เมื่อ นายบัว โลหิตดี มีอายุได้ 21 ปี บิดามารดาได้ขอร้องให้เขาได้บวชเรียน เพื่อเป็นการทดแทนบุญคุณตามประเพณี ในที่สุดท่านก็ตัดสินใจบวช เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2477 ณ วัดโยธานิมิตร อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี โดยมีพระราชเทวี (จูม พนฺธุโล ต่อมาเป็นพระธรรมเจดีย์) เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า “ญาณสมฺปนฺโน” ท่านตั้งใจไว้ว่าจะบวชพอเป็นประเพณีเท่านั้น ไม่ได้ตั้งใจว่าจะบวชนานเท่านี้
ครั้นบวชแล้ว พระภิกษุบัว ญาณสมฺปนฺโน ก็ได้ศึกษาพุทธประวัติและประวัติพระอรหันตสาวก จนเกิดความเลื่อมในศรัทธาในพระศาสนาอย่างจริงจัง ท่านจึงตั้งใจว่าจะศึกษาเล่าเรียนปริยัติธรรมเสียก่อน เพราะถ้าไม่ศึกษาแล้วจะไม่เข้าใจวิธีปฏิบัติ โดยตั้งความหวังไว้ว่าจะเรียนปริยัติธรรมทั้งแผนกนักธรรมและแผนกบาลี สำหรับแผนกบาลีนั้น ท่านตั้งใจว่าจะสอบให้ได้เพียงแค่เปรียญธรรม 3 ประโยคก็พอ ทั้งนี้เพื่อเป็นกุญแจเปิดตู้พระไตรปิฎก และเป็นอุบายเข้าถึงการปฏิบัติธรรมได้อย่างถูกต้อง แต่จะไม่ให้เกินเลยเปรียญธรรม 3 ประโยคไป เพราะจะทำให้เหลิงและลืมตัว
ใน ระหว่างที่ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยอยู่นั้น พระภิกษุบัว ญาณสมฺปนฺโน ก็ได้ฝึกปฏิบัติสมาธิภาวนาไปด้วย การศึกษาเล่าเรียนปริยัติธรรมก็สอบไล่ได้บ้าง ตกบ้าง แต่ในที่สุดความปรารถนาของพระภิกษุบัวก็เป็นจริง เมื่อท่านสามารถสอบไล่ได้นักธรรมชั้นเอก พร้อมกับเปรียญธรรม 3 ประโยคในปีเดียวกันนั้น รวมเวลาที่ศึกษาเล่าเรียนปริยัติธรรมเป็นเวลา 7 ปี
ครั้น สอบไล่ได้เปรียญธรรม 3 ประโยค พระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ก็มุ่งออกปฏิบัติด้านเดียว จิตใจของท่านจึงมุ่งสู่หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ตั้งแต่สมัยที่ท่านเป็นเด็ก จนกระทั่งท่านอุปสมบทแล้ว ชื่อเสียงของหลวงปู่มั่นก็ยิ่งฟุ้งขจรไปไกล ในตอนที่พระมหาบัวจำพรรษาอยู่ที่วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ ได้พบปะพูดคุยกับครูบาอาจารย์ที่เคยอยู่กับหลวงปู่มั่น มาเล่าให้ฟังถึงปฏิปทาและข้อวัตรปฏิบัติของหลวงปู่มั่นว่า หลวงปู่มั่นไม่ใช่พระธรรมดา หากแต่เป็นพระอริยะผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ เมื่อได้ฟังดังนั้น จิตใจของพระมหาบัวก็ยิ่งฝังลึกลงในการที่จะปฏิบัติตนให้พ้นทุกข์ และอยากจะฝากตัวเป็นศิษย์ของหลวงปู่มั่น ด้วยมั่นใจว่ามรรคผลนิพพานยังมีอยู่
ในพรรษาต่อมา ( คือพรรษาที่ 8 ) พระมหาบัวได้ไปจำพรรษาอยู่ที่อำเภอจักราช จังหวัดนครราชสีมา เพื่อฝึกปฏิบัติสมาธิภาวนา จนจิตเข้าถึงความสงบ ท่านเร่งทำความเพียรอย่างหนักทั้งนั่งสมาธิทั้งเดินจงกรม ในเวลาต่อมาพระผู้ใหญ่จะให้พระมหาบัวเดินทางเข้าไปศึกษาต่อ ในกรุงเทพฯ ท่านเห็นว่าจะผิดกับปณิธาน และเสียคำสัตย์ที่เคยตั้งใจว่าจะเรียนให้ได้เพียงแค่เปรียญธรรม 3 ประโยค ท่านจึงหนีกกลับมาอยู่บ้านเดิมคือ บ้านตาด ณ ที่นี่แทนที่ท่านจะได้เจริญสมาธิภาวนาให้สูงยิ่งๆ ขึ้นไป กลับปรากฏว่าจิตใจไม่ค่อยสงบ เพราะมัวแต่ทำกลดไม่เสร็จสิ้น
พระมหา บัวคิดว่า ถ้าอยู่บ้านเกิดต่อไปคงไม่ดีแน่ มีแต่จะขาดทุน จึงเดินทางหนีจากบ้านตาด มุ่งหน้าไปหาหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ซึ่งตอนนั้นจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าโนนนิเวศน์ อุดรธานี แต่ก็ไม่ได้พบหลวงปู่มั่น เพราะท่านได้รับนิมนต์ไปจังหวัดสกลนครเสียก่อน เมื่อตามไปไม่ทัน พระมหาบัวจึงไปพักอาศัยอยู่ที่วัดทุ่งสว่าง จังหวัดหนองคาย เป็นเวลาสามเดือนกว่า พอถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2485 ก็ออกเดินทางจากจังหวัดหนองคายไปจังหวัดสกลนคร ได้พบหลวงปู่มั่นที่บ้านโคก ตำบลตองโขบ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร พอไปถึงก็พบหลวงปู่มั่นกำลังเดินจงกรมอยู่ในเวลาโพล้เพล้
เมื่อได้ พบหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต แล้วก็สมใจนึกทุกอย่าง เพราะได้ฟังธรรมจากหลวงปู่มั่นเป็นครั้งแรก ก็เกิดศรัทธาปสาทะขึ้นมาทันที และดูเหมือนว่า หลวงปู่จะทราบเรื่องราวทุกอย่างของพระมหาบัวหมดแล้ว หลวงปู่ได้กล่าวหลักธรรมยืนยันว่า มรรคผลนิพพานเป็นสิ่งที่เป็นไปได้เสมอและให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติในปัจจุบันทันที จนพระมหาบัวหมดความสงสัย นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ท่านได้มอบตัวเป็นศิษย์และอยู่ศึกษาอบรมสมาธิภาวนาในสำนักของหลวงปู่มั่น เรื่อยมา ด้วยความจริงใจและเด็ดเดี่ยว พระมหาบัวได้ฝึกปฏิบัติกรรมฐานในป่าอันสงัด ห่างไกลจากบ้านเรือนของผู้คน โดยตั้งปณิธานไว้ว่า จะเป็นก็เป็น จะตายก็ตาย จิตมุ่งอยู่แต่สมาธิภาวนาเท่านั้น
ขณะที่ศึกษาอบรมอยู่กับหลวงปู่ มั่นนั้น พระมหาบัวก็ได้เรียนรู้ข้อวัตรปฏิบัติอันเป็นเครื่องขูดเกลากิเลส ตลอดถึงจิตภาวนาที่หลวงปู่มั่นได้พาดำเนินไปด้วยความถูกต้องดีงาม ตามหลักพระธรรมวินัยซึ่งพระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ได้สืบทอดข้อวัตรปฏิบัติเรื่อยมา และได้ใช้เป็นแนวทางในการอบรมสั่งสอนพระภิกษุ สามเณร และอุบาสก อุบาสิกาในเวลาต่อมา
ด้วยเหตุที่ท่านเคารพเทิดทูนหลวงปู่มั่นอย่าง สุดหัวใจ โดยเรียกหลวงปู่มั่นว่า “พ่อแม่ครูบาอาจารย์” เพราะหลวงปู่มั่นเปรียบเสมือนพ่อกับแม่ และเป็นครูเป็นอาจารย์ในองค์เดียวกันหมด ด้วยคารวธรรมอันสูงส่งนี้เอง จึงเป็นพลังใจให้พระอาจารย์มหาบัวได้เขียนหนังสือ “ประวัติหลวงปู่มั่น” เพื่อเผยแพร่ข้อวัตรปฏิบัติ ตลอดจนชื่อเสียงเกียรติคุณให้อนุชนรุ่นหลังได้ทราบเป็นคติ เป็นการบูชาคุณท่าน และยังได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับภาคปฏิบัติธรรมกรรมฐานอีกหลายเล่ม รวมทั้งการบันทึกเทปธรรมะเป็นการเผยแพร่อีกด้วย
พระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ได้อยู่จำพรรษาที่วัดบ้านโคกกับหลวงปู่มั่น เป็นเวลา 2 พรรษา แล้วติดตามหลวงปู่มั่นไปจำพรรษาที่วัดบ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร อีก 6 พรรษา รวมเวลาที่อยู่กับหลวงปู่มั่นทั้งหมด 8 ปี จวบจนหลวงปู่มั่นถึงแก่มรณภาพ ในปี พ.ศ. 2492
ครั้นเสด็จงานพระราช ทานเพลิงศพหลวงปู่มั่นแล้ว พระอาจารย์มหาบัวก็ได้หลีกเร้นเข้าป่าเขา เพื่อแสวงหาสถานที่อันสงัดวิเวกมุ่งบำเพ็ญภาวนาแต่เพียงรูปเดียว แต่หมู่คณะพระสงฆ์สามเณรก็ขอติดตามไปด้วยเพื่อหวังให้ท่านอาจารย์ได้ช่วย อบรมสั่งสอน ท่านอาจารย์ก็พยายามหลีกหนีจากหมู่คณะ เพื่อเร่งบำเพ็ญเพียรของตนเองให้บรรลุจุดหมายปลายทางที่ตั้งไว้ พระอาจารย์มหาบัวก็หวนมาพิจารณาสงสารหมู่คณะที่หวังพึ่งพิงครูบาอาจารย์ เช่นเดียวกันกับท่านที่เคยหวังพึ่งพิงครูบาอาจารย์มาแล้ว ท่านอาจารย์จึงได้นำข้อวัตรปฏิบัติและธรรมอันวิเศษที่ได้รู้เห็นประจักษ์แก่ ใจมาสั่งสอนหมู่คณะ
ในครั้งแรกนับจำเดิมแต่หลวงปู่มั่นมรณภาพ ท่านอาจารย์มหาบัวได้จำพรรษา อยู่ที่วัดหนองผือนาใน ซึ่งท่านเคยจำพรรษาอยู่กับหลวงปู่มั่น เนื่องจากเมื่อหลวงปู่มั่นล่วงลับดับขันธ์ไปแล้ว พระสงฆ์สามเณรที่เคยมีอยู่จำนวนมาก ก็แตกกระจัดกระจายหนีไปอยู่ที่อื่น เหลือแต่พระหลวงตาเฝ้าวัดอยู่เพียงรูปเดียว ท่านอาจารย์รู้สึกสังเวช สลดใจในความเปลี่ยนแปลง จึงได้ย้อนกลับไปจำพรรษาอยู่ที่วัดนี้หนึ่งพรรษา
ใน ปีถัดมา (พ.ศ. 2493) ท่านอาจารย์ได้ออกธุดงค์หาสถานที่อันสงัดวิเวก และได้พักจำพรรษาอยู่วัดบ้านห้วยทราย อำเภอคำชะอี จังหวัดนครพนม (ปัจจุบันเป็นจังหวัดมุกดาหาร) อีก 4 พรรษา ในระหว่างที่จำพรรษาอยู่ที่นี่ ท่านอาจารย์ได้เข้มงวดกวดขันเอาจริงเอาจังกับการอบรมสั่งสอนพระภิกษุสามเณร ทั้งในเรื่องข้อวัตรปฏิบัติธุดงควัตร และเจริญสมาธิภาวนาจนทำให้พระสงฆ์สามเณรมีหลักยึดเหนี่ยวของจิตใจมากยิ่ง ขึ้น
ต่อมาในปี พ.ศ. 2498 ท่านอาจารย์มหาบัวก็ได้จาริกแสวงหาสถานที่ปฏิบัติธรรมผ่านไปทางจังหวัด จันทบุรี และได้สร้างวัดจำพรรษาอยู่ที่นั่น 1 พรรษา ระยะต่อมาได้ทราบข่าวว่าโยมมารดาของท่านป่วย ท่านอาจารย์จึงได้เดินทางกลับมาตุภูมิที่บ้านตาด เพื่อดูแลโยมมารดา ชาวบ้านได้นิมนต์ให้ท่านไปพำนักในป่าบริเวณทางทิศใต้ของหมู่บ้าน พร้อมทั้งนิมนต์ท่านให้อยู่เป็นหลักเป็นแหล่งเสียที เพื่อจะได้เป็นที่พึ่งทางใจของชาวบ้าน โดยได้บริจาคที่ดินประมาณ 263 ไร่เพื่อสร้างวัด ท่านอาจารย์ได้พิจารณาเห็นว่าโยมมารดาของท่านแก่ชรามากแล้ว สมควรที่จะอยู่ช่วยดูแลเป็นการตอบแทนบุญคุณของมารดาด้วย ท่านอาจารย์จึงตกลงใจรับนิมนต์และเริ่มสร้างวัดนี้ เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2498 ตั้งชื่อวัด “วัดป่าบ้านตาด” จนตราบเท่าทุกวันนี้
ขอขอบคุณ http://www.dhammada.net/