ประวัติหลวงพ่อจรัญ

ประวัติหลวงพ่อจรัญ

พระครูปลัดจรัญ ฐิตธมฺโม ได้มารักษาการตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดนี้เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้ดำเนินการพัฒนาปรับปรุงฟื้นฟูกิจการทั้งภายในและภายนอกจนเจริญรุ่งเรืองเรื่อยมาตามลำดับ ในเวลาต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร“พระครูภาวนาวิสุทธิ์” ในคราววันพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๑๑ ชีวประวัติและผลงานของท่านเป็นที่น่าเลื่อมใสศรัทธาแด่สาธุชนทั่วไป

:: ชาติภูมิ ::
พระครูภาวนาวิสุทธิ์ เกิดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) เมื่อ ๑๕ สิงหาคม ๒๔๗๑ เวลา ๐๗.๑๐ (๔ ฯ ๘ ปีมะโรง) ณ ตำบลม่วงหมู่ อ. เมือง จ. สิงห์บุรี เป็นบุตรคนที่ ๕ ในจำนวน ๑๐ คน ซึ่งเกิดจากโยมมารดาเจิม และโยมบิดา แพ จรรยารักษ์
พระคุณเจ้าอุปสมบทเมื่อ ๑๕ กรกฎาคม ๒๔๙๑ เวลา ๑๔.๐๐ ณ วัดพรหมบุรี จ. สิงห์บุรี โดยมี ท่านเจ้าคุณพรหมนคราจารย์ วัดแจ้งพรหมนครเป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูถาวรวิริยคุณ วัดพุทธารามเป็นกรรมวาจาจารย์

:: การศึกษา ::
พระคุณเจ้าได้ศึกษาเล่าเรียนทั้งทางโลกและทางธรรม มีความชำนาญเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ พอจะสรุปแยกสาขาศึกษาได้ดังนี้

สามัญศึกษา ได้ศึกษาจากสถาบันต่าง ๆ มี
• โรงเรียนประจำจังหวัดสิงห์บุรี
• โรงเรียนประชาบาลวัดศรัทธาภิรมณ์
• โรงเรียนสิงหวิทยายน
• โรงเรียนศิริสุทโธ
• โรงเรียนสุวิทดารามาศ สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ ๔ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๗

ศึกษาดนตรีไทย
ได้ศึกษาดนตรีไทยมีปี่พาทย์มอญ แตรวงเครื่องสาย การประพันธ์บทขับร้อง จากโยมบิดากับคุณหลวงธารา ต่อมาคุณปู่ พ.ต.หลวงธารา ได้นำพระคุณเจ้าเข้าฝากตัวกับจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เพื่อเข้าศึกษาโรงเรียนนายตำรวจ พระคุณเจ้าศึกษาอยู่ประมาณ ๑ เดือน จึงขอลาออกเนื่องจากไม่ถูกอัธยาศัยในวิชานี้

ศึกษาวิชามายาศาสตร์
พระคุณเจ้าเริ่มมาสนใจวิชามายาศาสตร์และมายาสาไถย์ของคนเรา เมื่อรู้ดีก็เอือมระอา มิได้นำวิชานี้มาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และขณะนั้นมีอายุย่างเข้า ๒๐ ปีบริบูรณ์ จึงได้สละจากเพศฆราวาสเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ตั้งแต่นั้นมาจนกระทั่งบัดนี้

ศึกษาพระธรรมวินัย วิปัสสนากรรมฐาน

พ.ศ. ๒๔๙๑ ศึกษาพระธรรมวินัย ณ สำนักพรหมบุรี
พ.ศ. ๒๔๙๒ สอบนักธรรมโทสนามหลวงได้ที่วัดแจ้งพรหมนคร
พ.ศ. ๒๔๙๓ ศึกษาวิชากรรมฐานกับพระครูนิวาสธรรมขันธ์ (หลวงพ่อเดิม) อ.หนองโพธิ์ จ.นครสวรรค์
พ.ศ. ๒๔๙๔ ศึกษาวิชากรรมฐานกับหลวงพ่อลี และท่านเจ้าคุณอริยคุณาธร จ.ขอนแก่น
พ.ศ. ๒๔๙๕ ศึกษาการทำเครื่องรางของขลัง, น้ำมันมนต์กับหลวงพ่อจง วัดหน้าต่าง จ.อยุธยา และพระครูวินิจสุตคุณ, หลวงพ่อสนั่น วัดเสาธงทอง จ.อ่างทอง หลวงพ่อจาด วัดบ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี
พ.ศ. ๒๔๙๖ ศึกษาวิชาสมถวิปัสสนา กับพระภาวนาโอกาสลเถร (สด จันทสโร) หรือหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ อ.ภาษีเจริญ จ.ธนบุรี
พ.ศ. ๒๔๙๗ ศึกษาและปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานกับเจ้าคุณอาจารย์พระราชสิทธิมุนี วัดมหาธาตุ จ.พระนคร
พ.ศ. ๒๔๙๘ ศึกษาพระอภิธรรมกับอาจารย์เตชิน (ชาวพม่า) วัดระฆัง จ.ธนบุรี
ศึกษาการพยากรณ์จากสมเด็จพระสังฆราชวัดสระเกศฯ จ.พระนคร
ศึกษาแลกเปลี่ยนความรู้วิทยาศาสตร์ทางจิตกับอาจารย์ พ.อ.ชม สุคันธรัต
เดินธุดงค์รอนแรมหาที่สงบ เพื่อจำศีลภาวนาตามป่าเขาลำเนาไพรทางภาคเหนือ

รักษาการเจ้าอาวาสวัดอัมพวัน ต.บ้านแป้ง อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐
๒.ได้รับสมณศักดิ์ที่พระครูปลัดจรัญ ฐิตธมฺโม ฐานานุกรมของท่านเจ้าคุณสุนทรธรรมประพุทธเจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ด (แต่มาประจำอยู่สำนักวัดอัมพวัน) เมื่อ ๒๕ ก.ค. ๒๕๐๑
๓. ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร “พระครูภาวนาวิสุทธิ์”เจ้าอาวาสวัดอัมพวันเมื่อ ๕ ธ.ค. ๒๕๑๑
๔. ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอพรหมบุรีเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘

:: ตำแหน่งและหน้าที่การปกครอง ::

พุทธศักราช ๒๕๐๐ รักษาการเจ้าอาวาสวัดอัมพวัน อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี
พุทธศักราช ๒๕๐๑ ได้รับสมณศักดิ์เป็น ที่พระครูปลัดจรัญ ฐิตธมฺโม ในฐานานุกรมของท่านเจ้าคุณ สุนทรธรรมประพุทธ เจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๑
พุทธศักราช ๒๕๑๑ ได้รับสมณศักดิ์เป็น พระครูสัญญาบัตรชั้นตรี ที่พระครูภาวนาวิสุทธิ์ เจ้าอาวาสวัดอัมพวัน อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๑
พุทธศักราช ๒๕๑๖ เลื่อนเป็นพระครู เทียบผู้ช่วยพระอารามหลวงชั้นเอกฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน
พุทธศักราช ๒๕๑๗ รักษาการตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอพรหมบุรี
พุทธศักราช ๒๕๑๘ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอพรหมบุรี
พุทธศักราช ๒๕๑๙ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์
พุทธศักราช ๒๕๒๕ ได้เลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระครูเจ้าคณะอำเภอชั้นเอก
พุทธศักราช ๒๕๓๑ ได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะที่ พระภาวนาวิสุทธิคุณ เมื่อวันจันทร์ที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑
พุทธศักราช ๒๕๓๕ ได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะที่ พระราชสุทธิญาณมงคล เมื่อวันพุธที่ ๑๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๓๕
พุทธศักราช ๒๕๔๑ ได้รับแต่งตั้งเป็น รองเจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี เมื่อวันอังคารที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๔๑
พุทธศักราช ๒๕๔๒ ได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๔๒

:: ผลงาน ::
นับตั้งแต่พระคุณเจ้าได้มารักษาการในตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดอัมพวัน เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ จนกระทั่งได้รับพระราชทานสมณศักดิ์และมีสิทธิเข้าครองตำแหน่งเจ้าอาวาสโดยสมบูรณ์เมื่อ ๕ ธ.ค. ๒๕๑๑ เป็นระยะเวลายาวนานถึง ๑๑ ปี แต่ท่านพระครูมิได้นิ่งนอนใจ ได้พยายามทุกวิถีทางเพื่อบริหารงานวัดนี้และช่วยเหลือวัดอื่น ๆ ให้เจริญก้าวหน้า มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้เหมาะสมตามกาลสมัย ท่านพระครูเข้าถึงจิตใจคนเป็นนักแสดง (เทศน์) ซาบซึ้งตรึงใจแก่ผู้ได้ฟังธรรม เป็นนักเสี่ยงในการก่อสร้างปฏิสังขรณ์ในเมื่อไม่มีทุนอยู่ในกำมือเป็นนักเสียสละทรัพย์สินที่มีอยู่อุทิศเพื่อการกุศล และแจกเป็นทานให้ลูกศิษย์วัดนอกจากนั้นท่านพระครูเป็นนักแก้ปัญหาเหตการณ์ที่เกิดขึ้นโดยนิมนต์ภิกษุชาวต่างประเทศมาแสดงธรรมที่วัดแล้วนำจตุปัจจัยที่ได้ชดใช้หนี้โรงไม้ ร้านก่อสร้างต่าง ๆ บางครั้งแก้ปัญหาไม่ได้ต้องไปยืมเงินจากโยมมารดาหรือไม่ก็ญาติพี่น้อง เป็นต้น ด้วยเหตุที่ท่านพระครูเป็นพระนักพัฒนาพระนักเทศน์และวิปัสสนาจารย์พร้อมกันเสร็จดังนี้ ท่านจึงมีผลงานในทุก ๆ ปีมากมายจนเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปอาทิ

พ.ศ. ๒๕๒๖ ได้รับโล่เกียรติคุณนักสังคมสงเคราะห์ดีเด่นในสาขาสังคมสงเคราะห์อาสาสมัครฝ่ายกิจการพระศาสนา
พ.ศ. ๒๕๒๘ ได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ กรุงเทพฯ วันอังคารที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ ในฐานะผู้ได้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ด้านส่งเสริมชักชวนให้มาปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง
พ.ศ. ๒๕๒๙ ได้รับมอบเข็มเกียรติคุณนักพัฒนาดีเด่นแผ่นดินธรรมแผ่นดินทองจาก ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ณ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๒๙ จึงนับได้ว่า ท่านพระครูภาวนาวิสุทธิ์ ได้ทุ่มเทชีวิตในการพัฒนาสังคมให้เจริญรุ่งเรืองและเป็นที่พึ่งอันสำคัญแก่พุทธศาสนิกชนให้เขตท้องถิ่นทั้งใกล้และไกลมาเป็นเวลานาน

อานิสงส์ แผ่เมตตา 11 ข้อ
1. นอนหลับเป็นสุข
2. ตื่นนอนเป็นสุข
3. ไม่ฝันเห็นสิ่งเร็วร้าย
4. เป็นที่รักของคนทั่วไป
5. เป็นที่รักของเทวดา
6. เทวดารักษาคุ้มครอง
7. ไฟ-ยาพิษ ศัสตราอาวุธไม่ทำอันตรายได้
8. จิตเป็นสมาธิได้เร็ว
9. ผิวพรรณผุดผ่องใส
10. ไม่ลืมหลงสติเมื่อใกล้ตาย
11. ตายแล้วไปเกิดพรหมโลก

ขอบคุณข้อมูล : http://www.thammaonline.com/2122

. . . . . . .