ธรรมบรรยาย สุจริตธรรม
เป็นธรรมะที่บรรยายโดยพระเทพสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม) ในโอกาสต่างๆ ที่ผ่านมาในอดีต
สุจริตธรรมให้เกิดผลอย่างไร คิดให้รอบคอบสักหน่อย ก็จักให้เห็นได้ในปัจจุบันนี้เอง ผู้ประพฤติสุจริตธรรมย่อมเป็นคนไม่มีภัย ไม่มีเวร มีกาย วาจา ใจ ปลอดโปร่งนี้เอง ความสุขที่เห็นกันอยู่แล้ว ส่วนผู้ประพฤติทุจริตอธรรม ตรงกันข้าม มีกาย วาจา ใจ หมกมุ่นวุ่นวาย แม้จักมีทรัพย์ ยศ ชื่อเสียง สักเท่าใด ก็ไม่ช่วยให้ปลอดโปร่งได้ ต้องเปลืองทรัพย์ เปลืองสุข ระวังทรัพย์ ระวังรอบด้าน นี้เป็นความสุขที่เห็นกันอยู่แล้ว ส่วนในอนาคตเล่าจักเป็นอย่างไร อาศัยพุทธภาษิตที่แสดงว่า
กลฺยาณการี กลฺยาณํ ผู้ทำดีย่อมได้ดี
ปาปการี จ ปาปกํ ผู้ทำชั่วย่อมได้ชั่ว
จึงลงสันนิษฐานได้ว่า สุจริตธรรม อำนวยผลที่ดีคือความสุข ทุจริตอธรรม อำนวยผลที่ชั่วคือความทุกข์ แม้ในอนาคตแน่แท้ อนึ่งในที่นี้รวมผลแห่งสุจริตธรรมทั้งสิ้น แสดงรวมยอดอย่างเดียวว่าความสุข เพราะเหตุนี้ สิ่งใดเป็นอุปกรณ์แห่งความสุข หรือเรียกว่าสุขสมบัติ เช่น ความบริบูรณ์ทรัพย์ ผิวพรรณงาม อายุยืน ยศ ชื่อเสียง เป็นต้น สิ่งนั้นทั้งหมดเป็นผลแห่งสุจริตธรรม
จักแสดงวิธีปฏิบัติสุจริตธรรมสักคู่หนึ่งโดยย่อไว้ เผื่อผู้ต้องการต่อไป คือ ไม่พยาบาท กับ เมตตา เมื่ออารมณ์ร้ายอย่างเบาคือ ความหงุดหงิดไม่พอใจ แรงขึ้นเป็นความฉุนเฉียวร้ายกาจ แรงขึ้นอีกเป็นพยาบาท เหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ควรทำความรู้จักตัวและพิจารณาโดยนัยว่า นี้เท่ากับโทษตน เผาตนโดยตรง มิใช่ทำโทษหรือแผดเผาผู้อื่นเลย คราวที่ตนผิดใจยังเคยให้อภัย ไม่ถือโทษโกรธแค้น เหตุไฉนเมื่อผู้อื่นทำผิดใจจึงมาลงโทษแผดเผาตนเล่า ผู้อื่นที่ตนโกรธนั้น เขามิได้ทุกข์ร้อนไปกับเราด้วยเลย อนึ่ง ควรตั้งกติกาข้อบังคับสำหรับตนว่า เมื่อเกิดอารมณ์ร้าย มีโกรธเป็นต้นขึ้น จักไม่พูด จักไม่แสดงกิริยาของคนโกรธ หรือตั้งกติกาประการอื่นซึ่งอาจจะรักษาอารมณ์ร้ายเหล่านั้นไว้ข้างใน มิให้ออกมาเต้นอยู่ข้างนอก และพยายามดับเสียด้วยอารมณ์เย็นชนิดใดชนิดหนึ่ง ด้วยการพิจารณาให้แยบคาย มิให้ลุกระพือสุมอกอยู่ได้
เมตตา – มิตร – ไมตรี สามคำนี้ เป็นคำหนึ่งอันเดียวกัน
เมตตา คือ ความรักใคร่ปรารถนาจะให้เป็นสุข
มิตร คือ ผู้มีเมตตาปรารถนาสุขประโยชน์ต่อกัน
ไมตรี คือ ความมีเมตตาปรารถนาดีต่อกัน
ผู้ปรารถนาจะปลูกเมตตาให้งอกงามอยู่ในจิต พึงปลูกด้วยการคิดแผ่ ในเบื้องต้นแผ่ไปโดยเจาะจงก่อน ในบุคคลที่ชอบพอ มีมารดาบิดา ญาติมิตร เป็นต้น โดยนัยว่าผู้นั้น ๆ จงเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีทุกข์ มีสุขสวัสดิ์ รักษาตนเถิด เมื่อจิตได้รับการฝึกหัดคุ้นเคยกับเมตตาเข้าแล้ว ก็แผ่ขยายให้กว้างออกไปโดยลำดับดังนี้ ในคนที่เฉย ๆ ไม่ชอบไม่ชัง ในคนไม่ชอบน้อย ในคนที่ไม่ชอบมาก ในมนุษย์และดิรัจฉานไม่มีประมาณ เมตตาจิต เมื่อคิดแผ่กว้างออกไปเพียงใด มิตรและไมตรีก็มีความกว้างออกไปเพียงนั้น เมตตาไมตรีจิตมิใช่อำนวยความสุขให้เฉพาะบุคคล ย่อมให้ความสุขแก่ชนส่วนรวมตั้งแต่สองขึ้นไปด้วย คือ หมู่ชนที่มีไมตรีจิตต่อกันย่อมหมดความระแวง ไม่ต้องจ่ายทรัพย์ จ่ายสุข ในการระวังหรือเตรียมรุกรับ มีโอกาสประกอบการงาน อันเป็นประโยชน์แก่ตนเอง และหมู่ เต็มที่มีความเจริญรุ่งเรืองและความสงบสุขโดยส่วนเดียว
เพราะเหตุนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นพระบรมศาสดาของเราทั้งหลาย ผู้ทรงมีพระเมตตาไมตรี มีมิตรภาพในสรรพสัตว์ ทอดพระเนตรเห็นการณ์ไกล จึงได้ทรงประทานศาสนธรรมไว้หนึ่งฉันทคาถา แปลความว่า บุคคลพึงประพฤติธรรมให้เป็นสุจริต ไม่พึงประพฤติธรรมให้เป็นทุจริต ผู้มีปกติประพฤติธรรม ย่อมอยู่เป็นสุขในโลกนี้และในโลกอื่น ดังนี้
ในข้อว่า พึงประพฤติธรรมให้เป็นสุจริต ไม่พึงประพฤติธรรมให้เป็นทุจริต ในฉัน ทคาถานั้น คำว่า ธรรม น่าจะหมายเอา การงานทั้งปวงที่ทำ ทางกาย วาจา และ การทำ การพูด การคิด ที่เป็นไปอยู่ตามปกตินี้เอง ทรงสอนให้ทำ พูด และคิด ให้เป็นสุจริต มิให้เป็นทุจริต
ส่วนในข้อที่ว่า ผู้มีปกติประพฤติธรรม ย่อมอยู่เป็นสุขนั้น คำว่า ธรรม หมายความว่า ความดี ดังคำว่า มีธรรมอยู่ในใจ ดังที่เข้าใจกันอยู่ทั่วไป ผู้ประพฤติกาย วาจา ให้สุจริต ไม่ประพฤติให้เป็นทุจริต ทั้งประพฤติธรรม คือมีธรรมอยู่ในใจ ย่อมอยู่เป็นสุขในโลกนี้ และในโลกอื่น คือในโลกอนาคต อันจะคอยเลื่อนมาเป็นโลกปัจจุบันแก่ทุก ๆ คนในเวลาไม่ช้า
ความสุข ย่อมเกิดจากเหตุภายใน คือ สุจริตธรรม ด้วยประการดังฉะนี้ เพราะฉะนั้น ผู้ปรารถนาสุข เมื่อจับตั้งเหตุการณ์แห่งความสุขและความทุกข์ได้ฉะนี้แล้ว ควรเว้นทุจริตอธรรม อันเป็นเหตุของความทุกข์ ควรประพฤติสุจริตธรรม อันเป็นเหตุของความสุข ถ้าประพฤติดังนี้ ชื่อว่าได้ก่อเหตุการณ์ของความสุขสมบัติทั้งปวงไว้แล้ว นี้เป็นความชอบยิ่งของตนเอง ถ้ากลับประพฤติทุจริตอธรรม เว้นสุจริตธรรมเสีย ย่อมชื่อว่าได้ก่อเหตุการณ์แห่งความทุกข์พิบัติทั้งปวงไว้แล้ว นี้เป็นความผิดของตนเอง
อนึ่ง ถ้ามีปัญหาในชีวิตปัจจุบันของผู้ประพฤติสุจริตธรรม หรือทุจริตอธรรมเกิดขึ้น พึงทราบว่า ในคราวที่สุจริตธรรมที่ได้ทำไว้แล้วกำลังให้ผลอยู่ ผู้พระพฤติทุจริตอธรรมย่อมพรั่งพร้อมด้วยสุขสมบัติ และความสดชื่นร่าเริง อาจสำคัญทุจริตอธรรมดุจน้ำหวาน และอาจเย้ยหยันผู้ประพฤติสุจริตธรรมได้ แต่ในการที่ทุจริตอธรรมของตนให้ผล ก็จักต้องประจวบทุกข์พิบัติ ซบเซาเศร้าหมอง ดุจต้นไม้ฤดูแล้ง อนึ่งในคราวที่ทุจริตอธรรมที่ได้ทำไว้แล้วกำลังให้ผลอยู่ ผู้ประพฤติสุจริตธรรมก็ยังต้องประสบทุกข์พิบัติซบเซาอับเฉาอยู่ก่อน แต่ในการที่สุจริตธรรมของตนให้ผลย่อมเกิดสุขสมบัติอย่างน่าพิศวง ดุจต้นไม้ในฤดูฝน แม้สจุริตธรรมจักยังไม่ให้ผล โดยนัยที่กล่าวนี้ กาย วาจา และใจ ของตน ก็ย่อมปลอดโปร่งเป็นสุขสงบ เป็นผลที่มีประจำทุกทิวาราตรีกาล.
——————–
ขอบคุณข้อมูล : http://palipage.com/watam/piyapan4/K00081.htm