สัญมะ ทมะ ความสำรวมระวังจิต ความข่มฝึกจิต สมเด็จพระญาณสังวร

สัญมะ ทมะ

ความสำรวมระวังจิต ความข่มฝึกจิต

สมเด็จพระญาณสังวร

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอร

หันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์ พร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล

ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ได้มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ในธรรมบทซึ่งแปลความว่า ฝนย่อมรั่วรดเรือนที่มุงไม่ดีฉันใด ราคะย่อมรั่วรดจิตที่มิได้อบรมฉันนั้น ตามพระพุทธภาษิตนี้ยกเอากิเลสกองราคะขึ้นแสดง แต่ก็พึงเข้าใจว่า แม้กิเลสกองโทสะกองโมหะก็เช่นเดียวกัน ย่อมรั่วรดจิต คือบังเกิดขึ้นแก่จิตที่มิได้อบรม เหมือนอย่างเรือนที่มุงไม่ดีฝนตกก็รั่ว

ฉะนั้น ตามข้ออุปมาด้วยเรือนที่มุงไม่ดีฝนตกก็รั่ว ทำให้เห็นชัดเจนถึงจิตใจ ที่ตรัสแสดงโดยมีข้ออุปมานั้น ว่าจิตใจที่มิได้อบรม บรรดากิเลสมีกิเลสกองราคะเป็นต้น ก็บังเกิดขึ้นเหมือนอย่างฝนตกรั่วรดได้ จิตใจนี้จึงจำเป็นต้องมีเครื่องรักษา เครื่องคุ้มกัน

อันเปรียบเหมือนอย่างบ้านที่ต้องมีหลังคา คนที่อยู่ในบ้านจึงจะไม่ต้องถูกฝนตกรั่วรด บุคคลก็ฉันนั้น เมื่อจิตมุงหลังคาดี กิเลสซึ่งเหมือนฝนก็ตกรั่วรดไม่ได้ ก็คือจิตที่ได้ปฏิบัติในจิตตภาวนา การอบรมจิตนั้นเอง

จิตตภาวนา การอบรมจิต

อันจิตตภาวนาคือการอบรมจิตนั้น ก็ด้วยวิธีปฏิบัติมี สัญมะ คือความสำรวมระวังจิต และมี ทมะ คือความข่มฝึกจิต อันสัญมะคือความสำรวมระวังจิตนั้น ก็คือมีสติรักษาประตูใน และประตูนอกของจิต ประตูในก็คือมโนคือใจ อันเป็นอายตนะข้อที่ ๖ ประตูนอกก็คือตาหูจมูกลิ้นและกาย ประตูในคือมโนใจ และประตูนอกทั้ง ๕ ก็คืออายตนะภายในทั้ง ๖ นั้นเอง ซึ่งเปิดรับอารมณ์คือเรื่องเข้าสู่จิตอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นนอนขึ้นเช้าจนถึงหลับไปใหม่ บรรดาเรื่องที่เข้ามาทางประตูเหล่านี้ จิตที่มิได้อบรม ไม่มีสติรักษา ย่อมยึดถือเกาะเกี่ยวอยู่กับอารมณ์เหล่านี้ น้อยหรือมาก มารจึงอาศัยอารมณ์เหล่านี้นั่นแหละวิ่งเข้ามาสู่จิต คือกิเลสมาร อันได้แก่ราคะหรือโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง บุคคลจึงเดือดร้อนวุ่นวาย กระสับกระส่ายไม่สงบอยู่ในอารมณ์และกิเลสเหล่านี้ทุกวัน และทุกเวลา

ฉะนั้น จึงตรัสสอนให้ทำจิตตภาวนาคืออบรมจิต โดยตั้งสติความระลึกได้กำกับจิตอยู่ ที่จะไม่ผูกจิตไว้กับอารมณ์ เพราะว่าความผูกจิตไว้กับอารมณ์นี้ เป็นตัวสัญโญชน์ความผูก หรือเครื่องผูก เมื่อผูกจิตไว้กับอารมณ์ทั้งหมดหรือบางส่วนก็ตาม มารซึ่งเป็นกิเลสก็เข้ามา ปรากฏเป็นกิเลสดังที่กล่าวนั้น เมื่อเป็นดั่งนี้ก็ต้องมีสติระวังใจ สำรวมใจเอาไว้ที่จะไม่ยึดถืออารมณ์ที่เข้ามาเหล่านี้ สติที่สำรวมใจหรือระวังใจนี้เองเรียกว่า สัญมะ ที่แปลว่าความสำรวมใจ หรือความระวังใจ หรือว่าเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สังวร ความสำรวมความระวัง สัญมะหรือสังวรมีความหมายเป็นอันเดียวกัน เมื่อมีสัญมะหรือสังวรอยู่ อารมณ์ทั้งหลายก็ย่อมตกอยู่นอกประตู มารก็เข้ามาไม่ได้
เพราะมารคือกิเลสนั้นจะเข้ามาได้ก็ด้วยอารมณ์ กับอารมณ์ ประกอบกับจิตยึดถือเป็นตัวสัญโญชน์คือความผูกพันขึ้น ฉะนั้นการปฏิบัติอบรมจิตนั้น อันเรียกว่าจิตตภาวนา จึงต้องมีสังวรหรือสัญมะ อาศัยสติความระลึกได้ ตั้งสติขึ้นให้กำกับจิตใจอยู่ทุกขณะที่จะไม่รับ คือไม่ยึดถืออารมณ์ ที่ผ่านเข้ามา อารมณ์ก็ผ่านเข้ามาไม่ได้ ต้องตกอยู่นอกประตูดังกล่าวนั้น
สัมมาสมาธิอันแท้จริง
อาการที่จิตตั้งอยู่ในสัญมะคือความสำรวมระวัง หรืออาการที่สัญมะความสำรวมระวังตั้งอยู่ในจิต โดยมีสติเป็นผู้ชักนำ ดั่งนี้ คือสมาธิที่เป็นสัมมาสมาธิอันแท้จริง และสมาธินี้ก็เรียกได้ว่าเป็นสมาธิทางสมถะ คือสมาธิที่นำให้เกิดความสงบใจจากอารมณ์และกิเลสทั้งหลาย จิตก็สงบตั้งอยู่ในภายใน ไม่ออกไปยึดอารมณ์ภายนอก อาการที่จิตตั้งสงบอยู่ในภายในไม่ยึดอารมณ์ภายนอกนี้เป็นตัวสมถะ คือความสงบ โดยอาศัยสติระมัดระวังสำรวม
และสติที่มีหน้าที่ระมัดระวังสำรวมนี้เองก็ได้ชื่อว่าสัญมะหรือสังวร ก็คือตัวสตินั้นเอง และจิตที่ตั้งอยู่ในสัญมะหรือสังวร สังวรหรือสัญมะที่ตั้งอยู่ในจิตคือตัวสมาธิ ฉะนั้นสมาธิดั่งนี้จึงทำให้จิตสงบตั้งอยู่ในภายใน ไม่ออกไปยึดอารมณ์ภายนอก และตัวสมาธิอันนำให้บังเกิดความสงบซึ่งเป็นสมถะตั้งอยู่ในภายในนี้ ก็รู้ รู้รูปทางตาคือเห็นอะไรๆ รู้เสียงทางหูคือได้ยินอะไรๆ ทราบกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ทางจมูกทางลิ้นทางกาย และรู้คิดทางมโนคือใจ แต่ว่ารู้ทางมโนคือใจนี้เป็นตัวรู้ที่สงบอยู่ในภายใน แต่ว่าแม้รู้ทางตาทางหูเป็นต้นดังกล่าว จิตก็ไม่วิ่งออกไปจับรูป จับเสียง จับกลิ่น จับรส จับโผฏฐัพพะ จับเรื่องที่ใจคิดใจรู้ จิตไม่วิ่งออกไปจับ มารก็ไม่เข้ามาได้ จึงไม่บังเกิดเป็นราคะหรือโลภะ โทสะ โมหะ ในอารมณ์เหล่านั้น
อารมณ์เหล่านั้นก็ตกอยู่แค่นอกประตูดังกล่าวมาข้างต้นนั้น จิตก็ตั้งสงบอยู่ในภายในไม่วิ่งออกไป
ถ้าหากว่าได้สมาธิที่มีลักษณะดั่งนี้ ย่อมมีอิสระเสรีอยู่กับตัวเอง คือว่าไม่ต้องหลับตาหลับหู ลืมตาลืมหู ดูอะไรได้ฟังอะไรได้ เป็นต้น และก็รู้ว่านั่นเป็นรูปนั้นรูปนี้ นี่เป็นเสียงนั้นเสียงนี้ ดั่งนี้เป็นต้น แต่ว่าจิตตั้งสงบอยู่ในภายใน ไม่ออกไปจับไปยึดให้เป็นราคะหรือโลภะโทสะโมหะขึ้นในจิต ดั่งที่เรียกว่าอกุศลธรรมเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายไม่ไหลเข้ามาสู่จิต อาศัยอารมณ์ที่เข้ามาทางทวารเหล่านั้น
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่ได้ทรงหลับพระเนตร ไม่ทรงมองอะไรๆ ไม่ทรงอุดพระกรรณไม่ฟังอะไรๆ ก็ได้ทอดพระเนตรนั่นนี่ ฟังนั่นฟังนี่ เป็นต้น และในปีใกล้สุดท้ายที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ที่มีเล่าไว้ในพุทธประวัติ ว่าเสด็จออกจากเมืองเวสาลี ก็ยังได้หันพระองค์ไปทอดพระเนตรเมืองเวสาลี และตรัสบอกภิกษุทั้งหลายว่าเป็นเมืองที่งดงาม ก็แสดงว่าก็ทรงทราบรูปทราบเสียงเป็นต้นตามสมมติโลกทุกอย่าง อะไรที่เป็นสมมติโลกว่างดงาม เช่นบ้านเมืองที่งดงาม ก็ได้ตรัสว่างดงาม แต่ว่าพระจิตของพระองค์นั้นไม่ออกไปจับไปยึดให้บังเกิดกิเลส เป็นราคะหรือโลภะโทสะโมหะขึ้นในอารมณ์เหล่านั้น สงบอยู่ในภายใน สงบเป็นอย่างดียิ่ง ไม่มีที่จะดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายไปด้วยอำนาจของกิเลสทั้งหลายแม้แต่น้อย เพราะได้ทรงมีสัญมะหรือมีสังวรอยู่อย่างสมบูรณ์ อันเกิดจากความสิ้นกิเลส ลักษณะดั่งนี้เป็นสัมมาสมาธิแท้จริง และเป็นสัมมาสติที่แท้จริง เป็นสังวรเป็นความสำรวม ความระวังที่แท้จริง อันมีอยู่บริบูรณ์ในพระองค์
ทมะ ความข่มใจ
อีกข้อหนึ่งคือ ทมะ ความข่มใจ หรือความฝึกใจ
อันมุ่งหมายถึงฝึกใจข่มใจให้ละกิเลสทุกอย่าง อันกิเลสที่บังเกิดขึ้นนั้น แม้ว่าผู้ปฏิบัติทำสัญมะคือความสำรวมระวัง แต่ก็มีเวลาที่จะเผลอสติ เมื่อเผลอสติอารมณ์ก็เข้ามา จิตก็จับอารมณ์เป็นสัญโญชน์ขึ้น ก็เกิดราคะหรือโลภะโทสะโมหะขึ้นในอารมณ์ และบุคคลสามัญทั่วไปก็ยังมีกิเลสที่เป็นอาสวะอนุสัยดองจิตสันดานอยู่ ที่ท่านเปรียบเหมือนอย่างว่าตะกอนที่นอนก้นตุ่ม กิเลสเหล่านี้ก็ฟุ้งขึ้นมา เป็นนิวรณ์ขึ้นในจิตใจ ก็ปรากฏเป็นกามฉันท์บ้าง พยาบาทบ้าง ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มบ้าง ความฟุ้งซ่านรำคาญใจบ้าง ความเคลือบแคลงสงสัยต่างๆ บ้าง ยั้วเยี้ยอยู่ในจิตใจ ปรากฏอยู่ กำหนดดูที่ใจก็จะเห็นได้
โทษของกิเลส
ก็กิเลสเหล่านี้เองเมื่อบังเกิดขึ้นก็เป็นตัวข่มเหงใจ และเป็นตัวที่จะฝึกใจนี้ให้ปฏิบัติตามอำนาจของกิเลส ดังจะพึงเห็นได้ว่าเมื่อกำหนดดูจิตที่กำลังมีกิเลสกลุ้มกลัดอยู่ ถ้าหากว่ามีความสำนึกดี ก็จะมีความรู้สึกว่าจิตนี้ในขณะที่มีกิเลสกลุ้มกลัดอยู่นั้น เหมือนอย่างบ้านที่กำลังถูกโจรปล้น หรือว่าอย่างบ้านที่หลังคารั่ว ฝนตกรั่วรดต้องเปียกมอมแมม ถ้ามีความรู้สึกดีย่อมจะมีความสำนึกดั่งนี้ และถ้าหากมีความสำนึกอย่างนี้ได้ก็เป็นคุณเป็นประโยชน์ เพราะทำให้เห็นโทษของกิเลส เห็นโทษของราคะของโลภะของโทสะของโมหะ ว่าเป็นสิ่งที่ให้เกิดความทุกข์เดือดร้อน เมื่อเห็นโทษของกิเลสได้ ก็ย่อมจะทำให้หน่ายในกิเลส
อันนี้สำคัญ คือให้หน่ายในกิเลส อย่าให้ไปรักกิเลส คนสามัญนั้นรักกิเลส รักราคะหรือโลภะ รักโทสะ รักโมหะ เป็นกิเลสซ้อนกิเลส เพราะมิได้หัดข่มจิต แต่ให้กิเลสเองเป็นฝ่ายข่มเหงจิต ข่มขู่จิต ให้กิเลสเองเป็นฝ่ายที่รังแกจิต ซ้ำกลับรักกิเลสซึ่งเป็นผู้ข่มเหงเป็นผู้รังแกอีกด้วย ดั่งนี้ก็คือว่ากิเลสฝึกจิตมา จนเห็นว่ากิเลสดีน่ารัก ก็รักกิเลสชอบกิเลส ไม่หน่ายในกิเลส
เพราะว่าธรรมชาติของจิตนี้เมื่อเสวนาคุ้นเคยอยู่กับอะไรมาก ก็ย่อมจะน้อมไปในสิ่งนั้นมาก เพราะฉะนั้นพระพุทธองค์จึงตรัสสอนให้กลับมาเป็นฝ่ายฝึกจิต ข่มจิต คือข่มเหงกิเลส ข่มกิเลสเสียบ้าง และเครื่องมือที่จะปฏิบัติในการข่มเหงกิเลส หรือข่มกิเลสนั้น ไม่มีอะไรดีที่สุดเท่าปัญญา คือความรู้ทั่วถึงความจริง
ปัญญาที่เห็นโทษของกิเลส
ปัญญาคือความรู้ทั่วถึงความจริงนี่แหละเป็นตัว ทมะ คือเครื่องข่มเครื่องฝึกอย่างดีเลิศ ปัญญาคือความรู้ทั่วถึงความจริงนี้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนธรรมะนักหนา สอนอย่างนั้น สอนอย่างโน้น สอนอย่างนี้ สอนอย่างนั้น ปริยายนี้ ปริยายนั้น มีอุปมาต่างๆ ก็เพื่อที่จะจี้ใจบุคคลให้ได้ความสำนึกเกิดปัญญา คือความรู้ทั่วถึงความจริงขึ้นนั้นเอง ดังที่ตรัสสอนยกอุปมาถึงหลังคารั่ว ฝนก็รั่วรด ฉันใดก็ดี จิตที่ไม่ได้อบรม กิเลสก็รั่วรด
หรือแม้อุปมาประการอื่นก็เพื่อที่จะให้เห็นโทษของกิเลส ให้หน่ายในกิเลส รังเกียจกิเลส จะได้ไม่รักกิเลส ไม่รักราคะ ไม่รักโลภะ ไม่รักโทสะ ไม่รักโมหะ และถ้าหากว่าได้ปัญญาคือความรู้ขึ้นแม้สักนิดหน่อย คือปัญญาที่เห็นโทษกิเลส อันทำให้หน่ายในกิเลส คลายความรักในกิเลส ความติดในกิเลสได้แล้ว นั่นแหละเป็นอันว่าได้ตัวปัญญาที่มีคุณประโยชน์มาก แม้ว่ายังละไม่ได้ก็ยังดี
เพราะว่าเมื่อกิเลสโผล่หน้าขึ้นมาก็จะได้ไม่ต้อนรับ รีบบอกว่าให้ไปๆ เสีย หรือว่ารีบหนีไปเสีย เพราะรู้สึกว่ากิเลสที่บังเกิดขึ้น จะเป็นตัวราคะก็ตาม ตัวโลภะก็ตาม โทสะก็ตาม โมหะก็ตาม เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจจริงๆ สะอิดสะเอียนจริงๆ ไม่ชอบหน้าจริงๆ
แต่ว่าเพราะยังละไม่ได้ ยังมีอาสวะอนุสัยที่ดองจิตสันดานอยู่ กิเลสจึงต้องโผล่หน้าขึ้นมาบ่อยๆ หรือนานๆ ครั้งก็ตาม แต่ว่าเมื่อโผล่ขึ้นมาแล้วก็รังเกียจ รู้สึกว่าไม่สบาย เดือดร้อน เช่นโกรธขึ้นมาก็รู้สึกว่าไม่สบายเดือดร้อน ไม่ชอบหน้าความโกรธ ต้องการให้ความโกรธนั้นในจิตใจของตัวเอง รีบๆ ดับไปเสีย หายไปเสีย อยากจะไล่ให้ไปเสีย ไม่อยากที่จะรับรองกิเลสเอาไว้
ถ้าหากว่าได้ปัญญาที่มีความรู้จักโทษเห็นโทษของกิเลส มีความรู้สึกขึ้นดั่งนี้ได้ แม้เพียงเท่านี้ก็เป็นประโยชน์ ดั่งนี้แหละคือเป็นตัว ทมะ คือตัวปัญญานี้เองที่จะเป็นเครื่องข่มได้อย่างดียิ่ง คือข่มกิเลส และเมื่อปฏิบัติอยู่ดั่งนี้แล้ว กิเลสเคยข่มใจบุคคลได้ บุคคลก็เริ่มจะข่มกิเลสได้ แปลว่าพอจะสู้กับกิเลส เมื่อกิเลสบังเกิดขึ้นก็อาจที่จะระงับได้โดยง่าย เพราะว่าเกลียดหน้าอยู่แล้ว ไม่ชอบอยู่แล้ว แต่ว่าเพราะอยู่ด้วยกัน จะทำยังไงได้ ก็จะต้องโผล่หน้าเข้ามาเห็น ด้วยว่ากิเลสที่เป็นอาสวะอนุสัยดองจิตสันดานอยู่นี้ แปลว่าอยู่ด้วยกัน ถึงยังไงๆ ก็จะต้องโผล่หน้าขึ้นมา น้อยหรือมาก
เพราะฉะนั้น หากมาปฏิบัติข่มกิเลสเสียเอง ด้วยปัญญาตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน โดยที่ไม่นึกว่าจะข่ม แต่ว่าเมื่อตั้งใจฟังตั้งใจปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนแล้ว ได้สติได้ปัญญาขึ้นมานั่นแหละเป็น ทมะ ขึ้นมาเอง โดยที่ไม่รู้จักว่านี่เป็นตัว ทมะ ไม่จำเป็นจะต้องรู้จักสมมติบัญญัติธรรมะก็ได้ว่านี่เป็นตัว ทมะ แต่เมื่อปฏิบัติได้ปัญญาขึ้นมา เห็นโทษของกิเลสขึ้นเอง ซึ่งมีอาการดังเช่นที่กล่าวแล้วนี้ ก็เป็นอันว่าได้ปฏิบัติตัว ทมะ ขึ้นมา ก็เป็นอันว่ามีเครื่องมือที่จะข่มจิตตนเองได้
ข้อปฏิบัติในสติปัฏฐาน
สติที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนดังสติปัฏฐานทุกข้อทุกบท ก็เป็นข้อปฏิบัติที่จะให้เกิดสัญมะ คือความสำรวมระวัง ก็คือตัวสตินั่นเองที่เป็นตัวสำรวมระวัง และให้บังเกิดทมะข่มใจข่มกิเลส ก็คือตัวปัญญานั้นเองทั้งสิ้น ฉะนั้นเมื่อตั้งใจปฏิบัติตามแนวสติปัฏฐานที่ตรัสสอนไว้ ก็เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ จะทำให้ได้สัญมะ ได้ทมะ เป็นธรรมะสำหรับที่จะคุ้มครองรักษาจิตใจ
อานาปานสติชั้นที่ ๓
อานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก ที่ตรัสสอนไว้ในข้อแรกของสติปัฏฐาน ก็ได้อธิบายมาถึงข้อที่ตรัสสอนให้ศึกษาว่า เราจักรู้ทั่วถึงกายทั้งหมด หายใจเข้าหายใจออก ข้อนี้นับว่าเป็นข้อสำคัญ ซึ่งจะนำให้ได้อานาปานสติสมาธิอันสมบูรณ์ กล่าวคือ เมื่อตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออก ยาวก็ให้รู้ สั้นก็ให้รู้ แล้วก็ศึกษาคือตั้งใจเอาไว้ก่อนที่จะหายใจจริงๆ ว่าเราจักรู้ทั่วถึงกายทั้งหมด หายใจเข้าหายใจออก คือในขณะที่ศึกษาคือตั้งใจไว้นี้ เป็นการตั้งใจว่าในการหายใจเข้าออกต่อไป คือถัดจากที่หายใจเข้าออกอยู่ในปัจจุบัน ก็จักรู้ทั่วถึงกายทั้งหมดหายใจเข้าหายใจออก และเมื่อตั้งใจไว้ดั่งนี้ ลมหายใจเข้าหายใจออกที่เป็นอนาคตนั้นมาเป็นปัจจุบัน ก็จะทำให้กำหนดรู้กายทั้งหมดในขณะที่หายใจเข้าหายใจออกนั้น ดั่งนี้จะเห็นได้ว่าในการปฏิบัตินั้นมีสองช่วงติดต่อกัน คือก่อนที่จะถึงช่วงปัจจุบันข้างหน้า ช่วงปัจจุบันเดี๋ยวนี้ก็ศึกษาคือตั้งใจเอาไว้ก่อน ครั้นอนาคตข้างหน้านั้นมาถึงเป็นปัจจุบัน ก็ทำความรู้กายทั้งหมดหายใจเข้าหายใจออก การปฏิบัติดั่งนี้ก็มีปัญหาว่า ถ้าเช่นนั้นก็ไม่เป็นปัจจุบันธรรม เพราะว่า “ ศึกษาว่าจัก..” คำว่า “ จัก ” นั้นแปลว่ายังไม่มาถึง แต่ในข้อนี้ก็พึงเข้าใจว่า เงื่อนของการปฏิบัติตรงนี้ใช้ปัจจุบัน และสืบถึงอนาคต ปัจจุบันนั้นก็คือตัวศึกษาสำเหนียกกำหนด ครั้นปัจจุบันนี้ล่วงไปเป็นอดีตแล้ว อนาคตที่ต่อกันนั้นก็มาเป็นปัจจุบัน จึงมาถึงตัวรู้กายทั้งหมดหายใจเข้าหายใจออกในขณะนั้น ในข้อนี้ถ้าฟังอธิบายธรรมะที่มีอุปการะมาก ๒ อย่าง มาประกอบก็จะเข้าใจได้ยิ่งขึ้น คือธรรมะที่มีอุปการะมาก ๒ อย่างนั้น สติความระลึกได้ สัมปชัญญะความรู้ตัว พระอาจารย์บางท่านได้อธิบายว่าสติคือความระลึกได้นั้น คือ ความระลึกได้ก่อน เช่นว่าก่อนที่จะพูดก็ระลึกได้ว่าเราจะพูด นี่เป็นตัวสติ
และเมื่อพูดคือขณะที่กำลังพูดก็มีความรู้ตัวไม่หลงลืม นี่เรียกว่าสัมปชัญญะ เพราะฉะนั้นก็เรียกว่าเป็นปัจจุบันธรรมด้วยกัน สตินั้นเป็นปัจจุบันที่มาก่อน สัมปชัญญะนั้นเป็นปัจจุบันที่มาติดต่อ เหมือนอย่างตัวอย่างที่ยกขึ้นมากล่าวนั้น ยังไม่พูด แต่มีสติระลึกได้ว่าเราจะพูด ดั่งนี้เป็นสติ จึงพูด ขณะที่พูดนั้นก็มีสัมปชัญญะคือความรู้ตัว รู้ตัวว่าเรากำลังพูด
ในข้อนี้ก็เหมือนกัน “ ศึกษาว่า ..” ก็คือว่าสำเหนียกกำหนดว่า หรือ “ ระลึกได้ว่า ..” ก็เป็นตัวสตินั้นเอง ก็เป็นปัจจุบันธรรม ครั้นเมื่อหายใจเข้าหายใจออกต่อไปถัดจากที่ตั้งใจไว้นั้น ก็รู้กายทั้งหมด เรียกว่าเป็นความตั้งใจไว้ว่าจะรู้กายทั้งหมดหายใจเข้าหายใจออก เมื่อหายใจเข้าหายใจออกก็รู้กายทั้งหมด เหมือนอย่างเมื่อตั้งใจไว้ว่าจะพูด ระลึกได้ว่าจะพูดเป็นสติ พูดก็รู้ตัว ต่อกันไปดั่งนี้ จึงเป็นปัจจุบันธรรมด้วยกัน ซึ่งมีเป็นคู่กัน
กายทั้งหมด รูปกาย นามกาย
กายทั้งหมดนั้นก็คือ รูปกาย และ นามกาย รูปกายนั้นก็คือ ลมหายใจเข้าลมหายใจออกนี้เอง และรูปอื่นๆ ทั้งหมดที่เรียกว่ารูปกาย เช่นอาการ ๓๒ ธาตุทั้ง ๔ ที่มาประกอบกันอยู่เป็นรูปกายอันนี้ นามกายก็คือใจ ได้แก่เวทนา สัญญา เจตนาความจงใจ ผัสสะความกระทบ อารมณ์ทางใจ ความใส่ใจถึงอะไร เรียกว่ากระบวนทางจิตใจทั้งหมด เรียกว่านามกาย บุคคลทุกๆ คนนี้ ก็มีรูปกายนามกายประกอบกันอยู่ทุกขณะ เพราะฉะนั้นก็ให้รู้กายทั้งหมด ทั้งรูปกายนามกายที่เป็นไปอยู่ในปัจจุบัน หายใจเข้าหายใจออก รวมใจเข้ามาอยู่ที่รูปกายนามกาย คืออยู่ที่ภายในนี้ ไม่ออกไปในภายนอก ว่าถึงรูปกาย ก็ภายในกายยาววาหนาคืบที่มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบนี้ ดังในบัดนี้ก็กำลังอยู่ในอิริยาบถนั่งนี้ ก็เป็นรูปกาย นามกายก็คืออาการของใจทั้งหมดที่เป็นไปอยู่ มนสิการก็ใส่ใจถึงอะไร เจตนาความจงใจ สัญญาความกำหนดหมาย เวทนาก็ความเสวยสุขทุกข์หรือเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข เหล่านี้ทั้งหมด ทำความรู้เข้ามาให้รู้กายนี้ทั้งหมด
และเมื่อรู้กายนี้ทั้งหมด ก็จะปรากฏลมหายใจเข้าลมหายใจออก ซึ่งเป็นกายอย่างหนึ่ง คือลมอัสสาสะปัสสาสะ ก็ย่อมจะปรากฏหายใจเข้าหายใจออกอยู่ในความรู้ รวมอยู่ด้วย และจิตที่กำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออกอยู่ เรียกว่าใส่ใจถึงลมหายใจเข้าลมหายใจออกอยู่ ก็จะปรากฏแก่ความรู้ ถ้าหากว่าจิตออกไปก็ย่อมจะรู้ แต่นั่นเป็นนอกแล้ว ไม่ภายใน ก็ต้องนำจิตกลับเข้ามาตั้งไว้ในภายในใหม่ ก็เป็นอันว่าเป็นวิธีที่จะรวมจิตเข้ามาอยู่ในภายใน เป็นตัวสัญมะหรือเป็นตัวสังวร และเป็นตัวสมาธิที่แน่วแน่ขึ้น
ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ

http://www.watpanonvivek.com/index.php/section-table/2012-07-14-12-23-28/2835-2010-11-09-14-39-28

. . . . . . .