดหลังนี้ มีมากกว่า
ที่กล่าวถึง อภิญญา และที่กล่าวถึง จตุตถฌาน แล้ว กล่าวอริยสัจเสียเลย
ก็มีมากกว่ามาก
ในอรรถกถาซึ่งเป็น คำอธิบายของพระบาลี ก็มิได้กล่าววิธีฝึกฤทธิ์นั้นๆ มักแก้
ในทางศัพท์ ทางข้อธรรมะแท้ๆ หรือ มิฉะนั้น ก็ทางนิยายเลยไป แต่ได้ท้าให้ค้นดู
เอาจาก คัมภีร์วิสุทธิมรรค เพราะ ผู้ร้อยกรอง อรรถกถา กับผู้แต่งวิสุทธิมรรค
เป็นคนเดียวกัน หรือ วิสุทธิมรรคมีอยู่แล้ว ก่อนการแต่งอรรถกถานั้นๆ
ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค มีเรื่องของการฝึกฤทธิ์อย่างพิสดาร จนกล่าวได้ว่า
ไม่มีคัมภีร์ใด มีพิสดารเท่า ในวงของ คัมภีร์ฝ่ายพุทธศาสนา ด้วยกัน
เพราะความพิสดารนั่นเอง จำเป็นที่ข้าพเจ้า จะต้องขอร้อง ให้ท่านพลิกดู
ในหนังสือชื่อนั้น ด้วยตนเอง ด้วยว่า เหลือที่จะ นำมาบรรยาย ให้พิสดาร
ในที่นี้ได้ เมื่อกล่าวแต่ หลักย่อๆ ก็คือ ขั้นแรก ท่านสอน ให้หาความชำนาญ
จริงๆ ในการเพ่งสีต่างๆ และวัตถุ เช่น ดิน น้ำ ไฟ ลม จนติดตาติดใจ เพื่อ
สะดวกในการ สร้างภาพแห่งมโนคติ ในขั้นต่อไป อันเรียกว่า เพ่งกสิณ ซึ่ง
เป็น สิ่งมีมา ก่อนพุทธกาล มิใช่สมบัติ ของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะ
ผู้เพ่งต่อฤทธิ์ ต้องหนักไปใน การฝึกกสิณ เท่ากับ
ผู้เพ่งต่อพระนิพพาน หนักไปใน การฝึกแห่ง อานาปานสติ และกายคตาสติ เป็นต้น
ดิน น้ำ ไฟ ลม คือ ส่วนผสมของสิ่งต่างๆ ในโลก หรือ กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็ว่า
โลก เท่าที่ปรากฏแก่ ความรู้สึก ของคนทั่วไป ก็คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม นั่นเอง
เมื่อสิ่งเหล่านี้ ติดตา และติดใจ จนคล่องแคล่ว พระโยคีนั้น ก็อาจสร้าง
มโนคติภาพ อันเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ ได้ทั่วไป ทุกอย่าง
กสิณ จึงจำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับผู้ศึกษา ในฝ่ายฤทธิ์
สีขาว สีเขียว และสีต่างๆ ก็ทำนองเดียวกัน
เป็นสีของสิ่งทั้งหลาย บรรดามี ในโลกนี้
การฝึก อุทธุมาตกอสุภ คือ การเพ่งจำซากศพที่ตายได้สี่ห้าวัน กำลังขึ้นพองเขียว
จนติดตา และขยายสัดส่วน ให้ใหญ่เล็ก ทำนองย่อ และ ขยายสเกล อยู่ไปมา
ตลอดจน ให้ลุกเดินเคลื่อนไหวได้ ต่างๆ จนติดตาติดใจ ชำนาญ ทุกประเภท
เช่นนี้ ช่วยให้ประสาทของผู้นั้น เข้มแข็งต่อความกลัว จนมีใจไม่หวั่นไหวได้จริง
ในที่ทั้งปวง ทั้งช่วยส่งเสริมในการสร้างมโนคติ ในเรื่องกลิ่น เป็นต้น ได้เป็นพิเศษ
รวมความว่า ในขั้นแรกต้องฝึกการอดทน การบังคับใจของตนเองให้อยู่ในมือจริงๆ
การชำนาญ สร้างภาพ ด้วยใจ อย่างเดียว ตลอดถึง ความกล้าหาญ ความบึกบึน
หนักแน่น ของประสาท ทั้งสิ้น
เมื่อชำนาญใน ขั้นนี้แล้ว จึงฝึก การส่งภาพ ทางใจ หรือ ที่เรียกว่า อธิษฐานจิต
เพื่อความเป็น เช่นนี้ เช่นนั้น ครอบงำผู้อื่น ถ้าหาก มีความชำนาญ และกล้าแข็งพอ
อาจที่จะบันดาลให้ คนทั้งชมพูทวีปรู้สึก หรือเห็น เป็นอันเดียวกันหมดว่า
ภูเขาหิมาลัย ซึ่งเคยอยู่ ทางทิศเหนือนั้น บัดนี้ได้ ขยับเลื่อนลงมาอยู่ ทางทิศใต้
หรือ กลางมหาสมุทรอินเดีย เสียแล้ว เป็นต้นได้ แต่เพราะ ความที่อำนาจใจ นั้นๆ
ไม่พอ จึง เท่าที่ เคยปรากฏ กันมาแล้ว มีเพียง ในวงคน หมู่หนึ่ง หรือ ชั่วขณะหนึ่ง
เท่านั้น สมตามที่ชื่อของมัน คือคำว่า ฤทธิ์ ซึ่งแปลว่า เครื่องมือช่วย แก้อุปสรรค
ให้สำเร็จ กะทันหัน ทันอกทันใจ คราวหนึ่ง เท่านั้น เพราะว่า แม้หาก พระโยคี
องค์ใด เคลื่อน ภูเขาหิมาลัย ได้ด้วย อำนาจฤทธิ์ เมื่อท่านคลายฤทธิ์ หรือตายเสีย
ภูเขาหิมาลัย ก็จะ วิ่งกลับสู่ที่เดิม เท่านั้นเอง นักโทษ ที่มีฤทธิ์ อาจบันดาล ให้เขา
เห็นตนเหาะลอยอยู่ในอากาศได้ แต่ย่อมไม่อาจที่จะทำลาย เครื่องจองจำ นั้นได้
ถ้าหากมัน เป็นเครื่องมือ ที่แน่นหนา แข็งแรงพอ แต่นักโทษผู้นั้น มีทางที่จะใช้
ฤทธิ์นั้น ให้เป็นประโยชน์ แก่ตน หรือ มีโอกาส ให้อุบาย อันใด อันหนึ่ง หรือ
เขาสั่งปล่อย เพราะ กลัวอภินิหาร ของตน
เมื่อตนคล่องแคล่วใน การอธิษฐานจิต แผ่มโนคติภาพ ไปครอบงำ สัตว์อื่น
ได้เช่นนี้ ก็เป็นผู้มีฤทธิ์ แต่จะมากหรือน้อย ย่อมแล้วแต่ ความสามารถ ของตน
เมื่อมาถึงตรงนี้ ก่อนแต่จะจบ ควรย้อนกลับไป พิจารณาถึง เรื่องฤทธิ์นี้ กันมาใหม่
ตั้งแต่ต้นอีกสักเล็กน้อย แต่พิจารณากันในแง่แห่งประวัติศาสตร์ของวิชาประเภทนี้
วิชาเรื่องนี้ฟักตัวมันเองขึ้นมาได้ด้วย ความอยากรู้และอยากเข้าถึงอำนาจบางอย่าง
ซึ่งอยู่เหนือคนธรรมดา มันเป็น ความอยาก ที่เกิดขึ้น โดยบังเอิญของ คนบางพวก
ที่อุตริ เชื่อว่า จิตนี้ แปลกประหลาดมาก น่าจะมี คุณสมบัติพิเศษ บางอย่าง ซึ่งเมื่อ
ผู้ใดอุตส่าห์ฝึกฝนจนรู้เท่าถึงแล้วอาจเอาชนะคนที่รู้ไม่ถึงได้เป็นอันมาก ความคิดนี้
เป็นเหตุให้ยอมพลีเวลาตลอดทั้งชีวิต เพื่อการค้นคว้าทดลอง อันเรียกว่า
บำเพ็ญตบะ ในยุคที่คนเราถือพระเป็นเจ้า ย่อมหวังความช่วยเหลือของพระเป็นเจ้า
อย่างเต็มที่ ด้วยอำนาจสมาธิที่มีต่อ สิ่งที่เขาเชื่อว่าเป็น พระเป็นเจ้านั่นเอง
ที่ได้เป็น บาทฐาน ให้เขาพบวี่แวว ของฤทธิ์ ในครั้งแรก สักเล็กน้อย และเป็นเงื่อน
ให้ คนชั้นหลังดำเนินตามหลายสิบชั่วอายุคนเข้า คนที่ตั้งใจจริงเหล่านั้น ก็ได้พบ
แปลกขึ้นเป็นอันมาก จนปะติดปะต่อ เข้าเป็นหลักเป็นเกณฑ์ สำหรับสั่งสอนกัน
เมื่อวิชานี้ถูกแพร่ข่าวรู้มาถึง คนในบ้าน ในเมือง ก็จูงใจ พวกชายหนุ่ม นักรบ หรือ
กษัตริย์ ให้ออกไป ขอศึกษาจาก พวกโยคีนั้น ถึงในป่า มีเรื่องเหลือ เป็นนิยาย
อยู่ตามที่หนังตะลุง มักเล่นกัน โดยมาก คนป่าหรือยักษ์บางตน ก็มีความรู้ ความ
สามารถในเรื่องนี้เท่าหรือมากกว่าคนบ้านหรือมนุษย์ ถึงกับรบกันและผลัดกันแพ้
ผลัดกันชนะ พวกเทวดาหรือ พวกที่เอาแต่ เล่นสนุก ไม่ปรากฏว่า มีฤทธิ์ เพราะ
สมาธิ ไม่ค่อยดี กระมัง ในตอนแรกๆ ผู้มีฤทธิ์นั้น ค้นคว้า กันเพียง ขั้นที่สำเร็จ
สมความต้องการ ไม่ได้ค้นถึง เหตุผล ของฤทธิ์ ไม่เป็น นักปรัชญา หรือ ทฤษฎี
ในเรื่องนี้ แต่เป็นเพียงนักปฏิบัติการ ตามที่สั่งสอน สืบๆ กันมา ขณะเมื่อ
ในอินเดีย กำลังรุ่งเรือง ด้วยวิชา ประเภทนี้ ทางฝ่ายยุโรป ไม่มีความรู้ ในเรื่อง
นี้เลย เมื่อทางอินเดียเสื่อมลง ทางยุโรป ได้รับเพียง กระเส็น กระสาย เล็กน้อย
ไม่พอที่จะรุ่งเรืองด้วย จิตวิทยา ประเภทนี้ อย่างอินเดียได้ มีแต่ฤทธิ์ ของซาตาน
หรือมารเพียงเล็กน้อย ซึ่งไม่มีพิษสงอะไรนัก และเป็นเรื่องทางศาสนามากกว่า
เมื่อวิชานี้ได้เสื่อมลงในอินเดียแล้วในทางปฏิบัติการ แต่ในทางนิยายยังมีเหลืออยู่
ไม่สาบสูญ และยิ่งกว่านั้น ที่แน่นอนที่สุด คือ ได้ถูกคนชั้นหลัง ต่อเติมเสริมความ
ให้วิจิตรยิ่งขึ้นไป จนคนชั้นหลัง ในบัดนี้ปอกเปลือกตั้งหลายชั้นแล้ว ก็ยังไม่ถึง
เยื่อในได้เลย ความเดาทำให้ขยายความจริง ให้เชื่อง จนฤทธิ์ ซึ่งเป็นเพียงวิชา
สำหรับใช้แก้ อุปสรรค กะทันหัน เล่นตลก กับคนที่รู้ไม่ถึง กลับกลาย เป็นเรื่อง
จริงแท้ๆ ไป ดุจเดียวกับเรื่องทางวัตถุอื่นๆ คนในชั้นหลังเป็นอันมาก เชื่อว่าอะไร
ทุกๆ อย่างจริงตามนั้น ทั้งที่ตนตอบไม่ได้ว่า ถ้าจริงเช่นนั้น ทำไมเวลาปรกติ
ผู้มีฤทธิ์ ยังต้องเดิน ไปไหน มาไหน ไม่เหาะ เหมือนคราวที่ แสดงฤทธิ์ แข่งขัน
ทำไมต้องทำนา ทำสวน หรือ ออกบิณฑบาต ขอทาน ไม่บันดาล เอาด้วยฤทธิ์
เป็นต้น ฤทธิ์ที่เคยเป็นเพียงการลองดีกันด้วยกำลังจิต ก็กลายเป็นเรื่องทางวัตถุ
หนักขึ้น จนคนบางคนในชั้นหลัง หวังจะมีฤทธิ์ เพื่อให้หาเหยื่อ ให้แก่ตน ตาม
กิเลสของตน ผลที่ได้รับในที่สุด ก็คือ การวิกลจริต!
สรุปความสั้นๆ ที่สุดในเรื่องฤทธิ์ ที่ได้กล่าวมา อย่างยืดยาว นี้ ก็คือว่า
ฤทธิ์ เป็นเพียง คุณสมบัติพิเศษ ส่วนหนึ่งของจิตเท่านั้น เรื่องของจิต
อันนี้เป็น พวกนามธรรม จะให้สำเร็จผล เป็นวัตถุไม่ได้ เช่นเดียวกับวัตถุ
ในความฝัน มันจะเป็น วัตถุอยู่ ก็ชั่วเวลา ที่เราไม่ตื่น จากฝันเท่านั้น ของ
ที่นฤมิตขึ้น ด้วยอำนาจฤทธิ์ สำเร็จประโยชน์ ชั่วเวลา ที่คนเหล่านั้น ยัง
ตกอยู่ใต้ อำนาจจิต ที่เป็นตัวออกฤทธิ์ เพราะว่า สิ่งทั้งหลาย ที่เราเรียกกัน
ว่า โลกนี้ก็ตาม ถ้ามีอะไร มาดลบันดาล ให้จิตของเรา ทุกคน วิปริต เป็น
อย่างอื่นไป โลกนี้ก็จะปรากฏ แก่เรา อย่างอื่น ไปทันที ดุจกัน สิ่งทั้งหลาย
สำเร็จ อยู่ที่ใจ รูป เสียง กลิ่น รส ทั้งหมด มีคุณสมบัติขึ้นมาได้ ก็เพราะเรา
มีสิ่งที่เรียกกันว่า ใจ ถ้าไม่มีใจ โลกนี้ก็พลอยไม่มีไปด้วย รวมความสั้นๆ ได้
ว่า สิ่งทั้งหลายสำเร็จจากใจ ใจสร้างขึ้น ใจเป็นประธาน หรือ หัวหน้าแต่
ผู้เดียว เพราะฉะนั้น ถ้ามีอะไรก็ตาม มาดลบันดาล ให้ใจ เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น
ไป สิ่งทั้งหลายที่รู้ได้ด้วยใจ ก็ต้องเปลี่ยนตามไปด้วย ถ้าอำนาจ ดลบันดาล
นั้นเป็นของ ชั่วขณะ สิ่งนั้นก็ แปรปรวน ชั่วขณะ ด้วย
ในโลกนี้ ไม่มีอะไร เที่ยงอยู่แล้ว เราจะสร้างฤทธิ์เพื่อเอาชนะสิ่งที่ไม่เที่ยงนั้น
น่าจะไม่ได้รับผลที่น่าชื่นใจ เพราะฉะนั้น พระอริยบุคคล ทั้งหลาย แทนที่จะ
ใช้เวลา ไปค้นคว้า ในเรื่องฤทธิ์ ท่านจึงใช้ชีวิต ที่เป็นของ น้อยนิด เดียวนี้
ค้นคว้า หาสิ่งที่เที่ยง และเป็นสุข คือ พระนิพพาน แม้ว่า เรื่องฤทธิ์ และพระ
นิพพาน ต่างก็ เป็นวิทยาส่วนจิต ด้วยกันก็จริง แต่แตกต่างกัน ลิบลับ
ด้วยเหตุผล ดังกล่าวมาแล้ว
เมื่อพระผู้มี พระภาคเจ้า อุบัติขึ้น ในอินเดีย พระองค์ทรงบัญญัติ
บาทฐาน ของฤทธิ์ ว่า มีอยู่ สี่ อย่าง คือ ความพอใจ ความเพียร
ความฝักใฝ่ และ ความคิดค้น เรียกว่า อิทธิบาท เมื่อทำได้ ผลที่ได้รับ
คือ มรรคผลนิพพาน เพราะคำว่า ฤทธิ์ ของพระองค์ จำกัดความเฉพาะ
เครื่องมือให้สำเร็จ หรือ ลุถึง นิพพาน เท่านั้น ฤทธิ์ ซึ่งเคยได้ผล เป็นของ
ตบตา และชั่วคราว ก็ได้เปลี่ยน มาเป็น สิ่งซึ่งให้ผล อันมีค่าสูงสุด และ
แน่นอน ด้วยประการฉะนี้
ขอขอบคุณ http://www.buddhadasa.com/