อธิษฐานเรียกน้ำ สร้างบูรณะวัดที่ อ. ห้างฉัตร จ.ลำปาง (ครูบาเจ้าชุ่ม วัดชัยมงคล (วังมุย) )

อธิษฐานเรียกน้ำ สร้างบูรณะวัดที่ อ. ห้างฉัตร จ.ลำปาง

ต่อมาครูบาเจ้าชุ่มท่านได้พิจารณาถึงหลักการปฏิบัติธุดงค์ว่า “เป็นธรรมดาของการธุดงค์ การอยู่ในสถานที่ใดนาน ๆ นั้น จะทำให้พระธุดงค์ติดถิ่นที่อยู่ อันอาจส่งผลให้เกิดการย่อหย่อนในการปฏิบัติธุดงควัตร และส่งผลให้การปฏิบัติธรรมขัดเกลากิเลสไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร” ดังนั้นท่านจึงลาศรัทธาญาติโยมออกธุดงค์ต่อไป ในครั้งนี้มีพระขอติดตามท่านออกธุดงค์ด้วย

สองข้างทางที่ธุดงค์ไป ทั้งผ่านป่าดงดิบ มีต้นไม้ยืนต้นสูงใหญ่ ใบไม้ปกคลุมหนาทึบ แสงแดดแทบไม่มีเล็ดลอดลงมาให้เห็น ทั้งมีลำต้นใหญ่โต ขนาดหลายคนโอบ บางครั้งก็ผ่านป่าโปร่ง มีต้นไม้ขึ้นแซมไม่ทึบนัก สลับกับทุ่งหญ้าบ้างในบางครั้ง ป่าทางภาคเหนือสมัยครูบาชุ่มเดินธุดงค์นั้น บางแห่งแทบจะไม่เคยมีพระธุดงค์รูปใดย่างกรายเข้ามาเลย สัตว์ป่าต่างๆ ยังคงมีอยู่อย่างชุกชุม โดยเฉพาะ เก้ง กวาง กระจง รวมไปถึง นกยูง ไก่ฟ้า ไก่ป่า รวมถึงสัตว์ประเภทอื่นๆ ล้วนมีอยู่อย่างดาษดื่น ซึ่งการเดินธุดงค์ในป่าดงพงไพรที่สัปปายะเช่นนี้ จิตของครูบาชุ่มรู้สึกแช่มชื่น และสุขใจเป็นอันมาก ท่านได้เดินธุดงค์ พร้อมเจริญพรหมวิหารสี่ พร้อมคำภาวนา “พุทโธ” ไปตลอดการเดินทาง

จนล่วงเข้าสู่เขต อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ได้พบสถานที่แห่งหนึ่งดูเหมือนเคยเป็นวัดเก่ามาก่อน เมื่อพิจารณาแล้ว สามารถที่จะบูรณะให้เป็นวัดที่ดีดังเดิมได้ ครูบาเจ้าชุ่มและพระผู้ติดตาม ได้พิจารณาสถานที่เหมาะสมในการปักกลดอยู่ไม่ไกลจากวัดร้างเท่าใดนัก เมื่อปักกลด จัดสถานที่จนเรียบร้อยดี ท่านนึกอยากจะสรงน้ำ เพราะเดินทางมาเหน็ดเหนื่อย

พระผู้ติดตามจึงได้ลองเดินหาแหล่งน้ำ และได้พบบ่อน้ำ จึงได้กลับมาบอกครูบาเจ้าชุ่มเจ้าชุ่มว่า “พบบ่อน้ำ แต่ไม่มีน้ำ มีแต่โคลน” ครูบาเจ้าชุ่มเดินไปดูก็เห็นจริงตามที่พระรูปนั้นกล่าว จึงได้ตั้งจิตอธิษฐาน นึกถึงคุณพระรัตนตรัย คุณบิดามารดา คุณครูบาอาจารย์ พร้อมกล่าวอัญเชิญเทพเทวดา และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ขอได้โปรดเมตตาให้บังเกิดน้ำขึ้นในบ่อด้วย เพื่อจักได้นำน้ำมาใช้ในการบูรณะให้เกิดเป็นวัดขึ้น ณ ที่นี้ จากนั้นท่านจึงกลับไปนั่งพักยังโคนต้นไม้ที่อาศัย สักครู่หนึ่ง พระผู้ติดตามได้รีบเข้ามาบอกระคนดีใจว่า

“น้ำได้ขึ้นมาครึ่งบ่อแล้วขอรับ ครูบาเจ้า!”

กาลต่อมา ครูบาเจ้าชุ่มได้นั่งหนัก นำศรัทธาชาวบ้าน บูรณปฏิสังขรณ์วัดขึ้นสมตามความจำนง จึงได้อาศัยน้ำบ่อนั้น ก่อสร้างโบสถ์ เจดีย์ กุฏิ ศาลา และถาวรวัตถุต่างๆ ที่จำเป็นจนสำเร็จเรียบร้อย ชาวบ้านในพื้นที่ต่างช่วยกันคนสละแรงงาน สละทรัพย์ตามกำลัง ช่วยกันดำเนินการสร้างวัดตามที่พระธุดงค์ท่านมาโปรด ครูบาเจ้าชุ่มนั่งหนักบูรณะวัดเป็นเวลาถึง 3 พรรษา จึงแล้วเสร็จ

ท่านเคยกล่าวถึงเหตุการณ์นี้ไว้ว่า “ขณะนั้นที่ อ.ห้างฉัตร มีหมู่บ้านอยู่ไม่กี่หลังคาเรือน อาศัยบุญบารมี แรงงานจากทั่วสารทิศมาช่วย จึงสำเร็จเป็นวัดอยู่จนทุกวันนี้”

http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/kb-choom-photigo/kb-choom-hist-01-01.htm

. . . . . . .