๑๐๐ ปีชาตกาล “พุทธทาสภิกขุ”

๑๐๐ ปีชาตกาล “พุทธทาสภิกขุ”

พระนักเขียนหนังสือ พระผู้มอบมรดกธรรมให้สังคมไทย

จากหนังสือศิลปวัฒนธรรม

ในบรรดาพุทธสาวกคงไม่มีพระรูปใดที่เขียนหนังสือเผยแผ่พุทธธรรมไว้มากเท่าพระธรรมโกศาจารย์พุทธทาสภิกขุ หรือที่ท่านมักเรียกตัวเองว่า พุทธทาส อินทปัญโญ มีมากกว่า ๑๔๐ เล่ม

สมดังคำเมื่อครั้งที่ท่านปวารณาตนไว้เมื่อแรกใช้นาม “พุทธทาส” ซึ่งแสดงถึงอุดมคติสูงสุดในการรับใช้พระพุทธศาสนา ท่านเขียนไว้ในบันทึก เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๗ ว่า “…ชีวิตของข้าพเจ้า สละทุกอย่างๆ มุ่งหมายต่อความสุขนี้ และประกาศเผยแพร่ความสุขนี้เท่านั้น ไม่มีอะไรดีกว่านี้ ในบรรดามีอยู่ในพระพุทธศาสนา…”

เดิมทีนั้นท่านเป็นพระนักเทศน์ ท่านได้ริเริ่มการเทศน์ในรูปแบบของปาฐกถาธรรมที่ประยุกต์ทั้งรูปแบบ และเนื้อหาของธรรมะให้การแสดงธรรมสมสมัย เข้าถึงผู้สนใจธรรมทุกหมู่เหล่า หรือที่เรียกว่า “ภาษาคน ภาษาธรรม”

แต่ด้วยความที่ท่านมีความเป็นกวี-เป็นนักเขียนอยู่ในสายเลือด หลังจากที่ศึกษาพระไตรปิฎกด้วยตนเองอยู่ระยะเวลาหนึ่ง ท่านก็เขียนหนังสือเล่มแรกออกมา ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ เรื่อง “ตามรอยพระอรหันต์”

ต่อมาในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ท่านพุทธทาสและคณะธรรมทานได้ออกหนังสือพิมพ์ราย ๓ เดือนชื่อ “พุทธสาสนา” ซึ่งนับว่าเป็นหนังสือพิมพ์ทางพระพุทธศาสนาฉบับแรกของเมืองไทย
ไม่เพียงเท่านั้น ท่านยังมีงานชุด “ธรรมโฆษณ์ของพุทธทาส” ซึ่งเป็นงานเขียนที่ประกอบไปด้วย งานแปล งานบรรยาย งานอบรม เทศนา ตอบปัญหา และอภิปราย รวม ๖๑ เล่ม แบ่งออกเป็นหมวดย่อยๆ ได้ ๕ หมวดด้วยกัน ดังนี้

๑. หมวด “จากพระโอษฐ์” เป็นเรื่องที่ท่านค้นคว้าจากพระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลีโดยตรง

๒. หมวด “ปกรณ์พิเศษ” เป็นคำอธิบายหลักธรรมะ ที่เป็นหลักวิชาและข้อปฏิบัติ

๓. หมวด “ธรรมเทศนา” เป็นคำเทศนาในงานเทศกาลต่างๆ

๔. หมวด “ชุมนุมธรรมบรรยาย” เป็นคำขยายความข้อธรรมะ เพื่อให้เข้าใจได้อย่างถูกต้อง

๕. หมวด “ปกิณกะ” เป็นการอธิบายข้อธรรมะเบ็ดเตล็ดต่างๆ ประกอบความเข้าใจ

และงานชุดที่เข้าถึงใจผู้อ่านมาก คืองานที่ท่านประพันธ์ขึ้นเอง และที่แปลมาจากภาษาอังกฤษ ท่านได้เขียน “ตามรอยพระอรหันต์” “ชุมนุมเรื่องสั้น”, “ชุมนุมเรื่องยาว”, “ชุมนุมข้อคิดอิสระ” ขึ้นโดยใช้นามปากกาสิริวยาส ส่วนงานแปลเล่มสำคัญได้แก่ “สูตรของเว่ยหล่าง” และ “คำสอนของฮวงโป” ซึ่งเป็นพระสูตรที่สำคัญของพุทธศาสนานิกายเซ็น

ความสนใจอันกว้างขวางของท่านในพุทธศาสนานิกายต่างๆ รวมถึงคำสอนของศาสนาอื่นๆ นี่เองที่ทำให้ท่านถูกตราหน้าว่าเป็นเดียรถีย์ เป็นคอมมิวนิสต์ ทำการจาบจ้วงพุทธศาสนานิกายหินยานหรือเถรวาทให้หมองมัว แต่คำครหาเหล่านั้นก็มิได้หยุดยั้งปณิธานอันแน่วแน่ของท่านได้ ท่านถือว่าเสียงเหล่านี้เป็นการแลกเปลี่ยนทางความคิด

เพราะท่านมีหลักในการศึกษาธรรมของท่านว่า “พุทธบุตรทุกคนไม่มีกังวลในการรักษาชื่อเสียง มีกังวลแต่การทำความบริสุทธิ์เท่านั้น เมื่อได้ทำความบริสุทธิ์ มองเห็นชัดเจนใจอยู่แล้วว่า นี่มันบริสุทธิ์ เป็นธรรมแท้ ใครจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม เราต้องทำด้วยความพยายามสุดชีวิต จะมีชื่อเสียงหรือไม่นั้น อย่านึกถึงเลยเป็นอันขาด จะกลายเป็นเศร้าหมอง และหลอกลวงไปไม่มากก็น้อย”

ท่านได้ศึกษาคัมภีร์ไบเบิล อัลกุรอ่าน คำสอนของศาสนาฮินดูและสิกข์จนรอบรู้อย่างลึกซึ้ง สามารถนำมาประยุกต์ในการสอนการเทศน์และการปฏิบัติธรรมได้อย่างหลากหลายและสอดคล้องกับพื้นฐานความรู้และอุปนิสัยของคนได้และไม่จำกัดเชื้อชาติและศาสนา เพราะท่านเชื่อว่า “มนุษย์ทุกคนคือเพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันหมดทั้งสิ้น”

ดังเห็นได้จาก “สวนโมกข์” (สวนป่าอันเป็นกำลังแห่งความหลุดพ้น) ได้มีผู้สนใจธรรมะจากทั่วโลกแวะเวียนมาฝึกปฏิบัติธรรมอยู่มิได้ขาด จนตั้งพื้นที่ใกล้เคียงกันอีกแห่งเป็น “สวนโมกข์นานาชาติ” เพื่อสอนธรรมะให้กับชาวต่างชาติโดยเฉพาะ

งานบันทึกและเทศนาธรรมของท่านถูกจัดพิมพ์มาอย่างต่อเนื่องมิได้ขาด ตั้งแต่เมื่อครั้งท่านยังมีชีวิตอยู่และถึงแม้ท่านจะละสังขารไปแล้วก็ยังมีผู้สืบปณิธาน เผยแพร่ผลงานที่ทรงคุณค่าของท่านให้คงอยู่กับโลกอันไม่เที่ยงใบนี้

นับตั้งแต่ท่านได้จดจารตัวอักษรตัวแรกลงบนหน้ากระดาษ นั่นนับเป็นการเริ่มต้นเขียนพินัยกรรมของท่าน เพื่อให้กลายเป็นมรดกอันถาวรให้กับพุทธศาสนิกชนทุกคน หนังสือทุกเล่มคือ “พุทธสมบัติ” อันล้ำค่า ทำหน้าที่สืบต่อพระศาสนามาจวบจนปัจจุบัน และยืนยาวไปอีกนานเท่านาน

แม้ในโลกนี้จะไม่มีพระอริยสงฆ์อย่างท่าน “พุทธทาสภิกขุ” อีก แต่หนังสือทุกเล่มที่ท่านเขียนยังคงอยู่เป็น “มรดกธรรม” จารจดไว้ในแผ่นดิน ประหนึ่งท่านยังดำรงอยู่ ดังบทกวีของท่านที่ว่า

“พุทธทาส จักอยู่ไป ไม่มีตาย แม้ร่างกายจะดับไปไม่ฟังเสียง

ร่างกายเป็น ร่างกายไป ไม่ลำเอียง นั่นเป็นเพียงสิ่งเปลี่ยนไปในเวลา

พุทธทาส คงอยู่ไป ไม่มีตาย ถึงดีร้ายก็จะอยู่คู่ศาสนา

สมกับมอบ กายใจ รับใช้มา ตามบัญชาองค์พระพุทธไม่หยุดเลยฯ”

ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ นับเป็นปีครบรอบชาตกาลของท่านในปีที่ ๑๐๐ ทางองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ประกาศยกย่องให้ท่านเป็นบุคคลสำคัญของโลก และบรรจุการเฉลิมฉลองครบรอบชาตกาล ๑๐๐ ปี ในวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ ไว้ในปฏิทินสากลด้วย และท่านพุทธทาสนับเป็นคนไทยลำดับที่ ๑๘ ที่ยูเนสโกยกย่องให้เป็นบุคคลของโลก

ในประเทศไทยได้จัดกิจกรรมต่างๆ ขึ้นมากมายเพื่อร่วมเฉลิมฉลองงานนี้ อาทิ การพิมพ์ดวงตราไปรษณียากรที่ระลึกในชุด “พุทธทาส ๑๐๐ ปี” การจัดงาน “ร้อยคน ร้อยธรรม ๑๐๐ ปี พุทธทาส” ของสำนักพิมพ์สุขภาพใจ (สำนักพิมพ์ที่เผยแพร่งานของท่านพุทธทาสมายาวนาน) การรวมตัวของศิลปินวาดภาพทั่วประเทศแสดงผลงานที่เกี่ยวกับท่านพุทธทาสกว่า ๑๐๐ ภาพ และการรวมกวี ๑๐๐ สำนวน เพื่อพิมพ์เป็นหนังสือ “ร้อยรูป ร้อยกวี ๑๐๐ ปี พุทธทาส”

และในส่วนของสำนักพิมพ์มติชนได้จัดพิมพ์ผลงานชุด “หนังสืออนุรักษ์ต้นฉบับ” เป็นหนังสือรวมบันทึกของท่าน ๒ ชุด คือ “ความคิดนึกชั่วขณะ ที่ต้องรีบบันทึกไว้ก่อนจะลืมเสีย” ซึ่งเป็นหนังสือรวบรวมธรรมะในแง่มุมต่างๆ จากสมุดบันทึก และ “อย่าเพ่อตาย…หัวใจนิพพาน” ซึ่งประกอบด้วยหนังสือ ๓ เล่ม และซีดีบรรยายธรรม ๑ แผ่น ชุดนี้เป็นรวมบันทึกช่วงสุดท้ายที่ท่านพุทธทาสเน้นย้ำอย่างยิ่ง โดยเฉพาะ “นิพพาน” อันเป็นแก่นของพุทธศาสนา หนังสือทั้งสองเล่มนี้ยังไม่เคยพิมพ์มาก่อน เป็นมรดกชิ้นหลังๆ ที่ท่านได้เขียนไว้

มรดกทางธรรมของท่านพุทธทาสคือความรู้ ท่านเขียนคู่มือไว้ให้เราได้ศึกษา ได้อ่านมากมายกว่าพระรูปใดเคยทำมา ธรรมะของท่านเปรียบประหนึ่งตาน้ำ ไม่ต้องขุดไม่ต้องหา แต่ไหลรินมาแช่มช้อย คอยแต่ใครจะรู้จักตักดื่มกิน รู้จักรินมาใช้ เพื่อชำระหัวใจให้ผุดผ่อง

มาเถิดผู้อ่าน ๑๐๐ ปีของท่านจะไม่สูญหาย มาเถิดมาบรรลุธรรมโดยการอ่านด้วยกัน

http://relaxcorner-relaxcorner.blogspot.com/2006/12/blog-post.html

. . . . . . .