ประวัติ หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ – ประวัติหลวงพ่อสด หน้า 3

ประวัติ หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ – ประวัติหลวงพ่อสด หน้า 3

หน้า 3 จาก 6

หลวงพ่อสด มีเมตตาปรานีเป็นนิสัย ใครเดือดร้อนมาไม่เคยปฏิเสธ ย่อมให้อุปการะตามสมควร แต่ไม่ชอบคนโกหก ถ้าจับโกหกได้แม้ครั้งเดียวท่านก็ว่าคนนี้เก๊ โกหกกระทั่งเรา ก็เป็นคนหมดดี เช่น คราวหนึ่งมีคนแก่มาเรียนกัมมัฏฐานมีศรัทธากล้า พอได้ผลแห่งการปฏิบัติบ้าง แต่ยังอ่อน กลับบ้านลาลูกเมียมาวัดปากน้ำอีก มีปลาแห้งตัวหนึ่งมาถวายหลวงพ่อ บอกว่ามีเท่านั้นเองเพราะเป็นความยากจน หลวงพ่อหัวเราะชอบใจ พูดว่า ” เออ ! ให้มันได้อย่างนี้ซีน่า นี่แหละเขาเรียกว่าคนรวยแล้ว มีเท่าไรถวายจนหมด เมื่อครั้งพระพุทธเจ้า นางปุณณฑาสี ถวายแป้งจี่ทำด้วยรำแก่พระพุทธเจ้า ต่อมากลายเป็นคนมั่งมี ปลาแห้งของเราตัวหนึ่งราคาสูงกว่ารำมากนัก เป็นกุศลมากแล้วที่นำมาให้” พูดกันไปมา ในที่สุดก็ขอร้องให้หลวงพ่อบวชให้ เพราะไม่มีสมณบริขารจะบวช หลวงพ่อก็ได้จัดการให้ความปรารถนาของเขาเป็นผลสำเร็จอย่างดียิ่ง

เมื่อพระศากยยุติวงศ์ เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชสุธี พระสมุห์สด ได้เป็นพระครูสมุห์ตามขึ้นไป ท่านได้ปกครองวัดจนถึง พ.ศ.๒๔๖๔ ได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร มีพระราชทินนามว่า “พระครูสมณธรรมสมาทาน”

เกียรติคุณขยายตัวกว้างออกไปเพียงไร ข่าวอกุศลก็ขยายเป็นเงาตามตนไป แต่เป็นของอัศจรรย์ที่ผู้นิยมการปฏิบัติก็เพิ่มจำนวนมากขึ้น ภิกษุสามเณรก็มากขึ้น การใช้จ่ายเรื่องภัตตาหาร ค่าน้ำค่าไฟก็ทวีขึ้นเป็นเงาตามตัว หลวงพ่อสด วัดปากน้ำก็ต้องสละสมณบริขาร สบง จีวร อุปการะแก่ภิกษุสามเณรมากขึ้น แต่ก็ไม่มีใครได้ยินท่านบ่นและท้อใจ ยิ่งมากยิ่งยินดี ท่านพูดว่าเขามาพึ่งพาอาศัย เราไม่ปฏิเสธ อุปการะเท่าที่มี

คำกล่าวร้ายป้ายสีที่เรียกว่า “อกุศล” รัดรึงตรึงตัวมากอยู่ แต่ก็ยังมีผู้มีใจเป็นกลางช่วยเหลือท่าน เช่น คุณพระทิพย์ปริญญา ได้สังเกตการณ์มาโดยลำดับและคุณพระได้เขียนหนังสือเกี่ยวแก่วัดปากน้ำเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นประหนึ่งเปิดภาชนะที่คว่ำให้หงายขึ้น ทำให้คำกล่าวร้ายฝ่ายอกุศลสงบตัวลง สงบอย่างไม่มีอิทธิพลมาประทุษร้ายวัดปากน้ำได้ หนังสือนั้นพิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๔ ประเทศไทยกำลังอยู่ในสภาพสงคราม ภิกษุสามเณรวัดปากน้ำได้อพยพออกไป เพราะกลัวภัยสงคราม ไปหลบอยู่ตามอัธยาศัย หนังสือนั้นได้นำมาพิมพ์ตามต้นฉบับเดิม และที่นำมาพิมพ์นี้เฉพาะคำนำเท่านั้น มีสำเนาความดังต่อไปนี้ ;-

บท “คำนำ” ในหนังสือ “ธรรมกาย”
โดย พระทิพย์ปริญญา

๑๓ กันยายน ๒๔๘๙

หนังสือเล่มนี้ ตั้งชื่อว่า “ธรรมกาย” มิใช่ข้าพเจ้าคิดตั้งเอาเอง ท่านเจ้าของผู้แสดงเรื่องนี้เป็นผู้ตั้ง ท่านเจ้าของที่ว่านี้คือ ท่านพระครูสมณธรรมสมาทาน (สด) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ คลองภาษีเจริญ ในปัจจุบันนี้ ซึ่งเรียกกันอยู่แพร่หลายในหมู่ศิษย์ที่เคารพนับถือว่า “หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ปัจจุบันเป็นที่ “พระมงคลราชมุนี”

การแสดงเรื่องธรรมกายนี้ เป็นเรื่องที่ท่านแสดงแก่ ภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ในวันพระและวันอาทิตย์ แสดงตืดต่อกันเป็นลำดับไป ข้าพเจ้าเป็นผู้หนึ่งที่ไปฟัง ได้จดบันทึกเอาแต่หัวข้อใจความไว้ แล้วเรียบเรียงไปขอให้ท่านตรวจเรื่อย ๆ มา เริ่มแต่วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๘ จนถึงวันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ รวมเป็นเวลา ๓ เดือนเศษจึงจบ จุดหมายที่แสดงเป็นเรื่องสมาธิโดยตรง เป็นแต่ท่านยกเอา พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ เป็นหลักแสดง และแสดงหนักไปในแนวทางปฏิบัติ ไว้แนวปริยัติบ้างพอควร แต่เมื่ออ่านดูให้จบแล้วจะจับใจความได้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวติดต่อกันหมด แต่สำนวนโวหารที่บันทึกไว้นี้รู้สึกอยู่ว่าข้างจะสั้นอยู่มาก โดยยกเทศนาโวหารออกเสีย บันทึกไว้แต่แก่นความ เพื่อให้รวมเป็นแนวปฏิบัติได้ง่าย ไม่ประสงค์ให้อ่านอย่างหนังสือเทศน์ต่าง ๆ ดังเคยพบเห็นมา อันจะทำให้เสียเวลาอันมีค่าของผู้อ่าน จึงหวังเอาละเอียดหมดจดไม่ได้ ข้อใดที่อ่านแล้วไม่เข้าใจ ก็ขอให้เป็นหน้าที่ของท่านผู้อ่านหาโอกาสไปไต่ถามผู้ที่ปฏิบัติดู เขาจะบอกท่านได้ หรือยังไม่หมดสงสัย จะไปไต่ถามท่านผู้แสดงเองก็ได้ ข้าพเจ้าเคยเห็นมีผู้สนใจในทางปฏิบัติไปไต่ถามท่านเนือง ๆ ท่านไม่มีความรังเกียจ

มูลเหตุที่ข้าพเจ้าจะได้ไปฟังธรรมที่วัดปากน้ำนั้น ก็เพราะเวลานั้นประเทศไทยเราอยู่ในระหว่างสงครามโลก ในพระนครถูกเครื่องบินข้าศึกมาทิ้งระเบิดไม่หยุดหย่อน ข้าพเจ้าได้อพยพหลบภัยไปอยู่ตำบลวัดสิงห์ ข้าพเจ้าฉวยโอกาสนี้เที่ยวไปตามวัดต่าง ๆ เพื่อศึกษาหาความรู้ในทางพระพุทธศาสนา ไปหลายวัดได้ความรู้แปลก ๆ กัน แต่เมื่อหันเข้าหาแนวปฏิบัติแล้ว บางท่านไม่ใคร่ขยายโจ่งแจ้ง สังเกตดูเหมือนจะปิดกัน จนในบางวัด ข้าพเจ้าไปมองเห็นหีบหนังสือเป็นหีบไม้แบน ๆ และเขียนเป็นตัวหนังสือขอมบอกไว้ข้างหน้าหีบว่า “วิปัสสนา” ข้าพเจ้าอ่านออกเพราะข้าพเจ้าเคยเรียนหนังสือขอม ใจข้าพเจ้าอยากรู้เหลือเกินว่าในนั้นจะมีหนังสืออะไร แต่ไม่กล้าจะละลาบละล้วง จึงเป็นแต่กระทบถามท่านในเรื่องแนวปฏิบัติบ้าง ก็ไม่ได้ความ นาน ๆ เข้าพอจับเค้าได้บ้างว่าทางวิปัสสนามักจะเพ่งของขาว

วันหนึ่งข้าพเจ้าไปนั่งคุยกับหญิงผู้มีอายุคนหนึ่ง ซึ่งเป็นเพื่อนอพยพ พักอยู่ใกล้กัน มีชายคนหนึ่งมาพูดคุยกับข้าพเจ้า เล่าถึงว่า เขาเคยไปกับแม่ชีธุดงค์คนหนึ่งเคยสอนวิปัสสนาให้ ข้าพเจ้าซักถามก็เล่าให้พิจารณาสังขารร่างกายเทียบกับซากศพ หญิงผู้มีอายุขัดคอขึ้นทันทีว่า อย่างนั้นเขาเรียกว่าปลงอนิจจัง ไม่ใช่วิปัสสนา ข้าพเจ้าถามว่า วิปัสสนาเป็นอย่างไรเล่า แกเล่าต่อไปว่า วิปัสสนาเขาต้องเรียนเห็นนรก เห็นสวรรค์ เห็นนิพพาน ทั้งต้องไปเที่ยวดูนรก สวรรค์ นิพพานได้ด้วย ข้าพเจ้างง ชายคนนั้นก็งง เพราะถ้อยคำเช่นนี้ไม่เคยได้ยิน แม้ข้าพเจ้าจะเคยเรียนพระปริยัติธรรมจนสอบได้ชั้น เปรียญธรรม ๖ ประโยค(ป.๖) ก็นึกได้แต่ว่าไปสวรรค์นรก ก็มีเรื่องพระมาลัยและพระโมคคัลลานะเป็นต้น แต่ข้อว่าไปเที่ยวนิพพานได้นั้นข้าพเจ้าหมดความคิด ทั้งหมดความรู้ด้วย จึงพูดอะไรต่อไปไม่ได้ หญิงคนนั้นยังท้าว่า เอาเถอะน่าวันหลังจะเอาหนังสือของหลวงพ่อวัดปากน้ำไห้ดู เขาเรียนกันอย่างนั้น ส่วนตัวแกว่าได้ลองบ้างเหมือนกัน แต่ไม่ทันรู้ผลอะไร แกกลัวจะเป็นบ้า เลยเลิกเสีย

ต่อมาวันหนึ่ง ข้าพเจ้าไปที่วัดแห่งหนึ่งในพระนคร พบนายทหารคนหนึ่งชื่อ หลวงจบฯ คุยให้ฟังว่าเขาเคยมาวัดปากน้ำ ได้ข่าวเล่าลือว่าพาไปสวรรค์นรกได้ เขาสองคนกับภรรยาไปหา ขอให้พาไปพบพ่อตาที่ตายไปนานแล้วว่าจะไปอยู่ที่ไหน หลวงพ่ออิดเอื้อน แกตัดพ้อต่อว่าต่าง ๆ นานาว่า ถ้าไม่ทำให้เห็นจริง เสียงที่เล่าลือนั้นก็เป็นเรื่องที่ไม่มีความจริง ในที่สุดแกว่า หลวงพ่ออดรนทนไม่ได้ จึงให้เรียกพระมาหนึ่งรูป ชีหนึ่งคน และบอกเรื่องที่หลวงจบฯ ต้องการให้ทราบ ทั้งพระและชีก็นั่งเข้าที่ หลวงจบฯ บอกชื่อพ่อตาให้ทราบ สักประเดี๋ยวพระตอบว่าไม่พบ หลวงพ่อบอกว่า ขอตรวจดูให้ถ้วนถี่ อีกประเดี๋ยวพระบอกว่าพบแล้ว ไปเกิดเป็นเทวดาอยู่ในชั้นยามา หลวงพ่อบอกให้เชิญมา และบอกแม่ชีว่า ขอยืมร่างหน่อย ประเดี๋ยวบอกว่ามาแล้ว แม่ชีลืมตา หลวงพ่อก็ถามว่าทำบุญอะไรจึงไปเกิดเป็นเทวดา แม่ชีนั้นตอบว่าสร้างโบสถ์ หลวงจบฯ ว่าตอนนี้ชักตลึง เพราะความจริงพ่อตาได้สร้างโบสถ์ไว้จริง หลวงจบฯ ยังช่วยทำแต่ก็นานมาแล้ว แม่ชีนี้สังเกตดูอายุยังน้อย คะเนว่าจะเกิดไม่ทันเสียอีกแต่ไฉนบอกถูกต้อง แล้วหลวงพ่อซักต่อไปว่า เคยมีลูกกี่คน บอกถูกทั้งลูกผู้หญิงผู้ชาย แล้วหลวงพ่อชี้ให้ดูหลวงจบฯ กับภรรยา แล้วถามว่านี่ใคร แม่ชีมองดูสักประเดี๋ยว ตาหันตรงมาที่หลวงจบฯ ว่า นี่อ้ายแช่มใช่ไหม หลวงจบฯ ว่าใช่แล้ว ถามต่อไปอีกว่า นี่นางเครือใช่ไหม ภริยาหลวงจบฯ รับว่าใช่ ที่สุดทั้งตัวหลวงจบฯ และภริยา ร้องไห้โดยคิดถึงบิดา เพราะความจริงแม่ชีนี้ไม่รู้จักชื่อหลวงจบฯ และชื่อภริยาก็ไม่รู้ หลวงพ่อก็ไม่รู้ ไฉนแม่ชีพูดถูกต้อง นี่เป็นเรื่องที่หลวงจบฯ เล่าให้ข้าพเจ้าฟังเองว่า ตัวหลวงจบฯ แต่เดิมชื่อแช่ม แต่เป็นหลวงจบมานานแล้ว ไฉนแม่ชีเอามาพูดถูก ในที่สุดหลวงจบฯ ว่าเรื่องที่พบมาเป็นอย่างนี้ จะมีเหตุผลเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ นี่เริ่มเป็นปฐมเหตุให้ข้าพเจ้าครุ่นคิดอยู่ และเวลานี้มีท่านพระครูองค์หนึ่งอยู่วัดประดู่ มานั่งอยู่ที่นั่นพูดขึ้นว่า เมื่อวันวิสาขะนี้มีคนโจษกันมากว่า เวลาเวียนเทียนที่วัดปากน้ำมีคนเห็นเป็นรูปพระปฏิมากรลอยอยู่ ท่านว่าท่านได้ซักถามหลายคนก็รับว่าเห็นจริง ข้าพเจ้างงอีก เพราะคิดไม่ออกว่า เป็นแต่ข้าพเจ้าได้พูดต่อพระภิกษุที่นั่งอยู่นั้นหลายรูปว่า เรื่องที่เราไม่รู้ไม่เห็น ผู้อื่นเขาสามารถรู้เห็นได้หรือไม่ จะมีอะไรเป็นเครื่องวัด ไม่มีใครตอบ

วันหลังข้าพเจ้าได้ไปสนทนากับแกอีก แกส่งหนังสือให้ดู ๓ เล่ม ข้าพเจ้าอ่านดูเป็นเรื่องวิธีเจริญสมาธิของหลวงพ่อวัดปากน้ำ มีภาพคนนั่งสมาธิ และบอกจุดที่ตั้งบริกรรมนิมิตรไว้โดยละเอียด และมีคำอธิบายย่อ ๆ ลงท้ายสุดเรื่องนิพพาน เมื่ออ่านไป ความมึนงงของข้าพเจ้าทวีขึ้นอีกหลายเท่า คิดไปต่าง ๆ นานา ว่ามีอะไรกัน ซ้ำในที่สุดว่าทำได้ตามวิธีนี้แล้ว ยังมีวิชาที่จะต้องเรียนอีกมาก ยิ่งงงใหญ่ ไม่รู้ว่าวิชาอะไร เพราะข้าพเจ้าเรียนปริยัติมาจนสอบไล่ได้ชั้น ป.๖ แล้วไม่ได้ความอย่างนี้เลย แต่ในที่สุดข้าพเจ้าได้คิดขึ้นมาว่า คนเราเขามีวิชาที่ต้องเรียนเรื่อย ๆ ไปจนตายไม่มีจบ ใครหยุดเรียนเมื่อใด โดยถือเสียว่าตนมีความรู้พอแล้ว เขาว่านั่นคือคนโง่ ทางพระเรียกว่าทิฏฐิ หากยังปล่อยให้ทิฏฐินี้ฝังแน่นอยู่ในสันดาน ไม่ต้องสงสัยว่า จะต้องเป็นโรคโง่ไปจนตาย สิ่งใดที่เราไม่รู้ ไม่ควรจะไปตั้งมานะทิฏฐิว่าคนอื่นก็คงไม่รู้วิเศษไปกว่าเรา สิ่งใดที่เราว่ารู้ดีแล้วก็ไม่ควรจะไปตั้งทิฏฐิว่าไม่มีคนอื่นจะดีกว่าเรา ซึ่งเป็นมูลเหตุให้ข้าพเจ้าต้องสืบเสาะมาหาหลวงพ่อวัดปากน้ำให้จงได้

เหตุที่ทำให้ข้าพเจ้างงดังกล่าวมา ก็เพราะว่า นอกจากแนวปริยัติที่ข้าพเจ้าเคยผ่านมา รวมทั้งแนวปฏิบัติที่ท่านผู้รู้ได้เขียนไว้ในที่ต่าง ๆ กัน ข้าพเจ้าก็ได้เอาใจใส่ค้นคว้าอ่านดูมามากต่อมากแล้ว มีรูปในทำนองตำราหรือเรียกว่าเป็นแนวทางปรัชญาเป็นส่วนมาก บางฉบับพูดทีแรกเหมือนจะเป็นแนวปฏิบัติ แต่ลงท้ายก็เป็นกล่าวตามตำราไปเสีย คิดไปคิดมารู้สึกว่าจะเป็นแต่คนดูแผนที่เสียแล้ว ถ้าเขาจะให้เดินไปจริงจังตามแผนที่ก็จะไปไม่รอดกระมัง ถ้ากระนั้นก็ควรศึกษาการเดินเองดูบ้าง คงจะได้ความรู้แปลก ๆ บางฉบับก็วิพากษ์วิจารณ์หันเหธรรมะลงมาเทียบกับวิทยาศาสตร์ทางโลกจนรู้สึกอึดอัดใจ แต่ส่วนฉบับของหลวงพ่อวัดปากน้ำที่กล่าวมานั้น ข้าพเจ้าอ่านแล้วตันเลย ไม่ใช่เพียงอึดอัด เพราะตามที่กล่าวไว้นั้นสั้นเหลือเกิน จนเห็นเป็นของแปลก ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงต้องมาหาให้พบท่านเจ้าของให้จงได้

วันแรกข้าพเจ้าเข้ามาหาท่านเวลาฉันเพล เห็นมีคนนั่งล้อมรอบ ไปกราบ ๆ ท่านและบอกชื่อเสียงแก่ท่าน บอกความสนใจในทางธรรม ท่านบอกให้นั่งรออยู่ก่อน (ชี้ไปทางหลัง) ท่านก็ฉันเพลเงียบ ๆ เวลานั้นก็เห็นแม่ชีคนหนึ่ง อุบาสกคนหนึ่ง มีอุบาสกคนหนึ่งควบคุมแนะนำให้คนเหล่านั้นนั่งสมาธิตาม ๆ กันหมด (ต่อมาได้ความว่าเป็นคนไข้ที่มาขอให้ท่านรักษา) พอเสร็จจากการฉันเพล ท่านก็ให้โอกาสแก่ข้าพเจ้าเข้าไปนั่งใกล้ ๆ เมื่อเริ่มสนทนาปราศรัย ท่านก็ยกพุทธคุณขึ้นมาพูดเป็นข้อ ๆ ไป พร้อมทั้งคำแปลและคำอธิบาย หูของข้าพเจ้าก็ฟังดูรู้สึกว่ามีรสชาติซาบซึ้งกว่าที่ข้าพเจ้าเคยได้ยินหรือเคยอ่านมาในที่ต่าง ๆ นั้นมาก ข้าพเจ้าติดใจในอรรถรสมาก แต่นั้นมาก็พยายามไปฟังเวลาท่านลงแสดงธรรมในโบสถ์เสมอ ท่านลงแสดงเองทุกวันพระและวันอาทิตย์ ข้าพเจ้ารู้สึกจับใจมาก ส่วนมากแสดงหนักไปในทางปฏิบัติ ข้าพเจ้านึกเสียดายว่าที่ท่านแสดงนั้นแสดงด้วยปากเปล่า เราฟังแล้วก็มีแต่จะเสื่อมสูญไป เสียดายความเหน็ดเหนื่อยที่ท่านพยายามแสดงจึงคิดหาทางขอบันทึกไว้ ท่านเห็นชอบด้วย จึงได้เริ่มลงมือบันทึก

เท่าที่ข้าพเจ้าเคยพบปะมา พระที่เป็นฝ่ายสมถะมักไม่ใคร่แสดงธรรม พระที่แสดงธรรมโดยมากเป็นฝ่ายปริยัติ แต่หลวงพ่อวัดปากน้ำนี้ไฉนจึงชอบแสดงธรรม ได้ความว่าเป็นนักปริยัติมาแต่เก่าก่อนแล้ว ฉะนั้น สังเกตดูแนวการแสดงในเบื้องต้น ท่านแสดงธรรมอยู่ในหลักนี้เสมอ ไม่ใช่นึกเอาตามใจชอบ ถ้าจะยกอะไรขึ้นเป็นต้องอ้างอาคตสถานที่มาแห่งธรรมเหล่านั้น ประกอบด้วย จริยาของท่าน

๑. คุมภิกษุสามเณรลงทำวัตร ไหว้พระในโบสถ์ทุกวัน วันละ ๒ เวลา คือ เช้าหนหนึ่ง เย็นหนหนึ่ง และได้ให้โอวาทสั่งสอนภิกษุสามเณรทั้ง ๒ เวลา

๒. วันพระและวันอาทิตย์ลงแสดงธรรมในโบสถ์เองเป็นนิจ

๓. ทำกิจภาวนาอยู่ในสถานที่ซึ่งจัดไว้เฉพาะ เป็นกิจประจำวันและควบคุมพระให้ไปนั่งภาวนารวมอยู่กับท่านทั้งกลางวันและกลางคืน ส่วนพวกชีก็ให้ทำกิจภาวนาเหมือนกัน

๔. ทุกวันพฤหัสบดี เวลา ๑๔.๐๐ น. ลงสอนการนั่งสมาธิแก่ภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา ที่ศาลา ซึ่งข้าพเจ้าเคยเห็นมีภิกษุสามเณรต่างวัด อุบาสก อุบาสิกาต่างถิ่นมาเรียนกันเป็นจำนวนมาก ๆ ทุกวันพฤหัสบดี สอบถามได้ความว่ามีผู้ไปเรียนกันมากแต่ต้นจนบัดนี้ไม่ต่ำกว่า ๔ หมื่นคนแล้ว เพราะสอนมากว่า ๑๕ ปีแล้ว

๕. จัดให้มีครูสอนปริยัติในวัดนี้อีกแผนกหนึ่งด้วย

นอกจากจำเป็นจริง ๆ แล้ว ท่านมักไม่ยอมออกจากวัด การสวดมนต์ฉันเช้า ถ้าใครไปนิมนต์มักจะถูกถามว่า ให้พระอื่นไปแทนได้ไหม อย่างนี้โดยมาก เพราะท่านชอบหมกมุ่นอยู่แต่กิจภาวนาโดยมาก ออกรับแขกก็เป็นเวลา ตอนเพลครั้งหนึ่งไปพบได้เสมอ ถัดจากนั้นก็เวลา ๑๗.๐๐ น. อีกหนหนึ่ง ออกมานั่งพักผ่อนสนทนาปราศรัย นอกจากนี้ท่านอยู่ในห้องภาวนาซึ่งเรียกว่า “โรงงาน” ซึ่งใครไม่เข้าใจ ได้ยินคำว่าโรงงาน เลยเข้าใจเป็นอย่างอื่นไปก็มี ข้าพเจ้าเองเคยได้ยินเหมือนกัน ว่าหลวงพ่อมีโรงงานทำบุ้งกี๋ขายจึงได้เลี้ยงพระทั้งวัด ซึ่งเป็นเสียงอกุศล ข้าพเจ้าได้สอบถามไวยาวัจกรของท่านดู ได้ความว่า เดิมเคยมีเจ๊กมาทำบุ้งกี๋ขายอยู่หน้าวัดคราวหนึ่งจริง จึงกลายเป็นข่าวอกุศลนี้ ความจริงวัดไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเลย

วัดนี้มีโรงครัวหุงอาหารเลี้ยงพระภิกษุสามเณรทั้งวัด รวมทั้งแม่ชีและอุบาสก อุบาสิกา ถ้าวันอุโบสถพวกที่ได้รับอุโบสถก็ได้รับการเลี้ยงดูด้วย ทำมาดังนี้ ๒๐ ปีเศษแล้ว เช้าเลี้ยงข้าวต้ม เพลเลี้ยงข้าวสวย เฉพาะปีนี้มีภิกษุสามเณรที่จำพรรษา ๑๕๐ รูป อุบาสก อุบาสิกา ๑๒๐ คนเศษ มักจะมีผู้เลื่อมใสศรัทธามารับเลี้ยงเนือง ๆ เช่นทำบุญวันเกิดหรืออะไรเป็นต้น วิธีทำไม่ยาก เอาเงินไปมอบให้ไวยาวัจกรกำหนดวันไว้ ถึงวันก็ไปแต่ตัว โรงครัวจัดไว้ให้เสร็จ และมีวิธีนำถวายเป็นแบบสังฆทานและโดยมากมักมีเทศน์ด้วย ซึ่งข้าพเจ้าเคยพบบ่อย ๆ ถ้าวันใดไม่มีเจ้าภาพ ก็เป็นส่วนของหลวงพ่อ ข้าพเจ้าเคยสอบถามพระที่วัดนั้นว่า หลวงพ่อเห็นจะมีเงินทุนสำรองมาก ท่านบอกว่าเปล่า ทำหมดไปก็มีมาใหม่อย่างนั้นเอง แต่ไม่ขาด การที่มีคนไข้มารักษาก็ไม่ได้เรียกร้องอะไร ข้าพเจ้าเห็นว่าแปลกกว่าวัดทั้งหลาย จึงนำมาเล่าสู่กันฟังไว้ในที่นี้ด้วย ภิกษุสามเณรในวัดนี้มี ๒ ประเภท คือ นักวิปัสสนาประเภทหนึ่ง นักเรียนปริยัติประเภทหนึ่ง หลวงพ่อเลี้ยงดูทั้งนั้น การขบฉันไม่ต้องกังวล

เนื่องจากเหตุที่ว่า ผู้ที่หุงหาอาหารในโรงครัวของวัดนี้เป็นพวกอุบาสิกาและพวกปฏิบัติธรรม ถึงแม้จะมีอุบาสกปนบ้าง แต่ก็มีอุบาสิกาเป็นส่วนมาก จึงเป็นมูลเหตุให้ข่าวอกุศลอันนำความมัวหมองมาสู่สำนักนี้ขึ้นอีกทางหนึ่ง ซึ่งข้าพเจ้าก็ได้ยินเข้าหูตั้งแต่ก่อนที่จะได้ไปติดต่อกับวัดนี้ แม้วันแรกที่ไปฟังลาดเลา ก็ได้พบพระรูปหนึ่งในวัดนั้น ท่านพูดขึ้นเองว่า ที่วัดนี้มักมีข่าวอกุศลต่าง ๆ อยู่เสมอ ถ้าได้มาเสียด้วยตนเองดังนี้ดีกว่า ท่านไม่ได้พูดอะไรมากไปกว่านี้ ข้าพเจ้าเองก็ไม่ได้ไต่ถามในเรื่องเหล่านี้ แต่เพื่อพิสูจน์หาความจริง วันหนึ่งข้าพเจ้าไปพบชายมีอายุคนหนึ่งที่วัดสิงห์ แกพูดว่า เคยอยู่วัดปากน้ำมา ๒ ปี แต่เดี๋ยวนี้ไปอยู่ที่อื่นแล้ว ข้าพเจ้าเห็นเป็นโอกาสจึงลองกระทบดูถึงข่าวอกุศลเหล่านี้ แกหัวเราะ แล้วตอบว่า แกก็เคยได้ยินเข้าหูมามากเหมือนกัน ข้าพเจ้าจึงถามว่า ก็ความจริงเป็นอย่างไรเล่า แกว่าไม่เห็นมีวี่แววดังข่าวนั้นเลย ผมก็อยู่ที่นั่นมานาน และยังพูดต่อไปอีกว่า เรื่องอย่างนี้ถ้าเป็นความจริงแล้ว ไม่ต้องคนอื่นว่าดอก ตนของตนย่อมจะติตนเอง ที่ไหนจะทนอยู่ดูหน้าคนทั้งหลายได้ ในที่สุดแกยังท้าว่า ถ้าคุณยังไม่เคยไปก็ไปพิจารณาดูเถิด ท่านพระครูวัดปากน้ำองค์นี้มีผิวพรรณเปล่งปลั่ง และยังกล่าวต่อไปว่า อันภิกษุที่ไม่บริสุทธิ์แล้วย่อมเศร้าหมอง พอจะดูกันออก ข้าพเจ้าถามต่อไปว่า ท่านเทศน์เป็นอย่างไรบ้าง แกตอบว่าพอฟัง ข้าพเจ้านึกในใจว่าตานี่พูดสูงอยู่เหมือนกัน จึงซักแกต่อไปว่า ที่ว่าพอฟังน่ะหมายความว่าอย่างไร แกตอบว่า ฟังที่นี่วันหนึ่งคุ้มกับฟังที่อื่นตั้งปี

นอกจากนี้ข้าพเจ้ายังเงี่ยหูฟังอีกหลายทาง ตลอดจนเสียงพระเถระผู้ใหญ่บางรูปในพระนครก็ไม่ติฉินประการใด แถมบางรูปยังพูดไปถึงมูลเหตุแห่งข่าวอกุศลเหล่านี้เสียอีกว่าเกิดจากคนที่มุ่งอิจฉา และยังได้ความต่อไปจนถึงว่า พวกที่อิจฉาเคยใช้คนมาลอบยิงเมื่อท่านไปอยู่ใหม่ ๆ เพราะท่านไม่ใช่คนถิ่นนี้ และกับถึงร้องเรียนเป็นข่าวอกุศลต่าง ๆ ไปยังสมเด็จพระสังฆราชครั้งกระโน้น ถึงแก่ส่งพระไปอยู่ประจำคอยสังเกตเหตุการณ์ และตำรวจก็ปลอมตัวไปสอดแนม ในที่สุดก็ไม่ได้ความจริงตามที่กล่าวหา นี่เป็นเรื่องที่ข้าพเจ้าสืบสวนได้ความว่าจะสมควรฟังเป็นความจริงได้เพียงใดหรือไม่ แล้วแต่ท่านผู้อ่านจะพิจารณาเอาเองเพื่อที่จะรู้ว่าข้าพเจ้าผู้สืบสวนและเขียนข้อความเหล่านี้เป็นใคร จึงขอบอกไว้ให้ปรากฏในที่นี้ว่า ข้าพเจ้า ชื่อพระทิพย์ปริญญย (ธูป กลัมพะสุต) ข้าพเจ้าเคยบวชเรียนมาแล้ว มีวิทยฐานะเป็นเปรียญ ๖ ประโยค และตอนสุดท้ายเคยรับราชการเป็นผู้พิพากษาอยู่ในชั้นศาลอุธรณ์ ๑๐ ปี ทั้งนี้เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้อ่านคิดเอาเองว่าข้าพเจ้าจะเชื่ออะไรง่ายยากเพียงใด ข้าพเจ้าสืบได้ความจนถึงต้นตอผู้ที่แพร่ข่าวอกุศล ตลอดทั้งตัวและชื่อผู้ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงแพร่ข่าวอกุศล ทั้งสาเหตุที่ท่านเหล่านั้นจะคิดอิจฉาด้วยทุกประการ ออกรู้สึกสลดใจเป็นอย่างยิ่ง แต่ฟังดูทางหลวงพ่อท่านไม่เห็นเอาใจใส่อะไร ไม่กล่าวขวัญถึงใครที่ข้าพเจ้าสืบได้ความดังกล่าวนั้นจากผู้อื่น

<>

http://www.itti-patihan.com/

. . . . . . .