พระธรรมสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม)

พระธรรมสิงหบุราจารย์
(หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม)

วัดอัมพวัน อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี

หลวงพ่อจรัญหรือ พระภาวนาภิสุทธิคุณ (ในสมัยนั้น) คือใคร?? ทำไมถึงมีคนนับถือมากนัก?? นั่นเป็นคำถามที่อยู่ในใจผมมานานหลายปีแล้ว นับตั้งแต่ผมได้อ่านประวัติความเป็นมาของบทสวดมนต์พาหุงมหากา ที่เขียนโดยพระภาวนาวิสุทธิคุณ ในหนังสือสวดมนต์เล่มหนึ่ง ที่ผมไปค้นในชั้นหนังสือที่บ้าน เมื่อตอนที่ผมเกิดปัญหาและความเครียดที่ไม่สามารถปรึกษาใครได้ในตอนสมัยเรียนมหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ 1 (ปี พ.ศ. 2540) ซึ่งเมื่อผมอ่านแล้ว ใจหนึ่งก็เกิดความนับถือและเลื่อมใสท่าน ทั้งๆ ที่ไม่รู้จักและอยากจะไปกราบท่านแต่ก็ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน แต่ใจหนึ่งก็คิดว่าเป็นการกล่าวอ้างโอ้อวดอภินิหารหรือไม่ เพราะช่วงนั้นก็มีข่าวพระไม่ดีก็มากเหมือนกัน จนแล้วจนรอดเรียนจนจบปริญญาตรีและปริญญาโท จนทำงานแล้วก็ยังไม่เคยได้ไปกราบท่านเลย อีกทั้งก็ไม่คิดที่จะศึกษาหรือค้นหาประวัติของท่านเลย ทั้งๆ ที่มี internet แล้ว อาจจะเป็นเพราะผมยัง “หลง” อยู่ในสิ่งต่างๆ ก็เป็นได้

จนเมื่อประมาณ เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2549 แม่ผมก็ไปถือศีลที่วัดอัมพวัน แม่ก็ชวนผมไปด้วย แต่..งานยุ่งมากไม่มีเวลา และก็ลืมไปแล้วด้วยว่า “พระภาวนาวิสุทธิคุณ” อยู่ที่วัดอัมพวัน จนเมื่อประมาณเดือนมกราคมด้วยงานที่ยุ่งมากและเครียดจนแทบจะลาออก เพราะ กินนอนอยู่ที่บริษัทฯ เป็นเดือนเพื่อส่งงานให้ทัน ไม่ได้กลับบ้านเลย จนเมื่อส่งงานเสร็จประมาณวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 ในใจเกิดคิดอยากจะบวชขึ้นมา โดยตั้งใจว่าจะบวชตอนเมษายน (เพราะจะบวชเลยก็ไม่ได้ และยังไม่ได้ทำเรื่องเลย) ก็เลยคุยกับแม่ว่าอยากจะบวชวัดที่สงบๆ และวัดที่ต่างจังหวัดที่เป็นวัดปฏิบัติ สุดท้ายก็เลยมาที่วัดอัมพวัน อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรีนี่เอง

และเมื่อมาที่วัดแล้ว (วันที่ 10 ก.พ.51) ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผมมาที่นี่ แม่ก็พาผมมาติดต่อเรื่อง บวชที่พระครูสังฆรักษ์ธเนศ หิตฺตกาโม หรือที่รู้จักกันในนาม “พระครูหมิง” ซึ่งเมื่อผมมาติดต่อเรื่องบวชเพื่อที่จะบวชในเดือนเมษายน ถึงรู้ว่า ที่นี่ไม่มีบวชในเดือนนี้เพราะจะมีการบวชเณร ทำให้พระพี่เลี้ยงไม่พอ ผมก็รู้สึกผิดหวังเล็กน้อย สงสัยคงไม่มีบุญได้บวชแน่เลย แต่แล้ว…..พระครูหมิงก็บอกว่า ถ้าอยากจะบวชก็เข้าวัดได้เลยวันที่ 14 ก.พ. 2551 (ตรงวันวาเลนไทน์ พอดี) ต้องมาอยู่ก่อน 7 วัน และจะบวชในวันที่ 21 ก.พ. 51 ก็เลยตกลงใจในทันที (ทั้งๆ ที่ไม่แน่ใจว่าจะบวชได้มั๊ย เพราะยังไม่ได้ลางานเลย)

วันที่ 14 ก.พ. 2551 ผมเข้าวัดครั้งแรก ในฐานะ “นาค” ต้องมาถือศีล งดทานข้าวเย็น ต้องมาอยู่ช่วยงานวัด เพื่อท่องขานนาคและบทสวดต่างๆ และจะต้องอยู่ในอาการสำรวมเพื่อที่จะเตรียมตัวอุปสมบท

วันที่ 21 ก.พ. 2551 เป็นวันอุปสมบท วันนี้ตื่นเต้นมาก เพราะญาติโยมต่างๆ มาทำบุญ และก็กลัวว่าจะท่องขาน บทต่างๆ ไม่ได้ และนี่ก็เป็นครั้งแรกที่ พ่อ แม่ และมีผู้คนต่างๆ มากราบไหว้เรา ในฐานะ “พระ” ซึ่งตอนนั้น ผมเองก็คิดว่า ตัวเราเหมาะที่จะให้คนอื่นกราบไหว้หรือยัง???? ดังนั้น การบวชครั้งนี้ เราต้องเอาดีให้ได้ ไม่มากก็น้อย เพราะเวลาที่บวชนั้นก็มีไม่มาก แค่ 1 เดือนเอง

การบวชในครั้งนี้ของผม ต้องปรับตัวอย่างมาก เพราะมีกิจของสงฆ์ต่างๆ มากมาย ซึ่งผมจะยกตัวอย่างเวลาในแต่ละวันของพระที่นี่ให้ดูครับ

04.00น. – 06.00น. ปฏิบัติกรรมฐาน (แน่นอนว่าต้องตื่นจากจำวัดก่อนแน่ๆ)

06.00น. – 08.00น. บิณฑบาตและฉันเช้า

08.00น. – 09.00น. ทำวัตรเช้า (ถ้าวันพระจะต้องทำวัตรเช้าตอน 02.00น. อีก 1 รอบ)

09.00น. – 10.00น. ทำภาระกิจ

10.00น. – 11.30น. ขึ้นหอฉันสวดมนต์และฉันเพล

11.30น. – 14.00น. ทำภาระกิจ

14.00น. – 16.00น. ปฏิบัติกรรมฐาน

16.00น. – 18.30น. ทำภาระกิจและทำวัตรเย็น

19.00น. – 21.00น. ปฏิบัติกรรมฐาน

21.00น. – 24.00น. ปฏิบัติกรรมฐาน (อันนี้ผมทำต่อเอง)

24.00น. – 03.00น. จำวัด

ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.oknation.net/blog/pomek/2008/08/31/entry-5

. . . . . . .